จงเลียนแบบความเมตตาของพระยะโฮวา
“จงมีความเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตาปรานี.”—ลูกา 6:36.
1. พวกฟาริซายแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาปราศจากความเมตตา?
แม้ถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้า มนุษย์เรามักไม่ได้เลียนแบบความเมตตาของพระองค์. (เยเนซิศ 1:27) เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาพวกฟาริซาย. พวกเขาไม่ยอมยินดีด้วยเมื่อพระเยซูทรงรักษาชายมือลีบด้วยพระทัยเมตตาในวันซะบาโต. แทนที่จะเป็นดังนั้น พวกเขากลับปรึกษากัน “ว่าจะทำอย่างไรจึงจะกำจัด [พระเยซู] ได้.” (มัดธาย 12:9-14) ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงรักษาชายคนหนึ่งที่ตาบอดแต่กำเนิด. อีกครั้งหนึ่ง “พวกฟาริซายบางคน” ไม่เห็นว่ามีอะไรน่ายินดีในการแสดงความกรุณาของพระเยซู. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาบ่นว่า “คนนั้นหาได้มาจากพระเจ้าไม่, เพราะมิได้รักษาวันซะบาโต.”—โยฮัน 9:1-7, 16.
2, 3. พระเยซูทรงหมายความเช่นไรเมื่อกล่าวว่า “จงสังเกตและระวังเชื้อแห่งพวกฟาริซาย”?
2 เจตคติอันเย็นชาของพวกฟาริซายนับเป็นการประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยธรรมและเป็นบาปต่อพระเจ้า. (โยฮัน 9:39-41) พระเยซูจึงทรงมีเหตุผลที่ดีที่ได้เตือนเหล่าสาวกว่า “จงสังเกตและระวังเชื้อ” ของชนชั้นสูงกลุ่มนี้และพวกเคร่งศาสนาอื่น ๆ เช่นพวกซาดูกาย. (มัดธาย 16:6) คัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่าเชื้อในความหมายของบาปหรือความเสื่อมทราม. ดังนั้น พระเยซูจึงตรัสว่าคำสอนของ “พวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย” อาจทำให้การนมัสการบริสุทธิ์เสื่อมเสียได้. โดยวิธีใด? ก็โดยการสอนประชาชนให้ถือพระบัญญัติของพระเจ้าโดยยึดกฎและพิธีกรรมที่พวกเขาตั้งขึ้นตามอำเภอใจ ในขณะเดียวกันก็เพิกเฉยต่อ “ส่วนข้อสำคัญ” ซึ่งก็รวมถึงความเมตตาด้วย. (มัดธาย 23:23) รูปแบบของศาสนาตามพิธีกรรมเช่นนี้ทำให้การนมัสการพระเจ้ากลายเป็นภาระหนักที่ยากจะแบก.
3 ในส่วนที่สองของอุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย พระเยซูทรงเปิดเผยแนวความคิดที่ชั่วช้าของพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิว. ในอุทาหรณ์ บิดาซึ่งหมายถึงพระยะโฮวากระตือรือร้นที่จะให้อภัยบุตรชายที่กลับใจแล้ว. แต่พี่ชายของเขาซึ่งเป็นภาพเล็งถึง “พวกฟาริซายและพวกอาลักษณ์” มีความรู้สึกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในเรื่องนี้.—ลูกา 15:2.
ความเดือดดาลของพี่ชาย
4, 5. พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่าย ‘หลงทาง’ ในแง่ใด?
4 “ฝ่ายบุตรคนใหญ่นั้นกำลังอยู่ที่ทุ่งนา เมื่อเขากลับมาใกล้ตึกแล้วก็ได้ยินเสียงมโหรีและเต้นรำ. เขาจึงเรียกบ่าวคนหนึ่งมาถามว่าเขาทำอะไรกัน. บ่าวนั้นจึงตอบว่า, ‘น้องของท่านกลับมาแล้ว, และบิดาได้ให้ฆ่าลูกวัวอ้วนพี, เพราะได้ลูกกลับมาโดยสวัสดิภาพ.’ ฝ่ายพี่ชายก็โกรธไม่ยอมเข้าไป.”—ลูกา 15:25-28.
