การพิจารณาคดีที่น่าอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์
มีเพียงไม่กี่คดีในอดีตที่โด่งดังเท่ากับคดีนี้. บันทึกในหนังสือกิตติคุณทั้งสี่เล่มของคัมภีร์ไบเบิลได้เล่าเรื่องการจับกุม การพิจารณาคดี และการประหารชีวิตพระเยซูคริสต์อย่างละเอียด. ทำไมคุณควรสนใจเรื่องนี้? ประการแรก เนื่องจากพระเยซูสั่งสาวกให้ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ฉะนั้น การพิจารณาคดีซึ่งนำไปสู่การสิ้นพระชนม์จึงเป็นเรื่องสำคัญ. ประการที่สอง เราควรรู้ว่าเรื่องต่าง ๆ ที่ยกขึ้นมากล่าวหาพระเยซูเป็นความจริงหรือไม่. และประการที่สาม การที่พระเยซูยอมสละชีวิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเราและอนาคตของเรา.—ลูกา 22:19; โยฮัน 6:40
ในสมัยที่มีการพิจารณาคดีพระเยซู ปาเลสไตน์อยู่ใต้อำนาจการปกครองของโรม. ชาวโรมันยอมให้ผู้นำศาสนายิวในท้องถิ่นตัดสินคดีความระหว่างชาวยิวด้วยกันได้โดยอาศัยกฎหมายของพวกเขาเอง แต่ดูเหมือนว่าไม่ให้อำนาจพวกเขาตัดสินประหารชีวิตอาชญากร. ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงถูกผู้นำศาสนาชาวยิวซึ่งเป็นศัตรูจับกุมแต่ถูกประหารชีวิตโดยพวกโรมัน. งานประกาศสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้นำศาสนายิวในสมัยนั้นอับอายขายหน้าอย่างมาก พวกเขาจึงตัดสินว่าพระเยซูต้องตาย. เมื่อศาสตราจารย์ด้านกฎหมายคนหนึ่งได้วิเคราะห์ความพยายามของคนเหล่านี้ที่คิดกำจัดพระเยซู เขาถึงกับเรียกแผนการทั้งหมดว่า “อาชญากรรมที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของหลักนิติศาสตร์.”a
การพิจารณาคดีที่ผิดหลักกฎหมาย
กล่าวกันว่า พระบัญญัติที่โมเซถ่ายทอดแก่ชาวอิสราเอลนั้นเป็น “ระบบกฎหมายที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีการประกาศใช้มา.” อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระเยซูพวกรับบีที่เคร่งครัดในเรื่องหยุมหยิมได้เพิ่มกฎอีกมากมายเข้ากับกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ และต่อมากฎเหล่านี้หลายข้อได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือทัลมุด. (ดูกรอบ “กฎหมายยิวในศตวรรษแรก ๆ” หน้า 20.) การพิจารณาคดีพระเยซูเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระคัมภีร์และตามหลักกฎหมายที่พวกรับบีเพิ่มเข้ามาไหม?
