เราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา
“ส่วนเราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนถึงเวลาไม่กำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.”—มีคา 4:5, ล.ม.
1. ในเรื่องศีลธรรม สภาพการณ์ในสมัยโนฮาเป็นเช่นไร และโนฮาต่างออกไปอย่างไร?
มนุษย์คนแรกที่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลว่าดำเนินกับพระเจ้าคือฮะโนค. คนที่สองคือโนฮา. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “โนฮาเป็นคนชอบธรรม, รอบคอบดีในสมัยอายุของเขา [“ปราศจากข้อบกพร่องท่ามกลางคนในสมัยเดียวกัน,” ล.ม.], และได้ดำเนินกับพระเจ้า.” (เยเนซิศ 6:9) เมื่อมาถึงสมัยโนฮา มนุษยชาติโดยทั่วไปได้หันเหออกไปจากการนมัสการบริสุทธิ์. สภาพการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อเหล่าทูตสวรรค์ที่ไม่ซื่อสัตย์มีความสัมพันธ์อย่างผิดธรรมชาติกับผู้หญิงและให้กำเนิดบุตรที่เรียกว่าเนฟิลิม เป็น “คนรูปร่างล่ำสันใหญ่โต” หรือ “คนมีชื่อเสียงเลื่องลือ” ของสมัยนั้น. จึงไม่น่าแปลกใจที่แผ่นดินโลกเต็มไปด้วยความรุนแรง! (เยเนซิศ 6:2, 4, 11) กระนั้น โนฮาพิสูจน์ตัวว่าปราศจากข้อบกพร่องและเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม.” (2 เปโตร 2:5, ล.ม.) เมื่อพระเจ้ามีพระบัญชาให้สร้างนาวาเพื่อพิทักษ์รักษาชีวิต “พระเจ้ารับสั่งให้โนฮาทำอย่างไร, โนฮาก็กระทำอย่างนั้นทุกสิ่งทุกประการ” ด้วยความเชื่อฟัง. (เยเนซิศ 6:22) โนฮาดำเนินกับพระเจ้าอย่างแท้จริง.
2, 3. โนฮาวางตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในสมัยนี้อย่างไร?
2 เปาโลรวมเอาโนฮาไว้ในรายชื่อเหล่าพยานผู้ซื่อสัตย์เมื่อเขียนว่า “โดยความเชื่อ เมื่อพระเจ้าทรงเตือนถึงการณ์ที่ยังไม่ได้เห็น, โนฮาจึงมีใจเกรงกลัวจัดแจงต่อนาวาซึ่งเป็นที่ให้ครอบครัวของตนรอดได้ เพราะความเชื่อนั้นท่านจึงปรับโทษแก่โลก, และเป็นเจ้ามฤดกแห่งความชอบธรรมซึ่งบังเกิดแต่ความเชื่อ.” (เฮ็บราย 11:7) ช่างเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ! เนื่องจากมั่นใจว่าคำตรัสของพระยะโฮวาจะสำเร็จเป็นจริง ท่านจึงทุ่มเทเวลา, กาลัง, และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อทำตามพระบัญชาของพระเจ้า. หลายคนในทุกวันนี้ก็ทำคล้าย ๆ กันด้วยการหันหลังให้กับโอกาสที่โลกนี้เสนอให้ และใช้เวลา, กาลัง, และทรัพยากรของตนเพื่อทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวา. ความเชื่อของพวกเขาเป็นที่น่าสรรเสริญ และจะยังผลเป็นความรอดสำหรับตัวเขาเองและคนอื่น ๆ ด้วย.—ลูกา 16:9; 1 ติโมเธียว 4:16.
