บท 5
พระเจ้ายอมรับการนมัสการของผู้ใด?
1. หญิงชาวซะมาเรียต้องการทราบอะไรเกี่ยวกับการนมัสการ?
คุณเคยอยากรู้ไหมว่า ‘พระเจ้ายอมรับการนมัสการของผู้ใด?’ หญิงคนหนึ่งอาจเคยคิดถึงคำถามดังกล่าวเมื่อเธอพูดกับพระเยซูคริสต์ใกล้ภูเขาฆะรีซีมในซะมาเรีย. ในการชี้ถึงความแตกต่างระหว่างการนมัสการของชาวซะมาเรียกับของชาวยิว เธอพูดว่า “บรรพบุรุษของพวกเราย่อมนมัสการที่ภูเขานี้, แต่พวกท่านว่าตำบลที่ควรนมัสการนั้นคือยะรูซาเลม.” (โยฮัน 4:20) พระเยซูตรัสแก่หญิงชาวซะมาเรียไหมว่า พระเจ้าทรงยอมรับการนมัสการทุกอย่าง? หรือพระองค์ตรัสว่า มีข้อเรียกร้องเฉพาะอย่างเพื่อทำให้พระเจ้าพอพระทัย?
2. ในการตอบหญิงชาวซะมาเรีย พระเยซูได้ตรัสอะไร?
2 คำตอบของพระเยซูที่ทำให้ตกตะลึงคือ “เวลาจะมาถึงเมื่อพวกเจ้าจะมิได้นมัสการพระบิดาที่ภูเขานี้หรือที่ยะรูซาเลม.” (โยฮัน 4:21, ล.ม.) ชาวซะมาเรียได้เกรงกลัวพระยะโฮวาและนมัสการพระอื่นบนภูเขาฆะรีซีมมานาน. (2 กษัตริย์ 17:33) ตอนนี้พระเยซูคริสต์ตรัสว่า ทั้งสถานที่นั้นและกรุงยะรูซาเลมต่างก็จะไม่ใช่สถานที่สำคัญในการนมัสการแท้.
การนมัสการด้วยวิญญาณและความจริง
3. (ก) ทำไมชาวซะมาเรียไม่รู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง? (ข) ชาวยิวผู้ซื่อสัตย์และคนอื่น ๆ จะรู้จักพระเจ้าได้อย่างไร?
3 พระเยซูตรัสกับหญิงชาวซะมาเรียต่อไปว่า “ซึ่งพวกเจ้านมัสการนั้นเจ้าไม่รู้จัก ซึ่งพวกเรานมัสการเรารู้จัก เพราะว่าความรอดนั้นเริ่มต้นกับพวกยิว.” (โยฮัน 4:22, ล.ม.) ชาวซะมาเรียมีแนวคิดที่ผิดทางศาสนาและยอมรับเฉพาะพระธรรมห้าเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลว่าได้รับการดลบันดาล และยอมรับพระธรรมเหล่านี้เฉพาะที่มีในฉบับแก้ไขของเขาเองเท่านั้นซึ่งเป็นที่รู้จักว่า เพนทาทุกของซะมาเรีย. เพราะฉะนั้น พวกเขาไม่รู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง. อย่างไรก็ดี ชาวยิวได้รับมอบความรู้ในพระคัมภีร์. (โรม 3:1, 2) พระคัมภีร์เสนอสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะรู้จักพระเจ้าแก่ชาวยิวผู้ซื่อสัตย์และใคร ๆ ซึ่งจะยอมฟัง.
4. ตามที่พระเยซูตรัส ทั้งชาวยิวและชาวซะมาเรียจะต้องทำอะไรเพื่อการนมัสการของพวกเขาจะเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า?
4 ที่จริง พระเยซูทรงชี้แจงว่า ทั้งชาวยิวและชาวซะมาเรียจะต้องปรับวิธีการนมัสการของเขาเพื่อจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย. พระองค์ตรัสว่า “เวลานั้นจะมาถึง และก็คือเดี๋ยวนี้แหละ เมื่อผู้นมัสการแท้ทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง เพราะแท้จริง พระบิดาทรงแสวงหาคนอย่างนั้นนมัสการพระองค์. พระเจ้าทรงเป็นองค์วิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:23, 24, ล.ม.) เราจำเป็นต้องนมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณ” คือได้รับการกระตุ้นจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเชื่อและความรัก. เป็นไปได้ที่จะนมัสการพระเจ้า ‘ด้วยความจริง’ โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ และโดยนมัสการพระองค์ตามความจริงของพระองค์ที่ทรงเปิดเผยนั้น. คุณอยากจะทำเช่นนั้นไหม?
