บทยี่สิบสาม
เขาเรียนเรื่องการให้อภัยจากพระเยซู
1. ช่วงไหนอาจเป็นช่วงที่แย่ที่สุดในชีวิตของเปโตร?
เปโตรไม่มีวันลืมความรู้สึกที่แสนเจ็บปวดขณะสบตากับพระเยซู. สายตาที่พระองค์มองเปโตรบ่งบอกถึงความผิดหวังหรือตำหนิเขาไหม? เราไม่อาจรู้ได้ เพราะบันทึกที่ได้รับการดลใจกล่าวเพียงว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าก็หันมามองเปโตร.” (ลูกา 22:61) แต่แค่พระเยซูหันมามอง เปโตรก็รู้ตัวว่าได้ทำผิดร้ายแรงเพียงใด. เขาสำนึกว่าเพิ่งทำสิ่งที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งเขาเองเคยยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีวันทำ นั่นคือปฏิเสธนายผู้เป็นที่รักของเขา. นั่นเป็นช่วงเวลาที่เปโตรรู้สึกแย่มากและอาจเป็นช่วงที่แย่ที่สุดในชีวิตเขาก็ว่าได้.
2. เปโตรต้องเรียนอะไร และเพื่อเราจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เราต้องทำอะไร?
2 แต่สภาพการณ์ของเปโตรใช่ว่าจะสิ้นหวัง. เนื่องจากเปโตรมีความเชื่อที่เข้มแข็ง เขายังมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดและเรียนบทเรียนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งจากพระเยซูนั่นคือการให้อภัย. เราแต่ละคนต้องเรียนเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น ให้เราพิจารณาว่าเปโตรเรียนเรื่องนี้อย่างไร.
ผู้ที่ต้องเรียนรู้อีกมาก
3, 4. (ก) เปโตรถามอะไรพระเยซู และเขาคงคิดอย่างไร? (ข) พระเยซูแสดงอย่างไรว่าเปโตรได้รับอิทธิพลจากน้ำใจที่มีแพร่หลายในสมัยนั้น?
3 ประมาณหกเดือนก่อนหน้านี้ ณ เมืองคาเปอร์นาอุมบ้านเกิดของเปโตร เขามาหาพระเยซูและถามว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องอภัยให้พี่น้องที่ทำผิดต่อข้าพเจ้ากี่ครั้ง? ถึงเจ็ดครั้งหรือ?” เปโตรคงคิดว่าเขาใจกว้างแล้ว เนื่องจากหัวหน้าศาสนาในสมัยนั้นสอนว่าควรให้อภัยแค่สามครั้งเท่านั้น! แต่พระเยซูตอบว่า “มิใช่ถึงเจ็ดครั้ง แต่ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง.”—มัด. 18:21, 22
4 พระเยซูกำลังแนะนำเปโตรให้เก็บบันทึกความผิดที่คนอื่นทำต่อเขาไหม? ไม่ การที่พระเยซูแก้ไขเลข 7 ที่เปโตรกล่าวให้เป็น 77 พระองค์กำลังบอกว่าคนที่มีความรักจะให้อภัยผู้อื่นอย่างไม่มีขีดจำกัด. (1 โค. 13:4, 5) พระเยซูแสดงให้เห็นว่าเปโตรได้รับอิทธิพลจากน้ำใจที่มีแพร่หลายในสมัยนั้นคือขาดความกรุณาและไม่ยอมให้อภัย. คนแบบนี้จะให้อภัยตามจำนวนครั้งที่มีการกำหนดไว้ราวกับได้ทำบัญชี. แต่ตามมาตรฐานของพระเจ้า เราต้องให้อภัยอย่างใจกว้างและไม่มีขีดจำกัด.—อ่าน 1 โยฮัน 1:7-9
5. วิธีที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้เรื่องการให้อภัยคืออะไร?
5 เปโตรไม่ได้โต้แย้งพระเยซู. แต่เขาเข้าใจสิ่งที่พระเยซูสอนจริง ๆ ไหม? บางครั้งวิธีที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้เรื่องการให้อภัยก็คือ การสำนึกว่าตัวเองต้องได้รับการให้อภัยมากขนาดไหน. ดังนั้น ให้เราย้อนไปดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนพระเยซูจะสิ้นพระชนม์. ในช่วงวิกฤตินั้น เปโตรทำให้พระเยซูต้องให้อภัยเขาหลายต่อหลายครั้ง.