5 เห็นได้ชัด บุตรสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้เป็นคนเดียวในอุทาหรณ์ของพระเยซูที่มีปัญหา. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวดังนี้: “บุตรชายทั้งสองที่มีการพรรณนาในที่นี้ต่างก็หลงทางด้วยกันทั้งคู่; คนหนึ่งนั้นเนื่องจากความไม่ชอบธรรมซึ่งทำให้เขาเสื่อมเสีย ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นเนื่องด้วยการถือว่าตัวเองชอบธรรมซึ่งทำให้เขาหน้ามืดตามัว.” โปรดสังเกตว่าพี่ชายบุตรสุรุ่ยสุร่ายไม่เพียงแต่ไม่ยอมร่วมยินดีด้วย แต่ยัง “โกรธ” มากด้วย. รากศัพท์ภาษากรีกสำหรับคำที่แปลในที่นี้ว่า “โกรธ” นั้นจะว่าเป็นการบันดาลโทสะก็ไม่ตรงนัก หากแต่เป็นสภาพของจิตใจที่คงอยู่ยาวนานเสียมากกว่า. ดูเหมือนว่า พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายเก็บความขุ่นเคืองใจไว้อย่างฝังลึก ดังนั้นเขาจึงรู้สึกว่าไม่เหมาะที่จะฉลองการกลับมาของคนซึ่งที่จริงแล้วไม่น่าจะทิ้งบ้านไปเลย.
6. พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายหมายถึงใคร และเพราะเหตุใด?
6 พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายเป็นภาพตัวอย่างที่เหมาะทีเดียวของคนเหล่านั้นที่ขุ่นเคืองต่อความกรุณาและความเอาพระทัยใส่ที่พระเยซูทรงมีให้แก่คนบาป. ผู้ถือตัวเองว่าชอบธรรมเหล่านี้ไม่รู้สึกถูกกระตุ้นใจโดยความเมตตาของพระเยซู; ทั้งมิได้สะท้อนถึงความยินดีที่มีในสวรรค์เมื่อคนบาปได้รับอภัยโทษ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ความเมตตาของพระเยซูกระตุ้นความเดือดดาลของเขา และเขาก็เริ่ม “คิดความชั่ว” ในใจตน. (มัดธาย 9:2-4) ในคราวหนึ่ง ความโกรธของพวกฟาริซายบางคนรุนแรงจนพวกเขาถึงกับเรียกตัวชายคนหนึ่งที่พระเยซูได้รักษาโรคให้มาพบแล้ว “ขับไล่เขาออก” จากธรรมศาลา ซึ่งดูเหมือนจะหมายถึงการตัดสัมพันธ์เขานั่นเอง! (โยฮัน 9:22, 34, ล.ม.) เช่นเดียวกับพี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายซึ่ง “ไม่ยอมเข้าไป” พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวก็ไม่ยอมยินดีเมื่อเขามีโอกาสที่จะ “ยินดีด้วยกันกับผู้ที่มีความยินดี.” (โรม 12:15) พระเยซูทรงเผยให้เห็นการหาเหตุผลอย่างชั่วร้ายของคนเหล่านี้มากกว่านี้อีกเมื่อพระองค์ทรงดำเนินเรื่องในอุทาหรณ์ของพระองค์ต่อไป.
การหาเหตุผลอย่างผิด ๆ
7, 8. (ก) พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงเช่นไรของความเป็นบุตร? (ข) บุตรชายคนโตไม่เหมือนบิดาเขาอย่างไร?
