บทความศึกษา 15
คุณมองผู้คนในเขตอย่างไร?
“เงยหน้ามองดูทุ่งนาสิ รวงข้าวเหลืองอร่ามพร้อมจะเกี่ยวได้แล้ว”—ยน. 4:35
เพลง 64 มีส่วนร่วมในงานเกี่ยวอย่างมีความสุข
ใจความสำคัญa
1-2. คำพูดของพระเยซูที่ยอห์น 4:35, 36 หมายถึงอะไร?
ตอนที่พระเยซูไปกาลิลี ท่านผ่านทุ่งนาซึ่งน่าจะเป็นทุ่งข้าวบาร์เลย์ที่เพิ่งโต (ยน. 4:3-6) กว่าข้าวพวกนี้จะเกี่ยวได้ก็ต้องรออีกประมาณ 4 เดือน เลยเป็นเรื่องแปลกที่พระเยซูบอกว่า “เงยหน้ามองดูทุ่งนาสิ รวงข้าวเหลืองอร่ามพร้อมจะเกี่ยวได้แล้ว” (อ่านยอห์น 4:35, 36) พระเยซูกำลังหมายถึงอะไร?
2 ดูเหมือนว่าพระเยซูหมายถึงการรวบรวมผู้คนไม่ใช่การเกี่ยวข้าว ขอให้คิดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ปกติแล้วชาวยิวจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวสะมาเรีย แต่พระเยซูประกาศกับผู้หญิงสะมาเรียคนหนึ่ง แล้วเธอก็ฟังท่านด้วย ที่จริงตอนพระเยซูบอกว่า “รวงข้าวเหลืองอร่ามพร้อมจะเกี่ยวได้แล้ว” ฝูงชนชาวสะมาเรียที่ได้ยินเรื่องพระเยซูจากผู้หญิงคนนี้ก็กำลังมาหาท่านเพื่อจะเรียนจากท่านมากขึ้น (ยน. 4:9, 39-42) หนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งบอกว่า “ความกระตือรือร้นของผู้คนเหล่านั้น . . . แสดงว่าพวกเขาเป็นเหมือนข้าวที่พร้อมจะเกี่ยวได้แล้ว”
3. ถ้าคุณมองผู้คนเหมือนที่พระเยซูมอง นั่นจะมีผลกับการประกาศของคุณอย่างไร?
3 แล้วคุณล่ะมองคนที่คุณประกาศข่าวดีด้วยอย่างไร? คุณมองว่าพวกเขาเป็นเหมือนข้าวที่พร้อมจะเกี่ยวไหม? ถ้าคุณคิดอย่างนั้น คุณก็จะทำ 3 อย่างนี้ อย่างแรก คุณจะประกาศอย่างเร่งด่วนมากขึ้น เพราะคุณรู้ว่าช่วงเก็บเกี่ยวเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ ซึ่งคุณจะเสียเวลาไม่ได้ อย่างที่สอง คุณจะมีความสุขที่ได้เห็นผู้คนตอบรับข่าวดี เหมือนที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึง “คนที่ชื่นบานในฤดูเกี่ยว” (อสย. 9:3) อย่างที่สาม คุณจะมองว่าทุกคนที่คุณคุยด้วยมีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูได้ และคุณก็จะปรับวิธีพูดของคุณให้เป็นแบบที่พวกเขาจะสนใจ
4. บทความนี้เราจะเรียนอะไรจากตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล?
4 สาวกบางคนของพระเยซูอาจคิดว่าไม่มีทางที่ชาวสะมาเรียจะเข้ามาเป็นสาวกได้ แต่พระเยซูไม่ได้คิดอย่างนั้น ท่านมองว่าพวกเขามีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของท่านได้ เราต้องเลียนแบบพระเยซูโดยมองว่าผู้คนในเขตของเรามีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ได้ อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เราจะเรียนอะไรจากตัวอย่างของเขา? ในบทความนี้เราจะคุยกันว่าเราเรียนอะไรจากการที่เปาโล (1) รู้ว่าคนที่เขาคุยด้วยเชื่ออะไร (2) รู้ว่าคนที่เขาคุยด้วยสนใจอะไร (3) มองว่าผู้คนมีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู
พวกเขาเชื่ออะไร?
