ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวาด้วยความกล้า!
“ท่านได้กรุณาต้อนรับคนทั้งปวงที่มาหาท่าน ทั้งประกาศแก่พวกเขาถึงเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—กิจการ 28:30, 31, ล.ม.
1, 2. อัครสาวกเปาโลมีหลักฐานอะไรแสดงว่าท่านได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้า และท่านได้วางตัวอย่างอะไร?
พระยะโฮวาทรงหนุนหลังผู้ประกาศราชอาณาจักรเสมอ. ข้อนี้เป็นจริงทีเดียวในกรณีของอัครสาวกเปาโล! ด้วยการสนับสนุนจากพระเจ้า ท่านได้ไปปรากฏตัวต่อหน้าผู้ปกครองประเทศ ทนทานการกลุ้มรุมทำร้าย และประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวาด้วยความกล้า.
2 กระทั่งเมื่อถูกกักตัวอยู่ในโรม เปาโล “ได้กรุณาต้อนรับคนทั้งปวงที่มาหาท่าน ทั้งประกาศแก่พวกเขาถึงเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (กิจการ 28:30, 31, ล.ม.) ช่างเป็นตัวอย่างอันดีเสียจริง ๆ สำหรับพยานพระยะโฮวาสมัยนี้! เราสามารถเรียนได้มากจากการทำงานรับใช้ของเปาโล ดังที่ลูการายงานไว้ในบทท้าย ๆ ของพระธรรมกิจการ.—20:1–28:31.
เพื่อนร่วมความเชื่อได้รับการเสริมสร้าง
3. มีอะไรเกิดขึ้นที่เมืองโตรอา และอาจเทียบได้กับสิ่งใดในสมัยของเรา?
3 ภายหลังเหตุวุ่นวายในเมืองเอเฟโซสงบลงแล้ว เปาโลจึงเดินทางเผยแพร่รอบที่สามต่อไป. (20:1-12) ครั้นใกล้เวลาออกเรือไปซีเรีย ท่านก็ได้ข่าวว่าพวกยิวคิดอุบายจะทำร้ายท่าน. เนื่องจากพวกเขาอาจได้วางแผนจะลงเรือลำเดียวกันและสังหารเปาโล ดังนั้น ท่านจึงได้ไปทางมากะโดเนีย. ที่เมืองโตรอา ท่านใช้เวลาอยู่ที่นั่นหนึ่งสัปดาห์เสริมสร้างเพื่อนร่วมความเชื่อให้มั่นคง อย่างที่ผู้ดูแลเดินทางกระทำอยู่ในเวลานี้ท่ามกลางพวกพยานพระยะโฮวา. ในคืนก่อนจากไป เปาโลได้ยืดเวลาการบรรยายให้นานออกไปกระทั่งถึงเที่ยงคืน. ยูตุโคซึ่งนั่งอยู่ที่หน้าต่าง ดูเหมือนว่าอ่อนเพลียเพราะทำงานออกแรงมาทั้งวัน. เขาได้ม่อยหลับไปและพลัดตกจากชั้นสามของตึกถึงแก่ความตาย แต่เปาโลได้ช่วยให้เขาฟื้นมีชีวิตอีก. นั่นคงได้เกิดความยินดีมากสักเพียงไร! ดังนั้น จงนึกถึงความยินดีซึ่งจะเป็นผลเมื่อหลายล้านคนถูกปลุกให้กลับเป็นขึ้นจากตายในโลกใหม่ที่จะมีมา.—โยฮัน 5:28, 29.
4. เกี่ยวกับงานรับใช้พระเจ้า เปาโลได้สอนอะไรแก่พวกผู้ปกครองที่เอเฟโซ?
4 ขณะเดินทางไปยะรูซาเลม ที่เมืองท่ามิเลโต เปาโลได้พบกับพวกผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซ. (20:13-21) ท่านสะกิดเตือนเขาว่าท่านได้สั่งสอนเขา “ตามบ้านเรือน” และที่ท่าน “ได้เป็นพยานแก่ชาติยูดายและชาติเฮเลนถึงเรื่องการกลับใจเสียใหม่เฉพาะพระเจ้า และความเชื่อในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” คนเหล่านั้นซึ่งต่อมาเป็นผู้ปกครองได้กลับใจ และเขามีความเชื่อ. อนึ่งอัครสาวกได้อบรมสั่งสอนเขาเพื่อพวกเขาจะได้ประกาศเรื่องราชอาณาจักรอย่างกล้าหาญแก่คนไม่มีความเชื่อด้วยการไปตามบ้านเรือนอย่างที่พยานพระยะโฮวากระทำทุกวันนี้.
