จะไว้วางใจหนังสือนี้ได้ไหม?
“ข้าพเจ้าพบเครื่องหมายรับรองความเชื่อถือได้ในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่าในประวัติศาสตร์ใด ๆ ของทางโลก.”—เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้เรืองนามชาวอังกฤษ.1
จะไว้วางใจหนังสือนี้—คัมภีร์ไบเบิล—ได้ไหม? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงผู้คนที่มีชีวิตอยู่จริง, สถานที่ที่มีจริง, และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ใช่ไหม? ถ้าเช่นนั้นก็ควรมีหลักฐานว่า คัมภีร์ไบเบิลถูกจารึกโดยผู้เขียนที่รอบคอบและซื่อสัตย์. ข้อพิสูจน์มีอยู่จริง. มีการพบข้อพิสูจน์จำนวนมากที่ฝังอยู่ในดิน และมากยิ่งกว่านั้นอีกมีอยู่ในหนังสือนี้เอง.
การขุดหาหลักฐาน
การค้นพบสิ่งประดิษฐ์สมัยโบราณที่ฝังอยู่ในดินแดนต่าง ๆ ซึ่งมีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลนั้นสนับสนุนความถูกต้องแม่นยำของคัมภีร์ไบเบิลทางด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์. ขอพิจารณาหลักฐานเพียงบางอย่างที่พวกนักโบราณคดีได้ขุดพบ.
ดาวิด คนเลี้ยงแกะหนุ่มน้อยผู้กล้าหาญซึ่งได้กลายเป็นกษัตริย์แห่งยิศราเอล เป็นที่รู้จักดีสำหรับผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิล. ชื่อท่านปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลถึง 1,138 ครั้ง และคำว่า “เชื้อวงศ์ของดาวิด”—บ่อยครั้งหมายถึงราชวงศ์ของท่าน—มีอยู่ถึง 25 ครั้ง. (1 ซามูเอล 16:13; 20:16) กระนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนนอกเหนือจากคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าดาวิดเคยมีชีวิตอยู่จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้. ดาวิดเป็นแค่บุคคลในนิยายหรือ?
ในปี 1993 ทีมนักโบราณคดีซึ่งนำโดยศาสตราจารย์อัฟราอัม บีรัง ได้ทำการค้นพบอันน่าตื่นตะลึง ซึ่งมีรายงานไว้ในวารสารการสำรวจอิสราเอล (ภาษาอังกฤษ). ณ ที่เนินดินโบราณแห่งหนึ่งชื่อเทล ดานซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอิสราเอล พวกเขาค้นพบหินบะซอลต์ก้อนหนึ่ง. มีถ้อยคำสลักในเนื้อหินว่า “เชื้อวงศ์ของดาวิด” และ “กษัตริย์ชาติยิศราเอล.”2 กล่าวกันว่าศิลาจารึกนี้ ซึ่งมีอายุอยู่ในศตวรรษที่เก้า ก.ส.ศ. เป็นส่วนของอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะที่สร้างโดยชาวอะราเมียน—ศัตรูของชาวยิศราเอลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก. ทำไมศิลาจารึกโบราณนี้จึงสำคัญนัก?
โดยอาศัยรายงานจากศาสตราจารย์บีรังกับศาสตราจารย์โยเซฟ นาเวห์ผู้ร่วมงานของเขา บทความหนึ่งในวารสารบทวิจารณ์โบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวดังนี้: “นี่เป็นครั้งแรกที่พบชื่อดาวิดในคำจารึกโบราณนอกคัมภีร์ไบเบิล.”3a ยังมีสิ่งอื่นอีกที่น่าสังเกตเกี่ยวกับคำจารึกนั้น. คำว่า “เชื้อวงศ์ของดาวิด” ถูกเขียนเป็นคำเดียว. ศาสตราจารย์แอนสัน เรนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาชี้แจงว่า “ตัวแบ่งคำ ... มักถูกละไว้บ่อย ๆ โดยเฉพาะถ้าการรวมคำนั้นเป็นชื่อเฉพาะที่รู้จักกันดี. ‘เชื้อวงศ์ของดาวิด’ เป็นชื่อเฉพาะเช่นนั้นอย่างแน่นอนทั้งทางการปกครองและทางภูมิศาสตร์ในช่วงกลางศตวรรษที่เก้าก่อนสากลศักราช.”5 ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่ากษัตริย์ดาวิดและราชวงศ์ของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในโลกสมัยโบราณ.
นีนะเว กรุงใหญ่ของอัสซีเรียซึ่งมีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล—มีอยู่จริงไหม? พวกนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลบางคนไม่ยอมเชื่อเรื่องนั้นจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง. แต่ในปี 1849 เซอร์ ออสเทน เฮนรี เลยาร์ด ได้ขุดพบซากปรักหักพังของราชวังกษัตริย์ซันแฮริบที่คูยันจิก สถานที่ซึ่งปรากฏว่าเป็นส่วนของนีนะเวโบราณ. ด้วยเหตุนี้ พวกนักวิจารณ์จึงเงียบเสียงในเรื่องนั้น. แต่ซากปรักหักพังนี้เผยให้เห็นมากกว่านั้น. บนผนังของห้องหนึ่งซึ่งอยู่ในสภาพดีมีภาพแสดงการยึดเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแกร่ง พร้อมกับพวกเชลยที่เดินแถวต่อพระพักตร์กษัตริย์ผู้รุกราน. เหนือภาพกษัตริย์นั้นมีคำจารึกดังนี้: “ซันแฮริบ ราชันแห่งพิภพ, กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย, ประทับบนราชบัลลังก์นิเมดู และทรงตรวจตราของที่ยึดมาจากเมืองลาคิช (ลา-คิ-ซู).”6
ภาพและคำจารึกนี้ ซึ่งจะชมได้ในพิพิธภัณฑสถานบริติช มิวเซียม สอดคล้องกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการที่ซันแฮริบยึดเมืองลาคิชของยูดาซึ่งบันทึกไว้ในพระธรรม 2 กษัตริย์ 18:13, 14. เมื่อเลยาร์ดออกความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการค้นพบนี้ เขาเขียนว่า “ก่อนที่มีการค้นพบสิ่งเหล่านี้ ใครหรือจะเชื่อว่าเป็นไปได้ที่ว่า ใต้กองดินกองขยะซึ่งระบุสถานที่ตั้งเมืองนีนะเวนั้นจะพบประวัติเกี่ยวกับสงครามระหว่างฮีศคียา [กษัตริย์แห่งยูดา] กับซันแฮริบ บันทึกในเวลาที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นนั้นทีเดียว โดยซันแฮริบเอง และยืนยันบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลกระทั่งในรายละเอียดเล็กน้อยด้วยซ้ำ?”7
เหล่านักโบราณคดีได้ขุดพบสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก เช่น เครื่องปั้นดินเผา, ซากอาคาร, แผ่นดินเหนียว, เหรียญ, เอกสารต่าง ๆ, อนุสาวรีย์, และศิลาจารึก ซึ่งยืนยันความถูกต้องแม่นยำของคัมภีร์ไบเบิล. พวกนักขุดค้นได้ค้นพบเมืองอูระของชาวคัลเดียอันเป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนาที่ซึ่งอับราฮามเคยอาศัย.8 (เยเนซิศ 11:27-31) จดหมายเหตุของนะโบไนดัสซึ่งถูกขุดพบในศตวรรษที่ 19 พรรณนาถึงการที่บาบูโลนตกเป็นของไซรัสมหาราชในปี 539 ก.ส.ศ. เหตุการณ์ที่มีบรรยายในพระธรรมดานิเอลบท 5.9 ศิลาจารึกแผ่นหนึ่ง (มีชิ้นส่วนเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานบริติช มิวเซียม) ซึ่งพบบนประตูโค้งในเมืองเธซะโลนิกาโบราณ มีชื่อของพวกผู้ครองเมืองซึ่งมีพรรณนาว่าเป็น “โพลิตอาร์ช” (เจ้าเมือง) คำซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในวรรณคดีกรีกแต่มีการใช้โดยลูกาผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิล.10 (กิจการ 17:6, ล.ม., เชิงอรรถ) ดังนั้น ความถูกต้องแม่นยำของลูกาจึงได้รับการพิสูจน์ด้วยรายละเอียดนี้ เช่นเดียวกับที่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องแล้วในรายละเอียดอื่น ๆ.—เทียบกับลูกา 1:3.
