มหาวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา
“เรามีมหาปุโรหิตอย่างนี้เอง, . . . เป็นผู้ปฏิบัติในสถานอันบริสุทธิ์ และในพลับพลาแท้, ซึ่งพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ได้ทรงสร้างไม่ใช่มนุษย์สร้าง.”—เฮ็บราย 8:1, 2.
1. การจัดเตรียมอะไรแสดงถึงความรักซึ่งพระเจ้าทรงกระทำเพื่อมนุษย์ที่ผิดบาป?
พระยะโฮวาพระเจ้า เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความรักอันประเสริฐยิ่งต่อมนุษยชาติ จึงได้ทรงจัดเตรียมเครื่องบูชาที่รับบาปของโลกไป. (โยฮัน 1:29; 3:16) ทั้งนี้จำต้องย้ายชีวิตพระบุตรหัวปีของพระองค์จากสวรรค์เข้าสู่ครรภ์สาวพรหมจารีชาวยิวชื่อมาเรีย. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาได้อธิบายชัดเจนแก่มาเรียว่า บุตรในครรภ์จะได้ชื่อว่า “องค์บริสุทธิ์ . . . พระบุตรของพระเจ้า.” (ลูกา 1:34, 35) โยเซฟ ซึ่งเป็นคู่หมั้นมาเรีย ก็ได้รับการชี้แจงถึงลักษณะการปฏิสนธิอย่างน่ามหัศจรรย์ของพระเยซู และได้เรียนรู้ว่าท่านองค์นี้จะ “โปรดช่วยพลไพร่ของท่านให้รอดจากความผิดของเขา.”—มัดธาย 1:20, 21.
2. พระเยซูทรงทำอะไรเมื่อพระองค์มีพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา และทำไม?
2 ขณะพระเยซูทรงเจริญวัย พระองค์คงต้องเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้บางประการเกี่ยวเนื่องกับการกำเนิดอย่างอัศจรรย์ของพระองค์. พระองค์ทราบว่า พระบิดาของพระองค์ในสวรรค์ทรงมีภารกิจให้พระองค์ทำบนแผ่นดินโลกซึ่งเป็นงานช่วยชีวิตให้รอด. ดังนั้น เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวด้วยพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา พระเยซูจึงเสด็จไปหาโยฮัน ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า เพื่อขอรับบัพติสมาในแม่น้ำยาระเดน.—มาระโก 1:9; ลูกา 3:23.
3. (ก) พระเยซูหมายถึงอะไรเมื่อตรัสว่า “เครื่องบูชาและของบรรณาการพระองค์ไม่ทรงประสงค์”? (ข) พระเยซูทรงวางแบบอย่างอะไรที่โดดเด่นไว้สำหรับทุกคนซึ่งประสงค์จะเป็นสาวกของพระองค์?
3 พระเยซูได้อธิษฐานขณะพระองค์รับบัพติสมา. (ลูกา 3:21) ปรากฏว่า ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปพระองค์ทำให้ถ้อยคำจากบทเพลงสรรเสริญ 40:6-8 สำเร็จเป็นจริง ดังอัครสาวกเปาโลบ่งชี้ถึงในเวลาต่อมาดังนี้: “เครื่องบูชาและของบรรณาการพระองค์ไม่ทรงประสงค์ แต่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมกายประทานแก่ข้าพเจ้า.” (เฮ็บราย 10:5) ด้วยเหตุนี้ พระเยซูได้ทรงสำแดงความสำนึกของพระองค์ที่ว่าพระเจ้า “ไม่ทรงประสงค์” การถวายสัตว์เป็นบูชายัญ ณ พระวิหารที่ยะรูซาเลมอยู่เรื่อยไป. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเยซูทรงตระหนักว่า พระเจ้าได้เตรียมกายมนุษย์สมบูรณ์ให้พระองค์คือพระเยซูถวายเป็นเครื่องบูชา. ทั้งนี้จะเป็นการเพิกถอนความจำเป็นใด ๆ ที่จะใช้สัตว์เป็นเครื่องบูชาต่อไป. ในการสำแดงความปรารถนาจากใจจริงที่จะยินยอมตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า พระเยซูทรงอธิษฐานต่อไปว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ข้าพเจ้ามาเพื่อจะให้น้ำพระทัยของพระองค์สำเร็จ, ตามคัมภีร์ที่เขียนไว้กล่าวถึงข้าพเจ้าแล้วนั้น.” (เฮ็บราย 10:7) โอกาสนั้นพระเยซูได้วางตัวอย่างอันดีเลิศอะไรเช่นนั้นเกี่ยวกับความกล้าหาญและความเลื่อมใสอย่างไม่เห็นแก่ตัวสำหรับทุกคนที่จะมาเป็นสาวกของพระองค์ในภายหลัง!—มาระโก 8:34.
