บท 7
“จงพินิจพิจารณาพระองค์ผู้ได้ทรงอดทน”
1-3. (ก) พระเยซูทรงรู้สึกปวดร้าวแสนสาหัสแค่ไหนในสวนเกทเซมาเน และอะไรเป็นสาเหตุ? (ข) จะกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับตัวอย่างความอดทนของพระเยซู และเกิดคำถามอะไรขึ้น?
ความกดดันรุนแรงยิ่งนัก. พระเยซูไม่เคยประสบความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจและทางอารมณ์เช่นนี้มาก่อนเลย. ตอนนั้นเป็นช่วงท้าย ๆ ของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลก. พระองค์เสด็จมาที่สวนเกทเซมาเนซึ่งเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยพร้อมกับเหล่าอัครสาวก. พระองค์มักจะพบปะกับพวกเขาที่นี่. อย่างไรก็ดี ในคืนนี้ พระองค์จำเป็นต้องอยู่ตามลำพังช่วงหนึ่ง. โดยปล่อยพวกอัครสาวกไว้ พระองค์เสด็จลึกเข้าไปในสวน แล้วทรงคุกเข่าลง เริ่มต้นอธิษฐาน. พระองค์ทรงอธิษฐานอย่างจริงจังและรู้สึกปวดร้าวจนพระเสโท (เหงื่อ) ของพระองค์เป็น “เหมือนโลหิตไหลหยดลงถึงดิน.”—ลูกา 22:39-44.
2 ทำไมพระเยซูทรงเป็นทุกข์ถึงเพียงนั้น? จริงอยู่ พระองค์ทรงทราบว่าในไม่ช้าพระองค์จะต้องเผชิญความทุกข์ทรมานทางกายแสนสาหัส แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่พระองค์ทรงเป็นทุกข์. พระองค์ทรงคำนึงถึงเรื่องที่สำคัญกว่า. พระองค์ทรงเป็นห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระนามของพระบิดาและสำนึกว่าอนาคตของครอบครัวมนุษย์ขึ้นอยู่กับการที่พระองค์รักษาความซื่อสัตย์. พระองค์ทรงทราบว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงไรที่พระองค์อดทน. หากพระองค์ล้มเหลว พระองค์จะนำคำติเตียนมากมายมาสู่พระนามของพระยะโฮวา. แต่พระเยซูมิได้ล้มเหลว. ต่อมาในวันนั้น ช่วงก่อนที่จะสูดลมหายใจเฮือกสุดท้าย พระองค์ผู้ทรงวางแบบอย่างอันดีเยี่ยมที่สุดในเรื่องความอดทนเท่าที่เคยมีบนแผ่นดินโลกทรงร้องออกมาอย่างผู้มีชัยชนะว่า “สำเร็จแล้ว.”—โยฮัน 19:30.
3 คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราให้ “พินิจพิจารณาพระองค์ [พระเยซู] ผู้ได้ทรงอดทน.” (เฮ็บราย 12:3, ล.ม.) ดังนั้น มีการยกคำถามสำคัญบางอย่างขึ้นมาที่ว่า พระเยซูทรงอดทนการทดลองอะไรบ้าง? อะไรทำให้พระองค์สามารถอดทนได้? เราจะติดตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร? แต่ก่อนที่เราจะตอบคำถามเหล่านี้ ขอให้เราพิจารณาดูว่าความอดทนเกี่ยวข้องกับอะไร.
ความอดทนคืออะไร?
4, 5. (ก) “ความอดทน” หมายความเช่นไร? (ข) เราอาจยกตัวอย่างเช่นไรที่แสดงว่าความอดทนเกี่ยวข้องไม่เพียงแค่การประสบความยากลำบากที่เลี่ยงไม่พ้น?