อย่างไรก็ตาม พวกนักโบราณคดีต่างก็ไม่เห็นพ้องกันเสมอไป กับคัมภีร์ไบเบิลก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง. แม้กระนั้น ในคัมภีร์ไบเบิลเองมีหลักฐานหนักแน่นว่า เป็นหนังสือที่ไว้วางใจได้.
เสนอเรื่องอย่างตรงไปตรงมา
นักประวัติศาสตร์ที่ซื่อตรงคงบันทึกไม่เฉพาะแต่เรื่องชัยชนะ (เช่นคำจารึกเรื่องการที่ซันแฮริบยึดเมืองลาคิช) แต่เรื่องความพ่ายแพ้ด้วย ไม่เฉพาะแต่ความสำเร็จแต่ความล้มเหลวด้วย ไม่เฉพาะความเข้มแข็งแต่ความอ่อนแอด้วย. ประวัติศาสตร์ทางโลกน้อยนักที่แสดงให้เห็นความซื่อตรงเช่นนี้.
แดเนียล ดี. ลักเกนบิลล์ ชี้แจงเกี่ยวกับนักประวัติศาสตร์ชาวอัสซีเรียดังนี้: “บ่อยครั้ง ปรากฏชัดว่าความหยิ่งยโสของราชวงศ์เรียกร้องให้มีการปลอมแปลงความถูกต้องทางประวัติศาสตร์.”11 ในการแสดงถึง “ความหยิ่งยโสของราชวงศ์” เช่นนั้น พงศาวดารของกษัตริย์อะเชอร์นาซีร์ปาลโอ้อวดว่า “เราเป็นผู้เลิศล้ำ เราเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเป็นผู้สูงส่ง เรามีอำนาจ เรามีเกียรติ เรามีสง่าราศี เราเป็นผู้ปราดเปรื่อง เราเป็นผู้ทรงพลัง เราเป็นผู้กล้า เรากล้าหาญดุจสิงโต และเราคือวีรบุรุษ!”12 คุณจะยอมรับทุกเรื่องที่คุณอ่านในพงศาวดารเช่นนั้นว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำไหม?
ในทางตรงกันข้าม เหล่าผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลแสดงออกถึงความตรงไปตรงมาที่น่าพอใจ. โมเซ ผู้นำชาติยิศราเอล รายงานอย่างตรงไปตรงมาถึงความผิดพลาดของอาโรนพี่ชายของท่าน, ของมิระยามพี่สาวของท่าน, ของนาดาบและอะบีฮูหลานชายของท่าน, และของประชาชนของท่าน, รวมทั้งความผิดพลาดของท่านเองด้วย. (เอ็กโซโด 14:11, 12; 32:1-6; เลวีติโก 10:1, 2; อาฤธโม 12:1-3; 20:9-12; 27:12-14) ความผิดร้ายแรงของกษัตริย์ดาวิดก็ไม่ได้ถูกปกปิดแต่มีการบันทึกไว้—และบันทึกไว้ในขณะที่ดาวิดยังครองราชย์เป็นกษัตริย์อยู่. (2 ซามูเอลบท 11 และ 24) มัดธาย ผู้จารึกพระธรรมชื่อเดียวกับท่าน บอกให้ทราบว่า พวกอัครสาวก (ซึ่งท่านก็เป็นคนหนึ่ง) ได้ถกเถียงกันอย่างไรในเรื่องความสำคัญส่วนตัว และพวกเขาได้ทิ้งพระเยซูไปอย่างไรในคืนที่พระองค์ถูกจับ. (มัดธาย 20:20-24; 26:56) พวกผู้จารึกจดหมายฉบับต่าง ๆ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกต่างยอมรับอย่างเปิดเผยถึงปัญหาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการผิดศีลธรรมทางเพศและความไม่ลงรอยกัน ในประชาคมคริสเตียนรุ่นแรกบางแห่ง. และพวกเขากล่าวถึงปัญหาเหล่านั้นอย่างไม่อ้อมค้อม.—1 โกรินโธ 1:10-13; 5:1-13.
การรายงานอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเช่นนั้นแสดงถึงความห่วงใยต่อความจริงด้วยน้ำใสใจจริง. เนื่องด้วยเหล่าผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลต่างเต็มใจรายงานข้อมูลในด้านไม่ดีเกี่ยวกับผู้ที่พวกเขารัก ชนร่วมชาติ และแม้แต่เกี่ยวกับตนเอง จึงมีเหตุผลสมควรจะไว้วางใจข้อความที่พวกเขาจารึกมิใช่หรือ?
ถูกต้องแม่นยำในรายละเอียด
ในการพิจารณาคดีที่ศาล บ่อยครั้งความน่าเชื่อถือของคำให้การของพยานจะรู้แน่ชัดโดยอาศัยข้อเท็จจริงปลีกย่อย. ความสอดคล้องกันในรายละเอียดปลีกย่อยอาจพิสูจน์ว่าคำให้การนั้นถูกต้องและซื่อตรง ทว่า ความแตกต่างอย่างร้ายแรงอาจเผยให้เห็นว่าคำให้การนั้นเป็นเรื่องที่กุขึ้น. อีกด้านหนึ่ง คำอธิบายที่ถี่ถ้วนเกินไป—คือคำอธิบายที่มีการเตรียมรายละเอียดทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี—ก็อาจเผยให้เห็นคำให้การอันเป็นเท็จ.
“คำให้การ” ของผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลมีลักษณะตามนี้แค่ไหน? เหล่าผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลแสดงถึงความสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่ง. มีความสอดคล้องกันแม้แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย. กระนั้น ความสอดคล้องกันนั้นไม่ได้มีการจงใจจัดทำขึ้น ซึ่งคงจะทำให้สงสัยว่ามีการเจตนาสมรู้ร่วมคิดกัน. ปรากฏชัดว่าไม่มีการวางแผนในเรื่องความสอดคล้องต้องกัน แต่เหล่าผู้เขียนมักเขียนตรงกันโดยไม่ได้ตั้งใจ. ขอให้พิจารณาบางตัวอย่าง.
มัดธายผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลเขียนดังนี้: “ครั้นพระเยซูเสด็จเข้าไปในเรือนของเปโตร, ก็ทรงเห็นแม่ยาย ของเปโตรนอนเป็นไข้อยู่.” (มัดธาย 8:14) ในที่นี้มัดธายได้ให้รายละเอียดที่น่าสนใจไว้อย่างหนึ่งแต่ก็ไม่สลักสำคัญคือ เปโตรสมรสแล้ว. ข้อเท็จจริงปลีกย่อยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยเปาโลซึ่งเขียนว่า “ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์ที่จะพาภรรยาซึ่งเป็นคริสเตียนไปไหน ๆ ด้วยกันเหมือนอย่างพวกอัครสาวกอื่น ๆ... และเกฟาหรือ.”b (1 โกรินโธ 9:5) บริบทแสดงว่าเปาโลกำลังแก้ต่างให้ตนเองต่อคำตำหนิวิจารณ์ที่ไร้มูลฐาน. (1 โกรินโธ 9:1-4) เห็นได้ชัดว่า รายละเอียดปลีกย่อยข้อนี้—เรื่องที่เปโตรสมรสแล้ว—เปาโลไม่ได้ยกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความถูกต้องในบันทึกของมัดธาย แต่ถ่ายทอดมาโดยบังเอิญ.
