การดูแลทรัพย์สมบัติของนาย
1 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คนต้นเรือนอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมาก. อับราฮามมอบให้คนต้นเรือนของท่านทำงานค้นหาภรรยาสำหรับยิศฮาคบุตรชายของท่าน. (เย. 24:1-4) แท้จริงแล้ว คนต้นเรือนนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าจะมีการสืบเชื้อสายของอับราฮามแน่ ๆ. นับเป็นหน้าที่รับผิดชอบสำคัญจริง ๆ! ไม่แปลกที่อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ฝ่ายผู้อารักขา [“คนต้นเรือน,” ล.ม.] เหล่านั้นต้องเป็นคนสัตย์ซื่อทุกคน.”—1 โก. 4:2.
การเป็นคนต้นเรือนของคริสเตียน
2 งานรับใช้คริสเตียนในบางด้านมีพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นงานในหน้าที่คนต้นเรือน. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลกล่าวกับคริสเตียนชาวเอเฟโซถึง “หน้าที่ [“คนต้นเรือนแห่ง,” ล.ม.] พระคุณของพระเจ้า, ซึ่งทรงโปรดประทานแก่ข้าพเจ้าเพื่อท่านทั้งหลาย” (เอเฟ. 3:2; โกโล. 1:25) ท่านมองดูงานมอบหมายของท่านในการนำข่าวดีไปยังชนชาติต่าง ๆ ว่าเป็นหน้าที่คนต้นเรือนซึ่งท่านต้องทำด้วยความซื่อสัตย์. (กิจ. 9:15; 22:21) อัครสาวกเปโตรเขียนถึงพี่น้องผู้ถูกเจิมของท่านว่า “จงต้อนรับเลี้ยงดูกันและกันโดยไม่บ่น. ตามส่วนที่แต่ละคนได้รับของประทาน จงใช้ของประทานนั้นในการรับใช้กันและกันในฐานะเป็นคนต้นเรือนที่ดีแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่แสดงออกในวิธีต่าง ๆ.” (1 เป. 4:9, 10; เฮ็บ. 13:16, ล.ม.) ไม่ว่าวัตถุสิ่งของใดก็ตามที่คริสเตียนเหล่านั้นในศตวรรษแรกเป็นเจ้าของต่างเนื่องมาจากพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา. ฉะนั้น พวกเขาจึงเป็นคนต้นเรือนดูแลสิ่งเหล่านั้นและต้องใช้สิ่งเหล่านั้นตามวิธีของคริสเตียน.
3 ในสมัยนี้ พยานพระยะโฮวามีทัศนะคล้ายกันในเรื่องต่าง ๆ. พวกเขาได้อุทิศตนแด่พระยะโฮวาพระเจ้าและถือว่าทุกสิ่งที่ตนมี คือชีวิต, พลังกาย, ทรัพย์สมบัติวัตถุว่าเป็นผลจาก “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่แสดงออกในวิธีต่าง ๆ.” ในฐานะคนต้นเรือนที่ดี พวกเขารู้สึกถึงพันธะต้องรายงานต่อพระยะโฮวาพระเจ้าในเรื่องวิธีที่ตนใช้สิ่งเหล่านั้น. นอกจากนี้ พวกเขาได้รับความรู้เรื่องข่าวดีด้วย. ข่าวดีนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ฝากไว้ซึ่งพวกเขาปรารถนาจะใช้อย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้คือ เพื่อสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวาและเพื่อช่วยคนอื่น ๆ ให้มาถึงความรู้เกี่ยวกับความจริง.—มัด. 28:19, 20: 1 ติโม. 2:3, 4; 2 ติโม. 1:13, 14.
