เทศกาลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติยิศราเอล
“ผู้ชายทั้งหลายนั้นจะต้องมาต่อพระพักตร์พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าปีละสามครั้ง ในสถานที่ซึ่งพระองค์จะทรงเลือกนั้น . . . คนทั้งหลายที่มาต่อพระพักตร์พระยะโฮวานั้นอย่าให้มามือเปล่า.”—พระบัญญัติ 16:16.
1. อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับเทศกาลต่าง ๆ ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล?
เมื่อพูดถึงเทศกาลคุณคิดถึงอะไร? เทศกาลบางอย่างในสมัยโบราณเด่นในเรื่องการสนองความเพลิดเพลินอย่างไม่มีการเหนี่ยวรั้งและการผิดศีลธรรม. เทศกาลบางอย่างในสมัยปัจจุบันก็เป็นเช่นเดียวกัน. แต่เทศกาลที่มีกำหนดไว้ในพระบัญญัติของพระเจ้าไม่เหมือนเทศกาลเหล่านั้น. ในขณะที่เทศกาลเหล่านี้เป็นโอกาสแห่งความยินดี ยังสามารถพรรณนาถึงเทศกาลดังกล่าวได้ด้วยว่าเป็น “การประชุมพร้อมกันอันบริสุทธิ์.”—เลวีติโก 23:2.
2. (ก) มีข้อเรียกร้องให้ผู้ชายชาวยิศราเอลทำอะไรสามครั้งต่อปี? (ข) ตามที่ใช้คำนั้นในพระบัญญัติ 16:16 (ฉบับแปลใหม่) “เทศกาล” คืออะไร?
2 ชายชาวยิศราเอลที่ซื่อสัตย์—บ่อยครั้ง มีครอบครัวร่วมสมทบด้วย—พบความสดชื่นยินดีในการเดินทางไปยังกรุงยะรูซาเลม ‘สถานที่ซึ่งพระยะโฮวาทรงเลือก’ และพวกเขาบริจาคสนับสนุนเทศกาลใหญ่ทั้งสามครั้งด้วยความเต็มใจยินดี. (พระบัญญัติ 16:16) หนังสือวิเคราะห์คำในพันธสัญญาเดิม (ภาษาอังกฤษ) นิยามคำภาษาฮีบรูซึ่งพระบัญญัติ 16:16 (ฉบับแปลใหม่) แปลไว้ว่า “เทศกาล” ว่าเป็น “โอกาสแห่งความยินดีใหญ่หลวง . . . เหตุการณ์เด่นเกี่ยวกับความโปรดปรานของพระเจ้าซึ่งฉลองด้วยการถวายเครื่องบูชาและงานรื่นเริง.”a
คุณค่าแห่งเทศกาลใหญ่
3. เทศกาลประจำปีทั้งสามทำให้คิดถึงพระพรอะไร?
3 เนื่องจากสังคมของชาวยิศราเอลเป็นสังคมเกษตรกรรม พวกเขาจึงหมายพึ่งพระพรจากพระเจ้าในเรื่องฝนฟ้า. เทศกาลใหญ่สามครั้งในพระบัญญัติของโมเซฉลองตรงกับช่วงที่มีการรวบรวมผลผลิตข้าวบาร์เลย์ตอนต้นฤดูใบไม้ผลิ, การเก็บเกี่ยวข้าวสาลีตอนปลายฤดูใบไม้ผลิ, และการเก็บเกี่ยวที่เหลือทั้งหมดช่วงปลายฤดูร้อน. โอกาสเหล่านี้เป็นเวลาแห่งการแสดงความยินดีและขอบคุณครั้งใหญ่ต่อพระผู้ค้ำจุนวัฏจักรฝนและพระผู้สร้างแผ่นดินที่เกิดผล. แต่เทศกาลเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นอีกหลายอย่าง.—พระบัญญัติ 11:11-14.
4. เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์อะไรซึ่งมีการฉลองโดยเทศกาลแรก?
