บท 31
“เข้าไปใกล้ชิดกับพระเจ้า แล้วพระองค์จะเข้ามาใกล้ชิดกับคุณ”
1-3. (ก) เราได้เรียนอะไรจากความผูกพันที่พ่อแม่มีกับลูก? (ข) เรารู้สึกยังไงเมื่อมีคนแสดงความรักกับเรา และคำถามสำคัญอะไรที่เราควรถามตัวเอง?
พ่อแม่อยากเห็นลูกน้อยยิ้มอย่างมีความสุข พวกเขาชอบยื่นหน้าเข้าไปใกล้ ๆ ลูก พูดคุยและยิ้มให้ลูก แล้วพ่อแม่ก็รอดูว่าลูกจะทำยังไง ไม่นานลูกน้อยก็ยิ้มออกมา รอยยิ้มนั้นแสดงว่าลูกน้อยตอบสนองต่อความรักของพ่อแม่
2 ถ้ามีคนแสดงความรักกับเรา ก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะแสดงความรักกับเขาด้วย เพราะเราถูกสร้างมาอย่างนี้ (สดุดี 22:9) พอเราโตขึ้น เราก็แสดงความรักกับคนที่รักเราได้มากขึ้น คุณอาจจำได้ว่าตอนที่คุณเป็นเด็ก พ่อแม่ ญาติหรือเพื่อน ๆ แสดงความรักกับคุณยังไง นี่ทำให้คุณมีความรู้สึกดี ๆ กับพวกเขา และพอคุณค่อย ๆ รักพวกเขามากขึ้น คุณก็อยากทำให้พวกเขารู้ว่าคุณก็รักพวกเขา คุณรู้สึกแบบนี้กับพระยะโฮวาด้วยไหม?
3 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เราแสดงความรักก็เพราะพระองค์รักเราก่อน” (1 ยอห์น 4:19) ตอน 1 ถึงตอน 3 ของหนังสือเล่มนี้ช่วยให้คุณจำไว้ว่า พระยะโฮวาใช้พลังอำนาจ ความยุติธรรม และสติปัญญาของพระองค์เพื่อประโยชน์ของคุณ และในตอน 4 คุณได้เห็นแล้วว่าพระองค์รักมนุษย์ทุกคนและรักคุณมากด้วย แต่มีคำถามหนึ่งที่สำคัญมากที่คุณควรถามตัวเองคือ ‘ฉันจะแสดงให้พระยะโฮวาเห็นยังไงว่าฉันรักพระองค์?’
การรักพระเจ้าหมายถึงอะไร
4. หลายคนคิดว่าการรักพระเจ้าหมายถึงอะไร?
4 พระยะโฮวาเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก พระองค์รู้ว่าความรักจะกระตุ้นให้ผู้คนแสดงคุณลักษณะดี ๆ ออกมา ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะไม่ซื่อสัตย์และไม่ยอมรับอำนาจของพระองค์ แต่พระองค์ก็ยังมั่นใจว่าจะมีบางคนที่รักพระองค์ และเราก็เห็นว่าหลายล้านคนเป็นแบบนั้นจริง ๆ น่าเสียดายที่หลายศาสนาในโลกชั่วนี้สอนผู้คนผิด ๆ ในเรื่องการรักพระเจ้า หลายคนบอกว่ารักพระเจ้า แต่พวกเขาอาจคิดว่าแค่พูดว่า ‘ฉันรักพระเจ้า’ ก็พอแล้ว เหมือนกับลูกน้อยที่แสดงความรักกับพ่อแม่เป็นครั้งแรกด้วยรอยยิ้ม ตอนแรกเราอาจบอกว่ารักพระเจ้า แต่เมื่อเรารู้สึกรักพระองค์มากขึ้น เราก็จะแสดงให้เห็นด้วยว่ารักพระองค์จริง ๆ
5. การรักพระเจ้าหมายถึงอะไร และเป็นประโยชน์กับเรายังไง?
