ผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียด—“มิชชันนารีแท้!”
“มิชชันนารีคืออะไร?” บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งยกคำถามนี้ขึ้นมาเกือบสี่สิบปีมาแล้ว. ผู้เขียนอ้างว่ามิชชันนารีแท้คือเครื่องมือปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ. อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 1995 ณ หอประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่เจอร์ซี ซิตี มีการให้คำตอบอย่างเด่นชัดในแบบที่ต่างไปมาก. ในโอกาสไหน? โอกาสแห่งการสำเร็จการศึกษาของชั้นเรียนที่ 98 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด—โรงเรียนที่ได้ส่งมิชชันนารีออกไปทั่วโลก!
หลังจากร้องเพลงและอธิษฐานเปิดการประชุม อัลเบิร์ต ดี. ชโรเดอร์ แห่งคณะกรรมการปกครองกล่าวต้อนรับ 6,430 คนที่เข้าร่วมอย่างอบอุ่น. ในคำกล่าวนำของเขา บราเดอร์ ชโรเดอร์บอกชัดถึงเหตุผลที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดต่างไปจากคนอื่น ๆ ซึ่งเรียกตนเองว่ามิชชันนารี. เขากล่าวว่า “คัมภีร์ไบเบิลเป็นตำราหลักของกิเลียด.” ผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดได้รับการฝึกอบรมให้เป็นครูสอนพระคำของพระเจ้า ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์. ดังนั้น พวกเขาจึงมีคุณวุฒิอันโดดเด่นเพื่อจะเอาใจใส่ความจำเป็นด้านศาสนาของผู้คนในเขตงานต่างประเทศ.
ผู้บรรยายถัดไปพิจารณาถึงหลายขอบเขตซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดให้ข้อพิสูจน์การเป็นมิชชันนารี “แท้.” ชาร์ลส์ มาลาแฮน บรรยายแก่พวกเขาในหัวเรื่อง “จงบังเกิดผลอันดีต่อ ๆ ไปในฐานะมิชชันนารี.” โดยอาศัยถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่โกโลซาย 1:9, 10 บราเดอร์ มาลาแฮน เตือนให้ผู้สำเร็จการศึกษาระลึกว่า ห้าเดือน ณ กิเลียดที่ผ่านไปได้ช่วยพวกเขาให้เพิ่ม “ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้า.” สิ่งนี้จะช่วยพวกเขาให้บังเกิดผลในสองทางคือ: โดยแสดงออกซึ่งผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าและโดยการบอกความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิลกับคนอื่น ๆ.
แดเนียล ซีดลิก แห่งคณะกรรมการปกครองบรรยายต่อจากนั้นด้วยอรรถบทที่น่าคิด “อย่าใช้ชีวิตของคุณต่อรอง.” เขากล่าวถึงคำถามของพระเยซูที่ว่า “มนุษย์จะใช้อะไรเพื่อแลกกับจิตวิญญาณของตน?” (มัดธาย 16:26, ล.ม.) บราเดอร์ ซีดลิก ให้ข้อสังเกตดังนี้: “มนุษย์ได้แลกจิตวิญญาณของตนเพื่อวิถีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น.” แต่คนที่มีความเชื่ออันมีชีวิตอยู่ไม่อาจอะลุ้มอล่วยเมื่อเผชิญการทดลองและการทดสอบ. คำตรัสของพระเยซูบ่งว่า คนเราต้องเต็มใจจะ “ให้” คือ เสียสละ เพื่อจะได้มาซึ่งจิตวิญญาณ หรือชีวิต. มิชชันนารีใหม่เหล่านี้ได้รับคำแนะเตือนที่จะให้สิ่งทั้งปวงที่เขามี สิ่งดีที่สุดของเขา ในงานรับใช้ของเขา!
ถัดจากนั้น วิลเลียม แวน ดี วอลล์ จากคณะกรรมการแผนกการรับใช้บรรยายในหัวเรื่อง “อัครสาวกเปาโล—แบบอย่างที่สมควรเลียนตาม.” บราเดอร์ แวน ดี วอลล์ ชี้แจงดังนี้: “เปาโลเป็นหัวหอกในงานมิชชันนารีในศตวรรษแรก.” จากนั้น มีการเน้นจุดเด่นในสี่ขอบเขตซึ่งอัครสาวกได้วางแบบอย่างอันดีไว้สำหรับมิชชันนารีสมัยนี้: (1) ความห่วงใยและความรักแท้ที่เปาโลมีต่อผู้คน (2) ประสิทธิภาพของท่านในงานรับใช้ (3) ด้วยความเจียมตัว ท่านไม่ยกตัวเอง (4) ความไว้วางใจในพระยะโฮวาอย่างไม่มีความคลางแคลง.
