บท 17
“ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้”
1-4. (ก) เกิดอะไรขึ้นเมื่อปีลาตแนะนำตัวพระเยซูต่อฝูงชนที่โกรธแค้นซึ่งชุมนุมกันอยู่ข้างนอกทำเนียบของผู้สำเร็จราชการ? (ข) พระเยซูทรงตอบสนองอย่างไรต่อความอัปยศอดสูและความทุกข์ทรมาน และเกิดคำถามสำคัญอะไรขึ้น?
“ดูเถอะ! นี่แหละลูกผู้ชาย!” นี่เป็นถ้อยคำที่ปนเตียวปีลาตผู้สำเร็จราชการชาวโรมันได้แนะนำตัวพระเยซูคริสต์ต่อฝูงชนที่โกรธแค้นซึ่งชุมนุมกันอยู่ข้างนอกทำเนียบของผู้สำเร็จราชการในตอนรุ่งอรุณของวันปัศคาปี ส.ศ. 33. (โยฮัน 19:5, ล.ม.) เพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ฝูงชนได้โห่ร้องต้อนรับพระเยซูขณะที่พระองค์เสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเลมอย่างผู้มีชัยฐานะพระมหากษัตริย์ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง. อย่างไรก็ดี ในคืนนี้ ฝูงชนที่เป็นปรปักษ์มองพระองค์อย่างที่ต่างออกไปทีเดียว.
2 พระเยซูสวมเสื้อคลุมยาวสีม่วงแบบที่ผู้คนในราชวงศ์สวมใส่ และมีมงกุฎอยู่บนพระเศียร. แต่เสื้อคลุมที่พาดปิดหลังซึ่งถูกเฆี่ยนเป็นแนวเลือดไหลโซม และมงกุฎที่สานด้วยหนามซึ่งกดลงไปบนหนังพระเศียรจนเลือดซึมในตอนนั้นเป็นการเยาะเย้ยฐานะกษัตริย์ของพระองค์. ผู้คนที่ถูกพวกปุโรหิตใหญ่ยุยงได้ปฏิเสธบุรุษที่ถูกทุบตีซึ่งยืนอยู่ต่อหน้าพวกเขา. พวกปุโรหิตร้องตะโกนว่า “ตรึงเขาเสีย ตรึงเขาเสีย.” ด้วยใจที่มุ่งจะเข่นฆ่า ผู้คนร้องว่า “เขาควรจะตาย.”—โยฮัน 19:1-7, ฉบับแปลใหม่.
3 พระเยซูทรงอดทนความอัปยศอดสูและความทุกข์ทรมานด้วยความสง่าผ่าเผยและความกล้าหาญโดยไม่ปริปากบ่น.a พระองค์ทรงเตรียมพร้อมเต็มที่ที่จะสิ้นพระชนม์. ในช่วงท้ายของวันปัศคานั้น พระองค์เต็มพระทัยยอมสิ้นพระชนม์อย่างเจ็บปวดรวดร้าวบนหลักทรมาน.—โยฮัน 19:17, 18, 30.
4 โดยการสละชีวิตของพระองค์ พระเยซูพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นมิตรแท้สำหรับเหล่าสาวก. พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้ คือที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย.” (โยฮัน 15:13, ล.ม.) นี่ทำให้เกิดคำถามสำคัญบางอย่างขึ้นมา. จำเป็นจริง ๆ ไหมที่พระเยซูจะประสบความทุกข์ทรมานทั้งหมดนี้และต่อจากนั้นก็สิ้นพระชนม์? ทำไมพระองค์เต็มพระทัยที่จะทำเช่นนั้น? ในฐานะ “มิตรสหาย” และสาวกของพระองค์ เราจะเลียนแบบตัวอย่างของพระองค์ได้อย่างไร?
ทำไมพระเยซูต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์?
5. พระเยซูทรงทราบโดยวิธีใดว่ามีการทดลองอะไรบ้างที่รอพระองค์อยู่?