5 พระยะโฮวาบอกให้เรารู้ว่าการรักพระองค์หมายถึงอะไร คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “การรักพระเจ้าหมายถึงการเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์” ดังนั้น เราจะแสดงว่าเรารักพระเจ้าได้โดยการเชื่อฟังพระองค์ หลายคนไม่ชอบเชื่อฟังคนอื่น แต่ในข้อคัมภีร์เดียวกันก็บอกด้วยว่า “คำสั่งของพระองค์ [ของพระเจ้า] ไม่ยากเกินไป” (1 ยอห์น 5:3) พระยะโฮวาให้กฎหมายและหลักการเพื่อช่วยเรา ไม่ใช่เพื่อทำให้ชีวิตเราลำบากขึ้น (อิสยาห์ 48:17, 18) คัมภีร์ไบเบิลสอนเราหลายอย่างที่ช่วยให้เราสนิทกับพระองค์มากขึ้น เป็นอย่างนั้นได้ยังไง? เราจะมาดู 3 อย่างที่เราต้องทำเพื่อจะรักและสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น คือเราต้องพูดคุยกับพระยะโฮวา นมัสการ และเลียนแบบพระองค์
พูดคุยกับพระยะโฮวา
6-8. (ก) เราจะฟังพระยะโฮวาได้ยังไง? (ข) เราจะทำให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องที่สนุกได้ยังไง?
6 บท 1 เริ่มด้วยคำถามที่ว่า “คุณนึกภาพการสนทนากับพระเจ้าออกไหม?” เราได้เรียนว่ามีบางคนที่เคยทำอย่างนั้น โมเสสเคยพูดคุยกับพระเจ้าผ่านทางทูตสวรรค์ เราจะทำอย่างนั้นด้วยได้ไหม? ในทุกวันนี้พระยะโฮวาไม่ได้ใช้ทูตสวรรค์ให้มาพูดคุยกับพวกเรา แต่พระองค์มีวิธีที่ดีที่จะติดต่อกับพวกเรา พระยะโฮวาพูดคุยกับเรายังไง และเราจะฟังพระองค์ได้ยังไง?
7 เรารู้ว่า “พระคัมภีร์ทุกตอน พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมา” (2 ทิโมธี 3:16) ดังนั้น พระยะโฮวาพูดกับเราทางคัมภีร์ไบเบิล และเราก็ฟังพระองค์โดยอ่านคัมภีร์ไบเบิล ผู้เขียนหนังสือสดุดีเลยกระตุ้นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาให้อ่านคัมภีร์ไบเบิล “ทั้งกลางวันและกลางคืน” (สดุดี 1:1, 2) การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันต้องใช้เวลาและความพยายามมาก แต่ถ้าเราพยายามทำแบบนั้นเราก็จะได้รับประโยชน์มากด้วย เราได้เห็นในบท 18 ว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนจดหมายที่มีค่าจากพ่อในสวรรค์ ดังนั้น เราไม่ควรมองว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นแค่หน้าที่ แต่เราต้องพยายามทำให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องที่สนุก แล้วเราจะทำอย่างนั้นได้ยังไง?
8 ตอนอ่านคัมภีร์ไบเบิลให้คุณลองนึกภาพว่าคนในคัมภีร์ไบเบิลมีชีวิตอยู่จริง ๆ ให้พยายามเข้าใจว่าพวกเขาเป็นคนแบบไหน ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นยังไง และทำไมพวกเขาถึงทำอย่างนั้น แล้วให้คิดเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านโดยถามตัวเองว่า ‘เรื่องนี้สอนอะไรฉันเกี่ยวกับพระยะโฮวา? มีการเน้นคุณลักษณะอะไรของพระองค์? พระยะโฮวาอยากสอนอะไรฉัน และฉันจะเอาเรื่องนั้นมาใช้ในชีวิตได้ยังไง?’ ให้คุณอ่าน คิดใคร่ครวญ และเอาเรื่องที่ได้เรียนไปใช้ แล้วคุณก็จะเห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลมีผลกับชีวิตของคุณมากขนาดไหน—สดุดี 77:12; ยากอบ 1:23-25
9. ใครคือ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” และทำไมถึงสำคัญที่เราจะตั้งใจฟังพวกเขา?