“ขอพระยะโฮวาพินิจพิเคราะห์คุณในงานมอบหมายใหม่ของคุณ” คือหัวเรื่องที่พิจารณาโดย ไลแมน เอ. สวิงเกิล แห่งคณะกรรมการปกครอง. โดยใช้ข้อพระคัมภีร์ประจำวันคือบทเพลงสรรเสริญ 139:16 บราเดอร์ สวิงเกิลยอมรับว่า ในฐานะมิชชันนารีใหม่ พวกเขาคงจะเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในงานมอบหมายและพระยะโฮวาทรงทราบวิธีแก้. เขาแนะเตือนว่า “จงแสวงหาพระองค์, ทูลต่อพระองค์เมื่อคุณมีปัญหา. พยายามเข้าใจว่าพระทัยประสงค์ของพระองค์คืออย่างไร.”
ครั้นแล้ว จอห์น อี. บารร์ แห่งคณะกรรมการปกครองได้บรรยายในหัวเรื่อง “ความเชื่อของคุณกำลังจำเริญยิ่ง ๆ ขึ้น.” (2 เธซะโลนิเก 1:3) ที่ลูกา 17:1 เราอ่านว่าพระเยซูตรัสดังนี้: “จำเป็นต้องมีเหตุให้หลงผิด.” บางคนได้สะดุดเนื่องจากบุคลิกภาพของเพื่อนมิชชันนารี. แต่บราเดอร์ บารร์หนุนกำลังใจพวกมิชชันนารีให้มีความเชื่อที่จำเป็นเพื่อเป็นผู้ให้อภัย. แท้จริง ในบริบทนี้เองที่เหล่าสาวกของพระเยซูทูลขอดังนี้: “ขอพระองค์โปรดให้ความเชื่อของพวกข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น.” (ลูกา 17:2-5) ความเชื่อของพวกมิชชันนารีอาจถูกทดสอบเช่นกันเนื่องจากการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ในองค์การ. “เรามีความเชื่อเพียงพอจะยอมรับการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ไหม” บราเดอร์บารร์ถาม “หรือว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะกลายเป็นอุปสรรคเสมือนภูเขา?”
ถัดจากนั้นก็เป็นคำเตือนบางอย่างจากครูประจำโรงเรียนกิเลียดทั้งสอง. แจ็ก เรดฟอร์ด สนับสนุนผู้สำเร็จการศึกษาให้รักษาเจตคติในแง่ดีไว้. เขาเล่าถึงมิชชันนารีคนหนึ่งซึ่งออกจากงานมอบหมายเนื่องจากเพื่อนมิชชันนารียั่วเย้าในบางเรื่อง. แต่พระคัมภีร์เตือนเราให้ระวังการโกรธโดยไม่จำเป็น. (ท่านผู้ประกาศ 7:9) เขาแนะเตือนว่า “จงมีเจตคติที่ถูกต้อง. จงให้อภัยในความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์ของผู้คนรอบข้างคุณ.”
จากนั้น ยู. วี. กลาสส์ เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนโรงเรียนกิเลียดถามว่า “คุณพร้อมจะรับมือกับ ‘วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า’ ไหม?” (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) บราเดอร์กลาสส์ให้ข้อสังเกตดังนี้: “แบบชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจทำให้บอบช้ำใจได้มากทีเดียว.” มิชชันนารีบางคนเผชิญโดยไม่ได้คาดหมายกับสุขภาพไม่ดี, ความเจ็บไข้ได้ป่วย, และปัญหาครอบครัว ซึ่งทำให้บางคนจำเป็นต้องออกจากงานมอบหมาย. บราเดอร์กลาสส์บอกดังนี้: “ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้านั้นจะเป็นอย่างไร เราทราบว่าพระยะโฮวาทรงทราบและทรงห่วงใย. ถ้าเราวางใจในพระองค์ เราทราบว่าเราจะผ่านพ้นด้วยชัยชนะ!”
คำบรรยายเรื่อง “จัดไว้ต่างหากสำหรับงานมิชชันนารี” เป็นจุดสุดยอดของชุดคำบรรยายช่วงเช้า. ทีโอดอร์ จารัซ แห่งคณะกรรมการปกครองกล่าวถึงคำถามที่ยกขึ้นมาในตอนต้นที่ว่า “มิชชันนารีคืออะไร?” ในคำตอบ เขาพิจารณาพระธรรมกิจการบท 13 และ 14 เกี่ยวกับงานมิชชันนารีของเปาโลและบาระนาบา. เห็นชัดแจ้งว่า งานนั้นมุ่งความสนใจไม่ใช่ในการแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ แต่ใน ‘การประกาศข่าวดี.’ (กิจการ 13:32) บราเดอร์จารัซถามว่า “คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่า เปาโลกับบาระนาบาแสดงให้เห็นสิ่งที่มิชชันนารีแท้ควรจะเป็น?” แล้วได้มีการขอโรเบิร์ต เทรซี มิชชันนารีผู้มีประสบการณ์ให้ขึ้นมาบอกเล่าถึงประสบการณ์ของตนซึ่งหนุนกำลังใจในฐานะผู้เผยแพร่กิตติคุณ.