4 เป็นครั้งคราว เราทุกคนล้วน “ทนยากลำบาก . . . ด้วยการทดลองต่าง ๆ.” (1 เปโตร 1:6) ข้อเท็จจริงที่ว่าเราประสบการทดลองจะหมายความเสมอไปไหมว่าเราอดทนการทดลองนั้น? ไม่ใช่. คำนามภาษากรีกสำหรับ “ความอดทน” หมายถึง “ความสามารถที่จะยืนหยัดหรือไม่ยอมแพ้แม้เผชิญความยุ่งยาก.” ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายเกี่ยวกับความอดทนชนิดที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลอ้างถึงว่า “ความอดทนเป็นน้ำใจซึ่งสามารถทนรับสิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่วางมือง่าย ๆ แต่มีความหวังที่แรงกล้า . . . ความอดทนเป็นคุณสมบัติที่ทำให้คนเรายืนหยัดขณะที่เผชิญปัญหาต่อ ๆ ไป. ความอดทนเป็นคุณธรรมซึ่งสามารถเปลี่ยนการทดลองที่หนักหน่วงที่สุดให้กลายเป็นสง่าราศี เนื่องจากความอดทนทำให้มองเลยความเจ็บปวดไปและเห็นถึงเป้าหมายเบื้องหน้า.”
5 ดังนั้น การอดทนไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการประสบความยากลำบากที่เลี่ยงไม่พ้น. ตามความหมายในคัมภีร์ไบเบิล ความอดทนเกี่ยวข้องกับความมั่นคง การรักษาเจตคติที่ถูกต้องและทัศนะที่เต็มด้วยความหวังขณะเผชิญการทดลองต่าง ๆ. ขอพิจารณาตัวอย่างนี้: ชายสองคนถูกจำคุกในสภาพการณ์คล้ายกันแต่ด้วยสาเหตุที่ต่างกันทีเดียว. คนหนึ่งเป็นอาชญากรธรรมดาซึ่งยอมต้องโทษติดคุกอย่างเสียไม่ได้ด้วยใบหน้าเศร้าหมอง. อีกคนหนึ่งเป็นคริสเตียนแท้ซึ่งติดคุกเนื่องจากแนวทางที่ซื่อสัตย์ของเขา ยังมั่นคงอยู่และรักษาเจตคติในแง่บวกเพราะเขามองว่าสภาพการณ์ของตนเป็นโอกาสที่จะแสดงความเชื่อ. จะถือว่าอาชญากรเป็นตัวอย่างของความอดทนไม่ได้แน่ ๆ ขณะที่คริสเตียนผู้ภักดีเป็นตัวอย่างของคุณลักษณะที่ดีเลิศนี้.—ยาโกโบ 1:2-4.
6. เราปลูกฝังความอดทนโดยวิธีใด?
6 ความอดทนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเราจะได้รับความรอด. (มัดธาย 24:13) อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะสำคัญนี้ไม่ได้ติดตัวเรามาแต่กำเนิด. ความอดทนเป็นคุณลักษณะที่ต้องปลูกฝัง. โดยวิธีใด? โรม 5:3 กล่าวว่า “ความยากลำบากนั้นกระทำให้บังเกิดมีความอดทน.” ใช่แล้ว หากเราต้องการจริง ๆ ที่จะพัฒนาความอดทน เราจะไม่ถอยหนีจากการทดสอบความเชื่อทุกอย่างด้วยความหวาดกลัว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้องตั้งหน้าสู้กับการทดสอบดังกล่าว. เมื่อเราเผชิญการทดลองไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเล็กวันแล้ววันเล่าและเอาชนะได้ ผลที่เกิดขึ้นคือความอดทน. การทดลองแต่ละอย่างที่เราผ่านมาได้จะเสริมกำลังเราให้เผชิญการทดลองครั้งต่อไป. แน่นอน เราไม่ได้พัฒนาความอดทนด้วยตัวเราเอง. เรา “พึ่งอาศัยในกำลังซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้.” (1 เปโตร 4:11, ล.ม.) เพื่อช่วยเราให้ตั้งมั่นคงอยู่ต่อไป พระยะโฮวาได้ทรงให้การช่วยเหลืออย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นั่นคือตัวอย่างพระบุตรของพระองค์. ขอให้เราพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในประวัติอันไม่มีที่ติเกี่ยวกับความอดทนของพระเยซู.
การทดลองที่พระเยซูทรงอดทน
7, 8. พระเยซูทรงอดทนกับอะไรบ้างขณะที่ชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลกใกล้จะจบลง?
