พระธรรมเล่มที่ 49—เอเฟโซ
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โรม
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 60-61
1. เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซเมื่อไร และภายใต้สภาพการณ์เช่นไร?
ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในคุก. คุณอยู่ที่นั่นเนื่องจากถูกกดขี่ข่มเหงเพราะการที่คุณทำงานด้วยใจแรงกล้าในฐานะมิชชันนารีคริสเตียน. บัดนี้ คุณไม่อาจเดินทางและเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ได้อีกต่อไปเพื่อเสริมกำลังพวกเขาให้เข้มแข็งขึ้น คุณจะทำอะไร? คุณเขียนจดหมายไปถึงคนเหล่านั้นที่เข้ามาเป็นคริสเตียนเนื่องจากงานประกาศของคุณได้มิใช่หรือ? พวกเขาคงอยากรู้ว่าคุณเป็นอย่างไรมิใช่หรือ และพวกเขาคงจำเป็นต้องได้รับการหนุนกำลังใจมิใช่หรือ? แน่นอน! ดังนั้น คุณจึงเริ่มเขียนจดหมาย. บัดนี้คุณกำลังทำเหมือนที่อัครสาวกเปาโลทำตอนท่านถูกคุมขังที่โรมเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี ส.ศ. 59-61. ท่านได้อุทธรณ์ต่อกายะซาและแม้ว่ากำลังรอการพิจารณาคดีและถูกควบคุมตัว แต่ท่านมีอิสระจะทำกิจกรรมบางอย่างได้. เปาโลเขียนจดหมายจากโรม “ถึงชาวเอเฟโซ” (ล.ม.) อาจเป็นในปี ส.ศ. 60 หรือ 61 และให้ตุคิโกส่งจดหมายนั้น โดยมีโอเนซิมุส (โอเนซิโม) ร่วมทางไปด้วย.—เอเฟ. 6:21; โกโล. 4:7-9.
2, 3. อะไรที่พิสูจน์แน่ชัดว่าเปาโลเป็นผู้เขียนและในขณะเดียวกันก็พิสูจน์ว่าพระธรรมเอเฟโซเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์?
2 เปาโลระบุตัวท่านเองว่าเป็นผู้เขียนในคำแรกเลยทีเดียว และพาดพิงถึงหรือกล่าวถึงตัวท่านเองสี่ครั้งว่าเป็น “ผู้ที่ถูกจำจองเพราะเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า.” (เอเฟ. 1:1; 3:1, 13; 4:1; 6:20) ข้อโต้แย้งที่ว่าเปาโลไม่ใช่ผู้เขียนจึงตกไป. เชสเตอร์ บีทตี พาไพรัส หมายเลข 2 (P46) ซึ่งเชื่อกันว่าเขียนขึ้นประมาณปี ส.ศ. 200 นั้น มี 86 แผ่นจากโคเดกซ์ฉบับหนึ่งซึ่งบรรจุจดหมายต่าง ๆ ของเปาโล. ในจดหมายเหล่านั้นมีจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซด้วย จึงแสดงว่าพระธรรมเอเฟโซถูกจัดไว้กับจดหมายฉบับต่าง ๆ ที่ท่านเขียนในเวลานั้น.