4 เทศกาลแรกจัดในเดือนแรกตามปฏิทินสมัยโบราณของคัมภีร์ไบเบิล ตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 21 เดือนไนซาน ซึ่งตรงกับปลายมีนาคมหรือต้นเมษายนตามปฏิทินของเรา. เทศกาลนี้เรียกว่าเทศกาลขนมปังไม่มีเชื้อ และด้วยเหตุที่จัดต่อจากวันปัศคาคือวันที่ 14 เดือนไนซาน จึงเรียกเทศกาลนี้อีกชื่อหนึ่งด้วยว่า “การเลี้ยงปัศคา.” (ลูกา 2:41; เลวีติโก 23:5, 6) เทศกาลนี้เตือนชาติยิศราเอลให้ระลึกถึงการช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากความทุกข์ในอียิปต์ จึงเรียกขนมปังไม่มีเชื้อว่า “ขนมแห่งความทุกข์.” (พระบัญญัติ 16:3) เทศกาลนี้เตือนใจพวกเขาว่า การหนีจากอียิปต์นั้นเร่งรีบมากจนพวกเขาไม่มีเวลาใส่เชื้อลงในแป้งที่นวดแล้วและรอให้แป้งนั้นขึ้น. (เอ็กโซโด 12:34) ระหว่างเทศกาลนี้ ไม่มีบ้านชาวยิศราเอลบ้านไหนมีขนมปังใส่เชื้อ. ผู้ฉลองคนใดตลอดจนชาวต่างด้าวที่พักอาศัยอยู่ด้วยที่กินขนมปังใส่เชื้อมีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต.—เอ็กโซโด 12:19.
5. เทศกาลที่สองอาจทำให้ระลึกถึงสิทธิพิเศษอะไร และใครที่รวมอยู่ด้วยในการแสดงความชื่นชมยินดี?
5 เทศกาลที่สองมีขึ้นในอีกเจ็ดสัปดาห์ต่อมา (49 วัน) หลังวันที่ 16 เดือนไนซาน และตกในวันที่ 6 ของเดือนสาม คือซีวาน ซึ่งตรงกับปลายพฤษภาคม. (เลวีติโก 23:15, 16) เทศกาลนี้เรียกว่าเทศกาลสัปดาห์ (ในสมัยพระเยซู เรียกเทศกาลนี้อีกชื่อหนึ่งด้วยว่าเพนเตคอสเต ซึ่งเป็นคำกรีกมีความหมายว่า “ที่ห้าสิบ”) และช่วงเวลาที่จัดก็ใกล้กับช่วงเดียวกันของปีที่ชาติยิศราเอลเข้าสู่คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติที่ภูเขาซีนาย. (เอ็กโซโด 19:1, 2) ในระหว่างเทศกาลนี้ ชาวยิศราเอลที่ซื่อสัตย์มีโอกาสได้ใคร่ครวญถึงสิทธิพิเศษของตนที่ถูกแยกไว้ต่างหากในฐานะชาติบริสุทธิ์ของพระเจ้า. การที่พวกเขาเป็นไพร่พลพิเศษของพระเจ้าเรียกร้องให้พวกเขาต้องเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า เช่น พระบัญชาให้แสดงการเอาใจใส่ด้วยความรักต่อคนทุกข์ยากเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถร่วมยินดีในเทศกาลนี้ด้วย.—เลวีติโก 23:22; พระบัญญัติ 16:10-12.
6. เทศกาลที่สามเตือนใจไพร่พลของพระเจ้าให้ระลึกถึงประสบการณ์อะไร?
6 เทศกาลสุดท้ายของสามเทศกาลใหญ่ประจำปีเรียกว่าเทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บเกี่ยวผล หรือเทศกาลตั้งทับอาศัย. เทศกาลนี้จัดในเดือนที่เจ็ด คือทิชรีหรือเอธานิม ตั้งแต่วันที่ 15 ถึงวันที่ 21 ซึ่งตรงกับต้นเดือนตุลาคม. (เลวีติโก 23:34) ในช่วงเวลาดังกล่าว ไพร่พลของพระเจ้าจะพักอาศัยนอกบ้านของตนหรือบนหลังคาบ้านในเพิงชั่วคราว (ทับอาศัย) ซึ่งทำจากกิ่งไม้และใบไม้. การทำเช่นนี้เตือนพวกเขาให้ระลึกถึงการเดินทางเป็นเวลา 40 ปีจากอียิปต์จนถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา ซึ่งยามนั้นชาตินี้ต้องเรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระเจ้าสำหรับสิ่งจำเป็นในแต่ละวัน.—เลวีติโก 23:42, 43; พระบัญญัติ 8:15, 16.
