“จงสวมเครื่องอาวุธของความสว่าง”
“กลางคืนล่วงไปมากแล้ว และรุ่งเช้าก็ใกล้เข้ามา. เราจงเลิกการกระทำของความมืดและจงสวมเครื่องอาวุธของความสว่าง.”—โรม 13:12, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. คนยิวสมัยศตวรรษแรกส่วนใหญ่ได้ตอบรับต่อ “ความสว่างแท้” อย่างไร และทั้งที่มีข้อได้เปรียบอะไร?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ความสว่างแท้ซึ่งให้ความสว่างแก่คนทุกชนิด.” (โยฮัน 1:9, ล.ม.) เมื่อพระองค์เข้ามาในโลกในฐานะเป็นพระมาซีฮา ในปีสากลศักราช 29 พระองค์ได้เสด็จมาหาชนชาติที่พระเจ้าทรงสรรไว้เป็นพยานของพระองค์ และอย่างน้อยได้ชื่อเป็นชาติซึ่งอุทิศแด่พระยะโฮวาแล้ว. (ยะซายา 43:10) ชาวยิศราเอลหลายคนได้คอยหาพระมาซีฮา และมีไม่น้อยรู้จักคำพยากรณ์ระบุตัวท่านผู้นี้. ยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงสั่งสอนไปทั่วทุกภาคแห่งแผ่นดินปาเลสไตน์ และทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ ให้ประจักษ์แก่ฝูงชน. ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมาฟังพระองค์และเกิดความประทับใจในสิ่งที่พวกเขาได้เห็นได้ฟัง.—มัดธาย 4:23-25; 7:28, 29; 9:32-36; โยฮัน 7:31.
2 กระนั้น ในที่สุด ชาวยิวส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธพระเยซู. กิตติคุณซึ่งโยฮันบันทึกนั้นบอกอย่างนี้: “พระองค์ได้เสด็จมายังบ้านเมืองของพระองค์ แต่ชนร่วมชาติไม่ได้ต้อนรับพระองค์.” (โยฮัน 1:11, ล.ม.) ทำไมเป็นเช่นนั้น? คำตอบสำหรับข้อถามนี้จะช่วยเราไม่ทำผิดซ้ำอย่างที่เขาได้ทำ. ทั้งจะช่วยเรา “เลิกการกระทำของความมืด และ . . . สวมเครื่องอาวุธของความสว่าง” เพื่อไม่ต้องถูกพิพากษาอย่างไม่เห็นดีเห็นชอบ ดังชนชาติยิศราเอลศตวรรษแรกเคยประสบมาแล้ว.—โรม 13:12; ลูกา 19:43, 44.
การขัดขวางจากพวกผู้มีอำนาจด้านศาสนา
3. พวกผู้นำศาสนายิวได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างไรว่าเขาเป็น “ผู้นำทางตาบอด”?
3 ในประเทศยิศราเอลผู้นำด้านศาสนาเป็นตัวตั้งตัวตีในการปฏิเสธความสว่าง. ทั้งที่พวกเขาเป็นครู ‘ที่เชี่ยวชาญพระบัญญัติ’ แต่เขาได้วางภาระเกี่ยวด้วยกฎและระเบียบให้ประชาชนปฏิบัติ ซึ่งขัดแย้งกับพระบัญญัติของพระเจ้าอยู่เนือง ๆ. (ลูกา 11:45, 46) ดังนั้น เขา ‘ได้ทำลายพระบัญญัติของพระเจ้าโดยคำสอนของเขาที่สอนต่อ ๆ กันมา.’ (มาระโก 7:13; มัดธาย 23:16, 23, 24) พวกเขาเป็น “ผู้นำทางตาบอด” ที่ขัดขวางมิให้ความสว่างส่องออกไป.—มัดธาย 15:14.
4, 5. (ก) พวกฟาริซายมีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อคนยิวจำนวนหนึ่งเริ่มสงสัยว่าพระเยซูจะเป็นมาซีฮาจริงหรือไม่? (ข) พวกฟาริซายเผยท่าทีอะไรอันแสดงถึงสภาพหัวใจชั่วร้าย?
