จงดำเนินตามความสว่างของโลก
“ผู้ที่ตามเรามา . . . จะมีความสว่างแห่งชีวิต.”—โยฮัน 8:12, ล.ม.
1. ความสว่างสำคัญเพียงไร?
หากไม่มีแสงสว่างเราจะทำอย่างไร? นึกภาพการตื่นขึ้นมาทุกวันในรอบปีเจอแต่ความมืด 24 ชั่วโมง. ลองนึกภาพโลกที่ไร้สีสัน เพราะถ้าไม่มีแสงสว่างก็ไม่มีสีสัน. ที่จริง หากไม่มีแสงสว่าง เราก็คงไม่มีชีวิตอยู่! เพราะเหตุใด? เพราะในขบวนการสังเคราะห์แสง พืชสีเขียวใช้แสงสว่างสร้างอาหารที่เรารับประทาน—ธัญพืช, ผัก, และผลไม้. จริงอยู่ บางครั้งเรารับประทานเนื้อสัตว์. แต่สัตว์เหล่านั้นกินพืชหรือกินสัตว์อื่นที่กินพืชเป็นอาหาร. ด้วยเหตุนี้ ชีวิตฝ่ายกายของเราจึงต้องอาศัยแสงสว่างทั้งสิ้น.
2. ต้นกำเนิดของความสว่างที่มีพลังมากได้แก่อะไรบ้าง และสิ่งนี้ทำให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
2 แสงสว่างของเรามาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่ง. ขณะที่ดวงอาทิตย์ของเราให้แสงสว่างปริมาณมหาศาล แต่ก็เป็นเพียงดาวขนาดกลางดวงหนึ่งเท่านั้น. มีดาวดวงอื่นอีกมากมายมีขนาดใหญ่กว่ามาก. และกลุ่มดาวที่เราอาศัยอยู่นี้ที่เรียกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกก็มีดาวมากกว่าหนึ่งแสนล้านดวง. นอกจากนี้ ยังมีกาแล็กซีหลายพันล้านกลุ่มสุดคณานับในเอกภพนี้. ช่างเป็นจำนวนดวงดาวมากมายอะไรเช่นนั้น! ปริมาณแสงที่กระจายจากดาวเหล่านั้นมากมหาศาลเสียจริง ๆ! พระยะโฮวาผู้สร้างดวงดาวทั้งปวงทรงเป็นแหล่งแห่งแสงสว่างที่ทรงพลังเกรียงไกรอะไรเช่นนั้น! ยะซายา 40:26 แถลงว่า “จงเงยหน้ามองขึ้นไปดูท้องฟ้า, และพิจารณาดูว่าใครได้สร้างสิ่งเหล่านี้? พระองค์ผู้ทรงนำดาวออกมาเป็นหมวดหมู่, และทรงเรียกมันออกมาตามชื่อ; ด้วยอานุภาพอันใหญ่ยิ่ง, และฤทธิ์เดชอันแรงกล้าของพระองค์ไม่มีสักดวงเดียวที่ขาดไป.”
ความสว่างอีกชนิดหนึ่ง
3. ความสว่างฝ่ายวิญญาณจากพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญอย่างไร?
3 พระยะโฮวายังทรงเป็นบ่อเกิดของความสว่างอีกชนิดหนึ่ง เป็นแสงสว่างที่ทำให้เราสามารถมองเห็นทางฝ่ายวิญญาณ, หรือความสว่างฝ่ายวิญญาณ. พจนานุกรมฉบับหนึ่งนิยามคำ “ให้ความสว่าง” ดังนี้: “ให้ความรู้แก่; สอน; ให้การหยั่งเห็นเข้าใจฝ่ายวิญญาณ.” ฉบับเดียวกันนี้นิยามคำ “ได้รับความสว่าง” ว่า “พ้นจากความไม่รู้และความรู้อย่างผิด ๆ.” ความสว่างฝ่ายวิญญาณที่ได้รับจากพระยะโฮวานี้จัดให้แก่เราโดยความรู้ถ่องแท้แห่งพระวจนะของพระองค์ คัมภีร์ไบเบิล. หนังสือนี้แหละช่วยเราให้รู้จักว่าใครเป็นพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์คืออะไร. “เพราะว่าพระเจ้าคือผู้ได้ตรัสว่า ‘จงให้ความสว่างส่องออกจากความมืด’ และพระองค์ทรงส่องสว่างยังหัวใจของเรา ให้สว่างด้วยความรู้อันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าโดยพระพักตร์พระคริสต์.” (2 โกรินโธ 4:6, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น ความจริงในพระวจนะของพระเจ้าปลดปล่อยเราให้พ้นจากความไม่รู้และความรู้อย่างผิด ๆ. พระเยซูตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงนั้นจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.”—โยฮัน 8:32, ล.ม.