3 การแสดงความเชื่อคงต้องเป็นเรื่องยากสำหรับโนฮาและครอบครัวเหมือนกับที่เป็นเรื่องยากสำหรับฮะโนค ทวดของโนฮา ตามที่ได้พิจารณาไปในบทความก่อน. สมัยของโนฮาก็เหมือนกับสมัยของฮะโนค คือผู้นมัสการแท้มีอยู่จำนวนน้อย—เพียงแปดคนเท่านั้นที่พิสูจน์ตัวว่าซื่อสัตย์และรอดชีวิตผ่านมหาอุทกภัย. โนฮาประกาศความชอบธรรมในโลกที่รุนแรงและไร้ศีลธรรม. นอกจากนี้ ท่านและครอบครัวสร้างหีบไม้ขนาดมหึมาเพื่อเตรียมตัวสำหรับน้ำท่วมใหญ่ทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเคยเห็นน้ำท่วมมาก่อน. นั่นคงต้องเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะพิลึกพิลั่นในสายตาผู้คนที่เฝ้าดู.
4. พระเยซูเน้นความผิดในเรื่องใดของผู้คนในสมัยของโนฮา?
4 น่าสนใจ เมื่อพระเยซูพูดถึงสมัยโนฮา พระองค์ไม่ได้กล่าวถึงความรุนแรง, ศาสนาเท็จ, หรือการผิดศีลธรรมเลย แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องร้ายแรงก็ตาม. ความผิดที่พระเยซูเน้นคือการที่ผู้คนไม่ใส่ใจคำเตือนที่ให้แก่พวกเขา. พระองค์ตรัสว่า คนเหล่านั้น “กินและดื่ม ผู้ชายทำการสมรสและผู้หญิงถูกยกให้เป็นภรรยา จนถึงวันที่โนฮาเข้าในนาวา.” การกิน, การดื่ม, การสมรส การยกให้เป็นสามีภรรยากัน ผิดตรงไหน? พวกเขาก็เพียงแต่ดำเนินชีวิตตาม “ปกติ” เท่านั้น! แต่มหาอุทกภัยใกล้จะเกิดขึ้น และโนฮาก็กำลังประกาศความชอบธรรม. คำพูดและการกระทำของท่านน่าจะเป็นการเตือนพวกเขา. กระนั้น พวกเขา “ไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.”—มัดธาย 24:38, 39, ล.ม.
5. คุณลักษณะเช่นไรที่โนฮากับครอบครัวจำเป็นต้องมี?
5 เมื่อมองย้อนกลับไปยังสมัยนั้น เราเห็นว่าโนฮาดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญา. อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนน้ำท่วมนั้น ต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะต่างไปจากคนอื่น ๆ. โนฮาและครอบครัวต้องมีความเชื่อที่เข้มแข็งเพื่อจะสร้างนาวาขนาดมหึมาและนำสัตว์แต่ละชนิดเข้าไปไว้ในนั้น. บางคนในหมู่ผู้ซื่อสัตย์จำนวนน้อยนิดเหล่านี้มีความปรารถนาเป็นบางครั้งไหมที่ไม่อยากทำตัวเป็นจุดเด่น และเพียงแต่อยากใช้ชีวิตตาม “ปกติ”? ถึงแม้ว่าถ้าความคิดแบบนั้นจะผุดขึ้นมานั้นเป็นครั้งคราว แต่พวกเขาก็ไม่ได้อ่อนลงในเรื่องความซื่อสัตย์มั่นคง. หลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี—นานกว่าที่ใคร ๆ ในพวกเราจะต้องอดทนในระบบนี้—ความเชื่อของโนฮาก็ส่งผลให้ท่านรอดชีวิตผ่านมหาอุทกภัยนั้น. ในอีกด้านหนึ่ง พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษบรรดาผู้ที่ดำเนินชีวิตตาม “ปกติ” และไม่ใส่ใจต่อความหมายของยุคสมัยที่พวกเขามีชีวิตอยู่นั้น.
ความรุนแรงก่อความเดือดร้อนแก่มนุษย์อีก
6. หลังจากน้ำท่วมโลก สภาพการณ์แบบใดที่ยังคงมีอยู่?