4 ณ โอกาสหนึ่ง ขณะที่ชาวยิศราเอลเป็นอันมากแคลงใจอยู่ว่าพระเยซูจะใช่มาซีฮาหรือไม่ พวกฟาริซายที่ตื่นตระหนกได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับพระองค์. เจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลับมามือเปล่าบอกว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนี้เลย.” พวกฟาริซายถามเจ้าหน้าที่โดยไม่สะดุ้งสะเทือนว่า “พวกเจ้าถูกนำให้หลงไปด้วยแล้วหรือ? ไม่มีผู้ใดในพวกผู้ปกครองหรือพวกฟาริซายวางใจในผู้นั้นมิใช่หรือ? แต่ว่าฝูงชนที่ไม่รู้จักพระบัญญัติก็ถูกแช่งสาบอยู่แล้ว.” นิโกเดโม สมาชิกศาลซันเฮดรินได้กล่าวทักท้วงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะตัดสินผู้หนึ่งผู้ใดก่อนได้ยินคำให้การ. พวกฟาริซายหันไปเล่นงานโดยพูดเย้ยหยันเขาว่า “ท่านมาจากฆาลิลายด้วยหรือ? จงค้นดูจะพบว่าไม่มีผู้พยากรณ์ออกมาจากฆาลิลาย.”—โยฮัน 7:46-52, ล.ม.
5 ทำไมผู้นำศาสนาแห่งชาติซึ่งได้อุทิศแด่พระเจ้าจึงประพฤติเช่นนั้น? เพราะเขาได้พัฒนาสภาพการณ์ชั่วร้ายขึ้นในหัวใจ. (มัดธาย 12:34) แง่คิดของเขาในเชิงดูถูกคนสามัญเช่นนั้นส่อถึงความยโส. คำพูดที่ว่า “ไม่มีผู้ใดในพวกผู้ปกครองหรือพวกฟาริซายวางใจในท่านผู้นั้น” สร้างข้อสันนิษฐานอย่างอวดดีว่า พระมาซีฮา จริงแท้อย่างไรนั้นอยู่ที่การเห็นชอบของเขาเอง. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาเป็นคนอสัตย์ เขาพยายามทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระเยซูโดยหาว่าพระองค์มาจากฆาลิลาย ซึ่งเพียงสืบสวนกันง่าย ๆ ก็จะรู้ว่า ที่แท้แล้วพระองค์บังเกิดที่เบธเลเฮม สถานที่ประสูติของพระมาซีฮาตามคำพยากรณ์.—มีคา 5:2; มัดธาย 2:1.
6, 7. (ก) ผู้นำด้านศาสนาแสดงปฏิกิริยาเช่นไรต่อการปลุกลาซะโรขึ้นจากความตาย? (ข) พระเยซูตรัสถ้อยคำอะไรอันเป็นการเปิดโปงผู้นำศาสนาซึ่งรักความมืด?
6 การขัดขวางความสว่างโดยผู้นำศาสนาอย่างที่ไม่สามารถระงับได้เช่นนี้ ปรากฏชัดเจนตอนที่พระเยซูปลุกลาซะโรขึ้นจากความตาย. สำหรับคนที่เกรงกลัวพระเจ้า การกระทำเช่นนั้นคงพิสูจน์ว่าพระเยซูได้รับการสนับสนุนจากพระยะโฮวา. แต่พวกผู้นำศาสนากลับมองเห็นว่าอาจจะเป็นการคุกคามต่อตำแหน่งหน้าที่อันทรงสิทธิของตน. พวกเขากล่าวอย่างนี้: “เราจะทำอย่างไรกัน เพราะว่าชายผู้นี้กระทำหมายสำคัญหลายประการ? ถ้าเราปล่อยเขาไว้อย่างนี้ คนทั้งปวงจะเชื่อถือเขา และพวกโรมันก็จะมายึดเอาทั้งที่และชาติของเรา.” (โยฮัน 11:44, 47, 48, ล.ม.) ฉะนั้น พวกเขาจึงปรึกษากันจะฆ่าทั้งพระเยซูกับลาซะโร บางทีหวังว่าการจัดการวิธีนี้จะดับความสว่างได้.—โยฮัน 11:53, 54; 12:9, 10, ล.ม.
