บทเก้า
ครูผู้ยิ่งใหญ่เผยให้ทราบเกี่ยวกับพระผู้สร้างอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้คนในปาเลสไตน์ศตวรรษแรก “มุ่งคอย” อยู่. คอยอะไรหรือ? คอย “พระคริสต์” หรือ “พระมาซีฮา” ที่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้บอกไว้ล่วงหน้าหลายศตวรรษก่อน. ผู้คนมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลเขียนขึ้นภายใต้การชี้นำของพระเจ้าและมีการแจ้งล่วงหน้าถึงอนาคตด้วย. คำพยากรณ์ดังกล่าวในพระธรรมดานิเอลชี้ไปยังการมาถึงของพระมาซีฮาในช่วงต้นของศตวรรษที่พวกเขามีชีวิตอยู่.—ลูกา 3:15; ดานิเอล 9:24-26.
แต่พวกเขาต้องระมัดระวัง เพราะผู้ตั้งตัวเป็นพระมาซีฮาจะปรากฏขึ้น. (มัดธาย 24:5) โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวกล่าวถึงบางคนดังนี้: ธูดาซึ่งนำสานุศิษย์ของตนไปยังแม่น้ำยาระเดนแล้วอ้างว่าน้ำในแม่น้ำนั้นจะถูกแยกออก; ชายคนหนึ่งจากอียิปต์ซึ่งนำผู้คนไปถึงภูเขามะกอกเทศ ยืนยันว่ากำแพงกรุงยะรูซาเลมจะพังลงตามคำสั่งของเขา; และคนหลอกลวงในสมัยของผู้สำเร็จราชการเฟศโตซึ่งสัญญาเรื่องการปลดเปลื้องความทุกข์ยาก.—เทียบกับกิจการ 5:36; 21:38.
ไม่เหมือนกับสานุศิษย์ที่ถูกหลอกลวงดังกล่าว กลุ่มคนซึ่งถูกเรียกว่า “คริสเตียน” ยอมรับพระเยซูชาวนาซาเร็ธเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่และเป็นพระมาซีฮาแท้. (กิจการ 11:26; มาระโก 10:47) พระเยซูมิใช่พระมาซีฮาตัวปลอม; พระองค์มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ดังที่มีการยืนยันไว้มากพอในหนังสือทางประวัติศาสตร์สี่เล่มที่เรียกว่ากิตติคุณ.a ตัวอย่างเช่น ชาวยิวทราบว่าพระมาซีฮาจะประสูติในเมืองเบธเลเฮ็ม, จะอยู่ในเชื้อสายของดาวิด, และจะทำการอัศจรรย์. ทั้งหมดนี้สำเร็จเป็นจริงในพระเยซูดังที่แม้แต่หลักฐานจากผู้ต่อต้านก็ยังยืนยันด้วยซ้ำ. ถูกแล้ว พระเยซูทรงมีคุณสมบัติของพระมาซีฮาตามคัมภีร์ไบเบิล.—มัดธาย 2:3-6; 22:41-45; โยฮัน 7:31, 42.
ฝูงชนที่ได้พบพระเยซูสังเกตเห็นการงานที่โดดเด่นของพระองค์, ได้ยินถ้อยคำแห่งสติปัญญาที่ไม่มีใดเหมือนของพระองค์, และตระหนักว่าพระองค์ทรงหยั่งรู้อนาคตนั้นได้มาเชื่อมั่นว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา. ระหว่างช่วงงานเผยแพร่ของพระองค์ (ส.ศ. 29-33) หลักฐานที่สนับสนุนการเป็นพระมาซีฮาของพระองค์ได้เพิ่มขึ้น. ที่จริง พระองค์พิสูจน์ว่าเป็นยิ่งกว่าพระมาซีฮา. สาวกคนหนึ่งซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ดีได้สรุปว่า “พระเยซูเป็นพระคริสต์บุตรของพระเจ้า.”b—โยฮัน 20:31.
เพราะพระเยซูมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเช่นนั้นกับพระเจ้า พระองค์จึงสามารถอธิบายและเปิดเผยว่าพระผู้สร้างของเราเป็นเช่นไร. (ลูกา 10:22; โยฮัน 1:18) พระเยซูทรงยืนยันว่า ความใกล้ชิดของพระองค์กับพระบิดาเริ่มในสวรรค์ ที่ซึ่งพระองค์ทำงานร่วมกับพระเจ้าในการสร้างสรรพสิ่งอื่น ๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต.—โยฮัน 3:13; 6:38; 8:23, 42; 13:3; โกโลซาย 1:15, 16.
คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า พระบุตรถูกโยกย้ายจากแดนวิญญาณและ “มาเป็นอย่างมนุษย์.” (ฟิลิปปอย 2:5-8, ล.ม.) เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องปกติ แต่นั่นเป็นไปได้ไหม? นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าธาตุในธรรมชาติ เช่น ยูเรเนียม อาจถูกเปลี่ยนเป็นอีกธาตุหนึ่งได้; พวกเขาถึงกับคำนวณผลที่จะได้เมื่อสสารถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน (E=mc2). ดังนั้น ทำไมเราจะสงสัยเมื่อคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าบุคคลวิญญาณถูกเปลี่ยนสภาพเพื่อจะมีชีวิตฐานะเป็นมนุษย์?
เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นเรื่องนี้ในอีกวิธีหนึ่ง ขอให้คิดถึงสิ่งที่แพทย์บางคนบรรลุผลสำเร็จเกี่ยวกับการปฏิสนธินอกร่างกาย. ชีวิตที่เริ่มต้นใน “หลอดทดลอง” ได้ถูกย้ายเข้าไปในตัวผู้หญิงแล้วภายหลังก็เกิดมาเป็นทารก. ในกรณีของพระเยซู คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า โดย “ฤทธิ์เดชของผู้สูงสุด” ชีวิตของพระองค์ได้ถูกย้ายเข้าไปในตัวสาวพรหมจารีชื่อมาเรีย. เธอเป็นเชื้อสายของดาวิด ดังนั้น พระเยซูสามารถเป็นรัชทายาทถาวรของราชอาณาจักรมาซีฮาที่ทรงสัญญาไว้กับดาวิด.—ลูกา 1:26-38; 3:23-38; มัดธาย 1:23.
โดยอาศัยสัมพันธภาพที่สนิทสนมและลักษณะเหมือนกันกับพระผู้สร้าง พระเยซูจึงตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา.” (โยฮัน 14:9) พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “ไม่มีใครรู้ว่าพระบิดาเป็นผู้ใดเว้นแต่พระบุตร. และผู้ที่พระบุตรพอพระทัยจะสำแดงให้รู้.” (ลูกา 10:22) ฉะนั้น ขณะที่เราเรียนรู้สิ่งที่พระเยซูทรงสอนและทำบนแผ่นดินโลก เราสามารถเห็นบุคลิกภาพของพระผู้สร้างชัดเจนยิ่งขึ้น. ขอให้เราพิจารณาเรื่องนี้ โดยใช้ประสบการณ์ของชายหญิงที่เคยติดต่อเกี่ยวข้องกับพระเยซู.
หญิงชาวซะมาเรีย
หญิงชาวซะมาเรียคิดสงสัยว่า “ท่านผู้นั้นมิใช่พระคริสต์หรือ?” ภายหลังสนทนากับพระเยซูชั่วขณะหนึ่ง. (โยฮัน 4:29) เธอถึงกับเร่งเร้าคนอื่นจากเมืองซูคารที่อยู่ใกล้เคียงให้มาพบพระเยซู. อะไรหรือที่กระตุ้นเธอให้ยอมรับพระเยซูฐานะพระมาซีฮา?