9 พระยะโฮวายังติดต่อกับพวกเราทาง “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” ด้วย พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้าว่าพี่น้องชายที่ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ จะถูกแต่งตั้งให้เตรียมความรู้ที่เสริมความเชื่อ “ตามเวลาที่เหมาะสม” ในช่วงสมัยสุดท้ายที่ยากลำบากนี้ (มัทธิว 24:45-47) เมื่อเราอ่านหนังสือและวารสารที่เตรียมไว้เพื่อช่วยเราให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนรวมทั้งการประชุมใหญ่ที่ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุมเตรียมไว้ ความเชื่อของเราก็จะเข้มแข็งขึ้น พระเยซูบอกสาวกของท่านว่า “ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี” (ลูกา 8:18) ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะตั้งใจฟังทาสที่ซื่อสัตย์ที่พระเยซูแต่งตั้ง เพราะพระยะโฮวาใช้พวกเขาเพื่อติดต่อกับเรา
10-12. (ก) ทำไมการอธิษฐานถึงเป็นสิทธิพิเศษจากพระยะโฮวา? (ข) เราจะอธิษฐานยังไงเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอใจ และทำไมเรามั่นใจได้ว่าพระองค์ชอบฟังคำอธิษฐานของเรา?
10 เราได้เรียนแล้วว่าพระยะโฮวาพูดกับเรายังไง แต่เราจะพูดกับพระองค์ได้ด้วยไหม? แค่คิดเรื่องนี้เราก็อาจจะรู้สึกกลัวแล้ว ถ้าคุณพยายามจะเข้าไปหาผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศเพื่อจะคุยบางเรื่องที่คุณกังวล คุณคิดว่าเขาจะยอมให้คุณเข้าไปคุยด้วยไหม? บางทีการทำแบบนั้นอาจเป็นเรื่องอันตรายก็ได้ ในสมัยของเอสเธอร์กับโมร์เดคัย คนที่เข้าเฝ้ากษัตริย์เปอร์เซียโดยที่ไม่ได้รับเชิญอาจถูกประหารชีวิต (เอสเธอร์ 4:10, 11) ตอนนี้ขอให้คิดถึงการอยู่ต่อหน้าพระยะโฮวาพระเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุด เมื่อเทียบกับพระองค์แล้วมนุษย์ที่มีอำนาจมากที่สุดก็เป็น “เหมือนตั๊กแตน” (อิสยาห์ 40:22) แล้วเราควรรู้สึกกลัวที่จะพูดคุยกับพระองค์ไหม? เราไม่ควรรู้สึกอย่างนั้น
11 พระยะโฮวาชอบที่เราพูดคุยกับพระองค์ และพระองค์ทำให้เราพูดคุยกับพระองค์ได้ง่าย ๆ ด้วย พระยะโฮวาให้เรามีสิทธิพิเศษที่จะอธิษฐานถึงพระองค์ แม้แต่เด็ก ๆ ก็อธิษฐานถึงพระองค์ด้วยความเชื่อผ่านทางชื่อของพระเยซูได้ (ยอห์น 14:6; ฮีบรู 11:6) เราพูดความรู้สึกลึก ๆ ของเราในคำอธิษฐานได้ แม้แต่เรื่องที่เจ็บปวดที่เรารู้สึกว่าพูดออกมาได้ยาก เราก็บอกให้พระยะโฮวารู้ได้ด้วย (โรม 8:26) เราไม่ต้องพยายามทำให้พระยะโฮวาประทับใจโดยใช้คำพูดที่เลิศหรู หรืออธิษฐานอย่างยืดยาว (มัทธิว 6:7, 8) พระยะโฮวาไม่ได้ตั้งกฎว่าเราต้องอธิษฐานนานขนาดไหนหรือบ่อยแค่ไหน แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้ “อธิษฐานเป็นประจำ”—1 เธสะโลนิกา 5:17
12 คัมภีร์ไบเบิลเรียกพระยะโฮวาผู้เดียวว่า “ผู้ฟังคำอธิษฐาน” และพระองค์ก็ฟังเราด้วยความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ (สดุดี 65:2) แต่พระองค์รู้สึกว่าเป็นภาระที่จะฟังคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ไหม? ไม่ พระองค์ชอบฟังคำอธิษฐานของพวกเขา คัมภีร์ไบเบิลเปรียบคำอธิษฐานว่าเป็นเหมือนเครื่องหอมที่ถูกเผาและมีกลิ่นควันที่หอมหวาน (สดุดี 141:2; วิวรณ์ 5:8; 8:4) เราได้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าพระยะโฮวาชอบฟังคำอธิษฐานจากใจของเรา ดังนั้น ถ้าเราอยากสนิทกับพระยะโฮวา เราต้องอธิษฐานอย่างถ่อมใจถึงพระองค์ทุกวัน ระบายความรู้สึกทั้งหมดของเราให้พระองค์ฟัง (สดุดี 62:8) ให้บอกพระองค์เรื่องที่เรากังวล เรื่องที่ทำให้เรามีความสุข ให้เราขอบคุณและสรรเสริญพ่อในสวรรค์ของเราด้วย แล้วเราก็จะสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ
นมัสการพระยะโฮวา
13, 14. การนมัสการพระยะโฮวาหมายถึงอะไร และทำไมเราควรนมัสการพระองค์?
