การหว่านเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักร
“ในเวลาเช้าจงหว่านเมล็ดของเจ้าและอย่าวางมือจนกระทั่งเวลาเย็น.”—ท่านผู้ประกาศ 11:6, ล.ม.
1. ปัจจุบัน คริสเตียนกำลังหว่านเมล็ดพืชในแง่ใด?
เกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญในสังคมชาวฮีบรูโบราณ. นั่นเป็นเหตุที่พระเยซู ผู้ใช้เวลาทั้งชีวิตของพระองค์ฐานะเป็นมนุษย์ในแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญา ผูกโยงแนวคิดเกี่ยวกับการเกษตรเข้ากับอุทาหรณ์ต่าง ๆ ของพระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงเปรียบการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าว่าเหมือนกับการหว่านเมล็ดพืช. (มัดธาย 13:1-9, 18-23; ลูกา 8:5-15) จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าเรามีชีวิตในสังคมเกษตรหรือไม่ก็ตาม การหว่านเมล็ดฝ่ายวิญญาณในวิธีนี้เป็นงานสำคัญที่สุดที่คริสเตียนทำ.
2. งานประกาศของเราสำคัญเพียงไร และได้มีการทำอะไรไปบ้างในปัจจุบันเพื่อทำให้งานนี้สำเร็จ?
2 นับเป็นสิทธิพิเศษอันใหญ่หลวงที่จะมีส่วนร่วมในการหว่านความจริงของคัมภีร์ไบเบิลในเวลาอวสานนี้. โรม 10:14, 15 (ล.ม.) แสดงถึงความสำคัญของงานนี้ได้เป็นอย่างดีว่า “เขาจะได้ยินอย่างไรเมื่อไม่มีใครประกาศ? แล้วเขาจะประกาศอย่างไรเว้นแต่เขาถูกส่งไป? ดังที่มีคำเขียนไว้ว่า ‘เท้าของคนเหล่านั้นที่ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ นั้นก็งามสักเพียงใด!’ ” ไม่เคยมีความสำคัญยิ่งกว่านี้มาก่อนที่จะรุดหน้าไปพร้อมกับมีเจตคติที่ดีในการทำหน้าที่มอบหมายจากพระเจ้าให้สำเร็จ. ด้วยเหตุนั้น พยานพระยะโฮวาเอาใจใส่เต็มที่ในการผลิตและจ่ายแจกคัมภีร์ไบเบิลและคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลใน 340 ภาษา. การจัดเตรียมหนังสือเหล่านี้ต้องใช้อาสาสมัครทำงานในสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาในดินแดนต่าง ๆ 18,000 กว่าคน. และพยานฯ เกือบหกล้านคนมีส่วนร่วมในการจ่ายแจกสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้ไปทั่วโลก.
3. กำลังมีการทำอะไรให้สำเร็จโดยการหว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร?
3 ผลของการทำงานอย่างหนักเช่นนี้คืออะไร? เช่นเดียวกับในสมัยแรกของศาสนาคริสเตียน หลายคนในปัจจุบันกำลังรับเอาความจริง. (กิจการ 2:41, 46, 47) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวนมากมายของผู้ประกาศราชอาณาจักรที่รับบัพติสมาได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่า การให้คำพยานอย่างใหญ่โตเช่นนี้มีส่วนในการทำให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และพิสูจน์ความถูกต้องเที่ยงธรรมของพระองค์ในฐานะพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. (มัดธาย 6:9) นอกจากนั้น ความรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้ากำลังทำให้ชีวิตของหลายคนดีขึ้นและสามารถนำพวกเขาไปสู่ความรอด.—กิจการ 13:47.
4. เหล่าอัครสาวกห่วงใยเพียงใดต่อผู้คนที่พวกเขาประกาศสั่งสอน?