หญิงผู้นี้พบพระเยซูขณะทรงหยุดพักหลังจากเดินมาตลอดเช้าตามถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นบนเนินเขาในซะมาเรีย. แม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ตาม พระเยซูทรงสนทนากับเธอ. เมื่อสังเกตเห็นความสนใจฝ่ายวิญญาณอย่างแรงกล้าของเธอ พระเยซูทรงแบ่งปันความจริงอันลึกซึ้งซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ที่ความจำเป็นจะต้อง “นมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง.” ในที่สุด พระองค์ก็เปิดเผยว่าพระองค์เป็นพระคริสต์จริง ๆ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่พระองค์ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน.—โยฮัน 4:3-26, ล.ม.
หญิงชาวซะมาเรียรู้สึกว่าการที่เธอพบกับพระเยซูนั้นมีความหมายทีเดียว. กิจกรรมด้านศาสนาของเธอก่อนหน้านั้นมีจุดรวมอยู่ที่การนมัสการ ณ ภูเขาเฆระซิมและอาศัยเพียงหนังสือห้าเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. ชาวยิวไม่คบหากับชาวซะมาเรียซึ่งในพวกเขาหลายคนสืบเชื้อสายมาจากการผสมผสานระหว่างยิศราเอลสิบตระกูลกับชนชาติอื่น. แต่กับพระเยซูแล้วช่างแตกต่างไปสักเพียงไร! พระองค์เต็มพระทัยสอนชาวซะมาเรียคนนี้ ถึงแม้พระองค์ได้รับมอบหมายให้ไปหา “แกะชาติยิศราเอลที่หายไปนั้น.” (มัดธาย 15:24) ในที่นี้พระเยซูทรงสะท้อนให้เห็นความเต็มพระทัยของพระยะโฮวาที่จะยอมรับสุจริตชนจากทุกชาติ. (1 กษัตริย์ 8:41-43) ถูกแล้ว ทั้งพระเยซูและพระยะโฮวาทรงอยู่เหนือความดันทุรังทางศาสนาแบบใจแคบซึ่งแทรกซึมอยู่ในโลกทุกวันนี้. การที่เรารู้เช่นนี้น่าจะชักนำเราให้มาหาพระผู้สร้างและพระบุตรของพระองค์.
มีบทเรียนอีกเรื่องหนึ่งที่เราอาจได้รับจากความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะสอนหญิงคนนี้. ตอนนั้นเธออยู่กินกับชายที่ไม่ใช่สามีของเธอ. (โยฮัน 4:16-19) กระนั้น พระเยซูมิได้ปล่อยให้เรื่องนี้ยับยั้งพระองค์ไม่ให้สนทนากับเธอ. คุณสามารถเข้าใจได้ว่า เธอคงต้องสำนึกถึงพระคุณที่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี. และประสบการณ์ของเธอใช่ว่าเป็นกรณีเดียว. เมื่อผู้นำชาวยิว (ฟาริซาย) บางคนติเตียนพระเยซูที่รับประทานอาหารกับคนบาปที่กลับใจ พระองค์ตรัสว่า “คนปกติไม่ต้องการหมอ, แต่คนเจ็บต้องการหมอ. ท่านทั้งหลายจงไปเรียนข้อนี้ให้เข้าใจซึ่งว่า, เราประสงค์ความเมตตา, และเครื่องบูชาเราไม่ประสงค์. ด้วยว่าเรามิได้มาเพื่อจะเรียกคนชอบธรรม, แต่มาเรียกคนบาป.” (มัดธาย 9:10-13) พระเยซูทรงเสนอความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ทนทุกข์เนื่องจากภาระแห่งบาปของพวกเขา นั่นคือการละเมิดพระบัญญัติหรือมาตรฐานของพระเจ้า. ช่างทำให้หัวใจอบอุ่นสักเพียงไรที่รู้ว่าพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์จะทรงช่วยคนเหล่านั้นซึ่งมีปัญหาอันเป็นผลจากความประพฤติของเขาในอดีต!—มัดธาย 11:28-30.c
ขอเราอย่ามองข้ามข้อที่ว่า ในโอกาสนี้ที่ซะมาเรีย พระเยซูตรัสด้วยความกรุณา และเป็นการให้ความช่วยเหลือกับผู้หญิงคนหนึ่ง. ทำไมเรื่องนี้สำคัญ? ย้อนไปในสมัยนั้น ผู้ชายชาวยิวถูกสอนว่าในที่สาธารณะเขาควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับผู้หญิง แม้แต่กับภรรยาของตนด้วยซ้ำ. พวกรับบีชาวยิวถือว่าผู้หญิงไม่สามารถรับเอาคำสั่งสอนฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้ง แต่ถือว่าพวกเธอ “เบาปัญญา.” บางคนกล่าวว่า “เอาคำของพระบัญญัติไปเผาก็ยังดียิ่งกว่าเอาไปให้ผู้หญิง.” เหล่าสาวกของพระเยซูเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ดังนั้น เมื่อกลับมา พวกเขา “จึงคิดประหลาดใจเพราะพระองค์ทรงสนทนากับผู้หญิง.” (โยฮัน 4:27) เรื่องนี้คือหนึ่งในหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า พระเยซูเป็นแบบพระฉายของพระบิดา ผู้ทรงสร้างและให้เกียรติแก่ทั้งชายและหญิง.—เยเนซิศ 2:18.
หลังจากนั้นหญิงชาวซะมาเรียได้ชักชวนให้เพื่อนชาวเมืองของเธอรับฟังพระเยซู. หลายคนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ กล่าวว่า “เรา . . . รู้ว่าท่านองค์นี้เป็นผู้ช่วยโลกให้รอดเป็นแน่.” (โยฮัน 4:39-42) เนื่องจากเราเป็นส่วนของ “โลก” แห่งมนุษยชาติ พระเยซูจึงมีความสำคัญต่ออนาคตของเราด้วยเช่นกัน.
มุมมองของชาวประมง
ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาพระเยซูจากมุมมองของสหายสนิทสองคนของพระองค์ คือเปโตรแล้วก็โยฮัน. ชาวประมงธรรมดา ๆ สองคนนี้อยู่ในบรรดาสาวกรุ่นแรกของพระองค์. (มัดธาย 4:13-22; โยฮัน 1:35-42) พวกฟาริซายถือว่าพวกเขา “ขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ” เป็นพวกคนบ้านนอก (อัมฮาอาʹเร็ตส์) ซึ่งถูกดูหมิ่นเนื่องจากไม่ได้เล่าเรียนเหมือนพวกรับบี. (กิจการ 4:13, ฉบับแปลใหม่; โยฮัน 7:49) ผู้คนเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่ง “ทำงานหนักและมีภาระมาก” ภายใต้แอกของนักประเพณีนิยมทางศาสนา ปรารถนาความสว่างด้านวิญญาณ. ศาสตราจารย์ชาร์ล กีเญอเบอร์แห่งซอร์บอนอธิบายว่า “หัวใจของพวกเขาเป็นของยาห์เวห์ [ยะโฮวา] อย่างหมดสิ้น.” พระเยซูมิได้ปฏิเสธชนที่ถ่อมใจเหล่านั้นเพราะเห็นแก่คนร่ำรวยหรือผู้มีอิทธิพล. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงเผยให้เขาทราบเกี่ยวกับพระบิดาโดยทางคำสอนและการปฏิบัติของพระองค์.—มัดธาย 11:25-28.