7 ขณะที่ชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลกใกล้จะจบลง พระเยซูทรงอดทนความโหดร้ายทารุณต่าง ๆ หลายอย่าง. นอกจากความเครียดทางจิตใจอย่างรุนแรงที่พระองค์ประสบในคืนสุดท้ายแล้ว ขอพิจารณาความรู้สึกผิดหวังที่พระองค์ต้องประสบและความอัปยศอดสูที่พระองค์ได้รับ. เพื่อนสนิทคนหนึ่งได้ทรยศต่อพระองค์, เพื่อน ๆ ที่ใกล้ชิดที่สุดพากันละทิ้งพระองค์, พระองค์ถูกพิจารณาคดีอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งระหว่างนั้นสมาชิกศาลสูงสุดทางศาสนาของประเทศได้เยาะเย้ย, ถ่มน้ำลายรด, และชกพระองค์. กระนั้น พระองค์ทรงอดทนสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดด้วยความสง่าผ่าเผยและความเข้มแข็งอย่างสงบ.—มัดธาย 26:46-49, 56, 59-68.
8 ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต พระเยซูทรงอดทนกับความทุกข์ทรมานทางกายอย่างมากมาย. พระองค์ถูกเฆี่ยน กล่าวกันว่าเป็นการเฆี่ยนอย่างรุนแรงด้วยวิธีที่ทำให้เกิด “รอยแผลเป็นแนวลึกและเลือดไหลโซม.” พระองค์ถูกตอกกับหลัก ถูกประหารในวิธีที่นำไปสู่ “ความตายอย่างช้า ๆ พร้อมกับความเจ็บปวดและทรมานที่สุด.” คิดดูสิว่าพระองค์คงต้องรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวสักเพียงไรขณะที่ตะปูใหญ่ตอกทะลุข้อพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ ตรึงพระองค์ติดกับหลัก. (โยฮัน 19:1, 16-18) ขอให้นึกถึงความเจ็บปวดแสนสาหัสที่เกิดขึ้นกับพระองค์ขณะที่หลักถูกตั้งตรงและน้ำหนักร่างกายของพระองค์ถ่วงลงจากตะปูนั้นและหลังของพระองค์ที่มีรอยแผลก็ครูดกับหลัก. และพระองค์ทรงอดทนความทุกข์ทรมานทางกายอย่างสาหัสเช่นนี้ในขณะเดียวกับที่แบกภาระทางจิตใจดังที่พรรณนาไว้ในตอนต้นของบทนี้.
9. มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการแบก “เสาทรมาน” ของเราและติดตามพระเยซู?
9 ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราอาจต้องอดทนกับอะไรบ้าง? พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดต้องการติดตามเรา ให้เขา . . . แบกเสาทรมานของตนแล้วติดตามเราเรื่อยไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) คำ “เสาทรมาน” ที่ใช้เชิงอุปมาในข้อนี้แสดงถึงความทุกข์ทรมาน, ความอับอาย, หรือกระทั่งความตาย. การติดตามพระคริสต์ไม่ใช่แนวทางที่ง่าย. มาตรฐานคริสเตียนของเราทำให้เราต่างออกไป. โลกนี้เกลียดชังเราเพราะเราไม่เป็นส่วนของโลก. (โยฮัน 15:18-20; 1 เปโตร 4:4) ถึงกระนั้น เราก็เต็มใจแบกเสาทรมานของเรา—ใช่แล้ว เราพร้อมที่จะทนทุกข์ กระทั่งตายด้วยซ้ำ แทนที่จะเลิกติดตามผู้เป็นแบบอย่างของเรา.—2 ติโมเธียว 3:12.
10-12. (ก) ทำไมความไม่สมบูรณ์ของคนเหล่านั้นที่อยู่รอบข้างจึงเป็นการทดสอบความอดทนสำหรับพระเยซู? (ข) สภาพการณ์ที่เป็นการทดลองอะไรบ้างที่พระเยซูได้ทรงอดทน?
