จงรักษาตัวให้อยู่ห่างจากการนมัสการเท็จ!
“พระเจ้าจึงตรัสว่า, ‘เจ้าจงออกมาจากท่ามกลางเขาเหล่านั้น, และจงอยู่ต่างหาก อย่าถูกต้องสิ่งซึ่งมลทิน.’ ”—2 โกรินโธ 6:17.
1. ผู้คนที่มีใจสุจริตจำนวนมากจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบความจริงในเรื่องใด?
ผู้คนที่มีใจสุจริตจำนวนมากไม่ทราบความจริงเรื่องพระเจ้าและอนาคตของมนุษยชาติ. เนื่องจากไม่พบคำตอบที่จำเป็นต้องรู้อย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าว พวกเขาจึงมีชีวิตอยู่อย่างสับสนและไม่มั่นใจ. หลายล้านคนตกเป็นทาสของการเชื่อโชคลาง, พิธีกรรม, และการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่ทำให้พระผู้สร้างไม่พอพระทัย. คุณอาจมีเพื่อนบ้านและญาติ ๆ ที่เชื่อเรื่องไฟนรก, ตรีเอกานุภาพ, จิตวิญญาณอมตะ, หรือคำสอนผิด ๆ อย่างอื่น.
2. ผู้นำศาสนาได้ทำอะไร และผลเป็นเช่นไร?
2 อะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดความไม่รู้เกี่ยวกับพระเจ้าท่ามกลางผู้คนมากมายเช่นนี้? ไม่น่าเชื่อ ศาสนานั่นเอง—โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การศาสนาและผู้นำศาสนาที่เผยแพร่ลัทธิความเชื่อที่ขัดกับแนวความคิดของพระเจ้า. (มาระโก 7:7, 8) ผลคือ ประชาชนมากมายถูกหลอกให้เชื่อว่าพวกเขานมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย. ศาสนาเท็จต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อสภาพที่น่าเศร้าเช่นนี้.
3. ใครเป็นตัวการสำคัญที่สุดในการส่งเสริมศาสนาเท็จ และคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงผู้นั้นอย่างไร?
3 มีผู้ที่ไม่ประจักษ์แก่ตาอยู่เบื้องหลังศาสนาเท็จ. อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงผู้นั้นว่า “พระเจ้าของระบบนี้ได้ทำให้จิตใจของคนที่ไม่เชื่อมืดไป เพื่อแสงสว่างแห่งข่าวดีอันรุ่งโรจน์เรื่องพระคริสต์ผู้เป็นภาพสะท้อนของพระเจ้าจะไม่ส่องถึง.” (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) “พระเจ้าของระบบนี้” หาใช่ใครอื่นไม่ นอกจากซาตานพญามาร. มันเป็นผู้ส่งเสริมการนมัสการเท็จตัวสำคัญที่สุด. เปาโลเขียนว่า “ซาตานเองก็ยังปลอมตัวเป็นทูตแห่งความสว่างได้. เหตุฉะนั้นไม่เป็นการสำคัญอะไรซึ่งผู้รับใช้ของซาตานนั้นจะปลอมตัวเป็นคนรับใช้ของความชอบธรรม.” (2 โกรินโธ 11:14, 15) ซาตานทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี และลวงให้ผู้คนหลงเชื่อคำโกหก.
4. พระบัญญัติของพระเจ้าที่ให้แก่ชาติอิสราเอลโบราณกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับผู้พยากรณ์เท็จ?
4 ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่คัมภีร์ไบเบิลตำหนิศาสนาเท็จอย่างแรง! เพื่อเป็นตัวอย่าง พระบัญญัติของโมเซเตือนประชาชนที่พระเจ้าทรงเลือกนั้นอย่างเจาะจงให้ระวังผู้พยากรณ์เท็จ. ใครก็ตามที่ส่งเสริมคำสอนที่ไม่จริงและการนมัสการพระเจ้าเท็จจะต้องถูก ‘ฆ่าเพราะเขาพูดซึ่งคำกบฏต่อพระยะโฮวา.’ ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งให้ ‘กำจัดความชั่วออกจากท่ามกลางพวกเขา.’ (พระบัญญัติ 13:1-5) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงถือว่าศาสนาเท็จเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย.—ยะเอศเคล 13:3.