5. ทำไมเปาโลเข้าใจคนที่ฟังเขาในที่ประชุมของชาวยิว?
5 เปาโลประกาศในที่ประชุมของชาวยิวบ่อย ๆ เช่น ในเมืองเธสะโลนิกา “เขายกเหตุผลจากพระคัมภีร์คุยกับ [ชาวยิว] 3 วันสะบาโตติดกัน” (กจ. 17:1, 2) เปาโลคงไม่รู้สึกกลัวหรือเกร็งเมื่ออยู่ในที่ประชุมของชาวยิว เพราะเขาเองก็เป็นชาวยิว (กจ. 26:4, 5) เปาโลเข้าใจชาวยิว เขาเลยประกาศด้วยความมั่นใจ—ฟป. 3:4, 5
6. คนที่เปาโลประกาศด้วยในตลาดที่เอเธนส์ต่างกันอย่างไรกับคนในที่ประชุมของชาวยิว?
6 เปาโลเจอพวกผู้ต่อต้านจนต้องออกจากเมืองเธสะโลนิกาและเมืองเบโรอา พอไปถึงกรุงเอเธนส์ เขาก็ทำเหมือนเดิมอีก เปาโล “ไปที่ประชุมของชาวยิวแล้วยกเหตุผลคุยกับชาวยิวและคนอื่นที่นับถือพระเจ้า” (กจ. 17:17) แต่พอเขาไปประกาศในตลาด คนที่นั่นต่างกันมากกับคนในที่ประชุมของชาวยิว คนที่เปาโลประกาศด้วยมีทั้งพวกนักปรัชญาและคนต่างชาติที่มองว่าเรื่องที่เปาโลประกาศเป็น “คำสอนใหม่” พวกเขาบอกเปาโลว่า “เรื่องที่คุณพูดฟังดูแปลก”—กจ. 17:18-20
7. จากกิจการ 17:22, 23 เปาโลปรับวิธีประกาศอย่างไร?
7 อ่านกิจการ 17:22, 23 เมื่อเปาโลประกาศกับคนต่างชาติที่กรุงเอเธนส์ เขาไม่ได้พูดเหมือนตอนที่ประกาศในที่ประชุมของชาวยิว เปาโลคงถามตัวเองว่า ‘คนในตลาดที่เอเธนส์เชื่ออะไร?’ เขามองดูรอบ ๆ และสังเกตธรรมเนียมศาสนาของพวกเขา หลังจากนั้น เขาก็พยายามหาจุดที่เหมือนกันระหว่างความเชื่อของคนที่นั่นกับความจริงในพระคัมภีร์ นักวิจารณ์ด้านคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เปาโลเป็นคริสเตียนชาวยิว เขารู้ว่าคนกรีกที่นมัสการพระเท็จไม่ได้นมัสการพระเจ้า ‘เที่ยงแท้’ ที่ชาวยิวและคริสเตียนนมัสการ แต่เขาพยายามทำให้ชาวเอเธนส์รู้ว่าพระเจ้าที่เขาพูดถึง เป็นพระเจ้าที่ชาวเอเธนส์คุ้นเคยอยู่แล้ว” เปาโลจึงเต็มใจปรับวิธีพูด เขาบอกกับชาวเอเธนส์ว่าเรื่องที่เขาประกาศมาจาก “พระเจ้าที่ไม่รู้จัก” ที่พวกเขาพยายามกราบไหว้ ถึงคนต่างชาติจะไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ แต่เปาโลก็ไม่ได้คิดว่าพวกเขาไม่มีวันจะเข้ามาเป็นคริสเตียนได้ เปาโลมองว่าพวกเขาเป็นเหมือนข้าวที่พร้อมจะเกี่ยวได้แล้ว และเขาปรับวิธีประกาศข่าวดี
8. (ก) คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคนในเขตนับถือศาสนาอะไร? (ข) ถ้าบางคนบอกว่ามี ศาสนาอยู่แล้ว คุณอาจตอบเขาอย่างไร?