10 ระหว่างงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูได้เผชิญการทดสอบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของคนเหล่านั้นที่อยู่รอบข้างพระองค์. จำไว้ว่าพระองค์เป็น “นายช่าง” ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้สร้างแผ่นดินโลกและชีวิตทั้งสิ้นบนโลก. (สุภาษิต 8:22-31) ดังนั้น พระเยซูทรงทราบว่าพระยะโฮวามีพระประสงค์เช่นไรต่อมนุษยชาติ; พวกเขาจะต้องสะท้อนคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์และเพลิดเพลินกับชีวิตที่มีสุขภาพสมบูรณ์. (เยเนซิศ 1:26-28) ขณะที่อยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงเห็นผลที่น่าเศร้าของบาปจากมุมมองที่ต่างออกไป—พระองค์เองเป็นมนุษย์ สามารถมีความรู้สึกและอารมณ์แบบมนุษย์. พระองค์คงต้องรู้สึกเจ็บปวดสักเพียงไรที่ได้รู้เห็นด้วยตัวเองว่ามนุษย์ได้เสื่อมไปจากความสมบูรณ์ในตอนแรกของอาดามกับฮาวามากขนาดไหน! ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงเผชิญการทดสอบความอดทน. พระองค์จะรู้สึกท้อแท้และหมดหวังไหม โดยมองมนุษย์ที่ผิดบาปว่าเป็นผู้ที่จะช่วยอะไรไม่ได้อีกแล้ว? ให้เรามาดูกัน.
11 การที่ชาวยิวไม่ตอบรับทำให้พระเยซูเป็นทุกข์ถึงกับทรงกันแสงอย่างเปิดเผย. พระองค์ปล่อยให้ความไม่แยแสของพวกเขาทำให้ใจแรงกล้าของพระองค์น้อยลงหรือทำให้พระองค์เลิกประกาศไหม? ตรงกันข้าม พระองค์ “ทรงสั่งสอนในบริเวณพระวิหารทุกวัน.” (ลูกา 19:41-44, 47, ฉบับแปลใหม่) พระองค์ “มีพระทัยเป็นทุกข์” เนื่องจากหัวใจที่แข็งกระด้างของพวกฟาริซายซึ่งเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าพระองค์จะรักษาชายคนหนึ่งในวันซะบาโตหรือไม่. พระองค์ทรงยอมให้ผู้ต่อต้านที่ถือว่าตัวเองชอบธรรมมาทำให้พระองค์ต้องกลัวไหม? ไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน! พระองค์ทรงยืนหยัดมั่นคงและรักษาชายคนนั้น—ตรงกลางธรรมศาลานั้นทีเดียว!—มาระโก 3:1-5.
12 มีสิ่งอื่นอีกที่คงต้องเป็นเรื่องหนักใจสำหรับพระเยซู นั่นคือข้ออ่อนแอของเหล่าสาวกที่ใกล้ชิดที่สุดของพระองค์. ดังที่เราได้เรียนในบท 3 พวกเขาแสดงความปรารถนาไม่ละลดที่จะได้ความเด่นดัง. (มัดธาย 20:20-24; ลูกา 9:46) พระเยซูทรงให้คำแนะนำพวกเขามากกว่าหนึ่งครั้งเกี่ยวกับความจำเป็นเรื่องความถ่อมใจ. (มัดธาย 18:1-6; 20:25-28) กระนั้น พวกเขาก็ช้าในการตอบรับ. คิดดูสิ ในคืนสุดท้ายที่พระองค์ทรงอยู่กับพวกเขา “มีการเถียงกัน” ว่าใครในพวกเขาเป็นใหญ่ที่สุด! (ลูกา 22:24) พระองค์ทรงหมดหวังในตัวพวกเขา โดยหาเหตุผลว่าพวกเขาเป็นคนที่หมดทางแก้ไขแล้วไหม? ไม่. โดยอดทนอยู่เสมอ พระองค์ยังคงมองในแง่ดีและมีความหวัง ทรงมองดูคุณลักษณะที่ดีในตัวเขาต่อไป. พระองค์ทรงทราบว่าพวกเขามีใจรักพระยะโฮวาและต้องการจริง ๆ ที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.—ลูกา 22:25-27.
13. เราอาจเผชิญการทดสอบอะไรคล้ายกับที่พระเยซูได้ทนเอา?