7 เหตุฉะนั้น ความอวดดี ความยโส ความไม่ซื่อสัตย์ และความเห็นแก่ตัวจึงผู้นำศาสนาแห่งชนชาติของพระเจ้าออกไปจากความสว่าง. พอจวนถึงเวลาสิ้นสุดงานเทศนาสั่งสอน พระเยซูได้เปิดโปงความผิดของคนเหล่านั้นโดยตรัสว่า “วิบัติแก่เจ้า พวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย คนหน้าซื่อใจคด! เพราะพวกเจ้าปิดเมืองสวรรค์ไว้จากมนุษย์ ถึงแม้พวกเจ้าเองเจ้าก็ไม่เข้าไป และเมื่อคนอื่นจะเข้าไป พวกเจ้าก็ขัดขวางไว้.”—มัดธาย 23:13.
ความเห็นแก่ตัวและความยโส
8. เหตุการณ์อะไรในนาซาเร็ธได้เปิดเผยสภาพหัวใจที่ชั่วร้ายของบางคนในเมืองนั้น?
8 กล่าวโดยทั่วไป คนยิวสมัยศตวรรษแรกเลียนแบบพวกผู้นำศาสนาของเขาที่ปฏิเสธความสว่าง เนื่องด้วยทัศนะทางใจที่ไม่ดี. ยกตัวอย่าง ณ โอกาสหนึ่งพระเยซูได้รับเชิญให้บรรยายในธรรมศาลาเมืองนาซาเร็ธ. พระองค์ทรงอ่านและอธิบายข้อความตอนหนึ่งจากพระธรรมยะซายา และทีแรกพวกเขาที่นั่นตั้งใจฟังพระองค์. แต่ครั้นพระองค์กล่าวเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ซึ่งเปิดโปงความเห็นแก่ตัวและการขาดความเชื่อของเขา คนเหล่านั้นจึงโกรธแค้นและหมายจะฆ่าพระองค์เสีย. (ลูกา 4:16-30) ความยโส และนิสัยไม่ดีอย่างอื่น คอยขัดขวางพวกเขาไม่ให้ตอบรับอย่างสมควรต่อความสว่าง.
9. เจตนาที่ไม่ถูกต้องของชาวฆาลิลายหลายคนได้ถูกเปิดโปงอย่างไร?
9 อีกโอกาสหนึ่ง ไม่ไกลจากทะเลฆาลิลาย พระเยซูทรงเลี้ยงประชาชนมากมายโดยการอัศจรรย์. คนที่รู้เห็นการอัศจรรย์ได้พูดว่า “ผู้นี้เป็นผู้พยากรณ์คนนั้นแน่ที่จะเข้ามาในโลก.” (โยฮัน 6:10-14, ล.ม.) เมื่อพระเยซูทรงลงเรือข้ามไปอีกที่หนึ่ง ฝูงชนพากันติดตามพระองค์ไป. แต่พระเยซูทรงทราบว่าเจตนาของหลายคนมิใช่เพราะรักความสว่าง. พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “เจ้าตามหาเรา มิใช่เพราะได้เห็นหมายสำคัญ หากแต่เพราะเจ้าได้กินขนมปังอิ่ม.” (โยฮัน 6:26, ล.ม.) จากนั้นไม่นานปรากฏว่าพระองค์เป็นฝ่ายถูกเมื่อหลายคนที่เคยติดตามพระองค์ได้หันกลับไปหาโลกอีก. (โยฮัน 6:66) ทัศนะอันเห็นแก่ตัวทำนองนี้: “ถ้าตามไปจะได้อะไร?” ปิดกั้นมิให้เขาเห็นความสว่าง.
10, คนต่างชาติส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาเช่นไรต่อความสว่าง?
