คุณจะมีฐานะเช่นไรเมื่ออยู่ต่อหน้าบัลลังก์พิพากษา?
“เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์ พร้อมด้วยหมู่ทูตสวรรค์ทั้งสิ้น ครั้นแล้วพระองค์จะทรงประทับบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์.”—มัดธาย 25:31, ล.ม.
1-3. พวกเรามีเหตุผลอะไรที่จะมองในแง่ดีเกี่ยวกับความยุติธรรม?
‘มีความผิดหรือไม่มีความผิด?’ หลายคนรู้สึกสงสัยเมื่อเขาได้ฟังรายงานคำตัดสินบางคดีในศาล. ผู้พิพากษาและคณะลูกขุนอาจพยายามเป็นคนซื่อตรง ทว่าความยุติธรรมชนะเสมอไปไหม? คุณเคยได้ยินมามิใช่หรือเกี่ยวกับความอยุติธรรมและฉันทาคติในขบวนการพิจารณาคดี? ความอยุติธรรมเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังเราได้เรียนจากอุทาหรณ์ของพระเยซูในพระธรรมลูกา 18:1-8.
2 ไม่ว่าประสบการณ์อะไรก็ตามที่คุณได้พบเห็นเกี่ยวกับความอยุติธรรมของมนุษย์ ขอให้สังเกตข้อสรุปของพระเยซูที่ว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงแก้แค้นให้คนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้หรือ. เมื่อเขาร้องถึงพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน . . . เราบอกท่านทั้งหลายว่า, พระองค์จะทรงแก้แค้นให้เขาโดยเร็ว แต่เมื่อบุตรมนุษย์จะมา. ท่านจะพบความเชื่อในแผ่นดินโลกหรือ.”
3 ใช่แล้ว พระยะโฮวาจะทรงคอยดูแลว่า ในที่สุดผู้รับใช้ของพระองค์ต้องได้รับความยุติธรรม. พระเยซูทรงมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย โดยเฉพาะเวลานี้เนื่องจากพวกเรากำลังอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” แห่งระบบปัจจุบันที่ชั่ว. อีกไม่นาน พระยะโฮวาจะทรงใช้พระบุตรผู้ทรงอานุภาพให้ขจัดความชั่วหมดสิ้นจากแผ่นดินโลก. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; 2 เธซะโลนิเก 1:7, 8; วิวรณ์ 19:11-16) เราสามารถได้ความหยั่งเห็นเข้าใจบทบาทของพระเยซูจากอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนอุทาหรณ์เรื่องท้าย ๆ ของพระองค์.
4. พวกเราได้เข้าใจว่าอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะจะสำเร็จเมื่อไร แต่ทำไมเวลานี้เราจะมุ่งความสนใจไปที่อุทาหรณ์? (สุภาษิต 4:18)
4 พวกเราเคยเข้าใจมานานแล้วว่า อุทาหรณ์เรื่องนี้แสดงภาพพระเยซูประทับลงบนบัลลังก์ฐานะเป็นกษัตริย์ในปีสากลศักราช 1914 และทรงดำเนินงานพิพากษาตัดสินตั้งแต่นั้นมา—ให้ชีวิตนิรันดร์แก่ประชาชนที่พิสูจน์ตัวเสมือนแกะ และความตายตลอดกาลสำหรับจำพวกแพะ. แต่การพิจารณาอุทาหรณ์อย่างละเอียดอีกทีหนึ่งชี้ไปถึงความเข้าใจที่รับการแก้ไขเกี่ยวกับกำหนดเวลาและนัยของอุทาหรณ์. การปรับปรุงความเข้าใจนี้เสริมความสำคัญของงานประกาศเผยแพร่และความหมายของการตอบรับของประชาชน. ที่จะทราบพื้นฐานสำหรับความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่องอุทาหรณ์นี้ ให้เราพิจารณาสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นเกี่ยวด้วยพระยะโฮวาและพระเยซู ทั้งในฐานะพระมหากษัตริย์และผู้พิพากษา.
พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุด
5, 6. เหตุใดจึงนับว่าเหมาะสมที่จะคำนึงถึงพระยะโฮวาฐานะทั้งองค์บรมมหากษัตริย์และผู้พิพากษา?