เปโตรประสบกับความรู้สึกห่วงใยของพระเยซูโดยตรง. ไม่นานหลังจากท่านสมทบกับพระเยซูในงานเผยแพร่ แม่ยายของท่านป่วยเป็นไข้อยู่. เมื่อมาถึงบ้านของเปโตร พระเยซูทรงจับมือนาง แล้วไข้ก็หาย! เราอาจไม่ทราบขั้นตอนแน่ชัดของการรักษานี้ เช่นเดียวกับที่แพทย์ในสมัยนี้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ว่าโรคบางอย่างรักษาหายได้อย่างไร แต่หญิงคนนี้ก็หายไข้. สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการทราบวิธีการรักษาของพระองค์คือการหยั่งรู้เข้าใจว่าโดยการรักษาคนป่วยและคนที่ทุกข์ทรมาน พระเยซูทรงแสดงถึงความสงสารที่มีต่อพวกเขา. พระองค์ทรงประสงค์อย่างแท้จริงที่จะช่วยผู้คน และพระบิดาของพระองค์ก็ประสงค์เช่นนั้นด้วย. (มาระโก 1:29-31, 40-43; 6:34) จากประสบการณ์ที่มีกับพระเยซู เปโตรสามารถเข้าใจได้ว่า พระผู้สร้างทรงถือว่าแต่ละบุคคลคู่ควรกับความเอาใจใส่.—1 เปโตร 5:7.
ในเวลาต่อมา พระเยซูทรงอยู่ในลานของพวกผู้หญิง ณ พระวิหารในกรุงยะรูซาเลม. พระองค์ทรงสังเกตผู้คนใส่เงินบริจาคในตู้เก็บเงินถวาย. คนที่ร่ำรวยใส่เงินเหรียญจำนวนมากมาย. โดยแสดงความสนใจอย่างแรงกล้า พระเยซูทรงเห็นหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งหยอดเงินสองเหรียญที่มีค่าน้อยนิดลงไป. พระเยซูตรัสแก่เปโตร, โยฮัน, และคนอื่นว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวายมากกว่าคนทั้งปวงที่ใส่ไว้นั้น เพราะว่าคนทั้งปวงนั้นได้เอาเงินเหลือใช้ของเขามาใส่ไว้, แต่ผู้หญิงนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.”—มาระโก 12:41-44.
คุณจะเห็นได้ว่าพระเยซูทรงมองหาคุณลักษณะที่ดีในตัวผู้คนและทรงหยั่งรู้ค่าความพยายามของแต่ละคน. คุณคิดว่าเรื่องนี้มีผลกระทบอย่างไรต่อเปโตรและอัครสาวกคนอื่น? โดยการเข้าใจจากตัวอย่างของพระเยซูว่าพระยะโฮวาทรงเป็นเช่นไร ภายหลังเปโตรได้อ้างอิงถึงบทเพลงสรรเสริญข้อหนึ่งที่ว่า “พระเนตรของพระยะโฮวาเพ่งเล็งคนชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์สดับฟังคำอ้อนวอนของเขาทั้งหลาย.” (1 เปโตร 3:12, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 34:15, 16) คุณไม่ได้รับการดึงดูดให้มาหาพระผู้สร้าง และพระบุตรของพระองค์หรอกหรือผู้ซึ่งประสงค์จะหาพบคุณลักษณะที่ดีในตัวคุณและจะสดับคำอ้อนวอนของคุณ?
หลังจากราว ๆ สองปีที่คบหาสมาคมกับพระเยซู เปโตรมั่นใจว่าพระเยซูคือพระมาซีฮา. ครั้งหนึ่งพระเยซูถามเหล่าสาวกว่า “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นผู้ใด?” พระองค์ได้รับคำตอบหลากหลาย. แล้วพระองค์จึงถามพวกเขาว่า “ฝ่ายพวกท่านนี้ว่าเราเป็นผู้ใดเล่า?” เปโตรทูลตอบอย่างมั่นใจว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์.” คุณอาจรู้สึกงุนงงในสิ่งที่พระเยซูทรงทำต่อจากนั้น. พระองค์ “ทรงกำชับห้ามเหล่าสาวกไม่ให้เขาบอกผู้ใดให้รู้” เรื่องนี้. (มาระโก 8:27-30; 9:30; มัดธาย 12:16) ทำไมพระเยซูตรัสเช่นนั้น? พระเยซูทรงอยู่ท่ามกลางพวกเขา ดังนั้น พระองค์ไม่ประสงค์ให้ผู้คนลงความเห็นโดยอาศัยเพียงคำบอกเล่า. นั่นเป็นไปตามเหตุผลมิใช่หรือ? (โยฮัน 10:24-26) จุดสำคัญคือ พระผู้สร้างทรงประสงค์ให้เราสืบค้นเกี่ยวกับพระองค์โดยการตรวจสอบหลักฐานด้วยตัวเราเองเช่นกัน. พระองค์ทรงคาดหมายให้เรามีความเชื่อมั่นโดยอาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลัก.—กิจการ 17:27.
ดังที่คุณอาจนึกได้ เพื่อนร่วมชาติของพระเยซูบางคนไม่ยอมรับพระองค์ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานพอเพียงว่าพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากพระผู้สร้าง. เนื่องจากมีใจฝักใฝ่อยู่กับฐานะของตนหรือเป้าประสงค์ทางการเมือง หลายคนจึงพบว่าพระมาซีฮาที่จริงใจทว่าต่ำต้อยผู้นี้ไม่เป็นไปตามความนิยมชมชอบของเขา. ขณะที่งานสั่งสอนของพระองค์ใกล้จะสิ้นสุดลง พระเยซูตรัสว่า “โอยะรูซาเลม ๆ ที่ได้ฆ่าบรรดาศาสดาพยากรณ์, และเอาหินขว้างผู้ที่รับใช้มาหาเจ้า, เราใคร่จะรวบรวมลูกของเจ้าไว้เนือง ๆ . . . แต่เจ้าไม่ยอม. นี่แหละเรือนของเจ้าก็ถูกปล่อยไว้ให้ร้างตามลำพังเจ้า.” (มัดธาย 23:37, 38) สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้สำหรับชาตินั้นแสดงให้เห็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะอวยพรชนทุกชาตินั้นสำเร็จเป็นจริง.
หลังจากนั้นไม่นานเปโตรกับอัครสาวกอีกสามคนได้ยินพระเยซูตรัสคำพยากรณ์ที่ละเอียดเกี่ยวกับ “ช่วงอวสานของระบบนี้.”d สิ่งที่พระเยซูทรงบอกล่วงหน้านั้นมีความสำเร็จขั้นต้นระหว่างการโจมตีกรุงยะรูซาเลมและการทำลายล้างกรุงนั้นในปี ส.ศ. 66-70. ประวัติศาสตร์ยืนยันว่าสิ่งที่พระเยซูทรงทำนายนั้นได้เกิดขึ้นจริง. เปโตรได้เป็นพยานถึงหลายสิ่งที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้าทีเดียว และมีการแสดงให้เห็นเรื่องนี้ใน 1 และ 2 เปโตร พระธรรมสองเล่มที่เปโตรเขียน.—1 เปโตร 1:13; 4:7; 5:7, 8; 2 เปโตร 3:1-3, 11, 12.