7 “บิดาจึงออกมาชักชวนเขา. แต่เขาตอบบิดาว่า, ‘ดูเถอะ, ข้าพเจ้าได้ปรนนิบัติท่านกี่ปีมาแล้ว, และมิได้ละเมิดคำสั่งสอนของท่านสักข้อหนึ่งเลย, แต่แม้เพียงลูกแพะสักตัวหนึ่งท่านก็ยังไม่เคยให้ข้าพเจ้า, เพื่อจะเลี้ยงกันเป็นที่ยินดีกับเพื่อนฝูงของข้าพเจ้า แต่เมื่อลูกคนนี้ของท่านผู้ได้ผลาญทรัพย์สิ่งของ ๆ ท่านโดยคบหญิงคนชั่วมาแล้ว, ท่านยังได้ฆ่าลูกวัวอ้วนพีเลี้ยงเขา.’”—ลูกา 15:28-30.
8 จากคำพูดดังกล่าว พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายแสดงให้เห็นชัดว่าเขาไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของความเป็นบุตร. เขาปรนนิบัติบิดาเหมือน ๆ กับลูกจ้างรับใช้นายจ้าง. ดังที่เขากล่าวแก่บิดาว่า “ข้าพเจ้าได้ปรนนิบัติท่าน.” จริงอยู่ บุตรชายคนโตไม่เคยทิ้งบ้านช่องหรือละเมิดคำสั่งสอนของบิดา. แต่การอยู่ในโอวาทของเขาได้รับแรงกระตุ้นจากความรักไหม? เขามีความยินดีอย่างแท้จริงในการปรนนิบัติบิดาไหม หรือเขาค่อย ๆ กลายเป็นคนลำพอง เชื่อว่าเขาเองเป็นบุตรที่ดีเพียงเพราะเขาทำหน้าที่ของตน “ที่ทุ่งนา”? หากเขาเป็นบุตรที่ภักดีและทุ่มเทตัวอย่างแท้จริง เหตุใดเขาไม่ได้สะท้อนให้เห็นความคิดจิตใจแบบเดียวกับบิดาเขา? เมื่อได้รับโอกาสที่จะแสดงความเมตตาต่อน้องชาย เหตุใดไม่มีที่ว่างสำหรับความกรุณาในหัวใจเขา?—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 50:20-22.
9. จงอธิบายว่าพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวคล้ายกับบุตรชายคนโตอย่างไร.
9 พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวก็คล้ายกับบุตรชายคนโตนี้เอง. พวกเขาเชื่อว่าตนภักดีต่อพระเจ้าเนื่องจากเขายึดมั่นในตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด. จริงอยู่ การเชื่อฟังนั้นสำคัญ. (1 ซามูเอล 15:22) แต่การที่พวกเขาเน้นที่ศาสนกิจมากเกินไปทำให้การนมัสการพระเจ้ากลายเป็นกิจวัตรที่ไร้ชีวิตจิตใจ เป็นเพียงเปลือกนอกของการแสดงความเลื่อมใสอันไร้ซึ่งความหมายทางฝ่ายวิญญาณที่แท้จริง. ความคิดของพวกเขาฝังติดอยู่กับประเพณี. หัวใจของเขาไร้ความรัก. คิดดูซิ พวกเขาถือว่าชาวบ้านทั่วไปเป็นเหมือนธุลีดินที่เขาเหยียบย่ำ และถึงกับกล่าวถึงคนเหล่านี้ว่าเป็นคนที่ “ถูกแช่งสาป.” (โยฮัน 7:49, ล.ม.) ที่จริง พระเจ้าจะทรงพอพระทัยการงานของพวกผู้นำเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อหัวใจของพวกเขานั้นห่างไกลจากพระองค์?—มัดธาย 15:7, 8.
10. (ก) เหตุใดคำตรัสที่ว่า “เราประสงค์ความเมตตา, และเครื่องบูชาเราไม่ประสงค์” เป็นคำแนะนำที่เหมาะ? (ข) การขาดความเมตตาร้ายแรงเพียงใด?