4. พระเจ้าทรงสำแดงความพอพระทัยอย่างไรเมื่อพระเยซูได้ถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา?
4 พระเจ้าทรงเห็นชอบไหมกับคำอธิษฐานของพระเยซูคราวรับบัพติสมา? ให้อัครสาวกคนหนึ่งของพระเยซูที่ถูกเลือกสรรตอบเรา “ครั้นพระองค์ทรงรับบัพติศมาแล้วก็รีบเสด็จขึ้นจากน้ำ, และท้องฟ้าก็แหวกออกตรงพระองค์, และพระองค์ได้ทรงเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าลงมาดุจนกพิราบสถิตอยู่บนพระองค์, และมีพระสุรเสียงตรัสจากฟ้าว่า, ‘ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก.’”—มัดธาย 3:16, 17; ลูกา 3:21, 22.
5. แท่นบูชาในพระวิหารเล็งถึงสิ่งใด?
5 การที่พระเจ้าทรงรับรองการเสนอร่างกายพระเยซูเพื่อจะเป็นเครื่องบูชานั้น ในแง่ฝ่ายวิญญาณแล้วหมายความว่า แท่นบูชาที่ประเสริฐกว่าแท่นในวิหาร ณ กรุงยะรูซาเลมนั้นเป็นเรื่องเด่นขึ้นมา. แท่นบูชาในพระวิหารที่ยะรูซาเลมซึ่งได้มีการนำสัตว์มาถวายเป็นเครื่องบูชาเล็งถึงแท่นบูชาฝ่ายวิญญาณ ซึ่งตามจริงก็คือ “พระทัยประสงค์” หรือการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อรับรองเอาชีวิตมนุษย์เยซูเป็นเครื่องบูชา. (เฮ็บราย 10:10) ด้วยเหตุนี้เอง อัครสาวกเปาโลสามารถเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนทั้งหลายว่า “เรามีแท่นบูชาแท่นหนึ่ง, และคนที่ปรนนิบัติในพลับพลา [หรือ, พระวิหาร] นั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะกินของจากแท่นนั้น.” (เฮ็บราย 13:10) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คริสเตียนแท้ได้ประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่บาปที่ยอดเยี่ยมกว่า ซึ่งปุโรหิตชาวยิวส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธ.
6. (ก) อะไรเป็นเรื่องเด่นขึ้นคราวที่พระเยซูรับบัพติสมา? (ข) สมญานามมาซีฮา หรือพระคริสต์ หมายถึงอะไร?
6 การเจิมพระเยซูด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายความว่า บัดนี้พระเจ้าได้ทรงเตรียมการทั้งสิ้นไว้แล้วเกี่ยวกับพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์ พร้อมกับมีพระเยซูปฏิบัติงานฐานะมหาปุโรหิต. (กิจการ 10:38; เฮ็บราย 5:5) สาวกลูกาได้รับการดลใจให้ระบุเหตุการณ์สำคัญนั้นว่าเป็น “ปีที่สิบห้าในรัชกาลติเบเรียวกายะซา.” (ลูกา 3:1-3) ปีนั้นตรงกับปีสากลศักราช 29—ครบ 69 สัปดาห์พอดีที่นับวันเป็นปี หรือ 483 ปีนับตั้งแต่กษัตริย์อะระธาสัศธาออกคำสั่งให้บูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลม. (นะเฮมยา 2:1, 5-8) ตามคำพยากรณ์ “มาซีฮา, คือเจ้าชายองค์นั้น” จะเสด็จปรากฏในปีนั้นที่กำหนดไว้ล่วงหน้า. (ดานิเอล 9:25) เห็นได้ชัดว่าชาวยิวหลายคนรู้เรื่องนี้. ลูการายงานว่า “เมื่อคนทั้งหลายกำลังมุ่งคอย” การปรากฏตัวของมาซีฮาหรือพระคริสต์ สมญานามซึ่งมาจากคำฮีบรูและคำกรีกซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกันคือ “ผู้ถูกเจิม.”—ลูกา 3:15.