5. (ก) “การนมัสการ” หมายความว่าอย่างไร? (ข) เราต้องทำประการใดหากเราต้องการให้พระเจ้ายอมรับการนมัสการของเรา?
5 พระเยซูทรงเน้นว่า พระเจ้าประสงค์การนมัสการแท้. นี่แสดงว่า มีการนมัสการหลายรูปแบบซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับพระยะโฮวา. การนมัสการพระเจ้าหมายถึงการถวายเกียรติแด่พระองค์ด้วยความเคารพและถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์. หากคุณต้องการแสดงความเคารพนับถือต่อผู้ปกครองที่มีอำนาจ คุณคงอยากรับใช้เขาและทำสิ่งที่เขาพอใจ. ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องการทำให้พระเจ้าพอพระทัยอย่างแน่นอน. แทนที่จะเพียงแต่พูดว่า ‘ศาสนาของฉันก็ดีอยู่แล้ว’ เราจำต้องทำให้แน่ชัดว่า การนมัสการของเราบรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้า.
การปฏิบัติตามพระทัยพระบิดา
6, 7. ทำไมพระเยซูจึงไม่ยอมรับบางคนซึ่งอ้างว่าเป็นสาวกของพระองค์?
6 ขอให้เราอ่านมัดธาย 7:21-23 เผื่อว่าเราสามารถชี้ชัดถึงปัจจัยอันสำคัญยิ่งที่กำหนดว่า การนมัสการทุกอย่างเป็นที่ยอมรับของพระเจ้าหรือไม่. พระเยซูตรัสว่า “มิใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า ‘พระองค์เจ้าข้า, พระองค์เจ้าข้า’ จะได้เข้าในเมืองสวรรค์, แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์นั้นจึงจะเข้าได้. ในวันนั้นจะมีคนเป็นอันมากร้องแก่เราว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า, พระองค์เจ้าข้า, ข้าพเจ้าได้สั่งสอนในพระนามของพระองค์, และได้ขับผี [วิญญาณชั่ว] ออกด้วยพระนามของพระองค์, และได้กระทำการอัศจรรย์มากด้วยออกพระนามของพระองค์มิใช่หรือ?’ ขณะนั้นเราจะกล่าวแก่เขาว่า, ‘เราไม่รู้จักเจ้าเลย. เจ้าทั้งหลายผู้ประพฤติล่วงพระบัญญัติจงถอยไปจากเรา.’”
7 การยอมรับพระเยซูคริสต์ฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้านับว่าสำคัญยิ่งในการนมัสการแท้. แต่อะไรบางอย่างคงจะขาดไปในการนมัสการของผู้คนมากมายซึ่งอ้างว่าเป็นสาวกของพระเยซู. พระองค์ตรัสว่า บางคนจะกระทำ “การอัศจรรย์” เช่น การรักษาโรคซึ่งคิดว่าเป็นการอัศจรรย์. อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้ทำสิ่งที่พระเยซูตรัสว่าสำคัญยิ่ง. พวกเขาไม่ได้ “ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดา [ของพระองค์].” หากเราต้องการทำให้พระเจ้าพอพระทัย เราต้องเรียนรู้ว่า พระทัยประสงค์ของพระบิดาเป็นเช่นไร ครั้นแล้วก็ปฏิบัติตามนั้น.
ความรู้ถ่องแท้เป็นเครื่องป้องกัน
8. ถ้าเราจะปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า จำเป็นต้องมีอะไร และเราต้องหลีกเลี่ยงทัศนะที่ผิดอะไรบ้าง?
8 เพื่อจะปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระบิดา จะต้องมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับทั้งพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์. ความรู้ดังกล่าวนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. ถ้าเช่นนั้น เราทุกคนควรจะถือว่า การได้รับความรู้ถ่องแท้จากคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างแน่นอน. บางคนบอกว่า ตราบเท่าที่เราเป็นคนจริงใจและมีความกระตือรือร้นในการนมัสการของเราก็ดีอยู่แล้ว. คนอื่นอ้างว่า ‘ยิ่งคุณรู้น้อยเท่าไร ก็มีการคาดหมายจากคุณน้อยเท่านั้น.’ กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้เพิ่มพูนในความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์.—เอเฟโซ 4:13; ฟิลิปปอย 1:9; โกโลซาย 1:9.