ระหว่างงานสั่งสอนของพระเยซู พระองค์ทรงแผ่ความกรุณาด้วยความอดทนไปยังชาวยิวที่อยู่รอบข้างพระองค์. แต่พระองค์มิได้ยับยั้งจากการติเตียนความชั่ว. เรื่องนี้ได้ช่วยเปโตร และนั่นน่าจะช่วยเราให้เข้าใจในพระผู้สร้างอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น. ขณะที่เห็นสิ่งอื่น ๆ ซึ่งทำให้คำพยากรณ์ของพระเยซูสำเร็จ เปโตรเขียนว่า คริสเตียนควร “คำนึงถึงวันของพระยะโฮวา” เสมอ. เปโตรกล่าวด้วยว่า “พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์เหมือนบางคนถือว่าช้านั้น แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” ครั้นแล้วเปโตรเสนอถ้อยคำที่ให้กำลังใจเกี่ยวกับ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ . . . ซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่.” (2 เปโตร 3:3-13, ล.ม.) เช่นเดียวกับเปโตร เราหยั่งรู้ค่าคุณลักษณะของพระเจ้าที่สะท้อนให้เห็นในตัวพระเยซูไหม และเราแสดงความไว้วางใจในคำสัญญาของพระองค์เรื่องอนาคตไหม?
ทำไมพระเยซูสิ้นพระชนม์?
ในคืนสุดท้ายที่อยู่กับเหล่าอัครสาวก พระเยซูทรงร่วมรับประทานอาหารมื้อพิเศษกับพวกเขา. ในช่วงการรับประทานอาหารเช่นนี้ เจ้าภาพชาวยิวจะแสดงน้ำใจต้อนรับขับสู้โดยการล้างเท้าให้แขกซึ่งอาจสวมรองเท้าแตะเดินมาตามถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่น. แต่ไม่มีใครอาสาทำเช่นนี้ให้พระเยซู. ดังนั้น พระองค์ทรงลุกขึ้นด้วยความถ่อมใจ เอาผ้าเช็ดตัวและอ่างน้ำมาแล้วเริ่มล้างเท้าของอัครสาวก. เมื่อถึงคราวของเปโตร ท่านรู้สึกละอายใจที่จะรับเอาบริการเช่นนี้จากพระเยซู. เปโตรทูลว่า “พระองค์จะล้างเท้าของข้าพเจ้าไม่ได้เลย.” พระเยซูตรัสตอบว่า “ถ้าเราไม่ล้างท่านแล้ว, ท่านจะมีส่วนในเราไม่ได้.” พระเยซูทรงทราบว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า ดังนั้น พระองค์จึงตรัสเสริมว่า “เหตุฉะนั้นถ้าเราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ได้ล้างเท้าของท่านทั้งหลาย ๆ ควรจะล้างเท้าซึ่งกันและกัน. ด้วยว่าเราได้วางแบบอย่างให้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว, เพื่อให้ท่านทำเหมือนที่เราได้กระทำแก่ท่าน.”—โยฮัน 13:5-17.
หลายทศวรรษต่อมาเปโตรได้กระตุ้นเตือนคริสเตียนให้เลียนแบบพระเยซู ไม่ใช่ในพิธีล้างเท้า แต่ในการรับใช้คนอื่นอย่างถ่อมใจแทนที่จะ “เป็นเจ้านายที่ข่มขี่” เขา. เปโตรตระหนักด้วยว่าตัวอย่างของพระเยซูพิสูจน์ว่า “พระเจ้าทรงต่อสู้คนเหล่านั้นที่ถือตัวจองหอง, แต่พระองค์ทรงประทานพระคุณแก่คนทั้งหลายที่ถ่อมใจลง.” ช่างเป็นบทเรียนที่ดีจริง ๆ เกี่ยวกับพระผู้สร้าง! (1 เปโตร 5:1-5; บทเพลงสรรเสริญ 18:35) แต่เปโตรยังได้เรียนรู้อีกมาก.
หลังจากรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย ยูดาอิศการิโอดซึ่งเป็นอัครสาวกทว่าได้กลายเป็นขโมย ได้นำผู้ชายกลุ่มหนึ่งมีอาวุธครบมือมาจับกุมพระเยซู. ขณะที่พวกเขาทำเช่นนั้น เปโตรแสดงการตอบโต้. ท่านชักดาบออกมาแล้วทำให้ชายคนหนึ่งในฝูงชนนั้นได้รับบาดเจ็บ. พระเยซูทรงว่ากล่าวเปโตรว่า “จงเอาดาบใส่ฝักเสีย ด้วยว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ.” ครั้นแล้ว ขณะที่เปโตรมองดูอยู่นั้น พระเยซูทรงแตะต้องชายคนนั้น รักษาเขาให้หาย. (มัดธาย 26:47-52; ลูกา 22:49-51) ปรากฏชัดว่า พระเยซูทรงปฏิบัติสอดคล้องกับคำสอนของพระองค์ที่ว่า “จงรักศัตรูของท่านทั้งหลายต่อ ๆ ไป” เป็นการเลียนแบบพระบิดาของพระองค์ผู้ “ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่ว และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.”—มัดธาย 5:44, 45, ล.ม.
ระหว่างช่วงราตรีที่เต็มด้วยความเครียดนั้น พระเยซูถูกพิจารณาคดีอย่างรีบเร่งโดยศาลสูงของยิว. พระองค์ถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ เรื่องการหมิ่นประมาท, ถูกพาไปหาผู้สำเร็จราชการโรมัน, ครั้นแล้วก็ถูกส่งไปประหารชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม. ชาวยิวและชาวโรมันเยาะเย้ยพระองค์. พระองค์ถูกทำร้ายอย่างทารุณและในที่สุดก็ถูกตรึง. การปฏิบัติอย่างเลวร้ายส่วนใหญ่นั้นสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ที่บันทึกไว้หลายร้อยปีก่อนหน้านั้น. แม้แต่ทหารที่สังเกตดูพระเยซูบนหลักทรมานก็ยังยอมรับว่า “แท้จริงท่านผู้นี้เป็นพระราชบุตรของพระเจ้า.”—มัดธาย 26:57–27:54; โยฮัน 18:12–19:37.
เหตุการณ์เหล่านั้นคงต้องทำให้เปโตรกับคนอื่นถามว่า ‘ทำไมพระคริสต์ต้องสิ้นพระชนม์?’ ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้วเท่านั้นพวกเขาจึงเข้าใจ. ประการหนึ่ง เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้คำพยากรณ์ในยะซายาบท 53 สำเร็จ ซึ่งแสดงว่าพระคริสต์จะทำให้การปลดปล่อยเป็นไปได้ไม่เพียงแต่สำหรับชาวยิวเท่านั้น แต่สำหรับมวลมนุษยชาติ. เปโตรเขียนว่า “พระองค์เองทรงแบกรับความบาปของเราในพระกายของพระองค์เองบนหลัก เพื่อเราทั้งหลายจะได้พ้นบาป และมีชีวิตอยู่เพื่อความชอบธรรม. และ ‘โดยรอยเฆี่ยนของพระองค์ ท่านทั้งหลายได้รับการรักษาให้หายแล้ว.’” (1 เปโตร 2:21-25, ล.ม.) เปโตรเข้าใจความหมายของความจริงที่พระเยซูเคยกล่าวไว้ที่ว่า “บุตรมนุษย์ก็ดีมิได้มาเพื่อให้เขาปรนนิบัติ. แต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา, และประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28) ถูกแล้ว พระเยซูต้องสละสิทธิที่จะมีชีวิตฐานะมนุษย์สมบูรณ์เพื่อจะซื้อมนุษยชาติคืนจากสภาพผิดบาปที่ได้รับเป็นมรดกจากอาดาม. นั่นเป็นคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล คือเรื่องค่าไถ่.