13 เราอาจเผชิญการทดสอบคล้ายกับที่พระเยซูได้ทนเอา. ตัวอย่างเช่น เราอาจเผชิญกับผู้คนที่ไม่ตอบรับหรือถึงกับต่อต้านข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. เราจะยอมให้การไม่ตอบรับเช่นนั้นทำให้เราหมดกำลังใจไหม หรือเราจะประกาศต่อไปด้วยใจแรงกล้า? (ติโต 2:14) เราอาจถูกทดสอบเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของพี่น้องคริสเตียน. คำพูดพล่อย ๆ หรือการกระทำที่ไม่ยั้งคิดอาจทำให้เรารู้สึกเจ็บใจ. (สุภาษิต 12:18) เราจะปล่อยให้ข้อบกพร่องของเพื่อนร่วมความเชื่อทำให้เราหมดหวังในตัวเขาไหม หรือเราจะทนกับข้อบกพร่องของเขาต่อไปและมองหาส่วนดีในตัวเขา?—โกโลซาย 3:13.
เหตุผลที่พระเยซูทรงอดทน
14. ปัจจัยสองอย่างอะไรได้ช่วยพระเยซูให้ยืนหยัดมั่นคง?
14 อะไรได้ช่วยพระเยซูให้ยืนหยัดและรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงทั้ง ๆ ที่พระองค์เผชิญการสบประมาท, ความผิดหวัง, และความทุกข์ทรมานทั้งมวล? มีปัจจัยสำคัญสองประการที่ค้ำจุนพระเยซู. ประการแรก พระองค์ทรงหมายพึ่งพระยะโฮวา โดยอ้อนวอน “พระเจ้าผู้ทรงประทานความเพียรอดทน.” (โรม 15:5, ล.ม.) ประการที่สอง พระเยซูทรงมองไปข้างหน้า จดจ้องดูว่าความอดทนของพระองค์จะนำไปสู่อะไร. ขอให้เราพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ทีละอย่าง.
15, 16. (ก) อะไรแสดงว่าพระเยซูไม่ได้พึ่งอาศัยกำลังของพระองค์เองเพื่อจะอดทน? (ข) พระเยซูมีความมั่นใจเช่นไรในพระบิดา และเพราะเหตุใด?
15 ถึงแม้เป็นพระบุตรที่สมบูรณ์ของพระเจ้า พระเยซูก็มิได้อาศัยกำลังของพระองค์เองที่จะอดทน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์หมายพึ่งพระบิดาของพระองค์ทางภาคสวรรค์และอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระคริสต์ได้ถวายคำวิงวอนและคำขอร้องด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหลถึงพระองค์ผู้ซึ่งสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตาย.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) สังเกตว่าพระเยซู “ได้ถวาย” ไม่เพียงคำขอร้องเท่านั้น แต่คำวิงวอนด้วย. “คำวิงวอน” พาดพิงถึงการอ้อนวอนอย่างจริงใจและจริงจังโดยเฉพาะ—เป็นการขอความช่วยเหลือ. การใช้คำวิงวอนในรูปพหูพจน์ตามภาษาเดิมบ่งชี้ว่าพระเยซูทรงอ้อนวอนพระยะโฮวามากกว่าหนึ่งครั้ง. ที่จริง ในสวนเกทเซมาเน พระเยซูทรงอธิษฐานอย่างจริงจังหลายครั้ง.—มัดธาย 26:36-44.
16 พระเยซูมีความมั่นใจเต็มที่ว่าพระยะโฮวาจะตอบคำวิงวอนของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงทราบว่าพระบิดาเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) ระหว่างช่วงที่ดำรงอยู่ก่อนมาเป็นมนุษย์ พระบุตรหัวปีได้เห็นวิธีที่พระบิดาตอบคำอธิษฐานของเหล่าผู้นมัสการที่ภักดี. ตัวอย่างเช่น พระบุตรได้เป็นประจักษ์พยานในสวรรค์ตอนที่พระยะโฮวาได้ส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งไปเพื่อตอบคำอธิษฐานด้วยน้ำใสใจจริงของผู้พยากรณ์ดานิเอล—แม้แต่ก่อนดานิเอลอธิษฐานเสร็จด้วยซ้ำ. (ดานิเอล 9:20, 21) ดังนั้น พระบิดาจะไม่ตอบคำอธิษฐานได้อย่างไรเมื่อพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์เผยความในใจของพระองค์ “ด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล”? พระยะโฮวาทรงตอบคำอ้อนวอนของพระบุตรแล้วส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาชูกำลังพระองค์เพื่อจะอดทนการทดลองที่หนักหน่วง.—ลูกา 22:43.
