ความจริงมีค่าเพียงไรสำหรับคุณ?
“เจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.”—โยฮัน 8:32, ล.ม.
1. ปีลาตใช้คำ “ความจริง” อย่างที่เห็นได้ชัดอย่างไรว่าต่างกับคำความจริงที่พระเยซูทรงใช้?
“ความจริงคืออะไร?” เมื่อปีลาตถามอย่างนี้ ความสนใจของเขาต่อความจริงดูเหมือนว่าเป็นเพียงความสนใจในความหมายโดยทั่วไปของคำนี้. ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูเพิ่งตรัสว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37, 38, ล.ม.) ไม่เหมือนกับปีลาต พระเยซูตรัสถึงความจริงจากพระเจ้า.
เจตคติของโลกต่อความจริง
2. คำตรัสอะไรของพระเยซูชี้ถึงคุณค่าของความจริง?
2 เปาโลกล่าวว่า “ที่เชื่อนั้นไม่ใช่ทุกคน.” (2 เธซะโลนิเก 3:2) อาจกล่าวได้ในทำนองเดียวกันว่าไม่ใช่ทุกคนมีความจริง. แม้แต่เมื่อมีโอกาสทราบความจริงซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก หลายคนเมินเฉยต่อความจริงโดยเจตนา. ถึงกระนั้น ความจริงเป็นสิ่งล้ำค่าอย่างแท้จริง! พระเยซูตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.”—โยฮัน 8:32, ล.ม.
3. เราควรเอาใจใส่คำเตือนอะไรเกี่ยวกับคำสอนหลอกลวง?
3 อัครสาวกเปาโลกล่าวว่าความจริงนั้นไม่อาจหาได้จากปรัชญาและจารีตประเพณีของมนุษย์. (โกโลซาย 2:8) ที่จริง คำสอนของมนุษย์เช่นนั้นเป็นสิ่งที่ลวงให้หลง. เปาโลเตือนคริสเตียนในเมืองเอเฟโซว่า ถ้าพวกเขาเชื่อในปรัชญาและจารีตประเพณีของมนุษย์ พวกเขาก็เป็นเหมือนทารกฝ่ายวิญญาณซึ่ง “ถูกซัดไปซัดมาเหมือนโดนคลื่น . . . โดยลมแห่งคำสอนทุกอย่างที่อาศัยเล่ห์กลของมนุษย์ โดยใช้ความฉลาดแกมโกงในการคิดหาเรื่องเท็จ.” (เอเฟโซ 4:14, ล.ม.) ในทุกวันนี้ “เล่ห์กลของมนุษย์” ได้รับการส่งเสริมโดยการโฆษณาชวนเชื่อของพวกที่ต่อต้านความจริงจากพระเจ้า. การโฆษณาชวนเชื่อเช่นนั้นบิดเบือนความจริงให้กลายเป็นความเท็จและส่งเสริมคำโกหกว่าเป็นความจริง ด้วยวิธีที่ฉลาดแกมโกง. เพื่อจะพบความจริงในขณะที่ต้องเผชิญความกดดันอันแฝงเร้น เราต้องขยันค้นคว้าพระคัมภีร์.
คริสเตียนและโลก
4. ความจริงมีอยู่พร้อมสำหรับใคร และมีข้อเรียกร้องอะไรสำหรับผู้ที่รับเอาความจริงนั้น?
4 พระเยซูคริสต์ตรัสถึงผู้ที่ได้มาเป็นสาวกของพระองค์ในคำอธิษฐานต่อพระยะโฮวาดังนี้: “ขอทรงทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ด้วยความจริง; พระคำของพระองค์เป็นความจริง.” (โยฮัน 17:17, ล.ม.) คนเหล่านั้นจะถูกทำให้บริสุทธิ์ หรือถูกแยกไว้ต่างหาก สำหรับจุดประสงค์ในการรับใช้พระยะโฮวาและการประกาศให้ผู้คนรู้จักพระนามและราชอาณาจักรของพระองค์. (มัดธาย 6:9, 10; 24:14) แม้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมี แต่ความจริงของพระยะโฮวามีอยู่พร้อมในฐานะของประทานอันไม่ต้องเสียค่าใด ๆ สำหรับทุกคนที่แสวงหา ไม่ว่าจะมีสัญชาติ, เชื้อชาติ, หรือภูมิหลังทางวัฒนธรรมเช่นใด. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.”—กิจการ 10:34, 35.