10 พระเยซูทรงบอกพวกฟาริซายให้ “ไปเรียนข้อนี้ให้เข้าใจซึ่งว่า, เราประสงค์ความเมตตา, และเครื่องบูชาเราไม่ประสงค์.” (มัดธาย 9:13; โฮเซอา 6:6) พวกเขาสับสนในเรื่องสิ่งที่ควรมาเป็นอันดับแรก เพราะหากปราศจากความเมตตาแล้วเครื่องบูชาของพวกเขาก็ไร้ค่า. นี่เป็นเรื่องจริงจังทีเดียว เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่าคนที่ “ปราศจากความเมตตา” ถูกนับอยู่ในกลุ่มคนที่พระเจ้าถือว่า “สมควรจะตาย.” (โรม 1:31, 32) ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูตรัสว่าชนจำพวกหัวหน้าศาสนาถูกพิพากษาไว้แล้วว่าจะประสบความพินาศตลอดไป. เห็นได้ชัดว่า ความไร้เมตตาของคนพวกนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาสมควรถูกพิพากษาอย่างนี้. (มัดธาย 23:33) แต่บางทีก็อาจช่วยบางคนจากคนกลุ่มนี้ได้. ในตอนท้ายอุทาหรณ์ของพระองค์ พระเยซูพยายามอย่างมากที่จะปรับวิธีคิดของชาวยิวเหล่านั้นโดยอาศัยคำพูดของบิดาที่กล่าวแก่บุตรชายคนโต. ให้เรามาดูว่าเป็นอย่างไร.
ความเมตตาของบิดา
11, 12. บิดาในอุทาหรณ์ของพระเยซูพยายามหาเหตุผลกับบุตรคนโตอย่างไร และการที่บิดาใช้วลีที่ว่า “น้องของเจ้า” อาจมีความหมายเช่นไร?
11 “บิดาจึงตอบเขาว่า, ‘ลูกเอ๋ย, เจ้าอยู่กับเราเสมอ, และสิ่งของทั้งหมดของเราก็เป็นของ ๆ เจ้า. แต่สมควรที่เราจะได้ชื่นชมยินดี เพราะน้องของเจ้าคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก, หายไปแต่ได้พบกันอีก.’”—ลูกา 15:31, 32.
12 พึงสังเกตว่าบิดาใช้คำว่า “น้องของเจ้า.” ทำไม? เอาละ ขอให้นึกถึงตอนที่บุตรชายคนโตพูดกับบิดา เขาเรียกบุตรสุรุ่ยสุร่ายว่า “ลูกคนนี้ของท่าน”—ไม่ใช่ “น้องของข้าพเจ้า.” ดูเหมือนว่าเขาไม่ยอมรับสายสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างเขาเองกับน้องร่วมอุทร. ดังนั้น ในตอนนี้บิดาจึงคล้ายกับจะกล่าวแก่บุตรคนโตว่า ‘นี่ไม่ใช่แค่ลูกชายพ่อ. เขาเป็นน้องชายเจ้า เลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกับเจ้า. เจ้าไม่มีเหตุผลที่จะไม่ยินดีต้อนรับการกลับมาของเขา!’ สาระสำคัญที่พระเยซูต้องการสื่อน่าจะชัดเจนพอสำหรับพวกผู้นำชาวยิว. คนบาปที่พวกเขาเหยียดหยามนั้นอันที่จริงเป็น ‘พี่น้อง’ ของเขา. ที่จริง “ไม่มีคนชอบธรรมสักคนเดียวบนพื้นแผ่นดินโลก, ที่ได้ประพฤติล้วนแต่ดี, และไม่เพลี่ยงพล้ำเลย.” (ท่านผู้ประกาศ 7:20) ดังนั้น ชาวยิวที่มีชื่อเสียงเด่นไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ยินดีเมื่อคนบาปกลับใจ.
13. การที่พระเยซูจบอุทาหรณ์อย่างกะทันหันทิ้งคำถามอะไรที่น่าคิดไว้กับเรา?
13 หลังจากที่บิดาได้ขอร้อง อุทาหรณ์ก็จบลงอย่างกะทันหันแค่นั้น. ดูคล้ายกับว่าพระเยซูทรงเชิญผู้ฟังให้เขียนตอนจบของเรื่องเอาเอง. ไม่ว่าบุตรชายคนโตจะตอบรับอย่างไร ผู้ฟังแต่ละคนต่างเผชิญคำถามที่ว่า ‘คุณ จะร่วมยินดีกับผู้ที่อยู่ในสวรรค์ซึ่งยินดีเมื่อคนบาปกลับใจไหม?’ คริสเตียนในทุกวันนี้ก็มีโอกาสให้คำตอบสำหรับคำถามนี้ด้วยเช่นกัน. โดยวิธีใด?