4 พยานพระยะโฮวาพิสูจน์ตัวอย่างไรว่าเขาเป็นคนต้นเรือน? รายงานประจำปีแสดงว่าพวกเขากำลังทำหน้าที่รับผิดชอบของตนให้สำเร็จด้วยความซื่อสัตย์. ในปีที่แล้วปีเดียว พวกเขาใช้เวลามากกว่าหนึ่งพันล้านชั่วโมงประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร” ไปทั่วโลกและนำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านกับผู้สนใจมากกว่า 4,500,000 ราย. (มัด. 24:14, ล.ม.) ความซื่อสัตย์ของพวกเขาในฐานะคนต้นเรือนของพระยะโฮวามีแสดงให้เห็นเช่นกันจากการที่พวกเขาบริจาคด้วยใจเอื้อเฟื้อแก่งานทั่วโลกและในการสนับสนุนหอประชุมราชอาณาจักรในท้องถิ่น, จากการที่พวกเขายินดีต้อนรับผู้ดูแลเดินทางและคนอื่น ๆ, และจากการที่พวกเขาแสดงความกรุณาเป็นพิเศษต่อผู้ที่ขัดสน เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ. ในฐานะเป็นกลุ่ม คริสเตียนแท้กำลังดูแลทรัพย์สมบัติของนายเป็นอย่างดี.
“คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ ที่สุขุม”
5 หน้าที่คนต้นเรือนมีให้ไม่เพียงเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่มีให้ในระดับเป็นองค์การด้วย. พระเยซูทรงเรียกคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนโลกว่า “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ ที่สุขุม.” (ลูกา 12:42, ล.ม.) “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ” นี้มีหน้าที่จัดเตรียม “อาหาร” และนำหน้าในการประกาศข่าวดีแก่นานาชาติ. (วิ. 12:17) ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยคือ ชนจำพวกคนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อซึ่งมีคณะกรรมการปกครองเป็นตัวแทน มีหน้าที่รับผิดชอบซึ่งได้รับมอบจากพระเจ้าในการจัดการอย่างถูกต้องกับ “ตะลันต์” ฝ่ายวัตถุและฝ่ายวิญญาณของตน. (มัด. 25:15) โดยประสานกับแบบอย่างของ ‘คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ’ นิติบุคคลของแต่ละสาขาพยายามทุกทางเพื่อใช้เงินบริจาคทั้งหมดอย่างสำนึกถึงความรับผิดชอบเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร. การบริจาคทั้งหมดนั้นทำด้วยความไว้วางใจ และ“คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ ที่สุขุม” มีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำให้แน่ใจว่ามีการใช้ไปเพื่อจุดประสงค์ที่มุ่งหมายไว้และมีการจัดการกับเงินเหล่านั้นอย่างสุขุม, ประหยัด, และได้ผลดี.
6 ตัวอย่างหนึ่งของการใช้เงินบริจาคนั้นอย่างสุขุมเห็นได้จากความก้าวหน้าในกิจการพิมพ์ของพยานพระยะโฮวาระหว่างศตวรรษที่ 20 นี้. การจำหน่ายจ่ายแจกคัมภีร์ไบเบิลรวมทั้งสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ได้แก่วารสาร, หนังสือปกแข็ง, จุลสาร, หนังสือเล่มเล็ก, แผ่นพับ, และข่าวราชอาณาจักร มีบทบาทอันสำคัญในการแพร่ “ข่าวดี” ออกไปในช่วง “สมัยสุดท้าย” นี้. (มโก. 13:10; 2 ติโม. 3:1, ล.ม.) และวารสารหอสังเกตการณ์ ก็เป็นเครื่องมือหลักในการแจก ‘อาหารตามเวลาที่สมควร’ แก่ “ครอบครัวของพระเจ้า” กับเหล่าสหายของพวกเขา คือ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น.”—มัด. 24:45; เอเฟ. 2:19; วิ. 7:9; โย. 10:16, ล.ม.