4 เหล่าอัครสาวกสำนึกเต็มที่ถึงความสำคัญของข่าวดีซึ่งให้ชีวิต และพวกเขามีความรู้สึกลึกซึ้งต่อคนที่เขาประกาศสั่งสอน. เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำพูดของอัครสาวกเปาโล เมื่อท่านเขียนว่า “เนื่องจากมีความรักใคร่อันอ่อนละมุนต่อท่าน เราจึงยินดีจะให้ท่านทั้งหลายไม่เพียงแต่ข่าวดีของพระเจ้าเท่านั้น แต่ให้จิตวิญญาณของเราแก่ท่านด้วย เพราะว่าท่านเป็นที่รักของเรา.” (1 เธซะโลนิเก 2:8, ล.ม.) ในการสำแดงความห่วงใยแท้จริงเช่นนั้นต่อผู้คน เปาโลและอัครสาวกคนอื่น ๆ กำลังเลียนแบบพระเยซูและทูตสวรรค์ทั้งหลาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในงานช่วยชีวิตนี้. ขอให้เราทบทวนบทบาทที่สำคัญของผู้รับใช้ฝ่ายสวรรค์เหล่านี้ของพระเจ้าในการหว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร และขอให้เราดูว่าตัวอย่างของพวกเขาสนับสนุนเราอย่างไรให้ทำบทบาทหน้าที่ของเราให้สำเร็จ.
พระเยซู—ผู้หว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร
5. เมื่อทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงหมกมุ่นอยู่กับงานอะไรเป็นอันดับแรก?
5 พระเยซู มนุษย์สมบูรณ์ ทรงมีอำนาจที่จะจัดเตรียมสิ่งดี ๆ ฝ่ายวัตถุสำหรับประชาชนในสมัยของพระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงสามารถขจัดแนวคิดผิด ๆ ในเรื่องการรักษาซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น หรือไม่ก็ทรงสามารถพัฒนาความเข้าใจของมนุษย์เราในศาสตร์ด้านอื่น ๆ. กระนั้น พระองค์ทรงทำให้เห็นชัดตั้งแต่แรกในงานรับใช้ของพระองค์ว่า งานที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมายคือการประกาศข่าวดี. (ลูกา 4:17-21) และเมื่องานรับใช้ของพระองค์ใกล้จะสิ้นสุดลง พระองค์ทรงชี้แจงว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงหมกมุ่นอยู่กับการหว่านเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักร. การสอนผู้คนในสมัยนั้นเกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์สำคัญยิ่งกว่าการศึกษาใด ๆ ก็ตามที่พระเยซูสามารถให้พวกเขาได้.—โรม 11:33-36.
6, 7. (ก) พระเยซูทรงให้คำสัญญาที่น่าทึ่งอะไรก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ และพระองค์ทรงทำให้สำเร็จตามนั้นอย่างไร? (ข) เจตคติของพระเยซูต่องานประกาศมีผลต่อคุณเป็นส่วนตัวอย่างไร?
6 พระเยซูตรัสพาดพิงถึงพระองค์เองว่าเป็นผู้หว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร. (โยฮัน 4:35-38) พระองค์ทรงแพร่กระจายเมล็ดแห่งข่าวดีในทุกโอกาส. แม้ขณะที่พระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์บนหลัก พระองค์ทรงประกาศข่าวดีเกี่ยวกับอุทยานบนแผ่นดินโลกในอนาคต. (ลูกา 23:43) นอกจากนี้ ความห่วงใยลึกซึ้งที่ข่าวดีต้องได้มีการประกาศออกไปไม่ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนหลักทรมาน. ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้เหล่าอัครสาวกหว่านเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวกต่อ ๆ ไป. จากนั้น พระเยซูทรงให้คำสัญญาที่น่าทึ่ง. พระองค์ตรัสว่า “นี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
7 ด้วยคำตรัสดังกล่าว พระเยซูทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุน, ชี้นำ, และปกป้องงานประกาศข่าวดี “ตลอดไป จนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.” ตลอดมาจนกระทั่งสมัยของเรานี้ พระเยซูเองทรงสนพระทัยในงานเผยแพร่กิตติคุณ. พระองค์ทรงเป็นผู้นำของเรา ดูแลการหว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร. (มัดธาย 23:10) ในฐานะประมุขของประชาคมคริสเตียน พระองค์ทรงรับผิดชอบต่อพระยะโฮวาสำหรับงานนี้ซึ่งมีไปทั่วโลก.—เอเฟโซ 1:22, 23; โกโลซาย 1:18.