7. เราได้ประโยชน์อย่างไรจากการทบทวนการฉลองเทศกาลต่าง ๆ ในยิศราเอลโบราณ?
7 ให้เราทบทวนเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของไพร่พลพระเจ้าในสมัยโบราณ. การทบทวนนี้น่าจะให้กำลังใจพวกเราในปัจจุบัน เนื่องจากเราได้รับเชิญด้วยให้ประชุมกันเป็นประจำในแต่ละสัปดาห์ และสามครั้งต่อปีในการประชุมหมวด, ประชุมพิเศษ, และการประชุมภาค.—เฮ็บราย 10:24, 25.
ในสมัยของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ดาวิด
8. (ก) การฉลองครั้งประวัติศาสตร์อะไรซึ่งจัดในสมัยกษัตริย์ซะโลโม? (ข) เราสามารถคอยท่าจุดสุดยอดอะไรของสิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเล็งถึง?
8 การฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยครั้งประวัติศาสตร์คราวหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างรัชสมัยอันรุ่งเรืองของกษัตริย์ซะโลโม พระราชบุตรของดาวิด. “ชุมนุมชนใหญ่ยิ่งนัก” มาจากที่สุดปลายทั้งหลายของแผ่นดินแห่งคำสัญญาเพื่อร่วมเทศกาลตั้งทับอาศัยและการอุทิศพระวิหาร. (2 โครนิกา 7:8, ฉบับแปลใหม่) เมื่อเทศกาลสิ้นสุดลง กษัตริย์ซะโลโมทรงให้ผู้มาฉลองเลิกกลับไป พวกเขา “ก็ได้ถวายชัยมงคลแก่กษัตริย์, และก็ได้เข้าไปในทับอาศัยของตนโดยใจรื่นเริงยินดีเพราะความเมตตากรุณาทั้งสิ้น ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงกระทำแก่ดาวิดผู้ทาสของพระองค์, และแก่พวกยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์.” (1 กษัตริย์ 8:66) นั่นเป็นงานฉลองที่โดดเด่นอย่างยิ่งครั้งหนึ่ง. ปัจจุบัน ผู้รับใช้ของพระเจ้าคอยท่าจุดสุดยอดครั้งใหญ่ของสิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเล็งถึงในตอนสิ้นสุดแห่งรัชสมัยพันปีของพระเยซูคริสต์ ซะโลโมผู้ยิ่งใหญ่. (วิวรณ์ 20:3, 7-10, 14, 15) ถึงตอนนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ทุกมุมโลก ซึ่งก็คือคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายและผู้รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอน จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดี.—ซะคาระยา 14:16.
9-11. (ก) เหตุการณ์เป็นเช่นไรซึ่งนำไปสู่การฉลองเทศกาลครั้งสำคัญในสมัยของกษัตริย์ฮิศคียา? (ข) หลายคนจากอาณาจักรสิบตระกูลซึ่งอยู่ทางเหนือวางตัวอย่างเช่นไร และนั่นทำให้เราระลึกถึงอะไรในปัจจุบัน?
9 งานฉลองที่โดดเด่นในลำดับถัดมาตามที่มีรายงานในคัมภีร์ไบเบิลเกิดขึ้นหลังการปกครองของกษัตริย์อาฮาศผู้ชั่วร้าย ซึ่งได้ปิดพระวิหารและนำอาณาจักรยูดาให้ออกหาก. ผู้สืบอำนาจต่อจากอาฮาศได้แก่ฮิศคียากษัตริย์ที่ดี. ในปีแรกแห่งการครองราชย์ของท่าน เมื่อมีพระชนมายุได้ 25 พรรษา ฮิศคียาเริ่มโครงการปฏิสังขรณ์และปฏิรูปครั้งใหญ่. ท่านเปิดพระวิหารอีกครั้งอย่างไม่รอช้าและโปรดให้มีการซ่อมแซม. จากนั้นกษัตริย์มีพระราชสาสน์ไปถึงชาวยิศราเอลที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรยิศราเอลสิบตระกูลทางเหนือซึ่งเป็นปฏิปักษ์ เชิญพวกเขาให้มาฉลองปัศคาและเทศกาลขนมปังไม่มีเชื้อ. หลายคนมา แม้ถูกเยาะเย้ยจากเพื่อนร่วมชาติ.—2 โครนิกา 30:1, 10, 11, 18.