5. (ก) โดยวิธีใดเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการปฏิบัติตามการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์? (ข) เหตุใดพวกผู้ปกครองจำต้องมีคำแนะนำในอันที่จะ ‘เอาใจใส่ฝูงแกะทั้งปวง’?
5 เปาโลเป็นตัวอย่างอันดีเกี่ยวด้วยการยอมรับการชี้นำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (20:22-30) “พระวิญญาณบังคับ” เปาโลหรือท่านมีความรู้สึกว่าจำต้องติดตามการนำของพระวิญญาณ อัครสาวกจึงได้ไปยังกรุงยะรูซาเลม แม้ว่าที่นั่นท่านจะถูกจำจองและประสบความยากลำบากก็ตาม. ท่านถือว่าชีวิตมีค่าก็จริง แต่การรักษาความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับท่าน เราเองก็ควรเป็นเช่นนั้น. เปาโลได้กระตุ้นพวกผู้ปกครองให้ ‘เอาใจใส่ฝูงแกะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แต่งตั้งพวกเขาเป็นผู้ดูแล.’ ภายหลัง “การจากไป” ของท่าน (คงหมายถึงการล่วงลับ) “ฝูงสุนัขป่าที่กดขี่” จะไม่ “ปฏิบัติต่อฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน.” คนประเภทนี้จะเกิดขึ้นจากพวกผู้ปกครองด้วยกัน และสาวกที่ขาดการสังเกตเข้าใจจะรับเอาคำสอนอันบิดเบือนของพวกเขา.—2 เธซะโลนิเก 2:6.
6. (ก) เหตุใดเปาโลจึงสามารถมอบผู้ปกครองไว้กับพระเจ้าด้วยความมั่นใจ? (ข) เปาโลได้ดำเนินตามหลักการที่ระบุในกิจการ 20:35 อย่างไร?
6 พวกผู้ปกครองจำต้องตื่นตัวทางด้านวิญญาณอยู่เสมอเพื่อระแวดระวังการออกหาก. (20:31-38) อัครสาวกเปาโลได้สั่งสอนพวกเขาให้รู้คัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและคำสอนของพระเยซู อันเป็นสิ่งมีพลังเพื่อการชำระให้บริสุทธิ์ ซึ่งสามารถทำให้พวกเขารับเอาราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ร่วม ‘กับบรรดาผู้ที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว.’ นอกจากนั้น โดยการทำงานจัดหาปัจจัยเลี้ยงชีพตัวเองและบุคคลที่สมทบกับท่าน เปาโลได้สนับสนุนพวกผู้ปกครองให้เป็นคนหมั่นขยันทำงาน. (กิจการ 18:1-3; 1 เธซะโลนิเก 2:9) ถ้าพวกเราติดตามแนวทางทำนองนี้และช่วยผู้อื่นให้ได้ชีวิตนิรันดร์ เราย่อมหยั่งรู้ค่าคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” แง่คิดเกี่ยวด้วยข้อความตอนนี้มีอยู่ในกิตติคุณทั้งสี่เล่มแห่งคัมภีร์ไบเบิล แต่เปาโลคนเดียวเท่านั้นได้ยกขึ้นมากล่าว ซึ่งท่านอาจได้ยินด้วยตนเองหรือโดยการดลบันดาล. เราเองจะประสบความสุขมากถ้าเรายอมเสียสละเหมือนเปาโล. ด้วยเหตุที่ท่านได้เสียสละมากมายเช่นนั้นจึงทำให้พวกผู้ปกครองประชาคมที่เมืองเอเฟโซอาลัยถึงท่านเมื่อท่านอำลาจากไป.
ยอมให้เป็นตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา
7. เปาโลได้วางตัวอย่างโดยวิธีใดในด้านการยินยอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า?