ทูตสวรรค์ประกาศข่าวน่ายินดี
8, 9. (ก) ทูตสวรรค์แสดงความสนใจจริงอย่างไรต่อกิจการงานของมนุษย์? (ข) อาจกล่าวได้ในแง่ใดว่าเราตกเป็นเป้าสายตาของทูตสวรรค์?
8 เมื่อพระยะโฮวาทรงสร้างแผ่นดินโลก เหล่าทูตสวรรค์ “แซ่ซ้องสรรเสริญ, และ . . . ส่งเสียงแสดงความยินดี.” (โยบ 38:4-7) นับแต่นั้นมา ทูตสวรรค์เหล่านี้ก็ได้แสดงความสนใจอย่างยิ่งต่อกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์. พระยะโฮวาทรงใช้พวกเขาให้นำเอาถ้อยแถลงของพระองค์ไปยังมนุษย์. (บทเพลงสรรเสริญ 103:20) เป็นความจริงโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวดีในสมัยของเรานี้. ในวิวรณ์ที่ได้ประทานแก่ท่าน อัครสาวกโยฮันเห็น “ทูตสวรรค์ . . . องค์หนึ่งบินอยู่กลางฟ้าสวรรค์” ซึ่งมี “ข่าวดีนิรันดร์จะประกาศเป็นข่าวน่ายินดีแก่คนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก และแก่ทุกชาติและทุกตระกูล และทุกภาษาและทุกชนชาติ ท่านกล่าวด้วยเสียงดังว่า ‘จงเกรงกลัวพระเจ้าและถวายเกียรติแด่พระองค์ เพราะชั่วโมงแห่งการพิพากษาโดยพระองค์มาถึงแล้ว.’ ”—วิวรณ์ 14:6, 7, ล.ม.
9 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงทูตสวรรค์ว่าเป็น “องค์วิญญาณเพื่อการรับใช้สาธารณชน ถูกใช้ไปเพื่อรับใช้คนเหล่านั้นที่จะรับความรอดเป็นมรดก.” (เฮ็บราย 1:14, ล.ม.) ในขณะที่ทูตสวรรค์ทำหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายอย่างกระตือรือร้น พวกเขามีโอกาสที่จะสังเกตดูเราและงานของเรา. ราวกับอยู่บนเวทีละครที่เด่นมาก เราทำงานของเราให้สำเร็จลุล่วงต่อหน้าผู้ชมที่อยู่ในสวรรค์. (1 โกรินโธ 4:9) ช่างเป็นเรื่องน่าคิดและน่าตื่นเต้นสักเพียงไรที่ทราบว่าเราไม่ได้ทำงานแต่เพียงลำพังในการเป็นผู้หว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร!
เราทำบทบาทของเราให้สำเร็จอย่างกระตือรือร้น
10. จะนำเอาคำแนะนำซึ่งใช้ได้จริงที่ท่านผู้ประกาศ 11:6 ไปใช้กับงานเผยแพร่กิตติคุณของเราได้อย่างไร?
10 เหตุใดพระเยซูและเหล่าทูตสวรรค์จึงสนใจมากในงานของเรา? พระเยซูทรงให้เหตุผลอย่างหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า, จะมีความยินดีในพวกทูตของพระเจ้าเพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่.” (ลูกา 15:10) เราก็สนใจผู้คนอย่างแท้จริงเช่นกัน. ดังนั้น เราทำอย่างดีที่สุดที่จะแพร่กระจายเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักรไปทุกหนแห่ง. ถ้อยคำที่ท่านผู้ประกาศ 11:6 (ล.ม.) ใช้ได้กับงานของเรา. ที่นั่น คัมภีร์ไบเบิลเตือนสติเราว่า “ในเวลาเช้าจงหว่านเมล็ดของเจ้าและอย่าวางมือจนกระทั่งเวลาเย็น; เพราะเจ้าไม่รู้ว่าการนี้จะสำเร็จที่ไหน ที่นี่หรือที่นั่น หรือว่าทั้งสองที่จะดีเหมือนกัน.” จริงอยู่ เราอาจพบกับหลายร้อยหรือแม้แต่หลายพันคนซึ่งปฏิเสธข่าวสารของเรากว่าจะพบกับคนที่ตอบรับสักคนหนึ่ง. แต่เช่นเดียวกับทูตสวรรค์ เรายินดีเมื่อมีแม้แต่ “คนบาปคนเดียว” ตอบรับข่าวสารแห่งความรอด.