5. เราพึงเอาใจใส่ฟังคำเตือนอะไรในทุกวันนี้?
5 พระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์มีความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อการนมัสการเท็จเช่นเดียวกับพระยะโฮวา. พระเยซูเตือนเหล่าสาวกว่า “จงระวังผู้พยากรณ์เท็จที่มาหาท่านนุ่งห่มดุจแกะ, แต่ภายในเขาร้ายกาจดุจสุนัขป่า.” (มัดธาย 7:15; มาระโก 13:22, 23) เปาโลเขียนว่า “พระเจ้าทรงสำแดงพระพิโรธของพระองค์จากสวรรค์แก่บรรดาความหมิ่นประมาทพระองค์และการอธรรมทั้งปวงของมนุษย์ทั้งหลายที่ . . . ขัดขวางความจริง.” (โรม 1:18) เป็นสิ่งสำคัญสักเพียงไรที่คริสเตียนแท้ต้องเอาใจใส่ฟังคำเตือนเหล่านี้ และอยู่ห่างจากผู้ใดก็ตามที่ปิดบังความจริงจากพระคำของพระเจ้าหรือที่แพร่คำสอนเท็จ!—1 โยฮัน 4:1, ล.ม.
จงหนีออกจาก “บาบิโลนใหญ่”
6. มีการให้ภาพ “บาบิโลนใหญ่” ไว้อย่างไรในคัมภีร์ไบเบิล?
6 ขอพิจารณาว่าพระธรรมวิวรณ์กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับศาสนาเท็จ. มีการให้ภาพศาสนาเท็จเป็นผู้หญิงโสเภณีอยู่ในสภาพเมามาย ซึ่งมีอำนาจเหนือหลายอาณาจักรและประชาชนในอาณาจักรเหล่านั้น. หญิงโดยนัยนี้ล่วงประเวณีกับกษัตริย์หลายองค์ และเมามายด้วยโลหิตของผู้นมัสการแท้ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 17:1, 2, 6, 18) บนหน้าผากของนางมีชื่อเขียนไว้ตรงกับความประพฤติที่น่าอุจาดของนาง. ชื่อนั้นคือ “บาบิโลนใหญ่ แม่ของหญิงแพศยาทั้งหลายและของสิ่งน่าสะอิดสะเอียนทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก.”—วิวรณ์ 17:5, ล.ม.
7, 8. ศาสนาเท็จได้ขายตัวอย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
7 คำพรรณนาถึงบาบิโลนใหญ่ในพระคัมภีร์เป็นคำพรรณนาที่เหมาะเจาะกับศาสนาเท็จโดยรวมของโลก. แม้ว่าศาสนาจำนวนมากมายในโลกไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นทางการเป็นองค์การสากลองค์การเดียว แต่ศาสนาเหล่านั้นก็มีจุดมุ่งหมายและการดำเนินงานไม่ต่างกัน. ดังที่ให้ภาพไว้ในพระธรรมวิวรณ์ว่าเป็นหญิงที่ผิดศีลธรรม ศาสนาเท็จเข้าไปมีอิทธิพลอย่างมากเหนือรัฐบาลต่าง ๆ. คล้ายกันกับหญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อคำปฏิญาณการสมรส ศาสนาเท็จขายตัวโดยเข้าไปสร้างพันธมิตรกับอำนาจทางการเมืองหลายรัฐบาล. สาวกยาโกโบเขียนว่า “ท่านทั้งหลายผู้ผิดประเวณีชายหญิง, ท่านไม่รู้หรือว่าการที่เป็นมิตรกับโลกก็เป็นศัตรูต่อพระเจ้า? เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดใคร่เป็นมิตรกับโลก, ผู้นั้นก็ตั้งตัวเป็นศัตรูต่อพระเจ้า.”—ยาโกโบ 4:4.