ได้รับการอภัยหลายครั้ง
6. เปโตรทำอะไรเมื่อพระเยซูสอนอัครสาวกเรื่องความถ่อมใจ แต่พระเยซูมีท่าทีเช่นไร?
6 เย็นนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง เป็นคืนสุดท้ายที่พระเยซูจะมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก. พระเยซูยังมีอีกหลายเรื่องที่จะสอนพวกอัครสาวก เช่น ความถ่อมใจ. พระเยซูวางตัวอย่างในเรื่องนี้โดยถ่อมใจล้างเท้าให้พวกเขาซึ่งตามปกติแล้วเป็นหน้าที่ของคนรับใช้ที่มีฐานะต่ำสุด. ตอนแรกเปโตรสงสัยว่าทำไมพระเยซูทำเช่นนั้น เขาจึงไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้า. ต่อมาเขากลับขอให้พระเยซูล้างไม่เพียงแต่เท้า แต่ทั้งมือและศีรษะด้วย! พระเยซูไม่หมดความอดทนแต่อธิบายอย่างใจเย็นว่าสิ่งที่พระองค์กำลังทำมีความสำคัญและมีความหมายอย่างไร.—โย. 13:1-17
7, 8. (ก) เปโตรทดสอบความอดทนของพระเยซูอย่างไร? (ข) พระเยซูแสดงน้ำใจที่กรุณาและพร้อมจะให้อภัยอย่างไร?
7 หลังจากนั้นไม่นาน เปโตรทำผิดพลาดอีกซึ่งเป็นการทดสอบความอดทนของพระเยซู. พวกอัครสาวกเริ่มโต้เถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่ที่สุด และเปโตรคงร่วมวงด้วยในการกระทำที่น่าละอายนี้ซึ่งแสดงถึงความหยิ่งที่มีในตัวมนุษย์. กระนั้น พระเยซูแก้ไขพวกเขาด้วยความกรุณาและถึงกับชมเชยส่วนดีของเขานั่นคือ ติดสนิทอยู่กับนายด้วยความซื่อสัตย์ภักดี. แต่พระองค์บอกล่วงหน้าว่าเขาทุกคนจะทิ้งพระองค์. เปโตรแย้งว่าเขาจะไม่มีวันทิ้งพระองค์ไปแม้จะต้องตายก็ตาม. แต่พระเยซูกลับพยากรณ์ว่า ในคืนนั้นเปโตรจะปฏิเสธนายของเขาสามครั้งก่อนไก่ขันสองครั้ง. เปโตรไม่เพียงคัดค้าน แต่ยังอวดด้วยว่าเขาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาซื่อสัตย์ภักดียิ่งกว่าอัครสาวกคนอื่น ๆ!—มัด. 26:31-35; มโก. 14:27-31; ลูกา 22:24-28; โย. 13:36-38
8 พระเยซูเกือบจะหมดความอดทนกับเปโตรแล้วไหม? ที่จริง ตลอดช่วงเวลาที่วิกฤตินี้ พระเยซูยังคงมองหาส่วนดีในตัวอัครสาวกที่ไม่สมบูรณ์. พระเยซูรู้ว่าเปโตรจะทำให้พระองค์ผิดหวัง แต่พระองค์ยังกล่าวว่า “เราทูลวิงวอนเพื่อความเชื่อของเจ้าจะไม่หมดไป และเมื่อเจ้ากลับมาแล้ว จงชูกำลังพี่น้องของเจ้า.” (ลูกา 22:32) การที่พระเยซูตรัสเช่นนี้แสดงว่าพระองค์มั่นใจว่าเปโตรจะสำนึกตัวและกลับมาทำงานรับใช้อย่างซื่อสัตย์. ช่างเป็นน้ำใจที่กรุณาและพร้อมจะให้อภัยจริง ๆ!
9, 10. (ก) เปโตรต้องได้รับการแก้ไขอะไรตอนอยู่ในสวนเกทเซมาเน? (ข) ข้อผิดพลาดของเปโตรเตือนใจเราอย่างไร?