4, 5. ความรู้ที่มาจากพระยะโฮวาเป็นแสงสว่างในชีวิตของเราอย่างไร?
4 พระยะโฮวา บ่อเกิดของความสว่างแท้ฝ่ายวิญญาณ พระองค์ทรง “สัพพัญญู.” (โยบ 37:16) นอกจากนั้น บทเพลงสรรเสริญ 119:105 กล่าวถึงพระเจ้าดังนี้: “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.” ดังนั้น พระองค์ทรงสามารถไม่เพียงให้ความสว่างฝ่ายวิญญาณส่องการดำเนินชีวิตของเราเป็นก้าว ๆ ไป แต่ส่องตลอดทางข้างหน้า. ถ้าไม่มีความสว่างดังกล่าว เราคงดำเนินชีวิตคล้ายกันกับการขับรถยนต์ไปบนทางอันคดเคี้ยวตามไหล่เขาในเวลากลางคืนที่มืดมิดโดยไม่มีไฟหน้ารถหรือแสงสว่างจากที่ไหนเลย. แสงสว่างฝ่ายวิญญาณจากพระยะโฮวาอาจเปรียบได้กับแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถยนต์. แสงไฟส่องถนนทำให้เราสามารถเห็นทางที่เรามุ่งไปนั้นอย่างชัดเจน.
5 คำพยากรณ์ที่ยะซายา 2:2-5 ชี้ให้เห็นว่าในสมัยของเราพระเจ้าจะทรงรวบรวมผู้คนจากนานาประเทศที่ต้องการความสว่างฝ่ายวิญญาณ เพื่อเขาจะสามารถเรียนรู้และปฏิบัติการนมัสการแท้. ข้อ 3 อ่านดังนี้: “พระองค์จะได้ทรงสอนเราให้รู้จักวิถีทางของพระองค์ และเราจะได้เดินไปตามทางของพระองค์.” ข้อ 5 กล่าวเชิญผู้แสวงความจริงว่า “มาเถิดท่านทั้งหลาย และให้เราดำเนินในแสงสว่างของพระยะโฮวา.”
6. ความสว่างจากพระยะโฮวาจะนำเราไปถึงที่ใดในที่สุด?
6 ดังนั้น พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งกำเนิดความสว่างสองชนิดซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับชีวิต: คือฝ่ายกายภาพและฝ่ายวิญญาณ. ความสว่างทางกายภาพค้ำจุนให้ร่างกายของเรามีชีวิตอยู่เวลานี้ อาจอยู่ได้ราว ๆ 70 หรือ 80 ปี. แต่ความสว่างฝ่ายวิญญาณนำไปถึงชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. ดังที่พระเยซูทรงกล่าวในคำอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.”—โยฮัน 17:3, ล.ม.
โลกอยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ
7. ทำไมเวลานี้เราจำต้องรับความสว่างฝ่ายวิญญาณอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน?
7 ขณะนี้พวกเราจำต้องรับความสว่างฝ่ายวิญญาณอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. คำพยากรณ์ต่าง ๆ เช่นในพระธรรมมัดธายบท 24 และ 2 ติโมเธียวบท 3 แสดงให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ใกล้อวสานแห่งระบบนี้แห่งสิ่งต่าง ๆ เต็มทีแล้ว. คำพยากรณ์เหล่านี้และคำพยากรณ์อื่น ๆ บอกล่วงหน้าถึงสิ่งน่ากลัวหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยของเรา ทำให้ได้รู้ว่าเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย.” จริงตามคำเหล่านั้น ศตวรรษนี้ประสบความหายนะครั้งแล้วครั้งเล่า. อาชญากรรมและความรุนแรงได้กำเริบขึ้นในส่วนสัดที่น่ากลัว. สงครามได้ล้างผลาญชีวิตผู้คนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านคน. โรคภัยต่าง ๆ อาทิ โรคเอดส์อันน่ากลัวได้แพร่ระบาดไปถึงคนหลายล้าน เฉพาะที่สหรัฐประเทศเดียว มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์แล้วกว่า 160,000 คน. ชีวิตครอบครัวแตกร้าวและศีลธรรมทางเพศถูกมองเป็นเรื่องล้าสมัย.