13 การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาไม่เหมือนกับการพูดคุยกันกับเพื่อนหรือญาติของเรา แต่เป็นการนมัสการพระยะโฮวา นี่เป็นวิธีหนึ่งที่เราแสดงความนับถือและความรักต่อพระยะโฮวาสุดหัวใจอย่างที่พระองค์ควรจะได้รับ การนมัสการแท้มีผลกับการใช้ชีวิตของเราและทำให้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาทั้งในสวรรค์และบนโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน ในนิมิตเรื่องหนึ่งอัครสาวกยอห์นได้ยินทูตสวรรค์องค์หนึ่งประกาศว่า “ให้ทุกคนนมัสการพระองค์ผู้สร้างฟ้า โลก ทะเล และน้ำพุทั้งหลาย”—วิวรณ์ 14:7
14 ทำไมเราควรนมัสการพระยะโฮวา? ให้เราคิดถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เราได้คุยกันไปแล้ว เช่น ความบริสุทธิ์ พลังอำนาจ การควบคุมตัวเอง ความยุติธรรม ความกล้าหาญ ความเมตตา สติปัญญา ความถ่อมใจ ความรัก ความสงสาร ความภักดี และความดี เราได้เห็นแล้วว่าพระยะโฮวาแสดงคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเราใคร่ครวญวิธีที่พระองค์แสดงคุณลักษณะทั้งหมดนี้ เราก็จะเห็นชัดว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ พระองค์สูงส่งกว่าเรามากจริง ๆ (อิสยาห์ 55:9) เรามั่นใจว่าพระยะโฮวามีสิทธิ์ที่จะปกครองเรา และพระองค์สมควรจะได้รับการนมัสการจากเรา แต่เราควรนมัสการพระยะโฮวายังไง?
15. เราจะนมัสการ “โดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำและนมัสการอย่างที่สอดคล้องกับความจริง” ได้ยังไง และการประชุมคริสเตียนเปิดโอกาสให้เราทำอะไร?
15 พระเยซูบอกว่า “พระเจ้าเป็นผู้ที่มนุษย์มองไม่เห็น และคนที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการโดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำและนมัสการอย่างที่สอดคล้องกับความจริง” (ยอห์น 4:24) เพื่อเราจะนมัสการพระเจ้า ‘โดยให้พลังของพระองค์ชี้นำ’ เราต้องได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระองค์และให้พลังนั้นชี้นำชีวิตเรา การนมัสการของเราต้องสอดคล้องกับความจริงคือความรู้ที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล เมื่อเราประชุมร่วมกับพี่น้อง เราก็มีโอกาสที่ดีที่จะนมัสการพระยะโฮวา “โดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำและนมัสการอย่างที่สอดคล้องกับความจริง” (ฮีบรู 10:24, 25) เรานมัสการพระยะโฮวาในแบบที่พระองค์พอใจได้โดยการร้องเพลงสรรเสริญ อธิษฐาน ตั้งใจฟัง และมีส่วนร่วมในการประชุม
การประชุมทำให้เรามีโอกาสที่ดีที่จะแสดงว่าเรารักและนับถือพระยะโฮวา
16. คำสั่งสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่พระเยซูบอกให้คริสเตียนแท้ทำคืออะไร และทำไมเราถึงอยากทำตามคำสั่งนั้น?