9. ความรู้ถ่องแท้ป้องกันเราอย่างไร และทำไมเราจำต้องมีการป้องกันเช่นนั้น?
9 ความรู้ดังกล่าวเป็นเครื่องป้องกันไว้จากการทำให้การนมัสการของเราแปดเปื้อน. อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงบุคคลวิญญาณผู้หนึ่งซึ่งปลอมแปลงเป็น “ทูตแห่งความสว่าง.” (2 โกรินโธ 11:14) โดยปลอมตัวเช่นนี้ ซาตาน บุคคลวิญญาณผู้นี้ พยายามนำเราให้หลงกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. บุคคลวิญญาณอื่น ๆ ที่สมทบกับซาตานได้ทำให้การนมัสการของผู้คนเป็นมลทิน เพราะเปาโลกล่าวว่า “เครื่องบูชาซึ่งพวกต่างประเทศถวายนั้น, เขาก็ถวายบูชาแก่พวกปิศาจ, ไม่ได้ถวายบูชาแก่พระเจ้า.” (1 โกรินโธ 10:20) หลายคนมักจะคิดว่า เขานมัสการในวิธีที่ถูกต้อง ถึงแม้เขาไม่ได้ทำสิ่งที่พระเจ้าประสงค์. เขาถูกนำให้หลงเข้าสู่การนมัสการเท็จที่ไม่สะอาด. เราจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับซาตานและพวกผีปิศาจในภายหลัง แต่ศัตรูเหล่านี้ของพระเจ้าได้ทำให้การนมัสการของมนุษยชาติเป็นมลทินอย่างชัดแจ้ง.
10. คุณจะทำประการใดถ้ามีคนจงใจทำให้แหล่งน้ำของคุณเป็นพิษ และความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าเตรียมเราให้พร้อมที่จะทำอะไร?
10 หากคุณรู้ว่ามีคนจงใจทำให้แหล่งน้ำของคุณเป็นพิษ คุณจะดื่มน้ำจากแหล่งนั้นต่อไปไหม? คุณคงไม่รอช้าที่จะหาแหล่งน้ำที่ปลอดภัยและสะอาดอย่างแน่นอน. ความรู้ถ่องแท้จากพระคำของพระเจ้าเตรียมเราไว้ให้พร้อมจะระบุศาสนาแท้และปฏิเสธมลทินต่าง ๆ ที่ทำให้การนมัสการของเราไม่เป็นที่ยอมรับของพระเจ้า.
เอาคำของมนุษย์สอนว่าเป็นพระบัญญัติ
11. มีอะไรผิดพลาดไปเกี่ยวกับการนมัสการของชาวยิวเป็นจำนวนมาก?
11 เมื่อพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก ชาวยิวเป็นจำนวนมากมิได้ปฏิบัติสอดคล้องกับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้า. เพราะฉะนั้น พวกเขาหมดโอกาสที่จะมีฐานะสะอาดเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. เปาโลเขียนเกี่ยวกับพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าเป็นพยานฝ่ายเขาว่า, เขามีใจร้อนรนในการปฏิบัติพระเจ้า, แต่หาได้เป็นตามปัญญา [ความรู้ถ่องแท้, ล.ม.] ไม่.” (โรม 10:2) พวกเขาตัดสินใจเอาเองในเรื่องวิธีนมัสการพระเจ้าแทนที่จะรับฟังสิ่งที่พระองค์ตรัส.
12. อะไรทำให้การนมัสการของชาติยิศราเอลแปดเปื้อน และพร้อมด้วยผลประการใด?
12 เดิมทีชนยิศราเอลปฏิบัติศาสนาบริสุทธิ์ที่พระเจ้าประทานให้ แต่ศาสนานั้นกลับกลายเป็นแปดเปื้อนด้วยคำสอนและปรัชญาของมนุษย์. (ยิระมะยา 8:8, 9; มาลาคี 2:8, 9; ลูกา 11:52) ถึงแม้ผู้นำศาสนาชาวยิวซึ่งรู้จักกันว่าพวกฟาริซายคิด ว่าการนมัสการของเขาเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า พระเยซูทรงแจ้งแก่พวกเขาว่า “ยะซายาได้พยากรณ์ถึงพวกเจ้าคนหน้าซื่อใจคดก็ถูก, เหมือนมีคำเขียนไว้ว่า, ‘คนเช่นนี้นับถือเราด้วยริมฝีปาก แต่ใจของเขาห่างไกลจากเรา, เขาปฏิบัติเราโดยหาประโยชน์มิได้, ด้วยเอาคำของมนุษย์สอนว่าเป็นพระบัญญัติ.’”—มาระโก 7:6, 7.