ก่อนการจับกุมพระเยซู มีพยานสองปากให้การต่อศาลตรงกันว่าพระองค์ทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งไหม? การจับกุมที่ถูกต้องตามกฎหมายควรเป็นเช่นนั้น. ในปาเลสไตน์สมัยศตวรรษแรก หากชาวยิวคนหนึ่งคิดว่ามีผู้ทำผิดกฎหมาย เขาต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลในเวลาที่ศาลเปิดพิจารณาคดีตามปกติ. ศาลไม่สามารถยื่นฟ้องได้เอง แต่มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนความผิดตามที่มีการยื่นฟ้อง. ผู้ที่จะฟ้องร้องได้มีเพียงพยานที่เห็นเหตุการณ์เท่านั้น. การพิจารณาคดีจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีพยานอย่างน้อยสองปากให้การตรงกัน. คำให้การของพยานสองปากประกอบกันเป็นข้อกล่าวหาที่จะนำไปสู่การจับกุม. คำให้การของพยานเพียงปากเดียวใช้เป็นข้อกล่าวหาไม่ได้. (พระบัญญัติ 19:15) แต่ในกรณีของพระเยซู หัวหน้าศาสนาชาวยิวเพียงแต่หา “วิธีที่แนบเนียน” เพื่อกำจัดพระองค์. พระเยซูถูกจับกุมในเวลาที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะ ซึ่งก็คือตอนกลางคืนและ “ในเวลาที่ปลอดคน.”—ลูกา 22:2, 5, 6, 53
ตอนที่พระเยซูถูกจับกุม พระองค์ไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาใด ๆ. พวกปุโรหิตและสภาซันเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวได้เริ่มหาพยานหลังจากที่จับกุมพระองค์แล้ว. (มัดธาย 26:59) พวกเขาไม่สามารถหาพยานสองปากที่ให้การตรงกันได้. อย่างไรก็ตาม ศาลไม่มีหน้าที่หา พยาน. และตามคำกล่าวของเอ. เทย์เลอร์ อินเนส ทนายความและนักเขียน “การพิจารณาคดีบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะคดีที่ถึงขั้นประหารชีวิตโดยไม่มีการแจ้งให้รู้ก่อนว่าเขาได้ทำผิดอะไร ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมจริง ๆ.”
ฝูงชนที่จับกุมพระเยซูนำพระองค์ไปยังบ้านของอดีตมหาปุโรหิตอันนาส และเขาได้เริ่มไต่สวนพระองค์. (ลูกา 22:54; โยฮัน 18:12, 13) อันนาสไม่สนใจกฎที่ว่าการพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตายจะต้องทำในเวลากลางวันไม่ใช่กลางคืน. ยิ่งกว่านั้น การพิจารณาไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงจะต้องทำในศาลอย่างเปิดเผย ไม่ใช่แอบทำอย่างลับ ๆ. เนื่องจากพระเยซูทราบว่าการสอบสวนของอันนาสไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พระองค์จึงตรัสว่า “เจ้าถามเราทำไม? จงถามคนเหล่านั้นที่ได้ฟังเราพูด. พวกเขารู้ว่าเราพูดอะไร.” (โยฮัน 18:21) อันนาสควรซักถามพยานไม่ใช่จำเลย. คำตรัสของพระเยซูอาจกระตุ้นผู้พิพากษาที่รักความเป็นธรรมให้เคารพหลักการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง แต่อันนาสไม่สนใจเรื่องความยุติธรรม.
หลังจากพระเยซูตรัสเช่นนั้น พระองค์ก็ถูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งตบพระพักตร์ แต่นั่นไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงเพียงอย่างเดียวที่พระองค์ต้องเผชิญในคืนนั้น. (ลูกา 22:63; โยฮัน 18:22) กฎหมายเกี่ยวกับเมืองคุ้มภัยในคัมภีร์ไบเบิลที่หนังสืออาฤธโมบท 35 ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกทำร้ายจนกว่าจะมีการตัดสินว่าเขามีความผิดจริง. พระเยซูก็สมควรได้รับการคุ้มครองเช่นนั้นด้วย.
จากนั้น ผู้จับกุมได้นำตัวพระเยซูไปที่บ้านของเคยาฟัสมหาปุโรหิต ซึ่งการพิจารณาคดีอย่างผิดกฎหมายในตอนกลางคืนได้ดำเนินต่อไป. (ลูกา 22:54; โยฮัน 18:24) ณ ที่นั่น พวกปุโรหิตได้ท้าทายหลักความยุติธรรมทั้งปวงโดยหา “พยานเท็จมาปรักปรำพระเยซูเพื่อจะได้ประหารพระองค์” แต่ก็ไม่มีพยานสองปากที่ให้การตรงกันเกี่ยวกับคำพูดของพระเยซู. (มัดธาย 26:59; มาระโก 14:56-59) ดังนั้น มหาปุโรหิตจึงพยายามทำให้พระเยซูพูดสิ่งที่จะมัดตัวพระองค์เอง. เขาถามพระองค์ว่า “เจ้าไม่โต้ตอบอะไรหรือ? เจ้าจะว่าอย่างไรที่คนเหล่านี้ให้การปรักปรำเจ้า?” (มาระโก 14:60) กลวิธีนี้ผิดหลักกฎหมายโดยสิ้นเชิง. อินเนส ทนายความซึ่งกล่าวถึงข้างต้นให้ข้อสังเกตว่า “การตั้งคำถามให้จำเลยตอบ และคอยจ้องจับผิดคำตอบของเขาเป็นการละเมิดหลักความยุติธรรม.”