ค่าไถ่เกี่ยวข้องกับอะไร? คุณอาจคิดถึงค่าไถ่ทำนองนี้: สมมุติคุณมีคอมพิวเตอร์อยู่เครื่องหนึ่ง ทว่าไฟล์หนึ่งของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเกิดผิดเพี้ยนไปเนื่องจากข้อผิดพลาด (หรือไวรัส) ที่มีคนใส่เอาไว้ ซึ่งถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นโปรแกรมที่สมบูรณ์ทีเดียว. นั่นเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นผลกระทบจากสิ่งที่อาดามได้ทำเมื่อเขาไม่เชื่อฟังพระเจ้า หรือทำบาปโดยเจตนา. ขอให้เราดูตัวอย่างนี้ต่อไป. ไม่ว่าคุณจะทำสำเนาไฟล์ที่ผิดเพี้ยนไปนั้นขึ้นมาสักกี่ชุด มันก็จะมีข้อผิดพลาดอยู่. อย่างไรก็ดี ไม่หมดหวังเสียทีเดียว. โดยใช้โปรแกรมพิเศษ คุณสามารถตรวจพบและขจัดข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนออกไปจากไฟล์และคอมพิวเตอร์ของคุณได้. ในลักษณะเดียวกัน มนุษยชาติได้รับ “ไวรัส” หรือบาปจากอาดามและฮาวา และเราต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อขจัดบาปนั้น. (โรม 5:12) ตามคัมภีร์ไบเบิลแล้ว พระเจ้าทรงจัดเตรียมเพื่อการชำระให้สะอาดนี้โดยความตายของพระเยซู. นั่นเป็นการจัดเตรียมด้วยความรักซึ่งเราสามารถได้รับประโยชน์.—1 โกรินโธ 15:22.
การหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระเยซูทรงทำได้กระตุ้นเปโตรให้ “ดำเนินชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในเนื้อหนัง ไม่ใช่เพื่อความปรารถนาของมนุษย์อีกต่อไป แต่เพื่อพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.” สำหรับเปโตรและเราด้วย นี่จะหมายถึงการหลีกเลี่ยงนิสัยอันเสื่อมทรามและรูปแบบชีวิตที่ผิดศีลธรรม. คนอื่นอาจพยายามสร้างปัญหาให้กับคนที่พยายามทำตาม “พระทัยประสงค์ของพระเจ้า.” ถึงอย่างไรก็ตาม เขาจะประสบว่าชีวิตของเขาให้ผลตอบแทนมากกว่า, มีความหมายมากกว่า. (1 เปโตร 4:1-3, 7-10, 15, 16, ล.ม.) เป็นเช่นนั้นกับเปโตร และอาจเป็นเช่นนั้นกับเราด้วยขณะที่เรา ‘ฝากจิตวิญญาณของเราไว้กับพระผู้สร้างองค์สัตย์ซื่อต่อ ๆ ไป ขณะที่กระทำดี.’—1 เปโตร 4:19, ล.ม.
สาวกคนหนึ่งซึ่งรู้จักความรัก
อัครสาวกโยฮันเป็นสาวกอีกคนหนึ่งซึ่งคบหากับพระเยซูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่สามารถช่วยเราเข้าใจพระผู้สร้างได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น. โยฮันเขียนกิตติคุณและจดหมายอีกสามฉบับด้วย (1, 2, และ 3 โยฮัน). ในจดหมายฉบับหนึ่ง ท่านให้ความเข้าใจนี้แก่เรา: “เรารู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาแล้ว และพระองค์ทรงประทานความสามารถทางปัญญาแก่เราเพื่อเราจะได้รับความรู้เกี่ยวกับองค์เที่ยงแท้ [พระผู้สร้าง]. และเราร่วมสามัคคีกับองค์เที่ยงแท้ โดยทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์. นี่คือพระเจ้าเที่ยงแท้และชีวิตนิรันดร์.”—1 โยฮัน 5:20, ล.ม.
การที่โยฮันได้รับความรู้เกี่ยวกับ “องค์เที่ยงแท้” นั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ “ความสามารถทางปัญญา.” โยฮันสังเกตเข้าใจอะไรเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระผู้สร้าง? โยฮันเขียนว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก และผู้ที่คงอยู่ในความรักก็คงอยู่ร่วมสามัคคีกับพระเจ้า.” ทำไมโยฮันสามารถแน่ใจในเรื่องนั้น? “ความรักในกรณีนี้คือ ไม่ใช่ว่าเราได้รักพระเจ้า แต่ว่าพระองค์ได้ทรงรักเราและได้ส่งพระบุตรของพระองค์มา” เพื่อเป็นเครื่องบูชาไถ่เพื่อเรา. (1 โยฮัน 4:10, 16, ล.ม.) เช่นเดียวกับเปโตร โยฮันเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในความรักของพระเจ้าที่แสดงออกโดยการส่งพระบุตรของพระองค์มาสิ้นพระชนม์เพื่อประโยชน์ของเรา.
เนื่องจากใกล้ชิดกับพระเยซูมาก โยฮันสามารถหยั่งรู้เข้าใจความรู้สึกของพระองค์ได้. เหตุการณ์ในเมืองเบธาเนีย ใกล้กรุงยะรูซาเลมทำให้โยฮันประทับใจอย่างสุดซึ้ง. เมื่อได้รับข่าวว่าลาซะโรสหายของพระองค์ป่วยหนัก พระเยซูจึงเสด็จไปเมืองเบธาเนีย. ตอนที่พระองค์กับเหล่าอัครสาวกมาถึงนั้น ลาซะโรตายไปอย่างน้อยสี่วันแล้ว. โยฮันทราบว่าพระผู้สร้างซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตมนุษย์ทรงประทานอำนาจให้พระเยซู. ดังนั้น พระเยซูสามารถปลุกลาซะโรขึ้นจากตายได้ไหม? (ลูกา 7:11-17; 8:41, 42, 49-56) พระเยซูตรัสแก่มาธาพี่สาวของลาซะโรว่า “น้องชายของเจ้าจะเป็นขึ้นอีก.”—โยฮัน 11:1-23.
ครั้นแล้วโยฮันก็เห็นมาเรีย พี่สาวอีกคนหนึ่งของลาซะโรออกมาพบพระเยซู. พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาอย่างไร? “พระองค์จึงคร่ำครวญในพระทัยและเป็นทุกข์.” เพื่อพรรณนาปฏิกิริยาของพระเยซู โยฮันใช้คำภาษากรีก (ที่ได้รับการแปลว่า “คร่ำครวญ” ในภาษาไทย) ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับความรู้สึกลึกซึ้งที่ถูกบีบคั้นจากหัวใจ. โยฮันสามารถเห็นว่าพระเยซูทรง “เป็นทุกข์” หรือมีความวุ่นวายใจ ทรงโศกเศร้ายิ่งนัก. พระเยซูมิได้เฉยเมยหรือเย็นชา. พระองค์ “ทรงกันแสง.” (โยฮัน 11:30-37, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า พระเยซูทรงมีความรู้สึกลึกซึ้งและอ่อนโยน ซึ่งช่วยโยฮันให้หยั่งรู้เข้าใจความรู้สึกของพระผู้สร้าง และนั่นควรช่วยเราเช่นเดียวกัน.
โยฮันรู้ว่าความรู้สึกของพระเยซูเกี่ยวพันกับการกระทำในทางที่เสริมสร้าง เพราะท่านได้ยินพระเยซูทรงเปล่งเสียงดังว่า “ลาซะโรเอ๋ย, จงออกมาเถิด.” และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ. ลาซะโรกลับมีชีวิตและออกจากอุโมงค์ฝังศพ. นั่นคงต้องนำความยินดีเสียจริง ๆ มาสู่พี่สาวของเขาและคนอื่นที่เฝ้าดูนั้น! แล้วหลายคนแสดงความเชื่อในพระเยซู. พวกศัตรูของพระองค์ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพระองค์ทรงทำการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายครั้งนี้ ทว่าเมื่อข่าวนั้นแพร่สะพัดออกไป พวกเขาจึง “ปรึกษากันเพื่อจะฆ่าลาซะโร” รวมทั้งพระเยซูด้วย.—โยฮัน 11:43; 12:9-11.
คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงพระเยซูว่าเป็น ‘การถอดแบบอย่างแม่นยำของพระผู้สร้าง.’ (เฮ็บราย 1:3, ล.ม.) ดังนั้น งานสั่งสอนของพระเยซูให้ข้อพิสูจน์มากพอเกี่ยวกับความปรารถนาอันแรงกล้าของพระองค์เองกับพระบิดาที่จะขจัดผลเสียหายจากความเจ็บป่วยและความตาย. และนี่มิใช่การกลับเป็นขึ้นจากตายไม่กี่รายที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น. ที่จริง โยฮันอยู่ด้วยตอนที่พระเยซูตรัสว่า “เวลาจะมาเมื่อบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินสุรเสียงของ [พระบุตร] และจะออกมา.” (โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.) โปรดสังเกตว่าแทนที่จะใช้คำธรรมดาสำหรับหลุมฝังศพ ในที่นี้โยฮันใช้คำที่ได้รับการแปลว่า “อุโมงค์รำลึก.” เพราะเหตุใด?
ความทรงจำของพระเจ้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. แน่นอน พระผู้สร้างเอกภพอันไพศาลทรงสามารถจำรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับผู้เป็นที่รักของเราที่ตายไปแล้วนั้นทุกคน รวมไปถึงลักษณะนิสัยทั้งที่มีมาแต่กำเนิดและที่มีขึ้นภายหลัง. (เทียบกับยะซายา 40:26.) และไม่ใช่แค่ที่พระองค์สามารถ จำได้เท่านั้น. ทั้งพระองค์และพระบุตรประสงค์ จะทำเช่นนั้น. เกี่ยวกับความหวังอันน่าพิศวงเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายนั้น โยบได้กล่าวถึงพระเจ้าว่า “ถ้ามนุษย์ตายแล้ว เขาจะมีชีวิตอีกหรือ . . . พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงเรียก และข้าพระองค์จะทูลตอบพระองค์ พระองค์จะทรงอาลัยอาวรณ์ พระหัตถกิจของพระองค์.” (โยบ 14:14, 15, ฉบับแปลใหม่; มาระโก 1:40-42) เรามีพระผู้สร้างองค์ยอดเยี่ยมเสียจริง ๆ ที่คู่ควรกับการนมัสการของเรา!
พระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์—กุญแจสู่ชีวิตที่มีความหมาย
โยฮันสาวกผู้เป็นที่รักเฝ้าดูพระเยซูอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์. ยิ่งกว่านั้น โยฮันได้บันทึกเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายใหญ่ยิ่งที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ซึ่งวางพื้นฐานอันมั่นคงไว้เพื่อที่เราจะมีชีวิตแบบถาวรและอย่างมีความหมาย.
พวกศัตรูของพระเยซูได้ประหารชีวิตพระองค์ ตอกกับหลักเสมือนอาชญากรธรรมดาคนหนึ่ง. ผู้เฝ้าดูอยู่—รวมทั้งพวกผู้นำศาสนา—ได้เยาะเย้ยพระองค์ขณะที่ทรงทนทุกข์เป็นเวลาหลายชั่วโมง. ทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพเจ็บปวดรวดร้าวบนหลัก พระเยซูทรงมองดูมารดาของพระองค์เองและตรัสแก่นางเกี่ยวกับโยฮันว่า “หญิงเอ๋ย ดูซิ! บุตรของท่าน!” ถึงตอนนั้นมาเรียคงต้องเป็นแม่ม่าย และลูกคนอื่น ๆ ของเธอยังมิได้เป็นสาวก.e ฉะนั้น พระเยซูทรงมอบการเอาใจใส่ดูแลมารดาที่สูงอายุของพระองค์ไว้กับสาวกโยฮัน. อีกครั้งหนึ่ง นี่สะท้อนให้เห็นความคิดของพระผู้สร้าง ผู้ทรงสนับสนุนการเอาใจใส่ดูแลหญิงม่ายและลูกกำพร้า.—โยฮัน 7:5; 19:12-30, ล.ม.; มาระโก 15:16-39; ยาโกโบ 1:27.
แต่ครั้นพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไรฐานะ “พงศ์พันธุ์” ซึ่ง “ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่” โดยทางพงศ์พันธุ์นี้? (เยเนซิศ 22:18, ล.ม.) ด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ในตอนบ่ายเดือนเมษายน ปี ส.ศ. 33 พระเยซูทรงมอบชีวิตของพระองค์เป็นพื้นฐานสำหรับค่าไถ่. พระบิดาที่มีความรู้สึกละเอียดอ่อนคงต้องเจ็บปวดพระทัยเนื่องจากความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่พระบุตรของพระองค์ผู้ปราศจากผิดได้ประสบนั้น. แต่โดยวิธีนี้ มีการจัดเตรียมราคาค่าไถ่ที่จำเป็นเพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติให้พ้นจากพันธนาการของบาปและความตาย. (โยฮัน 3:16; 1 โยฮัน 1:7) มีการวางพื้นฐานไว้สำหรับตอนจบที่เยี่ยมยอด.
เพราะพระเยซูมีบทบาทสำคัญในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จ พระองค์ต้องกลับคืนพระชนม์. นั่นเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้น และโยฮันได้เป็นพยานถึงเรื่องนั้น. เช้าตรู่ในวันที่สามหลังจากการสิ้นพระชนม์และการฝังพระศพของพระเยซู สาวกบางคนได้ไปที่อุโมงค์ฝังศพ. อุโมงค์นั้นว่างเปล่า. นั่นทำให้พวกเขางุนงงจนกระทั่งพระเยซูทรงปรากฏแก่หลายคน. มาเรียมัฆดาลารายงานว่า “ข้าฯ ได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า!” เหล่าสาวกไม่ยอมรับคำพยานของนาง. ต่อมาเหล่าสาวกได้ชุมนุมกันในห้องที่ใส่กุญแจและพระเยซูทรงปรากฏอีกครั้ง กระทั่งสนทนากับพวกเขาด้วยซ้ำ. ภายในไม่กี่วัน ชายและหญิงมากกว่า 500 คนได้เป็นประจักษ์พยานว่าพระเยซูทรงพระชนม์อยู่จริง ๆ. ผู้คนในสมัยนั้นซึ่งอาจเป็นคนช่างสงสัยสามารถสอบถามพยานที่เชื่อถือได้เหล่านี้และตรวจสอบคำพยานของเขา. พวกคริสเตียนสามารถมั่นใจว่าพระเยซูได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์แล้วและทรงพระชนม์อยู่ฐานะบุคคลวิญญาณเหมือนพระผู้สร้าง. หลักฐานในเรื่องนี้มีมากมายและเชื่อถือได้จนกระทั่งหลายคนยอมเผชิญความตายแทนที่จะปฏิเสธเรื่องที่พระเยซูคืนพระชนม์นั้น.—โยฮัน 20:1-29, ล.ม.; ลูกา 24:46-48; 1 โกรินโธ 15:3-8.f
อัครสาวกโยฮันได้ประสบการข่มเหงด้วยเนื่องจากเป็นพยานถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซู. (วิวรณ์ 1:9) แต่ขณะที่ต้องโทษเนรเทศ ท่านได้รับผลตอบแทนที่ไม่ธรรมดา. พระเยซูทรงประทานนิมิตเป็นชุด ๆ แก่ท่านซึ่งชี้แจงเรื่องพระผู้สร้างแก่เราอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นและเปิดเผยสิ่งที่อนาคตจะนำมาให้. คุณจะพบเรื่องนี้ในพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งใช้สัญลักษณ์หลายอย่าง. ในที่นี้มีการพรรณนาถึงพระเยซูคริสต์ฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีชัยซึ่งจะปราบเหล่าศัตรูของพระองค์ให้ราบคาบในไม่ช้า. ศัตรูเหล่านั้นหมายรวมถึงความตาย (ศัตรูของเราทุกคน) และบุคคลวิญญาณผู้เสื่อมทรามที่มีชื่อว่าซาตานนั้นด้วย.—วิวรณ์ 6:1, 2; 12:7-9; 19:19–20:3, 13, 14.