3 ผู้เขียนเกี่ยวกับการเผยแพร่กิตติคุณในสมัยแรก ๆ ยืนยันว่า เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้และยืนยันว่าเป็นจดหมาย “ถึงชาวเอเฟโซ.” ตัวอย่างเช่น อิเรแนอุสแห่งศตวรรษที่สองได้ยกเอเฟโซ 5:30 ไปกล่าวดังต่อไปนี้: “ดังที่ท่านเปาโลที่นับถือกล่าวไว้ในจดหมายถึงชาวเอเฟโซว่า เราทั้งหลายเป็นอวัยวะแห่งพระกายของพระองค์.” เคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรียในศตวรรษเดียวกันได้ยกเอเฟโซ 5:21 ขึ้นมาเขียนว่า “เหตุฉะนั้นก็เช่นเดียวกัน ท่านเขียนในจดหมายถึงชาวเอเฟโซว่า จงยอมอยู่ใต้อำนาจกันและกันด้วยเกรงกลัวพระเจ้า.” ออริเกนซึ่งเขียนในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่สามได้ยกเอเฟโซ 1:4 ไปกล่าวในถ้อยคำที่ว่า “แต่ในจดหมายถึงชาวเอเฟโซก็เช่นกัน ท่านอัครสาวกใช้สำนวนเดียวกันเมื่อท่านกล่าวว่า ผู้ได้ทรงเลือกเราไว้ตั้งแต่ก่อนทรงวางรากสร้างโลก.”a ยูเซบิอุส ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งในด้านประวัติศาสตร์ของคริสเตียนในสมัยแรก ๆ (ประมาณปี ส.ศ. 260-340) รวมพระธรรมเอเฟโซไว้ในสารบบพระคัมภีร์ และนักเขียนเกี่ยวกับการเผยแพร่กิตติคุณในสมัยแรก ๆ ส่วนใหญ่ก็อ้างอิงถึงเอเฟโซในฐานะที่เป็นส่วนของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ.b
4. อะไรทำให้บางคนคาดคะเนว่า พระธรรมเอเฟโซถูกเขียนถึงที่อื่น แต่มีหลักฐานอะไรสนับสนุนว่าเอเฟโซเป็นปลายทางของจดหมายนี้?
4 เชสเตอร์ บีทตี พาไพรัส, สำเนาต้นฉบับวาติกันหมายเลข 1209, และสำเนาต้นฉบับไซนายติกละคำว่า “ในเอเฟโซ” ในบท 1 ข้อ 1 และดังนั้นจึงไม่ได้ระบุปลายทางของจดหมาย. ข้อเท็จจริงนี้ ประกอบกับการที่ไม่มีคำทักทายบุคคลในเอเฟโซ (แม้เปาโลได้ทำงานอยู่ที่นั่นถึงสามปี) ทำให้บางคนคาดคะเนว่า จดหมายฉบับนี้อาจเขียนถึงที่อื่น หรือไม่ก็เป็นจดหมายเวียนถึงประชาคมต่าง ๆ ในเอเชียไมเนอร์ ซึ่งรวมทั้งเอเฟโซด้วย. อย่างไรก็ตาม สำเนาต้นฉบับอื่นส่วนใหญ่มีคำว่า “ในเอเฟโซ” อยู่ด้วย และตามที่เราได้สังเกตมาแล้วในตอนต้น พวกผู้เขียนเกี่ยวกับการเผยแพร่กิตติคุณในสมัยแรก ๆ ต่างยอมรับว่าจดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซ.
5. มีอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองเอเฟโซในสมัยของเปาโล?
5 ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังบางอย่างของเมืองเอเฟโซจะช่วยเราให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของจดหมายฉบับนี้. ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช เอเฟโซมีชื่อเสียงในเรื่องเวทมนตร์, มายาการ, โหราศาสตร์, และการนมัสการอะระเตมีเทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์.c รอบ ๆ รูปปั้นเทพธิดาองค์นี้มีวิหารอันโอ่อ่าโอฬารตั้งอยู่ซึ่งถือกันว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทั้งเจ็ดของโลกโบราณ. ตามที่มีการขุดค้นสถานที่นี้ในศตวรรษที่ 19 วิหารนี้ถูกสร้างบนลานขนาดกว้างประมาณ 240 ฟุตและยาวประมาณ 418 ฟุต. ตัววิหารเองกว้างราว 164 ฟุตและยาวราว 343 ฟุต. วิหารนี้มีเสาหินอ่อน 100 ต้น แต่ละต้นสูง 55 ฟุต. หลังคามุงด้วยกระเบื้องหินอ่อนสีขาวขนาดใหญ่. กล่าวกันว่ามีการใช้ทองแทนปูนในการเชื่อมรอยต่อระหว่างก้อนหินอ่อน. วิหารนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และผู้มาเยือนนับแสนจะหลั่งไหลกันเข้ามาในเมืองนี้ในช่วงเทศกาล. ช่างเงินในเอเฟโซดำเนินธุรกิจที่ทำกำไรดีด้วยการขายศาลจำลองขนาดเล็กของพระอะระเตมีซึ่งทำด้วยเงินแก่พวกนักท่องเที่ยวเป็นของที่ระลึก.