17. เพื่อจะอดทน ทำไมเราควรหมายพึ่งพระยะโฮวา และเราอาจทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด?
17 เพื่อจะอดทน เราต้องหมายพึ่งพระยะโฮวาเช่นกัน ซึ่งเป็นพระเจ้า “ผู้ทรงชูกำลัง.” (ฟิลิปปอย 4:13) หากพระบุตรผู้สมบูรณ์ของพระเจ้าทรงสำนึกถึงความจำเป็นที่จะอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เราก็ควรจะทำมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด! เช่นเดียวกับพระเยซู เราอาจต้องอ้อนวอนพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่า. (มัดธาย 7:7) ถึงแม้เราไม่คาดหมายว่าทูตสวรรค์จะมาหาเรา แต่เราก็มั่นใจได้ว่า พระเจ้าของเราองค์เปี่ยมด้วยความรักจะตอบคำร้องขอของคริสเตียนผู้ภักดีซึ่ง “วิงวอนอธิษฐานทั้งกลางวันกลางคืนไม่ขาด.” (1 ติโมเธียว 5:5, ฉบับแปลใหม่) ถึงแม้ว่าเราจะเผชิญการทดลองอะไรก็ตาม—ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ไม่ดี, ความตายของผู้เป็นที่รัก, หรือการข่มเหงจากผู้ต่อต้าน—พระยะโฮวาจะตอบคำอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าของเราเพื่อจะมีสติปัญญา, ความกล้าหาญ, และกำลังที่จะอดทนได้.—2 โกรินโธ 4:7-11; ยาโกโบ 1:5.
18. พระเยซูทรงมองเลยความทุกข์ไปยังสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าอย่างไร?
18 ปัจจัยประการที่สองที่ทำให้พระเยซูสามารถอดทนได้คือพระองค์ทรงมองเลยความทุกข์ไปยังสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับพระเยซูว่า “เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน.” (เฮ็บราย 12:2, ล.ม.) ตัวอย่างของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าความหวัง, ความยินดี, และความอดทนก่อผลร่วมกันอย่างไร. อาจสรุปได้ดังนี้: ความหวังนำไปสู่ความยินดี และความยินดีนำไปสู่ความอดทน. (โรม 15:13; โกโลซาย 1:11) พระเยซูมีอนาคตอันยอดเยี่ยมอยู่ข้างหน้า. พระองค์ทรงทราบว่าความซื่อสัตย์ของพระองค์จะช่วยพิสูจน์ความถูกต้องของสิทธิในการปกครองของพระบิดาและทำให้พระองค์สามารถไถ่ถอนครอบครัวมนุษย์จากบาปและความตาย. พระเยซูยังมีความหวังในการปกครองฐานะพระมหากษัตริย์และรับใช้ฐานะมหาปุโรหิต ที่จะนำพระพรอีกมากมายมาสู่มนุษย์ที่เชื่อฟังอีกด้วย. (มัดธาย 20:28; เฮ็บราย 7:23-26) โดยเพ่งเล็งอยู่ที่อนาคตและความหวังซึ่งอยู่ตรงหน้าพระองค์ พระเยซูประสบความยินดีสุดคณานับ แล้วความยินดีนั้นก็ช่วยพระองค์ให้อดทน.
19. เมื่อเผชิญการทดสอบความเชื่อ เราจะให้ความหวัง, ความยินดี, และความอดทนก่อผลร่วมกันเพื่อประโยชน์ของเราได้โดยวิธีใด?