8 การผสมผเสศาสนาเท็จกับรัฐบาลต่าง ๆ ก่อผลเป็นความทุกข์ร้อนอย่างมากต่อมนุษย์. ดร. โอนีนา มาน-กู นักวิเคราะห์การเมืองในแอฟริกา ให้ข้อสังเกตว่า “ประวัติศาสตร์โลกเต็มไปด้วยตัวอย่างเกี่ยวกับการสังหารหมู่ประชาชนที่เกิดจากการผสานศาสนากับการเมือง.” ไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า “ความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดและอันตรายที่สุดในทุกวันนี้ . . . ล้วนพัวพันกับศาสนา.” หลายล้านคนถูกฆ่าในการต่อสู้กันที่มีศาสนาอยู่เบื้องหลัง. บาบิโลนใหญ่ถึงกับกดขี่ข่มเหงและฆ่าผู้รับใช้แท้ของพระเจ้า ประหนึ่งว่าเมามายด้วยโลหิตของพวกเขา.—วิวรณ์ 18:24.
9. พระธรรมวิวรณ์กล่าวอย่างไรถึงความไม่พอพระทัยของพระยะโฮวาต่อการนมัสการเท็จ?
9 ที่ว่าพระยะโฮวาไม่พอพระทัยการนมัสการเท็จนั้นเห็นได้ชัดจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบาบิโลนใหญ่. วิวรณ์ 17:16 กล่าวว่า “เขาสิบเขาที่ท่านได้เห็นกับทั้งสัตว์ร้ายนั้น, จะพากันเกลียดชังหญิงแพศยานั้น. และจะทำให้เขาไร้มิตรเปลือยกาย, และจะกินเนื้อของหญิงนั้น, และเอาไฟเผาเสีย.” สัตว์ร้ายขนาดใหญ่ขย้ำนางจนตายและกัดกินเนื้อของนางก่อน. จากนั้น ซากที่เหลืออยู่ก็ถูกเผาทำลายเสีย. คล้ายกัน อีกไม่ช้า รัฐบาลต่าง ๆ ของโลกจะดำเนินการอย่างนั้นต่อศาสนาเท็จ. พระเจ้าจะกระตุ้นให้สิ่งนี้เกิดขึ้น. (วิวรณ์ 17:17) บาบิโลนใหญ่ จักรภพโลกแห่งศาสนาเท็จ จะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง. “จะไม่มีใครเห็นเมืองนั้นอีกต่อไปเลย.”—วิวรณ์ 18:21.
10. เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อศาสนาเท็จ?
10 ผู้นมัสการแท้ควรมีทัศนะอย่างไรต่อบาบิโลนใหญ่? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ชัดเจนว่า “ดูก่อนพวกพลเมืองของเรา, จงออกมาจากเมืองนั้นเถิด, เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ได้มีส่วนในการบาปของเมืองนั้น, และเพื่อท่านจะไม่ต้องรับภยันตรายที่จะมีแก่พลเมืองนั้น.” (วิวรณ์ 18:4) ผู้ที่ต้องการจะรอดชีวิตต้องออกมาจากศาสนาเท็จก่อนจะสายเกินไป. ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์บอกล่วงหน้าว่า ในสมัยสุดท้ายจะมีหลายคนที่จะอ้างว่าเชื่อฟังพระองค์. (มัดธาย 24:3-5) พระองค์กล่าวกับคนแบบนั้นว่า “เราไม่รู้จักเจ้าเลย. เจ้าทั้งหลายผู้ประพฤติล่วงพระบัญญัติจงถอยไปจากเรา.” (มัดธาย 7:23) พระเยซูคริสต์ ซึ่งบัดนี้เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาเท็จ.
