รับใช้พระยะโฮวาโดยไม่ไขว้เขว
“มาเรีย . . . ตั้งใจฟัง [พระเยซู] ตรัส ส่วนมาร์ทาวุ่นอยู่กับงานหลายอย่าง”—ลูกา 10:39, 40
1, 2. ทำไมพระเยซูรักมาร์ทา? มาร์ทาทำผิดพลาดอะไรที่แสดงว่าเธอไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ?
เมื่อคุณคิดถึงมาร์ทาพี่สาวของลาซะโร คุณคิดว่าเธอเป็นคนแบบไหน? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเธอเป็นเพื่อนที่ดีของพระเยซู และบอกด้วยว่าพระเยซูก็รักเธอ แน่นอนเธอไม่ใช่ผู้หญิงแค่คนเดียวเท่านั้นที่พระเยซูรักและนับถือ มาเรียน้องสาวของมาร์ทาก็เป็นเพื่อนสนิทของพระเยซู และพระเยซูรักมาเรียแม่ของท่านด้วย (โย. 11:5; 19:25-27) ถ้าอย่างนั้น ทำไมพระเยซูรักมาร์ทา?
2 พระเยซูรักมาร์ทาเพราะเธอเป็นคนกรุณา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และขยันขันแข็ง แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือมาร์ทามีความเชื่อมาก เธอเชื่อทุกสิ่งที่พระเยซูสอนและมั่นใจว่าท่านเป็นมาซีฮาที่พระเจ้าสัญญา (โย. 11:21-27) แต่มาร์ทาก็ไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ เธอเคยทำผิดเหมือนกับเราทุกคน เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อพระเยซูมาเยี่ยม มาร์ทาไม่พอใจมาเรียน้องสาวของเธอและขอพระเยซูให้แนะนำแก้ไขมาเรียโดยบอกว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ไม่สนพระทัยหรือที่น้องสาวปล่อยให้ข้าพเจ้าทำงานอยู่คนเดียว? ขอทรงบอกเธอให้มาช่วยข้าพเจ้าเถิด” (อ่านลูกา 10:38-42) ทำไมมาร์ทาพูดอย่างนั้นและเราเรียนอะไรได้จากคำตอบที่พระเยซูให้กับเธอ?
มาร์ทาไขว้เขว
3, 4. ทำไมพระเยซูชมเชยมาเรีย? มาร์ทาได้เรียนรู้อะไร? (ดูภาพแรก)
3 พระเยซูดีใจที่มาร์ทาและมาเรียเชิญท่านมาที่บ้าน และท่านอยากใช้ช่วงเวลานั้นเพื่อสอนความจริงที่มีค่าให้พวกเธอ มาเรียนั่งใกล้ ๆ พระเยซูแล้ว “ตั้งใจฟัง” ท่านสอน เธออยากรู้ทุกสิ่งจากครูผู้ยิ่งใหญ่ให้มากที่สุด ที่จริง มาร์ทาจะเลือกฟังพระเยซูสอนเหมือนมาเรียก็ได้ และพระเยซูคงจะชมเชยเธอด้วยซ้ำที่หยุดจากสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่เพื่อมาฟังท่าน
4 แต่มาร์ทาไขว้เขวเพราะเธอมัวยุ่งอยู่กับการเตรียมอาหารมื้อพิเศษให้พระเยซู มาร์ทาทำหลายอย่างเพื่อให้พระเยซูได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด และพอเห็นมาเรียไม่ช่วยอะไร เธอก็โมโหและบ่นกับพระเยซู พระเยซูรู้ว่ามาร์ทาทำมากเกินไป จึงพูดกับเธอดี ๆ ว่า “มาร์ทา มาร์ทา เจ้ากังวลและพะวงอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง” ท่านยังแนะนำด้วยว่าอาหารง่าย ๆ ไม่กี่อย่างหรือแค่อย่างเดียวก็พอ จากนั้น พระเยซูก็ชมมาเรียที่ตั้งใจฟังท่านโดยบอกว่า “มาเรียนั้นเลือกเอาส่วนดีและจะไม่มีใครเอาส่วนนี้ไปจากเธอได้” ที่จริง มาเรียอาจลืมว่าเธอได้กินอาหารอะไรในมื้อนั้น แต่เธอคงไม่ลืมสิ่งที่ได้เรียนจากพระเยซูและวิธีที่ท่านชมเชยเธอ ซึ่ง 60 ปีต่อมาอัครสาวกโยฮันเขียนว่า “พระเยซูทรงรักมาร์ทากับน้องสาว” (โย. 11:5) คำพูดนี้ทำให้เรารู้ว่ามาร์ทายอมรับการแนะนำแก้ไขด้วยความรักของพระเยซู และรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ตลอดชีวิตของเธอ
5. ในทุกวันนี้ ทำไมยากมากที่จะจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญกว่าเสมอ? คำถามอะไรที่เราจะได้รับคำตอบ?