19 เช่นเดียวกับพระเยซู เราต้องให้ความหวัง, ความยินดี, และความอดทนก่อผลร่วมกันเพื่อประโยชน์ของเรา. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “จงยินดีในความหวัง.” แล้วท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “จงอดทนในการยากลำบาก.” (โรม 12:12) คุณเผชิญการทดสอบความเชื่ออย่างรุนแรงในเวลานี้อยู่ไหม? ถ้าเช่นนั้น ก็ขอให้มองไปข้างหน้า. อย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่าความอดทนของคุณจะนำคำสรรเสริญมาสู่พระนามของพระยะโฮวา. จงรักษาภาพความหวังอันล้ำค่าเกี่ยวกับราชอาณาจักรให้คมชัด. จงวาดภาพตัวเองอยู่ในโลกใหม่ของพระเจ้าที่กำลังจะมาถึง และนึกภาพตัวคุณกำลังประสบพระพรในอุทยาน. การคาดล่วงหน้าถึงความสำเร็จเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่น่าพิศวงซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงสัญญาไว้—รวมทั้งการพิสูจน์ความถูกต้องของสิทธิในการปกครองของพระองค์, การขจัดความชั่วไปจากแผ่นดินโลก, และการกำจัดความเจ็บป่วยและความตาย—จะทำให้หัวใจของคุณเปี่ยมด้วยความยินดี และความยินดีนั้นก็จะช่วยคุณให้อดทนได้ไม่ว่าการทดลองอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณก็ตาม. เมื่อเทียบกับความสำเร็จเป็นจริงของความหวังเรื่องราชอาณาจักร ความทุกข์ใด ๆ ในระบบนี้นับว่า ‘เบาบางและอยู่แต่ประเดี๋ยวเดียว’ อย่างแท้จริง.—2 โกรินโธ 4:17.
“ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด”
20, 21. ในเรื่องความอดทน พระยะโฮวาทรงคาดหมายอะไรจากเรา และเราควรมีความตั้งใจเช่นไร?
20 พระเยซูทรงทราบว่าการเป็นสาวกของพระองค์จะเป็นแนวทางที่ท้าทายซึ่งต้องใช้ความอดทน. (โยฮัน 15:20) พระองค์พร้อมที่จะนำทาง โดยรู้อยู่ว่าตัวอย่างของพระองค์จะเสริมกำลังคนอื่น. (โยฮัน 16:33) จริงอยู่ พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่สมบูรณ์พร้อมในเรื่องความอดทน แต่เราอยู่ห่างไกลความสมบูรณ์. พระยะโฮวาทรงคาดหมายอะไรจากเรา? เปโตรอธิบายว่า “พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) ในวิธีที่พระองค์ทรงรับมือกับการทดลองต่าง ๆ พระเยซูทรงวาง “แบบอย่าง” ไว้ให้ลอกเลียนตาม.a ประวัติเกี่ยวกับความอดทนที่พระองค์ทรงสั่งสมไว้อาจเทียบได้กับ “ก้าวเท้า” หรือรอยเท้า. เราไม่สามารถดำเนินตามรอยพระบาทดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน แต่เราสามารถดำเนินตามได้ “อย่างใกล้ชิด.”
21 ดังนั้น ขอให้เราตั้งใจที่จะดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซูสุดความสามารถของเรา. ขออย่าลืมว่ายิ่งเราดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซูอย่างใกล้ชิดมากเท่าใด เราก็ยิ่งจะเตรียมพร้อมมากขึ้นเท่านั้นที่จะอดทน “จนถึงที่สุด”—อาจเป็นที่สุดของระบบเก่านี้หรือที่สุดของชีวิตเราในปัจจุบัน. เราไม่รู้ว่าอย่างไหนจะมาก่อน แต่ที่เรารู้แน่ ๆ คือ พระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จให้เราตลอดนิรันดรกาล ถ้าเราอดทน.—มัดธาย 24:13.
a คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “แบบอย่าง” หมายความตามตัวอักษรว่า “การเขียนข้างใต้.” อัครสาวกเปโตรเป็นผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคนเดียวเท่านั้นที่ใช้คำนี้ ซึ่งกล่าวกันว่าหมายถึง “‘ข้อความบนหัวกระดาษสำหรับคัดลอก’ ในแบบฝึกหัดของเด็ก เป็นแบบอย่างของการเขียนที่ครบถ้วนซึ่งเด็กต้องลอกเลียนให้ถูกต้องเท่าที่จะทำได้.”