คำถามจากผู้อ่าน
พระเยซูทรงเร้าใจดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงบากบั่นอย่างแข็งขันที่จะเข้าไปทางประตูแคบ เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า หลายคนจะพยายามเข้าไปแต่จะเข้าไม่ได้.” (ลูกา 13:24, ล.ม.) พระองค์ทรงหมายความเช่นไร และข้อนี้หมายความอย่างไรในทุกวันนี้?
เราจะเข้าใจข้อความที่น่าสนใจนี้ได้อย่างดีที่สุดโดยการพิจารณาฉากเหตุการณ์ที่มีการกล่าวข้อความนี้. ประมาณหกเดือนก่อนพระเยซูสิ้นพระชนม์ พระองค์อยู่ในกรุงยะรูซาเลมระหว่างงานฉลองการอุทิศพระวิหารครั้งใหม่. พระองค์ตรัสถึงการเป็นผู้บำรุงเลี้ยงแกะของพระเจ้าแต่ทรงชี้ให้เห็นว่า ชาวยิวโดยทั่วไปไม่อยู่ในหมู่แกะดังกล่าวเพราะพวกเขาไม่ยอมฟัง. เมื่อพระเยซูตรัสว่าพระองค์เป็น “อันหนึ่งอันเดียว” กับพระบิดา พวกยิวพากันคว้าก้อนหินจะขว้างพระองค์. พระองค์จึงเสด็จหนีไปยังพีเรียซึ่งอยู่เลยแม่น้ำยาระเดนไป.—โยฮัน 10:1-40.
ที่นั่นมีชายคนหนึ่งทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า, คนที่รอดนั้นน้อยหรือ.” (ลูกา 13:23) นี่เป็นคำถามที่เหมาะที่เขาจะถามเพราะชาวยิวสมัยนั้นเชื่อว่า เฉพาะแต่คนจำนวนจำกัดเท่านั้นจะคู่ควร ได้รับความรอด. ด้วยเจตคติที่พวกเขาแสดงให้เห็น จึงไม่ยากที่จะนึกภาพออกว่าพวกเขาคิดว่าใครจะประกอบเป็นคนจำนวนน้อยนั้น. พวกเขาช่างคิดผิดเสียจริง ดังที่เหตุการณ์ภายหลังจะแสดงให้เห็น!
พระเยซูทรงอยู่ท่ามกลางชาวยิวราว ๆ สองปี ทรงสอน, ทำการอัศจรรย์, และทรงหยิบยื่นโอกาสที่พวกเขาจะมาเป็นทายาทแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ให้. ผลเป็นเช่นไร? พวกเขา และโดยเฉพาะพวกผู้นำของเขา หยิ่งทะนงในการเป็นเชื้อสายของอับราฮามและการได้รับมอบพระบัญญัติของพระเจ้า. (มัดธาย 23:2; โยฮัน 8:31-44) แต่พวกเขาจะไม่ยอมรับและไม่ตอบรับเสียงของผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี. ดูราวกับว่ามีประตูเปิดอยู่ตรงหน้าพวกเขาโดยมีการเป็นสมาชิกในราชอาณาจักรเป็นบำเหน็จอันทรงค่าที่สุดสำหรับผู้ที่ผ่านประตูนั้นเข้าไป แต่พวกเขาปฏิเสธ. มีแต่คนจำนวนค่อนข้างน้อยซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้มีฐานะต่ำต้อยที่ฟังข่าวสารแห่งความจริงของพระเยซู, ตอบรับ, และติดสนิทกับพระองค์.—ลูกา 22:28-30; โยฮัน 7:47-49.
ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 คนจำพวกหลังนี่แหละที่อยู่ในพวกที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. (กิจการ 2:1-38) พวกเขาไม่อยู่ในหมู่ผู้ประพฤติชั่วที่พระเยซูตรัสถึงซึ่งจะร้องไห้และขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเนื่องจากไม่ได้รับเอาโอกาสที่ได้จัดไว้ให้พวกเขา.—ลูกา 13:27, 28
ด้วยเหตุนั้น ในศตวรรษแรก “หลายคน” นั้นก็คือชาวยิวโดยทั่วไป โดยเฉพาะพวกผู้นำศาสนา. พวกเขาอ้างว่าปรารถนาจะได้ความโปรดปรานจากพระเจ้า—แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานและวิธีการของพวกเขาเอง ไม่ใช่ของพระเจ้า. อีกด้านหนึ่ง คนจำนวนค่อนข้าง “น้อย” ซึ่งตอบรับด้วยความสนใจอย่างจริงใจในการเป็นส่วนแห่งราชอาณาจักรนั้นได้มาเป็นสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งประชาคมคริสเตียน.
ทีนี้มาพิจารณาความหมายที่กว้างกว่านั้นซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของเรา. คนมากมายที่เข้าร่วมในคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรเคยได้รับการสอนว่า พวกเขาจะไปสวรรค์. แต่ความมุ่งมาดปรารถนาเช่นนี้ไม่ได้อาศัยคำสอนที่ถูกต้องในพระคัมภีร์. เช่นเดียวกับชาวยิวที่กล่าวถึงในตอนต้น คนเหล่านี้อยากได้ความโปรดปรานจากพระเจ้าเฉพาะแต่ด้วยวิธีการของตนเอง.