5 เราเห็นว่าทุกวันนี้มีสิ่งที่ทำให้เราไขว้เขวไปจากการรับใช้พระยะโฮวามากกว่าที่เคยมีในสมัยคัมภีร์ไบเบิล วารสารหอสังเกตการณ์ 15 กันยายน ปี 1958 เตือนพี่น้องว่าอย่าให้เทคโนโลยีมาทำให้เราไขว้เขวไปจากการรับใช้พระยะโฮวา ถึงแม้ในตอนนั้นดูเหมือนว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ ให้ผู้คนสนใจทุกวัน อย่างเช่น นิตยสาร วิทยุ หนัง และทีวี วารสารหอสังเกตการณ์ บอกว่า ยิ่งเราเข้าใกล้อวสานของยุคนี้มากขึ้น ก็ยิ่งมี “สิ่งที่ทำให้ไขว้เขวเพิ่มมากขึ้น” ทุกวันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราไขว้เขวมากกว่าเมื่อก่อน แต่เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นเหมือนมาเรียมากขึ้นและจดจ่ออยู่กับการนมัสการพระยะโฮวาเสมอ?
อย่าใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่
6. ประชาชนของพระยะโฮวาใช้เทคโนโลยีของโลกนี้อย่างไร?
6 ประชาชนของพระยะโฮวาใช้เทคโนโลยีของโลกนี้ในการประกาศข่าวดี เช่น ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพวกเขาฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” โดยใช้ภาพสไลด์และหนังสั้นที่เป็นสีและเสียง พวกเขาประกาศกับผู้คนหลายล้านคนในหลายประเทศ ตอนท้ายของ “ภาพยนตร์” ได้พูดถึงช่วงแห่งสันติสุขเมื่อพระเยซูคริสต์ปกครองโลก ต่อมาประชาชนของพระยะโฮวาได้ใช้วิทยุเพื่อกระจายข่าวสารราชอาณาจักรไปถึงผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ทุกวันนี้ เราใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงผู้คนทุกที่ ถึงแม้บางคนจะอยู่ในที่ห่างไกล
7. (ก) ทำไมจึงเป็นอันตรายที่เราจะใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่? (ข) เราควรระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษ? (ดูเชิงอรรถ)
7 คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่าอย่าใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่ นี่รวมถึงการใช้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่โลกเสนอให้ (อ่าน 1 โครินท์ 7:29-31) สิ่งเหล่านี้บางอย่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ทำให้เสียเวลามาก เช่น เราอาจชอบงานอดิเรก อ่านหนังสือ ดูทีวี ไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ซื้อของ และหาข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นล่าสุดหรือสินค้าฟุ่มเฟือย หลายคนชอบพูดคุยผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งข้อความ และอีเมล หรือคอยเช็คข่าวหรือผลกีฬาอยู่ตลอดเวลา บางคนถึงกับติดสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำa (ผู้ป. 3:1, 6) ถ้าเราใช้เวลามากกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เราอาจไม่มีเวลาพอที่จะเอาใจใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ การนมัสการพระยะโฮวา—อ่านเอเฟโซส์ 5:15-17
8. ทำไมเราต้องไม่รักสิ่งต่าง ๆ ในโลก?