5. เหตุใดคริสเตียนจึงถูกข่มเหงอยู่บ่อย ๆ?
5 คริสเตียนแบ่งปันความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้อื่น แต่พวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับในทุกแห่ง. พระเยซูทรงเตือนว่า “ผู้คนจะมอบเจ้าทั้งหลายให้ทนทุกข์ลำบากและจะฆ่าเจ้าเสีย และเจ้าจะตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังจากทุกชาติเพราะนามของเรา.” (มัดธาย 24:9, ล.ม.) เมื่อปี 1817 นักบวชชาวไอริช จอห์น อาร์. คอตเทอร์ เขียนให้ความเห็นเกี่ยวกับพระคัมภีร์ข้อนี้ว่า “ความเพียรพยายามของพวกเขา [คริสเตียน] ที่จะปฏิรูปชีวิตของมนุษยชาติด้วยการประกาศไม่ได้ทำให้ผู้คนรู้สึกหยั่งรู้ค่าแม้แต่น้อย และอันที่จริง ทำให้พวกเขาเกลียดและข่มเหงเหล่าสาวกที่เปิดโปงความชั่วร้ายของพวกเขา.” ผู้ข่มเหงเหล่านั้น “ไม่ได้รักความจริงเพื่อจะรอดได้.” ด้วยเหตุผลนี้เอง “พระเจ้าจึงทรงปล่อยสิ่งที่ไม่ถูกนั้นให้มาทำกิจในตัวเขา, ให้เขาเชื่อความเท็จ, และให้เขาทุกคนที่ไม่เชื่อความจริงแต่ยินดีในการอธรรมได้ถูกพิพากษาสิ้นทุกคน.”—2 เธซะโลนิเก 2:10-12.
6. คริสเตียนไม่ควรเพาะความปรารถนาในสิ่งใด?
6 อัครสาวกโยฮันเตือนสติคริสเตียนซึ่งมีชีวิตอยู่ในโลกที่เป็นปฏิปักษ์นี้ว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งต่าง ๆ ในโลก . . . . สารพัดสิ่งที่มีอยู่ในโลก—คือความปรารถนาของเนื้อหนัง, ความปรารถนาของตา, และการอวดอ้างปัจจัยการดำรงชีวิตของตน—ไม่ได้เกิดมาจากพระบิดา แต่เกิดมาจากโลก.” (1 โยฮัน 2:15, 16, ล.ม.) โดยกล่าวถึง “สารพัดสิ่ง” โยฮันไม่ได้เว้นสิ่งหนึ่งสิ่งใด. ด้วยเหตุนี้ เราต้องไม่เพาะความปรารถนาในสิ่งใดก็ตาม ที่โลกนี้เสนอให้ซึ่งสามารถทำให้เราเขวไปจากความจริง. การเอาใจใส่คำแนะนำของโยฮันจะก่อผลกระทบที่มีพลังต่อชีวิตเรา. โดยวิธีใด?
7. ความรู้เกี่ยวกับความจริงชักนำผู้มีหัวใจสุจริตอย่างไร?
