คุณเป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงรักไหม?
“ผู้ที่มีบัญญัติของเราและประพฤติตามบัญญัตินั้น, ผู้นั้นแหละรักเรา, และผู้ที่รักเราพระบิดาของเราจะทรงรักผู้นั้น.”—โยฮัน 14:21.
1, 2. (ก) พระยะโฮวาทรงแสดงความรักอย่างไรต่อมนุษยชาติ? (ข) พระเยซูทรงตั้งอะไรขึ้นในคืนวันที่ 14 เดือนไนซานปีสากลศักราช 33?
พระยะโฮวาทรงรักมนุษย์ซึ่งพระองค์ทรงสร้าง. ที่จริง พระองค์ทรงรักโลกแห่งมนุษยชาติมาก “จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์, เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ, แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) ขณะที่เวลาสำหรับการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ใกล้เข้ามา ยิ่งกว่าเวลาอื่นใด คริสเตียนแท้ควรสำนึกว่าพระยะโฮวา “ทรงรักเรา, และได้ทรงใช้พระบุตรของพระองค์เป็นผู้ทรงระงับพระพิโรธเพราะความบาปของเรา.”—1 โยฮัน 4:10.
2 ในคืนวันที่ 14 เดือนไนซานปีสากลศักราช 33 พระเยซูและเหล่าอัครสาวก 12 คนชุมนุมกันในห้องชั้นบนแห่งหนึ่งในกรุงเยรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคา ระลึกถึงการช่วยชาวอิสราเอลให้รอดพ้นจากอียิปต์. (มัดธาย 26:17-20) หลังจากที่ฉลองปัศคาซึ่งเป็นเทศกาลของชาวยิวเสร็จ พระเยซูทรงปล่อยให้ยูดาอิศการิโอดออกไปและทรงตั้งอาหารมื้อเย็นเพื่อรำลึกซึ่งในเวลาต่อมากลายมาเป็นการประชุมอนุสรณ์ที่คริสเตียนระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์.a โดยใช้ขนมปังไม่ใส่เชื้อและเหล้าองุ่นแดงเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพระกายและพระโลหิตของพระองค์ พระเยซูทรงให้เหล่าอัครสาวก 11 คนที่เหลือมีส่วนร่วมด้วยกันในอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้านี้. รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ทรงดำเนินการมีพรรณนาไว้โดยผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณสามเล่มแรก คือมัดธาย, มาระโก, และลูกา รวมทั้งอัครสาวกเปาโลซึ่งได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โกรินโธ 11:20, ล.ม.; มัดธาย 26:26-28; มาระโก 14:22-25; ลูกา 22:19, 20.
3. บันทึกของอัครสาวกโยฮันเกี่ยวกับชั่วโมงท้าย ๆ ที่พระเยซูทรงอยู่กับเหล่าสาวกในห้องชั้นบนแตกต่างจากบันทึกของคนอื่น ๆ ในลักษณะที่สำคัญเช่นไร?
3 น่าสนใจ อัครสาวกโยฮันไม่ได้กล่าวถึงการผ่านขนมปังและเหล้าองุ่น ทั้งนี้อาจเนื่องจากว่าเมื่อถึงตอนที่ท่านเขียนบันทึกพระธรรมกิตติคุณ (ประมาณปีสากลศักราช 98) ขั้นตอนปฏิบัติดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในหมู่คริสเตียนยุคแรก. (1 โกรินโธ 11:23-26) อย่างไรก็ตาม โดยได้รับการดลใจ โยฮันเป็นผู้เดียวที่ได้ให้ข้อมูลสำคัญบางอย่างแก่เราเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูตรัสและทำ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. รายละเอียดที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้มีอยู่ในพระธรรมกิตติคุณของโยฮันห้าบทเต็ม ๆ. รายละเอียดเหล่านี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงรักคนแบบไหน. ให้เรามาพิจารณาพระธรรมโยฮันบท 13 ถึงบท 17 อย่างละเอียด.