7. (ก) พระเจ้าทรงเจิม “สถานอันเป็นที่สะอาดหมดจดยิ่ง” เมื่อไร และการทั้งนี้หมายถึงอะไร? (ข) เกิดอะไรขึ้นอีกกับพระเยซูในคราวที่พระองค์รับบัพติสมา?
7 ในคราวพระเยซูทรงรับบัพติสมานั้น ราชนิเวศของพระเจ้าฝ่ายสวรรค์ได้รับการเจิม หรือถูกแยกไว้ต่างหาก เป็น “บริสุทธิ์สถานอันเป็นที่สะอาดหมดจดยิ่ง” ในวิธีการจัดเตรียมอันเกี่ยวเนื่องกับมหาวิหารฝ่ายวิญญาณ. (ดานิเอล 9:24) “พลับพลาแท้ [หรือพระวิหาร], ซึ่งพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ได้ทรงสร้างไม่ใช่มนุษย์สร้าง.” ได้เริ่มดำเนินการแล้ว. (เฮ็บราย 8:2) อนึ่ง โดยการรับบัพติสมาของพระองค์ด้วยน้ำและพระวิญญาณบริสุทธิ์ มนุษย์พระเยซูคริสต์ได้กำเนิดอีกครั้งหนึ่งเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. (เทียบกับโยฮัน 3:3.) ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อครบกำหนดเวลา พระเจ้าจะโปรดให้พระบุตรของพระองค์กลับคืนสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์ ซึ่งพระบุตรจะรับใช้ฐานะเป็นกษัตริย์และมหาปุโรหิต ณ เบื้องขวาพระหัตถ์พระบิดา “เป็นนิตย์ตามอย่างมัลคีเซเด็ค.”—เฮ็บราย 6:20; บทเพลงสรรเสริญ 110:1, 4.
ที่บริสุทธิ์ที่สุดในสวรรค์
8. ตอนนี้พระที่นั่งของพระเจ้าในสวรรค์มีโฉมใหม่อะไรขึ้นมา?
8 ณ วันนั้นที่พระเยซูได้รับบัพติสมา พระที่นั่งของพระเจ้าในสวรรค์ก็ได้รับเอาโฉมใหม่. ข้อกำหนดว่าด้วยการใช้ร่างกายมนุษย์สมบูรณ์เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของโลกทำให้ความบริสุทธิ์ของพระเจ้าเด่นชัดเมื่อเทียบกับความผิดบาปของมนุษย์. นอกจากนี้ ความเมตตาของพระเจ้าได้รับการเน้นเด่นชัดเมื่อพระองค์ทรงเต็มพระทัยคืนดีหรือระงับพระพิโรธ. ดังนั้น พระที่นั่งของพระเจ้าในสวรรค์จึงกลายเป็นประหนึ่งห้องชั้นในสุดของพระวิหาร ที่ซึ่งมหาปุโรหิตได้เข้าไปปีละหนพร้อมด้วยเลือดสัตว์สำหรับใช้ไถ่บาปโดยนัย.
9. (ก) ม่านระหว่างที่บริสุทธิ์กับที่บริสุทธิ์ที่สุดเล็งถึงสิ่งใด? (ข) พระเยซูเสด็จผ่านม่านแห่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าอย่างไร?