7 ขณะการเดินทางเผยแพร่รอบที่สามของเปาโลจวนจะสิ้นสุด (ประมาณปีสากลศักราช 56) ท่านได้วางตัวอย่างอันดีด้วยการยอมตัวกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (21:1-14) ที่เมืองกายซาไรอา ท่านกับเพื่อนร่วมงานได้พักอยู่ที่บ้านของฟิลิป ซึ่งมีบุตรสาวพรหมจารีสี่คน “ได้กล่าวพยากรณ์” บอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์. ที่เมืองนั้นมีคริสเตียนผู้พยากรณ์ชื่ออะฆะโบได้ผูกมือและเท้าตัวเองเข้ากับผ้าคาดเอวของเปาโล และพระวิญญาณบริสุทธิ์กระตุ้นท่านให้ทำนายว่า ในเมืองยะรูซาเลมชาวยิวจะมัดเจ้าของผ้าคาดเอวและมอบไว้ในมือของคนต่างชาติ. เปาโลได้ตอบดังนี้ “ข้าพเจ้าเต็มใจพร้อมที่จะไปให้เขาผูกมัดไว้อย่างเดียวก็หาไม่ แต่พร้อมจะตายที่ในกรุงยะรูซาเลมด้วย เพราะเห็นแก่พระนามของพระเยซูคริสต์เจ้า.” สาวกทั้งหลายจึงเงียบเสียงแล้วกล่าวว่า “ขอให้เป็นตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาเถิด.”
8. ถ้าบางครั้งเราเห็นว่าการรับคำแนะนำเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เราน่าจะระลึกถึงสิ่งใด?
8 เปาโลได้เล่าให้ผู้ปกครองที่กรุงยะรูซาเลมทราบถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำท่ามกลางคนต่างชาติโดยการรับใช้ของท่าน. (21:15-26) ถ้าเราเห็นว่าการจะรับคำแนะนำดี ๆ นั้นเป็นเรื่องยาก เราน่าจะนึกย้อนดูว่าเปาโลได้รับรองคำแนะนำอย่างไร. เพื่อพิสูจน์ว่าท่านไม่สั่งสอนชาวยิวในต่างประเทศ “ให้ละทิ้งโมเซ” ท่านจึงปฏิบัติตามคำแนะนำของพวกผู้ปกครองที่ให้ชำระตัวและออกค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเองและอีกสี่คน. แม้นการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเป็นการเพิกถอนพระบัญญัติแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ผิดที่เปาโลได้ดำเนินตามข้อกำหนดของพระบัญญัติเรื่องคำปฏิญาณ.—โรม 7:12-14.
ถูกรุมล้อมประทุษร้ายแต่ไม่ย่อท้อ
9. พูดถึงกลุ่มคนที่กระทำการรุนแรง มีความคล้ายคลึงกันอย่างไรระหว่างประสบการณ์ของเปาโลกับพยานพระยะโฮวาสมัยนี้?
9 บ่อยครั้งพยานพระยะโฮวาได้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าขณะเผชิญความรุนแรงจากกลุ่มคนที่ประทุษร้าย. (เพื่อเป็นตัวอย่าง โปรดอ่านหนังสือประจำปี 1975 แห่งพยานพระยะโฮวา หน้า 180-190.) ชาวยิวจากเอเชียไมเนอร์ได้ปลุกปั่นผู้คนให้ทำร้ายเปาโลในทำนองคล้ายกัน. (21:27-40) เมื่อเห็นโตรฟีโมชาวเมืองเอเฟโซอยู่กับเปาโล คนเหล่านั้นก็กล่าวหาว่าอัครสาวกทำให้พระวิหารเป็นมลทินโดยการนำคนกรีกเข้ามาในพระวิหาร. เปาโลเกือบจะถูกฆ่าอยู่แล้วทีเดียวเมื่อนายพันคลอดิอุส ลุเซียได้นำพวกทหารเข้าระงับการจลาจล! ดังกล่าวล่วงหน้า (แต่พวกยิวเป็นฝ่ายก่อเหตุ) ลุเซียได้จับเปาโลล่ามโซ่. (กิจการ 21:11) อัครสาวกจวนจะถูกนำตัวเข้าไปไว้ในเขตทหารซึ่งอยู่ติดกับบริเวณพระวิหารเมื่อลุเซียได้เข้าใจว่าเปาโลไม่ได้เป็นกบฏ แต่เป็นคนยิวซึ่งมีสิทธิ์เข้าไปในเขตพระวิหารได้. ครั้นเปาโลได้รับอนุญาตให้พูด ท่านจึงปราศรัยต่อฝูงชนเป็นภาษาฮีบรู.
