บทเรียนจากการอัศจรรย์ของพระเยซู
“บัดนี้ในวันที่สามมีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาแคว้นฆาลิลาย . . . พระเยซูและพวกสาวกของพระองค์ก็ได้รับเชิญไปยังงานสมรสนั้นด้วย. ครั้นเหล้าองุ่นจวนจะหมด มารดาของพระเยซูพูดกับพระองค์ว่า ‘เขาไม่มีเหล้าองุ่น.’” เรื่องนี้แหละทำให้มีสภาพการณ์สำหรับการอัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซู.—โยฮัน 2:1-3, ล.ม.
ปัญหาเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่สำคัญและเล็กน้อยเกินจะนำมาให้พระเยซูใส่ใจมิใช่หรือ? ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งชี้แจงว่า “ในทางตะวันออก การต้อนรับแขกเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่ง . . . การต้อนรับแขกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ ณ งานเลี้ยงสมรส จำต้องมีอาหารและเครื่องดื่มอย่างเหลือเฟือ. ถ้าอาหารและเครื่องดื่มในงานสมรสขาดไปละก็ ครอบครัวนั้นและคู่สมรสหนุ่มสาวจะไม่อาจลบเลือนความอับอายครั้งนั้นได้เลย.”
ดังนั้น พระเยซูจึงทรงลงมือดำเนินการ. พระองค์สังเกตเห็น “มีโอ่งหินตั้งอยู่ที่นั่นหกใบตามกฎการชำระของพวกยิว.” ข้อกำหนดให้ทำพิธีชำระตัวก่อนรับประทานอาหารได้เป็นธรรมเนียมท่ามกลางชาวยิว และจึงต้องใช้น้ำปริมาณมากเพื่อสนองความต้องการของผู้มาร่วมงาน. พระเยซูตรัสสั่งคนที่บริการแขกเหรื่อว่า “จงตักน้ำใส่ทุกโอ่งให้เต็มเถิด.” พระเยซูไม่ใช่ “ผู้จัดงานเลี้ยง” แต่พระองค์ตรัสสั่งโดยตรงและอย่างผู้มีอำนาจ. เรื่องราวบอกต่อไปว่า “ครั้นผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำ [น้ำนั้นได้] กลายเป็นเหล้าองุ่นแล้ว.”—โยฮัน 2:6-9, ล.ม.; มาระโก 7:3.
อาจดูแปลกที่เรื่องธรรมดา ๆ อย่างงานสมรสจะเป็นฉากสำหรับการอัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซู แต่เหตุการณ์นั้นเปิดเผยเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับพระเยซู. พระองค์ทรงเป็นชายโสด และในโอกาสต่อมา พระองค์ทรงชี้แจงผลประโยชน์ของการเป็นโสดกับเหล่าสาวกของพระองค์. (มัดธาย 19:12) อย่างไรก็ตาม การที่พระองค์อยู่ที่งานเลี้ยงสมรสเผยให้เห็นว่า พระองค์ไม่ได้ต่อต้านการสมรสอย่างแน่นอน. พระองค์ทรงสมดุล ทรงสนับสนุนการจัดเตรียมเรื่องการสมรส พระองค์ทรงมองดูการสมรสว่าเป็นสิ่งมีเกียรติในสายพระเนตรของพระเจ้า.—เทียบกับเฮ็บราย 13:4.
พระเยซูไม่ใช่ผู้ถือสันโดษที่เคร่งขรึมอย่างที่พวกจิตรกรของคริสตจักรวาดภาพให้เป็นเช่นนั้นในเวลาต่อมา. ปรากฏชัดว่าพระองค์ทรงพอพระทัยการอยู่ร่วมกับผู้คนและไม่คัดค้านการคบค้าสมาคมกัน. (เทียบกับลูกา 5:29.) ดังนั้น การกระทำของพระองค์จึงวางตัวอย่างแก่เหล่าสาวก. พระเยซูเองทรงแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องเคร่งขรึมหรือระทมทุกข์—ราวกับว่าความชอบธรรมหมายถึงการไร้ความยินดี. ตรงกันข้าม ต่อมาคริสเตียนได้รับพระบัญชาให้ “ชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าเสมอ.” (ฟิลิปปอย 4:4, ล.ม.) คริสเตียนในทุกวันนี้ระวังรักษาให้นันทนาการอยู่ในขอบเขตเหมาะสม. พวกเขาประสบความยินดีในงานรับใช้พระเจ้า แต่โดยทำตามแบบอย่างของพระเยซู พวกเขาหาเวลาเป็นครั้งคราวเพื่อชื่นชมกับการคบหาโดยจัดการสังสรรค์กัน.