8 ซาตานทำทุกสิ่งที่มันทำได้เพื่อดึงดูดเราให้สนใจสิ่งต่าง ๆ ในโลกและเพื่อให้เราไขว้เขวไปจากการรับใช้พระยะโฮวา ซาตานเคยทำอย่างนั้นในศตวรรษแรก และมันทำมากกว่านั้นอีกในปัจจุบันนี้ (2 ติโม. 4:10) ดังนั้น เราควรตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่า เรารู้สึกอย่างไรต่อสิ่งต่าง ๆ ในโลกและทำการปรับเปลี่ยนเมื่อเห็นว่าจำเป็น คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า เราต้องไม่รักสิ่งต่าง ๆ ในโลก แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องพยายามรักพระยะโฮวามากขึ้น ถ้าเราทำอย่างนั้น เราจะเชื่อฟังพระยะโฮวาง่ายขึ้นและจะใกล้ชิดกับพระองค์เสมอ—1 โย. 2:15-17
จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญที่สุด
9. พระเยซูสอนสาวกของท่านให้จดจ่ออยู่กับอะไร? ตัวท่านเองวางตัวอย่างไว้อย่างไร?
9 พระเยซูสอนมาร์ทาไม่ให้ไขว้เขวไปกับหลายสิ่งหลายอย่าง และท่านก็สอนสาวกคนอื่น ๆ ของท่านในเรื่องเดียวกันด้วย ท่านสนับสนุนพวกเขาให้จดจ่อกับการรับใช้พระยะโฮวาและการปกครองของพระองค์ (อ่านมัดธาย 6:22, 33) ตัวพระเยซูเองก็วางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมไว้ด้วย ท่านไม่มีสิ่งของอะไรมาก ท่านไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตัวเองเลย—ลูกา 9:58; 19:33-35
10. พระเยซูวางตัวอย่างที่ดีอะไรกับเรา?
10 พระเยซูไม่ยอมให้อะไรมาทำให้ท่านไขว้เขวไปจากงานประกาศ เช่น หลังจากที่ท่านเริ่มงานประกาศได้ไม่นาน ฝูงชนจากเมืองคาเปอร์นาอุมอยากให้พระเยซูอยู่ในเมืองกับพวกเขาต่อไป แต่พระเยซูทำอย่างไร? ท่านจดจ่อกับงานมอบหมายของท่านโดยบอกว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่น ๆ ด้วย เพราะเราถูกส่งมาเพื่อการนี้” (ลูกา 4:42-44) พระเยซูเดินไกลมากเพื่อไปประกาศข่าวดีและสอนผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ท่านจะเป็นคนสมบูรณ์แบบ แต่บางครั้งท่านก็เหนื่อย และต้องพักผ่อนด้วยเพราะท่านทำงานหนักมาก—ลูกา 8:23; โย. 4:6
11. พระเยซูทำอะไรตอนที่ผู้ชายคนหนึ่งมาขอให้ท่านแก้ปัญหาส่วนตัวของเขา? พระเยซูสอนบทเรียนอะไรให้พวกสาวก?
11 ต่อมา ตอนที่พระเยซูกำลังสอนบทเรียนสำคัญกับพวกสาวก ผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาขัดจังหวะและพูดว่า “อาจารย์เจ้าข้า ขอทรงบอกพี่ชายของข้าพเจ้าให้แบ่งมรดกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด” พระเยซูไม่ได้พยายามแก้ปัญหาส่วนตัวของผู้ชายคนนั้น ท่านไม่ยอมให้อะไรมาทำให้ไขว้เขวไปจากการสอนสาวกของท่าน ที่จริง ท่านใช้โอกาสนี้สอนพวกเขาว่าถ้าพวกเขาหมกมุ่นกับการมีสิ่งของมากขึ้น พวกเขาก็จะไขว้เขวไปจากการรับใช้พระเจ้า—ลูกา 12:13-15
12, 13. (ก) พระเยซูทำอะไรที่ทำให้ชาวกรีกในกรุงเยรูซาเลมประทับใจ? (ข) พระเยซูทำอย่างไรเมื่อฟิลิปบอกว่าชาวกรีกอยากพบท่าน?