จงเรียนจากความรักอันเป็นแบบอย่างของพระเยซู
4. (ก) โยฮันเน้นอย่างไรเกี่ยวกับแนวคิดหลักอันโดดเด่นในการประชุมของพระเยซูกับเหล่าสาวกเมื่อพระองค์ทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ขึ้น? (ข) เหตุผลสำคัญที่พระยะโฮวาทรงรักพระเยซูคืออะไร?
4 ความรักเป็นแนวคิดหลักอันโดดเด่นที่มีให้เห็นโดยตลอดในบทเหล่านี้ซึ่งบันทึกคำแนะนำที่พระเยซูประทานแก่เหล่าสาวกก่อนที่พระองค์จะเสด็จจากไป. ที่จริง มีคำว่า “รัก” ในหลายลักษณะปรากฏในบทเหล่านี้ 31 ครั้ง. ไม่มีในที่อื่นใดที่จะเห็นความรักอันลึกซึ้งของพระเยซูต่อพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์และต่อเหล่าสาวกได้ชัดเท่ากับในบทเหล่านี้. ความรักของพระเยซูต่อพระยะโฮวาสามารถเห็นได้จากเรื่องราวชีวิตของพระองค์ในพระธรรมกิตติคุณทุกเล่ม แต่มีเฉพาะโยฮันเท่านั้นที่บันทึกว่าพระเยซูตรัสอย่างเปิดเผยว่า “เรารักพระบิดา.” (โยฮัน 14:31) พระเยซูยังตรัสด้วยว่าพระยะโฮวาทรงรักพระองค์และทรงอธิบายเหตุผลที่เป็นอย่างนั้น. พระองค์ตรัสว่า “พระบิดาได้ทรงรักเราฉันใด, เราก็รักท่านฉันนั้น ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของเรา. ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามบัญญัติของเรา, ท่านจะตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของเรา เหมือนเราได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระบิดา, และตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของพระองค์.” (โยฮัน 15:9, 10) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงรักพระบุตรเนื่องด้วยการเชื่อฟังโดยปราศจากข้อสงสัยของพระองค์. ช่างเป็นบทเรียนที่ดีสักเพียงไรสำหรับสาวกทุกคนของพระเยซูคริสต์!
5. พระเยซูทรงแสดงความรักต่อเหล่าสาวกอย่างไร?
5 ได้มีการเน้นความรักอันแรงกล้าของพระเยซูต่อเหล่าสาวกตั้งแต่ตอนต้นของบันทึกที่โยฮันรายงานเกี่ยวกับการประชุมครั้งสุดท้ายของพระเยซูกับเหล่าอัครสาวก. โยฮันเล่าว่า “เมื่อก่อนการเลี้ยงปัศคาพระเยซูทรงทราบว่าเวลามาถึงแล้วที่พระองค์จะออกจากโลกไปยังพระบิดา, พระองค์ทรงรักพวกศิษย์ของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้แล้ว, พระองค์ยังทรงรักเขาจนถึงที่สุด.” (โยฮัน 13:1) ในค่ำอันน่าจดจำวันนั้น พระองค์ทรงสอนบทเรียนที่ไม่อาจลืมได้ในเรื่องการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก. พระองค์ทรงล้างเท้าของพวกเขา. นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาแต่ละคนควรเต็มใจทำเพื่อพระเยซูและเพื่อพี่น้องของเขา แต่พวกเขาไม่ยอมทำ. พระเยซูทรงทำงานที่ต่ำต้อยนี้แล้วตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “ถ้าเราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ได้ล้างเท้าของท่านทั้งหลาย ๆ ควรจะล้างเท้าซึ่งกันและกัน. ด้วยว่าเราได้วางแบบอย่างให้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว, เพื่อให้ท่านทำเหมือนที่เราได้กระทำแก่ท่าน.” (โยฮัน 13:14, 15) คริสเตียนแท้ควรเต็มใจและมีความสุขที่จะรับใช้พี่น้อง.—มัดธาย 20:26, 27; โยฮัน 13:17.