13. โดยวิธีใดเราอาจทำเหมือนพวกฟาริซาย?
13 เป็นไปได้ไหมที่เราอาจทำเหมือนพวกฟาริซายทำ? เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้หากเราปฏิบัติตามประเพณีด้านศาสนาที่ตกทอดมาถึงเรา แทนที่จะตรวจสอบสิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการนมัสการ. เพื่อเตือนถึงอันตรายจริง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เปาโลได้เขียนว่า “พระวิญญาณได้ตรัสไว้โดยแจ่มแจ้งว่า, ภายหลังจะมีบางคนทิ้งความเชื่อเสีย, แล้วไปเชื่อฟังวิญญาณที่ล่อลวงและฟังคำสอนของพวกผีปิศาจ.” (1 ติโมเธียว 4:1) ดังนั้น เพียงแต่สันนิษฐานว่า การนมัสการของเราเป็นที่พอพระทัยพระเจ้านั้นยังไม่พอ. เช่นเดียวกับหญิงชาวซะมาเรียซึ่งได้พบพระเยซูนั้น เราอาจสืบทอดวิธีนมัสการของเรามาจากบิดามารดา. แต่เราต้องแน่ใจว่า เราทำสิ่งที่พระเจ้าทรงพอพระทัย.
จงระวังการทำให้พระเจ้าขัดเคือง
14, 15. ถึงแม้เรามีความรู้เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอยู่บ้างก็ตาม ทำไมเราต้องระวัง?
14 หากเราไม่ระวัง เราอาจทำสิ่งซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกโยฮันทรุดตัวลงที่เท้าของทูตสวรรค์ “เพื่อจะนมัสการท่าน.” แต่ทูตสวรรค์ได้เตือนว่า “จงระวัง! อย่าทำเช่นนั้น! ข้าพเจ้าเป็นแค่เพื่อนทาสของท่านและของพวกพี่น้องของท่านผู้ซึ่งมีงานเป็นพยานถึงพระเยซู. จงนมัสการพระเจ้าเถิด.” (วิวรณ์ 19:10, ล.ม.) เพราะฉะนั้น คุณเห็นความจำเป็นไหมที่จะไม่ทำให้การนมัสการของคุณแปดเปื้อนด้วยการบูชารูปเคารพรูปแบบใดก็ตาม?—1 โกรินโธ 10:14.
15 เมื่อคริสเตียนบางคนเริ่มปฏิบัติตามธรรมเนียมทางศาสนาซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าอีกต่อไป เปาโลได้ถามว่า “ไฉนท่านจึงจะกลับไปหาโลกธรรมอันอ่อนแอและอนาถา, และอยากเป็นทาสสิ่งเหล่านั้นอีก? ท่านก็ถือวันเดือนฤดูและปี. ข้าพเจ้าวิตกถึงท่านทั้งหลาย, เกรงว่าที่ข้าพเจ้าได้กระทำการให้ท่านแล้วนั้นจะไร้ประโยชน์.” (ฆะลาเตีย 4:8-11) บุคคลเหล่านั้นได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้า แต่ภายหลังได้ทำผิดโดยการถือรักษาธรรมเนียมทางศาสนาและวันนักขัตฤกษ์ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของพระยะโฮวา. ดังที่เปาโลกล่าวนั้น เราต้อง “พิสูจน์ดูว่าทำประการใดจึงจะเป็นที่ชอบพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—เอเฟโซ 5:10.
16. โยฮัน 17:16 และ 1 เปโตร 4:3 ช่วยเราตัดสินใจอย่างไรว่า วันหยุดนักขัตฤกษ์และธรรมเนียมต่าง ๆ ทำให้พระเจ้าพอพระทัยหรือไม่?