5 พระยะโฮวาทรงปกครองทั่วทั้งเอกภพด้วยอำนาจเหนือสิ่งสารพัด. เนื่องจากไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย พระองค์ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล.” (1 ติโมเธียว 1:17, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 90:2, 4; วิวรณ์ 15:3) พระองค์ทรงมีอำนาจออกพระราชบัญญัติหรือกฎหมาย และทรงดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายเหล่านี้. แต่อำนาจของพระองค์หมายรวมถึงการเป็นผู้พิพากษาด้วย. ยะซายา 33:22 (ล.ม. ฉบับแปลเก่าข้อ 23) บอกดังนี้: “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาของเรา พระยะโฮวาทรงเป็นผู้บัญญัติกฎหมายของเรา พระยะโฮวาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา พระองค์เองจะช่วยเราให้รอด.”
6 เหล่าผู้รับใช้ของพระเจ้าได้ยอมรับมานานแล้วว่า พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีและประเด็นต่าง ๆ. ยกตัวอย่าง หลังจาก “ผู้พิพากษาทั้งโลก” ได้พิจารณาหลักฐานความชั่วร้ายของเมืองโซโดมและเมืองโกโมร์ราห์แล้ว พระองค์ทรงตัดสินชาวเมืองเหล่านั้นว่าสมควรถูกทำลาย ทั้งทรงดำเนินการให้เป็นไปตามการตัดสินที่เป็นธรรม. (เยเนซิศ 18:20-33; โยบ 34:10-12) เรื่องนี้น่าจะทำให้เรามั่นใจเพียงไรที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาที่ชอบธรรม ผู้ทรงสามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามการตัดสินชี้ขาดของพระองค์ได้ทุกกรณี.
7. พระยะโฮวาได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาอย่างไรเมื่อทรงดำเนินการกับชาติยิศราเอล?
7 สมัยยิศราเอลโบราณ บางครั้งพระยะโฮวาทรงพิพากษาตัดสินโดยตรง. หากคุณอยู่สมัยนั้น คุณคงรู้สึกโล่งใจมิใช่หรือเมื่อรู้ว่าผู้พิพากษาองค์สมบูรณ์พร้อมทรงตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ? (เลวีติโก 24:10-16; อาฤธโม 15:32-36; 27:1-11) อนึ่ง พระเจ้าทรงจัดให้มี “ข้อพิพากษา” ซึ่งล้วนแต่ดีเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินชี้ขาด. (เลวีติโก 25:18, 19; นะเฮมยา 9:13; บทเพลงสรรเสริญ 19:9, 10; 119:7, 75, 164; 147:19, 20) พระองค์ทรงเป็น “ผู้พิพากษาทั้งโลก” เหตุฉะนั้น พวกเราทุกคนได้รับผลกระทบ.—เฮ็บราย 12:23.
8. ดานิเอลได้เห็นภาพนิมิตอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้?
8 พวกเรามี “ประจักษ์พยาน” เกี่ยวกับเรื่องนี้. ผู้พยากรณ์ดานิเอลได้รับภาพนิมิตสัตว์ร้ายซึ่งเป็นภาพเล็งถึงรัฐบาลต่าง ๆ หรือจักรวรรดิ. (ดานิเอล 7:1-8, 17) ท่านเพิ่มเติมว่า “มีพระที่นั่งมาตั้งลงหลายพระที่, และผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ทรงประทับลง. ฉลองพระองค์ขาวดังหิมะ.” (ดานิเอล 7:9) พึงสังเกตว่า ดานิเอลได้เห็นหลายพระที่นั่ง “และผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ [พระยะโฮวา] ทรงประทับลง.” ถามตัวเองสิว่า ‘ตอนนั้นดานิเอลเป็นพยานรู้เห็นพระเจ้าขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์ไหม?’
9. อะไรคือความหมายอย่างหนึ่งของ ‘การประทับลง’ บนบัลลังก์? จงยกตัวอย่าง.