8 คุณต้องช่างสังเกตเหมือนเปาโล ตอนไปประกาศให้พยายามมองหาสิ่งที่ช่วยคุณให้รู้ว่าคนในเขตเชื่อเรื่องอะไร เช่น คนที่คุณคุยด้วยแต่งบ้านหรือรถของเขาอย่างไร? ชื่อของเขา การแต่งตัว หรือคำศัพท์ที่เขาพูดทำให้รู้ไหมว่าเขานับถือศาสนาอะไร? บางครั้งเขาอาจบอกคุณตรง ๆ ว่าเขานับถือศาสนาอะไร ตอนที่ฟลูทูร่าที่เป็นไพโอเนียร์พิเศษเจอแบบนี้ เธอจะตอบว่า “ฉันไม่ได้มาเพื่อบังคับคุณให้เชื่อเหมือนฉัน แต่ฉันมาเพื่อจะคุยกับคุณเรื่อง . . . ”
9. คุณคิดว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เราคิดเหมือนกับคนที่เคร่งศาสนาซึ่งจะใช้คุยกับเขาได้?
9 เรื่องอะไรบ้างที่คุณจะคุยกับคนเคร่งศาสนาได้? ให้คุณพยายามหาจุดที่คิดเหมือนกัน เขาอาจจะนมัสการพระเจ้าองค์เดียว อาจเชื่อว่าพระเยซูเป็นผู้ช่วยมนุษย์ให้รอด หรือเชื่อว่าตอนนี้เป็นยุคสมัยที่เลวร้ายและอีกไม่นานก็จะถึงจุดจบ แล้วก็ใช้จุดนั้นคุยกับเขาเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ถ้าคุณทำอย่างนั้น เขาก็อาจสนใจฟังคุณมากขึ้น
10. เราควรพยายามทำอะไร? ทำไมเราควรทำอย่างนั้น?
10 คุณต้องจำไว้ว่าผู้คนอาจไม่ได้เชื่อทุกสิ่งที่ศาสนาของพวกเขาสอน ถึงคุณจะรู้แล้วว่าคนที่คุณคุยด้วยนับถือศาสนาอะไร แต่คุณต้องพยายามหาว่าจริง ๆ แล้วตัวเขาเชื่ออะไร ไพโอเนียร์พิเศษที่ชื่อเดวิดในออสเตรเลียบอกว่า “ตอนนี้หลายคนผสมปรัชญากับศาสนาเข้าด้วยกัน” โดนัลต้าพี่น้องหญิงที่รับใช้ในแอลเบเนียบอกว่า “ในตอนแรกที่คุยกัน บางคนดูเหมือนว่าจะนับถือศาสนาที่เชื่อพระเจ้า แต่พอตอนหลังก็มารู้ว่าพวกเขาไม่ได้เชื่อพระเจ้า” พี่น้องชายคนหนึ่งที่เป็นมิชชันนารีในอาร์เจนตินาสังเกตว่าบางคนที่บอกว่าเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพ จริง ๆ ก็ไม่เชื่อว่าพระเจ้า พระเยซู และพลังบริสุทธิ์รวมเป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน เขาบอกว่า “ผมจะพยายามจำไว้เสมอว่าคนที่ผมคุยด้วยอาจไม่ได้เชื่อทุกเรื่องที่ศาสนาของเขาสอน พอคิดแบบนี้มันก็ง่ายขึ้นเยอะเลยที่ผมจะหาจุดที่คิดเหมือนกัน” ดังนั้น พยายามมองให้ออกว่าคนที่คุณคุยด้วยเชื่ออะไรจริง ๆ ถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณก็จะเป็นเหมือนเปาโลที่ “ปรับตัวเป็นคนทุกชนิด”—1 คร. 9:19-23
พวกเขาสนใจอะไร?