9 ต่อมาในสวนเกทเซมาเน เปโตรต้องได้รับการแก้ไขมากกว่าหนึ่งครั้ง. พระเยซูขอให้เขากับยาโกโบและโยฮันเฝ้าระวังระหว่างที่พระองค์ไปอธิษฐาน. พระเยซูกำลังเป็นทุกข์อย่างยิ่งและต้องการกำลังใจ แต่ทั้งสามพากันผล็อยหลับไปหลายครั้ง. พระเยซูยังให้อภัยและเห็นอกเห็นใจพวกเขาโดยกล่าวว่า “ใจกระตือรือร้นก็จริง แต่กายนั้นอ่อนแอ.”—มโก. 14:32-41
10 ไม่นานหลังจากนั้น ฝูงชนก็เข้ามาพร้อมกับคบไฟ ดาบ และตะบอง. ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องระวังเนื้อระวังตัวและสุขุม. แต่เปโตรกลับหุนหันชักดาบออกมากวัดแกว่งไปที่ศีรษะมาละโคทาสของมหาปุโรหิตและโดนหูเขาขาดข้างหนึ่ง. พระเยซูว่ากล่าวแก้ไขเปโตรอย่างใจเย็น รักษาบาดแผลให้ทาสคนนั้น และอธิบายหลักการเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งสาวกของพระองค์ยึดถือมาจนทุกวันนี้. (มัด. 26:47-55; ลูกา 22:47-51; โย. 18:10, 11) เปโตรทำผิดพลาดหลายครั้ง แต่พระเยซูก็ให้อภัยเขาเสมอ. ตัวอย่างของเปโตรเตือนใจว่าเราก็ทำผิดพลาดบ่อย ๆ. (อ่านยาโกโบ 3:2 ) มีใครบ้างในพวกเราที่ไม่จำเป็นต้องทูลขอการให้อภัยจากพระเจ้าทุกวัน? แต่สำหรับเปโตร เหตุการณ์ในคืนนั้นยังไม่จบเพียงเท่านี้. ยังมีเรื่องที่เลวร้ายกว่านี้รอเขาอยู่.
ความผิดครั้งร้ายแรงที่สุดของเปโตร
11, 12. (ก) เปโตรแสดงอย่างไรว่าเขามีความกล้าหาญไม่น้อย? (ข) เปโตรไม่ได้แสดงความรักภักดีอย่างที่เขาลั่นวาจาไว้อย่างไร?
11 พระเยซูบอกฝูงชนที่มาจับพระองค์ว่าถ้าพวกเขาต้องการตัวพระองค์ก็ให้ปล่อยพวกอัครสาวกไป. เปโตรได้แต่มองขณะที่พวกเขาจับกุมพระเยซู. แล้วเปโตรก็หนีไปเช่นเดียวกับอัครสาวกคนอื่น ๆ.
12 เปโตรกับโยฮันอาจไปหยุดอยู่ใกล้ ๆ บ้านของอดีตมหาปุโรหิตอันนาส ซึ่งเป็นที่แรกที่พระเยซูถูกนำตัวไปสอบสวน. เมื่อเขานำตัวพระเยซูไปจากที่นั่น เปโตรกับโยฮันก็ตามไปด้วยแต่อยู่ “ห่าง ๆ.” (มัด. 26:58; โย. 18:12, 13) เปโตรไม่ใช่คนขี้ขลาด. การตามพระเยซูไปต้องใช้ความกล้าไม่น้อย. ฝูงชนเหล่านั้นมีอาวุธ และเปโตรก็ทำให้คนหนึ่งในพวกเขาบาดเจ็บมาแล้ว. อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นเลยว่าเปโตรได้แสดงความรักภักดีอย่างที่เขาลั่นวาจาไว้ที่ว่าถ้าจำเป็นเขาพร้อมจะตายกับนายของเขา.—มโก. 14:31
13. วิธีเดียวที่เราจะติดตามพระคริสต์อย่างถูกต้องคืออะไร?
13 หลายคนในทุกวันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับเปโตรที่ติดตามพระคริสต์อยู่ “ห่าง ๆ” แบบที่ไม่มีใครสังเกต. แต่ดังที่เปโตรได้เขียนในเวลาต่อมา วิธีเดียวที่จะติดตามพระคริสต์อย่างถูกต้องคือเราต้องติดสนิทอยู่กับพระองค์ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และเลียนแบบพระองค์ในทุกด้านไม่ว่าจะประสบกับสิ่งใดก็ตาม.—อ่าน 1 เปโตร 2:21
14. เปโตรทำอะไรในช่วงที่พระเยซูกำลังถูกพิจารณาคดี?