8. มนุษย์เผชิญสภาพการณ์อะไรในขณะนี้ เพราะเหตุใด?
8 อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ฮาเวียร์ เพเรซ เด เควยาร์ กล่าวว่า “สถานการณ์โลกให้หลักฐานท่วมท้นว่าความขัดสนยากจนบ่อนทำลายความเป็นปึกแผ่นของสังคม.” เขาได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้: “ผู้คนมากกว่าหนึ่งพันล้านคนอยู่อย่างยากจนแร้นแค้นขณะนี้” และว่า “สภาพเช่นนี้ยิ่งเป็นเหตุให้ความอลหม่านรุนแรงยิ่งขึ้น.” เขาได้บอกว่า “มหันตทุกข์ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ทำให้วิธีดำเนินการแก้ไขของรัฐบาลต่าง ๆ ไร้ผล.” และประธานองค์การหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลยืนยันดังนี้: “ปัญหาสำคัญที่เผชิญสังคมคือสังคมปกครองกันไม่ได้.” ถ้อยคำแห่งบทเพลงสรรเสริญ 146:3 ถูกต้องเพียงใดที่ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าวางใจในพวกเจ้านาย, หรือในเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ช่วยให้รอดไม่ได้.”
9. ใครรับผิดชอบมากที่สุดสำหรับความมืดที่ปกคลุมมนุษยชาติ และผู้ใดสามารถกำจัดอิทธิพลนี้ให้พ้นไปจากพวกเรา?
9 สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างที่ยะซายา 60:2 ได้บอกไว้ล่วงหน้าดังนี้: “ด้วยว่าดูเถอะ, ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้.” ความมืดที่ว่านี้ปิดคลุมประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก เพราะเหตุที่เขาไม่รับเอาแสงสว่างฝ่ายวิญญาณจากพระยะโฮวา. และสาเหตุความมืดทึบฝ่ายวิญญาณคือซาตานพญามารและพวกผีปีศาจของมัน ศัตรูสำคัญของพระเจ้าแห่งความสว่าง. พวกมันเป็น “ผู้ครอบครองในโมหะความมืดแห่งโลกนี้.” (เอเฟโซ 6:12) ดังที่ 2 โกรินโธ 4:4, (ล.ม.) แจ้งว่า พญามารเป็น “พระเจ้าของระบบนี้” ซึ่ง “ได้ทำให้จิตใจของคนที่ไม่เชื่อให้มืดไป เพื่อแสงสว่างแห่งข่าวดีอันรุ่งโรน์เรื่องพระคริสต์ผู้เป็นพระฉายของพระเจ้าจะไม่ส่องทะลุ.” การปกครองของมนุษย์ไม่สามารถขจัดอิทธิพลของพญามารให้หมดไปจากโลกนี้ได้. พระเจ้าเท่านั้นสามารถทำได้.
“ความสว่างอันใหญ่”
10. ยะซายาพยากรณ์ไว้อย่างไรว่าจะมีความสว่างส่องมาถึงมนุษยชาติในสมัยของเรา?
10 กระนั้น ขณะความมืดปกคลุมมนุษยชาติส่วนใหญ่ พระวจนะของพระเจ้าก็ได้พยากรณ์เช่นกันที่ยะซายา 60:2, 3 ดังนี้: “แต่ส่วนเจ้า, พระยะโฮวาจะส่องแสงให้, และให้สง่าราศีของพระองค์จับปรากฏอยู่บนเจ้า; ประชาชาติจะดำเนินตามแสงสว่างของเจ้า.” ข้อนี้ประสานกับยะซายาบท 2 ซึ่งสัญญาไว้ว่าการนมัสการแท้ของพระยะโฮวาซึ่งรับความสว่างแล้วนั้นจะถูกสถาปนาในยุคสุดท้ายนี้ และข้อ 2 และข้อ 3 บอกว่า “ประชาชนจะหลั่งไหลไปถึงที่นั่น. และประชาชาติเป็นอันมากจะพากันกล่าวว่า, ‘มาเถิดพวกเรา, ให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา’” ซึ่งก็หมายถึงการไปยังการนมัสการแท้ที่ได้รับการยกชูให้สูงยิ่ง. ดังนั้น แม้โลกนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของซาตาน แต่ความสว่างจากพระเจ้าก็ส่องออกไปและนำคนเป็นอันมากออกมาจากความมืด.