ผู้จารึกกิตติคุณทั้งสี่คน มัดธาย, มาระโก, ลูกา, และโยฮัน บันทึกว่า ในคืนที่พระเยซูถูกจับ สาวกคนหนึ่งของพระองค์ชักดาบออกฟันทาสคนหนึ่งของมหาปุโรหิต ถูกหูชายคนนั้นขาด. มีแต่กิตติคุณของโยฮันเท่านั้นที่รายงานรายละเอียดที่ดูเหมือนไม่จำเป็นอย่างหนึ่งคือ: “ทาสคนนั้นชื่อมาละโค.” (โยฮัน 18:10, 26) เพราะเหตุใดจึงมีโยฮันคนเดียวที่บอกชื่อชายผู้นั้น? เรื่องราวในอีกสองสามข้อถัดไปให้รายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่มีกล่าวในที่อื่นใดคือ โยฮันนั้น “มหาปุโรหิตรู้จัก.” ครัวเรือนของมหาปุโรหิตก็รู้จักท่านด้วย พวกบ่าวคุ้นเคยกับท่าน และท่านก็คุ้นเคยกับพวกเขา. (โยฮัน 18:15, 16) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่โยฮันกล่าวถึงชื่อของชายที่บาดเจ็บ แต่ผู้จารึกกิตติคุณคนอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวถึง เพราะชายผู้นั้นเป็นคนที่พวกเขาไม่รู้จัก.
บางครั้ง คำอธิบายโดยละเอียดถูกข้ามไปในบันทึกหนึ่งแต่มีการให้ไว้ในที่อื่นด้วยถ้อยคำซึ่งกล่าวโดยบังเอิญ. ตัวอย่างเช่น บันทึกของมัดธายเกี่ยวกับการพิจารณาคดีพระเยซูต่อหน้าศาลซันเฮดรินของชาวยิวกล่าวว่า บางคนที่อยู่ที่นั่น “เอามือตบพระองค์ แล้วว่า, ‘เจ้าพระคริสต์, จงทาย ให้เราฟังว่าใครตบ.’” (มัดธาย 26:67, 68) ทำไมพวกเขาบอกพระเยซูให้ “ทาย” ว่าใครตบพระองค์ในเมื่อผู้ตบกำลังยืนอยู่ตรงหน้าพระองค์? มัดธายไม่ได้อธิบาย. แต่ผู้จารึกกิตติคุณคนอื่นอีกสองคนให้รายละเอียดที่ขาดไปที่ว่า พวกผู้ข่มเหงพระเยซูปิดพระพักตร์พระองค์ ก่อนพระองค์ถูกตบ. (มาระโก 14:65; ลูกา 22:64) มัดธายเสนอเรื่องราวโดยไม่เป็นห่วงว่าได้ให้รายละเอียดทุกอย่างหรือไม่.
กิตติคุณของโยฮันบอกถึงโอกาสหนึ่งเมื่อฝูงชนมากมายชุมนุมกันเพื่อฟังพระเยซูสอน. ตามบันทึกนั้น พอพระเยซูทรงสังเกตเห็นฝูงชน “พระองค์จึงตรัสแก่ฟิลิป ว่า ‘เราจะซื้อขนมปังได้ที่ไหนให้คนเหล่านี้กิน?’” (โยฮัน 6:5, ล.ม.) ในเมื่อสาวกทุกคนอยู่ที่นั่น เพราะเหตุใดพระเยซูทรงถามฟิลิปว่าพวกเขาจะซื้อขนมปังได้ที่ไหน? ผู้เขียนไม่ได้บอก. แต่ในบันทึกเรื่องเดียวกัน ลูการายงานว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นใกล้เมืองเบธซายะดา เมืองหนึ่งที่อยู่บนชายฝั่งทิศเหนือของทะเลฆาลิลาย และในกิตติคุณของโยฮันก่อนหน้านั้นมีกล่าวว่า “ฟิลิปมาจากเมืองเบธซายะดา.” (โยฮัน 1:44, ล.ม.; ลูกา 9:10) ดังนั้น จึงสมเหตุผลที่พระเยซูทรงถามบุคคลที่บ้านเกิดของเขาอยู่ในละแวกใกล้เคียง. ความสอดคล้องกันระหว่างรายละเอียดต่าง ๆ เป็นเรื่องน่าทึ่ง กระนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ.