7 ระหว่างปี 2001 พยานพระยะโฮวาทั่วโลกนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านสี่ล้านห้าแสนกว่ารายในแต่ละเดือน สอนเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มให้ทราบข้อเรียกร้องของพระเจ้าสำหรับชีวิต. ผลคือ มี 263,431 คนรับบัพติสมา. ความสว่างแห่งความจริงกลายเป็นสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับสาวกใหม่เหล่านี้ และพวกเขาปฏิเสธการคบหาสมาคมที่ไม่ดีและแนวทางที่ผิดศีลธรรมและหลู่เกียรติพระเจ้าซึ่งมีแพร่หลายในโลกนี้. นับตั้งแต่รับบัพติสมา พวกเขาได้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่พระยะโฮวาทรงวางไว้สำหรับคริสเตียนทุกคนต่อไป. (เอเฟโซ 5:5) ความจริงเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับคุณถึงขนาดนั้นไหม?
พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยพวกเรา
8. พระยะโฮวาทรงตอบรับการอุทิศตัวของเราอย่างไร และเหตุใดจึงนับว่าฉลาดสุขุมที่จะ ‘แสวงหาราชอาณาจักรก่อน’?
8 แม้เราไม่สมบูรณ์ พระยะโฮวาทรงเมตตายอมรับการอุทิศตัวของเรา ราวกับทรงน้อมพระกายลงมา เพื่อชักนำเราให้เข้าไปหาพระองค์. โดยวิธีนั้น พระองค์ทรงสอนเราให้ยกระดับเป้าหมายและความปรารถนาของเราให้สูงขึ้น. (บทเพลงสรรเสริญ 113:6-8) ขณะเดียวกัน พระยะโฮวาทรงอนุญาตเราให้มีสัมพันธภาพเป็นส่วนตัวกับพระองค์ และพระองค์ทรงสัญญาว่าจะดูแลเราหากเรา “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป.” หากเราทำอย่างนี้และป้องกันรักษาตัวเองทางฝ่ายวิญญาณ พระองค์ทรงสัญญาว่า “สิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.
9. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” คือใคร และโดยใช้ชนจำพวก “ทาส” นี้ พระยะโฮวาทรงดูแลเราอย่างไร?
9 พระเยซูคริสต์ทรงเลือกอัครสาวก 12 คนและทรงวางรากฐานไว้สำหรับประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า.” (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.; วิวรณ์ 21:9, 14) ภายหลัง ประชาคมนี้ได้รับการพรรณนาว่าเป็น “ประชาคมของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ซึ่งเป็นหลัก และรากแห่งความจริง.” (1 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) พระเยซูทรงระบุว่าสมาชิกของประชาคมนี้เป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และเป็น “คนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ ที่สุขุม.” พระเยซูตรัสว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์กลุ่มนี้จะรับผิดชอบในการให้ ‘อาหารในเวลาอันเหมาะ’ แก่คริสเตียน. (มัดธาย 24:3, 45-47, ล.ม.; ลูกา 12:42, ล.ม.) หากไม่มีอาหาร เราจะอดอยากถึงตาย. เช่นเดียวกัน หากไม่ได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณ เราจะอ่อนแอลงและตายฝ่ายวิญญาณ. ด้วยเหตุนั้น การที่มี “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เป็นข้อพิสูจน์อีกประการหนึ่งว่าพระยะโฮวาทรงดูแลพวกเรา. ขอให้เราหยั่งรู้ค่าเสมอต่อการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณอันมีค่ายิ่งซึ่งทรงจัดให้เราทางชนจำพวก “ทาส” นั้น.—มัดธาย 5:3.
10. เหตุใดจึงสำคัญสำหรับเราที่จะเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ เป็นประจำ?