รักษาตัวให้อยู่ห่าง—โดยวิธีใด?
11. เราควรทำอะไรเพื่อรักษาตัวให้อยู่ห่างจากการนมัสการเท็จ?
11 คริสเตียนแท้รักษาตัวอยู่ห่างจากการนมัสการเท็จและปฏิเสธคำสอนเท็จทางศาสนา. นี่หมายความว่าเราไม่ฟังหรือดูรายการศาสนาทางวิทยุและโทรทัศน์อีกทั้งสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับศาสนาที่แพร่คำโกหกเกี่ยวกับพระเจ้าและพระคำของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:37) และนับว่าเป็นการฉลาดสุขุมเช่นเดียวกันที่เราจะไม่ไปร่วมงานสังคมหรือกิจกรรมนันทนาการที่องค์การใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาเท็จเป็นผู้สนับสนุน. นอกจากนั้น เราไม่สนับสนุนการนมัสการเท็จไม่ว่าทางใดก็ตาม. (1 โกรินโธ 10:21) การใช้มาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นการป้องกันไม่ให้บางคนทำให้เรา “ตกเป็นเหยื่อของเขาได้โดยใช้ปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลตามประเพณีของมนุษย์ ตามสิ่งธรรมดาของโลกและไม่ใช่ตามพระคริสต์.”—โกโลซาย 2:8, ล.ม.
12. คนเราจะตัดความเกี่ยวข้องใด ๆ กับองค์การศาสนาเท็จได้โดยวิธีใด?
12 จะว่าอย่างไรถ้าคนที่ประสงค์จะเป็นพยานพระยะโฮวายังมีชื่อเป็นสมาชิกอยู่ในทะเบียนขององค์การศาสนาเท็จอยู่? ปกติแล้ว จดหมายลาออกเป็นหลักฐานที่แสดงว่าคนนั้นไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกของศาสนาเท็จอีกต่อไป. นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เขาจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อหลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิงไม่ให้แปดเปื้อนมลทินแบบใดก็ตามทางฝ่ายวิญญาณอันเนื่องมาจากศาสนาเท็จ. การดำเนินการของผู้ที่ประสงค์จะเป็นพยานฯ ควรทำให้องค์การศาสนานั้นและผู้คนทั่วไปเห็นชัดว่าเขาไม่ได้สังกัดศาสนานั้นแล้ว.
13. คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำอะไรในเรื่องการต้องรักษาตัวให้อยู่ห่างจากการนมัสการเท็จ?
13 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “อย่าเข้าเทียมแอกด้วยกันกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความชั่ว? และความสว่างจะเข้าสนิทกันกับความมืดได้อย่างไร? พระคริสต์กับเบลิอาลจะมีเสียงเข้ากันอย่างไรได้? หรือคนที่เชื่อจะมีส่วนอะไรกับคนที่ไม่เชื่อ? วิหารของพระเจ้าจะทำสัญญาอะไรกับรูปเคารพได้? . . . เหตุฉะนั้น พระเจ้าจึงตรัสว่า, ‘เจ้าจงออกมาจากท่ามกลางเขาเหล่านั้น, และจงอยู่ต่างหาก อย่าถูกต้องสิ่งซึ่งมลทิน.’ ” (2 โกรินโธ 6:14-17) เราเชื่อฟังถ้อยคำนี้โดยการอยู่ห่างจากการนมัสการเท็จ. คำแนะนำของเปาโลเรียกร้องให้เราอยู่ห่างจากผู้ที่เข้าร่วมในการนมัสการเท็จด้วยไหม?
“จงดำเนิน . . . ด้วยใช้สติปัญญา”
14. เราต้องหลีกเลี่ยงผู้ที่เข้าร่วมในการนมัสการเท็จอย่างสิ้นเชิงไหม? จงอธิบาย.