อนึ่ง ขอสังเกตอารมณ์อันอ่อนโยนของพระเยซู. พระองค์ไม่มีพันธะจะต้องทำการอัศจรรย์. ไม่มีคำพยากรณ์ใดที่จะต้องสำเร็จเป็นจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้. พระเยซูเพียงถูกกระตุ้นด้วยความห่วงใยของมารดาและสภาพอับจนของเจ้าบ่าวเจ้าสาว. พระองค์ทรงห่วงใยความรู้สึกของพวกเขาและอยากจะช่วยพวกเขาไม่ให้อับอาย. เรื่องนี้น่าจะสร้างความมั่นใจแก่คุณไม่ใช่หรือว่า พระคริสต์ทรงสนพระทัยในคุณจริง ๆ—แม้กระทั่งในปัญหาธรรมดา ๆ?—เทียบกับเฮ็บราย 4:14-16.
เนื่องจากโอ่งแต่ละใบ ‘จุน้ำได้สองสามถัง’ การอัศจรรย์ของพระเยซูจึงเกี่ยวพันกับเหล้าองุ่นปริมาณมาก—อาจถึง 390 ลิตรทีเดียว! (โยฮัน 2:6) ทำไมต้องมากขนาดนั้น? พระเยซูไม่ได้สนับสนุนการเมาเหล้าซึ่งพระเจ้าทรงตำหนิ. (เอเฟโซ 5:18) ตรงกันข้าม พระองค์ทรงสำแดงความมีพระทัยกว้างเยี่ยงพระเจ้า. เนื่องจากเหล้าองุ่นเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มกันทั่วไป ส่วนที่เหลือจึงอาจใช้ในโอกาสอื่น ๆ ได้.—เทียบกับมัดธาย 14:14-20; 15:32-37.
คริสเตียนยุคแรกเลียนแบบความมีพระทัยกว้างของพระเยซู. (เทียบกับกิจการ 4:34, 35.) และไพร่พลของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็ได้รับการสนับสนุนให้ “แจกปัน” เช่นกัน. (ลูกา 6:38) อย่างไรก็ตาม การอัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซูมีความหมายเชิงพยากรณ์ด้วย. การอัศจรรย์นั้นนำความสนใจสู่สมัยอนาคตเมื่อพระเจ้าจะทรงจัดเตรียมด้วยพระทัยกว้างให้มี “อาหารอันปรุงขึ้นด้วยมันสัตว์ ด้วยเหล้าองุ่นอย่างดีที่นอนก้นแล้ว” และจะทรงกำจัดความหิวโหยทั้งสิ้น.—ยะซายา 25:6.
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการอัศจรรย์หลายประการที่พระเยซูทรงทำซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคทางกาย? เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการอัศจรรย์เหล่านั้น?
การทำดีในวันซะบาโต
“จงลุกขึ้นยกที่นอนของตัวเดินไปเถิด.” พระเยซูตรัสถ้อยคำนี้กับชายคนหนึ่งที่ป่วยมาเป็นเวลา 38 ปี. เรื่องราวในกิตติคุณบอกต่อไปดังนี้: “ในทันใดนั้นคนนั้นก็หายโรคเป็นปกติ จึงยกที่นอนของตนเดินไป.” แต่น่าประหลาด ไม่ใช่ทุกคนรู้สึกยินดีเนื่องด้วยสภาพที่เปลี่ยนไปนี้. เรื่องมีบอกว่า “พวกยูดายจึงข่มเหงพระเยซูเพราะพระองค์ทรงกระทำการนั้นในวันซะบาโต.”—โยฮัน 5:1-9, 16.