6 หลังจากน้ำที่ท่วมได้ลดแห้งลง มนุษยชาติก็เริ่มต้นกันใหม่. อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และ “ความเอนเอียงแห่งหัวใจของมนุษย์” ก็ยังคง “ชั่วตั้งแต่เด็กมา.” (เยเนซิศ 8:21, ล.ม.) นอกจากนี้ แม้พวกผีปิศาจจำแลงกายเป็นมนุษย์ไม่ได้อีกต่อไป แต่พวกมันก็ยังคงปฏิบัติการอยู่. ไม่นานก็ปรากฏว่าโลกแห่งมนุษยชาติที่ดูหมิ่นพระเจ้า “ทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย” และก็เหมือนกับในทุกวันนี้ ที่เหล่าผู้นมัสการแท้ต้องต่อสู้กับ “ยุทธอุบายของพญามาร.”—1 โยฮัน 5:19; เอเฟโซ 6:11, 12.
7. ความรุนแรงเพิ่มทวีขึ้นอย่างไรในโลกหลังน้ำท่วมใหญ่?
7 แผ่นดินโลกหลังจากน้ำท่วมใหญ่เริ่มเต็มไปด้วยความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง อย่างช้าที่สุดก็จากสมัยของนิมโรด. จำนวนประชากรที่มากขึ้นและความก้าวหน้าด้านวิชาช่างต่าง ๆ ยิ่งทำให้ความรุนแรงเพิ่มทวีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป. ในยุคแรก ๆ มนุษย์ใช้ดาบ, หอก, ธนู, และรถศึกเทียมม้า. ในสมัยหลัง ๆ มา ก็เริ่มมีปืนไฟ, ปืนใหญ่กระสุนดินดำ, ต่อมาก็มีปืนเล็กยาวและปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20. สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ผู้คนได้รู้จักอาวุธที่น่ากลัวยิ่งขึ้นอีก เช่น เครื่องบิน, รถถัง, เรือดำน้ำ, และแก๊สพิษ. ในสงครามครั้งนั้น อาวุธเหล่านี้คร่าชีวิตมนุษย์หลายล้านคน. นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไหม? ไม่เลย.
8. วิวรณ์ 6:1-4 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
8 ในปี 1914 พระเยซูขึ้นครองราชย์ฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า และ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ก็เริ่มต้นนับแต่นั้น. (วิวรณ์ 1:10) นิมิตหนึ่งที่พรรณนาไว้ในพระธรรมวิวรณ์ให้ภาพพระเยซูฐานะกษัตริย์ทรงม้าขาวออกไปอย่างผู้มีชัย. ผู้ขี่ม้าอื่น ๆ ขี่ม้าตามพระองค์ไป ม้าแต่ละตัวกับผู้ขี่เป็นภาพเล็งถึงวิบัติภัยแต่ละอย่างที่จะเกิดขึ้นแก่มนุษยชาติ. หนึ่งในนั้นขี่ม้าสีแดงเพลิง และผู้ขี่ม้านี้ได้รับอนุญาตให้ “พรากความสุขสำราญไปจากแผ่นดินโลก, เพื่อให้คนทั้งปวงรบราฆ่าฟันกัน และทรงประทานพระแสงใหญ่เล่มหนึ่งแก่ท่านนั้น.” (วิวรณ์ 6:1-4) ม้าสีแดงเพลิงกับผู้ขี่ม้านั้นเป็นภาพเล็งถึงสงคราม และพระแสงเล่มใหญ่ให้ภาพแสดงถึงการทำลายล้างที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนของสงครามสมัยใหม่ซึ่งใช้อาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง. อาวุธดังกล่าวในทุกวันนี้รวมไปถึงระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งแต่ละลูกสามารถทำลายล้างชีวิตคนหลายหมื่นคน, จรวดสามารถนำพาอาวุธเหล่านั้นไปยังเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร รวมทั้งอาวุธเคมีกับอาวุธชีวภาพที่พัฒนาไปมาก ซึ่งสามารถทำลายชีวิตผู้คนคราวละมาก ๆ อีกด้วย.