การเลียนแบบความเมตตาของพระเจ้าในทุกวันนี้
14. (ก) เราจะใช้คำแนะนำของเปาโลในเรื่องความเมตตาซึ่งพบที่เอเฟโซ 5:1 ได้อย่างไร? (ข) ความเข้าใจผิดเช่นไรเกี่ยวด้วยความเมตตาของพระเจ้าที่เราต้องระวัง?
14 เปาโลแนะเตือนชาวเอเฟโซดังนี้: “จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) ฉะนั้น เราในฐานะคริสเตียนควรหยั่งรู้ค่าความเมตตาของพระเจ้า ประทับความเมตตาของพระองค์ให้ฝังลึกในหัวใจเรา แล้วก็แสดงคุณลักษณะนี้ในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น. อย่างไรก็ตาม ควรระวังเอาไว้อย่างหนึ่ง. ความเมตตาของพระเจ้าไม่ควรถูกตีความหมายผิด ๆ ว่าเป็นการทำให้บาปกลายเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง. ตัวอย่างเช่น บางคนอาจหาเหตุผลอย่างไม่อนาทรร้อนใจว่า ‘ถ้าฉันทำบาป ฉันก็สามารถอธิษฐานขอพระเจ้าทรงให้อภัยได้ทุกเมื่อ และพระองค์จะทรงเมตตา.’ เจตคติเช่นนั้นคงเทียบได้กับสิ่งที่ยูดาผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเรียกเอาไว้ว่า “พลิกแพลงเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าของเราไปใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับความประพฤติอันหละหลวม.” (ยูดา 4, ล.ม.) แม้ว่าพระยะโฮวาทรงเมตตา แต่ “พระองค์ไม่ทรงละเว้นการลงโทษเป็นอันขาด” เมื่อทรงจัดการผู้กระทำความผิดที่ไม่กลับใจ.—เอ็กโซโด 34:7, ล.ม.; เทียบกับยะโฮซูอะ 24:19; 1 โยฮัน 5:16.
15. (ก) เหตุใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ปกครองจำต้องรักษาทัศนะที่สมดุลในเรื่องความเมตตา? (ข) ในขณะที่ไม่ยอมทนต่อการทำผิดโดยเจตนา ผู้ปกครองควรเพียรพยายามทำอะไร และเพราะเหตุใด?
15 ในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้องระวังเช่นเดียวกันเพื่อจะไม่มีทัศนะสุดขั้วในอีกทางหนึ่ง กล่าวคือแนวโน้มที่จะปฏิบัติอย่างขาดความยืดหยุ่นและวิพากษ์วิจารณ์คนที่แสดงการกลับใจอย่างแท้จริงและสำนึกเสียใจในบาปของตนด้วยความยำเกรงพระเจ้า. (2 โกรินโธ 7:11) เนื่องจากผู้ปกครองได้รับความไว้วางใจให้ดูแลแกะของพระยะโฮวา จึงสำคัญที่พวกเขาจะรักษาทัศนะที่สมดุลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาตัดสินความ. ประชาคมคริสเตียนต้องได้รับการรักษาไว้ให้สะอาดอยู่เสมอ และถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์ที่จะ “ขับไล่คนชั่ว” โดยการตัดสัมพันธ์. (1 โกรินโธ 5:11-13) ขณะเดียวกัน นับว่าดีที่จะแสดงความเมตตาเมื่อมีพื้นฐานที่ชัดเจนว่าเหมาะสม. ดังนั้น ในขณะที่เหล่าผู้ปกครองไม่ยอมทนต่อการกระทำผิดโดยเจตนา เขาพยายามหาแนวทางแห่งความรักและความเมตตาภายในขอบเขตของความยุติธรรม. เขาตระหนักอยู่เสมอถึงหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ผู้ที่ไม่สำแดงความเมตตาจะได้รับการพิพากษาโดยปราศจากความเมตตา. ความเมตตาปรีดาในชัยชนะเหนือการพิพากษา.”—ยาโกโบ 2:13, ล.ม.; สุภาษิต 19:17; มัดธาย 5:7.