จงปฏิบัติตามบัญญัติใหม่
6, 7. (ก) โยฮันให้รายละเอียดสำคัญอะไรเกี่ยวกับการตั้งการประชุมอนุสรณ์? (ข) พระเยซูทรงให้บัญญัติใหม่อะไรแก่เหล่าสาวก และมีอะไรใหม่เกี่ยวกับบัญญัติใหม่นี้?
6 บันทึกของโยฮันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ำวันที่ 14 เดือนไนซานที่ห้องชั้นบนนั้นเป็นแห่งเดียวที่กล่าวไว้อย่างเจาะจงชัดเจนเกี่ยวกับการออกไปของยูดาอิศการิโอด. (โยฮัน 13:21-30) เมื่อเรียบเรียงเรื่องราวที่บันทึกไว้ในพระธรรมกิตติคุณให้สอดคล้องกันแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าต่อเมื่อผู้ทรยศคนนี้ออกไปแล้ว พระเยซูจึงได้ตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ขึ้น. จากนั้น พระองค์ตรัสอย่างละเอียดกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ ให้คำแนะนำและพระบัญชาแก่พวกเขาก่อนที่พระองค์จะจากไป. ในขณะที่เราเตรียมตัวเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ เราควรสนใจอย่างจริงจังในสิ่งที่พระเยซูตรัส ณ โอกาสนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากเราปรารถนาอย่างแน่นอนที่จะเป็นคนหนึ่งซึ่งพระเจ้าทรงรัก.
7 พระบัญชาแรกที่พระเยซูประทานแก่เหล่าสาวกหลังจากที่ทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ขึ้นแล้วเป็นเรื่องใหม่. พระองค์ทรงประกาศว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย, คือให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน. เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วฉันใด, เจ้าจงรักซึ่งกันและกันด้วยฉันนั้น. คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:34, 35) มีอะไรใหม่เกี่ยวกับพระบัญชานี้? หลังจากนั้นเล็กน้อยในคืนนั้นเอง พระเยซูทรงอธิบายให้กระจ่างขึ้นโดยตรัสว่า “นี่แหละเป็นบัญญัติของเรา, คือให้ท่านทั้งหลายรักกันและกันเหมือนเราได้รักท่าน. ความรักใหญ่กว่านี้ไม่มี, คือว่าซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตัวเพื่อมิตรสหายของตน.” (โยฮัน 15:12, 13) พระบัญญัติของโมเซสั่งชาวอิสราเอลให้ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.” (เลวีติโก 19:18) แต่พระบัญชาของพระเยซูล้ำหน้าไปกว่านั้น. คริสเตียนต้องรักกันเหมือนพระคริสต์ทรงรักพวกเขา คือเต็มใจเสียสละชีวิตเพื่อพี่น้องของเขา.
8. (ก) ความรักที่เสียสละตัวเองเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง? (ข) พยานพระยะโฮวาแสดงความรักที่เสียสละตัวเองอย่างไรในทุกวันนี้?
8 ช่วงแห่งการประชุมอนุสรณ์เป็นเวลาเหมาะที่จะตรวจสอบตัวเราเอง ทั้งในส่วนของแต่ละคนและในฐานะประชาคม เพื่อดูว่าเรามีเครื่องหมายที่เด่นชัดนี้ซึ่งบ่งชี้ศาสนาคริสเตียนแท้หรือไม่ กล่าวคือความรักแบบพระคริสต์. ความรักที่เสียสละตัวเองเช่นนั้นอาจหมายถึงการที่คริสเตียนคนหนึ่งเสี่ยงชีวิตตนเองแทนที่จะทรยศพี่น้องของเขา และเคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้จริง ๆ ในบางครั้ง. แต่กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเกี่ยวข้องกับการที่เราเต็มใจจะเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือและรับใช้พี่น้องและคนอื่น ๆ. อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้. (2 โกรินโธ 12:15; ฟิลิปปอย 2:17) พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกสำหรับน้ำใจเสียสละตัวเอง ช่วยเหลือพี่น้องและเพื่อนบ้านและทุ่มเทตัวเองเพื่อนำความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไปบอกเพื่อนมนุษย์.b—ฆะลาเตีย 6:10.