11. ตามกิจการ 14:14-17 เปาโลประกาศในแบบที่น่าสนใจสำหรับชาวเมืองลิสตราอย่างไร?
11 อ่านกิจการ 14:14-17 พอเปาโลรู้ว่าคนที่เขาคุยด้วยสนใจอะไร เขาก็ปรับวิธีพูดของเขา ตัวอย่างเช่น ตอนคุยกับชาวเมืองลิสตราที่รู้พระคัมภีร์แค่นิดหน่อยหรืออาจไม่รู้เลย เปาโลก็พูดในแบบที่พวกเขาเข้าใจได้ เขาพูดถึงการเก็บเกี่ยวพืชผลและทำอย่างไรถึงจะมีความสุข เขาใช้คำพูดและตัวอย่างที่คนที่ฟังเขาจะเข้าใจได้ง่าย ๆ
12. เพื่อคุณจะปรับวิธีประกาศได้ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้คนสนใจอะไร?
12 พยายามดูว่าคนในเขตสนใจอะไรและปรับคำพูดของคุณ แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาสนใจอะไร? เหมือนที่พูดถึงก่อนหน้านี้ คุณต้องช่างสังเกต บางทีเขาอาจกำลังทำสวน อ่านหนังสือ ซ่อมรถ หรือทำอะไรบางอย่างอยู่ ถ้าเห็นว่าเหมาะคุณอาจเริ่มคุยกับเขาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาทำอยู่ (ยน. 4:7) แม้แต่เสื้อผ้าที่ใส่ก็อาจทำให้รู้บางอย่างเกี่ยวกับคนนั้น เช่น เชื้อชาติ อาชีพ หรือทีมกีฬาที่เขาชอบ กุสตาโวบอกว่า “ผมคุยกับผู้ชายคนหนึ่งอายุ 19 เสื้อที่เขาใส่มีรูปนักร้องชื่อดัง ผมเลยคุยเรื่องนั้นกับเขา เขาเล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงชอบนักร้องคนนี้ การคุยกันครั้งนั้นทำให้เขาศึกษาคัมภีร์กับผมและเข้ามาเป็นพี่น้อง”
13. คุณจะพูดเรื่องการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างไรให้ผู้คนสนใจ?
13 เมื่อชวนบางคนศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ให้คุณทำในแบบที่น่าสนใจสำหรับเขา และทำให้เขาเห็นว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจะเป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร (ยน. 4:13-15) พี่น้องหญิงที่ชื่อป๊อปปี้คุยกับผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้สึกสนใจ เธอเชิญป๊อปปี้เข้าไปในบ้าน พอป๊อปปี้เห็นใบประกาศนียบัตรที่ติดบนผนัง เธอก็รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นศาสตราจารย์ด้านการศึกษา ป๊อปปี้เลยเน้นกับเธอว่าพวกเราก็กำลังให้การศึกษากับผู้คนเหมือนกันโดยมีโครงการสอนคัมภีร์ไบเบิลและมีการประชุมที่หอประชุม ผู้หญิงคนนั้นอยากศึกษาและไปประชุมในวันถัดไป หลังจากนั้นเธอไปประชุมหมวด และหนึ่งปีต่อมาเธอก็รับบัพติศมา ขอให้คุณถามตัวเองว่า ‘คนที่ฉันกลับไปเยี่ยมสนใจอะไร? ฉันจะพูดเรื่องการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลยังไงให้เขาสนใจ?’
14. คุณจะปรับการศึกษาให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคนได้อย่างไร?