14 เปโตรค่อย ๆ ตามมาอย่างระมัดระวังจนถึงประตูคฤหาสน์หลังหนึ่งในกรุงเยรูซาเลม. นี่เป็นบ้านของเคยาฟัส มหาปุโรหิตผู้มั่งคั่งและทรงอิทธิพล. คฤหาสน์เช่นนี้มักมีลานอยู่กลางบ้านและมีประตูรั้วอยู่ด้านหน้า. เปโตรมาถึงประตูรั้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า. โยฮันซึ่งรู้จักมหาปุโรหิตได้เข้าไปข้างในแล้ว. เขาจึงมาที่ประตูและบอกให้คนเฝ้าประตูเปิดให้เปโตร. ดูเหมือนเปโตรไม่ได้อยู่กับโยฮันตลอดเวลา และเขาไม่ได้พยายามจะเข้าไปในตัวบ้านเพื่ออยู่เคียงข้างนายของเขา. เขายืนอยู่ที่ลานบ้าน ซึ่งมีทาสและคนรับใช้กำลังผิงไฟอยู่เพราะอากาศหนาว. เขามองดูพยานเท็จที่มาปรักปรำพระเยซูเดินเข้าออกห้องพิจารณาคดีคนแล้วคนเล่า.—มโก. 14:54-57; โย. 18:15, 16, 18
15, 16. จงอธิบายว่าคำพยากรณ์ของพระเยซูที่ว่าเปโตรจะปฏิเสธพระองค์สามครั้งสำเร็จเป็นจริงอย่างไร.
15 แสงจากกองไฟทำให้เด็กสาวที่เปิดประตูให้เปโตรมองเห็นเขาชัดขึ้น. เธอจำเขาได้และพูดออกมาว่า “เจ้าเคยอยู่กับเยซูชาวแกลิลีด้วยนี่!” เปโตรไม่ทันตั้งตัวจึงปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู และถึงกับบอกว่าไม่เข้าใจสิ่งที่เธอพูด. เขาขยับไปยืนใกล้ประตูพยายามไม่ให้เป็นที่สังเกต แต่เด็กสาวอีกคนเห็นเขาแล้วพูดเหมือนกันว่า “คนนี้เคยอยู่กับเยซูชาวนาซาเรท.” เปโตรสาบานว่า “ข้าไม่รู้จักคนนั้น!” (มัด. 26:69-72; มโก. 14:66-68) อาจเป็นได้ว่าหลังจากเปโตรปฏิเสธครั้งที่สองเขาก็ได้ยินเสียงไก่ขัน. แต่เขามัวกังวลว่าจะถูกจับได้จึงไม่ได้นึกถึงคำตรัสของพระเยซูที่กล่าวไปไม่กี่ชั่วโมงก่อน.
16 หลังจากนั้นไม่นาน เปโตรยังพยายามทำตัวไม่ให้เป็นที่สังเกต. แต่คนที่ยืนอยู่รอบ ๆ ลานบ้านพากันเข้ามาหาเขา คนหนึ่งในนั้นเป็นญาติกับมาละโคทาสที่ถูกเปโตรฟันหูขาด. เขาพูดกับเปโตรว่า “ข้าเห็นเจ้าอยู่ในสวนกับคนนั้นไม่ใช่หรือ?” เปโตรพยายามทำให้คนเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาเข้าใจผิด เขาคงสาบานว่าถ้าเขาโกหกขอให้เหตุร้ายเกิดขึ้นกับเขา. นั่นเป็นครั้งที่สามที่เปโตรปฏิเสธพระเยซู. ขณะที่เปโตรพูดยังไม่ทันขาดคำ เขาก็ได้ยินไก่ขันเป็นครั้งที่สอง.—โย. 18:26, 27; มโก. 14:71, 72
17, 18. (ก) เปโตรทำอะไรเมื่อรู้ตัวว่าเขาทำให้นายผิดหวัง? (ข) หลังจากเปโตรทำผิดร้ายแรง เขาคงคิดอย่างไร?