เราใส่ใจคำเตือนของพระยะโฮวา
9. โลกในสมัยปัจจุบันเมื่อเทียบกับโลกสมัยก่อนมหาอุทกภัยแล้วเป็นอย่างไร?
9 ในสมัยของโนฮา พระยะโฮวาทำลายล้างมนุษยชาติเพราะความรุนแรงถึงขีดสุดที่เกิดจากคนชั่วโดยมีพวกเนฟิลิมยุยงส่งเสริม. ทุกวันนี้ล่ะเป็นอย่างไร? โลกมีความรุนแรงน้อยกว่าสมัยนั้นไหม? ไม่เลย! นอกจากนี้ เช่นเดียวกับในสมัยโนฮา ผู้คนในปัจจุบันทำกิจธุระในชีวิตประจำวันของตน ดำเนินชีวิตตาม “ปกติ” ไม่ใส่ใจคำเตือนที่มีการประกาศออกไป. (ลูกา 17:26, 27) ดังนั้นแล้ว มีเหตุผลใด ๆ ไหมที่จะสงสัยว่าพระยะโฮวาจะทรงทำลายล้างมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่งหรือไม่? ไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยเลย.
10. (ก) คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลให้คำเตือนในเรื่องใดครั้งแล้วครั้งเล่า? (ข) อะไรคือแนวทางเดียวที่ฉลาดสุขุมในปัจจุบัน?
10 หลายร้อยปีก่อนมหาอุทกภัย ฮะโนคบอกล่วงหน้าถึงการทำลายล้างที่จะต้องเกิดขึ้นในสมัยของเรา. (ยูดา 14, 15) พระเยซูตรัสถึง “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” ที่กำลังใกล้เข้ามาเช่นกัน. (มัดธาย 24:21) ผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ก็ได้เตือนถึงสมัยดังกล่าว. (ยะเอศเคล 38:18-23; ดานิเอล 12:1; โยเอล 2:31, 32) และในพระธรรมวิวรณ์ เราอ่านพบคำพรรณนาที่ให้ภาพชัดเจนถึงการทำลายล้างขั้นสุดท้าย. (วิวรณ์ 19:11-21) เราแต่ละคนเลียนแบบโนฮาและขยันขันแข็งในฐานะผู้ประกาศความชอบธรรม. เราใส่ใจคำเตือนของพระยะโฮวาและช่วยเพื่อนบ้านของเราด้วยความรักให้ทำอย่างเดียวกัน. โดยวิธีนี้ เราดำเนินกับพระเจ้า เช่นเดียวกับโนฮา. อันที่จริง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาจะได้ชีวิตต้องดำเนินกับพระเจ้าต่อ ๆ ไป. เราจะดำเนินกับพระเจ้าต่อ ๆ ไปได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่เผชิญความกดดันในชีวิตแต่ละวัน? เราต้องพัฒนาความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนที่ว่าพระประสงค์ของพระเจ้าจะบรรลุผลสำเร็จ.—เฮ็บราย 11:6.
จงดำเนินกับพระเจ้าต่อ ๆ ไปในยุคที่ปั่นป่วนวุ่นวาย
11. เราเลียนแบบคริสเตียนในศตวรรษแรกในทางใด?
11 ในศตวรรษแรก คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นพวกที่ถือ “ทางนั้น.” (กิจการ 9:2) แนวทางชีวิตทั้งสิ้นของพวกเขารวมจุดอยู่ที่ความเชื่อในพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์. พวกเขาดำเนินตามแนวทางของนาย. คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในสมัยปัจจุบันก็ทำเช่นเดียวกันนั้น.
12. เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่พระเยซูได้ทำการอัศจรรย์เลี้ยงอาหารฝูงชน?