14 เมื่อสอนคัมภีร์ไบเบิลกับนักศึกษา ให้คุณเตรียมตัวสำหรับนักศึกษาแต่ละราย ให้คิดถึงภูมิหลังและสิ่งที่แต่ละคนสนใจ ตอนเตรียมให้คิดดูว่าจะใช้ข้อคัมภีร์ข้อไหน เปิดวีดีโออะไร และใช้ตัวอย่างอะไรเพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจความจริง ให้ถามตัวเองว่า ‘นักศึกษาคนนี้สนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษและฉันต้องทำอะไรถึงจะเข้าถึงใจเขาได้?’ (สภษ. 16:23) ฟลอร่ารับใช้เป็นไพโอเนียร์ในแอลเบเนีย นักศึกษาคนหนึ่งพูดกับเธอตรง ๆ ว่า “ยังไงฉันก็ไม่เชื่อคำสอนเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายหรอก” ฟลอร่าไม่ได้บังคับเธอให้เชื่อเรื่องนี้ทันที ฟลอร่าบอกว่า “ฉันคิดว่าก่อนที่เธอจะเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายได้ เธอต้องรู้จักพระเจ้าที่สัญญาเรื่องนี้ก่อน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกครั้งที่ศึกษาด้วยกัน ฟลอร่าพยายามเน้นความรัก สติปัญญา และอำนาจของพระยะโฮวา หลังจากนั้น นักศึกษาของเธอก็เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย ตอนนี้ผู้หญิงคนนั้นเป็นพยานพระยะโฮวาที่ขยันขันแข็ง
มองพวกเขาว่าจะเป็นสาวกคนหนึ่งได้
15. จากกิจการ 17:16-18 อะไรที่ทำให้เปาโลไม่สบายใจ? แต่ทำไมเขาไม่เลิกประกาศกับคนเอเธนส์?
15 อ่านกิจการ 17:16-18 เปาโลไม่ได้หมดหวังในคนเอเธนส์ถึงแม้ว่าคนที่นั่นจะไหว้รูปเคารพ ทำผิดศีลธรรมทางเพศ และเชื่อปรัชญาแบบโลก เปาโลไม่เลิกประกาศกับคนเอเธนส์ถึงแม้คนที่นั่นจะดูถูกเขา จริง ๆ แล้วเปาโลเองก็เข้ามาเป็นคริสเตียนทั้ง ๆ ที่เขาเองก็เคยเป็น “คนหมิ่นประมาทพระเจ้า ข่มเหงคนของพระองค์ และเป็นคนอวดดี” (1 ทธ. 1:13) เหมือนที่พระเยซูเคยมองว่าเปาโลมีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของท่านได้ เปาโลก็มองคนเอเธนส์ว่ามีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูได้เหมือนกัน และเขาก็ไม่ผิดหวัง—กจ. 9:13-15; 17:34
16-17. อะไรทำให้เห็นว่าผู้คนเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูได้ไม่ว่าจะมาจากภูมิหลังแบบไหน? ขอยกตัวอย่าง
16 ในศตวรรษแรกมีคนจากหลายภูมิหลังเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู เมื่อเปาโลเขียนจดหมายถึงคริสเตียนในโครินธ์ซึ่งเป็นเมืองของชาวกรีก เขาบอกว่าพี่น้องบางคนในประชาคมนั้นเคยเป็นอาชญากรหรือไม่ก็ใช้ชีวิตแบบผิดศีลธรรม จากนั้นเขาก็บอกว่า “พวกคุณบางคนเคยเป็นอย่างนั้น แต่พระเจ้าชำระพวกคุณให้สะอาดแล้ว” (1 คร. 6:9-11) ถ้าเป็นคุณ คุณจะมองคนแบบนั้นว่ามีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและเข้ามาเป็นสาวกไหม?
17 ทุกวันนี้มีหลายคนเต็มใจเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู ตัวอย่างเช่น ไพโอเนียร์พิเศษที่ชื่อยูกีน่าที่รับใช้ในประเทศออสเตรเลียได้เรียนรู้ว่าไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหนก็อาจสนใจคัมภีร์ไบเบิลได้ วันหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เธอเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีรอยสัก ยูกีน่าบอกว่า “ทีแรกฉันไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปคุยกับเธอดีไหม แต่พอฉันเข้าไปคุยก็รู้ว่าเธอสนใจคัมภีร์ไบเบิลมาก จริง ๆ แล้ว รอยสักของเธอเป็นข้อคัมภีร์จากหนังสือสดุดีด้วย” ในที่สุดผู้หญิงคนนั้นเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเธอและมาประชุมb
18. ทำไมเราไม่ควรตัดสินคนอื่น?