16 เรายังนมัสการพระยะโฮวาโดยพูดเรื่องพระองค์ให้คนอื่นฟังและการทำแบบนี้เป็นการสรรเสริญพระองค์ (ฮีบรู 13:15) การประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระยะโฮวาเป็นคำสั่งสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่พระเยซูบอกให้คริสเตียนแท้ทำ (มัทธิว 24:14) เราทำตามคำสั่งนั้นเพราะเรารักพระยะโฮวา ถ้าเราคิดถึงว่าซาตานซึ่งเป็น ‘พระเจ้าของโลกนี้ทำให้ใจผู้คนมืดไป’ โดยแพร่คำโกหกเกี่ยวกับพระยะโฮวา เราก็อยากจะเป็นพยานของพระยะโฮวาและบอกคนอื่นให้รู้ความจริงเกี่ยวกับพระองค์ (2 โครินธ์ 4:4.; อิสยาห์ 43:10-12) และเมื่อเราคิดถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยมของพระยะโฮวา เราก็จะยิ่งอยากบอกให้คนอื่นรู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ดีแค่ไหน ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรที่จะยิ่งใหญ่กว่าการช่วยคนอื่นให้มารู้จักและรักพ่อในสวรรค์ของเรา
17. เราจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเรารักและเกรงกลัวพระยะโฮวา และทำไมเราต้องนมัสการพระองค์อย่างสุดหัวใจ?
17 การนมัสการพระยะโฮวาควรมีผลกับทุกอย่างที่เราทำในชีวิต (โคโลสี 3:23) ถ้าเรายอมรับว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด เราก็จะพยายามทำทุกอย่างในแบบที่พระองค์พอใจ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราอยู่ในที่ทำงาน อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนอื่น หรือแม้แต่ตอนที่เราอยู่คนเดียว นอกจากนั้น เราจะพยายามรับใช้พระยะโฮวา “อย่างสุดหัวใจ” (1 พงศาวดาร 28:9) ดังนั้น เราจะไม่ทำเป็นว่ารับใช้พระยะโฮวาแต่ก็ยังแอบทำสิ่งที่พระองค์เกลียด เราไม่มีวันคิดที่จะทำอย่างนั้นเพราะเรารักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์อย่างสุดหัวใจ ความเกรงกลัวพระเจ้าจะช่วยเราให้รับใช้พระองค์สุดหัวใจด้วย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคนที่เกรงกลัวพระองค์เท่านั้นที่จะเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้—สดุดี 25:14
เลียนแบบพระยะโฮวา
18, 19. ทำไมถึงบอกได้ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบก็เลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าได้?
18 บทสุดท้ายของแต่ละตอนในหนังสือเล่มนี้บอกวิธีที่เราจะ “เลียนแบบพระเจ้าอย่างลูกที่รักของพระองค์” ได้ (เอเฟซัส 5:1) เราควรจำไว้ว่าถึงจะเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ยังเลียนแบบวิธีที่พระยะโฮวาใช้อำนาจ แสดงความยุติธรรม สติปัญญา และความรักได้ด้วย แต่เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าเราจะทำแบบนั้นได้จริง ๆ? เราได้เรียนแล้วว่าชื่อของพระยะโฮวาหมายถึงพระองค์จะเป็นอะไรก็ได้เพื่อทำให้ความประสงค์ของพระองค์เกิดขึ้นจริง เรารู้สึกทึ่งจริง ๆ ที่พระองค์ทำอย่างนั้นได้ ถึงแม้เราจะไม่มีความสามารถแบบนั้น แต่เราก็ยังเลียนแบบพระยะโฮวาได้
19 เราถูกสร้างตามแบบพระเจ้า (ปฐมกาล 1:26) ดังนั้น เราเลยไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นที่อยู่บนโลก เราไม่ได้ทำสิ่งต่าง ๆ โดยถูกกระตุ้นจากสัญชาตญาณ พันธุกรรม หรือสิ่งที่อยู่รอบ ๆ เราเท่านั้น พระยะโฮวาให้เรามีอิสระในการเลือกที่เป็นเหมือนของขวัญที่มีค่า ถึงแม้เราไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังเลือกเองได้ว่าเราอยากจะเป็นคนแบบไหน อย่าลืมว่าชื่อของพระเจ้ายังหมายความว่าพระองค์จะทำให้ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นอะไรก็ได้ตามที่พระองค์อยากให้เป็น คุณอยากเป็นคนที่แสดงความรัก มีสติปัญญา และใช้อำนาจอย่างยุติธรรมไหม? พระยะโฮวาจะใช้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยคุณให้เป็นคนแบบนั้นได้แน่นอน แล้วจะมีผลดีอะไรบ้างถ้าคุณทำแบบนั้น?