12 ความสำคัญของความเชื่อเห็นได้จากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการรับใช้ของพระเยซู. ในโอกาสหนึ่ง พระเยซูทำการอัศจรรย์เลี้ยงอาหารฝูงชนราว 5,000 คน. ประชาชนทั้งอัศจรรย์ใจและปีติยินดี. แต่ขอสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น. เราอ่านว่า “เมื่อคนทั้งหลายได้เห็นการอัศจรรย์ที่พระเยซูได้ทรงกระทำนั้นจึงพูดว่า, ‘แท้จริงท่านนี้เป็นศาสดาพยากรณ์นั้นที่จะเข้ามาในโลก.’ เพราะพระเยซูทรงทราบว่าเขาจะมาจับพระองค์ไปตั้งให้เป็นกษัตริย์, พระองค์จึงเสด็จไปยังภูเขาอีกแต่พระองค์เดียว.” (โยฮัน 6:10-15) ในคืนนั้นพระองค์เสด็จไปที่อื่น. การที่พระเยซูปฏิเสธที่จะเป็นกษัตริย์คงทำให้หลายคนผิดหวัง. จะว่าไป พระองค์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าพระองค์ทรงมีพระสติปัญญาที่จะเป็นกษัตริย์ ทั้งยังมีฤทธิ์อำนาจที่จะสนองความจำเป็นฝ่ายกายของประชาชน. แต่ทว่าเวลาที่พระยะโฮวากำหนดไว้ให้พระองค์ขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์ยังมาไม่ถึง. ยิ่งกว่านั้น ราชอาณาจักรของพระเยซูจะอยู่ในสวรรค์ ไม่ใช่บนแผ่นดินโลก.
13, 14. หลายคนเผยให้เห็นว่ามีแง่คิดเช่นไร และความเชื่อของพวกเขาถูกทดสอบอย่างไร?
13 ถึงกระนั้น ฝูงชนก็ยังตามหาพระเยซูอย่างไม่เลิกรา และพบพระองค์ “ที่ฝั่งทะเลข้างโน้น” ตามที่โยฮันกล่าว. ประชาชนตามพระเยซูไปทำไมในเมื่อพระองค์หลบเลี่ยงความพยายามของพวกเขาที่จะตั้งพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์? หลายคนเผยให้เห็นแง่คิดแบบเนื้อหนัง เมื่อพวกเขากล่าวเน้นถึงเรื่องอาหารที่พระยะโฮวาประทานให้ในถิ่นทุรกันดารในสมัยของโมเซ. ความหมายของพวกเขาก็คือพระเยซูควรเลี้ยงอาหารพวกเขาต่อ ๆ ไป. พระเยซู ซึ่งมองออกว่าพวกเขามีเจตนาที่ไม่ถูกต้อง จึงเริ่มสอนความจริงฝ่ายวิญญาณที่อาจช่วยปรับความคิดของพวกเขาได้. (โยฮัน 6:17, 24, 25, 30, 31, 35-40) บางคนแสดงปฏิกิริยาด้วยการบ่นพึมพำต่อว่าพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ตรัสคำเปรียบว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, ถ้าท่านไม่กินเนื้อและดื่มโลหิตของบุตรมนุษย์, ท่านไม่มีชีวิตในตัวท่าน. ผู้ที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร์, และเราจะให้ผู้นั้นเป็นขึ้นมาในวันที่สุด.”—โยฮัน 6:53, 54.