18 พระเยซูคาดหมายว่าทุกคนจะมาเป็นสาวกของท่านไหม เมื่อท่านบอกว่าทุ่งนาพร้อมให้เก็บเกี่ยว? ไม่ใช่ คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่าจะมีแค่ไม่กี่คนที่มีความเชื่อในตัวท่าน (ยน. 12:37, 38) พระเยซูอ่านใจคนได้และรู้ว่าหลายคนจะไม่สนใจสิ่งที่ท่านสอน (มธ. 9:4) ถึงท่านจะสนใจคนไม่กี่คนที่มีความเชื่อในตัวท่านเป็นพิเศษ แต่ท่านก็ยังขยันประกาศกับทุกคน เราอ่านหัวใจใครไม่ได้ เรายิ่งไม่ควรตัดสินว่าเขตไหนหรือคนไหนจะไม่สนใจ แต่ให้เรามองว่าผู้คนมีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูได้ มาร์คที่รับใช้เป็นมิชชันนารีในบูร์กินาฟาโซบอกว่า “คนที่ผมคิดว่าจะก้าวหน้ากลับเลิกศึกษา ส่วนคนที่ดูไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่กลับก้าวหน้าดีมาก ผมเลยได้เรียนรู้ว่าเพื่อจะเจอคนที่เสาะหาความจริง เราต้องให้พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาชี้นำ”
19. เราควรมองผู้คนในเขตอย่างไร?
19 ดูเผิน ๆ เหมือนมีคนไม่มากในเขตของเราที่เป็นเหมือนข้าวที่พร้อมจะเกี่ยว แต่ขอจำสิ่งที่พระเยซูบอกกับสาวกของท่าน ท่านบอกว่าทุ่งนาเหลืองอร่ามพร้อมเกี่ยวแล้ว ผู้คนสามารถเปลี่ยนและเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ได้ พระยะโฮวาเชื่อว่าผู้คนในเขตของเรามีโอกาสเป็นสาวกและเป็น “สิ่งมีค่า” (ฮกก. 2:7) ถ้าเรามองผู้คนในเขตเหมือนที่พระยะโฮวาและพระเยซูมอง เราจะพยายามหาว่าพวกเขาสนใจอะไร และพยายามเข้าใจภูมิหลังของพวกเขา เราจะไม่มองพวกเขาในแง่ลบหรือมองว่าพวกเขาเป็นคนแปลกหน้า แต่จะมองว่าพวกเขามีโอกาสเป็นพี่น้องของเราได้ในวันข้างหน้า
เพลง 57 ประกาศกับคนทุกชนิด
a มุมมองที่เรามีต่อคนในเขตมีผลต่อการประกาศและการสอนของเราอย่างไร? บทความนี้เราจะได้ดูว่าพระเยซูและอัครสาวกเปาโลมองผู้คนอย่างไร และดูว่าเราจะเลียนแบบทั้งสองคนอย่างไรโดยคิดถึงสิ่งที่คนในเขตของเราเชื่อและสนใจ และมองว่าพวกเขามีโอกาสเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูได้
b บทความชุด “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน” มีตัวอย่างของอีกหลายคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิต บทความชุดนี้อยู่ในหอสังเกตการณ์ จนถึงปี 2017 ตอนนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ jw.org® ไปที่เกี่ยวกับเรา > ประสบการณ์
c คำอธิบายภาพ ตอนไปประกาศตามบ้าน สามีภรรยาคู่หนึ่งสังเกตว่า (1) บ้านนี้มีคนดูแลอย่างดีและปลูกดอกไม้ (2) บ้านนี้มีเด็ก (3) บ้านนี้รกและไม่มีใครดูแลทั้งข้างในข้างนอก (4) บ้านนี้เคร่งศาสนา คุณคิดว่าคนในบ้านไหนมีโอกาสมาเป็นสาวกได้มากที่สุด?