10 ภายหลังพระเยซูวายพระชนม์แล้วได้รับการปลุกขึ้นมาอีก ชาวยิวผู้มีความเชื่อก็ยังคงนำความสว่างไปให้เพื่อนคนยิวด้วยกันอย่างไม่ลดละ แต่มีคนตอบรับไม่มาก. ดังนั้น อัครสาวกเปาโลกับบางคนจึงทำหน้าที่เป็น “ความสว่างของคนต่างชาติ” เผยแพร่กิตติคุณไปยังประเทศอื่น. (กิจการ 13:44-47) คนต่างชาติเป็นอันมากตอบรับ แต่ปฏิกิริยาโดยทั่วไปก็เป็นอย่างที่เปาโลพรรณนาคือ “พวกเราป่าวประกาศเรื่องพระคริสต์ผู้ถูกตรึง . . . [ข่าวซึ่ง] พวกต่างประเทศถือว่าเป็นการโฉดเขลา.” (1 โกรินโธ 1:22, 23) คนต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ยอมรับความสว่างเพราะการเชื่อโชคลาง หรือไม่ก็ปรัชญาของมนุษย์ซึ่งปิดบังมิให้เขาเห็นความสว่าง.—กิจการ 14:8-13; 17:32; 19:23-28.
‘ถูกเรียกออกจากความมืด’
11, 12. ใครตอบรับต่อความสว่างในศตวรรษแรก และเวลานี้ใครตอบรับ?
11 สมัยศตวรรษแรกนั้น ถึงแม้ผู้คนโดยทั่วไปไม่ได้ตอบรับ กระนั้นก็มีหลายคนผู้มีสภาพหัวใจที่ถูกต้อง ‘ถูกเรียกออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างมหัศจรรย์ของพระเจ้า.’ (1 เปโตร 2:9) อัครสาวกโยฮันเขียนเกี่ยวกับคนจำพวกนี้ว่า “เท่าที่ได้ต้อนรับพระองค์ [พระคริสต์] พระองค์ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเขาได้สำแดงความเชื่อในพระนามของพระองค์.” (โยฮัน 1:12, ล.ม.) เริ่มจากวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 คนรักความสว่างเหล่านี้ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ แล้วกลายเป็นบุตรของพระเจ้าพร้อมกับมีความหวังจะเป็นกษัตริย์ปกครองร่วมกับพระเยซูในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.
12 ในสมัยปัจจุบัน บรรดาบุตรผู้ถูกเจิมของพระเจ้าซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายก็ถูกรวบรวมเข้ามา และสำเร็จสมจริงตามคำพยากรณ์ของดานิเอล คนเหล่านี้ “จะรุ่งโรจน์ดังดารา . . . ชักนำคนมากหลายให้กลับมาถึงความชอบธรรม.” (ดานิเอล 12:3) พวกเขาได้ฉายความสว่างออกไปถึงขนาดที่ดึงดูด “แกะอื่น” มากกว่าสี่ล้านคนเข้ามาพบความจริงและอยู่ในฐานะอันชอบธรรมจำเพาะพระเจ้า. (โยฮัน 10:16) แล้วบุคคลดังกล่าวก็สะท้อนความสว่างไปทั่วโลกจนถึงบัดนี้ความสว่างนั้นส่องโชติช่วงแรงกล้ายิ่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน. เวลานี้ก็เหมือนสมัยศตวรรษแรก “ความมืดนั้นหาชนะความสว่างไม่.”—โยฮัน 1:5, ล.ม.
‘ไม่มีความมืดในพระเจ้า’
13. อัครสาวกโยฮันให้คำเตือนอะไรแก่เรา?
13 อย่างไรก็ดี เราจะต้องไม่ลืมคำเตือนของอัครสาวกโยฮันที่ว่า “พระเจ้าเป็นความสว่าง และความมืดในพระองค์ไม่มีเลย. ถ้าเราจะว่า ‘เรามีใจร่วมสามัคคีธรรมกับพระองค์ และยังประพฤติอยู่ในความมืด เราก็พูดมุสา และไม่ได้ประพฤติตามความจริง.” (1 โยฮัน 1:5, 6) ชัดแจ้งแล้วว่า เป็นไปได้ที่คริสเตียนจะเผอเรอกระทำผิดเช่นนั้นเหมือนพวกยิว และ ในขณะที่ได้ชื่อเป็นพยานของพระเจ้า จะทำการต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับความมืด.
14, 15. การงานอะไรของความมืดได้ปรากฏแจ้งในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรก และเราได้เรียนอะไรจากเรื่องนี้?