7 ในตอนแรก สรรพหนังสือของพยานพระยะโฮวาผลิตจากบริษัทรับจ้างพิมพ์. แต่ในช่วงทศวรรษ 1920 มีการตัดสินใจว่าถ้าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะพิมพ์เองคงจะได้ผลดีกว่าและเป็นประโยชน์ฝ่ายวิญญาณมากกว่า. โดยเริ่มต้นแบบเล็ก ๆ ในปี 1920 งานพิมพ์ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในบรุกลิน นิวยอร์ก จนกระทั่งกลายเป็นงานที่ใหญ่โตมาก. พอถึงปี 1967 โรงพิมพ์ก็กินเนื้อที่ถึงสี่ช่วงตึก. นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการพิมพ์ในประเทศอื่นด้วย แต่งานพิมพ์ในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ถูกขัดจังหวะเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง.
8 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานพิมพ์ในสหรัฐก็เจริญขึ้น การพิมพ์ไม่เคยมากพอส่งให้ทั่วทั้งโลก. ฉะนั้น ในช่วงปีหลังสงครามโลก จึงได้มีการเริ่มต้นดำเนินงานพิมพ์หรือไม่ก็ดำเนินงานไปแล้วในประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงแคนาดา, เดนมาร์ก, อังกฤษ, กรีซ, แอฟริกาใต้, สวิตเซอร์แลนด์, และเยอรมนีตะวันตก. พอถึงต้นทศวรรษ 1970 ออสเตรเลีย, บราซิล, ฟินแลนด์, กานา, ญี่ปุ่น, ไนจีเรีย, และฟิลิปปินส์ ก็มีโรงพิมพ์. บางสาขาในประเทศเหล่านี้ผลิตหนังสือปกแข็งด้วย. นอกจากนี้ ในตอนต้นทศวรรษ 1970 มิชชันนารีจากกิเลียดได้รับการฝึกอบรมทักษะในการพิมพ์และถูกส่งไปยังบางสาขาในประเทศดังกล่าวเพื่อช่วยงานพิมพ์ของพี่น้องในท้องถิ่น.
9 ระหว่างทศวรรษ 1980 จำนวนประเทศที่มีการพิมพ์วารสารก็มีมากถึง 51 ประเทศ.a ทั้งหมดนี้นับเป็นการใช้ทรัพย์สมบัติของนายอย่างดีเยี่ยมจริง ๆ! เป็นหลักฐานอันหนักแน่นสักเพียงไรถึงความเจริญก้าวหน้าของงานราชอาณาจักร! และช่างเป็นพยานหลักฐานอันทรงพลังจริง ๆ ถึงการสนับสนุนด้วยใจกว้างจากพยานพระยะโฮวานับล้าน ๆ ซึ่ง ‘ถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของตน’! (สุภา. 3:9) ด้วยเหตุนั้น พวกเขาพิสูจน์ตนเป็นคนต้นเรือนด้วยสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรพวกเขาในหลายทาง.
การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
10 ระหว่างทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 มีความก้าวหน้ามากมายด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ และพยานพระยะโฮวาก็นำเอาเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใหม่กว่ามาใช้. ก่อนหน้านั้น พวกเขาใช้การพิมพ์ระบบตัวเรียงแบบเก่า. การพิมพ์แบบนี้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเมื่อพวกเขาเริ่มใช้การพิมพ์ที่ทันสมัยกว่าด้วยระบบออฟเซ็ต. ผลก็คือ มีการผลิตสิ่งพิมพ์ที่สวยงามออกมาพร้อมกับมีภาพสีประกอบ แทนที่จะเป็นภาพสองสี (สีดำกับสีอื่นอีกสีหนึ่ง) ตามขีดความสามารถของการพิมพ์โดยระบบตัวเรียง. นอกจากนั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนการเตรียมงานก่อนพิมพ์ทั้งหมด. พยานพระยะโฮวาได้พัฒนาระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสงทางอิเล็กทรอนิกอเนกภาษา (เมปส์) ขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบที่ดำเนินงานด้วยคอมพิวเตอร์ที่ในขณะนี้สนับสนุนการพิมพ์ในภาษาต่าง ๆ มากกว่า 370 ภาษา. ไม่มีโปรแกรมใด ๆ ในตลาดจะมาเทียบกับโปรแกรมเมปส์ได้ในด้านความสามารถปฏิบัติการในหลายภาษาเช่นนั้น.