สัมพันธภาพที่ควรทะนุถนอม
9. เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่เรามีกับพระเจ้าและพระบุตร เรายินดีทำอะไร?
9 ไม่มีสิ่งใดที่มีค่าสำหรับเรายิ่งไปกว่าการที่พระยะโฮวาและพระบุตร คือพระคริสต์เยซู ทรงรักเรา. แต่เพื่อจะได้รับและรู้สึกถึงความรักนี้ เราต้องทำบางสิ่ง. ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูทรงอยู่กับเหล่าสาวก พระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่มีบัญญัติของเราและประพฤติตามบัญญัตินั้น, ผู้นั้นแหละรักเรา, และผู้ที่รักเราพระบิดาของเราจะทรงรักผู้นั้น, และเราจะรักเขาและจะสำแดงตัวของเราเองให้ปรากฏแก่เขา.” (โยฮัน 14:21) เนื่องจากเราถือว่าสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าและพระบุตรมีค่ายิ่ง เราจึงเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ทั้งสองด้วยความยินดี. นี่หมายรวมถึงพระบัญญัติใหม่ที่จะแสดงความรักแบบเสียสละตัวเองและพระบัญชาที่พระคริสต์ประทานหลังจากที่คืนพระชนม์ “ให้ประกาศแก่ผู้คนและให้กล่าวคำพยานอย่างถี่ถ้วน” พยายาม ‘ทำให้คนที่ตอบรับข่าวดีเป็นสาวก.’—กิจการ 10:42, ล.ม.; มัดธาย 28:19, 20.
10. สัมพันธภาพอันล้ำค่าอะไรเปิดให้แก่ผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น”?
10 ต่อมาในคืนนั้น เพื่อตอบคำถามของยูดา (ธาดาย) ซึ่งเป็นอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดรักเรา, ผู้นั้นจะประพฤติตามคำของเรา และพระบิดาจะทรงรักเขา, แล้วพระบิดากับเราจะมาหาเขา, และจะสถิตอยู่กับเขา.” (โยฮัน 14:22, 23) แม้แต่ขณะยังอยู่บนแผ่นดินโลก คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งถูกเรียกให้ปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์มีสัมพันธภาพใกล้ชิดเป็นพิเศษกับพระยะโฮวาและพระบุตร. (โยฮัน 15:15; 16:27; 17:22; เฮ็บราย 3:1; 1 โยฮัน 3:2, 24) แต่ “แกะอื่น” ที่เป็นสหายของพวกเขา ซึ่งมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก ก็มีสัมพันธภาพอันล้ำค่ากับ “ผู้เลี้ยงผู้เดียว” คือพระเยซูคริสต์ และกับพระเจ้าพระยะโฮวา หากพวกเขาพิสูจน์ตัวว่าเชื่อฟัง.—โยฮัน 10:16; บทเพลงสรรเสริญ 15:1-5; 25:14.
“เจ้ามิได้เป็นส่วนของโลก”
11. คำเตือนที่น่าคิดอย่างจริงจังอะไรซึ่งพระเยซูประทานแก่เหล่าสาวก?