6. การงานของเปาโลในเมืองเอเฟโซกว้างขวางเพียงใด?
6 เปาโลแวะในเมืองเอเฟโซระหว่างการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สองของท่านเพื่อประกาศช่วงสั้น ๆ และจากนั้นก็ให้อะกุลาและปริศกิลาอยู่ที่นี่เพื่อทำงานต่อ. (กิจ. 18:18-21) ท่านกลับมาอีกในการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สามและพักอยู่ประมาณสามปี ประกาศและสอน “ทางนั้น” แก่หลายคน. (กิจ. 19:8-10; 20:31) เปาโลทำงานหนักขณะอยู่ในเอเฟโซ. ในหนังสือของ เอ. อี. เบลี ชื่อชีวิตประจำวันในสมัยคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) เขาเขียนว่า “กิจปกติของเปาโลคือทำงานอาชีพตั้งแต่อรุณรุ่งจนถึง 11 น. (กิจ. 20:34, 35) ซึ่งเป็นเวลาที่ตุระโนสอนเสร็จแล้ว จากนั้นตั้งแต่ 11 น. จนถึง 16 น. ท่านจะสั่งสอนในห้องประชุม, จัดประชุมกับผู้ช่วย . . . และสุดท้ายท่านจะไปเผยแพร่กิตติคุณตามบ้านซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 16 น. จนถึงดึก. (กิจ. 20:20, 21, 31) มีคนสงสัยว่าท่านหาเวลาตอนไหนรับประทานอาหารและนอนหลับ.”—1943 หน้า 308.
7. การประกาศของเปาโลด้วยใจแรงกล้าก่อผลอะไร?
7 ในการประกาศด้วยใจแรงกล้านี่เองที่เปาโลเปิดโปงการใช้รูปเคารพในการนมัสการ. การทำเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ทำและขายรูปเคารพโกรธแค้น เช่น ช่างเงินชื่อเดเมเตรียว และในที่สุดเปาโลจำต้องออกจากเมืองนี้ไปในขณะที่มีความโกลาหลวุ่นวาย.—กิจ. 19:23–20:1.
8. จดหมายของเปาโลถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซนับว่าเหมาะกับเวลาที่สุดในด้านใดบ้าง?
8 บัดนี้ ในขณะถูกคุมขังอยู่ เปาโลคิดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ประชาคมเอเฟโซต้องประสบเนื่องจากถูกห้อมล้อมด้วยผู้นมัสการนอกรีตอีกทั้งอยู่ใกล้กับวิหารที่น่าเกรงขามของพระอะระเตมี. ไม่ต้องสงสัยว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการอธิบายโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่เหมาะเจาะอย่างที่เปาโลให้แก่พวกเขาในตอนนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าพวกเขาประกอบเป็น “พระวิหารบริสุทธิ์” ซึ่งพระยะโฮวาสถิตโดยทางพระวิญญาณของพระองค์. (เอเฟ. 2:21, ล.ม.) “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งถูกเปิดเผยแก่คริสเตียนชาวเอเฟโซอันเกี่ยวกับการบริหารงานของพระเจ้า (วิธีของพระองค์ในการจัดการเรื่องราวในครอบครัวของพระองค์) ซึ่งพระองค์จะทรงใช้ฟื้นฟูเอกภาพและสันติสุขโดยทางพระเยซูคริสต์ คือสิ่งที่ก่อแรงดลใจและการปลอบโยนอย่างใหญ่หลวงแก่พวกเขา. (1:9, 10) เปาโลเน้นเอกภาพของชาวยิวและชนต่างชาติในพระคริสต์. ท่านกระตุ้นเตือนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้เป็นเอกภาพ. ดังนั้น ตอนนี้เราจึงเข้าใจได้ถึงวัตถุประสงค์, คุณค่า, และการได้รับการดลใจอย่างเห็นได้ชัดของพระธรรมเล่มนี้.