16. (ก) โดยใช้คัมภีร์ไบเบิล จงแสดงถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปรารถนาอย่างแท้จริงให้คนทำผิดหันกลับมาหาพระองค์. (ข) เราจะแสดงได้อย่างไรว่าเราต้อนรับการกลับมาของคนทำผิดที่กลับใจ?
16 อุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายทำให้เห็นชัดเจนว่าพระยะโฮวาทรงปรารถนา ให้คนทำผิดหันกลับมาหาพระองค์. จริงทีเดียว พระองค์ทรงเชิญพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดที่เขาประพฤติตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าไม่มีหวังจะกลับใจได้แล้ว. (ยะเอศเคล 33:11; มาลาคี 3:7; โรม 2:4, 5; 2 เปโตร 3:9) เช่นเดียวกับบิดาของบุตรสุรุ่ยสุร่าย พระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้ที่กลับคืน ยอมรับเขากลับมาเป็นสมาชิกครอบครัวอย่างเต็มตัว. คุณกำลังเลียนแบบพระยะโฮวาในแง่นี้อยู่ไหม? เมื่อเพื่อนผู้เชื่อถือซึ่งถูกตัดสัมพันธ์ไปชั่วระยะเวลาหนึ่งได้รับการต้อนรับกลับสู่ฐานะเดิม คุณตอบรับอย่างไร? เราทราบแล้วว่ามี “ความยินดีในสวรรค์.” (ลูกา 15:7) แต่มีความยินดีบนแผ่นดินโลก, ในประชาคมของคุณ, และแม้แต่ในหัวใจคุณด้วยไหม? หรือว่าเหมือนกับบุตรชายคนโตในอุทาหรณ์ คือยังมีความขัดเคืองใจอยู่บ้างราวกับว่าการต้อนรับคนที่จริง ๆ แล้วไม่น่าจะทิ้งฝูงแกะของพระเจ้าไปเลยนั้นเป็นเรื่องไม่สมควร?
17. (ก) มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นที่เมืองโกรินโธในศตวรรษแรก และเปาโลแนะนำคนที่อยู่ในประชาคมให้จัดการเรื่องนั้นอย่างไร? (ข) เหตุใดคำแนะเตือนของเปาโลจึงใช้ได้จริง และเราจะใช้คำแนะเตือนนี้ได้อย่างไรในทุกวันนี้? (ดูกรอบสี่เหลี่ยมด้านขวาด้วย.)
17 เพื่อช่วยเราตรวจสอบตัวเราเองในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณปีสากลศักราช 55 ที่เมืองโกรินโธ. ที่นั่น ชายคนหนึ่งที่ถูกขับออกจากประชาคมในที่สุดได้ชำระชีวิตของตนให้สะอาด. พี่น้องควรทำเช่นไร? ควรมองดูการกลับใจของเขาด้วยความคลางแคลงใจและหลีกเลี่ยงเขาต่อไปไหม? ตรงกันข้ามทีเดียว เปาโลกระตุ้นเตือนชาวโกรินโธดังนี้: “ควรท่านทั้งหลายจะยกโทษคนนั้นต่างหาก, เพื่อเขาจะได้ความบรรเทา กลัวว่าเขาจะจมลงในความทุกข์เหลือล้น. เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอหนุนใจท่านทั้งหลายให้รับคนนั้นกลับเข้ามาใหม่ด้วยความรัก.” (2 โกรินโธ 2:7, 8) ผู้ทำผิดที่กลับใจมักเกิดความรู้สึกละอายใจและท้อแท้สิ้นหวังได้ง่ายเป็นพิเศษ. ฉะนั้น คนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความมั่นใจว่าเพื่อนร่วมความเชื่อและพระยะโฮวารักเขา. (ยิระมะยา 31:3; โรม 1:12) นี่นับว่าสำคัญทีเดียว. เพราะเหตุใด?