11 ระหว่างการประชุมครั้งสุดท้ายกับเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูประทานคำเตือนที่น่าคิดอย่างจริงจังที่ว่า หากพระเจ้าทรงรักผู้ใด ผู้นั้นจะถูกโลกเกลียดชัง. พระองค์ทรงประกาศว่า “ถ้าโลกเกลียดชังเจ้าทั้งหลาย เจ้าก็รู้ว่าโลกได้เกลียดชังเราก่อน. ถ้าเจ้าทั้งหลายเป็นส่วนของโลก โลกก็จะรักซึ่งเป็นของโลกเอง. บัดนี้เพราะเจ้ามิได้เป็นส่วนของโลก แต่เราได้เลือกเจ้าออกจากโลก ด้วยเหตุนี้โลกจึงเกลียดชังเจ้า. จงระลึกถึงคำที่เราได้กล่าวแก่เจ้าทั้งหลายว่า ทาสไม่ใหญ่กว่านายของตน. ถ้าเขาได้ข่มเหงเรา เขาก็จะข่มเหงเจ้าด้วย; ถ้าเขาได้ปฏิบัติตามคำของเรา เขาก็จะปฏิบัติตามคำของเจ้าด้วย.”—โยฮัน 15:18-20, ล.ม.
12. (ก) เหตุใดพระเยซูจึงเตือนเหล่าสาวกว่าโลกจะชังพวกเขา? (ข) ทุกคนควรใคร่ครวญเรื่องใดขณะที่การประชุมอนุสรณ์ใกล้เข้ามา?
12 พระเยซูประทานคำเตือนนี้เพื่ออัครสาวก 11 คนและคริสเตียนแท้ทุกคนที่ดำเนินตามอย่างพวกเขาจะไม่ท้อใจและเลิกราเพราะถูกโลกเกลียดชัง. พระองค์ตรัสเสริมอีกว่า “สิ่งเหล่านั้นเราบอกท่านทั้งหลายแล้ว, เพื่อมิให้ท่านสะดุดกะดาก. เขาจะไล่ท่านทั้งหลายเสียจากธรรมศาลา แท้จริงวันหนึ่งทุกคนที่ประหารชีวิตของท่านจะคิดว่าเขาทำการนั้นเป็นการปฏิบัติพระเจ้า สิ่งเหล่านั้นเขาจะกระทำเพราะว่าเขามิได้รู้จักพระบิดาและมิได้รู้จักเรา.” (โยฮัน 16:1-3) พจนานุกรมอรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายว่า รูปของคำกริยาที่แปลในที่นี้ว่า “สะดุด” หมายถึง “เริ่มไม่ไว้วางใจและละทิ้งบุคคลที่เขาควรไว้วางใจและเชื่อฟัง; ออกหาก.” ขณะที่เวลาของการประชุมอนุสรณ์ใกล้เข้ามา ทุกคนควรใคร่ครวญเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้ซื่อสัตย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเลียนแบบอย่างของพวกเขาในการยืนหยัดมั่นคงเมื่อถูกทดลอง. อย่ายอมให้การต่อต้านหรือการข่มเหงทำให้คุณละทิ้งพระยะโฮวาและพระเยซู แต่จงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไว้วางใจและเชื่อฟังพระองค์ทั้งสอง.
13. พระเยซูทรงทูลขออะไรเพื่อเหล่าสาวกในคำอธิษฐานต่อพระบิดาของพระองค์?
13 ในคำอธิษฐานปิดก่อนจะออกจากห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเลม พระเยซูตรัสกับพระบิดาของพระองค์ว่า “ข้าพเจ้ามอบพระคำของพระองค์แก่พวกเขาแล้ว แต่โลกได้เกลียดชังเขา เพราะเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก. ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้าย. พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:14-16, ล.ม.) เราแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงพิทักษ์ผู้ที่พระองค์ทรงรัก เสริมกำลังพวกเขาขณะที่พวกเขารักษาตัวไม่เป็นส่วนของโลก.—ยะซายา 40:29-31.