14 แท้จริง เรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในศตวรรษแรก. เราอ่านเรื่องการแตกแยกอันรุนแรงในเมืองโกรินโธ. (1 โกรินโธ 1:10-17) อัครสาวกโยฮันจำต้องได้เตือนคริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่ให้เกลียดกัน และยาโกโบต้องแนะนำบางคนไม่ให้เห็นแก่หน้าคนมั่งมีมากกว่าคนยากจน. (ยาโกโบ 2:2-4; 1 โยฮัน 2:9, 10; 3 โยฮัน 11, 12) นอกจากนั้น เมื่อพระเยซูทรงตรวจตราประชาคมทั้งเจ็ดแห่งเอเซียไมเนอร์ ดังมีกล่าวในพระธรรมวิวรณ์ พระองค์ทรงพูดถึงการบุกรุกจากการงานฝ่ายความมืด รวมถึงการออกหาก การไหว้รูปเคารพ การผิดศีลธรรม และการนิยมสิ่งฝ่ายวัตถุ. (วิวรณ์ 2:4, 14, 15, 20–23; 3:1, 15–17) ในสมัยแรก ๆ แห่งประชาคมคริสเตียน มีคนไม่น้อยได้ละทิ้งความสว่าง บ้างถูกตัดสัมพันธ์ บ้างก็เพียงแต่ลอยไปสู่ “ที่มืดภายนอก.”—มัดธาย 25:30; ฟิลิปปอย 3:18; เฮ็บราย 2:1; 2 โยฮัน 8-11.
15 รายงานเหล่านี้ทั้งหมดจากศตวรรษที่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า มีหลายวิธีต่างกันที่ความมืดแห่งโลกของซาตานสามารถแทรกซึมอยู่ในความคิดของคริสเตียนเป็นรายบุคคล หรือกระทั่งแทรกซึมประชาคมโดยส่วนรวม. เราควรระแวดระวังมิให้สิ่งเช่นนั้นเกิดขึ้นกับเราได้. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
บุคลิกลักษณะใหม่
16. เปาโลให้คำแนะนำอันมีเหตุผลแน่นหนาอะไรแก่ชาวเอเฟโซ?
16 เปาโลตักเตือนชาวเอเฟโซว่าจงอย่าได้ “อยู่ในความมืดทางจิตใจและเหินห่างไปจากชีวิตซึ่งมาจากพระเจ้า” อีกต่อไป. เพื่อจะไม่ก้าวพลาดกลับไปสู่ความมืด พวกเขาต้องพัฒนาเจตคติซึ่งเป็นของความสว่าง. เปาโลกล่าวดังนี้: “ท่านทั้งหลายควรละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่าซึ่งเป็นไปตามทางการประพฤติเดิมของท่าน แต่ . . . ท่านควรถูกเปลี่ยนใหม่ในพลังที่กระตุ้นจิตใจของท่าน และควรสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:18, 22–24, ล.ม.
17. พวกเราสมัยนี้จะหลีกเลี่ยงการก้าวพลาดไปสู่ความมืดได้อย่างไร?
17 ตอนนี้เปาโลแนะนำประหนึ่งว่าเป็นการผ่าตัดอย่างถอนราก คือตัดทิ้งส่วนหนึ่งของตัวเรา คือบุคลิกลักษณะเก่าของเรา และยอมให้น้ำใจอย่างใหม่ล้วน ๆ พัฒนาขึ้นเพื่อ ‘กระตุ้นจิตใจของเรา.’ และเปาโลไม่ได้พูดเรื่องนี้แก่คนที่เพิ่งแสดงความสนใจใหม่ แต่พูดกับคริสเตียนที่รับบัพติสมาแล้ว. การเปลี่ยนบุคลิกของเราไม่ได้หยุดเมื่อเรารับบัพติสมา. มันเป็นการทำอย่างต่อเนื่อง. ถ้าเราเลิกการปลูกฝังบุคลิกลักษณะใหม่ บุคลิกเก่าก็คงจะโผล่ขึ้นมาอีก พร้อมกับความยโสโอหังและความเห็นแก่ตัว. (เยเนซิศ 8:21; โรม 7:21-25) ทั้งนี้อาจจะทำให้คนเรากลับไปสู่กิจการของความมืดอีก.