9 เมื่อเราอ่านว่าบางคน “ประทับลง” บนพระที่นั่ง เราอาจคิดถึงการที่ผู้นั้นได้ขึ้นครองราชย์ เพราะบางครั้งคัมภีร์ไบเบิลได้ใช้คำพูดดังกล่าว. ยกตัวอย่าง: “พอซิมรีขึ้นเสวยราชย์และประทับบนพระที่นั่ง . . . ” (1 กษัตริย์ 16:11; 2 กษัตริย์ 10:30; 15:12; ยิระมะยา 33:17) คำพยากรณ์ที่กล่าวถึงพระมาซีฮาบอกดังนี้: “ท่าน . . . จะได้นั่งประทับอยู่เหนือพระที่นั่งของท่าน.” ฉะนั้น ที่จะ “ประทับอยู่เหนือพระที่นั่ง” อาจหมายถึงการขึ้นครองเป็นกษัตริย์. (ซะคาระยา 6:12, 13) มีการพรรณนาว่าพระยะโฮวาเป็นกษัตริย์ทรงประทับบนราชบัลลังก์. (1 กษัตริย์ 22:19; ยะซายา 6:1; วิวรณ์ 4:1-3) พระองค์ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล.” ถึงกระนั้น เมื่อพระองค์ทรงแถลงแง่มุมใหม่เกี่ยวด้วยพระบรมเดชานุภาพ จึงอาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงขึ้น ครองเป็นพระมหากษัตริย์อีก ราวกับว่าประทับลงบนพระที่นั่งของพระองค์อีกคำรบหนึ่ง.—1 โครนิกา 16:1, 31; ยะซายา 52:7; วิวรณ์ 11:15-17; 15:3; 19:1, 2, 6.
10. พระกรณียกิจสำคัญของกษัตริย์ชาติยิศราเอลได้แก่อะไร? จงให้ตัวอย่าง.
10 แต่นี่คือจุดสำคัญ: พระกรณียกิจสำคัญของบรรดากษัตริย์ในสมัยโบราณได้แก่ การพิจารณาคดีฟ้องร้องและดำเนินการตัดสิน. (สุภาษิต 29:14) ขอให้นึกถึงการตัดสินอย่างชาญฉลาดของซะโลโมเมื่อหญิงสองคนต่างก็ขอร้องตามสิทธิเพื่อจะได้ลูกน้อยคนเดียวกัน. (1 กษัตริย์ 3:16-28; 2 โครนิกา 9:8) ตึกทำการหนึ่งของซะโลโมคือ “ระเบียง . . . บนบัลลังก์สำหรับจะได้ทรงพิพากษา” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ระเบียงสำหรับการพิพากษา.” (1 กษัตริย์ 7:7) ยะรูซาเลมได้รับการพรรณนาเป็นนครซึ่ง “พระที่นั่งสำหรับพิพากษาตั้งอยู่ที่นั่น.” (บทเพลงสรรเสริญ 122:5) เห็นได้ชัดว่า ‘การนั่งพิพากษาบนพระที่นั่ง’ อาจหมายถึงการใช้อำนาจหน้าที่พิจารณาคดีได้เหมือนกัน.—เอ็กโซโด 18:13; สุภาษิต 20:8.
11, 12. (ก) อะไรคือความหมายของการประทับลงของพระยะโฮวา ดังกล่าวในดานิเอลบท 7? (ข) ข้อคัมภีร์อื่น ๆ ยืนยันอย่างไรว่า พระยะโฮวาประทับลงบนราชบัลลังก์เพื่อพิพากษา?