10 งานฉลองครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไหม? คัมภีร์ไบเบิลรายงานดังนี้: “ชนชาติยิศราเอลที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลมได้ถือศีลกินเลี้ยงด้วยขนมไม่มีเชื้อถึงเจ็ดวันด้วยใจโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง: และพวกปุโรหิตกับพวกเลวีได้ยกยอสรรเสริญพระยะโฮวาทุกวัน ๆ, ประโคมเสียงดังด้วยเครื่องเพลงต่าง ๆ.” (2 โครนิกา 30:21) ชาวยิศราเอลเหล่านั้นช่างวางตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับไพร่พลของพระเจ้าในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนอดทนการต่อต้านขัดขวางและเดินทางไกลเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่!
11 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาการประชุมภาค “ความเลื่อมใสในพระเจ้า” สามแห่งซึ่งจัดที่โปแลนด์ในปี 1989. จากจำนวนผู้เข้าร่วม 166,518 คน มีกลุ่มใหญ่รวมอยู่ด้วยซึ่งมาจากอดีตสหภาพโซเวียตและประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออกซึ่งการงานของพยานพระยะโฮวาถูกห้ามอยู่ในเวลานั้น. หนังสือพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าb (ภาษาอังกฤษ) รายงานดังนี้: “สำหรับบางคนที่เข้าร่วมการประชุมเหล่านี้ นับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ประชุมร่วมกับไพร่พลของพระยะโฮวาจำนวนมากกว่า 15 ถึง 20 คน. หัวใจของพวกเขาเปี่ยมด้วยความซาบซึ้งขณะที่มองดูผู้คนหลายหมื่นในสนามกีฬา, ร่วมกับคนเหล่านั้นในคำอธิษฐาน, และประสานเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยกัน.”—หน้า 279.
12. เหตุการณ์เป็นเช่นไรซึ่งนำไปสู่การฉลองเทศกาลครั้งสำคัญในรัชสมัยของกษัตริย์โยซียา?
12 หลังจากฮิศคียาสิ้นพระชนม์ ชาวยูดาภายใต้กษัตริย์มะนาเซและอาโมนหันไปหาการนมัสการเท็จอีก. ต่อจากนั้นก็มาถึงรัชกาลของกษัตริย์ที่ดีอีกองค์หนึ่ง คือโยซียากษัตริย์ผู้ทรงเยาว์วัย ซึ่งกระทำอย่างกล้าหาญในการฟื้นฟูการนมัสการแท้. เมื่อมีพระชนมายุได้ 25 พรรษา โยซียามีรับสั่งให้ซ่อมแซมพระวิหาร. (2 โครนิกา 34:8) ขณะที่ซ่อมอยู่นั้น ก็ได้พบพระบัญญัติซึ่งเขียนโดยโมเซอยู่ในพระวิหารนั้น. กษัตริย์โยซียาถูกกระตุ้นใจอย่างมากจากสิ่งที่ท่านอ่านในพระบัญญัติของพระเจ้า และโปรดให้อ่านพระบัญญัตินั้นให้ประชาชนทั้งหมดฟัง. (2 โครนิกา 34:14, 30) ต่อจากนั้น ท่านจัดการฉลองปัศคาตามที่มีกำหนดในพระบัญญัตินั้น. กษัตริย์ยังได้วางตัวอย่างที่ดีด้วยโดยบริจาคอย่างพระทัยกว้างในโอกาสนั้น. คัมภีร์ไบเบิลรายงานผลดังนี้: “การถือศีลปัศคาในพวกยิศราเอลเช่นนี้นั้น, นับแต่คราวซะมูเอลผู้พยากรณ์มาก็ไม่เคยมีเลย.”—2 โครนิกา 35:7, 17, 18.
13. เทศกาลในสมัยฮิศคียาและโยซียาทำให้เรานึกถึงอะไรในปัจจุบัน?