ตั้งมั่นอยู่ในความรักของพระบิดาและพระบุตร
14, 15. (ก) พระเยซูทรงเปรียบพระองค์เองกับอะไร เมื่อเทียบกับ “เถาองุ่นที่เสื่อมสภาพ”? (ข) ใครเป็น “แขนง” ของ “เถาองุ่นแท้”?
14 ระหว่างที่ทรงสนทนาอย่างสนิทสนมกับเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ในคืนวันที่ 14 เดือนไนซาน พระเยซูทรงเปรียบพระองค์เองเป็น “เถาองุ่นแท้” ทั้งนี้โดยเทียบกับ “เถาองุ่นที่เสื่อมสภาพ” แห่งชาติอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์. พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่นแท้ และพระบิดาของเราเป็นผู้ดูแลรักษา.” (โยฮัน 15:1, ล.ม.) หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ผู้พยากรณ์ยิระมะยาบันทึกคำตรัสของพระยะโฮวาที่มีแก่ไพร่พลที่ทรยศละทิ้งพระองค์ว่า “เราได้ปลูกเจ้าเป็นต้นองุ่นใหญ่ .. . อย่างไรเจ้าจึงได้กลับเป็นต้นอันเสื่อมลงคือเป็นต้นองุ่นที่เราไม่รู้จักเล่า?” (ยิระมะยา 2:21) และผู้พยากรณ์โฮเซอาเขียนว่า “อิสราเอลเป็นเถาองุ่นที่เสื่อมสภาพ. เขาเกิดผลสำหรับตนเองเสมอ . . . . หัวใจเขากลับกลายเป็นหน้าซื่อใจคด.”—โฮเซอา 10:1, 2, ล.ม.
15 แทนที่จะเกิดผลแห่งการนมัสการแท้ ชาติอิสราเอลถลำสู่การออกหากและเกิดผลสำหรับตัวเอง. สามวันก่อนจะประชุมครั้งสุดท้ายกับเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ พระเยซูตรัสแก่พวกหัวหน้าศาสนายิวที่หน้าซื่อใจคดว่า “เราบอกท่านว่า, แผ่นดินของพระเจ้าจะต้องเอาไปจากท่าน, ยกให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งจะกระทำให้ผลเจริญสมกับแผ่นดินนั้น.” (มัดธาย 21:43) ชาติใหม่นั้นได้แก่ “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” ซึ่งประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม 144,000 คนที่เปรียบได้กับ “แขนง” ของ “เถาองุ่นแท้” อันได้แก่พระคริสต์เยซู.—ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.; โยฮัน 15:5, ล.ม.; วิวรณ์ 14:1, 3.
16. พระเยซูทรงกระตุ้นอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนให้ทำอะไร และอาจกล่าวได้เช่นไรเกี่ยวกับชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์ในเวลาอวสานนี้?
16 พระเยซูตรัสแก่อัครสาวก 11 คนที่อยู่กับพระองค์ในห้องชั้นบนว่า “ทุกแขนงในเราที่ไม่เกิดผลพระองค์ก็ทรงตัดทิ้งเสีย และทุกแขนงที่เกิดผล พระองค์ทรงลิดให้สะอาด เพื่อจะให้เกิดผลมากขึ้น. จงร่วมสามัคคีกับเราต่อไป และเราจะร่วมสามัคคีกันกับเจ้าทั้งหลาย. แขนงจะเกิดผลเองไม่ได้เว้นแต่จะติดสนิทอยู่กับเถาต่อไปฉันใด เจ้าทั้งหลายก็จะเกิดผลไม่ได้ เว้นแต่เจ้าจะร่วมสามัคคีกับเราต่อไปฉันนั้น.” (โยฮัน 15:2, 4, ล.ม.) ประวัติในสมัยปัจจุบันของไพร่พลพระยะโฮวาแสดงว่าชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์แห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซูผู้เป็นประมุขของพวกเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย. (เอเฟโซ 5:23) พวกเขาได้ตอบรับการชำระให้สะอาดและการลิดกิ่ง. (มาลาคี 3:2, 3) นับตั้งแต่ปี 1919 พวกเขาได้ก่อให้เกิดผลแห่งราชอาณาจักรอย่างอุดมบริบูรณ์ ในอันดับแรกคือคริสเตียนผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ และตั้งแต่ปี 1935 “ชนฝูงใหญ่” สหายของพวกเขาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ยะซายา 60:4, 8-11.