9 ม่านกั้นระหว่างที่บริสุทธิ์กับที่บริสุทธิ์ที่สุดนั้นเล็งถึงพระกายเนื้อหนังนั้นของพระเยซู. (เฮ็บราย 10:19, 20) พระกายเนื้อหนังนั้นเป็นอุปสรรคกั้นขวางพระเยซูจากการเข้าไปถึงที่ประทับของพระบิดาในช่วงที่พระองค์เป็นมนุษย์อยู่บนแผ่นดินโลก. (1 โกรินโธ 15:50) ทันทีที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ “ม่านในโบสถ์ก็ขาดออกเป็นสองท่อนตั้งแต่บนตลอดล่าง.” (มัดธาย 27:51) เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจเช่นนี้บ่งบอกว่า สิ่งกั้นขวางพระเยซูจากการเข้าไปถึงสวรรค์นั้นถูกเพิกถอนออกไป. สามวันหลังจากนั้น พระยะโฮวาพระเจ้าทรงทำการอัศจรรย์ที่โดดเด่น. พระองค์ได้ปลุกพระเยซูคืนพระชนม์ ไม่ใช่อย่างมนุษย์ธรรมดามีเลือดเนื้อและตายได้ แต่เป็นผู้มีชีวิตในสภาพกายวิญญาณมีสง่าราศี “ดำรงอยู่เป็นนิตย์.” (เฮ็บราย 7:24) ต่อมาอีกสี่สิบวัน พระเยซูก็ได้เสด็จสู่สวรรค์และเข้าใน “บริสุทธิ์สถานอันเป็นที่สะอาดหมดจดยิ่ง” อย่างแท้จริง “ทรงปรากฏจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.”—เฮ็บราย 9:24.
10. (ก) เกิดอะไรขึ้นหลังจากพระเยซูได้เสนอคุณค่าแห่งเครื่องบูชาของพระองค์แด่พระบิดาในสวรรค์? (ข) การเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายถึงอะไรสำหรับสาวกทั้งหลายของพระคริสต์?
10 พระเจ้ารับรองคุณค่าพระโลหิตที่พระเยซูได้สละเป็นค่าไถ่ชำระบาปของโลกไหม? แน่นอน พระองค์ทรงรับรอง. เหตุการณ์ที่พิสูจน์การรับรองนี้ได้มีขึ้น 50 วันภายหลังการปลุกพระเยซูคืนพระชนม์ ในวันเทศกาลเพนเตคอสเต. มีการหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าลงเหนือเหล่าสาวก 120 คนของพระเยซูที่ชุมนุมกันอยู่ในยะรูซาเลม. (กิจการ 2:1, 4, 33) เช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์มหาปุโรหิตของเขา มาบัดนี้พวกเขาได้รับการเจิมให้รับใช้ฐานะ “คณะปุโรหิตบริสุทธิ์ เพื่อถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณ” ภายใต้การจัดเตรียมแห่งวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า. (1 เปโตร 2:5, ล.ม.) นอกจากนั้น เหล่าผู้ถูกเจิมประกอบกันเป็นชาติใหม่ “ชาติบริสุทธิ์” แห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. นับแต่นั้นเป็นต้นมา คำพยากรณ์ทั้งสิ้นเรื่องข่าวดีเกี่ยวกับพวกยิศราเอล เช่น “คำสัญญาไมตรีใหม่” ตามบันทึกในยิระมะยา 31:31 (ล.ม.) จึงหมายถึงประชาคมคริสเตียนแห่งผู้ถูกเจิม ซึ่งเป็น “พวกยิศราเอลของพระเจ้า” อย่างแท้จริง.—1 เปโตร 2:9, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:16.
ลักษณะอื่น ๆ เกี่ยวด้วยวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า
11, 12. (ก) ลานสำหรับปุโรหิตเล็งถึงอะไรในกรณีของพระเยซู และหมายถึงอะไรในกรณีของสาวกผู้ถูกเจิม? (ข) อ่างน้ำขนาดใหญ่เป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด และได้มีการใช้อ่างนี้อย่างไร?