17 พระเยซูเพิ่งออกมาจากห้องพิจารณาคดีและยืนที่ระเบียงซึ่งมองลงไปเห็นลานบ้าน. ตอนนี้เองที่พระองค์สบตากับเปโตรดังที่กล่าวในตอนต้นบท. ทันใดนั้นเปโตรก็รู้สึกแย่มาก ๆ เมื่อรู้ตัวว่าเขาทำให้นายผิดหวัง. เปโตรออกไปจากลานบ้านด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง. เขาบ่ายหน้าไปที่ถนนในเมืองโดยมีแสงจันทร์คอยส่องทางให้. ภาพที่อยู่เบื้องหน้าพร่ามัว น้ำตาเขาเอ่อล้น เขาร้องไห้ออกมาด้วยความทุกข์ใจยิ่งนัก.—มโก. 14:72; ลูกา 22:61, 62
18 เมื่อใครคนหนึ่งรู้ตัวว่าได้ทำผิดร้ายแรง เขาอาจคิดว่าบาปของเขาหนักหนาเกินกว่าจะให้อภัยได้. เปโตรคงคิดอย่างนั้นด้วย. แต่เขาคิดถูกไหม?
ความผิดของเปโตรร้ายแรงเกินกว่าจะให้อภัยไหม?
19. เปโตรคงรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขาได้ทำ แต่เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ได้จมอยู่กับความสิ้นหวัง?
19 เช้าวันถัดมา เปโตรคงรู้สึกเศร้ามากกว่าเดิมเมื่อรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระเยซู. เขาคงตำหนิตัวเองมากเมื่อเห็นพระเยซูสิ้นพระชนม์ในบ่ายวันนั้นหลังจากทนทุกข์ทรมานอยู่หลายชั่วโมง. เปโตรคงเจ็บปวดใจทุกครั้งเมื่อนึกถึงสิ่งที่ตนได้ทำซึ่งทำให้นายของเขาเจ็บปวดทรมานยิ่งขึ้น แถมนั่นยังเป็นคืนสุดท้ายของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลกด้วย. แม้เปโตรจะเศร้าเสียใจขนาดไหน แต่เขาไม่ได้จมอยู่กับความสิ้นหวัง. เรารู้เช่นนั้นเพราะบันทึกในพระคัมภีร์บอกว่า หลังจากนั้นไม่นานเปโตรก็กลับมาคบหากับสาวกคนอื่น ๆ. (ลูกา 24:33) ไม่ต้องสงสัย อัครสาวกทุกคนต่างก็เสียใจกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำในคืนที่เลวร้ายนั้น และพวกเขาคงปลอบโยนกันและกัน.
20. เปโตรมีข้อดีอะไรที่เราควรเลียนแบบ?
20 ตอนนี้เราเห็นข้อดีอย่างหนึ่งของเปโตร. เมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าพลาดพลั้งทำผิด พระเจ้าจะให้อภัยถ้าเขาพยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ไขแนวทางของตนไม่ว่าสิ่งที่เขาทำจะร้ายแรงเพียงใด. (อ่านสุภาษิต 24:16 ) เปโตรแสดงให้เห็นว่าเขามีความเชื่อแท้โดยคบหากับเพื่อนร่วมความเชื่อแม้จะรู้สึกหดหู่หรือท้อแท้ใจ. เมื่อเราเป็นทุกข์หรือเศร้าเสียใจเรามักต้องการอยู่ตามลำพัง แต่การทำเช่นนั้นเป็นอันตราย. (สุภา. 18:1) แนวทางที่ฉลาดคืออยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมความเชื่อและฟื้นฟูกำลังเพื่อจะรับใช้พระเจ้าต่อ ๆ ไป.—ฮีบรู 10:24, 25
21. เนื่องจากเปโตรอยู่กับสาวกคนอื่น ๆ เขาจึงได้ยินข่าวที่น่าตกใจอะไร?
21 เนื่องจากเปโตรอยู่กับสาวกคนอื่น ๆ เขาจึงได้ยินข่าวที่น่าตกใจว่าศพของพระเยซูหายไปจากอุโมงค์. เปโตรกับโยฮันวิ่งไปที่อุโมงค์ฝังศพของพระเยซูซึ่งปิดไว้แน่นหนา. โยฮันซึ่งคงจะหนุ่มกว่าวิ่งมาถึงก่อน เมื่อเห็นว่าอุโมงค์เปิดอยู่เขายังยืนอยู่ที่ปากอุโมงค์. แต่เปโตรไม่รอช้า. ทั้ง ๆ ที่ยังเหนื่อยหอบ เขาวิ่งเข้าไปในอุโมงค์ทันทีและพบว่าว่างเปล่า!—โย. 20:3-9
22. อะไรทำให้ความโศกเศร้าและความสงสัยที่ยังค้างอยู่ในใจของเปโตรมลายหายไป?