11 เนื่องด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เมปส์และการใช้เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวนั้นแบบอื่น ๆ เช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิก จึงมีความก้าวหน้ามากมายอีกอย่างหนึ่งในการผลิตอาหารตามเวลาที่เหมาะสม. ก่อนหน้านั้น โดยการใช้เทคโนโลยีแบบเก่า วารสารที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษมีเนื้อหาที่ล่าช้ากว่าฉบับภาษาอังกฤษหลายเดือนหรือเป็นปีด้วยซ้ำ. เดี๋ยวนี้ หอสังเกตการณ์ ออกพร้อมกันใน 115 ภาษา และตื่นเถิด! 62 ภาษา. นี่หมายความว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมการศึกษาหอสังเกตการณ์ ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลกได้พิจารณาเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน. ช่างเป็นพระพรจริง ๆ! แน่ละ นั่นเป็นการใช้ทรัพย์สมบัติของนายเป็นอย่างดีเพื่อใช้จ่ายกับเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดนั้น!
จำเป็นต้องจัดระเบียบใหม่
12 ระบบใหม่เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงความจำเป็นต้องจัดระเบียบงานพิมพ์ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก. แท่นพิมพ์ออฟเซ็ตแบบใช้กระดาษม้วนพิมพ์ทำงานเร็วกว่าแบบตัวเรียงมาก แต่แท่นพิมพ์แบบนั้นก็แพงกว่ามากด้วย. ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้สนับสนุนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การเขียน, การแปล, ศิลป์, และรูปภาพ ขณะที่มีขีดความสามารถทำงานสูงกว่าระบบเก่ามาก ก็แพงกว่าเช่นกัน. ไม่ช้าก็ดูเหมือนว่าไม่เป็นการประหยัดอีกต่อไปที่จะพิมพ์วารสารใน 51 ประเทศ. ฉะนั้น ในทศวรรษ 1990 “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ” จึงวิเคราะห์สภาพการณ์ใหม่. ข้อสรุปคืออย่างไร?
13 การวิจัยต่าง ๆ บ่งว่า “ทรัพย์” ที่บริจาคโดยพยานพระยะโฮวาและสหายของเขาคงจะมีการใช้จ่ายอย่างที่ดีขึ้นถ้ารวมงานพิมพ์เข้าด้วยกัน. ดังนั้น จึงมีการค่อย ๆ ลดจำนวนสาขาที่ทำงานพิมพ์ลง. สาขาที่เยอรมนีรับช่วงงานพิมพ์วารสารและสรรพหนังสือสำหรับหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและตะวันตก ซึ่งรวมถึงบางประเทศที่ก่อนนี้เคยดำเนินการพิมพ์เอง. สาขาอิตาลีจัดทำวารสารและสรรพหนังสือให้ส่วนต่าง ๆ ของแอฟริกาและประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ซึ่งรวมทั้งกรีซและแอลเบเนียด้วย. ในแอฟริกา การพิมพ์วารสารจำกัดให้ทำที่ไนจีเรียและแอฟริกาใต้. มีการรวมงานพิมพ์เข้าด้วยกันที่คล้าย ๆ กันนี้ขึ้นทั่วโลก.
ปัจจัยต่าง ๆ สำหรับการพิจารณา
14 พอถึงเดือนกรกฎาคม 1998 จะไม่มีการพิมพ์วารสารอีกต่อไปในหลายประเทศของยุโรป ซึ่งรวมถึงออสเตรีย, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, กรีซ, เนเธอร์แลนด์, และสวิตเซอร์แลนด์. ภาระในการพิมพ์ในยุโรปจะถูกรับไปโดยบริเตน, ฟินแลนด์, เยอรมนี, อิตาลี, สเปน, และสวีเดน. ด้วยวิธีนี้ จะหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเงินบริจาคก็มีการใช้ในวิธีที่ดีกว่าสำหรับงานทั่วโลก. มีการตัดสินอย่างไรว่าประเทศไหนจะเป็นที่ทำการพิมพ์ต่อไปและประเทศไหนจะเลิกพิมพ์? เพื่อทำตามคำสั่งให้ดูแลทรัพย์สมบัติของนายอย่างสุขุม “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ” จึงประเมินอย่างรอบคอบถึงลักษณะตามความเป็นจริงของการพิมพ์ในแต่ละสถานที่.