11 แม้ว่าที่บริสุทธิ์ที่สุดเป็นภาพเล็งถึง “สวรรค์นั้นเอง” อันเป็นที่ประทับของพระเจ้า กระนั้น ลักษณะอื่น ๆ เกี่ยวด้วยวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าล้วนพาดพิงถึงสิ่งต่าง ๆ บนแผ่นดินโลก. (เฮ็บราย 9:24) ที่พระวิหาร ณ กรุงยะรูซาเลมนั้นมีลานชั้นในสำหรับพวกปุโรหิตซึ่งมีแท่นถวายเครื่องบูชาและอ่างน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งพวกปุโรหิตใช้ชำระกายก่อนถวายการรับใช้ศักดิ์สิทธิ์. สิ่งเหล่านี้เล็งถึงอะไรเกี่ยวด้วยการจัดเตรียมด้านพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า?
12 สำหรับกรณีของพระเยซูคริสต์ ลานชั้นในสำหรับปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงพระบุตรของพระเจ้าฐานะเป็นมนุษย์สมบูรณ์ปราศจากบาป. โดยการแสดงความเชื่อต่อเครื่องบูชาของพระเยซู บรรดาสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ถูกนับว่ามีความชอบธรรม. ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงสามารถปฏิบัติกับเขาอย่างสมเหตุสมผลเสมือนเขาปราศจากบาป. (โรม 5:1; 8:1, 33) ดังนั้น ลานวิหารดังกล่าวยังเป็นภาพเล็งถึงสถานภาพของมนุษย์ที่ถือว่าชอบธรรมด้วยซึ่งสมาชิกแต่ละคนแห่งคณะปุโรหิตบริสุทธิ์มีจำเพาะพระเจ้า. ขณะเดียวกัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมยังเป็นคนไม่สมบูรณ์และมักจะทำผิด. อ่างใหญ่ ณ ลานพระวิหารเล็งถึงพระคำของพระเจ้า ซึ่งมหาปุโรหิต [พระเยซู] ทรงใช้ชำระคณะปุโรหิตผู้บริสุทธิ์เป็นขั้น ๆ. โดยการยอมรับการชำระเช่นนี้ พวกเขาจึงบรรลุลักษณะดีเยี่ยมเป็นที่น่าพอใจซึ่งถวายเกียรติแด่พระเจ้าและดึงดูดคนนอกเข้ามายังการนมัสการบริสุทธิ์.—เอเฟโซ 5:25, 26; เทียบกับมาลาคี 3:1-3.
ที่บริสุทธิ์
13, 14. (ก) ที่บริสุทธิ์แห่งพระวิหารเล็งถึงอะไรในกรณีของพระเยซู และในกรณีของบรรดาสาวกผู้ถูกเจิม? (ข) เชิงตะเกียงทองคำเล็งถึงสิ่งใด?
13 ห้องแรกของพระวิหารเป็นภาพเล็งถึงสภาพที่ดีเยี่ยมยิ่งกว่าลานวิหาร. ในกรณีของพระเยซูคริสต์มนุษย์สมบูรณ์ ส่วนนี้ของวิหารเล็งถึงการกำเนิดของพระองค์อีกครั้งหนึ่งฐานะพระบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งถูกกำหนดให้กลับไปรับชีวิตในสวรรค์อีก. หลังจากรับการประกาศว่าเป็นผู้ชอบธรรม โดยพื้นฐานความเชื่อที่มีต่อพระโลหิตของพระคริสต์ที่หลั่งออก สาวกผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้ประสบการดำเนินงานพิเศษแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าเช่นกัน. (โรม 8:14-17) โดยการ “บังเกิดจากน้ำ [หมายถึงการรับบัพติสมาของเขา] และพระวิญญาณ” เขาจึง “บังเกิดใหม่” ในฐานะเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. เมื่อเป็นดังนั้น พวกเขามีความหวังจะถูกปลุกขึ้นจากตายเพื่อรับชีวิตในสวรรค์ฐานะบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า หากว่าเขารักษาความซื่อสัตย์กระทั่งสิ้นชีวิต.—โยฮัน 3:5, 7; วิวรณ์ 2:10.