11. ผู้สะท้อนความสว่างของพระยะโฮวาที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ใคร และซิมโอนได้ชี้ตัวท่านผู้นี้โดยวิธีใด?
11 คำพยากรณ์ที่ยะซายา 9:2 บอกล่วงหน้าว่าพระเจ้าจะส่งท่านผู้หนึ่งมายังโลกให้สะท้อนความสว่างของพระองค์. คำพยากรณ์มีดังนี้: “คนเหล่านั้นซึ่งดำเนินอยู่ในความมืด, ได้เห็นความสว่างอันใหญ่แล้ว: และผู้ที่อยู่ในเมืองแห่งเงาของความตาย, . . . ก็มีแสงสว่างส่องเข้ามาถึงเขาแล้ว.” “ความสว่างอันใหญ่” นี้ได้แก่พระเยซูคริสต์ โฆษกของพระยะโฮวา. พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นความสว่างของโลก. ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต.” (โยฮัน 8:12, ล.ม.) เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันโดยบางคนแม้ในคราวที่พระเยซูยังเป็นเด็กเล็ก ๆ. ลูกา 2:25 บอกว่าชายคนหนึ่งชื่อซิมโอนเป็น “คนชอบธรรมและเกรงกลัวพระเจ้า” และ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสถิตอยู่กับท่าน.” ครั้นซิมโอนได้เห็นกุมารเยซู ท่านกล่าวในคำอธิษฐานต่อพระเจ้าดังนี้: “ตาของข้าพเจ้าได้เห็นความรอดของพระองค์แล้ว, ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ต่อหน้าบรรดาคนทั้งปวง เป็นสว่างส่องแสงแก่ชาวต่างประเทศ.”—ลูกา 2:30-32.
12. พระเยซูได้เริ่มขจัดความมืดทึบที่แผ่คลุมประชาชนออกไปตั้งแต่เมื่อไรและโดยวิธีใด?
12 พระเยซูทรงเริ่มส่องความสว่างแก่มนุษยชาติไม่นานหลังจากพระองค์ได้รับบัพติสมา. มัดธาย 4:12-16 บอกให้เราทราบว่าการนี้ได้สำเร็จสมจริงตามยะซายา 9:1, 2 ซึ่งกล่าวถึง “ความสว่างอันใหญ่” ซึ่งจะเริ่มส่องแสงแก่ประชาชนที่ดำเนินอยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ. มัดธาย 4:17, (ล.ม.) กล่าวว่า “นับจากนั้นพระเยซูตั้งต้นประกาศว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงกลับใจเสียใหม่ เพราะราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.’” โดยการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า พระเยซูได้ให้ความกระจ่างฝ่ายวิญญาณเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า. พระองค์ทรง “นำชีวิตและซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่านั้นให้กระจ่างแจ้งโดยกิตติคุณ.”—2 ติโมเธียว 1:10.
13. พระเยซูได้ทรงพรรณนาถึงพระองค์เองอย่างไร และทำไมพระองค์สามารถตรัสอย่างนั้นด้วยความมั่นพระทัย?
13 พระเยซูทรงสะท้อนความสว่างของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. พระองค์ได้ตรัสดังนี้: “เรามาเป็นความสว่างในโลก, เพื่อทุกคนที่วางใจในเราจะมิได้อยู่ในความมืด. . . . เรามิได้กล่าวโดยลำพังตัวเราเอง, แต่ซึ่งเรากล่าวและสั่งสอนนั้น พระบิดาที่ทรงใช้เรามาได้บัญชาไว้แก่เรา. เรารู้ว่าพระบัญชาของพระองค์นั้นเป็นชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 12:44-50, ล.ม.
“ในพระองค์มีชีวิต”
14. พระเยซูได้รับการระบุตัวอย่างไรที่โยฮัน 1:1, 2?