18, 19. (ก) ในตอนแรกชาวโกรินโธแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขายอมให้มากเกินไป? (ข) เจตคติที่ปราศจากความเมตตาอาจทำให้ ‘ซาตานเอาชนะ’ ชาวโกรินโธได้อย่างไร?
18 ในการกระตุ้นเตือนให้ชาวโกรินโธให้อภัย เปาโลให้เหตุผลอย่างหนึ่งดังนี้: “เพื่อซาตานจะมิได้ชัยชนะแก่เรา ด้วยเรารู้อุบายของมันแล้ว.” (2 โกรินโธ 2:11) ท่านหมายความเช่นไร? เอาละ ก่อนหน้านี้เปาโลเคยว่ากล่าวประชาคมโกรินโธว่ายอมให้มากเกินไป. พวกเขาได้ปล่อยให้ชายคนเดียวกันนี้เองทำบาปโดยไม่ถูกลงโทษ. โดยทำเช่นนั้น ประชาคมและโดยเฉพาะผู้ปกครองได้ทำให้ซาตานพอใจ เพราะมันคงชอบอกชอบใจที่จะทำให้ประชาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง.—1 โกรินโธ 5:1-5.
19 ถึงตอนนี้หากพวกเขาเปลี่ยนมาทำอย่างสุดขั้วอีกอย่างหนึ่ง คือปฏิเสธที่จะให้อภัยผู้กลับใจ ซาตานก็จะชนะพวกเขาอีกโสดหนึ่ง. โดยวิธีใด? ก็โดยที่มันสามารถฉวยโอกาสจากการที่พวกเขาขาดความปรานีและไร้ความเมตตา. หากผู้ทำบาปที่กลับใจ “จมลงในความทุกข์เหลือล้น” หรืออย่างที่ฉบับแปลทูเดส์อิงลิช แปลไว้ว่า “เศร้าโศกมากจนถึงกับละเลิกโดยสิ้นเชิง” ความรับผิดชอบหนักต่อพระยะโฮวาย่อมตกอยู่กับผู้ปกครอง! (เทียบกับยะเอศเคล 34:6; ยาโกโบ 3:1) หลังจากเตือนให้ระวังการทำให้ “ผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่ง” สะดุด พระเยซูจึงทรงมีเหตุผลที่ดีที่จะตรัสว่า “จงระวังตัวให้ดี ถ้าพี่น้องผิดต่อท่าน, จงต่อว่าเขา และถ้าเขากลับใจแล้ว, จงยกโทษให้เขา.”a—ลูกา 17:1-4.
20. มีความยินดีในลักษณะใดทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกเมื่อคนบาปกลับใจ?
20 หลายพันคนที่กลับมาสู่การนมัสการบริสุทธิ์ในแต่ละปีรู้สึกขอบพระคุณสำหรับความเมตตาที่พระยะโฮวาได้ประทานแก่เขา. คริสเตียนพี่น้องหญิงคนหนึ่งกล่าวถึงการที่เธอถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมดังนี้: “ดิฉันนึกไม่ออกเลยว่ามีช่วงเวลาใดในชีวิตที่ดิฉันมีความสุขมากอย่างนี้.” แน่นอน ในหมู่ทูตสวรรค์ก็มีความยินดีเช่นเดียวกับเธอด้วย. ขอให้เราร่วม “ความยินดีในสวรรค์” ที่มีการแสดงกันเมื่อคนบาปกลับใจ. (ลูกา 15:7) ด้วยการทำเช่นนั้น เรากำลังเลียนแบบความเมตตาของพระยะโฮวา.