16 เราต้องทำให้แน่ใจว่า เราหลีกเลี่ยงวันหยุดนักขัตฤกษ์ทางศาสนาและธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งละเมิดหลักการของพระเจ้า. (1 เธซะโลนิเก 5:21) เพื่อเป็นตัวอย่าง พระเยซูตรัสเกี่ยวกับพวกสาวกของพระองค์ว่า “พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.) ศาสนาของคุณพัวพันในพิธีรีตองและวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ละเมิดหลักการเรื่องความเป็นกลางเกี่ยวกับกิจการของโลกนี้ไหม? หรือว่า ผู้ที่นับถือในศาสนาของคุณบางครั้งมีส่วนในธรรมเนียมและเทศกาลฉลองซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการประพฤติตรงกับที่อัครสาวกเปโตรได้พรรณนาไว้ไหม? ท่านเขียนว่า “เวลาที่ผ่านพ้นไปก็พออยู่แล้วสำหรับท่านทั้งหลายที่ได้ทำตามน้ำใจของนานาชาติ คราวที่ท่านทั้งหลายดำเนินในการต่าง ๆ เกี่ยวกับความประพฤติอันหละหลวม, ราคะตัณหา, ดื่มเหล้าองุ่นมากเกินไป, สำมะเลเทเมา, แข่งขันประชันกันดื่ม, และการไหว้รูปเคารพซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย.”—1 เปโตร 4:3, ล.ม.
17. ทำไมเราควรหลีกเลี่ยงสิ่งใด ๆ ที่สะท้อนน้ำใจของโลก?
17 อัครสาวกโยฮันเน้นความจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงกิจปฏิบัติใด ๆ ที่สะท้อนน้ำใจของโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้ารอบตัวเรา. โยฮันเขียนว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก. ถ้าผู้ใดรักโลก ความรักของพระบิดามิได้อยู่ในผู้นั้นเลย; เพราะสารพัดสิ่งที่มีอยู่ในโลก—คือความปรารถนาของเนื้อหนัง ความปรารถนาของตา และการอวดอ้างปัจจัยการดำรงชีวิตของตน—ไม่ได้เกิดมาจากพระบิดา แต่เกิดมาจากโลก. ยิ่งกว่านั้น โลกกับความปรารถนาของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่กระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะดำรงอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์.” (1 โยฮัน 2:15-17, ล.ม.) คุณสังเกตไหมว่า คนเหล่านั้นที่ “กระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า” จะดำรงอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์? ถูกแล้ว หากเรากระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สะท้อนน้ำใจของโลกนี้แล้ว เราก็สามารถมีความหวังเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ได้!
จงทำตามมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้า
18. ชาวโกรินโธบางคนเข้าใจผิดอย่างไรเรื่องความประพฤติ และเราควรเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
18 พระเจ้าทรงประสงค์ให้คนเหล่านั้นที่เป็นผู้นมัสการพระองค์ทำตามมาตรฐานด้านศีลธรรมอันสูงส่งของพระองค์. บางคนในเมืองโกรินโธโบราณคิดอย่างผิด ๆ ว่า พระเจ้าจะยอมให้กับความประพฤติผิดศีลธรรม. เราเห็นได้ว่า พวกเขาผิดพลาดสักเพียงไร โดยอ่าน 1 โกรินโธ 6:9, 10. หากเราจะนมัสการพระเจ้าอย่างเป็นที่รับรองเอาได้ เราต้องทำให้พระองค์พอพระทัยทั้งโดยคำพูดและการกระทำ. รูปแบบการนมัสการของคุณทำให้คุณสามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ไหม?—มัดธาย 15:8; 23:1-3.
19. การนมัสการแท้มีผลกระทบอย่างไรต่อวิธีที่เราปฏิบัติกับคนอื่น?
19 การที่เราปฏิบัติกับคนอื่นควรสะท้อนถึงมาตรฐานของพระเจ้าด้วย. พระเยซูคริสต์สนับสนุนเราให้ปฏิบัติกับคนอื่นเหมือนที่เราอยากให้เขาปฏิบัติกับเรา เพราะนี่เป็นส่วนแห่งการนมัสการแท้. (มัดธาย 7:12) โปรดสังเกตสิ่งที่พระองค์ตรัสเกี่ยวกับการแสดงความรักฉันพี่น้อง “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่า เจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) สาวกของพระเยซูต้องรักซึ่งกันและกันและทำสิ่งที่ดีต่อเพื่อนผู้นมัสการและคนอื่น.—ฆะลาเตีย 6:10.
นมัสการด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณ
20, 21. (ก) พระเจ้าทรงเรียกร้องการนมัสการชนิดใด? (ข) ทำไมพระยะโฮวาปฏิเสธการนมัสการของชาติยิศราเอลในสมัยของมาลาคี?