10 การรับอาหารฝ่ายวิญญาณหมายรวมถึงการศึกษาส่วนตัว. นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการคบหากับคริสเตียนคนอื่น ๆ และการเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของประชาคม. คุณจำได้อย่างแม่นยำไหมว่าคุณได้รับประทานอะไรเมื่อหกเดือนหรือหกสัปดาห์ที่แล้ว? คุณคงจำไม่ได้. ถึงกระนั้น สิ่งใดก็ตามที่คุณรับประทานเข้าไปย่อมให้การบำรุงเลี้ยงที่จำเป็นเพื่อคุณจะมีชีวิตอยู่ได้. และตั้งแต่นั้นมา คุณคงได้รับประทานอาหารคล้าย ๆ กันนั้นอีกในบางครั้ง. เป็นเช่นนั้นด้วยกับอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งมีให้ ณ การประชุมคริสเตียนของเรา. เราอาจจำรายละเอียดทุกอย่างที่เราได้ยินที่การประชุมไม่ได้. และปกติแล้วจะมีการเสนอข้อมูลคล้าย ๆ กันนั้นมากกว่าหนึ่งครั้ง. ถึงกระนั้น นั่นคืออาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเราจะมีสุขภาพที่ดี. การประชุมของเราให้การบำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดีเสมอทางฝ่ายวิญญาณ และจัดให้ในเวลาอันเหมาะ.
11. เรามีพันธะหน้าที่อะไรเมื่อเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน?
11 การเข้าร่วมประชุมคริสเตียนยังทำให้เรามีหน้าที่รับผิดชอบด้วย. คริสเตียนได้รับการเตือนสติให้ “ชูใจซึ่งกันและกัน” เร้าใจเพื่อนร่วมประชาคมให้เกิด “ความรักและการงานที่ดี.” การเตรียมตัว, การเข้าร่วม, และการมีส่วนออกความคิดเห็นในการประชุมคริสเตียนทุกรายการช่วยเสริมความเชื่อของเราแต่ละคนและให้กำลังใจผู้อื่น. (เฮ็บราย 10:23-25, ล.ม.) เหมือนกับเด็กเล็กที่ชอบเลือกรับประทานอาหารเพียงบางอย่าง บางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการหนุนใจอย่างสม่ำเสมอให้รับการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณ. (เอเฟโซ 4:13) นับเป็นความรักที่จะหนุนกำลังใจผู้อื่นเมื่อจำเป็น เพื่อคนเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาจนเป็นคริสเตียนที่อาวุโส ซึ่งอัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับพวกเขาว่า “อาหารแข็งเป็นของผู้อาวุโส คือผู้ซึ่งด้วยการใช้ ได้ฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.”—เฮ็บราย 5:14, ล.ม.
การดูแลตัวเราเองทางฝ่ายวิญญาณ
12. ใครมีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดเพื่อทำให้เราตั้งมั่นอยู่ในความจริง? จงอธิบาย.
12 คู่สมรสหรือบิดามารดาสามารถหนุนกำลังใจเราได้ในทางของความจริง. เช่นเดียวกัน ผู้ปกครองประชาคมสามารถบำรุงเลี้ยงเราในฐานะส่วนหนึ่งของฝูงแกะซึ่งอยู่ในความดูแลของเขา. (กิจการ 20:28) แต่ใครมีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดเพื่อที่เราจะยืนหยัดอยู่ในทางแห่งชีวิตซึ่งอาศัยความจริงเป็นหลัก? อันที่จริง หน้าที่รับผิดชอบตกอยู่กับพวกเราแต่ละคน. และนั่นเป็นความจริงทั้งในสภาพปกติและในยามลำบาก. ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ดังต่อไปนี้.
13, 14. ดังที่เห็นได้จากประสบการณ์ของลูกแกะตัวหนึ่ง เราจะได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นทางฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร?
13 ที่สกอตแลนด์ แกะรุ่นฝูงหนึ่งกำลังเล็มหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าเมื่อแกะตัวหนึ่งพลัดหลงไปที่ข้างโคกและตกลงไปค้างอยู่ที่ไหล่เขาข้างล่าง. มันไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ตกใจกลัวและไม่สามารถปีนกลับขึ้นมาได้. ดังนั้น มันเริ่มร้องโหยหวน. แม่ของมันได้ยินเสียงลูกและเริ่มร้องด้วย จนกระทั่งคนเลี้ยงแกะมาช่วยแกะน้อยตัวนั้นขึ้นมา.