ในบางกรณี การละรายละเอียดบางอย่างไปกลับเพิ่มความเชื่อถือได้ของผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น ผู้จารึกพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นบอกถึงความแห้งแล้งอันรุนแรงในยิศราเอล. ความแห้งแล้งนั้นรุนแรงถึงขนาดที่กษัตริย์ไม่อาจหาน้ำและหญ้าได้เพียงพอสำหรับรักษาชีวิตม้าและลาไว้. (1 กษัตริย์ 17:7; 18:5) กระนั้น บันทึกเดียวกันรายงานว่า ผู้พยากรณ์เอลียาได้สั่งให้นำน้ำมาให้ท่านบนภูเขาคาระเมลมากพอ (เพื่อใช้เกี่ยวกับเครื่องบูชา) เพื่อใส่ให้เต็มร่องที่ขุดรอบบริเวณกว้างประมาณ 1,000 ตารางเมตร. (1 กษัตริย์ 18:33-35) ท่ามกลางภาวะแห้งแล้ง น้ำมากขนาดนั้นมาจากไหน? ผู้จารึกพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นไม่ได้พยายามอธิบาย. แต่ใคร ๆ ที่อยู่ในยิศราเอลล้วนทราบว่า ภูเขาคาระเมลอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังที่คำกล่าวโดยบังเอิญต่อมาในคำอธิบายแสดงให้เห็น. (1 กษัตริย์ 18:43) ดังนั้น น้ำทะเลจึงมีไว้พร้อมให้ใช้. หากพระธรรมเล่มนี้ซึ่งให้รายละเอียดในด้านอื่นเป็นแค่นวนิยายที่ทำให้สำคัญผิดว่าเป็นข้อเท็จจริง ทำไมผู้จารึกพระธรรมนี้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวน่าจะเป็นนักฉ้อฉลที่ฉลาดหลักแหลม จึงได้ปล่อยให้มีข้อความที่ดูเหมือนไม่สอดคล้องกันเช่นนั้นในเนื้อเรื่อง?
ฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลไว้วางใจได้ไหม? พวกนักโบราณคดีได้ขุดพบสิ่งประดิษฐ์มากพอจะยืนยันว่า คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงผู้คนที่มีจริง, สถานที่จริง, และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง. ถึงกระนั้น ที่มีพลังยิ่งกว่านี้ก็คือ หลักฐานที่พบภายในคัมภีร์ไบเบิลเอง. ผู้จารึกที่ซื่อตรงไม่ได้เว้นข้ามใครสักคน แม้แต่ตนเอง ในการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงกับความจริง. ความสอดคล้องกันภายในของข้อความต่าง ๆ รวมทั้งความสอดคล้องต้องกันโดยไม่ได้มุ่งหมายจงใจนั้น ให้ “คำให้การ” ถึงลักษณะที่เด่นชัดของความจริง. ด้วย “เครื่องหมายรับรองความเชื่อถือได้” ดังกล่าว คัมภีร์ไบเบิลจึงเป็นหนังสือที่คุณสามารถไว้วางใจได้จริง ๆ.
[เชิงอรรถ]
a หลังจากการค้นพบครั้งนั้น ศาสตราจารย์อังเดร เลอแมร์รายงานว่า การซ่อมแซมข้อความแถวที่เสียหายบนศิลาจารึกเมซา (เรียกอีกอย่างว่า ศิลาจารึกของชาวโมอาบ) ซึ่งค้นพบในปี 1868 เผยให้เห็นว่า ข้อความนั้นก็มีการพาดพิงถึง “เชื้อวงศ์ของดาวิด” เช่นกัน.4
b “เกฟา” เป็นคำภาษาเซมิติกตรงกับ “เปโตร.”—โยฮัน 1:42.
[ภาพหน้า 15]
ชิ้นส่วน ศิลาจารึกเทล ดาน
[ภาพหน้า 16]
ภาพนูนบนผนังของชาวอัสซีเรียซึ่งแสดงถึงการยึดเมืองลาคิช ซึ่งมีกล่าวใน 2 กษัตริย์ 18:13, 14