ในที่สุด พวกเขาเจอข้อที่จะเอาผิดพระเยซูได้. เมื่อพวกเขาถามว่า “เจ้าเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้สมควรได้รับการสรรเสริญใช่หรือไม่?” พระเยซูตอบว่า “เราคือผู้นั้น และพวกเจ้าจะเห็นบุตรมนุษย์นั่งด้านขวาพระหัตถ์ของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์และจะเห็นท่านมาในเมฆบนท้องฟ้า.” พวกปุโรหิตถือว่าคำตอบของพระเยซูเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้า และ “พวกเขาทั้งหมดตัดสินให้พระองค์รับโทษถึงตาย.”—มาระโก 14:61-64b
พระบัญญัติของโมเซระบุไว้ว่าการพิจารณาคดีจะต้องทำอย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน. (พระบัญญัติ 16:18; ประวัตินางรูธ 4:1) แต่การพิจารณาคดีพระเยซูกลับทำอย่างลับ ๆ. ไม่มีใครพยายามหรือได้รับอนุญาตให้พูดแก้ต่างแทนพระเยซู. ไม่มีการตรวจสอบว่าพระเยซูมีคุณสมบัติเป็นพระมาซีฮาอย่างที่พระองค์ตรัสหรือไม่. พระเยซูไม่มีโอกาสหาพยานมาสู้คดี และไม่มีการให้คณะผู้พิพากษาลงมติตามระเบียบเพื่อตัดสินชี้ขาดว่าพระองค์เป็นผู้กระทำผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์.
ให้การต่อหน้าปีลาต
เนื่องจากดูเหมือนว่าชาวยิวไม่มีอำนาจตัดสินประหารชีวิตพระเยซู พวกเขาจึงนำตัวพระองค์ไปหาปอนติอุส ปีลาต ผู้ว่าราชการชาวโรมัน. คำถามแรกของปีลาตคือ: “พวกเจ้าฟ้องชายผู้นี้ด้วยข้อหาอะไร?” เนื่องจากพวกยิวรู้ว่าข้อกล่าวหาเท็จเรื่องการหมิ่นประมาทพระเจ้าที่พวกเขาตั้งขึ้นไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับปีลาต พวกเขาจึงพยายามจะให้ปีลาตตัดสินลงโทษพระเยซูโดยไม่ต้องสอบสวน. พวกเขาพูดว่า “ถ้าคนนี้ไม่ได้ทำผิด พวกเราคงไม่ส่งตัวเขามาให้ท่าน.” (โยฮัน 18:29, 30) ปีลาตไม่ยอมทำตามที่พวกยิวเรียกร้อง พวกเขาจึงต้องหาข้อกล่าวหาใหม่ซึ่งก็คือ: “พวกเราเห็นว่าคนนี้บ่อนทำลายชาติ ห้ามคนเสียภาษีแก่ซีซาร์ และบอกว่าตัวเขาเป็นพระคริสต์ กษัตริย์องค์หนึ่ง.” (ลูกา 23:2) และแล้วข้อหาหมิ่นประมาทพระเจ้าก็ถูกเปลี่ยนเป็นข้อหากบฏได้อย่างแยบยล.