วันซะบาโตถูกกำหนดไว้เพื่อเป็นวันพักผ่อนและชื่นชมยินดีสำหรับทุกคน. (เอ็กโซโด 20:8-11) แต่ในสมัยพระเยซู วันซะบาโตกลายเป็นกฎเกณฑ์ยุ่งยากหนักอึ้งที่มนุษย์ตั้งขึ้น. ผู้คงแก่เรียนชื่ออัลเฟรด เอเดอไชม์ เขียนว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายวันซะบาโตอันยาวเหยียดในทัลมุดนั้น “มีการพิจารณาอย่างจริงจังว่ามีความสำคัญยิ่งทางศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่คนเราแทบนึกภาพไม่ออกว่าคนที่มีเชาวน์ปัญญาหลักแหลมจะพิจารณาอย่างจริงจัง.” (ชีวิตและยุคของเยซูมาซีฮา, ภาษาอังกฤษ) พวกอาจารย์ศาสนายิวได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่กฎเกณฑ์หยุมหยิมตามอำเภอใจซึ่งควบคุมชีวิตชาวยิวเกือบทุกแง่มุม—บ่อยครั้งด้วยความเลือดเย็นไม่คำนึงถึงความรู้สึกของมนุษย์. กฎวันซะบาโตข้อหนึ่งสั่งว่า “หากอาคารพังทับคนหนึ่งและมีข้อสงสัยว่าเขาอยู่ที่นั่นหรือไม่, หรือเขามีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว, หรือเขาเป็นคนต่างชาติหรือชาวยิศราเอล พวกเขาอาจยกซากอาคารออกจากคนนั้น. หากพวกเขาพบว่าคนนั้นยังมีชีวิต พวกเขาก็อาจยกซากอาคารออกอีก; แต่ถ้า [เขา] ตายแล้ว พวกเขาจะละคนนั้นไว้.”—บทโยมา 8:7, มิชนาฮ์, แปลโดยเฮอร์เบิร์ต แดนบี.
พระเยซูทรงมองดูการเคร่งครัดในกฎหยุมหยิมนั้นอย่างไร? เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์การรักษาโรคในวันซะบาโต พระองค์ตรัสดังนี้: “พระบิดาของเราก็ยังทรงกระทำการอยู่จนถึงบัดนี้ และเราก็กระทำด้วย.” (โยฮัน 5:17) พระเยซูไม่ได้ทำงานอาชีพเพื่อทำให้พระองค์เองมั่งคั่ง. แต่พระองค์ทรงทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เช่นเดียวกับที่พวกเลวีได้รับอนุญาตให้ทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของตนในวันซะบาโต พระเยซูสามารถปฏิบัติหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงมอบหมายให้พระองค์ทำในฐานะมาซีฮาได้โดยไม่ละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า.—มัดธาย 12:5.
นอกจากนั้น การรักษาโรคที่พระเยซูทรงทำในวันซะบาโตยังเปิดโปงพวกอาลักษณ์และพวกฟาริซายชาวยิวว่าเป็นคน ‘ชอบธรรมเกินไป’—มีแนวความคิดที่เข้มงวดและไม่สมดุล. (ท่านผู้ประกาศ 7:16) แน่นอน ไม่ใช่พระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่การดีถูกจำกัดไว้แค่บางวันในสัปดาห์ และพระเจ้าก็ไม่ได้ทรงประสงค์ให้วันซะบาโตเป็นขั้นตอนทางกฎหมายที่ไร้ประโยชน์. พระเยซูตรัสไว้ที่มาระโก 2:27 ดังนี้: “วันซะบาโตนั้นตั้งไว้สำหรับมนุษย์ มิใช่ตั้งมนุษย์ไว้สำหรับวันซะบาโต.” พระเยซูทรงรักผู้คน ไม่ใช่กฎเกณฑ์ตามอำเภอใจ.
ดังนั้น จึงเป็นการดีที่คริสเตียนทุกวันนี้จะไม่มีแนวคิดที่เข้มงวดหรือเน้นเรื่องกฎเกินไป. คนที่มีอำนาจในประชาคมจะยับยั้งไม่วางภาระหนักบนคนอื่น ๆ ด้วยกฎเกณฑ์และนโยบายมากเกินไปที่มนุษย์ตั้งขึ้น. นอกจากนี้ ตัวอย่างของพระเยซูสนับสนุนเราให้หาโอกาสทำการดี. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนไม่ควรหาเหตุผลว่า เขาจะบอกความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลเฉพาะเมื่อเขาร่วมในการประกาศตามบ้านหรือเมื่อเขาให้คำบรรยายสาธารณะเท่านั้น. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า คริสเตียนควร “พร้อมเสมอ ที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) การทำดีย่อมไม่จำกัดเวลา.