เนื้อเรื่องในเอเฟโซ
9. พระเจ้าทรงประทานความรักของพระองค์อย่างเหลือล้นอย่างไร และเปาโลอธิษฐานเช่นไร?
9 พระประสงค์ของพระเจ้าในการทำให้มีเอกภาพโดยพระคริสต์ (1:1–2:22). อัครสาวกเปาโลส่งคำทักทายมา. พระเจ้าพึงได้รับการสรรเสริญเนื่องด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับอันรุ่งโรจน์ของพระองค์. พระกรุณานี้เกี่ยวข้องกับการที่พระองค์ทรงเลือกพวกเขามาร่วมสามัคคีกับพระเยซูคริสต์ ซึ่งโดยอาศัยพระเยซูคริสต์พวกเขาจึงได้รับการปลดปล่อยด้วยค่าไถ่โดยพระโลหิตของพระองค์. นอกจากนั้น พระเจ้าทรงประทานความรักแก่พวกเขาอย่างเหลือล้นโดยทรงเผยให้ทราบความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระทัยประสงค์ของพระองค์. เนื่องจากพระองค์ทรงประสงค์ให้มีการบริหารงานเพื่อ “รวบรวมสิ่งสารพัดเข้าไว้ในพระคริสต์อีก” ซึ่งโดยร่วมสามัคคีกับพระองค์ พวกเขาถูกมอบหมายให้เป็นทายาทด้วย. (1:10, ล.ม.) เพื่อเป็นเครื่องมัดจำล่วงหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาจึงได้รับการประทับตราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. เปาโลอธิษฐานขอให้พวกเขาเชื่อมั่นในความหวังซึ่งพวกเขาได้รับการทรงเรียกและให้ตระหนักว่า พระเจ้าจะทรงใช้ฤทธิ์เดชเดียวกันต่อพวกเขา ซึ่งพระองค์ได้ทรงใช้ในการปลุกพระคริสต์ให้คืนพระชนม์และในการตั้งพระคริสต์ให้อยู่เหนือการปกครองและอำนาจทุกอย่าง และตั้งพระองค์เป็นประมุขเหนือสารพัดสิ่งแก่ประชาคม.
10. ชาวเอเฟโซกลายมาเป็น “พลเมืองร่วมกับชนผู้บริสุทธิ์” อย่างไร?
10 เนื่องด้วยพระเมตตาอันอุดมและความรักอันใหญ่หลวงของพระองค์ พระเจ้าจึงทรงบันดาลให้พวกเขามีชีวิตถึงแม้พวกเขาเคยตายแล้วในการล่วงละเมิดและการบาป และทรงโปรดให้พวกเขานั่งด้วยกัน “ในสวรรค์สถานร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซู.” (2:6, ล.ม.) ทั้งหมดนี้ก็เนื่องด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความเชื่อ และมิใช่ด้วยผลจากการกระทำใด ๆ ของพวกเขาเอง. พระคริสต์ทรงเป็นสันติสุขของพวกเขาผู้ได้ทรงรื้อฝากั้น คือกฎของพระบัญญัติ ซึ่งได้กั้นชนต่างชาติไว้จากชาวยิว. บัดนี้ทั้งสองพวกเข้าเฝ้าพระบิดาโดยทางพระคริสต์. ฉะนั้น คริสเตียนชาวเอเฟโซจึงไม่ได้เป็นคนต่างด้าวอีกต่อไป แต่พวกเขาเป็น “พลเมืองร่วมกับชนผู้บริสุทธิ์” และกำลังเติบโตเป็นพระวิหารบริสุทธิ์ให้พระยะโฮวาสถิตโดยพระวิญญาณของพระองค์.—2:19, ล.ม.
11. “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” คืออะไร และเปาโลอธิษฐานขออะไรเพื่อคริสเตียนชาวเอเฟโซ?