14 ผู้นมัสการที่อยู่ข้างนอกไม่ได้เห็นพวกปุโรหิตปฏิบัติงานในห้องบริสุทธิ์แห่งวิหารทางแผ่นดินโลก. เช่นเดียวกัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมประสบสภาพการณ์ฝ่ายวิญญาณซึ่งผู้นมัสการส่วนใหญ่ของพระเจ้าที่มีความหวังจะอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลกตลอดไปไม่สามารถจะเข้าส่วนร่วมหรือเข้าใจได้เต็มที่. เชิงตะเกียงทองคำในพลับพลาเล็งถึงสภาพที่ได้รับความสว่างทางปัญญาของคริสเตียนผู้ถูกเจิม. การดำเนินงานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเหมือนน้ำมันในตะเกียง ให้ความสว่างเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. ความเข้าใจซึ่งคริสเตียนได้รับนั้น เขาไม่เก็บไว้เฉพาะตัว. แต่เขาเชื่อฟังพระเยซูที่ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก . . . จงให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวงอย่างนั้น, เพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่าน, แล้วจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์.”—มัดธาย 5:14, 16.
15. ขนมปังบนโต๊ะถวายเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
15 เพื่อยังคงรักษาสภาพที่ได้รับความสว่างเช่นนี้ต่อ ๆ ไป คริสเตียนผู้ถูกเจิมต้องเลี้ยงตัวเป็นประจำด้วยสิ่งที่ขนมปังบนโต๊ะถวายเป็นภาพเล็งถึงนั้น. แหล่งสำคัญของอาหารฝ่ายวิญญาณสำหรับพวกเขาคือพระคำของพระเจ้า ซึ่งเขามุ่งมั่นจะอ่านและคิดรำพึงทุก ๆ วัน. พระเยซูทรงสัญญาจะจัด “อาหารแก่เขาตามเวลา” ผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งพระองค์ได้แต่งตั้งไว้. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) “ทาส” นี้คือคณะคริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งสิ้นบนแผ่นดินโลก ณ ช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด. พระคริสต์ทรงใช้ผู้ถูกเจิมเหล่านี้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวด้วยความสำเร็จสมจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล และให้การชี้แนะที่ทันกาลเกี่ยวกับการใช้หลักการต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ในชีวิตประจำวันสมัยนี้. ด้วยเหตุนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมเลี้ยงตัวด้วยความหยั่งรู้ค่าจากการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณดังกล่าว. แต่การค้ำจุนชีวิตฝ่ายวิญญาณของเขาอย่างต่อเนื่องนั้นหาใช่เพียงการรับความรู้ของพระเจ้าไว้ในจิตใจและหัวใจของตนเท่านั้น. พระเยซูตรัสดังนี้: “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ.” (โยฮัน 4:34, ล.ม.) เช่นเดียวกัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมประสบความอิ่มใจพอใจก็โดยที่ตัวเองยอมทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่ได้เปิดเผยแล้วนั้นเป็นประจำทุกวัน.
16. การรับใช้ ณ แท่นเผาเครื่องหอมเล็งถึงอะไร?
16 ในเวลาเช้าและเวลาเย็น ปุโรหิตได้ถวายเครื่องหอมแด่พระเจ้าบนแท่นเผาเครื่องหอม ณ ห้องบริสุทธิ์. ขณะเดียวกัน ผู้คนที่มานมัสการซึ่งไม่ใช่ปุโรหิตก็จะอธิษฐานถึงพระเจ้าขณะยืนอยู่ที่ลานชั้นนอกแห่งวิหารของพระองค์. (ลูกา 1:8-10) พระคัมภีร์ให้คำอธิบายว่า “เครื่องหอมนั้นหมายถึงคำอธิษฐานของเหล่าผู้บริสุทธิ์.” (วิวรณ์ 5:8, ล.ม.) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนไว้ว่า “ขอให้คำทูลของข้าพเจ้าขึ้นไปเป็นเหมือนเครื่องหอมถวายบูชาต่อพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 141:2) นอกจากนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมทะนุถนอมสิทธิพิเศษที่ตนได้เข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานผ่านพระเยซูคริสต์. การอธิษฐานอย่างกระตือรือร้นซึ่งพรั่งพรูจากหัวใจเป็นเหมือนเครื่องหอมกำจายกลิ่นหอมหวน. คริสเตียนผู้ถูกเจิมสรรเสริญพระเจ้าในทางอื่นด้วย. เขาใช้ปากสั่งสอนผู้อื่น. ความอดทนของเขาขณะเผชิญความยากลำบากและการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงภายใต้สภาพยุ่งยากย่อมทำให้พระเจ้าพอพระทัยเป็นพิเศษ.—1 เปโตร 2:20, 21, ล.ม.