กระนั้น ก็มีคนจำนวนค่อนข้างน้อยในสมัยของเราที่ได้ตอบรับด้วยใจถ่อมต่อข่าวสารราชอาณาจักร, อุทิศตนแด่พระยะโฮวา, และมาอยู่ในฐานะจะได้รับความโปรดปรานจากพระองค์. การทำเช่นนี้นำไปสู่การที่พวกเขาจะได้เป็น “บุตรแห่งราชอาณาจักร.” (มัดธาย 13:38, ล.ม.) “บุตร” ที่ถูกเจิมเหล่านั้นเริ่มได้รับเชิญในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33. พยานพระยะโฮวาเชื่อมานานแล้วว่าหลักฐานในเรื่องที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับไพร่พลของพระองค์นั้นบ่งชี้ว่า โดยพื้นฐานแล้ว เหล่าสมาชิกแห่งชนฝ่ายสวรรค์นั้นถูกเรียกแล้ว. ฉะนั้น ผู้ที่ได้เรียนรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเมื่อไม่กี่ปีมานี้จึงเข้าใจว่า ปัจจุบันนี้ ความหวังเรื่องชีวิตนิรันดรบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานกำลังถูกแพร่ออกไป. คนเหล่านี้มีจำนวนมากกว่าชนที่เหลือแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งกำลังลดจำนวนลง ผู้ซึ่งมีความหวังในการไปสวรรค์อย่างแท้จริง. ลูกา 13:24 นั้นในประการสำคัญแล้วไม่หมายถึงผู้ที่ไม่มีความหวังจะไปสวรรค์ แต่ข้อนี้ก็มีคำแนะนำที่สุขุมสำหรับพวกเขาอย่างแน่นอน.
โดยการเร้าใจเราให้บากบั่นอย่างแข็งขัน พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าพระองค์หรือพระบิดาของพระองค์จะวางอุปสรรคไว้ตามทางเพื่อกีดขวางเรา. แต่เราเข้าใจจากลูกา 13:24 ว่า ข้อเรียกร้องของพระเจ้านั้นมีไว้เพื่อกันผู้ไม่คู่ควรออกไป. “ท่านทั้งหลายจงบากบั่นอย่างแข็งขัน” แฝงความหมายของการพากเพียร การทุ่มเทตัวเอง. ด้วยเหตุนั้น เราน่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันกำลังทุ่มเทตัวเองไหม?’ ลูกา 13:24 อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ‘ฉันต้องบากบั่นอย่างแข็งขันเพื่อจะเข้าไปทางประตูแคบเพราะหลายคนจะพยายามเข้าไปแต่จะเข้าไม่ได้. ดังนั้น ฉันกำลังบากบั่นอย่างแข็งขันจริง ๆ ไหม? ฉันเป็นเหมือนนักกรีฑาในสนามกีฬาสมัยโบราณไหมที่สละทุกสิ่งเพื่อชนะรางวัล? นักกรีฑาเหล่านั้นไม่มีใครที่ทำแบบไม่จริงจังหรือแบบขอไปที. ฉันเป็นอย่างนั้นไหม?’
คำตรัสของพระเยซูบ่งว่าบางคนอาจพยายามจะ ‘เข้าไปทางประตูนั้น’ เมื่อตนเองสะดวกเท่านั้น ด้วยฝีเท้าตามสบายที่เขาชอบมากกว่า. เจตคติเช่นนี้อาจส่งผลกระทบพยานฯ เป็นรายบุคคล. บางคนอาจให้เหตุผลว่า ‘ผมรู้จักคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วซึ่งทุ่มเทตัวเองมาหลายปี เสียสละหลายอย่าง แต่พอถึงเวลาที่เขาตาย อวสานของระบบชั่วนี้ก็ยังมาไม่ถึง. ถ้าอย่างนั้น บางทีผมก็น่าจะหย่อนมือลงบ้าง ดำเนินชีวิตแบบปกติอีกสักหน่อย.’
ง่ายที่จะคิดอย่างนั้น แต่นั่นเป็นการคิดอย่างสุขุมจริง ๆ ไหม? ยกตัวอย่าง ท่านอัครสาวกคิดอย่างนั้นไหม? ไม่อย่างแน่นอน. พวกท่านสละทุกสิ่งที่ท่านมีแก่การนมัสการแท้—จนกระทั่งสิ้นชีวิต. ตัวอย่างเช่น เปาโลสามารถกล่าวว่า “[พระคริสต์] นั้นแหละเราประกาศอยู่ . . . เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกระทำการงานด้วย, โดยความอุสสาหะตามการกระทำของพระองค์ผู้ทรงออกฤทธิ์กระทำอยู่ในตัวข้าพเจ้า.” ต่อมาท่านเขียนว่า “เพื่อจุดมุ่งหมายนี้เราจึงทำงานหนักและทุ่มเทตัวเอง เพราะเราได้ฝากความหวังไว้กับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ผู้ทรงเป็นผู้ช่วยให้รอดของมนุษย์ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนซื่อสัตย์.”—โกโลซาย 1:28, 29; 1 ติโมเธียว 4:10, ล.ม.
เราทราบว่าเปาโลได้ทำสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ด้วยการทุ่มเทตัวท่านเอง. เราแต่ละคนจะรู้สึกอิ่มใจสักเพียงไรถ้าสามารถกล่าวเหมือนเปาโลได้ว่า “ข้าพเจ้าได้ทำการต่อสู้ที่ดี ข้าพเจ้าได้วิ่งจนสุดทาง ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้.” (2 ติโมเธียว 4:7, ล.ม.) ดังนั้น โดยประสานกับคำตรัสของพระเยซูที่บันทึกไว้ในลูกา 13:24 เราแต่ละคนอาจถามว่า ‘ฉันกำลังทุ่มเทตัวเองด้วยความขยันขันแข็งและด้วยความอุตสาหะพยายามไหม? ฉันให้หลักฐานที่เพียงพอและเป็นประจำไหมว่า ฉันเอาใจใส่คำกระตุ้นเตือนของพระเยซูที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงบากบั่นอย่างแข็งขัน ที่จะเข้าไปทางประตูแคบ”?