14 ถูกแล้ว พระยะโฮวาได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นความสว่างส่องทางมนุษย์ไปสู่ชีวิตนิรันดร์. จงสังเกตว่ามีการเน้นเรื่องนี้อย่างไรในโยฮัน 1:1-16. ข้อ 1 และ 2, (ล.ม.) อ่านดังนี้: “เริ่มแรกพระวาทะเป็นอยู่แล้ว และพระวาทะนั้นได้อยู่กับพระเจ้า และพระวาทะนั้นเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง. เมื่อเดิมพระองค์ผู้นี้ได้อยู่กับพระเจ้า.” ณ ที่นี้ โยฮันเรียกพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์ว่า “พระวาทะ.” ข้อนี้ระบุถึงการงานที่พระองค์ทรงกระทำฐานะเป็นโฆษกของพระเจ้ายะโฮวา. และเมื่อโยฮันได้กล่าวว่า “เริ่มแรกพระวาทะเป็นอยู่แล้ว” ย่อมหมายความว่าพระวาทะเป็นเบื้องแรกในบรรดางานสร้างสรรค์ของพระยะโฮวา คือ “เป็นเบื้องต้นแห่งการทรงสร้างโดยพระเจ้า.” (วิวรณ์ 3:14, ล.ม.) ตำแหน่งสูงเด่นของพระองค์แต่ครั้งก่อนท่ามกลางบรรดาสารพัดสิ่งที่พระเจ้าได้สร้างขึ้นนั้นให้หลักฐานแน่นอนถึงการที่พระองค์ได้รับฉายาว่า “พระเจ้าองค์หนึ่ง” คือผู้ทรงมีฤทธิ์เดช. ยะซายา 9:6 เรียกพระองค์ “พระเจ้าทรงอานุภาพ” แม้ไม่ใช่พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.
15. โยฮัน 1:3-5 ชี้แจงให้เราทราบเรื่องอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเยซู?
15 โยฮัน 1:3, (ล.ม.) กล่าวว่า “สิ่งทั้งปวงเป็นขึ้นมาโดยพระองค์และไม่มีแม้แต่สิ่งเดียวที่เป็นขึ้นโดยปราศจากพระองค์.” โกโลซาย 1:16 บอกดังนี้: “เพราะว่าพระองค์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่ง, ในท้องฟ้าก็ดี, ที่แผ่นดินโลกก็ดี.” โยฮัน 1:4 (ล.ม.) บอกว่า “โดยทางพระองค์คือชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์.” ดังนั้น โดยพระวาทะนี้ รูปแบบชีวิตอื่น ๆ ทั้งมวลจึงได้รับการสร้างขึ้น และโดยทางพระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าทรงจัดให้เป็นไปได้ที่มนุษยชาติที่ผิดบาปที่ต้องตายอยู่จะมีชีวิตนิรันดร์. แน่นอน พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าทรงอานุภาพตามที่เรียกในยะซายา 9:2 ว่าเป็น “ความสว่างอันใหญ่.” และโยฮัน 1:5 (ล.ม.) ว่าอย่างนี้ “ความสว่างนั้นส่องแสงในความมืด แต่ความมืดนั้นหาชนะความสว่างไม่.” ความสว่างเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความจริงและความชอบธรรม ตรงกันข้ามกับความมืด ซึ่งหมายถึงความผิดพลาดและความอธรรม. ด้วยเหตุนั้น โยฮันจึงชี้ให้เห็นว่าความมืดจะมีชัยแก่ความสว่างหาได้ไม่.
16. โดยวิธีใดโยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ชี้ถึงขอบข่ายการงานที่พระเยซูทรงกระทำ?
16 ถึงตอนนี้ โยฮันให้เหตุผลสนับสนุนที่ข้อ 6 ถึง 9 (ล.ม.) ดังนี้: “มีชายคนหนึ่งซึ่งถูกส่งมาในฐานะผู้แทนพระเจ้า เขาชื่อโยฮัน [ผู้ให้บัพติสมา]. ผู้นี้ได้มาให้คำพยานคือให้คำพยานเกี่ยวกับความสว่างนั้น เพื่อผู้คนทุกชนิดจะได้เชื่อโดยท่าน. ท่านหาใช่ความสว่างนั้นไม่ แต่ท่านมาเพื่อให้คำพยานถึงความสว่างนั้น [พระเยซู]. ความสว่างแท้ซึ่งให้ความสว่างแก่คนทุกชนิดนั้น จวนจะเข้ามาในโลกแล้ว.” โยฮันได้ชี้ถึงพระมาซีฮาผู้ซึ่งจะเสด็จมาและจะนำสาวกทั้งหลายของพระองค์ไปถึงพระเจ้า. ภายในเวลาอันสมควร คนทุกชนิดจะได้มีโอกาสรับรองเอาความสว่างนั้น. ฉะนั้น พระเยซูจึงมิได้มาเพื่อประโยชน์ของชาวยิวเท่านั้น แต่เพื่อเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ทั้งสิ้น—ไม่ว่ารวยหรือจน หรือจะเป็นชนชาติใด.