14 ผู้นมัสการแท้ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อเกี่ยวข้องใด ๆ กับผู้ที่เข้าร่วมในการนมัสการเท็จไหม? เราควรหลีกเลี่ยงการติดต่อคบหาทุกอย่างกับผู้ที่มีความเชื่อต่างไปจากเราไหม? คำตอบคือไม่. ข้อที่สองของบัญญัติที่ใหญ่ที่สุดสองข้อกล่าวว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.” (มัดธาย 22:39) เราแสดงความรักต่อเพื่อนบ้านของเราอย่างแน่นอนเมื่อเราบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรแก่พวกเขา. เรายังแสดงความรักต่อพวกเขาด้วยเมื่อเรานำการศึกษาพระคัมภีร์กับพวกเขาและช่วยให้พวกเขาเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวให้อยู่ห่างจากการนมัสการเท็จ.
15. การ “ไม่เป็นส่วนของโลก” หมายความว่าอย่างไร?
15 แม้ว่าเราประกาศข่าวดีแก่เพื่อนบ้านของเรา แต่ในฐานะสาวกของพระเยซู เรา “ไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 15:19, ล.ม.) คำ “โลก” ในที่นี้หมายถึงสังคมมนุษย์ที่เหินห่างจากพระเจ้า. (เอเฟโซ 4:17-19; 1 โยฮัน 5:19) เราอยู่ต่างหากจากโลกในแง่ที่ว่าเราหลีกเลี่ยงทัศนะ, คำพูด, และความประพฤติที่ทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย. (1 โยฮัน 2:15-17) ยิ่งกว่านั้น สอดคล้องกับหลักการที่กล่าวว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป” เราจึงหลีกเลี่ยงการเป็นมิตรกับผู้ที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานคริสเตียน. (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) การไม่เป็นส่วนของโลกคือการรักษาตัวให้ “ปราศจากด่างพร้อยของโลก.” (ยาโกโบ 1:27, ล.ม.) ฉะนั้น การอยู่ต่างหากจากโลกจึงไม่ได้หมายความว่าเราจะเลี่ยงการติดต่อเกี่ยวข้องทั้งหมดกับคนอื่น ๆ.—โยฮัน 17:15, 16; 1 โกรินโธ 5:9, 10.
16, 17. คริสเตียนควรปฏิบัติอย่างไรต่อคนที่ไม่รู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิล?
16 ถ้าอย่างนั้น เราควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อคนที่ไม่รู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิล? เปาโลเขียนถึงประชาคมในเมืองโกโลซายว่า “จงดำเนิน . . . กับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา, ซึ่งเป็นการซื้อโอกาสไว้ใช้. จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ, ปรุงด้วยเกลือให้มีรส, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคนอย่างไร.” (โกโลซาย 4:5, 6) อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ในหัวใจของท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) เปาโลแนะนำคริสเตียนว่า “อย่า . . . พูดใส่ร้ายแก่คนใดเลย, อย่าให้เป็นคนมักทะเลาะวิวาทกัน, แต่ให้มีใจละมุนละม่อม, สำแดงความสุภาพทุกอย่างแก่คนทั้งปวง.”—ติโต 3:2.
17 ฐานะพยานพระยะโฮวา เราจะหลีกเลี่ยงการเป็นคนเกรี้ยวกราดหรือถือว่าตัวเองดีกว่า. เราจะไม่ใช้คำเชิงดูหมิ่นอย่างแน่นอนเมื่อกล่าวถึงผู้คนในศาสนาอื่น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราจะพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา แม้ว่าคนที่เราพบเมื่อไปประกาศตามบ้าน, เพื่อนบ้าน, หรือเพื่อนร่วมงาน ไม่แสดงความกรุณาหรือใช้วาจาหยาบคาย.—โกโลซาย 4:6; 2 ติโมเธียว 2:24.
“จงยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์”
18. สภาพน่าเศร้าสลดเช่นไรที่ผู้ถอยกลับไปสู่การนมัสการเท็จประสบ?
18 คงจะเป็นเรื่องน่าเศร้าสักเพียงไรหากคนเราหันกลับไปสู่การนมัสการเท็จอีกหลังจากเรียนรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว! คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงผลเลวร้ายของการทำอย่างนั้นไว้ว่า “ถ้าแม้เมื่อเขาพ้นจากความชั่วของโลกนี้แล้วโดยที่ได้รู้จักพระเยซูคริสต์เจ้าผู้ช่วยให้รอด เขายังคิดกังวลและยอมแพ้แก่การชั่วนั้นอีก, เบื้องปลายของเขาก็ชั่วร้ายยิ่งกว่าเบื้องต้น. . . . เหตุก็เกิดขึ้นแก่เขาตามคำสุภาษิตอันจริงนั้นที่ว่า, ‘สุนัขได้กลับกินซึ่งมันได้สำรอกออกมาแล้ว, และสุกรที่ชำระล้างตัวแล้วก็กลับลุยลงไปนอนในปลักอีก.’ ”—2 เปโตร 2:20-22.
19. ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตื่นตัวอยู่เสมอต่อสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา?
19 เราต้องตื่นตัวอยู่เสมอต่อสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. อันตรายเหล่านั้นมีอยู่เสมอ! อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “ถ้อยคำโดยการดลใจกล่าวแน่ชัดว่า ภายหลังบางคนจะถอยห่างจากความเชื่อ โดยใส่ใจกับถ้อยคำโดยการดลใจซึ่งทำให้หลงผิดและคำสอนของผีปิศาจ.” (1 ติโมเธียว 4:1, ล.ม.) เราอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “ภายหลัง” นั้น. ผู้ที่ไม่ได้รักษาตัวให้อยู่ห่างจากการนมัสการเท็จจะ “ถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง, และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง.”—เอเฟโซ 4:13, 14.
20. เราจะป้องกันตัวเองจากอิทธิพลที่ก่อความเสียหายของศาสนาเท็จได้อย่างไร?
20 เราจะป้องกันตัวเองจากอิทธิพลที่ก่อความเสียหายของศาสนาเท็จได้อย่างไร? ขอพิจารณาสารพัดสิ่งที่พระยะโฮวาจัดเตรียมให้เรา. เรามีพระคำของพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิล. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) นอกจากนั้น พระยะโฮวายังจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมให้เราโดยผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ขณะที่เราเติบโตมากขึ้นในความจริง เราน่าจะปลูกฝังความอยากที่จะได้รับ ‘อาหารแข็งซึ่งเป็นของผู้อาวุโส’ และความปรารถนาที่จะประชุมร่วมกันเพื่อเรียนรู้ความจริงฝ่ายวิญญาณให้มากยิ่งขึ้นมิใช่หรือ? (เฮ็บราย 5:13, 14, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 26:8) ขอเราตั้งใจมุ่งมั่นจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระยะโฮวาเพื่อจะสามารถ “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” ที่เราได้ยิน. (2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.) โดยวิธีนี้ เราจึงจะสามารถรักษาตัวให้อยู่ห่างจากการนมัสการเท็จ.
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
• “บาบิโลนใหญ่” คืออะไร?
• เราต้องทำประการใดเพื่อจะอยู่ห่างจากศาสนาเท็จ?
• อันตรายอะไรบ้างต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเราที่เราพึงหลีกเลี่ยง?
[ภาพหน้า 28]
คุณรู้ไหมว่า ทำไมจึงมีการให้ภาพ “บาบิโลนใหญ่” เป็นหญิงที่ผิดศีลธรรม?
[ภาพหน้า 29]
“บาบิโลนใหญ่” จะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง
[ภาพหน้า 31]
เราแสดง “อารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง” ต่อผู้มีความเชื่อต่างไปจากเรา