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ห้ามคนเสียภาษี” นั้นไม่เป็นความจริงและผู้ที่กล่าวหาพระเยซูก็รู้ดี. พระเยซูถึงกับสอนให้เสียภาษีด้วยซ้ำ. (มัดธาย 22:15-22) สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่าพระเยซูตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ปีลาตมองออกทันทีว่าชายที่ยืนอยู่ต่อหน้าเขาไม่เป็นภัยต่อโรมอย่างแน่นอน. เขาประกาศว่า “เราไม่เห็นว่าเขามีความผิดอะไร.” (โยฮัน 18:38) ปีลาตยังยืนยันคำพูดนั้นตลอดการพิจารณาคดี.
ตอนแรกปีลาตพยายามหาทางปล่อยตัวพระเยซูโดยอาศัยธรรมเนียมการปล่อยตัวนักโทษในวันปัศคา. แต่สุดท้ายปีลาตกลับปล่อยตัวบารับบัสซึ่งถูกจับด้วยข้อหาปลุกระดมและฆ่าคน.—ลูกา 23:18, 19; โยฮัน 18:39, 40
หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการโรมันคนนี้พยายามจะปล่อยตัวพระเยซูอีกครั้งโดยใช้วิธีประนีประนอม. เขาสั่งให้เฆี่ยนพระเยซู แล้วเอาเสื้อคลุมสีม่วงกับมงกุฎหนามมาสวมให้พระองค์ จากนั้นก็ตีและเยาะเย้ยพระองค์อีก. เขาประกาศอีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูเป็นผู้บริสุทธิ์. การทำเช่นนี้ก็เหมือนกับปีลาตพูดว่า ‘ปุโรหิตทั้งหลาย แค่นี้พอใจพวกท่านหรือยัง?’ ปีลาตอาจหวังว่าเมื่อประชาชนเห็นภาพคนที่พวกเขาอยากแก้แค้นถูกทหารโรมันเฆี่ยนตีอย่างทารุณแล้ว พวกเขาก็น่าจะพอใจหรือเกิดความสงสารขึ้นมาบ้าง. (ลูกา 23:22) แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น.
“ปีลาตจึงยังคงหาทางปล่อย [พระเยซู] อยู่. แต่พวกยิวตะโกนว่า ‘ถ้าท่านปล่อยคนนี้ ท่านก็ไม่ใช่มิตรของซีซาร์. ทุกคนที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ก็พูดต่อต้านซีซาร์.’ ” (โยฮัน 19:12) ซีซาร์ในเวลานั้นคือทิเบริอุส. เขาเป็นจักรพรรดิที่ขึ้นชื่อว่าโหดเหี้ยมและมักจะประหารชีวิตใครก็ตามที่เขาคิดว่าไม่จงรักภักดี แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ไม่เว้น. ปีลาตขัดใจพวกยิวมามากพอแล้ว เขาจึงไม่อยากมีเรื่องขัดแย้งกับพวกยิวอีก ยังไม่ต้องพูดถึงข้อกล่าวหาเรื่องความไม่จงรักภักดี. คำพูดของฝูงชนเท่ากับเป็นการข่มขู่ซึ่งทำให้ปีลาตหวาดกลัว. เขายอมแพ้ต่อแรงกดดันและสั่งให้นำตัวพระเยซูผู้บริสุทธิ์ไปตรึงบนเสา.—โยฮัน 19:16
วิเคราะห์หลักฐาน
นักวิจารณ์ด้านกฎหมายหลายคนได้วิเคราะห์เรื่องราวการพิจารณาคดีพระเยซูที่บันทึกในหนังสือกิตติคุณสี่เล่ม. พวกเขาลงความเห็นว่าการพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นความยุติธรรมที่ลวงโลก. ทนายความคนหนึ่งเขียนว่า “การพิจารณาครั้งนั้นซึ่งเริ่มต้น สิ้นสุด และประกาศคำตัดสินอย่างเป็นทางการระหว่างเวลาเที่ยงคืนจนถึงช่วงเช้า นับว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับแบบแผนและกฎหมายของชาวฮีบรูรวมทั้งหลักความยุติธรรมอย่างสิ้นเชิง.” ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายคนหนึ่งกล่าวว่า “กระบวนการทั้งหมดเต็มไปด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงและมีความไม่ชอบมาพากลอย่างเห็นได้ชัดหลายประการ จนอาจถือได้ว่าผลการตัดสินนั้นไม่ต่างอะไรกับการใช้กฎหมายเพื่อฆ่าคน.”