17. โยฮัน 1:10, 11 บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับสภาพฝ่ายวิญญาณของคนยิวสมัยพระเยซู?
17 ข้อ 10 และ 11 (ล.ม.) กล่าวต่อไปว่า “พระองค์ทรงอยู่ในโลก และโลกได้บังเกิดมาโดยพระองค์ แต่โลกหาได้รู้จักพระองค์ไม่. พระองค์ได้เสด็จมายังบ้านเมืองของพระองค์ แต่ชนร่วมชาติไม่ได้ต้อนรับพระองค์.” พระเยซู ในสภาพก่อนมาบังเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์เป็นผู้นั้นที่ได้ร่วมสร้างโลกแห่งมนุษยชาตินี้ขึ้นมา. แต่ครั้นเสด็จลงมาอยู่ที่แผ่นดินโลก คนยิวเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่กลับปฏิเสธพระองค์. พวกเขาไม่ต้องการให้ความชั่วและความหน้าซื่อใจคดของตนถูกเปิดโปง. เขาพอใจความมืดมากกว่าความสว่าง.
18. โยฮัน 1:12, 13 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าบางคนอาจเข้ามาเป็นบุตรของพระเจ้าพร้อมกับได้มรดกพิเศษ?
18 โยฮันกล่าวในข้อ 12 และ 13 (ล.ม.) ดังนี้: “อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ต้อนรับพระองค์ พระองค์ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเขาได้สำแดงความเชื่อในพระนามของพระองค์; และเขามิได้เกิดมาจากเลือด หรือจากความประสงค์ของเนื้อหนัง หรือจากความประสงค์ของมนุษย์ แต่เกิดมาจากพระเจ้า.” ข้อคัมภีร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกนั้นเหล่าสาวกของพระเยซูไม่ได้เป็นบุตรของพระเจ้า. ก่อนพระคริสต์ได้เสด็จเข้ามาในโลก โอกาสที่จะกลายเป็นบุตรดังกล่าวหรือความหวังฝ่ายสวรรค์ก็ยังไม่ได้เปิดให้แก่มนุษย์. แต่เนื่องด้วยคนเหล่านั้นได้แสดงความเชื่อศรัทธาในคุณค่าเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ มนุษย์บางคนจึงถูกรับเข้ามาอยู่ในสภาพบุตรและมีความหวังจะรับชีวิตฐานะเป็นกษัตริย์ร่วมปกครองกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรภาคสวรรค์ของพระเจ้า.
19. ทำไมพระเยซูอยู่ในฐานะดีที่สุดที่จะสะท้อนความสว่างของพระเจ้า ดังปรากฏในโยฮัน 1:14?
19 ข้อ 14 (ล.ม.) ให้เหตุผลดังนี้: “ดังนั้น พระวาทะจึงได้กลายเป็นเนื้อหนัง และทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา และเราได้เห็นสง่าราศีของพระองค์ คือสง่าราศีซึ่งเป็นของพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวจากพระบิดา.” เมื่ออยู่ในโลก พระเยซูได้ทรงสะท้อนสง่าราศีของพระเจ้าอย่างที่เฉพาะบุตรหัวปีของพระเจ้าทรงสามารถทำได้. ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงประกอบด้วยคุณสมบัติเยี่ยมยอดในแนวทางอันโดดเด่น ที่จะเปิดเผยให้ผู้คนรู้จักพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์.
20. ตามบันทึกที่โยฮัน 1:15 โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้บอกอะไรแก่เราเรื่องพระเยซู?