22 เปโตรเชื่อไหมว่าพระเยซูถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว? ทีแรกเขาไม่เชื่อ แม้ว่าพวกผู้หญิงที่ซื่อสัตย์จะรายงานว่ามีทูตสวรรค์ปรากฏแก่พวกนางและแจ้งให้ทราบว่าพระเยซูเป็นขึ้นจากตายแล้ว. (ลูกา 23:55–24:11) แต่พอถึงเย็นวันนั้น ความโศกเศร้าและความสงสัยที่ยังค้างอยู่ในใจของเปโตรก็มลายหายไป. พระเยซูมีชีวิตอยู่จริง ๆ และตอนนี้เป็นกายวิญญาณที่มีฤทธิ์! พระองค์ปรากฏแก่อัครสาวกทุกคน. แต่ก่อนหน้านั้น พระองค์ปรากฏให้คนหนึ่งเห็นก่อน. ในวันนั้นพวกอัครสาวกพูดกันว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาแล้วจริง ๆ และทรงปรากฏแก่ซีโมนแล้ว!” (ลูกา 24:34) ในเวลาต่อมาอัครสาวกเปาโลเขียนถึงวันที่น่าจดจำนั้นว่าพระเยซู “ทรงปรากฏกายแก่เกฟาแล้วก็แก่อัครสาวกสิบสองคน.” (1 โค. 15:5) ทั้งเกฟาและซีโมนเป็นชื่อของเปโตร. ในวันนั้นพระเยซูปรากฏแก่เปโตร ดูเหมือนเป็นตอนที่เขาอยู่คนเดียว.
เปโตรทำผิดพลาดหลายครั้งแล้ว แต่พระเยซูก็ให้อภัยเขาเสมอ. มีใครบ้างในพวกเราที่ไม่จำเป็นต้องทูลขอการให้อภัยจากพระเจ้าทุกวัน?
23. ทำไมคริสเตียนในทุกวันนี้ที่พลาดพลั้งทำผิดควรจดจำเรื่องของเปโตรไว้?
23 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าประทับใจตอนที่เปโตรได้พบพระเยซู. แต่เราอาจนึกภาพได้ว่าเปโตรคงดีใจมากที่ได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่รักของเขากลับมีชีวิตอีกและมีโอกาสได้บอกพระองค์ว่าเขาเสียใจและกลับใจอย่างแท้จริง. สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าอะไรทั้งสิ้นคือการให้อภัย. แน่นอน เรามั่นใจได้ว่าพระเยซูทรงให้อภัยเขาอย่างใจกว้าง. คริสเตียนในทุกวันนี้ที่พลาดพลั้งทำผิดควรจดจำเรื่องของเปโตรไว้. ขอเราอย่าคิดว่าความผิดของเราร้ายแรงเกินกว่าที่พระเจ้าจะให้อภัยได้. พระเยซูสะท้อนบุคลิกของพระบิดาผู้ทรง “อภัยอย่างล้นเหลือ” ได้อย่างครบถ้วน.—ยซา. 55:7, ฉบับ 1971
หลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงถึงการให้อภัย
24, 25. (ก) จงพรรณนาว่าเปโตรรู้สึกอย่างไรตอนที่ออกไปจับปลาในทะเลแกลิลี. (ข) เปโตรทำอะไรเมื่อเห็นพระเยซูทำการอัศจรรย์ในเช้าวันถัดมา?
24 พระเยซูบอกพวกอัครสาวกให้ไปยังแคว้นแกลิลี พวกเขาจะได้พบพระองค์อีกที่นั่น. เมื่อไปถึง เปโตรตัดสินใจออกไปจับปลาในทะเลแกลิลีและมีสาวกบางคนไปด้วย. เปโตรได้กลับมาอยู่ที่ทะเลสาบถิ่นเก่าของเขาอีกครั้ง. เสียงเอี๊ยดอ๊าดของเรือ เสียงคลื่นที่กระทบเรือ และความรู้สึกสากมือเมื่อได้สัมผัสกับอวนหาปลา ทั้งหมดนี้คงเป็นสิ่งที่เขาเคยชินและทำให้เขาสบายใจ. แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คืนนั้นพวกเขาจับปลาไม่ได้เลย.—มัด. 26:32; โย. 21:1-3
25 พอรุ่งเช้า มีคนหนึ่งที่อยู่บนฝั่งเรียกพวกเขาและบอกให้หย่อนอวนลงอีกข้างหนึ่งของเรือ. พวกเขาทำตามและจับปลาได้มากถึง 153 ตัว! เปโตรรู้ทันทีว่าผู้นั้นเป็นใคร. เขากระโดดลงจากเรือและว่ายน้ำเข้าฝั่ง. พอขึ้นฝั่งเขาก็เห็นกองถ่านติดไฟอยู่และเห็นพระเยซูทรงปิ้งปลาให้เหล่าสหายที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. หลังจากนั้น พระเยซูก็พูดกับเปโตร.—โย. 21:4-14
26, 27. (ก) พระเยซูให้โอกาสเปโตรทำอะไรถึงสามครั้ง? (ข) พระเยซูให้หลักฐานที่หนักแน่นอะไรว่าพระองค์ให้อภัยเปโตรอย่างเต็มที่?