“เราเห็นความสว่างโดยความสว่างของพระองค์”
18, 19. พระเยซูกับเปาโลพรรณนาถึงวิธีรู้จัก “ลูกของความสว่าง” ไว้อย่างไร?
18 จงระลึกอยู่เสมอว่าการจะบรรลุชีวิตนิรันดร์นั้นขึ้นอยู่กับการที่พระเจ้าพิพากษาเราอย่างเห็นดีเห็นชอบ และการพิพากษานั้นอาศัยหลักเกณฑ์ที่ว่าเรารักความสว่างมากน้อยเพียงใด. หลังจากได้พูดถึงข้อนี้แล้ว พระเยซูตรัสว่า “ผู้กระทำสิ่งชั่วย่อมชังความสว่าง และไม่ได้มาถึงความสว่างเพื่อการของตนจะไม่ถูกว่ากล่าว. แต่ผู้ที่กระทำสิ่งซึ่งเป็นความจริงย่อมมาถึงความสว่าง เพื่อการของตนจะปรากฏว่าได้กระทำไปอย่างที่ประสานกันกับพระเจ้า.—โยฮัน 3:19-21, ล.ม.
19 เปาโลสนับสนุนความคิดนี้เมื่อท่านเขียนไปถึงชาวเอเฟโซว่า “จงประพฤติอย่างลูกของความสว่าง ด้วยว่าผลของความสว่างนั้นคือความดีทุกอย่างและความชอบธรรมและความจริง.” (เอเฟโซ 5:8, 9) ฉะนั้น การประพฤติของเราย่อมแสดงว่าเราเป็นลูกของความสว่างหรือเป็นลูกของความมืด. แต่การประพฤติที่ถูกต้องย่อมเกิดมาจากหัวใจที่ดี. นี่แหละคือเหตุผลที่เราต้องระวังหัวใจของเรา ต้องสำนึกถึงความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนบุคลิกของเราอยู่เรื่อยไป ต้องเป็นคนระวังน้ำใจที่กระตุ้นจิตใจของเรา.—สุภาษิต 4:23.
20, 21. (ก) บุตรที่เกิดมาในครอบครัวคริสเตียนเผชิญการท้าทายอะไรเป็นพิเศษ? (ข) บรรดาลูก ๆ ทุกคนที่บิดามารดาเป็นคริสเตียนเผชิญการท้าทายอะไร?
20 ในบางกรณี เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นสิ่งท้าทายโดยเฉพาะสำหรับบุตรของพยานพระยะโฮวาซึ่งอุทิศตัวแล้ว. เพราะเหตุใด? ในแง่หนึ่ง เด็ก ๆ ดังกล่าวมีพระพรดีเยี่ยม. เขารู้จักความจริงมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ซึ่งก็หมายความว่าผู้นั้นไม่จำเป็นต้องประสบกับการอยู่ในความมืดแห่งโลกของซาตานด้วยตนเอง. (2 ติโมเธียว 3:14, 15) แต่อีกแง่หนึ่ง เด็กประเภทดังกล่าวบางคนถือความจริงเป็นเรื่องธรรมดา และโดยแท้แล้วไม่เคยเรียนรู้ที่จะรักความสว่าง. นี่แหละคือสภาพการณ์ของชาวยิวส่วนใหญ่ในศตวรรษแรก. คนเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาในชาติที่ได้อุทิศแด่พระยะโฮวา และเขาก็มีความรู้เกี่ยวกับสัจธรรมอยู่บ้าง. แต่ความรู้นั้นไม่ได้อยู่ในหัวใจของเขา.—มัดธาย 15:8, 9.