11. การใช้สรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักอาจเกิดผลเช่นไร?
11 มีหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการประกาศข่าวดี. เครื่องช่วยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับงานนี้คือสิ่งพิมพ์ซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักที่พยานพระยะโฮวาใช้. ในบางแง่ สรรพหนังสือเหล่านี้เป็นเหมือนเมล็ดที่กระจายไปทุกหนทุกแห่งด้วยเช่นกัน. เราไม่ทราบว่าหนังสือของเราจะทำให้เกิดผลที่ไหน. บางครั้งหนังสือเล่มหนึ่งอาจได้ผ่านมือของหลายคนก่อนที่จะมีบางคนอ่านหนังสือนั้น. ในบางกรณี พระเยซูและทูตสวรรค์อาจถึงกับชี้นำเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นเช่นนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้มีหัวใจชอบธรรม. ขอให้พิจารณาประสบการณ์บางเรื่องซึ่งแสดงถึงวิธีที่พระยะโฮวาสามารถทำให้เกิดผลที่คาดไม่ถึงและน่าพิศวง โดยใช้สรรพหนังสือที่ได้เสนอไว้กับประชาชน.
การงานของพระเจ้าเที่ยงแท้
12. วารสารเก่าฉบับหนึ่งได้ช่วยครอบครัวหนึ่งอย่างไรให้มารู้จักพระยะโฮวา?
12 ในปี 1953 โรเบิร์ต, ไลลา, และลูก ๆ ได้ย้ายจากเมืองใหญ่มาอยู่ที่บ้านไร่เก่า ๆ และทรุดโทรมหลังหนึ่งซึ่งอยู่นอกเมือง ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา. หลังจากย้ายเข้ามาอยู่ได้ไม่นาน โรเบิร์ตก็ตัดสินใจทำห้องน้ำใต้บันไดซึ่งมีแผ่นผนังตีปิดอยู่. เมื่อรื้อแผ่นผนังออกมาได้หลายแผ่น เขาก็พบว่าข้างหลังผนังนั้น หนูได้เก็บเศษกระดาษ, เปลือกลูกนัท, และเศษขยะอื่น ๆ ไว้ในนั้นเต็มไปหมด. ที่นั่น ในท่ามกลางสิ่งของทั้งหมด มีวารสารเดอะ โกลเดน เอจ ฉบับหนึ่งวางอยู่. โรเบิร์ตสนใจเป็นพิเศษในบทความที่พูดถึงการเลี้ยงดูบุตร. เขาประทับใจมากในคำชี้แนะที่ชัดเจนซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักที่วารสารฉบับนั้นได้ให้ จนถึงกับบอกไลลาว่าครอบครัวของเขาจะเข้า “ศาสนาของเดอะ โกลเดน เอจ.” หลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ พยานพระยะโฮวาก็ได้มาที่บ้านเขา แต่โรเบิร์ตบอกว่าครอบครัวเขาสนใจแต่ “ศาสนาของเดอะ โกลเดน เอจ” เท่านั้น. พยานฯ อธิบายว่าเดี๋ยวนี้เดอะ โกลเดน เอจ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อะเวก! (ตื่นเถิด!) โรเบิร์ตและไลลาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำกับพยานฯ และในที่สุดทั้งสองก็รับบัพติสมา. แล้วทั้งคู่ก็ได้หว่านเมล็ดแห่งความจริงไว้ในตัวลูก ๆ และเก็บเกี่ยวผลอย่างอุดมบริบูรณ์. ในเวลานี้ 20 กว่าคนจากสมาชิกครอบครัวนี้ รวมถึงลูกทุกคนของโรเบิร์ตกับไลลาซึ่งมีทั้งหมดเจ็ดคน เป็นผู้รับใช้ที่บัพติสมาแล้วของพระยะโฮวาพระเจ้า.
13. อะไรกระตุ้นสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เปอร์โตริโกให้พัฒนาความสนใจในคัมภีร์ไบเบิล?