14 บ่อยครั้ง คำเปรียบของพระเยซูกระตุ้นผู้คนให้เผยออกมาว่าเขาปรารถนาที่จะดำเนินกับพระเจ้าอย่างแท้จริงหรือไม่. คำเปรียบนี้ก็เช่นกัน เร้าให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรง. เราอ่านว่า “สาวกของพระองค์หลายคนเมื่อได้ยินอย่างนั้นแล้วจึงพูดว่า ‘การพูดเช่นนี้ทำให้ตกตะลึง ใครจะฟังได้?’ ” พระเยซูทรงอธิบายต่อไปว่าพวกเขาน่าจะพยายามค้นหาความหมายฝ่ายวิญญาณของถ้อยคำที่พระองค์กล่าวแก่พวกเขา. พระองค์ตรัสว่า “วิญญาณเป็นที่ให้ชีวิต ส่วนเนื้อหนังไม่มีประโยชน์อันใด. ถ้อยคำซึ่งเราได้กล่าวแก่เจ้าทั้งหลายนั้นเป็นวิญญาณและเป็นชีวิต.” กระนั้น หลายคนไม่ยอมรับฟัง บันทึกรายงานว่า “เนื่องจากเหตุนี้ สาวกของพระองค์หลายคนจึงถอยออกไปสู่สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และไม่ดำเนินกับพระองค์อีกต่อไป.”—โยฮัน 6:60, 63, 66, ล.ม.
15. สาวกบางคนของพระเยซูมีทัศนะที่ถูกต้องเช่นไร?
15 ถึงกระนั้น ไม่ใช่สาวกทุกคนของพระเยซูแสดงปฏิกิริยาเช่นนั้น. จริงอยู่ สาวกที่ภักดีไม่เข้าใจถ่องแท้ในสิ่งที่พระเยซูตรัส. แต่พวกเขาก็ยังคงเชื่อมั่นในพระองค์. เปโตร หนึ่งในสาวกที่ภักดี แสดงความรู้สึกของสาวกทุกคนที่ยังอยู่กับพระเยซู เมื่อท่านกล่าวว่า “พระองค์เจ้าข้า, พวกข้าพเจ้าจะกลับไปหาผู้ใดเล่า? คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์นั้นมีอยู่ที่พระองค์.” (โยฮัน 6:68) ช่างเป็นเจตคติที่ดีเยี่ยมและเป็นตัวอย่างที่ดีเสียจริง ๆ!
16. เราอาจถูกทดสอบอย่างไร และทัศนะที่ถูกต้องเช่นไรที่เราควรปลูกฝัง?
16 พวกเราในทุกวันนี้อาจถูกทดสอบเช่นเดียวกับเหล่าสาวกรุ่นแรกของพระเยซู. ในกรณีของเรา เราอาจผิดหวังที่คำสัญญาของพระยะโฮวายังไม่สำเร็จเป็นจริงเร็ว ๆ อย่างที่เราเองอยากให้เป็น. เราอาจรู้สึกว่าคำอธิบายข้อพระคัมภีร์ในหนังสือต่าง ๆ ของเราที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักนั้นเข้าใจยาก. ความประพฤติของเพื่อนคริสเตียนบางคนก็อาจทำให้เราผิดหวัง. ถูกต้องไหมที่จะเลิกดำเนินกับพระเจ้าด้วยเหตุผลเช่นนั้นหรือเหตุผลอื่น ๆ ที่คล้ายกัน? แน่นอน ไม่ถูกต้อง! เหล่าสาวกที่ละทิ้งพระเยซูแสดงแง่คิดแบบเนื้อหนังออกมา. เราต้องหลีกเลี่ยงการทำเช่นนั้น.
“เราไม่ใช่คนที่จะถอยกลับ”
17. อะไรจะช่วยเราให้ดำเนินกับพระเจ้าต่อ ๆ ไป?
17 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) โดยทางคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาทรงบอกเราอย่างชัดเจนว่า “ทางนี้แหละ, เดินไปเถอะ.” (ยะซายา 30:21) การเชื่อฟังพระคำของพระเจ้าช่วยเราให้ ‘ระวังอย่างเข้มงวดในวิธีที่เราดำเนิน.’ (เอเฟโซ 5:15, ล.ม.) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้ช่วยเราให้ “ดำเนินอยู่ในความจริงต่อ ๆ ไป.” (3 โยฮัน 3, ล.ม.) จริงทีเดียว ดังที่พระเยซูตรัส “วิญญาณเป็นที่ให้ชีวิต ส่วนเนื้อหนังไม่มีประโยชน์อันใด.” เครื่องนำทางที่ไว้ใจได้เพียงแหล่งเดียวที่จะชี้นำก้าวเดินของเราได้แก่การชี้นำฝ่ายวิญญาณซึ่งมาทางพระคำ, พระวิญญาณ, และองค์การของพระยะโฮวา.