ใกล้ตอนจบของข่าวสารเชิงพยากรณ์ โยฮันได้รับนิมิตเกี่ยวกับเวลาที่แผ่นดินโลกจะกลายเป็นอุทยาน. มีเสียงพรรณนาถึงสภาพการณ์ที่จะแพร่หลายในตอนนั้นว่า “พระเจ้าเองจะทรงอยู่กับ [มนุษยชาติ]. และพระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.” (วิวรณ์ 21:3, 4, ล.ม.) ในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จ คำสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮามจะสำเร็จเป็นจริง.—เยเนซิศ 12:3; 18:18.
ชีวิตในตอนนั้นจะเป็น “ชีวิตแท้” เทียบได้กับสิ่งที่มีอยู่ต่อหน้าอาดามตอนที่เขาถูกสร้างขึ้น. (1 ติโมเธียว 6:19, ล.ม.) มนุษยชาติจะไม่ต้องคลำหาเพื่อจะพบพระผู้สร้างและเข้าใจสัมพันธภาพของเขากับพระองค์อีกต่อไป. อย่างไรก็ตาม คุณอาจถามว่า ‘เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร? และทำไมพระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัยทรงยอมให้ความชั่วและความทุกข์มีอยู่จนกระทั่งสมัยนี้?’ ขอให้เราพิจารณาคำถามเหล่านั้นต่อไป.
[เชิงอรรถ]
a มัดธาย, มาระโก, และโยฮัน เป็นประจักษ์พยาน. ลูกาได้ทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับเอกสารและคำให้การของประจักษ์พยาน. กิตติคุณแสดงให้เห็นลักษณะพิเศษของบันทึกที่ซื่อตรง, ถูกต้องแม่นยำ, และไว้ใจได้.—โปรดดูหนังสือสำหรับทุกคน หน้า 16-17 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
b คัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า “ชื่อของเขาคือ อัลมะซีฮฺ อีซา [พระคริสต์เยซู] บุตรมัรยัม [มาเรีย] ผู้มีเกียรติทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.” (ซูเราะฮฺ 3:45) ในฐานะมนุษย์ พระเยซูเป็นบุตรของมาเรีย. แต่ผู้ใดเป็นบิดาที่ทำให้พระองค์ประสูติมา? คัมภีร์อัลกุรอานอรรถาธิบายว่า “ข้อเปรียบเทียบของอีซา [พระเยซู] ณ อัลเลาะฮฺนั้น ก็เปรียบได้ดังอาดัม.” (ซูเราะฮฺ 3:59) พระคัมภีร์บริสุทธิ์กล่าวถึงอาดามว่าเป็น “บุตรของพระเจ้า.” (ลูกา 3:23, 38) ทั้งอาดามและพระเยซูไม่มีบิดาที่เป็นมนุษย์; ทั้งมิได้เป็นผลจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง. ฉะนั้น อาดามเป็นบุตรของพระเจ้าฉันใด พระเยซูก็เป็นบุตรของพระเจ้าฉันนั้น.
c เจตคติของพระเยซูตรงกับเจตคติของพระยะโฮวา ดังที่พรรณนาไว้ในเพลงสรรเสริญบท 103 และที่ยะซายา 1:18-20.
d เราสามารถอ่านคำพยากรณ์นั้นได้ในมัดธายบท 24, มาระโกบท 13, และลูกาบท 21.
e อย่างน้อยมีสองคนในพวกเขาได้เข้ามาเป็นสาวกในภายหลังและเขียนจดหมายที่ให้กำลังใจซึ่งปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลคือ ยาโกโบและยูดา.
f นายทหารระดับสูงชาติโรมันคนหนึ่งได้ยินคำพยานของเปโตรที่เป็นประจักษ์พยานว่า “เรื่องนั้นท่านทั้งหลายก็รู้, คือเรื่องที่ได้เล่ากัน . . . ตลอดทั่วมณฑลยูดาย . . . ในวันที่สามพระเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระองค์นั้นคืนพระชนม์และให้ปรากฏแจ้ง . . . พระองค์นั้นได้ทรงสั่งเราทั้งหลายให้ประกาศแก่คนทั้งปวงและเป็นพยานว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมพระองค์ไว้เป็นผู้พิพากษาคนทั้งหลายทั้งคนเป็นและคนตาย.”—กิจการ 2:32; 3:15; 10:34-42.
[กรอบหน้า 150]
คุณอาจชอบการเปรียบเทียบเรื่องราวที่คล้ายกันเกี่ยวกับการที่พระเยซูรักษาแม่ยายของเปโตรให้หายป่วย. (มัดธาย 8:14-17; มาระโก 1:29-31; ลูกา 4:38, 39) นายแพทย์ลูกาได้ให้รายละเอียดทางการแพทย์ไว้ด้วยที่ว่านางเป็น “ไข้หนัก [“สูง,” ล.ม.].” อะไรทำให้พระเยซูสามารถรักษานางและคนอื่นให้หายป่วย? ลูกายอมรับว่า “ฤทธิ์เดชของพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ก็สถิตอยู่ใน [พระเยซู] เพื่อจะรักษาเขาให้หายโรค.”—ลูกา 5:17; 6:19; 9:43.
[กรอบหน้า 152]
คำเทศน์ใหญ่ยิ่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา
มีการอ้างอิงถึง มหาตมา คานธี ผู้นำฮินดูที่กล่าวว่า โดยการปฏิบัติตามคำสอนในคำเทศน์นั้น “เราจะแก้ปัญหาต่าง ๆ . . . ของทั้งโลกได้.” แอชลีย์ มงตากู นักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงได้เขียนว่า การค้นพบในสมัยปัจจุบันเกี่ยวกับความสำคัญทางด้านจิตวิทยาของความรักนั้นเป็นแค่ “การพิสูจน์” ว่าคำเทศน์นี้ถูกต้อง.
คนเหล่านี้กำลังอ้างถึงคำเทศน์บนภูเขาของพระเยซู. คานธีกล่าวด้วยว่า “คำสอนในคำเทศน์นั้นมุ่งหมายไว้สำหรับเราทุกคน.” ศาสตราจารย์ฮานส์ ดีเทอร์ เบทส์ อรรถาธิบายไว้ไม่นานมานี้ว่า “คำเทศน์บนภูเขาก่อผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่ในขอบเขตของศาสนายิวและศาสนาคริสเตียน หรือกระทั่งวัฒนธรรมแบบตะวันตกเท่านั้น.” เขายังกล่าวเสริมอีกว่า คำเทศน์นี้มี “แรงดึงดูดใจคนทั่วโลกอย่างไม่มีใดเหมือน.”
ไฉนไม่ลองอ่านคำเทศน์ที่ค่อนข้างสั้นทว่าดึงดูดใจนี้ดูล่ะ? คุณจะพบคำเทศน์นี้ในมัดธายบท 5 ถึง 7 และที่ลูกา 6:20-49. ต่อไปนี้เป็นจุดเด่นบางประการที่เราอาจได้จากคำเทศน์ที่ใหญ่ยิ่งนี้:
วิธีประสบความสุข—มัดธาย 5:3-12; ลูกา 6:20-23.