13 เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว วิลเลียมและเอดา คู่สามีภรรยาจากเปอร์โตริโก ไม่สนใจเลยที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อไรก็ตามที่พยานพระยะโฮวามาเคาะที่ประตูบ้าน ทั้งคู่ก็จะแกล้งทำเหมือนกับไม่มีใครอยู่บ้าน. วันหนึ่ง วิลเลียมแวะไปที่ร้านขายของเก่าเพื่อซื้อของที่ต้องการสำหรับซ่อมแซมอะไรบางอย่างที่บ้าน. ขณะที่เขากำลังจะออกจากร้าน เขาสังเกตเห็นหนังสือเล่มหนึ่งสีตองอ่อนสดใสซุกอยู่ในถังขยะใบใหญ่. หนังสือนั้นชื่อ ศาสนา (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวาเมื่อปี 1940. วิลเลียมหยิบหนังสือนั้นมาที่บ้านและรู้สึกตื่นเต้นที่ได้อ่านเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศาสนาเท็จกับศาสนาแท้. เมื่อพยานพระยะโฮวามาเยี่ยมครั้งต่อมา วิลเลียมและเอดารับฟังข่าวสารของพวกเขาด้วยความยินดีและเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเขา. ไม่กี่เดือนต่อมา ทั้งสองก็รับบัพติสมา ณ การประชุมนานาชาติพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ในปี 1958. นับแต่นั้นมา ทั้งคู่ได้ช่วยมากกว่า 50 คนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภราดรภาพแบบคริสเตียนของเรา.
14. ดังที่เห็นจากประสบการณ์นี้ สิ่งพิมพ์ของเราซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดผลเช่นไร?
14 คาร์ล อายุเพียง 11 ขวบและค่อนข้างซน. เขารู้สึกว่าตัวเขาเองมักประสบกับเรื่องยุ่งยากอยู่เสมอ. บิดาของเขา ซึ่งเป็นนักเทศน์นิกายเยอรมัน เมโทดิสต์ ได้สอนเขาว่าคนชั่วจะถูกเผาในนรกเมื่อตายแล้ว. ด้วยเหตุนั้น คาร์ลจึงกลัวนรกมาก. วันหนึ่งในปี 1917 คาร์ลสังเกตเห็นกระดาษแผ่นหนึ่งบนถนนและหยิบขึ้นมา. เมื่อเขาอ่านดู สายตาของเขาก็มุ่งตรงไปยังคำถามที่ว่า “นรกคืออะไร?” ทันที. กระดาษแผ่นนั้นเป็นใบเชิญให้ร่วมฟังปาฐกถาในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับนรก จัดโดยกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามพยานพระยะโฮวา. ประมาณหนึ่งปีต่อมา หลังจากได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายครั้ง คาร์ลก็รับบัพติสมา และโดยวิธีนั้นได้กลายเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ในปี 1925 เขาได้รับเชิญให้ทำงานที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวา—ซึ่งเขายังคงรับใช้อยู่จนถึงตอนนี้. งานประจำชีพในฐานะคริสเตียนซึ่งดำเนินมากว่าแปดทศวรรษได้เริ่มต้นขึ้นด้วยกระดาษแผ่นเดียวบนถนน.
15. พระยะโฮวาทรงสามารถทำอะไรตามที่พระองค์ทรงเห็นสมควร?
15 จริงอยู่ เป็นเรื่องเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะบอกได้ว่าทูตสวรรค์เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์เหล่านี้หรือไม่และถึงขนาดไหน. กระนั้น เราไม่ควรสงสัยเลยว่าพระเยซูและทูตสวรรค์มีบทบาทอย่างขันแข็งในงานประกาศและพระยะโฮวาสามารถชี้นำเรื่องต่าง ๆ ตามที่พระองค์ทรงเห็นสมควร. ประสบการณ์เหล่านี้และอีกหลายประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันแสดงถึงศักยภาพที่สรรพหนังสือของเราอาจก่อผลดีหลังจากที่ออกจากมือเราไปแล้ว.
เราได้รับมอบสิ่งมีค่าให้ดูแล
16. เราจะเรียนอะไรได้จากคำกล่าวที่ 2 โกรินโธ 4:7?