11 “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระคริสต์” (3:1-21). บัดนี้ พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยให้เหล่าอัครสาวกบริสุทธิ์และผู้พยากรณ์ของพระองค์ทราบ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระคริสต์ . . . คือว่า ผู้คนจากชาติต่าง ๆ จะเป็นทายาทร่วมและเป็นอวัยวะร่วมแห่งกายและเป็นผู้ร่วมรับคำสัญญากับเราร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซูโดยทางข่าวดี.” (3:4, 6, ล.ม.) ด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า เปาโลได้มาเป็นผู้รับใช้แห่งข่าวดีนี้ เพื่อประกาศความอุดมบริบูรณ์อันหาที่สุดมิได้ของพระคริสต์และทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าความลับอันศักดิ์สิทธิ์มีการบริหารอย่างไร. โดยทางประชาคมนั่นเองที่พระปัญญาหลายหลากของพระเจ้าเป็นที่รู้จัก. เนื่องด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงอธิษฐานขอให้พวกเขาได้รับกำลังเข้มแข็งโดยพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อพวกเขาจะรู้จักอย่างเต็มที่ถึงความรักของพระคริสต์ซึ่งเหนือกว่าความรู้ และตระหนักว่าพระเจ้าทรงสามารถ “ทำอย่างเหลือล้นเกินกว่าสารพัดสิ่งที่เราทูลขอหรือคิดออก.”—3:20, ล.ม.
12. (ก) ชนคริสเตียนควรประพฤติอย่างไร และเพราะเหตุใด? (ข) พระคริสต์ทรงให้ของประทานอะไร และเพื่อจุดประสงค์อะไร? (ค) มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการสวม “บุคลิกภาพใหม่”?
12 การสวม “บุคลิกภาพใหม่” (4:1–5:20). คริสเตียนควรประพฤติอย่างคู่ควรกับการที่พวกเขาถูกเรียกคือ ด้วยความถ่อมใจ, ด้วยความอดกลั้นทนนานและความรัก, และด้วยเครื่องผูกพันแห่งสันติสุขที่ทำให้เป็นเอกภาพ. เพราะมีพระวิญญาณเดียว, ความหวังเดียว, ความเชื่อเดียว, และ “มีพระเจ้าและพระบิดาของคนทั้งปวงองค์เดียว ผู้ทรงอยู่เหนือคนทั้งปวงและทั่วคนทั้งปวงและในคนทั้งปวง.” (4:6, ล.ม.) ฉะนั้น พระคริสต์ “พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว” ได้ทรงประทานผู้พยากรณ์, ผู้เผยแพร่กิตติคุณ, ผู้บำรุงเลี้ยง, และผู้สอน “โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์.” ดังนั้น เปาโลเขียนว่า “โดยพูดความจริง ด้วยความรัก ให้เราเติบโตขึ้นในทุกสิ่งในพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะ คือพระคริสต์” เป็นร่างกายที่เชื่อมต่อกันเป็นอย่างดีโดยมีอวัยวะทุกส่วนประสานงานกัน. (4:5, 12, 15, ล.ม.) วิถีทางที่ผิดศีลธรรม, ไร้ประโยชน์, และโง่เขลาแห่งบุคลิกภาพเก่านั้นต้องถอดทิ้ง; แต่ละคนควรถูกเปลี่ยนใหม่ในพลังที่กระตุ้นจิตใจของเขา และ “สวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรม และความภักดีที่แท้จริง.” เพราะทุกคนเป็นของกันและกัน พวกเขาจึงต้องพูดความจริงและละทิ้งความโกรธแค้น, การลักขโมย, คำพูดน่ารังเกียจ, ความขมขื่นด้วยเจตนาร้าย—ไม่ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย. แต่ให้พวกเขา “มีใจกรุณาต่อกัน, มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน, ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้างเหมือนดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยใจกว้างโดยทางพระคริสต์.”—4:24, 32, ล.ม.
13. เพื่อเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า คนเราต้องทำอะไรบ้าง?
13 ทุกคนควรเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า. การผิดประเวณี, การโสโครก, และความโลภ ไม่ควรแม้แต่จะเอ่ยถึงในท่ามกลางพวกเขา เพราะว่าผู้ที่ทำการเหล่านี้จะไม่ได้รับมรดกในราชอาณาจักร. เปาโลเตือนสติคริสเตียนชาวเอเฟโซว่า “จงดำเนินต่อไปอย่างลูกของความสว่าง.” “จงระวังอย่างเข้มงวด” ในวิธีที่ท่านดำเนิน ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลาอันเหมาะ “เพราะสมัยนี้ชั่วช้า.” ใช่แล้ว พวกเขาจะต้อง “สังเกตเข้าใจต่อไปว่าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นเช่นไร” และสนทนากันเรื่องคำสรรเสริญพระเจ้าด้วยการขอบพระคุณ.—5:8, 15-17, ล.ม.