วิธีรักษาไว้ซึ่งความนับถือตัวเอง—มัดธาย 5:14-16, 37; 6:2-4, 16-18; ลูกา 6:43-45.
วิธีปรับปรุงสัมพันธภาพกับคนอื่น—มัดธาย 5:22-26, 38-48; 7:1-5, 12; ลูกา 6:27-38, 41, 42.
วิธีลดปัญหาในชีวิตสมรส—มัดธาย 5:27-32.
วิธีรับมือกับความกระวนกระวาย—มัดธาย 6:25-34.
วิธีรู้ถึงความหลอกลวงด้านศาสนา—มัดธาย 6:5-8, 16-18; 7:15-23.
วิธีพบความหมายของชีวิต—มัดธาย 6:9-13, 19-24, 33; 7:7-11, 13, 14, 24-27; ลูกา 6:46-49.
[กรอบหน้า 159]
นักปฏิบัติงาน
พระเยซูคริสต์ไม่ใช่ผู้ปลีกตัวจากสังคมมาอยู่เฉย ๆ. พระองค์ทรงเป็นนักปฏิบัติงานที่เด็ดเดี่ยว. พระองค์เสด็จไป “สั่งสอนตามหมู่บ้านโดยรอบ” ทรงช่วยประชาชนซึ่ง “อิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มาระโก 6:6, ฉบับแปลใหม่; มัดธาย 9:36; ลูกา 8:1) ต่างจากผู้นำศาสนาที่ร่ำรวยหลายคนในเวลานี้ พระเยซูมิได้สะสมทรัพย์สมบัติ; พระองค์ “ไม่มีที่ ๆ จะวางศีรษะ.”—มัดธาย 8:20.
ขณะที่พระเยซูทรงมุ่งความพยายามในการรักษาและการเลี้ยงดูในด้านวิญญาณ พระองค์ก็มิได้มองข้ามความจำเป็นด้านร่างกายของผู้คน. พระองค์ทรงรักษาคนป่วย, คนพิการ, และคนที่มีผีสิง. (มาระโก 1:32-34) ในสองคราวพระองค์ทรงเลี้ยงอาหารผู้ฟังที่กระตือรือร้นหลายพันคนเนื่องด้วยสงสารพวกเขา. (มาระโก 6:35-44; 8:1-8) แรงจูงใจของพระองค์ในการทำการอัศจรรย์คือความห่วงใยต่อผู้คน.—มาระโก 1:40-42.
พระเยซูทรงปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวขณะขับไล่พวกพ่อค้าที่ละโมบออกไปจากพระวิหาร. คนเหล่านั้นที่สังเกตดูพระองค์ระลึกถึงถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “น้ำใจแรงกล้าเพื่อราชนิเวศของพระองค์จะเผาผลาญข้าพเจ้า.” (โยฮัน 2:14-17, ล.ม.) พระองค์มิได้สงวนคำพูดเมื่อกล่าวโทษผู้นำศาสนาที่หน้าซื่อใจคด. (มัดธาย 23:1-39) ทั้งพระองค์มิได้ยอมจำนนต่อความกดดันจากคนสำคัญทางการเมือง.—มัดธาย 26:59-64; โยฮัน 18:33-37.
คุณจะรู้สึกตื่นเต้นเมื่ออ่านเรื่องงานรับใช้ของพระเยซูที่มีพลัง. หลายคนที่ทำเช่นนั้นเป็นครั้งแรกเริ่มจากเรื่องราวของมาระโกที่สั้นทว่ามีชีวิตชีวาเกี่ยวกับนักปฏิบัติงานผู้นี้.
[กรอบหน้า 164]
พระเยซูทรงกระตุ้นพวกเขาให้ปฏิบัติงาน
ในพระธรรมกิจการ เราสามารถพบบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิธีที่เปโตร, โยฮัน, และคนอื่น ๆ เป็นพยานถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซู. ส่วนใหญ่ของพระธรรมนี้เล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษากฎหมายที่ชาญฉลาดชื่อเซาโล หรือเปาโล ผู้ซึ่งได้ต่อต้านศาสนาคริสเตียนอย่างรุนแรง. พระเยซูผู้คืนพระชนม์ได้ปรากฏแก่เขา. (กิจการ 9:1-16) เนื่องด้วยมีหลักฐานที่โต้แย้งไม่ได้ที่ว่าพระเยซูทรงพระชนม์อยู่ในสวรรค์ หลังจากนั้นเปาโลได้เป็นพยานที่มีใจแรงกล้าเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้ต่อพวกยิวและคนที่ไม่ใช่ยิว รวมทั้งนักปรัชญาและผู้ปกครอง. นับว่าน่าประทับใจที่จะอ่านสิ่งซึ่งท่านพูดกับคนที่มีการศึกษาและมีอิทธิพลเช่นนั้น.—กิจการ 17:1-3, 16-34; 26:1-29.
ระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษ เปาโลเขียนหนังสือหลายเล่มอันเป็นส่วนของหนังสือที่เรียกว่า พระคริสตธรรมใหม่ หรือพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. คัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่มีสารบัญ หรือรายชื่อพระธรรมต่าง ๆ. เปาโลเขียน 14 เล่มในพระธรรมเหล่านั้น ตั้งแต่พระธรรมโรมจนถึงเฮ็บราย. พระธรรมเหล่านี้เสนอความจริงที่ลึกซึ้งและการชี้นำที่สุขุมสำหรับคริสเตียนย้อนไปในสมัยนั้น. พระธรรมเหล่านี้มีคุณค่าแก่เรามากกว่านั้นอีก เนื่องจากเราไม่มีโอกาสพบกับอัครสาวกและคนอื่นที่เป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับคำสอน, การงาน, และการคืนพระชนม์ของพระเยซูโดยตรง. คุณจะพบว่า ข้อเขียนของเปาโลสามารถช่วยคุณได้ในเรื่องชีวิตครอบครัว, การติดต่อเกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมงาน และเพื่อนบ้าน, และในการชี้นำชีวิตของคุณเพื่อจะมีความหมายแท้และนำความพอใจมาให้คุณ.
[รูปภาพหน้า 146]
นักวิทยาศาสตร์ทำให้มีการปฏิสนธินอกร่างกาย. พระผู้สร้างทรงโยกย้ายชีวิตพระบุตรให้มาเป็นมนุษย์
[รูปภาพหน้า 148]
หลายคนที่ได้ฟังพระเยซูและเห็นวิธีที่พระองค์ปฏิบัติกับมนุษย์ได้มารู้จักพระบิดาของพระองค์ดีขึ้น
[รูปภาพหน้า 154]
พระเยซูทรงล้างเท้าของพวกอัครสาวก เป็นการวางแบบอย่างเกี่ยวกับความถ่อมใจไว้ซึ่งพระผู้สร้างทรงหยั่งรู้ค่า
[รูปภาพหน้า 157]
ข้อผิดพลาด (หรือไวรัส) ในคอมพิวเตอร์อาจขจัดออกไปจากระบบได้; มนุษยชาติจำเป็นต้องมีค่าไถ่ของพระเยซูเพื่อจะขจัด ความไม่สมบูรณ์ที่ได้รับสืบทอดมา
[รูปภาพหน้า 163]
ประจักษ์พยานได้เห็นพระเยซูถูกวางไว้ในอุโมงค์ (เหมือนภาพนี้) แล้วได้รับการปลุกขึ้นสู่ชีวิตในวันที่สาม