พระเยซูเป็นผู้บริสุทธิ์. แต่พระองค์รู้ว่าพระองค์จำเป็นต้องสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยมนุษยชาติที่เชื่อฟังให้รอด. (มัดธาย 20:28) พระองค์ทรงรักความยุติธรรมมากจนถึงกับยอมถูกพิจารณาคดีอย่างไร้ความยุติธรรมที่สุดเท่าที่เคยมีมา. พระองค์ยอมเช่นนั้นก็เพื่อเห็นแก่คนบาปอย่างเรา. ขอเราอย่า ได้ลืมเรื่องนี้เป็นอันขาด.
[เชิงอรรถ]
a การที่คริสต์ศาสนจักรได้ใช้เรื่องราวการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูในหนังสือกิตติคุณเพื่อปลุกกระแสต่อต้านชาวยิวเป็นเรื่องที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง เพราะแนวคิดเช่นนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เขียนกิตติคุณซึ่งพวกเขาเองก็เป็นชาวยิว.
b การหมิ่นประมาทพระเจ้าหมายถึง การออกพระนามพระเจ้าโดยไม่ให้ความนับถือ หรืออ้างว่าตนมีอำนาจซึ่งเป็นของพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว. ผู้กล่าวหาพระเยซูไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าพระองค์ได้กระทำความผิดในข้อหาเหล่านี้.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
กฎหมายยิวในศตวรรษแรก ๆ
คำสอนสืบปากของชาวยิวถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรประมาณศตวรรษแรก ๆ ของสากลศักราช. อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าคำสอนเหล่านี้มีอายุเก่าแก่กว่านั้นอีก. ต่อไปนี้เป็นกฎบางข้อในคำสอนสืบปากของชาวยิว:
▪ ในคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตาย ศาลต้องฟังคำให้การของฝ่ายจำเลยก่อนเพื่อเขาจะมีโอกาสถูกปล่อยตัว
▪ ผู้พิพากษาต้องพยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยชีวิตจำเลย
▪ ผู้พิพากษาสามารถยกเหตุผลเพื่อช่วย จำเลยได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ปรักปรำ เขา
▪ ต้องมีการเตือนพยานให้สำนึกว่าคำให้การของเขามีผลต่อความเป็นความตายของผู้อื่น
▪ ในการสอบปากคำต้องแยกสอบพยานเป็นคน ๆ ไป
▪ คำให้การของพยานทุกปากต้องตรงกันในจุดที่สำคัญ เช่น วันที่ เวลา สถานที่เกิดเหตุ และอื่น ๆ
▪ คดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตายต้องพิจารณาในตอนกลางวันและสิ้นสุดในตอนกลางวัน
▪ จะไม่มีการพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตายในวันก่อนวันซะบาโตหรือในช่วงเทศกาล
▪ การพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตาย อาจเริ่มและสิ้นสุดลงในวันเดียวกันได้หากคำตัดสินเป็นประโยชน์ต่อจำเลย แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น การพิจารณาคดีจะดำเนินต่อไปในวันรุ่งขึ้น และจะประกาศคำตัดสินรวมทั้งประหารชีวิตจำเลยในวันนั้น
▪ ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตายต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 23 คน