ระเบียบวาระภาคเช้ามาถึงจุดสุดยอดเมื่อบราเดอร์ชโรเดอร์ได้แจกประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา 48 คน. หมู่ผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ยินชื่อ 21 ประเทศซึ่งพวกมิชชันนารีได้รับมอบหมายคือ: กินีบิสเซา, โกตดิวัวร์, คอสตาริกา, เซเนกัล, ไต้หวัน, นิการากัว, บาร์เบโดส, เบนิน, โบลิเวีย, ปารากวัย, เปรู, มอริเชียส, โมซัมบิก, ลัตเวีย, เวเนซุเอลา, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, อิเควทอเรียลกินี, หมู่เกาะลีวาร์ด, เอกวาดอร์, เอสโตเนีย, และฮอนดูรัส.
หลังจากหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน ผู้ฟังก็กลับมาชุมนุมกันอีกและมีการศึกษาหอสังเกตการณ์ ซึ่งนำโดยโรเบิร์ต พี. จอห์นสัน จากแผนกการรับใช้. เหล่าสมาชิกของชั้นเรียนที่ 98 ให้คำตอบ. ต่อจากส่วนนี้ก็เป็นชุดการสัมภาษณ์อันน่าปีติยินดีซึ่งนำโดยสมาชิกเจ้าหน้าที่โรงเรียนกิเลียด. ผู้ฟังได้รับการชูใจอย่างมากเมื่อผู้สำเร็จการศึกษาเล่าประสบการณ์ในการประกาศและพูดถึงความรู้สึกที่พวกเขามีต่องานมอบหมายยังต่างประเทศ.
เป็นเวลาหกปีครึ่งที่โรงเรียนกิเลียดตั้งอยู่ที่อาคารของสมาคมว็อชเทาเวอร์ในวอลล์คิลล์ นิวยอร์ก. แต่ในเดือนเมษายน 1995 โรงเรียนนี้จะย้ายไปที่ศูนย์การศึกษาว็อชเทาเวอร์ใหม่ในแพตเทอร์สัน นิวยอร์ก. ครอบครัวเบเธลที่วอลล์คิลล์รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้? ณ การสำเร็จการศึกษานี้ มีการสัมภาษณ์สมาชิกเบเธลจำนวนหนึ่งจากวอลล์คิลล์. คำพูดที่น่าซึ้งใจของพวกเขาบอกชัดเจนว่า พวกนักศึกษาโรงเรียนกิเลียดได้ฝากความประทับใจอันยั่งยืนไว้กับพวกเขา. เป็นที่ชัดแจ้ง ชายหญิงที่เต็มใจเหล่านี้คือมิชชันนารีแท้—ถ่อมใจ, สละตนเอง, ห่วงใยลึกซึ้งในการช่วยเหลือคนอื่น ๆ.
ขณะที่ระเบียบวาระการสำเร็จการศึกษาครั้งนี้ใกล้สิ้นสุด ผู้เข้าร่วมทุกคนต่างมั่นใจว่า โรงเรียนกิเลียดจะประสบผลสำเร็จต่อ ๆ ไปในการทำสิ่งที่ได้ทำมาแล้วตลอด 50 ปี คือการผลิตมิชชันนารีแท้!
[กรอบหน้า 18]
สถิติของชั้นเรียน
นักเรียนมาจาก: 8 ประเทศ
ได้รับมอบหมายให้ไปยัง: 21 ประเทศ
จำนวนนักเรียน: 48 คน
เฉลี่ยอายุ: 32.72 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในความจริง: 15.48 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา: 10.91 ปี
[รูปภาพหน้า 18]
ชั้นเรียนที่ 98 แห่งโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
ในรายชื่อข้างล่าง แถวนับจากหน้าไปหลัง และชื่อเรียงจากซ้ายไปขวาในแต่ละแถว.
(1) Eszlinger, A.; Mann, T.; Rivera, G.; Baruero, M.; Vaz, M.; Durga, K.; Silweryx H.; Alvarado, D. (2) Toth, B.; Segarra, S.; Hart, R.; Rooryck, I.; Escobar, P.; Ejstrup, J.; Sligh, L.; Rivera, E. (3) Archard, D.; Snaith, S.; Marciel, P.; Koljonen, D.; Waddell, S.; Blackburn, L.; Escobar, M.; Archard, K. (4) Hart, M.; Toth, S.; Koljonen, J.; Bergman, H.; Mann, D.; Blackburn, J.; Park, D.; Vaz, F. (5) Segarra, S.; Sligh, L.; Leslie, L.; Bergman, B.; Baruero, W.; Alvarado, J.; Leslie, D.; Park, D. (6) Silweryx, K.; Eszlinger, R.; Waddell, J.; Snaith, K.; Durga, A.; Rooryck, F.; Ejstrup, C.; Marciel, D.