14 ขอให้สังเกตลำดับของเหตุการณ์. ลูกแกะตัวนั้นร้องขอความช่วยเหลือ, แม่แกะช่วยเสริมเสียงร้องของมันให้ดังขึ้น, และคนเลี้ยงแกะที่ตื่นตัวรีบมาช่วยเหลือทันที. หากลูกแกะกับแม่ของมันร้องขอความช่วยเหลือทันทีที่เห็นว่ามีอันตราย เราก็ควรทำอย่างเดียวกันมิใช่หรือเมื่อเราล้มพลาดทางฝ่ายวิญญาณหรือเผชิญอันตรายที่ไม่คาดหมายจากโลกของซาตาน? (ยาโกโบ 5:14, 15; 1 เปโตร 5:8) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราควรทำอย่างนั้นหากเราขาดประสบการณ์ ไม่ว่าจะเพราะเรายังเด็กหรือค่อนข้างใหม่ในความจริง.
การปฏิบัติตามคำชี้แนะจากพระเจ้านำมาซึ่งความสุข
15. สตรีผู้หนึ่งรู้สึกอย่างไรเมื่อเธอเริ่มคบหากับประชาคมคริสเตียน?
15 ขอให้พิจารณาคุณค่าของความเข้าใจในคัมภีร์ไบเบิลและสันติสุขแห่งจิตใจซึ่งความเข้าใจนั้นก่อให้เกิดขึ้นกับผู้ที่รับใช้พระเจ้าแห่งความจริง. สตรีอายุ 70 ปีคนหนึ่งซึ่งสมทบกับคริสตจักรแห่งอังกฤษมาชั่วชีวิตตกลงจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวกับพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. ไม่นาน เธอก็เรียนรู้ว่าพระนามของพระเจ้าคือยะโฮวาและร่วมกล่าวคำว่า “อาเมน” ตอบรับคำอธิษฐานซึ่งทูลด้วยความรู้สึกจากใจ ณ การประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักร. เธอกล่าวอย่างที่เต็มด้วยความรู้สึกว่า “แทนที่จะให้ภาพว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลเหลือเกินจากพวกเราซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ พวกคุณอธิษฐานราวกับว่าได้เชิญพระองค์ให้มาอยู่ในท่ามกลางพวกเราเหมือนกับเป็นเพื่อนที่รักคนหนึ่ง. นั่นเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยสัมผัสมาก่อน.” ผู้สนใจที่รักคนนี้คงจะไม่มีวันลืมความประทับใจแรกที่ความจริงก่อผลต่อเธอ. เช่นเดียวกัน ขอเราอย่าลืมว่าความจริงมีค่าต่อเราเพียงไรเมื่อเรารับเอาความจริงเป็นครั้งแรก.
16. (ก) อาจเกิดอะไรขึ้นหากเราจัดให้การหาเงินเป็นเป้าหมายหลัก? (ข) เราจะพบความสุขแท้ได้โดยวิธีใด?
16 หลายคนเชื่อว่าหากเขามีเงินมากขึ้น เขาจะมีความสุขมากขึ้น. อย่างไรก็ตาม หากเราจัดให้การหาเงินเป็นเป้าหมายหลักในชีวิต เราอาจ “ตรอมตรมด้วยความทุกข์.” (1 ติโมเธียว 6:10, ฉบับแปลใหม่) ขอให้พิจารณาวิธีที่หลายคนซื้อสลากกินแบ่ง, ใช้เงินในบ่อนการพนัน, หรือเก็งกำไรอย่างไม่รอบคอบในตลาดหุ้น โดยฝันเฟื่องว่าจะได้เงินก้อนโต. มีน้อยคนจริง ๆ ที่ได้โชคลาภอย่างที่หวัง. และบ่อยครั้งแม้แต่คนที่ได้ก็พบว่าความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ได้ทำให้มีความสุข. ตรงกันข้าม ความสุขที่ยั่งยืนมาจากการทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา ทำงานกับประชาคมคริสเตียนโดยอาศัยการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาและความช่วยเหลือจากเหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; 84:4, 5; 89:15) เมื่อเราทำอย่างนี้ เราอาจประสบกับพระพรที่ไม่คาดคิด. คุณถือว่าความจริงมีค่ามากพอที่จะนำพระพรเช่นนั้นมาสู่ชีวิตของคุณไหม?