11 ตอนนี้ให้เรากลับไปยังฉากที่ดานิเอลได้เห็น ‘ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ทรงประทับลง.’ ดานิเอล 7:10 กล่าวต่อไปว่า “การพิจารณาพิพากษาก็เริ่มขึ้น, แล้วบรรดาสมุดทั้งหลายถูกเปิดกางออก.” ใช่แล้ว ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ทรงประทับเพื่อดำเนินการพิจารณาตัดสินเรื่องอำนาจการปกครองโลก และทรงตัดสินให้บุตรมนุษย์เหมาะสมคู่ควรกับการปกครอง. (ดานิเอล 7:13, 14) แล้วเราอ่านว่า “พระผู้ทรงพระชนม์อยู่แต่เบื้องบรรพ์ได้เสด็จมา และตั้งศาลพิจารณาตัดสิน มอบรัชชแก่เหล่าผู้บริสุทธิ์แห่งพระเจ้าผู้สูงสุดนั้น” คือคนเหล่านั้นที่ถูกตัดสินว่าเหมาะที่จะปกครองร่วมกับบุตรมนุษย์. (ดานิเอล 7:22) ในที่สุด “ก็จะตั้งศาลพิจารณาตัดสิน” และตัดสินให้มหาอำนาจสุดท้ายของโลกต้องรับผลร้าย.—ดานิเอล 7:26.a
12 เหตุฉะนั้น ที่ดานิเอลได้เห็นพระเจ้า “ประทับบนพระที่นั่ง” จึงหมายถึงการเสด็จมาของพระองค์เพื่อจะพิพากษา. ดาวิดเองก็เคยร้องสดุดีมาก่อนว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงโปรดพยุงเหตุการณ์และความสัตย์ธรรมของข้าพเจ้า; พระองค์ทรงประทับบนพระที่นั่งทรงพิพากษาโดยยุติธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 9:4, 7) และโยเอลเขียนไว้ว่า “ให้นานาประเทศพากันตื่นเต้น, และมายังหุบเขาแห่งการพิพากษา; ด้วยว่าในที่นั่นเราจะนั่งพิพากษาบรรดาชาวนานาประเทศที่อยู่ล้อมรอบ.” (โยเอล 3:12; เทียบกับยะซายา 16:5) ทั้งพระเยซูและเปาโลต่างก็ตกอยู่ในสภาพที่ต้องให้การแก้คดี ซึ่งผู้นั่งพิจารณาพิพากษาและตัดสินชี้ขาดเป็นมนุษย์.b—โยฮัน 19:12-16; กิจการ 23:3; 25:6.
ตำแหน่งของพระเยซู
13, 14. (ก) ไพร่พลของพระเจ้ามีคำรับรองอะไรที่ว่าพระเยซูจะได้เป็นกษัตริย์? (ข) พระเยซูประทับลงบนราชบัลลังก์ของพระองค์เมื่อไร และพระองค์ทรงปกครองในแง่ไหนตั้งแต่ปีสากลศักราช 33 เป็นต้นมา?
13 พระยะโฮวาทรงเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และผู้พิพากษา. แล้วพระเยซูล่ะ? ทูตสวรรค์ซึ่งประกาศการประสูติของพระองค์กล่าวว่า “พระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] จะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน . . . และแผ่นดินของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.” (ลูกา 1:32, 33) พระเยซูจะเป็นรัชทายาทนิรันดร์แห่งราชวงศ์ดาวิด. (2 ซามูเอล 7:12-16) พระองค์จะทรงปกครองจากสวรรค์ เพราะกษัตริย์ดาวิดตรัสว่า “คำตรัสของพระยะโฮวาถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า [พระเยซู] ของข้าพเจ้ามีว่า: ‘จงนั่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของเรา จนกว่าเราจะทำให้ศัตรูของเจ้าเป็นม้ารองเท้าของเจ้า.’ พระยะโฮวาจะทรงส่งไม้ธารพระกรแห่งอำนาจของท่านออกจากเมืองซีโอนโดยตรัสว่า: ‘จงออกไปปราบในท่ามกลางศัตรูของเจ้า.’”—บทเพลงสรรเสริญ 110:1-4, ล.ม.