15 เหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมจึงไม่มีการพิมพ์อีกต่อไปในบางประเทศและมีการรวมงานพิมพ์เข้าไว้ด้วยกันในประเทศอื่น ๆ นั้นเป็นไปตามสภาพจริง. การให้ประเทศหนึ่งพิมพ์สรรพหนังสือสำหรับประเทศอื่นหลายประเทศนั้นเป็นการสะดวกกว่าและเป็นการใช้อุปกรณ์ราคาแพงให้เป็นประโยชน์มากกว่า. ขณะนี้มีการพิมพ์ในที่ที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า, วัสดุต่าง ๆ มีอยู่พร้อม, และมีการจัดส่งที่ดี. ดังนั้น ทรัพย์สมบัติของนายจึงถูกใช้ไปอย่างเหมาะสม. แน่นอน การหยุดงานพิมพ์ในประเทศหนึ่งไม่ได้หมายความว่างานประกาศที่นั่นจะหยุดไป. ในประเทศนั้นจะยังมีสิ่งพิมพ์มากมายให้ไว้พร้อม และพยานพระยะโฮวาหลายแสนคนในประเทศเหล่านั้นจะบอกเพื่อนบ้านถึง “ข่าวดีแห่งสันติสุข” ด้วยใจแรงกล้าต่อ ๆ ไป. (เอเฟ. 2:17) ยิ่งกว่านั้น การจัดระเบียบใหม่นี้ยังก่อประโยชน์อื่น ๆ อีก.
16 ผลประโยชน์อย่างหนึ่งคือ แท่นพิมพ์ทันสมัยส่วนมากจากเดนมาร์ก, กรีซ, เนเธอร์แลนด์, และสวิตเซอร์แลนด์ ถูกส่งไปไนจีเรียและฟิลิปปินส์. ช่างพิมพ์ที่ชำนาญจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรับคำเชิญให้ไปกับแท่นพิมพ์เหล่านั้นและฝึกช่างในท้องถิ่นในการใช้แท่นพิมพ์. ดังนั้น ประเทศเหล่านี้กำลังได้รับวารสารคุณภาพสูงอย่างที่ประเทศอื่นได้รับ.
17 มาดูกันถึงผลประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ในขณะนี้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์วารสารคงตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศที่ดำเนินการพิมพ์ต่อไป. ผลก็คือ ในประเทศที่การพิมพ์เลิกไป บัดนี้ โภคทรัพย์จึงมีพร้อมสำหรับจุดประสงค์อื่น เช่น การสร้างหอประชุมราชอาณาจักรและช่วยเอาใจใส่ความจำเป็นของพี่น้องของเราในประเทศที่ยากจนกว่า. ดังนั้น การใช้ทรัพย์สมบัติของนายอย่างรอบคอบจึงหมายความว่า ถ้อยคำที่เปาโลมีไปถึงคริสเตียนชาวโกรินโธนั้นอาจใช้ได้อย่างบังเกิดผลมากกว่าในระดับนานาชาติ ที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่หมายจะให้การของคนอื่นเบาลงและให้การของพวกท่านหนักขึ้น แต่เป็นการให้กันไปให้กันมา, คือยามพวกท่านมีบริบูรณ์เช่นเวลานี้, ท่านจะช่วยคนเหล่านั้นที่ขัดสน.”—2 โก. 8:13, 14.