20 ในหัวใจของคุณ คุณอาจต้องการนมัสการพระเจ้าอย่างเป็นที่รับรองเอาได้. ถ้าเช่นนั้น คุณต้องมีทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องการนมัสการ. สาวกยาโกโบเน้นว่า ทัศนะของพระเจ้านั่นแหละที่นับว่าสำคัญ ไม่ใช่ของเราเอง. ยาโกโบกล่าวว่า “แบบแห่งการนมัสการที่สะอาดและปราศจากมลทินจากทัศนะของพระเจ้า และพระบิดาของเราเป็นดังนี้: ให้เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงหม้ายในความทุกข์ลำบากของเขา และรักษาตัวให้พ้นจากด่างพร้อยของโลก.” (ยาโกโบ 1:27, ล.ม.) ด้วยความปรารถนาที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย เราแต่ละคนต้องตรวจสอบดูการนมัสการของเราเพื่อทำให้แน่ใจว่า การนมัสการนั้นไม่แปดเปื้อนด้วยกิจปฏิบัติที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า หรือเราไม่ละเลยสิ่งซึ่งพระองค์ทรงถือว่าสำคัญยิ่ง.—ยาโกโบ 1:26.
21 เฉพาะแต่การนมัสการที่สะอาด แบบสิ้นสุดจิตวิญญาณเท่านั้นทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. (มัดธาย 22:37; โกโลซาย 3:23) เมื่อชาติยิศราเอลถวายให้พระเจ้าไม่ถึงขั้นนั้น พระองค์ตรัสว่า “บุตรย่อมนับถือบิดา, และบ่าวย่อมกลัวเกรงนาย, ถ้าเราเป็นบิดา ความยำเกรงต่อเราอยู่ที่ไหนกันเล่า? ถ้าเราเป็นนาย ก็ความคารวะต่อเราอยู่ที่ไหนกันนะ?” พวกเขาทำให้พระเจ้าขัดเคืองโดยการถวายสัตว์ตาบอด, พิการ, และเป็นโรคเป็นเครื่องบูชา และพระองค์ทรงปฏิเสธการนมัสการเช่นนั้น. (มาลาคี 1:6-8) พระยะโฮวาคู่ควรกับการนมัสการในรูปแบบบริสุทธิ์ที่สุดและทรงยอมรับเพียงแต่ความเลื่อมใสโดยเฉพาะเท่านั้น.—เอ็กโซโด 20:5; สุภาษิต 3:9; วิวรณ์ 4:11
22. หากเราต้องการให้พระเจ้ายอมรับการนมัสการของเรา เราจะหลีกเลี่ยงสิ่งใด และเราจะทำอะไร?
22 หญิงชาวซะมาเรียที่พูดกับพระเยซูดูเหมือนว่าสนใจการนมัสการพระเจ้าในวิธีที่พระองค์พอพระทัย. หากเราปรารถนาเช่นนั้น เราจะหลีกเลี่ยงคำสอนและกิจปฏิบัติทุกอย่างที่ทำให้แปดเปื้อน. (2 โกรินโธ 6:14-18) เราจะทุ่มเทตัวเองเพื่อได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องพระเจ้าและกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. เราจะยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นกับข้อเรียกร้องของพระองค์สำหรับการนมัสการอย่างเป็นที่ยอมรับ. (1 ติโมเธียว 2:3, 4) พยานพระยะโฮวาพยายามทำเช่นนั้นอยู่ทีเดียว และพวกเขากระตุ้นคุณอย่างอบอุ่นให้ร่วมกับเขาในการนมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:24, ล.ม.) พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาทรงแสวงหาคนอย่างนั้นนมัสการพระองค์.” (โยฮัน 4:23) หวังว่าคุณเป็นบุคคลประเภทนั้น. เช่นเดียวกับหญิงชาวซะมาเรีย คุณคงอยากมีชีวิตนิรันดร์อย่างไม่ต้องสงสัย. (โยฮัน 4:13-15) แต่คุณก็เห็นผู้คนแก่ลงและตายไป. บทต่อไปจะบอกให้เราทราบสาเหตุ.
ทดสอบความรู้ของคุณ
ดังที่ปรากฏในโยฮัน 4:23, 24 พระเจ้ายอมรับการนมัสการแบบใด?
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พระเจ้าพอพระทัยกับธรรมเนียมหรือเทศกาลฉลองบางอย่างหรือไม่?
อะไรเป็นข้อเรียกร้องบางประการสำหรับการนมัสการอย่างเป็นที่ยอมรับได้?
[รูปภาพเต็มหน้า 44]