14. สามีและภรรยาต่างมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร?
14 การยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างเหมาะสม; การต่อสู้ของคริสเตียน (5:21–6:24). ภรรยาควรยอมอยู่ใต้อำนาจสามี เหมือนประชาคมยอมอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์ และสามีควรรักภรรยาต่อ ๆ ไป “เช่นเดียวกับพระคริสต์ได้ทรงรักประชาคม.” ทำนองเดียวกัน “ภรรยาควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.”—5:25, 33, ล.ม.
15. เปาโลแนะนำอะไรเกี่ยวกับบุตรและบิดามารดา, ทาสและนาย, และยุทธภัณฑ์ของคริสเตียน?
15 บุตรทั้งหลายควรอยู่กับบิดามารดาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยการเชื่อฟังและตอบรับการตีสอนตามแนวทางของพระเจ้า. ทาสและนายก็เช่นกันควรประพฤติตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เนื่องจากพระองค์ผู้เป็นนายของทุกคนนั้น “อยู่ในสวรรค์ และพระองค์ไม่มีความลำเอียง.” สุดท้าย ให้ทุกคน “รับเอาพลังต่อ ๆ ไปในองค์พระผู้เป็นเจ้าและในพลานุภาพแห่งฤทธิ์เดชของพระองค์” โดยสวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้าเพื่อจะสามารถยืนมั่นต่อสู้พญามารได้. “ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงรับเอาโล่ใหญ่แห่งความเชื่อ” รวมทั้ง “ดาบแห่งพระวิญญาณ คือพระคำของพระเจ้า” ด้วย. จงอธิษฐานต่อ ๆ ไปและตื่นตัวเสมอ. เปาโลขอให้พวกเขาอธิษฐานเพื่อท่านด้วย เพื่อท่านจะพูดอย่างสะดวกใจเต็มที่ในการ “ประกาศความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งข่าวดี.”—6:9, 10, 16, 17, 19, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
16. พระธรรมเอเฟโซให้คำตอบที่ใช้ได้จริงสำหรับคำถามอะไรบ้าง และมีกล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับบุคลิกภาพซึ่งเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า?
16 จดหมายที่มีถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคริสเตียนเกือบทุกด้าน. เมื่อคำนึงถึงการที่ปัญหาซึ่งก่อความทุกข์เดือดร้อนและการทำผิดกฎหมายในโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยปัจจุบัน คำแนะนำที่สมเหตุผลและใช้ได้จริงของเปาโลจึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้ที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า. บุตรควรประพฤติตัวอย่างไรต่อบิดามารดา และบิดามารดาควรประพฤติตัวอย่างไรต่อบุตร? สามีมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อภรรยา และภรรยามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อสามี? แต่ละคนในประชาคมจะต้องทำอะไรเพื่อธำรงเอกภาพในความรักและความบริสุทธิ์สะอาดฝ่ายคริสเตียนท่ามกลางโลกชั่ว? คำแนะนำของเปาโลครอบคลุมคำถามเหล่านี้ทั้งหมด และท่านยังเผยให้เห็นต่อไปถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยในการสวมบุคลิกภาพใหม่แบบคริสเตียน. โดยการศึกษาพระธรรมเอเฟโซ ทุกคนจะสามารถได้รับความเข้าใจแท้ในเรื่องบุคลิกภาพซึ่งเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าและ “ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.”—4:24-32; 6:1-4; 5:3-5, 15-20, 22-33, ล.ม.
17. พระธรรมเอเฟโซเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับการร่วมมือกับการจัดเตรียมต่าง ๆ ในประชาคม?