12 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่พระเยซูเป็นมนุษย์ ท่านเครียดมาก (มัด. 26:38; โย. 12:27) ท่านรู้ว่ากำลังจะเจอกับความทุกข์ทรมานจนตาย ท่านรู้ด้วยว่ายังมีงานอีกมากที่จะต้องทำก่อนตาย เช่น ในวันอาทิตย์ที่ 9 เดือนไนซาน พระเยซูขี่ลาเข้าไปในกรุงเยรูซาเลม ฝูงชนมาต้อนรับท่านเหมือนเป็นกษัตริย์ของพวกเขา (ลูกา 19:38) วันต่อมา พระเยซูไล่คนโลภออกจากวิหารอย่างกล้าหาญ เพราะพวกเขาขายของราคาแพงมากจนเหมือนกับเป็นการปล้นประชาชน—ลูกา 19:45, 46
13 ชาวกรีกบางคนที่มาฉลองปัศคาในกรุงเยรูซาเลมเห็นพระเยซูทำอย่างนั้น พวกเขาจึงรู้สึกประทับใจ พวกเขาขออัครสาวกฟิลิปว่าจะพบพระเยซู แต่พระเยซูไม่ได้พยายามสร้างความนิยมเพื่อจะมีคนมาสนับสนุนและปกป้องท่านจากศัตรู ท่านรู้ว่าอะไรสำคัญมากที่สุด ท่านจึงจดจ่อกับสิ่งที่พระยะโฮวาต้องการให้ท่านทำต่อ ๆ ไป นั่นคือการสละชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่ ท่านบอกพวกสาวกว่าอีกไม่นานท่านจะตายและทุกคนที่ติดตามท่านจะต้องเต็มใจสละชีวิตด้วย ท่านพูดว่า “ผู้ที่รักชีวิตจะทำให้ตัวเองเสียชีวิต และผู้ที่ชังชีวิตในโลกนี้จะรักษาชีวิตไว้และมีชีวิตนิรันดร์” และพระเยซูสัญญาว่า “พระบิดาจะให้เกียรติ” ผู้ที่ติดตามท่านและให้ชีวิตตลอดไปกับพวกเขา ฟิลิปคงบอกข่าวสารที่ให้กำลังใจนี้กับชาวกรีก—โย. 12:20-26
14. ถึงแม้พระเยซูถือว่างานประกาศสำคัญที่สุดในชีวิต แต่ท่านทำอะไรด้วย?
14 ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก การประกาศข่าวดีเป็นงานหลักของท่าน ถึงแม้พระเยซูจะจดจ่ออยู่กับการประกาศข่าวดี แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจแค่เรื่องงาน ท่านทำอย่างอื่นด้วย เช่น ท่านไปร่วมงานแต่งงานอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งที่นั่นท่านได้เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นอย่างดี (โย. 2:2, 6-10) ท่านยังไปกินข้าวที่บ้านเพื่อนและคนอื่น ๆ ที่สนใจข่าวดีด้วย (ลูกา 5:29; โย. 12:2) อีกสิ่งหนึ่งที่พระเยซูมองว่าสำคัญด้วยก็คือการจัดเวลาไว้เสมอเพื่ออธิษฐาน คิดใคร่ครวญ และพักผ่อน—มัด. 14:23; มโก. 1:35; 6:31, 32
“ปลดของหนักทุกอย่าง”
15. เปาโลบอกว่าคริสเตียนต้องทำอะไร และเขาวางตัวอย่างที่ดีไว้อย่างไร?