13 การปฏิรูปที่ฮิศคียาและโยซียาทำนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับการฟื้นฟูการนมัสการแท้อย่างน่าอัศจรรย์ที่ได้เกิดขึ้นในหมู่คริสเตียนแท้นับตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของพระเยซูคริสต์ในปี 1914. เช่นเดียวกับที่เป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปของโยซียา การฟื้นฟูในสมัยปัจจุบันก็อาศัยสิ่งที่เขียนไว้ในพระคำของพระเจ้า. และคล้ายคลึงกับสมัยของฮิศคียาและโยซียา การฟื้นฟูในสมัยปัจจุบันมีลักษณะเด่นที่การจัดการประชุมหมวดและการประชุมภาค ซึ่งมีการให้คำอธิบายอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลและการใช้หลักการพระคัมภีร์อย่างที่เหมาะแก่เวลา. เสริมเข้ากับความยินดีแห่งวาระการสอนเหล่านี้ก็คือมีคนเป็นจำนวนมากรับบัพติสมา. เช่นเดียวกับชาวยิศราเอลที่กลับใจในสมัยของฮิศคียาและโยซียา ผู้รับบัพติสมาใหม่ได้หันหลังให้กับกิจปฏิบัติอันชั่วช้าแห่งคริสต์ศาสนจักรและส่วนที่เหลือแห่งโลกของซาตาน. ในปี 1997 มีมากกว่า 375,000 คนรับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์ถึงการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา พระเจ้าองค์บริสุทธิ์—เฉลี่ยแล้วมากกว่า 1,000 คนในแต่ละวัน.
หลังการเนรเทศ
14. เหตุการณ์เป็นเช่นไรซึ่งนำไปสู่การฉลองเทศกาลครั้งสำคัญในปี 537 ก.ส.ศ.?
14 หลังการสิ้นพระชนม์ของโยซียา ชาตินี้หวนไปหาการนมัสการเท็จที่เสื่อมทรามอีกครั้งหนึ่ง. ในที่สุด ในปี 607 ก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาทรงลงโทษไพร่พลของพระองค์โดยนำกองทัพบาบูโลนมาโจมตีกรุงยะรูซาเลม. กรุงนี้และพระวิหารถูกทำลาย และแผ่นดินถูกทำให้ร้างเปล่า ตามด้วยการที่ชาวยิวตกเป็นเชลยในบาบูโลนเป็นเวลา 70 ปี. เมื่อถึงเวลา พระเจ้าทรงทำให้ชาวยิวที่กลับใจซึ่งยังเหลืออยู่มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ให้เขาได้กลับสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญาเพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้. พวกเขามาถึงกรุงยะรูซาเลมที่เหลือแต่ซากปรักหักพังในเดือนที่เจ็ดของปี 537 ก.ส.ศ. สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือตั้งแท่นบูชาเพื่อถวายเครื่องบูชาเป็นประจำทุกวันตามที่มีกำหนดในคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. นับว่าทันเวลาพอดีสำหรับการฉลองสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์. “และเขาได้ถือศีลเทศกาลตั้งทับอาศัยเหมือนมีเขียนไว้.”—เอษรา 3:1-4.
15. มีงานอะไรตั้งอยู่ต่อหน้าชนที่เหลือซึ่งได้รับการช่วยเหลือให้กลับมาในปี 537 ก.ส.ศ. และมีสภาพการณ์คล้าย ๆ กันอย่างไรในปี 1919?
15 งานใหญ่มีอยู่ตรงหน้าคนเหล่านี้ที่กลับมาจากการถูกเนรเทศ นั่นคือการสร้างพระวิหารของพระเจ้าและกรุงยะรูซาเลมพร้อมกับกำแพงขึ้นมาใหม่. มีการต่อต้านมากมายจากชาติแวดล้อมที่ริษยา. เมื่อพระวิหารถูกสร้างขึ้นแล้ว ก็เป็น “วันแห่งการเล็กน้อย.” (ซะคาระยา 4:10) สภาพการณ์เทียบได้กับสภาพของคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ในปี 1919. ในปีอันน่าจดจำนั้น พวกเขาถูกปล่อยออกมาจากสภาพเชลยฝ่ายวิญญาณของบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. พวกเขามีจำนวนเพียงไม่กี่พันคนและเผชิญกับโลกที่เป็นปฏิปักษ์. ศัตรูของพระเจ้าจะสามารถหยุดความก้าวหน้าของการนมัสการแท้ไหม? คำตอบสำหรับคำถามนี้ทำให้คิดถึงการฉลองเทศกาลสองครั้งหลังสุดที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู.