18 ผลจากการรวมเข้าด้วยกันเช่นนี้คือ พยานพระยะโฮวาทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกันใกล้ชิดกว่าก่อน. ที่พยานฯ ในเดนมาร์กมีวารสารที่พิมพ์ในเยอรมนีนั้นไม่เป็นปัญหาแม้ว่าพวกเขาเคยพิมพ์วารสารเองก็ตาม. พวกเขารู้สึกขอบคุณที่พี่น้องเยอรมันทำงานรับใช้นั้น. พยานพระยะโฮวาในเยอรมนีขุ่นเคืองไหมที่เงินบริจาคของตนถูกใช้เพื่อจัดเตรียมสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลสำหรับพี่น้องเดนมาร์ก หรือรัสเซีย, ยูเครน, และประเทศอื่น ๆ? ไม่อย่างแน่นอน! พวกเขายินดีที่รู้ว่าเงินบริจาคของพี่น้องของเขาในประเทศเหล่านั้นบัดนี้สามารถใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่จำเป็น.
การดูแลทรัพย์สิน
19 ในหอประชุมราชอาณาจักรทุกแห่งของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก มีกล่องบริจาคที่เขียนว่า “บริจาคเพื่องานทั่วโลกของสมาคมฯ—มัดธาย 24:14.” เงินบริจาคโดยไม่มีการเรียกร้องที่ใส่ในกล่องเหล่านั้นมีไว้พร้อมเพื่อใช้ที่ใดก็ตามที่มีความจำเป็น. เงินบริจาคจะใช้ไปอย่างไรนั้นมีการตัดสินใจโดย “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ” และนิติบุคคลของแต่ละสาขา. ฉะนั้น ในที่ที่กฎหมายอนุญาต เงินที่ใส่ในกล่องบริจาคในประเทศหนึ่งอาจใช้สนับสนุนกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาในอีกประเทศหนึ่งซึ่งอยู่ไกลไปหลายพันกิโลเมตรได้. มีการใช้เงินบริจาคนั้นในบางประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่เพื่อนผู้เชื่อถือซึ่งประสบความทุกข์เนื่องจากเหตุต่าง ๆ เช่น พายุไต้ฝุ่น, เฮอร์ริเคน, ทอร์นาโด, แผ่นดินไหว, และสงครามกลางเมือง. และเงินบริจาคเหล่านั้นกำลังถูกใช้สนับสนุนพวกมิชชันนารีใน 200 กว่าดินแดน.
20 ในประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา โดยทั่วไปแล้ว มีการกล่าวถึงเรื่องการเงินของประชาคมเพียงเดือนละครั้ง และใช้เวลาไม่กี่นาที. ไม่มีการผ่านถาดเก็บเงินในหอประชุมราชอาณาจักรหรือที่การประชุมใหญ่ต่าง ๆ. ไม่มีการส่งคำเรียกร้องเงินทุนไปให้แต่ละคน. ไม่มีการจ้างผู้รวบรวมทุน. ตามปกติแล้ว ในปีหนึ่ง ๆ หอสังเกตการณ์ จะมีเพียงบทความเดียวที่ชี้แจงว่า ผู้ที่ปรารถนาจะบริจาคแก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์เพื่อสนับสนุนงานทั่วโลกจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร. ไม่มีกล่าวถึงเรื่องการเงินของสมาคมฯ เลยในตื่นเถิด! ถ้าอย่างนั้น งานใหญ่โตในการประกาศข่าวดีทั่วโลก, การสร้างหอประชุมราชอาณาจักรตามที่จำเป็น, การดูแลผู้ที่อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลาประเภทพิเศษ, และการให้ความช่วยเหลือพี่น้องคริสเตียนที่ขัดสน มีการทำให้สำเร็จอย่างไร? พระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์อย่างมหัศจรรย์ให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ. (2 โก. 8:2) เราขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมใน ‘การถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์มีค่าของตน.’ พี่น้องจะแน่ใจได้ว่า “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ” จะคอยดูแลทรัพย์สมบัติของนายต่อ ๆ ไป. และเราทูลอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาทรงโปรดอวยพรการแผ่ขยายของงานทั่วโลกด้วย.
[เชิงอรรถ]
a ในประเทศเหล่านี้มีเจ็ดแห่งที่การพิมพ์ได้ดำเนินงานโดยบริษัทรับจ้างพิมพ์.