18. (ก) บางคนทำอะไรที่ไม่ฉลาด? (ข) เราปลูกฝังความเชื่อชนิดใด?
18 ในทุกวันนี้ คนที่รู้สึกไม่พอใจเพราะมีความคิดแบบเนื้อหนัง หรือเพราะการคาดหมายที่ไม่สมปรารถนา บ่อยครั้งจึงหันไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในสิ่งที่โลกเสนอให้. เนื่องจากสูญเสียความสำนึกถึงความเร่งด่วน พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะ “เฝ้าระวังอยู่” และเลือกที่จะมุ่งติดตามเป้าหมายอันเห็นแก่ตัวแทนที่จะให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรก. (มัดธาย 24:42) การดำเนินในแนวทางอย่างนั้นไม่ฉลาดอย่างยิ่ง. ขอให้สังเกตคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “เราไม่ใช่คนที่จะถอยกลับสู่ความพินาศ แต่เป็นคนที่มีความเชื่อซึ่งจะรักษาชีวิตไว้.” (เฮ็บราย 10:39, ล.ม.) เช่นเดียวกับฮะโนคและโนฮา เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่ปั่นป่วนวุ่นวาย แต่เหมือนพวกเขา เรามีสิทธิพิเศษที่จะดำเนินกับพระเจ้า. เนื่องจากเราดำเนินกับพระเจ้า เราก็คาดหมายได้อย่างมั่นใจว่าเราจะเห็นคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริง, เห็นความชั่วถูกขจัดให้หมดไป, และเห็นโลกใหม่อันชอบธรรมเกิดขึ้น. ช่างเป็นความหวังที่วิเศษเสียจริง ๆ!
19. มีคาพรรณนาแนวทางแห่งผู้นมัสการแท้ไว้ว่าอย่างไร?
19 ท่านผู้พยากรณ์มีคาซึ่งได้รับการดลใจกล่าวถึงชนชาติต่าง ๆ ในโลกว่า พวกเขา “ต่างก็จะดำเนินในนามแห่งพระเจ้าของเขา.” จากนั้น ท่านกล่าวถึงตัวท่านเองและผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ว่า “ส่วนเราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนถึงเวลาไม่กำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.” (มีคา 4:5, ล.ม.) ถ้าคุณมีความตั้งใจเหมือนอย่างมีคา ขอให้คุณใกล้ชิดอยู่กับพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป ไม่ว่ายุคนี้จะปั่นป่วนเพียงไรก็ตาม. (ยาโกโบ 4:8) ขอให้เราแต่ละคนตั้งความปรารถนาจากหัวใจที่จะดำเนินกับพระยะโฮวาพระเจ้าของเราเสียแต่บัดนี้จนถึงเวลาไม่กำหนด นั่นคือ ตลอดไปเป็นนิตย์!
คุณจะตอบอย่างไร?
• มีความคล้ายกันอย่างไรบ้างระหว่างสมัยโนฮากับสมัยของเรา?
• โนฮากับครอบครัวดำเนินในแนวทางเช่นไร และเราจะเลียนแบบความเชื่อของพวกเขาได้อย่างไร?
• สาวกบางคนของพระเยซูเผยให้เห็นแง่คิดผิด ๆ เช่นไร?
• คริสเตียนแท้ตั้งใจจะทำอะไร?
[ภาพหน้า 20]
เช่นเดียวกับในสมัยโนฮา ผู้คนในทุกวันนี้ง่วนอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
[ภาพหน้า 21]
ฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร “เราไม่ใช่คนที่จะถอยกลับ”