16. เทศกาลในปี 515 ก.ส.ศ. มีความสำคัญอย่างไร?
16 ในที่สุด พระวิหารก็ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในเดือนอะดาร์ ปี 515 ก.ส.ศ. ทันเวลาพอดีกับงานฉลองในเดือนไนซานช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีนั้น. คัมภีร์ไบเบิลรายงานดังนี้: “เขาได้ถือศีลกินเลี้ยงขนมไม่มีเชื้อนั้นถึงเจ็ดวันด้วยความยินดี: ด้วยว่าพระยะโฮวาได้ทรงบันดาลให้เขามีใจชื่นชมยินดี, และได้ทรงบันดาลให้กษัตริย์ประเทศฟารัศนั้น, ให้กลับพระทัยค้ำชูกำลังของเขาในการสร้างโบสถ์วิหารของพระองค์พระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล.”—เอษรา 6:22.
17, 18. (ก) มีการฉลองเทศกาลครั้งสำคัญอะไรในปี 455 ก.ส.ศ.? (ข) เราอยู่ในสภาพการณ์ที่คล้ายกันอย่างไรในสมัยปัจจุบัน?
17 หกสิบปีต่อมา ในปี 455 ก.ส.ศ. ก็มาถึงเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์. เทศกาลตั้งทับอาศัยในปีนั้นเน้นความสำเร็จเด่นชัดของการสร้างกำแพงกรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่. คัมภีร์ไบเบิลรายงานดังนี้: “บรรดาผู้ที่ได้หลุดพ้นมาจากเชลยก็ได้พากันทำกะท่อม, และได้อาศัยอยู่ในกะท่อมนั้น: ด้วยว่าตั้งแต่คราวอายุยะโฮซูอะบุตรชายของนูนมาจนถึงวันนั้น, พวกยิศราเอลไม่เคยกระทำอย่างนั้นเลย, และต่างคนต่างก็มีความยินดีเป็นอันมาก.”—นะเฮมยา 8:17.
18 ช่างเป็นการฟื้นฟูการนมัสการแท้ของพระเจ้าที่น่าจดจำจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เผชิญการต่อต้านขัดขวางอย่างรุนแรง! สภาพการณ์ในปัจจุบันก็คล้ายกัน. แม้เผชิญคลื่นแห่งการกดขี่และการต่อต้าน งานยิ่งใหญ่ในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าได้ไปถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก และได้มีการแพร่ข่าวการพิพากษาของพระเจ้าไปทั่วทุกหนแห่ง. (มัดธาย 24:14) การประทับตราชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิม 144,000 คนในขั้นสุดท้ายคืบใกล้เข้ามา. “แกะอื่น” มากกว่าห้าล้านคนซึ่งเป็นเพื่อนของเขาได้ถูกรวบรวมเข้ามาจากทุกชาติกลายเป็น “ฝูงเดียว” กับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:3, 9, 10) ช่างเป็นความสำเร็จเป็นจริงที่ยอดเยี่ยมอะไรเช่นนี้ของภาพพยากรณ์เกี่ยวกับเทศกาลตั้งทับอาศัย! และงานยิ่งใหญ่ในการรวบรวมนี้จะดำเนินต่อไปในโลกใหม่ เมื่อหลายพันล้านคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจะได้รับเชิญให้ร่วมฉลองสิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเล็งถึง.—ซะคาระยา 14:16-19.
ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช
19. อะไรทำให้เทศกาลตั้งทับอาศัยในปี ส.ศ. 32 โดดเด่น?