17, 18. (ก) คำตรัสอะไรของพระเยซูที่ช่วยผู้ถูกเจิมและแกะอื่นให้ตั้งมั่นอยู่ในความรักของพระยะโฮวา? (ข) การเข้าร่วมประชุมอนุสรณ์จะช่วยเราอย่างไร?
17 พระเยซูตรัสเพิ่มเติมเกี่ยวกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งหมดและสหายของพวกเขาว่า “พระบิดาของเราได้รับเกียรติยศเพราะสิ่งนี้, คือเมื่อท่านเกิดผลมาก, ท่านทั้งหลายจึงเป็นสาวกของเรา. พระบิดาได้ทรงรักเราฉันใด, เราก็รักท่านฉันนั้น ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของเรา. ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามบัญญัติของเรา, ท่านจะตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของเรา เหมือนเราได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระบิดา, และตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของพระองค์.”—โยฮัน 15:8-10.
18 เราทุกคนต้องการตั้งมั่นอยู่ในความรักของพระเจ้า และความปรารถนาเช่นนี้กระตุ้นเราให้เป็นคริสเตียนที่เกิดผล. เราทำอย่างนี้โดยการใช้ทุกโอกาสในการประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) เราทำเต็มที่ด้วยเพื่อแสดง “ผลแห่งพระวิญญาณ” ให้ปรากฏชัดในชีวิตเราเอง. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) การเข้าร่วมประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์จะเสริมกำลังเราในความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอย่างนั้น เพราะเราจะได้รับการเตือนใจให้นึกถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและพระคริสต์ที่มีต่อเรา.—2 โกรินโธ 5:14, 15.
19. จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรอีกในบทความถัดไป?
19 หลังจากที่ทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ขึ้นแล้ว พระเยซูทรงสัญญาว่าพระบิดาของพระองค์จะส่ง “ผู้ช่วยนั้น คือพระวิญญาณบริสุทธิ์” ให้แก่สาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. (โยฮัน 14:26, ล.ม.) ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาวิธีที่พระวิญญาณนี้ช่วยผู้ถูกเจิมและแกะอื่นให้ตั้งมั่นอยู่ในความรักของพระยะโฮวา.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับปี 2002 ตามการคำนวณตามหลักคัมภีร์ไบเบิล วันที่ 14 เดือนไนซานเริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ตกในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม. ในค่ำวันนั้น พยานพระยะโฮวาทั่วโลกจะประชุมกันเพื่อรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า.
b โปรดดูหนังสือพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา บท 19 และ 32.
คำถามทบทวน
• บทเรียนอะไรที่ใช้ได้จริงในเรื่องการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรักซึ่งพระเยซูทรงสอนสาวกของพระองค์?
• ช่วงแห่งการประชุมอนุสรณ์เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการตรวจสอบตัวเองในแง่ใด?
• เหตุใดเราไม่ควรสะดุดเนื่องด้วยคำเตือนของพระเยซูเกี่ยวกับการที่เราจะถูกโลกเกลียดชังและข่มเหง?
• ใครคือ “เถาองุ่นแท้”? ใครคือ “แขนง” และมีการคาดหมายจากพวกเขาเช่นไร?
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงสอนบทเรียนที่ไม่อาจลืมได้แก่เหล่าอัครสาวกในเรื่องการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก
[ภาพหน้า 16, 17]
สาวกของพระคริสต์เชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ที่ให้แสดงความรักแบบเสียสละตัวเอง