26 พระเยซูชี้ไปที่ปลากองโตที่เพิ่งจับได้ และถามเปโตรว่าเขารักองค์พระผู้เป็นเจ้า “มากกว่าปลาเหล่านี้” หรือไม่. เปโตรจะรักอาชีพประมงมากกว่ารักพระเยซูไหม? เนื่องจากเปโตรปฏิเสธองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาสามครั้ง ตอนนี้พระเยซูจึงให้โอกาสเขาสามครั้งเช่นกันเพื่อยืนยันความรักที่เขามีต่อพระองค์ต่อหน้าสาวกคนอื่น ๆ. เมื่อเปโตรยืนยันแล้ว พระเยซูบอกว่าเขาควรแสดงความรักนั้นโดยให้งานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์มาก่อนสิ่งอื่นใดและช่วยบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระคริสต์ ซึ่งก็คือเพื่อนสาวกที่ซื่อสัตย์.—ลูกา 22:32; โย. 21:15-17
27 การที่พระเยซูตรัสเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าเปโตรยังมีค่าสำหรับพระองค์และพระบิดา. เปโตรจะมีบทบาทสำคัญในประชาคมคริสเตียนซึ่งอยู่ภายใต้การชี้นำของพระคริสต์. ช่างเป็นหลักฐานที่หนักแน่นจริง ๆ ว่าพระเยซูให้อภัยเปโตรอย่างเต็มที่. ไม่ต้องสงสัย ความเมตตาของพระเยซูคงทำให้เปโตรซาบซึ้งใจและได้เรียนรู้เรื่องการให้อภัย.
28. เปโตรดำเนินชีวิตสมกับชื่อของเขาอย่างไร?
28 เปโตรทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความซื่อสัตย์ต่อไปอีกหลายปี. เขาช่วยชูกำลังพวกพี่น้องดังที่พระเยซูได้บัญชาไว้ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์. เปโตรแสดงความกรุณาและอดทนขณะที่เขาบำรุงเลี้ยงสาวกของพระคริสต์. ชายที่ชื่อซีโมนนี้ดำเนินชีวิตสมกับชื่อที่พระเยซูตั้งให้คือ เปโตรที่หมายความว่าก้อนหิน ซึ่งมั่นคงเข้มแข็ง ไว้ใจได้และเป็นอิทธิพลที่ดีในประชาคม. หลักฐานยืนยันมากมายในเรื่องนี้พบได้ในจดหมายสองฉบับของเปโตรซึ่งได้กลายเป็นหนังสือที่มีค่าของคัมภีร์ไบเบิล. จดหมายเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าเปโตรไม่เคยลืมบทเรียนที่ได้จากพระเยซูเกี่ยวกับการให้อภัย.—อ่าน 1 เปโตร 3:8, 9; 4:8
29. เราจะเลียนแบบความเชื่อของเปโตรและความเมตตาของพระเยซูได้อย่างไร?
29 ขอให้เราเรียนบทเรียนนั้นด้วย. แต่ละวันเราทูลขอการให้อภัยจากพระเจ้าสำหรับความผิดที่เราทำไหม? เมื่อพระเจ้าให้อภัยเรา เรายอมรับความเมตตาของพระองค์ไหม? เราเชื่อไหมว่าการให้อภัยจากพระเจ้าสามารถลบล้างความผิดของเราได้? และเราให้อภัยคนอื่นด้วยไหม? ถ้าเราทำเช่นนั้น เราจะเลียนแบบความเชื่อของเปโตรและความเมตตาของพระเยซู นายของเขา.