17. การที่เปโตรพักอยู่กับซีโมนช่างฟอกหนังเผยอะไรเกี่ยวกับเจตคติของอัครสาวกผู้นี้?
17 ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของอัครสาวกเปโตร. ในปีสากลศักราช 36 ท่านเดินทางในฐานะมิชชันนารีไปยังที่ราบชาโรน. ท่านแวะที่เมืองลิดดา ซึ่งที่นั่นท่านได้รักษาอายเนอาซึ่งเป็นอัมพาต และหลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปที่เมืองท่ายบเป. ที่นั่น ท่านปลุกโดระกาให้เป็นขึ้นจากตาย. กิจการ 9:43 บอกเราว่า “ฝ่ายเปโตรได้อาศัยอยู่ในเมืองยบเปหลายวัน, อยู่กับคนหนึ่งชื่อซีโมนเป็นช่างฟอกหนัง.” ข้อมูลอ้างอิงนี้ซึ่งกล่าวอย่างผ่าน ๆ เผยให้เห็นว่าเปโตรปราศจากอคติขณะที่ท่านรับใช้ประชาชนในเมืองนั้น. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล เฟรเดอริก ดับเบิลยู. ฟาร์ราร์ เขียนดังนี้: “ไม่มีทางที่ผู้ถือปฏิบัติอย่างเข้มงวดและไม่ผ่อนปรนตามกฎหมายสืบปาก [ของโมเซ] จะถูกชักชวนให้พักอาศัยที่บ้านของช่างฟอกหนัง. การสัมผัสกับหนังสัตว์และซากสัตว์หลายชนิดซึ่งเป็นเรื่องที่คนอาชีพนี้จำเป็นต้องทำในแต่ละวัน รวมทั้งวัสดุต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ ทำให้อาชีพนี้เป็นมลทินและน่ารังเกียจในสายตาของผู้ที่ยึดมั่นในพระบัญญัติอย่างเข้มงวด.” ตามที่ฟาร์ราร์ได้กล่าวไว้ แม้แต่หาก ‘บ้านริมฝั่งทะเล’ ของซีโมนไม่ได้อยู่ติดกับโรงฟอกหนัง ซีโมนก็ยังคงมี ‘อาชีพที่ถูกมองด้วยความรังเกียจ และด้วยเหตุนี้จึงมักทำให้ทุกคนที่ทำอาชีพนี้ไม่ค่อยจะนับถือตัวเองนัก.’—กิจการ 10:6.
18, 19. (ก) เพราะเหตุใดเปโตรจึงรู้สึกงงงันด้วยนิมิตที่ท่านได้รับ? (ข) เปโตรได้รับพระพรอะไรอย่างไม่คาดหมาย?
18 เปโตรผู้ปราศจากอคติยอมรับความมีน้ำใจรับรองแขกของซีโมน และเปโตรได้รับการชี้นำจากพระเจ้าอย่างไม่คาดหมาย ณ ที่นั่น. ท่านเห็นนิมิตซึ่งท่านได้รับพระบัญชาให้รับประทานสัตว์ที่เป็นมลทินตามกฎหมายของชาวยิว. เปโตรยืนยันว่า “สิ่งซึ่งเป็นของห้ามหรือของมลทินข้าพเจ้าไม่เคยได้รับประทานเลย.” แต่มีการบอกท่านถึงสามครั้งว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ทรงชำระแล้ว อย่าว่าเป็นของห้าม.” ดังที่อาจคาดหมายได้ “เปโตรยังคิดสงสัยเรื่องศุภนิมิตซึ่งได้เห็นนั้นว่าหมายความอย่างไร.”—กิจการ 10:5-17; 11:7-10.