14 นั่นจะเป็นเมื่อไร? พระเยซูไม่ได้ปกครองเป็นกษัตริย์ขณะที่เป็นมนุษย์. (โยฮัน 18:33-37) ปีสากลศักราช 33 พระองค์สิ้นพระชนม์, ได้รับการปลุกคืนพระชนม์, และเสด็จสู่สวรรค์. เฮ็บราย 10:12 แจ้งดังนี้: “ฝ่ายพระองค์นี้, ครั้นทรงกระทำบูชาเพราะความบาปเพียงหนเดียวซึ่งใช้ได้เป็นนิตย์, ก็เสด็จนั่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า.” พระเยซูทรงมีอำนาจอะไร? “[พระเจ้า] ทรงให้พระองค์ [พระเยซู] นั่ง ณ เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ในสวรรค์, สูงยิ่งเหนือการปกครอง เหนืออำนาจ เหนือฤทธิ์ เหนือตำแหน่งผู้เป็นนาย . . . และทรงตั้งพระองค์เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัดแห่งประชาคม.” (เอเฟโซ 1:20-22, ล.ม.) เนื่องจากเวลานั้น พระเยซูได้รับอำนาจปกครองคริสเตียนเยี่ยงกษัตริย์อยู่แล้ว เปาโลจึงสามารถเขียนได้ว่า พระยะโฮวา “ได้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้พ้นจากอำนาจแห่งความมืด, และได้ทรงย้ายเรามาตั้งไว้ในแผ่นดินแห่งพระบุตรที่รักของพระองค์.”—โกโลซาย 1:13; 3:1.
15, 16. (ก) เหตุใดเราจึงพูดว่า พระเยซูไม่ได้เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าในปีสากลศักราช 33? (ข) พระเยซูเริ่มปกครองราชอาณาจักรของพระเจ้าเมื่อไร?
15 อย่างไรก็ตาม เวลานั้นพระเยซูไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกษัตริย์และผู้พิพากษาเหนือนานาชาติ. พระองค์ได้ประทับบนพระที่นั่งเคียงข้างพระเจ้า รอเวลาปฏิบัติหน้าที่ฐานะเป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักรของพระเจ้า. เปาโลเขียนเกี่ยวกับพระองค์ดังนี้: “ทูตสวรรค์องค์ไหนเล่าที่พระองค์ได้ตรัสแก่เขาในเวลาใดว่า, จงนั่งเบื้องขวาหัตถ์ของเรา กว่าเราจะปราบศัตรูของท่านลงใต้เท้าท่าน?”—เฮ็บราย 1:13.
16 พยานพระยะโฮวาได้ตีพิมพ์หลักฐานมากมายว่าช่วงการคอยของพระเยซูมาสิ้นสุดลงในปี 1914 เมื่อพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าในสวรรค์อันไม่ประจักษ์. วิวรณ์ 11:15, 18 (ล.ม.) กล่าวดังนี้: “อาณาจักรของโลกได้กลายเป็นราชอาณาจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและของพระคริสต์ของพระองค์ และพระองค์จะทรงปกครองเป็นกษัตริย์ตลอดไปเป็นนิตย์.” “แต่ชาติต่าง ๆ ได้โกรธแค้น และพระพิโรธของพระองค์เองก็มาถึง.” เป็นจริงเช่นนั้น นานาชาติแสดงความโกรธแค้นต่อกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. (ลูกา 21:24) สงครามในที่ต่าง ๆ, แผ่นดินไหว โรคระบาด การขาดแคลนอาหาร และอื่น ๆ ทำนองนี้ ซึ่งเราได้รู้เห็นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1914 เป็นข้อยืนยันว่า บัดนี้พระเยซูทรงปกครองราชอาณาจักรของพระเจ้า และอวสานของโลกคืบใกล้เข้ามาทุกขณะ.—มัดธาย 24:3-14.
17. จนถึงบัดนี้ เราได้จุดสำคัญอะไรบ้าง?
17 ต่อไปนี้เป็นการทบทวนโดยย่อ: กล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงประทับบัลลังก์ฐานะพระมหากษัตริย์ กระนั้น อีกแง่หนึ่ง พระองค์ประทับลงบนราชบัลลังก์เพื่อพิจารณาพิพากษา. ปีสากลศักราช 33 พระเยซูประทับ ณ เบื้องขวาพระหัตถ์พระเจ้า และขณะนี้พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักร. ทว่าพระเยซูที่ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์ในขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาด้วยหรือ? และเหตุใดเราจึงสนใจเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเวลานี้?
18. มีพยานหลักฐานอะไรที่แสดงว่า พระเยซูจะทรงเป็นผู้พิพากษาด้วย?