บทเรียนในเรื่องความเมตตารักใคร่
การอัศจรรย์อันโดดเด่นอีกประการหนึ่งมีบันทึกไว้ที่ลูกา 7:11-17 (ล.ม.). ตามบันทึกเรื่องนั้น พระเยซู “เสด็จเข้าไปในเมืองหนึ่งชื่อนาอิน เหล่าสาวกของพระองค์กับคนเป็นอันมากก็ตามพระองค์ไป.” จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังมองเห็นสุสานได้ทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านเนอินของชาวอาหรับ. “เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ประตูเมืองนั้น” พระองค์พบฉากเหตุการณ์ที่มีเสียงดังวุ่นวาย. “นี่แน่ะ! มีคนหามศพชายคนหนึ่งออกมา เป็นบุตรคนเดียวของมารดา. นอกจากนั้น นางเป็นม่าย. ชาวเมืองไม่น้อยมากับหญิงนั้น.” เอช. บี. ทริสตรัม ให้ข้อสังเกตว่า ตั้งแต่สมัยโบราณ “วิธีจัดงานศพไม่ได้เปลี่ยน” และเสริมว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นพวกผู้หญิงเดินนำหน้าแคร่หามศพ นำโดยพวกผู้หญิงที่รับจ้างร้องไห้แสดงความโศกเศร้า. ผู้หญิงเหล่านั้นเหวี่ยงแขนของตน, ทึ้งผมเผ้า, แสดงท่าทางโศกเศร้าอย่างไม่ยับยั้งให้มากที่สุด, และกรีดร้องเรียกชื่อของผู้ตาย.”—ประเพณีทางตะวันออกในดินแดนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ).
ท่ามกลางเสียงดังวุ่นวายนั้นมีหญิงม่ายเดินอยู่ซึ่งคงต้องมีสีหน้าแสดงความปวดร้าวสุดแสน. ด้วยสูญเสียสามีไปแล้ว ตามถ้อยคำของเฮอร์เบิร์ต ล็อกเยอร์ ผู้เขียน เธอจึงถือว่าบุตรชายเป็นเหมือน “ผู้เกื้อกูลเธอในวัยชรา, และผู้ปลอบโยนให้คลายเหงา—เป็นผู้ค้ำจุนและเป็นเสาหลักของครอบครัว. ด้วยการสูญเสียบุตรชายคนเดียวของเธอ ผู้เกื้อกูลคนสุดท้ายที่เหลืออยู่จึงถูกพรากไป.” (การอัศจรรย์ทั้งปวงในคัมภีร์ไบเบิล, ภาษาอังกฤษ) พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาเช่นไร? ถ้อยคำเปี่ยมความหมายของลูกาบอกว่า “เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาง พระองค์ทรงตื้นตันใจด้วยความสงสารนาง และพระองค์ตรัสกับนางว่า ‘หยุดร้องไห้เถิด.’” คำกล่าวที่ว่า “ตื้นตันใจด้วยความสงสาร” มาจากคำภาษากรีกที่หมายความตามตัวอักษรว่า “ลำไส้.” คำนั้นหมายความว่า “ถูกกระตุ้นจากความรู้สึกลึกซึ้งภายใน.” (พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ของไวน์ส, ภาษาอังกฤษ) ถูกแล้ว พระเยซูทรงถูกกระตุ้นจากความรู้สึกในส่วนลึกของพระองค์เอง.
มารดาของพระเยซูเองก็คงเป็นม่ายในเวลานั้น ดังนั้น พระองค์คงทราบถึงความปวดร้าวจากการสูญเสียเมื่อเธอสูญเสียโยเซฟบิดาเลี้ยงของพระองค์. (เทียบกับโยฮัน 19:25-27.) หญิงม่ายไม่จำเป็นต้องวิงวอนพระเยซู. โดยความริเริ่มของพระองค์เอง. “พระองค์จึงเสด็จเข้าไปใกล้และแตะ แคร่หามศพ” แม้ว่าตามความจริงแล้ว ภายใต้พระบัญญัติของโมเซนั้นการถูกต้องศพทำให้คนเราเป็นมลทิน. (อาฤธโม 19:11) แต่โดยฤทธิ์มหัศจรรย์ของพระองค์ พระเยซูทรงสามารถขจัดมูลเหตุแห่งมลทินได้! “พระองค์ตรัสว่า ‘ชายหนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้า ลุกขึ้นเถิด.’ และคนตายนั้นก็ลุกขึ้นนั่งและเริ่มพูด และพระองค์ทรงมอบเขาให้มารดาของเขา.”