5 ในฐานะพระมาซีฮาตามคำสัญญา พระเยซูทรงทราบเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับพระองค์. พระองค์ทรงทราบคำพยากรณ์หลายข้อในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่บอกล่วงหน้าอย่างละเอียดถึงความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระมาซีฮา. (ยะซายา 53:3-7, 12; ดานิเอล 9:26) มากกว่าหนึ่งครั้งที่พระองค์เตรียมเหล่าสาวกไว้สำหรับการทดลองต่าง ๆ ที่รอพระองค์อยู่. (มาระโก 8:31; 9:31) ระหว่างเดินทางไปกรุงเยรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคาครั้งสุดท้าย พระองค์ตรัสอย่างชัดแจ้งแก่เหล่าอัครสาวกว่า “เขาจะมอบบุตรมนุษย์ไว้กับปุโรหิตใหญ่และพวกอาลักษณ์, และเขาจะปรับโทษท่านถึงตาย, และจะมอบท่านไว้กับคนต่างประเทศ คนต่างประเทศนั้นจะเยาะเย้ยท่าน, ถ่มน้ำลายรดท่าน, จะเฆี่ยนตีท่านและจะฆ่าท่านเสีย.” (มาระโก 10:33, 34) ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ. ดังที่เราได้เห็นแล้ว พระเยซูถูกเยาะเย้ย, ถูกถ่มน้ำลายรด, ถูกเฆี่ยนตี, และถูกประหารจริง ๆ.
6. ทำไมพระเยซูจำเป็นต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์?
6 แต่ทำไมพระเยซูจำเป็นต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์? มีเหตุผลที่สำคัญจริง ๆ อยู่หลายประการ. ประการแรก โดยรักษาความภักดี พระเยซูจะพิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงของพระองค์และสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. อย่าลืมว่าซาตานได้อ้างอย่างผิด ๆ ว่ามนุษย์รับใช้พระเจ้าเพียงเพราะผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว. (โยบ 2:1-5) โดยรักษาความซื่อสัตย์ “จนถึงความมรณา . . . บนหลักทรมาน” พระเยซูทรงให้คำตอบชัดแจ้งที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลของซาตาน. (ฟิลิปปอย 2:8, ล.ม.; สุภาษิต 27:11) ประการที่สอง พระมาซีฮาทนทุกข์ทรมานและสิ้นพระชนม์เพื่อจะไถ่บาปของคนอื่น. (ยะซายา 53:5, 10; ดานิเอล 9:24) พระเยซูทรงประทาน “ชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก” เปิดทางให้พวกเรามีสัมพันธภาพอันดีกับพระเจ้า. (มัดธาย 20:28) ประการที่สาม โดยอดทนความยากลำบากและความทุกข์ทรมานทุกรูปแบบ พระเยซู “ได้ผ่านการทดลองมาแล้วทุกประการเหมือนพวกเรา.” ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่เมตตาสงสาร ผู้ซึ่งสามารถ “เห็นอกเห็นใจในความอ่อนแอของเรา.”—เฮ็บราย 2:17, 18; 4:15, ล.ม.
ทำไมพระเยซูเต็มพระทัยจะสละชีวิตของพระองค์?
7. พระเยซูเสียสละมากขนาดไหนเมื่อพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก?
7 เพื่อจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่พระเยซูเต็มพระทัยทำ ขอให้คิดอย่างนี้: มีชายคนใดหรือจะทิ้งครอบครัวและบ้านของตัวเองไปแล้วย้ายไปต่างประเทศหากเขารู้ว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศนั้นจะปฏิเสธเขา และรู้ว่าเขาจะต้องได้รับความอัปยศอดสูรวมทั้งความทุกข์ทรมาน และในที่สุดเขาจะถูกฆ่า? ตอนนี้ขอพิจารณาสิ่งที่พระเยซูได้กระทำ. ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก พระองค์มีฐานะตำแหน่งที่ไม่มีใดเหมือนอยู่ในสวรรค์เคียงข้างพระบิดาของพระองค์. กระนั้น พระเยซูเต็มพระทัยเสด็จจากพระนิเวศของพระองค์ในสวรรค์มายังแผ่นดินโลกฐานะมนุษย์. พระองค์ทรงทำเช่นนี้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าคนส่วนใหญ่จะปฏิเสธพระองค์และพระองค์จะต้องประสบความอัปยศอดสูอย่างเหี้ยมโหด, ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส, และความตายอย่างเจ็บปวดรวดร้าว. (ฟิลิปปอย 2:5-7) อะไรกระตุ้นพระเยซูให้ทำการเสียสละเช่นนั้น?
8, 9. อะไรกระตุ้นพระเยซูให้สละชีวิตของพระองค์?