15 อัครสาวกเปาโลบอกว่าคริสเตียนเป็นเหมือนนักวิ่งระยะไกล และเพื่อจะไปให้ถึงเส้นชัย เขาต้องทิ้งสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้เขาวิ่งช้าลงหรือหยุดวิ่ง (อ่านฮีบรู 12:1) เปาโลวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ถึงแม้เขามีโอกาสจะเป็นคนรวยและมีชื่อเสียงเหมือนผู้นำศาสนาชาวยิว แต่เขาก็ทิ้งโอกาสนั้นไปเพื่อจะจดจ่อกับ ‘สิ่งที่สำคัญกว่า’ เขาขยันประกาศและเดินทางไปหลายดินแดน รวมทั้งซีเรีย เอเชียไมเนอร์ มาซิโดเนีย และยูเดียด้วย เปาโลมองไปที่รางวัล คือชีวิตตลอดไปในสวรรค์ เขาบอกว่า “ข้าพเจ้ากำลังลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลังและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ข้าพเจ้ากำลังมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อจะได้รางวัล” (ฟิลิป. 1:10; 3:8, 13, 14) เปาโลไม่ได้แต่งงานและนั่นจึงช่วยเขาให้ “รับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอโดยไม่วอกแวก”—1 โค. 7:32-35
16, 17. เราจะเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลได้อย่างไรไม่ว่าเราจะแต่งงานแล้วหรือไม่? มาร์กกับแคลร์เลียนแบบตัวอย่างของเปาโลอย่างไร?
16 ผู้รับใช้บางคนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็เลือกที่จะไม่แต่งงานเหมือนเปาโล เพื่อจะมีเวลารับใช้พระยะโฮวามากขึ้น (มัด. 19:11, 12) คนที่ไม่แต่งงานมักจะมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวน้อยกว่าคนที่แต่งงานแล้ว แต่ไม่ว่าเราจะแต่งงานแล้วหรือไม่ เราทุกคนสามารถ “ปลดของหนักทุกอย่าง” ที่ทำให้เราไขว้เขวไปจากการรับใช้พระยะโฮวา เราอาจต้องเปลี่ยนนิสัยบางอย่างเพื่อจะไม่ให้เวลาเสียไปเปล่า ๆ และเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวามากขึ้นได้
17 ตัวอย่างเช่น มาร์กกับแคลร์ ซึ่งเติบโตมาในประเทศเวลส์ ทั้งสองคนเริ่มเป็นไพโอเนียร์หลังจากเรียนจบ พอแต่งงานแล้วพวกเขาก็ยังเป็นไพโอเนียร์ต่อไป แต่พวกเขาอยากทำมากกว่านั้น มาร์กบอกว่า “เราทำให้ชีวิตเรียบง่ายโดยขายบ้านที่มี 3 ห้องนอนและออกจากงานพาร์ทไทม์ เพื่อเราจะเข้าร่วมโครงการก่อสร้างนานาชาติได้” เป็นเวลาถึง 20 ปีที่พวกเขาเดินทางไปหลายส่วนของแอฟริกาเพื่อช่วยก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร บางครั้งพวกเขามีเงินน้อยมาก แต่พระยะโฮวาก็ดูแลพวกเขาเสมอ แคลร์บอกว่า “การที่เราได้รับใช้พระยะโฮวาแบบนี้ทุกวันทำให้เรามีความสุขมาก เรามีเพื่อนมากมายไม่ว่าเราจะไปที่ไหน และเราไม่ขาดอะไรเลย สิ่งที่เราทิ้งไปถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความสุขที่ได้รับจากการรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา” ที่จริง ผู้รับใช้เต็มเวลาหลายคนก็รู้สึกคล้ายกันb
18. คำถามอะไรที่เราควรถามตัวเอง?
18 คุณคิดว่าคุณจะรับใช้พระยะโฮวาอย่างกระตือรือร้นมากขึ้นได้ไหม? มีอะไรที่ทำให้คุณไขว้เขวไปจากสิ่งที่สำคัญมากกว่าไหม? ถ้าอย่างนั้น ขอให้คุณปรับปรุงวิธีอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ในบทความถัดไปจะอธิบายวิธีที่คุณจะทำอย่างนั้นได้
a ดูบทความ “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ”
b ดูเรื่องราวชีวิตจริงของเฮเดนและเมโลดี แซนเดอร์สันในบทความที่ชื่อ “รู้ว่าอะไรถูกต้อง แล้วทำสิ่งนั้น” (วารสารหอสังเกตการณ์ 1 มีนาคม 2006) ธุรกิจของพวกเขาในออสเตรเลียกำลังไปได้ดี แต่พวกเขาเลิกกิจการเพื่อรับใช้เต็มเวลา ลองอ่านดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหลังจากที่เงินหมดตอนที่รับใช้เป็นมิชชันนารีในอินเดีย