17 จดหมายฉบับนี้ยังเผยให้ทราบวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งและการมอบหมายหน้าที่ในประชาคมด้วย. ทั้งนี้ “โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์” โดยมีเป้าหมายที่ความอาวุโส. โดยการร่วมมืออย่างเต็มที่ในการจัดเตรียมเหล่านี้ของประชาคม คริสเตียนสามารถ “ด้วยความรัก . . . เติบโตขึ้นในทุกสิ่งในพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะ คือพระคริสต์.”—4:12, 15, ล.ม.
18. มีการทำให้อะไรซึ่งเกี่ยวกับ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” และพระวิหารฝ่ายวิญญาณเป็นที่เห็นชัดเจน?
18 จดหมายที่มีถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาคมรุ่นแรกในการทำให้ความเข้าใจเรื่อง “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระคริสต์” ชัดเจนขึ้น. ในจดหมายนี้มีการทำให้เห็นชัดเจนว่า พร้อมกันกับชาวยิวที่เชื่อ “ผู้คนจากชาติต่าง ๆ” ก็ถูกเรียกให้เป็น “ทายาทร่วมและเป็นอวัยวะร่วมแห่งกายและเป็นผู้ร่วมรับคำสัญญา . . . ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซูโดยทางข่าวดี.” ฝากั้น ซึ่งก็คือ “กฎของพระบัญญัติ” ที่เคยกั้นชนต่างชาติจากชาวยิวนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว และบัดนี้ โดยทางพระโลหิตของพระคริสต์ ทุกคนได้กลายมาเป็นพลเมืองร่วมกับเหล่าผู้บริสุทธิ์และเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า. ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิหารของพระอะระเตมีของคนนอกรีต คนเหล่านี้ได้รับการเสริมสร้างขึ้นด้วยกันให้ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซูเพื่อเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าสถิตโดยพระวิญญาณ เป็น “พระวิหารบริสุทธิ์สำหรับพระยะโฮวา.”—3:4, 6; 2:15, 21, ล.ม.
19. พระธรรมเอเฟโซยังคงให้ความหวังและการหนุนกำลังใจอะไรเรื่อยมาจนทุกวันนี้?
19 ส่วนในเรื่อง “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” เปาโลก็กล่าวไว้เช่นกันถึง “การบริหารงาน . . . จะทรงรวบรวมสิ่งสารพัดเข้าไว้ในพระคริสต์อีก คือสิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์ [คนเหล่านั้นที่ถูกเลือกให้อยู่ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์] และสิ่งต่าง ๆ ที่แผ่นดินโลก [คนเหล่านั้นซึ่งจะอยู่บนแผ่นดินโลกในอาณาเขตแห่งราชอาณาจักร].” โดยวิธีนี้ พระประสงค์อันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในการฟื้นฟูสันติสุขและเอกภาพถูกทำให้เป็นเรื่องเด่น. เกี่ยวกับเรื่องนี้ เปาโลได้อธิษฐานเพื่อชาวเอเฟโซซึ่งมีตาใจที่ถูกทำให้เห็นกระจ่างเพื่อว่าพวกเขาจะเข้าใจเต็มที่ถึงความหวังซึ่งพระเจ้าทรงเรียกพวกเขามาและเห็นว่า “ทรัพย์สมบัติอันรุ่งโรจน์ซึ่งพระองค์ทรงมีให้เป็นมรดกสำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์คืออะไร.” ถ้อยคำเหล่านี้คงต้องให้กำลังใจพวกเขามากทีเดียวในเรื่องความหวังของพวกเขา. และจดหมายโดยการดลใจที่มีไปถึงคริสเตียนชาวเอเฟโซนี้ยังคงเสริมสร้างประชาคมในทุกวันนี้อยู่ คือว่า ‘ในทุกเรื่องเราจะเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นที่พระเจ้าทรงประทาน.’—1:9-11, 18, ล.ม.; 3:19, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ต้นตอและประวัติศาสตร์ของพระธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) 1868 ซี. อี. สโตว์ หน้า 357.
b นิว ไบเบิล ดิกชันนารี ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง 1986 เรียบเรียงโดย เจ. ดี. ดักลาส หน้า 175.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 182.