18 พระยะโฮวาผู้ทรงมีสิทธิอันชอบธรรมในการแต่งตั้งผู้พิพากษา ได้เลือกพระเยซูเป็นผู้พิพากษาที่บรรลุมาตรฐานของพระองค์. พระเยซูทรงแสดงให้เห็นจุดนี้เมื่อตรัสถึงเรื่องผู้คนที่เข้ามามีชีวิตฝ่ายวิญญาณว่า “พระบิดามิได้ทรงพิพากษาผู้ใดเลย แต่พระองค์ได้ทรงมอบการพิพากษาทั้งสิ้นไว้กับพระบุตร.” (โยฮัน 5:22, ล.ม.) แต่บทบาทของพระเยซูในการพิจารณาตัดสินครอบคลุมไกลกว่านั้น เนื่องจากพระองค์จะทรงพิพากษาทั้งคนเป็นและคนตาย. (กิจการ 10:42; 2 ติโมเธียว 4:1) คราวหนึ่งเปาโลได้ประกาศว่า “พระองค์ [พระเจ้า] ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ประสงค์จะพิพากษาแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่ด้วยความชอบธรรมโดยบุรุษผู้หนึ่ง [พระเยซู] ซึ่งพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งไว้ และพระองค์ให้หลักประกันแก่คนทั้งปวงโดยที่พระองค์ได้ทรงปลุกท่านผู้นั้นเป็นขึ้นจากตาย.”—กิจการ 17:31, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 72:2-7.
19. เหตุใดเป็นการถูกต้องที่พูดถึงพระเยซูว่าทรงประทับลงฐานะเป็นผู้พิพากษา?
19 ดังนั้น ชอบด้วยเหตุผลไหมที่เราจะสรุปว่า พระเยซูประทับบนพระที่นั่งอันรุ่งโรจน์ ในบทบาทผู้พิพากษาโดยเฉพาะ? ใช่แล้ว. พระเยซูตรัสแก่เหล่าอัครสาวกว่า “ในการสร้างใหม่ เมื่อบุตรมนุษย์ประทับลงที่ราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ พวกท่านที่ได้ติดตามเรามาจะนั่งบนบัลลังก์สิบสองบัลลังก์ด้วย พิพากษา อิสราเอลสิบสองตระกูล.” (มัดธาย 19:28, ล.ม.) ถึงแม้ขณะนี้พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักร ราชกิจขั้นต่อไปของพระองค์ตามที่กล่าวในมัดธาย 19:28 จะรวมถึงการประทับบัลลังก์ดำเนินงานพิพากษาตลอดรัชสมัยพันปี. ในเวลานั้นพระองค์จะพิพากษามวลมนุษย์ ทั้งคนชอบธรรมและไม่ชอบธรรม. (กิจการ 24:15) นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะจำเรื่องนี้อยู่เสมอ ขณะที่เรามุ่งความสนใจไปที่อุทาหรณ์ของพระเยซูซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงยุคของเราและชีวิตของเรา.
อุทาหรณ์ว่าอย่างไร?
20, 21. อัครสาวกของพระเยซูได้ทูลถามเรื่องอะไรเกี่ยวโยงมาถึงสมัยของเรา นำไปสู่คำถามอะไร?
20 ไม่นานก่อนพระเยซูสิ้นพระชนม์ เหล่าอัครสาวกได้ทูลถามพระองค์ดังนี้: “ขอโปรดบอกข้าพเจ้าทั้งหลายเถอะว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบ?” (มัดธาย 24:3, ล.ม.) พระเยซูตรัสพยากรณ์ถึงเหตุการณ์บนแผ่นดินโลกที่ส่อความหมาย ก่อน “อวสานจะมาถึง.” ไม่นานก่อนอวสานนั้น ชาติต่าง ๆ “จะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์ด้วยฤทธิ์และสง่าราศีเป็นอันมาก.”—มัดธาย 24:14, 29, 30, ล.ม.
21 แต่ผู้คนในชาติเหล่านั้นจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรเมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยสง่าราศี? ให้เราหาคำตอบจากอุทาหรณ์ว่าด้วยแกะและแพะ ซึ่งเริ่มต้นด้วยถ้อยคำว่า “เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์ พร้อมด้วยหมู่ทูตสวรรค์ทั้งสิ้น ครั้นแล้วพระองค์จะทรงประทับลงบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์. และชาติทั้งปวงจะถูกรวบรวมเข้ามาเฉพาะพระพักตร์พระองค์.”—มัดธาย 25:31, 32, ล.ม.