20 อัครสาวกโยฮันเขียนต่อไปที่ข้อ 15 (ล.ม.) ว่า “โยฮันเป็นพยานกล่าวถึงพระองค์ แท้จริง ท่านร้องประกาศ—ผู้นี้แหละเป็นผู้พูด—โดยกล่าวว่า ‘ผู้ที่มาภายหลังข้าพเจ้าได้ล้ำหน้าข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า.’” โยฮันผู้ให้บัพติสมาเกิดก่อนพระเยซูบังเกิดเป็นมนุษย์ประมาณหกเดือน. แต่พระเยซูได้ทรงกระทำการงานมากกว่าที่โยฮันได้ทำ ดังนั้น พระองค์จึงล้ำหน้าโยฮันในทุกทาง. และโยฮันเองได้ยอมรับว่าพระเยซูทรงเป็นอยู่ก่อนตน เนื่องจากพระเยซูทรงสภาพอยู่ก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์.
ของประทานจากพระยะโฮวา
21. เพราะเหตุใดโยฮัน 1:16 บอกว่าเราได้รับ “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับซ้อนพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ”?
21 โยฮัน 1:16, (ล.ม.) ให้เหตุผลว่า “ด้วยเราทั้งหลายได้รับจากความบริบูรณ์ของพระองค์ แม้กระทั่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับซ้อนพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ.” ถึงแม้มนุษย์กำเนิดในบาปเนื่องจากบาปตกทอดมาจากอาดาม แต่พระยะโฮวาทรงประสงค์จะทำลายระบบชั่วให้พินาศ และดำริจะให้มนุษย์หลายล้านคนรอดชีวิตเข้าในโลกใหม่ รวมทั้งการปลุกคนตายกลับสู่ชีวิต และการขจัดเสียซึ่งบาปและความตาย ยังผลให้มีชีวิตนิรันดร์อยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. พระพรเหล่านี้ทุกประการเป็นพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ หรือไม่สมควรได้รับเสียด้วยซ้ำ. พระพรเหล่านี้เป็นของประทานจากพระยะโฮวาผ่านทางพระคริสต์.
22. (ก) ของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าทำให้สิ่งใดเป็นไปได้? (ข) ในพระธรรมเล่มสุดท้ายของไบเบิลได้มีคำเชิญอะไรมายังเรา?
22 อะไรคือของประทานอันยิ่งใหญ่ซึ่งบันดาลให้การทั้งสิ้นนี้เป็นไปได้? “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) ฉะนั้น ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์ ผู้เป็น “เจ้าชีวิต” จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนเหล่านั้นที่ต้องการความสว่างฝ่ายวิญญาณและชีวิตนิรันดร์. (กิจการ 3:15) ดังนั้น พระธรรมเล่มสุดท้ายแห่งไบเบิลจึงกล่าวเชิญบรรดาผู้ซึ่งรักความจริงและต้องการชีวิต ดังนี้: “‘เชิญมาเถิด!’ และให้ผู้ใดที่ได้ยินกล่าวว่า ‘เชิญมาเถิด!’ และให้ผู้ใดที่กระหายมา; ให้ผู้ใดที่ปรารถนารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.”—วิวรณ์ 22:17, ล.ม.
23. คนเยี่ยงแกะจะทำอะไรเมื่อพวกเขาได้มาถึงความสว่าง?
23 ผู้คนที่มีใจถ่อมเยี่ยงแกะที่ไม่เพียงแต่ออกมาสู่ความสว่างของโลกเท่านั้น แต่จะดำเนินตามความสว่างนั้นด้วย: “ฝูงแกะก็ตามเขาไป เพราะมันรู้จักเสียง [น้ำเสียงบ่งบอกความจริง] ของเขา.” (โยฮัน 10:4, ล.ม.) ตามจริงแล้ว พวกเขายินดี “จะติดตามรอยพระบาทพระองค์อย่างใกล้ชิด” เพราะเขาทราบว่าการกระทำเช่นนั้นหมายถึงชีวิตนิรันดร์สำหรับตัวเอง.—1 เปโตร 2:21.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความสว่างสองชนิดอะไรบ้างมาจากพระยะโฮวา?
▫ เหตุใดเวลานี้ความสว่างฝ่ายวิญญาณจึงสำคัญมาก?
▫ พระเยซูทรงเป็น “ความสว่างอันใหญ่” ในทางใด?
▫ โยฮันบทหนึ่งบอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระเยซู?
▫ ของประทานอะไรได้หลั่งไหลมายังคนเหล่านั้นที่ดำเนินตามความสว่างของโลก?
[รูปภาพหน้า 10]
ซิมโอนเรียกพระเยซูว่าเป็น“สว่างส่องแสงแก่ชาวต่างประเทศ”