21 บิดามารดาคริสเตียนมีความรับผิดชอบจำเพาะพระเจ้าที่จะอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตขึ้นในความสว่าง. (พระบัญญัติ 6:4-9; เอเฟโซ 6:4) แต่ในที่สุด บุตรเองต้องเลือกที่จะรักความสว่างมากกว่าความมืด. เขาต้องทำให้ความจริงเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของตน. ขณะที่เขาเติบโตขึ้น ลักษณะบางอย่างแห่งโลกของซาตานอาจดูเหมือนเป็นสิ่งดึงดูดใจ. รูปแบบชีวิตของคนรุ่นเดียวกันที่ปล่อยปละไม่รับผิดชอบก็อาจดูเหมือนน่าตื่นเต้น. ท่าทีที่ชอบสงสัยซึ่งสอนกันในโรงเรียนอาจเป็นสิ่งล่อใจได้. แต่เขาต้องไม่ลืมว่าภายนอกความสว่างนั้น ‘ความมืดทึบคลุมแผ่นดินโลก.’ (ยะซายา 60:2) ว่ากันในระยะยาวแล้ว โลกอันมืดทึบนี้ไม่มีอะไรดี ๆ จะเสนอเราเลย.—1 โยฮัน 2:15-17.
22. โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงอวยพรผู้ที่เข้ามาถึงความสว่างในปัจจุบัน และในอนาคตพระองค์จะอวยพรพวกเขาอย่างไร?
22 กษัตริย์ดาวิดทรงเขียนไว้ดังนี้: “เพราะธารน้ำพุแห่งชีวิตอยู่กับพระองค์ [ยะโฮวา] เราเห็นความสว่างโดยสว่างของพระองค์. ขอประทานความรักมั่นคงของพระองค์ต่อไปแก่ผู้ที่รู้จักพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 36:9, 10, ฉบับแปลใหม่) บรรดาผู้ที่รักความสว่างได้มารู้จักพระยะโฮวา และข้อนี้อาจหมายถึงชีวิตสำหรับพวกเขา. (โยฮัน 17:3) ด้วยความกรุณารักใคร่ของพระองค์ เวลานี้พระยะโฮวาทรงสนับสนุนเขา และเมื่อความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เริ่มขึ้น พระองค์จะทรงนำเขาผ่านพ้นกระทั่งเข้าสู่โลกใหม่. นี้แหละจะเป็นประสบการณ์ของเราเอง ถ้าในขณะนี้เราไม่เกลือกกลั้วกับความมืดแห่งโลกของซาตาน. ในโลกใหม่มนุษยชาติจะได้รับการกู้ขึ้นสู่ชีวิตสมบูรณ์ในอุทยาน. (วิวรณ์ 21:3-5) คราวนั้นผู้ที่ถูกตัดสินอย่างที่เห็นดีเห็นชอบจะมีโอกาสอยู่ภายใต้ความสว่างของพระยะโฮวาตลอดกาล. ช่างเป็นความหวังที่แจ่มใสอะไรเช่นนั้น! ก็นับว่าเป็นแรงโน้มน้าวอันแรงกล้าจริง ๆ ที่จะ “เลิกการกระทำของความมืด . . . และสวมเครื่องอาวุธของความสว่าง” เสียแต่บัดนี้!—โรม 13:12, ฉบับแปลใหม่.
คุณจำได้ไหม?
▫ ทำไมชาวยิวส่วนมากในสมัยพระเยซูไม่ยอมรับความสว่าง?
▫ ความสว่างส่องออกไปกว้างไกลมากแค่ไหนในปัจจุบัน?
▫ เราได้รับคำเตือนเช่นไรจากตัวอย่างต่าง ๆ ในศตวรรษแรกเกี่ยวกับเรื่องการเห็นแก่ตัวและความยโส?
▫ อะไรเป็นสิ่งจำเป็นหากเราจะคงอยู่ในความสว่างต่อ ๆ ไป?
▫ มีพระพรอะไรบ้างสำหรับผู้รักความสว่าง?
[รูปภาพหน้า 14]
ชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยพระเยซูไม่ได้ตอบรับต่อความสว่าง
[รูปภาพหน้า 17]
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเคยมีการใช้หลายวิธีต่างกันที่จะ ‘ให้ความสว่างส่องออกไป’ เพื่อทำให้คนเป็นสาวก
[รูปภาพหน้า 18]
“ท่านทั้งหลายควรละทิ้งบุคลิกลักษณะเก่า . . . และควรสวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่”