▪ ผู้พิพากษาจะออกเสียงลงมติกันทีละคนว่าควรตัดสินให้ปล่อยตัวหรือลงโทษ โดยเริ่มจากผู้พิพากษาที่อายุน้อยที่สุด. อาลักษณ์จะบันทึกคำตัดสินของผู้พิพากษาทั้งฝ่ายที่เห็นว่าควรปล่อยตัวและฝ่ายที่เห็นว่าควรลงโทษ
▪ จำเลยอาจถูกปล่อยตัวได้แม้ผู้พิพากษาฝ่ายที่เห็นควรให้ปล่อยตัวจะมีเสียงมากกว่าเพียงหนึ่งเสียง แต่ในกรณีที่ตัดสินลงโทษจะต้องมีเสียงข้างมากเกินสองเสียงขึ้นไป. ถ้าเสียงข้างมากมีเสียงเดียวต้องหาผู้พิพากษามาเพิ่มอีกสองคน และจะทำเช่นนี้จนกว่าจะตัดสินคดีได้
▪ คำตัดสินว่ามีความผิดโดยไม่มีผู้พิพากษาแม้แต่คนเดียวคัดค้านถือว่าเป็นโมฆะ. คำตัดสินที่เป็นเอกฉันท์ถือว่า “ส่อเจตนาสมรู้ร่วมคิด”
การกระทำที่ขัดต่อกฎหมายในการพิจารณาคดีพระเยซู
▪ ศาลไม่รับฟังคำแถลงหรือคำให้การของพยานเพื่อจำเลยจะมีโอกาสถูกปล่อยตัว
▪ ไม่มีผู้พิพากษาคนใดพยายามปกป้องพระเยซู พวกเขาเป็นศัตรูของพระองค์
▪ เหล่าปุโรหิตพยายามหาพยานเท็จมาปรักปรำเพื่อให้พระเยซูถูกตัดสินลงโทษถึงตาย
▪ มีการพิจารณาคดีตอนกลางคืนและทำอย่างลับ ๆ
▪ การพิจารณาคดีเริ่มและสิ้นสุดภายในวันเดียวและเป็นวันก่อนเทศกาล
▪ ไม่มีการยื่นคำฟ้องหรือแจ้งข้อกล่าวหาก่อนการจับกุมพระเยซู
▪ ข้อที่พระเยซูอ้างว่าเป็นพระมาซีฮาซึ่งทำให้ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทพระเจ้า” ไม่ได้รับการตรวจสอบ
▪ มีการเปลี่ยนข้อกล่าวหาเมื่อคดีมาถึงมือปีลาต
▪ ข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นความเท็จ
▪ ปีลาตไม่พบว่าพระเยซูมีความผิดแต่ก็ยังสั่งให้ประหารชีวิตพระองค์
[กรอบหน้า 22]
พยานต้องรับผิดชอบต่อการตายของจำเลย
ก่อนที่พยานจะให้การในคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตาย ศาลของชาวยิวจะเตือนเขาให้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตดังนี้:
“เจ้าอาจตั้งใจว่าจะให้การเป็นพยานโดยอาศัยการคาดเดา ข่าวลือ หรือสิ่งที่พยานคนหนึ่งได้ยินมาจากอีกคนหนึ่ง หรือเจ้าอาจคิดว่า ‘เราก็ได้ยินมาจากคนที่เชื่อถือได้.’ หรือเจ้าอาจไม่รู้ว่าในขั้นสุดท้ายเราจะซักถามและตรวจสอบคำให้การของเจ้าโดยใช้วิธีทดสอบที่เหมาะสม. เจ้าควรรู้ไว้ว่ากฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตาย. ในคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ผู้กระทำผิดสามารถจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแล้วคดีนั้นก็จะสิ้นสุดลง. ในคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงตาย โลหิต [ของจำเลย] และโลหิตของลูกหลานทั้งสิ้นของเขา [ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดโดยไม่เป็นธรรม] ที่จะเกิดมาในวันข้างหน้าจะตกอยู่กับเขา [ผู้ที่เป็นพยานเท็จ] ไปตลอด.”—ทัลมุดของบาบิโลน, สภาซันเฮดริน 37a
ถ้าจำเลยถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง พยานต้องเป็นคนลงมือประหารผู้กระทำผิดนั้น.—เลวีติโก 24:14; พระบัญญัติ 17:6, 7