17. ความสำเร็จสมจริงของภาพเชิงพยากรณ์เกี่ยวข้องกับอะไรจากการที่มหาปุโรหิตเข้าไปยังห้องบริสุทธิ์ที่สุดครั้งแรกในวันไถ่โทษ?
17 ในวันไถ่โทษ มหาปุโรหิตแห่งยิศราเอลต้องเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดและเผาเครื่องหอมในกระถางทองคำที่มีถ่านไฟร้อน. ทั้งนี้ต้องทำให้เสร็จก่อนเขานำเอาเลือดสัตว์เข้ามาเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป. ในความสำเร็จสมจริงของภาพเชิงพยากรณ์นี้ มนุษย์เยซูได้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างแท้จริงต่อพระยะโฮวาพระเจ้าก่อนถวายชีวิตพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของเราซึ่งใช้ได้ตลอดไป. โดยวิธีนี้พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์สมบูรณ์สามารถธำรงความซื่อสัตย์มั่นคงของตนต่อพระเจ้า ไม่ว่าซาตานจะก่อความกดดันใด ๆ แก่เขา. (สุภาษิต 27:11) เมื่อประสบการทดลอง พระเยซูทรงอธิษฐาน “ด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล . . . และพระองค์ได้รับการสดับด้วยความพอพระทัยเนื่องด้วยพระองค์เกรงกลัวพระเจ้า.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) ด้วยวิธีนี้ พระองค์ได้ยกย่องพระยะโฮวาเป็นองค์บรมมหิศรที่ชอบธรรมแห่งเอกภพโดยสิทธิอันถูกต้อง. พระเจ้าได้ประทานบำเหน็จแก่พระเยซูโดยการปลุกพระองค์คืนพระชนม์ให้มีอมตชีพในสวรรค์. เมื่อพระเยซูได้รับตำแหน่งสูงยิ่งเช่นนี้ พระองค์ทรงมุ่งความสนพระทัยไปสู่เหตุผลประการที่สองสำหรับการเสด็จมายังแผ่นดินโลก นั่นคือการนำคนบาปที่สำนึกผิดกลับใจให้มาคืนดีกันกับพระเจ้า.—เฮ็บราย 4:14-16.
สง่าราศีที่ยิ่งใหญ่แห่งวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า
18. พระยะโฮวาทรงนำสง่าราศีที่โดดเด่นมาสู่วิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์อย่างไร?
18 พระยะโฮวาตรัสไว้ล่วงหน้าว่า “สง่าราศีของนิเวศหลังใหม่นี้จะยิ่งกว่าหลังเดิม.” (ฮาฆี 2:9, ล.ม.) โดยการปลุกพระเยซูให้คืนพระชนม์เป็นกษัตริย์และมหาปุโรหิตอมตะ พระยะโฮวานำสง่าราศีที่โดดเด่นมาให้แก่วิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์. บัดนี้ พระเยซูอยู่ในฐานะที่จะให้ “ความรอดนิรันดร์แก่คนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์.” (เฮ็บราย 5:9, ล.ม.) กลุ่มแรกที่แสดงการเชื่อฟังดังกล่าวได้แก่สาวก 120 คนซึ่งรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในวันเพนเตคอสเตสากลศักราช 33. พระธรรมวิวรณ์แจ้งล่วงหน้าว่า บุตรเหล่านี้แห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณจะมีจำนวนทั้งสิ้น 144,000 คน. (วิวรณ์ 7:4, ล.ม.) เมื่อพวกเขาถึงแก่ความตาย หลายคนต้องนอนนิ่งในหลุมฝังศพทั่วไปของมนุษย์ คอยเวลาการประทับของพระเยซูด้วยราชอำนาจ. การคำนวณเวลาเชิงพยากรณ์ที่ดานิเอล 4:10-17, 20-27 ชี้ไปยังปี 1914 ว่าเป็นเวลาที่พระเยซูเริ่มปกครองท่ามกลางพวกศัตรู. (บทเพลงสรรเสริญ 110:2) หลายสิบปีก่อนหน้านั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมต่างก็เฝ้ารอปีนั้นอย่างจดจ่อ. สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอีกทั้งพิบัติภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติเป็นข้อยืนยันว่าพระเยซูได้ครองราชย์แล้วจริง ๆ ในปี 1914. (มัดธาย 24:3, 7, 8) ไม่นานหลังจากนั้น เมื่อมาถึงเวลาสำหรับ “การพิพากษาจะเริ่มต้นกับราชนิเวศของพระเจ้า” พระเยซูจะทรงกระทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมซึ่งล่วงลับไปแล้วที่ว่า “เราจะมาอีกและจะรับเจ้าไปอยู่กับเรา.”—1 เปโตร 4:17; โยฮัน 14:3, ล.ม.