22, 23. จุดสำคัญอะไรแสดงว่า อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะหาได้เริ่มสำเร็จเป็นจริงเมื่อปี 1914 ไม่?
22 อุทาหรณ์เรื่องนี้นำมาใช้กับช่วงที่พระเยซูเสด็จประทับด้วยขัตติยอำนาจในปี 1914 ได้ไหมดังที่เราเข้าใจมานานแล้ว? มัดธาย 25:34 กล่าวถึงพระองค์ฐานะเป็นกษัตริย์ ดังนั้นอุทาหรณ์เรื่องนี้ใช้ได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่พระเยซูรับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ปี 1914. แต่พระองค์ได้ทรงพิพากษาอะไรไม่นานหลังจากนั้น? ไม่ใช่การพิพากษา “ชาติทั้งปวง.” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงใฝ่พระทัยต่อคนเหล่านั้นที่อ้างตัวว่าได้ประกอบกันเป็น “ราชนิเวศของพระเจ้า.” (1 เปโตร 4:17, ล.ม.) สอดคล้องกับมาลาคี 3:1-3 พระเยซูในฐานะเป็นทูตของพระยะโฮวาจึงดำเนินการตรวจตราพิพากษาคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่บนแผ่นดินโลก. อนึ่ง เป็นเวลาที่จะตัดสินคริสต์ศาสนจักรด้วย ซึ่งได้อ้างอย่างผิด ๆ ว่าเป็น “ราชนิเวศของพระเจ้า.”c (วิวรณ์ 17:1, 2; 18:4-8) แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าในปีนั้นหรือตั้งแต่ปี 1914 พระเยซูได้ประทับเพื่อพิพากษาผู้คนแห่งชาติทั้งปวง ในลักษณะเด็ดขาดว่าเขาเป็นแกะหรือแพะ.
23 ถ้าเราวิเคราะห์กิจกรรมของพระเยซูจากอุทาหรณ์นั้นก็เห็นว่าพระองค์ทรงดำเนินการขั้นสุดท้ายพิพากษาชาติทั้งปวง. อุทาหรณ์ไม่ได้ระบุว่า การพิพากษาดังกล่าวจะต่อเนื่องเนิ่นนานหลายปี ประหนึ่งทุกคนที่ตายระหว่างหลายสิบปีหลังนี้ถูกพิพากษาให้ตายตลอดไป หรือสมควรได้ชีวิตนิรันดร์. ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ซึ่งตายช่วงหลายสิบปีหลังนี้อยู่ในหลุมฝังศพทั่วไป. (วิวรณ์ 6:8; 20:13) กระนั้น อุทาหรณ์ให้ภาพแสดงเวลาที่พระเยซูพิพากษาผู้คนแห่ง “ชาติทั้งปวง” ซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นและเผชิญการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระองค์.
24. อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะจะสำเร็จเป็นจริงเมื่อไร?
24 พูดอีกนัยหนึ่ง อุทาหรณ์นั้นชี้ถึงกาลภายหน้าเมื่อบุตรมนุษย์จะเสด็จมาด้วยสง่าราศีอันรุ่งโรจน์ของพระองค์. พระองค์จะประทับลงบนพระที่นั่งพิพากษาผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานั้น. การพิพากษาของพระองค์จะยึดเอาตามที่เขาได้แสดงตนว่าเป็นคนชนิดใด. ตอนนั้น “ความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว” จะประจักษ์ชัด. (มาลาคี 3:18) การประกาศคำพิพากษาและการสำเร็จโทษจะเสร็จสิ้นภายในเวลาจำกัด. พระเยซูจะทรงพิพากษาอย่างเป็นธรรม โดยอาศัยสิ่งที่ปรากฏชัดเกี่ยวกับแต่ละตัวบุคคล.—ดู 2 โกรินโธ 5:10 ด้วย.
25. มัดธาย 25:31 แสดงภาพอะไรเมื่อกล่าวถึงบุตรมนุษย์ประทับลงบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์?