19 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในบรรดาการฉลองเทศกาลที่โดดเด่นที่สุดซึ่งมีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลต้องรวมถึงเทศกาลที่พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้าร่วมฉลองด้วย. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาการเข้าร่วมของพระเยซูในเทศกาลตั้งทับอาศัย ในปี ส.ศ. 32. พระองค์ทรงใช้โอกาสนั้นสอนความจริงสำคัญ ๆ และสนับสนุนการสอนของพระองค์ด้วยการยกข้อพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. (โยฮัน 7:2, 14, 37-39) ตามปกติ เทศกาลนี้มีลักษณะเด่นคือธรรมเนียมการจุดตะเกียงของคันประทีปใหญ่สี่คันในบริเวณลานพระวิหารชั้นใน. การจุดตะเกียงเสริมความยินดีให้กับการฉลองในเทศกาลนี้ซึ่งดำเนินต่อไปจนถึงกลางคืน. ดูเหมือนว่า พระเยซูทรงพาดพิงถึงแสงสว่างจากคันประทีปใหญ่เหล่านี้เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะมิได้เดินในความมืด, แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต.”—โยฮัน 8:12.
20. ทำไมปัศคาในปี ส.ศ. 33 จึงโดดเด่น?
20 ต่อมา ก็เป็นปัศคาและเทศกาลขนมปังไม่มีเชื้อแห่งปีสำคัญคือปี ส.ศ. 33. ในวันปัศคา พระเยซูถูกศัตรูประหาร และกลายเป็นผู้นั้นที่ลูกแกะปัศคาเล็งถึงซึ่งวายพระชนม์เพื่อรับ “ความผิดบาปของโลกไป.” (โยฮัน 1:29; 1 โกรินโธ 5:7) สามวันต่อมา ในวันที่ 16 เดือนไนซาน พระเจ้าทรงปลุกพระเยซูให้คืนพระชนม์และรับเอากายวิญญาณอมตะ. เหตุการณ์นี้ตรงกับการถวายผลแรกแห่งการเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ตามที่พระบัญญัติกำหนด. ฉะนั้น พระเยซูคริสต์เจ้าซึ่งได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์จึงเป็น “ผลแรกในพวกคนทั้งหลายที่ได้ล่วงหลับไปแล้วนั้น.”—1 โกรินโธ 15:20.
21. เกิดอะไรขึ้นในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33?
21 เทศกาลที่เด่นจริง ๆ อีกเทศกาลหนึ่งได้แก่วันเพนเตคอสเตในปี ส.ศ. 33. ในวันนั้น ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวจำนวนมากชุมนุมกันในกรุงยะรูซาเลม รวมทั้งสาวกของพระเยซูประมาณ 120 คน. ขณะที่เทศกาลกำลังดำเนินอยู่ พระเยซูคริสต์เจ้าซึ่งถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าลงบน 120 คนนั้น. (กิจการ 1:15; 2:1-4, 33) โดยวิธีนี้ พวกเขาได้รับการเจิมและเข้ามาเป็นชาติใหม่ที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้าโดยทางคำสัญญาไมตรีใหม่ซึ่งมีพระเยซูคริสต์เป็นผู้กลาง. ระหว่างเทศกาลนั้น มหาปุโรหิตชาวยิวถวายขนมปังใส่เชื้อสองก้อนซึ่งทำจากผลแรกแห่งการเกี่ยวข้าวสาลีแด่พระเจ้า. (เลวีติโก 23:15-17) ขนมปังใส่เชื้อทั้งสองก้อนนี้เป็นภาพหมายถึงมนุษย์ไม่สมบูรณ์ 144,000 คนซึ่งพระเยซูทรง ‘ซื้อถวายแด่พระเจ้า’ เพื่อรับใช้เป็น “ราชอาณาจักรและปุโรหิต . . . ปกครองเป็นกษัตริย์เหนือแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1, 3, ล.ม.) นอกจากนี้ ขนมปังใส่เชื้อสองก้อนยังอาจเล็งถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ปกครองฝ่ายสวรรค์เหล่านี้มาจากมนุษย์ผิดบาปสองกลุ่ม คือชาวยิวและคนต่างประเทศ.