8 ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด พระเยซูได้รับการกระตุ้นจากความรักอย่างสุดซึ้งที่มีต่อพระบิดา. ความอดทนของพระเยซูเป็นหลักฐานแสดงถึงความรักที่พระองค์มีต่อพระยะโฮวา. ความรักเช่นนั้นทำให้พระเยซูเป็นห่วงเกี่ยวกับพระนามและชื่อเสียงของพระบิดา. (มัดธาย 6:9; โยฮัน 17:1-6, 26) สำคัญที่สุด พระเยซูทรงประสงค์ที่จะเห็นพระนามของพระบิดาพ้นจากคำติเตียนที่ทับถมพระนามนั้น. ดังนั้น พระเยซูทรงถือว่าเป็นสิทธิพิเศษอันสูงสุดที่จะทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความชอบธรรม เพราะพระองค์ทรงทราบว่าความซื่อสัตย์มั่นคงของพระองค์จะมีบทบาทในการทำให้พระนามอันล้ำเลิศของพระบิดาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—1 โครนิกา 29:13.
9 พระเยซูมีแรงกระตุ้นอีกอย่างหนึ่งในการสละชีวิตของพระองค์ นั่นคือความรักที่มีต่อมนุษยชาติ. นี่เป็นความรักที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทีเดียว. นานก่อนที่พระเยซูเสด็จมาแผ่นดินโลก คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยว่าพระองค์ทรงรู้สึกอย่างนั้นดังนี้: “สิ่งที่ทำให้เรายินดีนั้นเกี่ยวข้องกับเหล่าบุตรของมนุษย์.” (สุภาษิต 8:30, 31, ล.ม.) ความรักของพระองค์ปรากฏชัดตอนที่พระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก. ดังที่เราได้เห็นในสามบทก่อนของหนังสือนี้ ในหลายทางพระเยซูแสดงความรักของพระองค์ต่อมนุษย์โดยทั่วไปและต่อเหล่าสาวกของพระองค์โดยเฉพาะ. แต่ในวันที่ 14 เดือนไนซาน ส.ศ. 33 พระองค์เต็มพระทัยสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของพวกเรา. (โยฮัน 10:11) จริง ๆ แล้ว ไม่มีวิธีใดที่ใหญ่ยิ่งกว่านี้สำหรับพระองค์ที่จะแสดงความรักต่อเรา. เราควรเลียนแบบพระองค์ในเรื่องนี้ไหม? ใช่แล้ว. ที่จริง เราได้รับพระบัญชาให้ทำเช่นนั้น.
“รักซึ่งกันและกันเหมือนที่เราได้รักเจ้า”
10, 11. อะไรคือบัญญัติใหม่ที่พระเยซูทรงให้แก่เหล่าสาวกของพระองค์ บัญญัตินี้เกี่ยวข้องกับอะไร และทำไมสำคัญที่เราเชื่อฟังบัญญัตินี้?
10 คืนก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงรับสั่งแก่เหล่าสาวกผู้ใกล้ชิดที่สุดของพระองค์ว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย คือว่าให้เจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน; เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันอย่างนั้นด้วย. เพราะเหตุนี้แหละ คนทั้งหลายจะรู้ว่าพวกเจ้าเป็นสาวกของเรา ถ้าพวกเจ้ารักกัน.” (โยฮัน 13:34, 35, ล.ม.) “รักกันและกัน”—ทำไมนี่เป็น “บัญญัติใหม่”? พระบัญญัติของโมเซสั่งอยู่แล้วว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.” (เลวีติโก 19:18) แต่บัญญัติใหม่เรียกร้องให้มีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เป็นความรักซึ่งจะกระตุ้นเราให้สละชีวิตของตนเองเพื่อคนอื่น. พระเยซูเองทรงชี้ชัดถึงเรื่องนี้เมื่อตรัสว่า “นี่แหละเป็นบัญญัติของเรา คือให้เจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกันเหมือนที่เราได้รักเจ้า. ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้ คือที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย.” (โยฮัน 15:12, 13, ล.ม.) ที่แท้แล้ว บัญญัติใหม่บอกว่า “จงรักคนอื่น ไม่ใช่เหมือน รักตัวเอง แต่มากกว่า ตัวเอง.” โดยวิธีที่พระองค์ดำเนินชีวิตและสิ้นพระชนม์ พระเยซูแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความรักเช่นนั้นเป็นอย่างไร.
11 ทำไมสำคัญที่เราเชื่อฟังบัญญัติใหม่? จำไว้ว่าพระเยซูตรัสว่า “เพราะเหตุนี้แหละ [ความรักแบบเสียสละตัวเอง] คนทั้งหลายจะรู้ว่าพวกเจ้าเป็นสาวกของเรา.” ใช่แล้ว ความรักแบบเสียสละตัวเองระบุตัวเราว่าเป็นคริสเตียนแท้. เราอาจเทียบความรักเช่นนี้กับบัตรประจำตัว. คนเหล่านั้นที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของพยานพระยะโฮวามีบัตรติดหน้าอก. บัตรนี้ระบุตัวผู้ติดบัตร โดยแสดงชื่อและประชาคมของเขา. ความรักแบบเสียสละที่มีต่อกันและกันเป็นเหมือน “บัตร” ที่ระบุตัวคริสเตียนแท้. กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ความรักที่เราแสดงต่อกันควรเป็นที่สังเกตได้ชัดเช่นเดียวกับป้ายหรือบัตรติดหน้าอกที่บอกให้ผู้สังเกตรู้ว่าเราเป็นสาวกแท้ของพระคริสต์จริง ๆ. เราแต่ละคนควรถามตัวเองว่า ‘“บัตร” ของความรักแบบเสียสละปรากฏชัดในชีวิตของฉันไหม?’
ความรักแบบเสียสละตัวเอง—เกี่ยวข้องกับอะไร?
12, 13. (ก) เราต้องเต็มใจแสดงความรักต่อกันและกันถึงขีดไหน? (ข) การเสียสละตัวเองหมายความเช่นไร?
12 ในฐานะสาวกของพระเยซู เราต้องรักกันและกันเหมือนที่พระองค์ได้รักเรา. นี่หมายถึงการเต็มใจที่จะเสียสละเพื่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. เราต้องเต็มใจเสียสละถึงขีดไหน? คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “เช่นนี้แหละเราจึงรู้จักความรัก โดยที่พระองค์ได้ทรงยอมสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อเรา และเราก็ควรจะสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง.” (1 โยฮัน 3:16, ฉบับแปล 2002) เช่นเดียวกับพระเยซู เราต้องเต็มใจที่จะตายแทนกันหากจำเป็น. ในยามที่มีการข่มเหง เราจะสละชีวิตของเราเองแทนที่จะทรยศพี่น้องคริสเตียนและทำให้ชีวิตของเขาเป็นอันตราย. ในประเทศที่แตกแยกเนื่องจากการต่อสู้ด้านเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ เราจะเสี่ยงชีวิตของเราเองเพื่อปกป้องพี่น้องของเราโดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ของพวกเขา. เมื่อชาติต่าง ๆ ทำสงครามกัน เราสมัครใจยอมติดคุกหรือกระทั่งยอมตายมากกว่าที่จะจับอาวุธต่อสู้กับเพื่อนร่วมความเชื่อ—หรือกับใคร ๆ ก็ตาม.—โยฮัน 17:14, 16; 1 โยฮัน 3:10-12.
13 การเต็มใจที่จะสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้องไม่ใช่วิธีเดียวที่จะแสดงความรักแบบเสียสละตัวเอง. ที่จริง มีไม่กี่คนในพวกเราที่ต้องเสียสละมากขนาดนั้น. อย่างไรก็ดี หากเรารักพี่น้องของเรามากถึงขนาดที่จะตายแทนเขา เราก็น่าจะเต็มใจเสียสละที่น้อยกว่านั้น โดยทุ่มเทตัวเราเพื่อช่วยเขาในขณะนี้มิใช่หรือ? การเสียสละตัวเองหมายถึงการสละผลประโยชน์หรือความสะดวกสบายของเราเองเพื่อประโยชน์ของคนอื่น. เราจัดให้ความจำเป็นและสวัสดิภาพของเขามาก่อนของเราเองถึงแม้การทำเช่นนั้นจะไม่สะดวกก็ตาม. (1 โกรินโธ 10:24) เราจะแสดงความรักแบบเสียสละได้โดยวิธีใดบ้างที่ใช้ได้จริง?
ในประชาคมและในครอบครัว
14. (ก) ผู้ปกครองต้องเสียสละในทางใดบ้าง? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรกับผู้ปกครองที่ทำงานหนักในประชาคมของคุณ?
14 ผู้ปกครองในประชาคมเสียสละหลายอย่างเพื่อ “เลี้ยงฝูงแกะ.” (1 เปโตร 5:2, 3) นอกจากเอาใจใส่ดูแลครอบครัวของตนเองแล้ว เขาอาจต้องใช้เวลาระหว่างตอนเย็นหรือตอนสุดสัปดาห์เพื่อเอาใจใส่เรื่องต่าง ๆ ของประชาคม, รวมทั้งเตรียมส่วนต่าง ๆ สำหรับการประชุม, เยี่ยมบำรุงเลี้ยง, และตัดสินความ. ผู้ปกครองหลายคนเสียสละเพิ่มขึ้น โดยทำงานหนักในการประชุมหมวดและการประชุมภาคและรับใช้ฐานะสมาชิกของคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาล, กลุ่มที่จัดขึ้นเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล, และคณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาค. ผู้ปกครองทั้งหลาย ขออย่าลืมว่า โดยการรับใช้ด้วยความเต็มใจ—ใช้เวลา, กำลัง, และทรัพยากรของคุณบำรุงเลี้ยงฝูงแกะ—คุณกำลังแสดงความรักแบบเสียสละตัวเอง. (2 โกรินโธ 12:15) ความพยายามอย่างไม่เห็นแก่ตัวของคุณได้รับการหยั่งรู้ค่าไม่เพียงแต่จากพระยะโฮวาเท่านั้น แต่จากประชาคมที่คุณบำรุงเลี้ยงนั้นด้วย.—ฟิลิปปอย 2:29; เฮ็บราย 6:10.
15. (ก) ภรรยาของผู้ปกครองได้เสียสละในทางใดบ้าง? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรกับภรรยาที่ให้การเกื้อหนุนซึ่งสละเวลาที่เธอพึงได้จากสามีให้กับประชาคมของคุณ?
15 แต่จะว่าอย่างไรกับภรรยาของผู้ปกครอง สตรีที่ให้การเกื้อหนุนเหล่านี้ก็เสียสละด้วยมิใช่หรือเพื่อสามีของตนจะสามารถเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะของพระเจ้าได้? ภรรยาเสียสละแน่ ๆ เมื่อสามีต้องให้เวลากับเรื่องต่าง ๆ ของประชาคมซึ่งมิฉะนั้นแล้วเขาอาจใช้เวลานั้นกับครอบครัวของตน. ขอให้คิดถึงภรรยาของผู้ดูแลเดินทางด้วยเช่นกัน รวมทั้งการที่พวกเธอต้องเสียสละเพื่อจะเดินทางไปกับสามีจากประชาคมหนึ่งไปอีกประชาคมหนึ่งและจากหมวดหนึ่งไปยังอีกหมวดหนึ่ง. พวกเธอละทิ้งบ้านของตัวเองไปและบางทีต้องนอนหลับในที่ต่างกันทุกสัปดาห์. ภรรยาผู้ที่เต็มใจจัดให้ผลประโยชน์ของประชาคมมาก่อนผลประโยชน์ของตัวเองพึงได้รับคำชมเชยเนื่องด้วยการแสดงความรักแบบเสียสละด้วยใจเอื้ออารี.—ฟิลิปปอย 2:3, 4.
16. บิดามารดาคริสเตียนเสียสละเช่นไรบ้างเพื่อบุตรของตน?
16 เราจะแสดงความรักแบบเสียสละในครอบครัวได้โดยวิธีใด? บิดามารดาทั้งหลาย คุณเสียสละหลายอย่างเพื่อเอาใจใส่ดูแลบุตรและอบรมเลี้ยงดูพวกเขา “ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) คุณอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงทำงานที่ทำให้หมดเรี่ยวแรงเพียงเพื่อจะจัดหาอาหารให้ครอบครัวและเพื่อทำให้แน่ใจว่าลูก ๆ จะมีเครื่องนุ่งห่มพอเพียงรวมทั้งที่อยู่อาศัย. คุณคงอยากจะเสียสละตัวเองมากกว่าที่จะเห็นลูกขาดสิ่งจำเป็นในชีวิต. คุณยังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะศึกษากับลูก ๆ, พาพวกเขาไปการประชุมคริสเตียน, และทำงานกับพวกเขาในงานเผยแพร่ตามบ้าน. (พระบัญญัติ 6:6, 7) ความรักแบบเสียสละของคุณทำให้ผู้ริเริ่มชีวิตครอบครัวพอพระทัยและอาจหมายถึงชีวิตนิรันดร์สำหรับลูก ๆ ของคุณ.—สุภาษิต 22:6; เอเฟโซ 3:14, 15.
17. สามีคริสเตียนจะเลียนแบบเจตคติที่ไม่เห็นแก่ตัวของพระเยซูได้อย่างไร?
17 สามีทั้งหลาย คุณจะเลียนแบบพระเยซูในการแสดงความรักแบบเสียสละได้โดยวิธีใด? คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบว่า “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาของตนต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับพระคริสต์ได้ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม.” (เอเฟโซ 5:25, ล.ม.) ดังที่เราทราบแล้ว พระเยซูทรงรักเหล่าสาวกมากจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขา. สามีคริสเตียนเลียนแบบเจตคติที่ไม่เห็นแก่ตัวของพระเยซูผู้ซึ่ง “มิได้ทรงกระทำแต่สิ่งที่ชอบพระทัยของพระองค์.” (โรม 15:3) สามีเช่นนั้นเต็มใจจัดให้ความจำเป็นและผลประโยชน์ของภรรยามาก่อนของตนเอง. เขาไม่ยืนกรานอย่างแข็งขันว่าต้องทำทุกสิ่งตามแบบที่เขาเองชอบมากกว่า แต่เขาแสดงความเต็มใจที่จะโอนอ่อนผ่อนตามที่ภรรยาชอบหากไม่ละเมิดหลักการในพระคัมภีร์. สามีที่แสดงความรักแบบเสียสละได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาทั้งยังได้รับความรักและความนับถือจากภรรยาและบุตรของตน.
คุณจะทำประการใด?
18. อะไรกระตุ้นเราให้ปฏิบัติตามบัญญัติใหม่ที่ให้รักกันและกัน?
18 การเชื่อฟังบัญญัติใหม่ที่ให้รักกันและกันไม่ใช่แนวทางปฏิบัติที่ง่าย แต่เรามีแรงกระตุ้นอันทรงพลังในการทำเช่นนั้น. เปาโลได้เขียนว่า “ด้วยว่าความรักของพระคริสต์กระตุ้นเรา เพราะเราตัดสินใจอย่างนี้ คือ คนหนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง . . . และพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง เพื่อคนที่มีชีวิตจะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) เนื่องจากพระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เราควรรู้สึกถูกกระตุ้นให้มีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์มิใช่หรือ? เราสามารถทำเช่นนั้นได้โดยการติดตามตัวอย่างของพระองค์ในเรื่องความรักแบบเสียสละ.
19, 20. ของประทานอันล้ำค่าอะไรที่พระยะโฮวาประทานให้เรา และเราจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าเรายอมรับของประทานนั้น?
19 พระเยซูมิได้พูดเกินจริงเมื่อตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้ คือที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย.” (โยฮัน 15:13, ล.ม.) การที่พระองค์เต็มพระทัยสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของพวกเราเป็นการแสดงความรักของพระองค์ อย่างใหญ่ยิ่งที่สุดต่อเรา. กระนั้น มีอีกผู้หนึ่งที่แสดงความรักต่อเรามากกว่านั้นเสียอีก. พระเยซูทรงชี้แจงว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) พระเจ้าทรงรักเรามากถึงกับประทานพระบุตรของพระองค์เป็นค่าไถ่ ทำให้มีทางเป็นไปได้ที่เราจะได้รับการช่วยให้พ้นจากบาปและความตาย. (เอเฟโซ 1:7) ค่าไถ่เป็นของประทานอันล้ำค่าจากพระยะโฮวา แต่พระองค์ไม่ทรงบังคับเราให้ยอมรับค่าไถ่นั้น.
20 ตัวเราเองต้องเป็นฝ่ายยอมรับเอาของประทานจากพระยะโฮวา. โดยวิธีใด? โดย “สำแดงความเชื่อ” ในพระบุตรของพระองค์. อย่างไรก็ดี ความเชื่อไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด. เราพิสูจน์ว่ามีความเชื่อโดยการกระทำ โดยวิธีที่เราดำเนินชีวิต. (ยาโกโบ 2:26) เราพิสูจน์ความเชื่อในพระเยซูคริสต์โดยการดำเนินตามพระองค์ทุก ๆ วัน. การทำเช่นนี้จะนำพระพรอันอุดมมาให้เราในขณะนี้และในอนาคต ดังที่บทสุดท้ายของหนังสือนี้จะอธิบาย.
a พระเยซูถูกถ่มน้ำลายรดสองครั้งในวันนั้น ครั้งแรกโดยผู้นำศาสนา และต่อจากนั้นโดยทหารโรมัน. (มัดธาย 26:59-68; 27:27-30) แม้ได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกเช่นนี้ พระองค์ก็ทรงทนเอาโดยไม่บ่น ทำให้คำพยากรณ์สำเร็จที่ว่า “ข้าพเจ้ามิได้ซ่อนหน้าให้พ้นจากความหยาบหยามและการถ่มน้ำลาย.”—ยะซายา 50:6.