20. จะมีผลดีอะไรบ้างถ้าเราเลียนแบบพระยะโฮวา?
20 คุณจะทำให้พ่อในสวรรค์ของคุณดีใจ (สุภาษิต 27:11) ถึงแม้คุณไม่สมบูรณ์แบบ แต่คุณก็ยังทำให้พระยะโฮวา “พอใจเสมอ” ได้เพราะพระองค์รู้ดีว่าคุณมีขีดจำกัดอะไรบ้าง (โคโลสี 1:9, 10) ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะเลียนแบบคุณลักษณะที่ดีของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป คุณก็จะมีสิทธิพิเศษที่ได้บอกความจริงที่เป็นเหมือนแสงสว่างให้กับผู้คนในโลกที่มืดมนที่ไม่รู้จักพระเจ้า (มัทธิว 5:1, 2, 14) และคุณยังแสดงคุณลักษณะที่ดีของพระยะโฮวากับคนอื่นและช่วยพวกเขาให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ยอดเยี่ยมขนาดไหน
“เข้าไปใกล้ชิดกับพระเจ้า แล้วพระองค์จะเข้ามาใกล้ชิดกับคุณ”
21, 22. ทุกคนที่รักพระยะโฮวาจะทำอะไรได้ตลอดไป?
21 การใกล้ชิดกับพระยะโฮวาตามที่ยากอบ 4:8 บอกไว้ไม่ได้เป็นการทำแค่ครั้งเดียวหรือทำแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น แต่เราอยากจะซื่อสัตย์กับพระยะโฮวาตลอดไปและใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ได้ อย่าลืมว่าหนังสือนี้พูดถึงแค่บางแง่มุมที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาเท่านั้น และไม่ได้สอนทั้งหมดเกี่ยวกับพระองค์ เพราะแม้แต่คัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ได้บอกให้เรารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับพระองค์ อัครสาวกยอห์นบอกว่าถ้าเขียนทุกอย่างที่พระเยซูทำตอนที่ท่านรับใช้บนโลกแล้ว “โลกนี้คงไม่มีที่พอจะเก็บม้วนหนังสือทั้งหมดนั้นได้” (ยอห์น 21:25) ถ้าคำพูดนี้เป็นจริงกับลูกของพระเจ้าก็ต้องเป็นอย่างนั้นกับพระยะโฮวาด้วย
22 แม้เราจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป เราก็ยังจะได้เรียนรู้อีกมากมายเกี่ยวกับพระยะโฮวา (ปัญญาจารย์ 3:11) ลองคิดดูสิว่าเราจะเรียนอะไรได้อีกบ้าง เมื่อเรามีชีวิตอยู่ได้เป็นร้อยเป็นพันปีหรือแม้แต่หลายล้านปี เราจะได้รู้จักพระองค์มากกว่าตอนนี้เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าประทับใจเกี่ยวกับพระองค์ที่เรายังไม่รู้ และเราจะอยากรู้จักพระองค์มากขึ้นอีก เราจะรู้สึกเหมือนกับผู้เขียนหนังสือสดุดีที่บอกว่า “เป็นเรื่องดีที่ผมเข้ามาใกล้พระเจ้า” (สดุดี 73:28) ชีวิตตลอดไปในโลกใหม่จะเป็นชีวิตที่ดียอดเยี่ยมจริง ๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ
23. พระยะโฮวาอยากให้คุณทำอะไร?
23 ขอให้คุณรักพระยะโฮวาสุดหัวใจ สุดชีวิต สุดความคิด และสุดกำลังของคุณ (มาระโก 12:29, 30) ขอให้คุณรักพระยะโฮวาอย่างมั่นคง ทุกครั้งที่คุณตัดสินใจไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ก็ให้คุณตัดสินใจในแบบที่จะทำให้คุณสนิทกับพ่อในสวรรค์มากขึ้น ขอให้คุณเข้าไปใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ตอนนี้ แล้วคุณกับพระองค์จะใกล้ชิดกันตลอดไป