22. (ก) ทำไมคริสเตียนไม่ฉลองเทศกาลตามคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
22 เมื่อคำสัญญาไมตรีใหม่มีผลบังคับในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 นั่นย่อมหมายความว่าคำสัญญาไมตรีเก่าไม่มีคุณค่าอีกต่อไปในสายพระเนตรพระเจ้า. (2 โกรินโธ 3:14; เฮ็บราย 9:15; 10:16) นั่นมิได้หมายความว่า คริสเตียนผู้ถูกเจิมปราศจากกฎหมาย. พวกเขาเข้ามาอยู่ภายใต้พระบัญญัติของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนและเขียนไว้ที่หัวใจของเขา. (ฆะลาเตีย 6:2) ดังนั้น คริสเตียนจึงไม่ฉลองเทศกาลประจำปีทั้งสามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญาไมตรีเก่าแห่งพระบัญญัติ. (โกโลซาย 2:16, 17) อย่างไรก็ตาม เราสามารถเรียนได้มากจากเจตคติของผู้รับใช้ของพระเจ้าก่อนสมัยคริสเตียนที่มีต่อเทศกาลเหล่านี้และการชุมนุมอื่น ๆ เพื่อการนมัสการ. ในบทความต่อไป เราจะพิจารณาตัวอย่างซึ่งจะกระตุ้นทุกคนอย่างแน่นอนให้รู้ซึ้งถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ.
[เชิงอรรถ]
a ดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก, เล่ม 1, หน้า 820, คอลัมน์ซ้ายมือ, ย่อหน้าที่ 1 และ 3, ภายใต้หัวข้อ “เทศกาล.”
b จัดพิมพ์โดยสมาคม ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คำถามทบทวน
▫ สามเทศกาลใหญ่ของชาติยิศราเอลมีจุดประสงค์เช่นไร?
▫ เทศกาลที่จัดในสมัยฮิศคียาและโยซียามีลักษณะเด่นอะไร?
▫ เหตุการณ์สำคัญอะไรซึ่งฉลองกันในปี 455 ก.ส.ศ. และทำไมการฉลองนี้จึงให้กำลังใจแก่เรา?
▫ มีอะไรสำคัญเกี่ยวกับเทศกาลปัศคาและเพนเตคอสเตในปี ส.ศ. 33?
[กรอบหน้า 12]
บทเรียนหนึ่งที่ได้จากเทศกาลสำหรับพวกเราในปัจจุบัน
ทุกคนที่จะได้ประโยชน์อย่างถาวรจากเครื่องบูชาไถ่บาปของพระเยซูต้องดำเนินชีวิตประสานกับสิ่งที่เทศกาลขนมปังไม่มีเชื้อเป็นภาพเล็งถึง. สิ่งที่เทศกาลนี้เล็งถึงได้แก่การฉลองด้วยความยินดีของคริสเตียนผู้ถูกเจิมในการที่พวกเขาได้รับการช่วยให้รอดจากโลกชั่วนี้ และเป็นอิสระจากการปรับโทษของบาปโดยอาศัยค่าไถ่ของพระเยซู. (ฆะลาเตีย 1:4; โกโลซาย 1:13, 14) เทศกาลนี้ฉลองนานเจ็ด วัน—จำนวนซึ่งคัมภีร์ไบเบิลใช้เป็นสัญลักษณ์ของความครบถ้วนฝ่ายวิญญาณ. สิ่งที่เทศกาลนี้เล็งถึงก็ฉลองกันในช่วงเวลาครบถ้วนแห่งประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลก และต้องฉลองด้วย “ความสุจริตใจและความจริง.” นั่นย่อมหมายถึงการระวังเชื้อโดยนัยอยู่เสมอ. เชื้อถูกใช้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเป็นภาพเล็งถึงคำสอนเสื่อมทราม, ความหน้าซื่อใจคด, และความชั่ว. ผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวาต้องแสดงความเกลียดต่อเชื้อเช่นนั้น ไม่ยอมให้เชื้อนั้นทำให้ชีวิตพวกเขาเสื่อมเสียและไม่ปล่อยให้มันทำลายความบริสุทธิ์สะอาดของประชาคมคริสเตียน.—1 โกรินโธ 5:6-8, ล.ม.; มัดธาย 16:6, 12.
[รูปภาพหน้า 9]
มีการถวายฟ่อนข้าวบาร์เลย์ซึ่งเพิ่งเกี่ยวใหม่ เป็นประจำทุกปีในวันที่ 16 เดือนไนซาน ซึ่งเป็นวันที่พระเยซูถูกปลุกให้คืนพระชนม์
[รูปภาพหน้า 10]
พระเยซูอาจพาดพิงถึงแสงไฟในเทศกาล เมื่อพระองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่าเป็น “ความสว่างของโลก”