ช่างเป็นบทเรียนที่กระตุ้นใจจริง ๆ ในเรื่องความเมตตา! คริสเตียนต้องไม่เลียนเจตคติที่เย็นชา ปราศจากความรัก ซึ่งเห็นได้ชัดในระหว่าง “สมัยสุดท้าย” นี้. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ตรงกันข้าม 1 เปโตร 3:8 (ล.ม.) กระตุ้นเตือนว่า “ในที่สุด ท่านทั้งหลายทุกคน จงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจ มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน.” เมื่อคนที่เรารู้จักคุ้นเคยประสบความตายหรือป่วยหนัก เราไม่อาจทำการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายหรือรักษาคนป่วยนั้นได้. แต่เราสามารถเสนอความช่วยเหลือและการปลอบโยนได้ บางทีเพียงแต่โดยการอยู่ด้วยและร้องไห้ด้วยกันกับเขา.—โรม 12:15.
อนึ่ง การปลุกให้เป็นขึ้นจากตายอันน่าทึ่งที่พระเยซูทรงทำนี้ยังชี้ถึงอนาคตด้วย คือเวลา “เมื่อบรรดาคนที่อยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยินสำเนียงของพระองค์ และจะได้เป็นขึ้นมา”! (โยฮัน 5:28, 29) ทั่วแผ่นดินโลก ผู้ที่สูญเสียผู้เป็นที่รักจะประสบพระเมตตารักใคร่ของพระองค์ด้วยตนเองเมื่อมารดา, บิดา, บุตร, และเพื่อน ๆ ที่จากไปนั้นกลับคืนมาจากความตาย!
บทเรียนจากการอัศจรรย์
ฉะนั้น ปรากฏชัดว่า การอัศจรรย์ของพระเยซูเป็นยิ่งกว่าการแสดงอันน่าตื่นเต้นถึงฤทธิ์อำนาจ. การอัศจรรย์เหล่านั้นถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า วางแบบอย่างสำหรับคริสเตียนซึ่งได้รับการกระตุ้นให้ ‘ถวายเกียรติแด่พระเจ้า.’ (โรม 15:6) การอัศจรรย์เหล่านั้นสนับสนุนการทำการดี, การแสดงความใจกว้าง, การแสดงความเมตตารักใคร่. สำคัญยิ่งกว่านั้น การอัศจรรย์เหล่านั้นช่วยให้เห็นล่วงหน้าถึงการงานอันทรงฤทธิ์ซึ่งพระคริสต์จะทำในระหว่างรัชสมัยพันปีของพระองค์.
ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงทำการงานอันทรงฤทธิ์ของพระองค์บริเวณเล็ก ๆ ทางภูมิศาสตร์เท่านั้น. (มัดธาย 15:24) ในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงสง่าราศี ขอบเขตอำนาจของพระองค์จะแผ่ไปทั่วโลก! (บทเพลงสรรเสริญ 72:8) ย้อนไปในสมัยโน้น คนที่ได้รับการรักษาโรคและการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายโดยการอัศจรรย์จากพระองค์นั้นในที่สุดก็ตายไป. ภายใต้การเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ของพระองค์ บาปและความตายจะถูกกำจัดออกไปจนสิ้น ทำให้เป็นไปได้ที่จะมีชีวิตนิรันดร. (โรม 6:23; วิวรณ์ 21:3, 4) ใช่แล้ว การอัศจรรย์ของพระเยซูชี้ทางสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์. พยานพระยะโฮวาได้ช่วยหลายล้านคนให้พัฒนาความหวังแท้ของการเป็นส่วนแห่งอนาคตนั้น. จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง ช่างเป็นการลิ้มรสล่วงหน้าอันเยี่ยมยอดจริง ๆ ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าซึ่งมีให้โดยการอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์!
[รูปภาพหน้า 7]
พระเยซูทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น