19 เปโตรไม่ทราบว่าวันก่อนหน้านั้นในเมืองซีซาเรีย (กายซาไรอา) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตร ชายต่างชาติที่ชื่อโกระเนเลียวก็ได้รับนิมิตด้วย. ทูตของพระยะโฮวาได้สั่งโกระเนเลียวให้ส่งคนรับใช้ไปหาเปโตรที่บ้านของซีโมนช่างฟอกหนัง. โกระเนเลียวส่งคนรับใช้ไปบ้านของซีโมน และเปโตรก็มาเมืองซีซาเรียด้วยกันกับคนรับใช้เหล่านั้น. ที่นั่น ท่านประกาศแก่โกระเนเลียวและญาติมิตรของเขา. ผลคือ พวกเขาได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้รับสุหนัตกลุ่มแรกที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในฐานะรัชทายาทแห่งราชอาณาจักร. แม้ว่าชายเหล่านั้นไม่ได้รับสุหนัต ทุกคนซึ่งได้ฟังคำของเปโตรได้รับบัพติสมา. เหตุการณ์นี้เปิดทางไว้สำหรับชนต่างชาติ ซึ่งถูกมองว่าเป็นมลทินในทัศนะของชาวยิว ให้เข้ามาเป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียน. (กิจการ 10:1-48; 11:18) ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ สำหรับเปโตร—ทั้งหมดนี้เพราะความจริงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับท่าน อีกทั้งช่วยนำท่านให้เอาใจใส่การชี้นำจากพระยะโฮวาและปฏิบัติตามด้วยความเชื่อ!
20. เราได้รับการช่วยเหลือเช่นไรจากพระเจ้าเมื่อเราจัดให้ความจริงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิต?
20 เปาโลกระตุ้นเตือนว่า “โดยพูดความจริง ด้วยความรัก ให้เราเติบโตขึ้นในทุกสิ่งในพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะ คือพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:15, ล.ม.) ถูกแล้ว ความจริงจะนำความสุขที่ไม่มีอะไรเปรียบได้มาให้เราในเวลานี้ หากเราจัดให้ความจริงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตและยอมให้พระยะโฮวาชี้นำก้าวเดินของเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. พึงจำไว้ด้วยว่าเราได้รับการสนับสนุนจากเหล่าทูตสวรรค์บริสุทธิ์ในกิจกรรมเผยแพร่กิตติคุณ. (วิวรณ์ 14:6, 7; 22:6) ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราได้รับการหนุนหลังเช่นนั้นในงานที่พระยะโฮวาได้ทรงมอบหมายให้เราทำ! การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจะนำเราให้สรรเสริญพระยะโฮวา พระเจ้าแห่งความจริง ชั่วนิจนิรันดร์. มีสิ่งใดมีค่ายิ่งกว่านั้น?—โยฮัน 17:3.
เราได้เรียนรู้อะไร?
• เหตุใดหลายคนไม่ตอบรับความจริง?
• คริสเตียนควรมีทัศนะอย่างไรต่อสิ่งต่าง ๆ ในโลกของซาตาน?
• เราควรมีเจตคติเช่นไรต่อการประชุมต่าง ๆ และเพราะเหตุใด?
• เรามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรในการดูแลตัวเราเองทางฝ่ายวิญญาณ?
[แผนที่หน้า 18]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลใหญ่
ที่ราบชาโรน
ซีซาเรีย
ยบเป
ลิดดา
เยรูซาเลม
[รูปภาพ]
เปโตรปฏิบัติตามการชี้นำจากพระเจ้าและได้รับพระพรที่ไม่คาดหมาย
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 13]
พระเยซูทรงเป็นพยานถึงความจริง
[ภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับอาหารฝ่ายร่างกาย อาหารฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเราจะมีสุขภาพที่ดี