ข้อมูลในคัมภีร์ไบเบิลขัดแย้งกันไหม?
คำตอบจากคัมภีร์ไบเบิล
ไม่ คัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มมีข้อมูลที่สอดคล้องกัน บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าบางตอนของพระคัมภีร์ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่เราสามารถเข้าใจอย่างถูกต้องโดยการคิดถึงจุดต่าง ๆ เหล่านี้:
คิดถึงบริบทของเรื่องที่เราอ่าน หนังสือทุกเล่มอาจดูขัดแย้งในตัวมันเอง ถ้าเราดึงข้อความบางส่วนจากเล่มนั้นออกมาโดยไม่คำนึงถึงบริบทของเรื่อง
คิดถึงมุมมองของผู้บันทึก หลายคนที่เห็นเหตุการณ์เดียวกันอาจอธิบายฉากเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แต่พวกเขาอาจไม่ได้ใช้คำเดียวกันหรือลงรายละเอียดของเหตุการณ์เหมือนกัน
คิดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือธรรมเนียมประเพณี
แยกให้ออกว่าคำไหนมีความหมายแบบเป็นนัย และคำไหนมีความหมายตามตัวอักษร
นึกเสมอว่าบันทึกบางส่วนอาจบอกว่าเป็นการกระทำของคนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วเขาอาจให้อีกคนเป็นตัวแทนa
พยายามใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลที่ถูกต้องแม่นยำจริง ๆ
อย่าเชื่อมโยงสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกกับคำสอนที่ไม่ถูกต้องของศาสนาทั่วไป
ตัวอย่างต่อไปนี้จะช่วยให้เราเข้าใจวิธีนำจุดต่าง ๆ ไปใช้เมื่อเรารู้สึกว่าคัมภีร์ไบเบิลมีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน
จุดที่ 1: บริบท
ถ้าพระเจ้าหยุดพักในวันที่เจ็ด พระองค์จะยังทำงานอยู่จนถึงตอนนี้ได้อย่างไร? บริบทในหนังสือเยเนซิศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกบอกว่า ‘ในวันที่เจ็ด พระเจ้าได้งดการงานที่พระองค์ทรงกระทำมานั้น’ (เยเนซิศ 2:2-4) แต่พระเยซูกลับพูดว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานจนถึงเดี๋ยวนี้” (โยฮัน 5:17) พระเยซูไม่ได้พูดอะไรที่ขัดแย้งกับข้อความในหนังสือเยเนซิศ เนื่องจากพระเยซูกำลังหมายถึงงานอื่น ๆ ที่พระเจ้าได้ทำ เช่น ดลใจให้มีการเขียนพระคัมภีร์ หรือพระเจ้ายังคงให้คำแนะนำและสนใจมนุษย์—บทเพลงสรรเสริญ 20:6; 105:5; 2 เปโตร 1:21
จุดที่ 2 และ 3: มุมมองและประวัติศาสตร์
พระเยซูรักษาคนตาบอดที่ไหน? ในหนังสือลูกาบอกว่าพระเยซูรักษาคนตาบอดคนหนึ่งตอนที่พระเยซู “มาใกล้เมืองเยริโค” ขณะที่บันทึกเรื่องเดียวกันนี้ในหนังสือมัดธายพูดถึงคนตาบอดสองคนและบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนที่พระเยซู “ออกจากเมืองเยริโค” (ลูกา 18:35-43; มัดธาย 20:29-34) หนังสือสองเล่มนี้บันทึกในมุมมองที่ต่างกันและมีเนื้อหาที่เสริมกัน เมื่อพูดถึงจำนวนคนตาบอดที่ได้รับการรักษา มัดธายอาจเน้นไปที่ภาพกว้าง ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือคนตาบอดจำนวนสองคน แต่ลูกาอาจเน้นไปที่ชายคนเดียวที่พระเยซูพูดด้วย เมื่อพูดถึงสถานที่ นักโบราณคดีพบว่าในสมัยของพระเยซู เมืองเยริโคมีสองแห่งคือเมืองเยริโคเก่าและเยริโคใหม่ที่คนโรมันสร้างขึ้นซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณหนึ่งกิโลเมตรครึ่ง ดังนั้น พระเยซูอาจอยู่ระหว่างสองเมืองนี้ตอนที่ท่านทำการอัศจรรย์
จุดที่ 4: ความหมายแบบเป็นนัยและตามตัวอักษร
แผ่นดินโลกจะถูกทำลายไหม? ในคัมภีร์ไบเบิลที่ท่านผู้ประกาศ 1:4 บอกว่า “แผ่นดินโลกนี้ตั้งมั่นคงอยู่เป็นนิจ” ซึ่งอาจดูขัดแย้งกับอีกข้อหนึ่งที่บอกว่า “แผ่นดินโลกกับสรรพสิ่งในนั้นจะถูกทำลายสิ้น” (2 เปโตร 3:10, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) อย่างไรก็ตาม คำว่า “แผ่นดินโลก” ในคัมภีร์ไบเบิลถูกใช้ทั้งในความหมายตามตัวอักษรคือลูกโลกที่เราอาศัยอยู่ หรือความหมายเป็นนัยคือสังคมมนุษย์ที่อยู่ในโลก (เยเนซิศ 1:1; 11:1, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) การทำลาย “โลก” ที่เขียนใน 2 เปโตร 3:10 จึงไม่ได้หมายถึงการทำลายลูกโลกที่เราอยู่อาศัย แต่เกี่ยวข้องกับการ “พินาศของคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า”—2 เปโตร 3:7
จุดที่ 5: ตัวแทน
ในเมืองคาเปอร์นาอุม ใครเป็นตัวแทนของนายร้อยที่มาขอความช่วยเหลือจากพระเยซู? มัดธาย 8:5, 6 บอกว่านายร้อยมาหาพระเยซูด้วยตนเอง แต่ที่ลูกา 7:3 บอกว่านายร้อยคนนั้นส่งผู้เฒ่าผู้แก่ของคนยิวมาขอความช่วยเหลือแทนเขา เราเข้าใจข้อนี้ได้ว่านายร้อยคนนั้นเป็นผู้ริเริ่มที่จะขอความช่วยเหลือ แต่เขาส่งผู้เฒ่าผู้แก่ไปเป็นตัวแทนของเขา
จุดที่ 6: ใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลที่ถูกต้องแม่นยำ
เราทุกคนเป็นคนบาปไหม? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราทุกคนได้รับบาปตกทอดมาจากอาดามมนุษย์คนแรก (โรม 5:12) เรื่องนี้อาจดูขัดแย้งกับฉบับแปลบางฉบับที่บันทึกว่าคนที่เป็นคนดี “ไม่กระทำบาป” (1 โยฮัน 3:6, ฉบับคิงเจมส์) ในภาษากรีก ภาษาเดิมที่มีการบันทึกคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “บาป” ที่ 1 โยฮัน 3:6 หมายถึงการทำผิดเป็นนิสัยหรือการตั้งใจทำสิ่งที่ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า แต่ “บาป” ในโรม 5:12 หมายถึงบาปที่เราได้รับเป็นมรดกจากอาดามมนุษย์คนแรก ซึ่งไม่ว่าเราเป็นคนดีแค่ไหนเราก็มีบาปนี้อยู่แล้ว ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลบางฉบับทำให้ 1 โยฮัน 3:6 ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยใช้คำว่า “ไม่ทำบาปเป็นอาจิณ [นิสัย]”—ฉบับแปลโลกใหม่
จุดที่ 7: ใช้คัมภีร์ไบเบิล อย่าใช้คำสอนที่ไม่ถูกต้องจากแหล่งอื่น
พระเยซูเท่าเทียมกับพระเจ้าหรือไม่? พระเยซูเคยบอกว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ซึ่งดูขัดแย้งกันเองกับสิ่งที่ท่านเคยพูดว่า “พระบิดาทรงเป็นใหญ่กว่าเรา” (โยฮัน 10:30; 14:28) เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง เราต้องเข้าใจว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดอย่างไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู และอย่ารวมคำสอนที่ไม่ถูกต้องเรื่องตรีเอกานุภาพเข้ากับข้อคัมภีร์สองข้อนี้ คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างชัดเจนว่า พระยะโฮวาเป็นพ่อของพระเยซูคริสต์และยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังเป็นพระเจ้าองค์เดียวที่พระเยซูนมัสการด้วย (มัดธาย 4:10; มาระโก 15:34; โยฮัน 17:3; 20:17; 2 โครินท์ 1:3) ดังนั้น พระเยซูไม่เท่าเทียมกับพระเจ้า
ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ไม่ได้หมายถึงเป็นบุคคลเดียวกัน แต่หมายถึงการมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน หรือทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เมื่อพูดถึงข้อคัมภีร์ที่บอกว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ข้อนี้เน้นแนวคิดที่ว่าพระเยซูมีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตเพื่อทำตามความต้องการของพระยะโฮวาเท่านั้น เช่นเดียวกัน พระเยซูก็ช่วยให้สาวกมีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับท่านและพระยะโฮวา และเมื่ออธิษฐานถึงพระเจ้าเพื่อเหล่าสาวก พระเยซูบอกว่า “ข้าพเจ้าทำให้พวกเขาได้รับเกียรติอย่างที่พระองค์ทรงทำให้ข้าพเจ้าได้รับเกียรติ เพื่อพวกเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่พระองค์กับข้าพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้าพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกเขาและพระองค์ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับข้าพเจ้า”—โยฮัน 17:22, 23
a ตัวอย่างเช่น ในบทความเกี่ยวกับทัชมาฮาลในสารานุกรมบริแทนนิกา บอกว่า “ทัชมาฮาลถูกสร้างขึ้นโดย สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ จาฮัน แห่งจักรวรรดิโมกุล” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้สร้างทัชมาฮาลด้วยตนเอง ดังนั้น ในบทความนั้นจึงเพิ่มข้อมูลว่า “มีคนงานมากกว่า 20,000 คนทำงานในการก่อสร้างนี้”