[เชิงอรรถ]
a แม้จะดูเหมือนว่าผู้ทำผิดที่เมืองโกรินโธได้ถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมในชั่วเวลาค่อนข้างสั้น แต่นี่ไม่ใช่ข้อที่จะถือเอาเป็นมาตรฐานสำหรับกรณีผู้ถูกตัดสัมพันธ์ทุกราย. แต่ละกรณีนั้นแตกต่างกัน. ผู้ทำผิดบางรายเริ่มแสดงการกลับใจอย่างแท้จริงเกือบจะทันทีหลังจากถูกตัดสัมพันธ์. สำหรับคนอื่น ๆ เวลาอาจได้ผ่านไปสักระยะหนึ่งก่อนที่จะเห็นเจตคติเช่นนั้นชัดเจน. อย่างไรก็ตาม ในทุกกรณีคนที่ถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมต้องแสดงหลักฐานแห่งความสำนึกเสียใจด้วยความยำเกรงพระเจ้าก่อน และเมื่อไรก็ตามที่เป็นไปได้ก็ต้องสำแดงการงานซึ่งสมกับการกลับใจด้วย.—กิจการ 26:20; 2 โกรินโธ 7:11.
การทบทวน
▫ พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายคล้ายกับพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวในทางใด?
▫ พี่ชายของบุตรสุรุ่ยสุร่ายไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของความเป็นบุตรอย่างไร?
▫ ในการสะท้อนความเมตตาของพระเจ้า เราต้องหลีกเลี่ยงทัศนะแบบสุดขั้วสองอย่างอะไร?
▫ เราจะเลียนแบบความเมตตาของพระเจ้าได้อย่างไรในทุกวันนี้?
[กรอบหน้า 17]
“ยืนยันความรักต่อคนนั้น”
เปาโลบอกประชาคมโกรินโธเกี่ยวกับผู้ทำผิดที่ถูกขับแต่ได้แสดงการกลับใจดังนี้: “ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านให้ยืนยันความรักต่อคนนั้นใหม่.” (2 โกรินโธ 2:8, ฉบับแปลใหม่) คำในภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “ยืนยัน” เป็นศัพท์ทางกฎหมายที่หมายถึง “ทำให้สมบูรณ์.” นั่นคือ ผู้กลับใจที่ถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมจำต้องรู้สึกได้ว่าคนอื่นรักเขาและเขาได้รับการต้อนรับเป็นสมาชิกของประชาคมอีกครั้งหนึ่ง.
อย่างไรก็ตาม เราต้องจำไว้ว่าพี่น้องส่วนใหญ่ในประชาคมไม่ทราบสภาพเหตุการณ์ที่ทำให้ใครคนหนึ่งถูกตัดสัมพันธ์หรือถูกรับกลับสู่ฐานะเดิม. นอกจากนี้ ก็อาจมีบางคนที่ได้รับผลกระทบหรือเจ็บช้ำเป็นส่วนตัว—อาจจะในระยะยาวด้วยซ้ำ—เนื่องจากการทำผิดของผู้กลับใจ. ด้วยเหตุนั้น โดยตระหนักถึงเจตคติหรือความรู้สึกของบางคนต่อกรณีเหล่านั้น เมื่อมีการประกาศถึงการรับกลับสู่ฐานะเดิม จึงเป็นที่เข้าใจได้ที่เราจะยังไม่แสดงความยินดีต้อนรับจนกว่าจะสามารถทำเช่นนั้นเป็นส่วนตัว.
ช่างเป็นเรื่องที่เสริมความเชื่ออะไรเช่นนั้นสำหรับคนที่ถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมมาเป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียนอีกครั้งหนึ่ง! เราสามารถให้กำลังใจแก่ผู้กลับใจดังกล่าวโดยสนทนากับเขาและเป็นเพื่อนกับเขา ณ หอประชุมราชอาณาจักร, ในงานประกาศ, และในโอกาสอื่นที่เหมาะ. โดยการยืนยันความรักหรือทำให้ความรักสมบูรณ์เช่นนั้น ก็หาใช่ว่าเราทำอย่างที่ถือว่าบาปที่เขาทำนั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรแต่อย่างใด. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เรายินดีร่วมกับทูตสวรรค์ในข้อเท็จจริงที่ว่า เขาได้ปฏิเสธแนวทางผิดบาปและได้หันกลับมาหาพระยะโฮวา.—ลูกา 15:7.
[รูปภาพหน้า 15]
บุตรชายคนโตปฏิเสธที่จะยินดีในการกลับมาของน้องชาย