25 ทั้งนี้หมายความว่า ‘การประทับลงบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์’ ของพระองค์เพื่อพิพากษา ตามที่กล่าวในมัดธาย 25:31 หมายถึงกาลเบื้องหน้า เมื่อมหากษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพองค์นี้จะประทับลงทรงพิจารณาตัดสินและสำเร็จโทษประชาชาติ. ใช่แล้ว ฉากการพิพากษาซึ่งมีพระเยซูเกี่ยวข้องด้วยในมัดธาย 25:31-33, 46 เปรียบได้กับฉากเหตุการณ์ในพระธรรมดานิเอลบท 7 ซึ่งที่นั่นพระมหากษัตริย์องค์ทรงราชย์ ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ ทรงประทับลงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาให้สำเร็จ.
26. ปรากฏว่ามีคำอธิบายใหม่อะไรเกี่ยวด้วยอุทาหรณ์นี้?
26 การเข้าใจอุทาหรณ์ว่าด้วยแกะและแพะในแนวนี้บ่งชี้ว่า การพิจารณาตัดสินแกะและแพะนั้นจะเกิดขึ้นในอนาคต. จะเกิดขึ้นหลังจาก “ความทุกข์ลำบาก” ที่กล่าวถึงในมัดธาย 24:29, 30 ปะทุขึ้น และบุตรมนุษย์ ‘เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์.’ (เทียบกับมาระโก 13:24-26.) ครั้นแล้ว เมื่อระบบชั่วทั้งหมดมาถึงจุดอวสาน พระเยซูจะทรงออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีและตัดสินและสำเร็จโทษ.—โยฮัน 5:30; 2 เธซะโลนิเก 1:7-10.
27. เราน่าจะให้ความสนใจต่อเรื่องใดเมื่อเข้าใจเรื่องราวในอุทาหรณ์สุดท้ายของพระเยซู?
27 ทั้งนี้ทำให้เราได้รับความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับเวลาที่อุทาหรณ์ของพระเยซูจะสำเร็จ ซึ่งแสดงให้เห็นเวลาที่แกะและแพะจะถูกพิพากษา. แต่เรื่องนี้มีผลกระทบพวกเราอย่างไรซึ่งขณะนี้ทำงานเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรด้วยความกระตือรือร้น? (มัดธาย 24:14) ความเข้าใจใหม่นี้ทำให้งานประกาศของเรามีความสำคัญน้อยลงไหม หรือทำให้เราต้องรับผิดชอบมากขึ้น? ให้เราพิจารณาในบทความต่อจากนี้ว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไร?
[เชิงอรรถ]
a ถ้อยคำที่ได้รับการแปลว่า “การพิจารณาพิพากษา” และ “ศาลพิจารณาตัดสิน” ที่ดานิเอล 7:10, 26 จะพบได้เช่นกันที่เอษรา 7:26 และดานิเอล 4:37; 7:22.
b เกี่ยวกับคริสเตียนที่มีเรื่องฟ้องร้องถึงโรงถึงศาลนั้น เปาโลได้ถามว่า “ท่านจะตั้งคนที่เขานับถือน้อยที่สุดในคริสต์จักรให้ตัดสินหรือ [ตามตัวอักษร “ซึ่งท่านทำให้เขานั่งลง”]?”—1 โกรินโธ 6:4.
c ดูพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 56, 73, 235-245, 260 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ออฟ นิวยอร์ก
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาทรงดำรงตำแหน่งเป็นทั้งพระบรมมหากษัตริย์และผู้พิพากษาอย่างไร?
▫ ‘การประทับลงบนราชบัลลังก์’ ให้ความหมายได้สองอย่าง อะไรบ้าง?
▫ เมื่อก่อนเราพูดอย่างไรเกี่ยวกับเวลาที่มัดธาย 25:31 จะสำเร็จ แต่มีหลักอะไรสำหรับมุมมองที่แก้ไขใหม่?
▫ บุตรมนุษย์ประทับลงบนราชบัลลังก์ของพระองค์เมื่อไร ตามการบ่งชี้ที่มัดธาย 25:31?