19. ชนที่เหลือในจำพวก 144,000 คนจะเข้าไปถึงที่บริสุทธิ์ยิ่งในสวรรค์ได้อย่างไร?
19 สมาชิกคณะปุโรหิตผู้บริสุทธิ์ 144,000 คนยังไม่ได้รับการประทับตราขั้นสุดท้ายทั่วทุกคน และยังไม่ถูกรวบรวมไปยังราชนิเวศของเขาในสวรรค์. ชนที่เหลือจากจำนวนนี้ยังคงมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกในสภาพฝ่ายวิญญาณซึ่งห้องบริสุทธิ์เป็นภาพเล็งถึง แยกจากที่ประทับบริสุทธิ์ของพระเจ้าโดย “ม่าน” หรือสิ่งกีดขวางคือร่างกายฝ่ายเนื้อหนังของเขา. เมื่อชนเหล่านี้สิ้นชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ เขาจะถูกปลุกขึ้นจากตายทันที พร้อมด้วยกายวิญญาณมีชีวิตอมตะ สบทบกับชนจำพวก 144,000 เหล่านั้นที่อยู่ในสวรรค์แล้ว.—1 โกรินโธ 15:51-53.
20. ชนที่เหลือจำพวกปุโรหิตบริสุทธิ์ปฏิบัติภารกิจสำคัญอะไรเวลานี้ และพร้อมกับมีผลอะไร?
20 เมื่อปุโรหิตจำนวนมากเช่นนั้นรับใช้ร่วมกับมหาปุโรหิตในสวรรค์ วิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าย่อมได้รับสง่าราศีเพิ่มมากขึ้น. ในระหว่างนั้น ชนที่เหลือจำพวกปุโรหิตบริสุทธิ์ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจอันเป็นประโยชน์อยู่ที่แผ่นดินโลก. โดยการประกาศของเขา ‘พระเจ้าทรงเขย่าชาติทั้งปวงอยู่’ ด้วยการประกาศคำพิพากษาของพระองค์ ดังตรัสไว้ล่วงหน้าที่ฮาฆี 2:7 (ล.ม.). ในเวลาเดียวกัน ผู้นมัสการหลายล้านคนดังได้พรรณนาว่าเป็น “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” หลั่งไหลเข้ามาในลานพระวิหารของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลก. คนเหล่านี้มีบทบาทอะไรในการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อการนมัสการ และเราจะคาดหมายสง่าราศีเช่นไรต่อไปสำหรับมหาวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์? จะได้พิจารณาคำถามเหล่านี้ในบทความถัดไป.
คำถามทบทวน
▫ พระเยซูได้วางตัวอย่างอะไรที่โดดเด่นในปีสากลศักราช 29?
▫ การจัดเตรียมอะไรเริ่มดำเนินการในปีสากลศักราช 29?
▫ ที่บริสุทธิ์และที่บริสุทธิ์ที่สุดเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
▫ โดยวิธีใดมหาวิหารฝ่ายวิญญาณจึงรุ่งโรจน์ด้วยสง่าราศี?
[รูปภาพหน้า 17]
เมื่อพระเยซูได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในปีสากลศักราช 29 มหาวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าก็เริ่มดำเนินงาน