16 อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง “ทรัพย์นั้นในภาชนะดิน.” ทรัพย์นั้นคืองานมอบหมายจากพระเจ้าให้ประกาศ และภาชนะดินคือมนุษย์ที่พระยะโฮวาทรงมอบทรัพย์ดังกล่าวนี้ให้. เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่สมบูรณ์และมีข้อจำกัด เปาโลกล่าวต่อไปว่าผลของการได้รับงานมอบหมายเช่นนั้นก็เพื่อ “กำลังที่มากกว่าปกติจะเป็นของพระเจ้า และมิใช่มาจากตัวเราเอง.” (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) ถูกแล้ว เราสามารถหมายพึ่งพระยะโฮวาในการประทานกำลังที่จำเป็นเพื่อช่วยเราสามารถทำงานที่ได้รับมอบไว้ให้สำเร็จ.
17. เราจะเผชิญอะไรขณะที่เราหว่านเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักร และเหตุใดเราควรรักษาเจตคติแง่บวกไว้เสมอไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม?
17 บ่อยครั้ง เราต้องเสียสละ. อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหรือสะดวกที่จะทำงานในบางเขต. มีบางแห่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่แยแสแม้แต่น้อย หรือแสดงความไม่เป็นมิตรด้วยซ้ำ. อาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากในท้องที่เช่นนั้นโดยที่ดูเหมือนจะไม่เห็นผลสำเร็จเลย. แต่ไม่มีความพยายามใดที่มากเกินไป ในเมื่อคนจำนวนมากกำลังตกอยู่ในอันตราย. พึงจำไว้ว่า เมล็ดที่คุณหว่านสามารถให้ความสุขแก่ประชาชนในขณะนี้และชีวิตนิรันดร์ในอนาคต. หลายครั้ง ถ้อยคำที่บทเพลงสรรเสริญ 126:6 ปรากฏเป็นความจริง ที่ว่า “ผู้ที่เดินร้องไห้ไปหว่านพืชนั้น, ไม่ต้องสงสัย, คงจะแบกฟ่อนข้าวของตนกลับมาอีกด้วยความยินดี.”
18. เราจะเอาใจใส่งานรับใช้ของเราอยู่เสมอได้อย่างไร และเหตุใดเราควรทำเช่นนั้น?
18 ขอให้เราฉวยประโยชน์จากทุกโอกาสที่เหมาะเพื่อหว่านเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักรอย่างเต็มที่. ขอเราอย่าลืมว่า แม้เราเป็นคนปลูกและรดน้ำ แต่พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ทำให้เมล็ดนั้นงอกงามขึ้น. (1 โกรินโธ 3:6, 7) กระนั้น เช่นเดียวกับที่พระเยซูและพวกทูตสวรรค์ทำส่วนของตนให้สำเร็จในงานนั้น พระยะโฮวาทรงคาดหมายว่าเราจะทำงานรับใช้ของเราให้สำเร็จครบถ้วน. (2 ติโมเธียว 4:5) ขอให้เราเอาใจใส่การสอนของเรา, เจตคติของเรา, และความกระตือรือร้นของเราในงานรับใช้อยู่เสมอ. เพราะเหตุใด? เปาโลตอบว่า “ด้วยการทำอย่างนี้ท่านจะช่วยทั้งตัวท่านเองและคนที่ฟังท่านให้รอด.”—1 ติโมเธียว 4:16, ล.ม.
เราได้เรียนอะไรไปบ้าง?
• งานหว่านของเราก่อผลดีในทางใดบ้าง?
• พระเยซูคริสต์และทูตสวรรค์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างไรในงานเผยแพร่กิตติคุณในปัจจุบัน?
• เหตุใดเราควรมีน้ำใจกว้างขวางในฐานะผู้หว่านความจริงแห่งราชอาณาจักร?
• เมื่อเราเผชิญกับความไม่แยแสหรือความไม่เป็นมิตรในงานรับใช้ของเรา อะไรควรกระตุ้นเราให้บากบั่นต่อไป?
[ภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับกสิกรในชาติยิศราเอลโบราณ คริสเตียนในปัจจุบันแพร่กระจายเมล็ดความจริงแห่งราชอาณาจักรอย่างเต็มที่
[ภาพหน้า 16, 17]
พยานพระยะโฮวาผลิตและจ่ายแจกสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักซึ่งมีหลากหลายใน 340 ภาษา