10. ชาวยิวในกรุงยะรูซาเลมตอบรับอย่างไรต่อการบรรยายของเปาโล และทำไมท่านจึงไม่ถูกโบย?
10 เปาโลให้คำพยานด้วยความกล้า. (22:1-30) ท่านได้แสดงตัวเองเป็นคนยิวที่ได้รับการสั่งสอนจากฆามาลิเอลซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั่วไป. อัครสาวกได้ชี้แจงว่า ตอนเดินทางใกล้จะถึงเมืองดาเมเซ็กเพื่อทำการข่มเหงสาวกที่นับถือทางนั้น เมื่อท่านได้เห็นพระเยซูคริสต์รุ่งโรจน์ด้วยสง่าราศี ตาของท่านได้บอดไป แต่อะนาเนียทำให้สายตาของท่านกลับดีดังเดิม. ต่อมาองค์พระผู้เป็นเจ้าได้รับสั่งแก่เปาโลว่า “จงไปเถิด เราจะใช้ให้เจ้าไปไกลไปหาคนต่างชาติ.” คำพูดเหล่านั้นเหมือนลูกไฟตกกลางป่า. ฝูงชนพากันตะโกนว่าไม่ควรปล่อยให้เปาโลมีชีวิตอยู่ต่อไป พวกเขาจึงถอดเสื้อชั้นนอกแล้วซัดผงธุลีขึ้นไปในอากาศด้วยความโกรธแค้น. เมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ลุเซียจึงให้นำตัวเปาโลเข้าไปในป้อมเพื่อไต่สวนพร้อมกับการโบยตี เพื่อจะรู้สาเหตุที่พวกยิวได้ต่อต้านท่าน. เปาโลเลี่ยงการถูกโบย (ด้วยแส้หนังขอดเป็นปมหรืออาจย้ำด้วยหมุดโลหะหรือกระดูก) เมื่อท่านถามว่า ‘การเฆี่ยนคนชาติโรมันซึ่งยังไม่ถูกตัดสินนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า?’ เมื่อรู้ว่าเปาโลเป็นชาติโรมัน ลุเซียถึงกับตกใจกลัวและได้พาเปาโลไปยังศาลซันเฮดรินเพื่อจะสืบให้รู้ว่าทำไมพวกยิวจึงได้ปรักปรำท่าน.
11. เปาโลเป็นฟาริซายในแง่ใด?
11 เมื่อเปาโลกล่าวแก้คดีต่อหน้าศาลซันเฮดรินโดยกล่าวว่า ท่าน “ได้ประพฤติเฉพาะพระเจ้าล้วนแต่ตามที่ใจสังเกตเห็นว่าดี [ด้วยสติรู้สึกผิดชอบอันดี, ล.ม.]” อะนาเนียมหาปุโรหิตได้สั่งให้ตบท่าน. (23:1-10) เปาโลกล่าวโต้ว่า “พระเจ้าจะตบเจ้า ผู้เป็นดุจผนังฉาบปูนขาว.” บางคนพูดขึ้นว่า “เจ้าพูดหยาบช้าต่อมหาปุโรหิตหรือ?” เปาโลอาจมองหน้าอะนาเนียไม่ถนัดเนื่องจากสายตาไม่ดี. แต่ครั้นรู้ว่าสภาที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพวกฟาริซายและซาดูกาย เปาโลจึงพูดว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นคนฟาริซายถูกพิพากษาก็เพราะมีความหวังเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย.’ คำพูดอย่างนี้ทำให้ซันเฮดรินแตกแยก เพราะพวกฟาริซายเชื่อเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย แต่พวกซาดูกายไม่เชื่อ. เกิดการไม่เห็นพ้องกันอย่างรุนแรงถึงขนาด ลุเซียจึงต้องเข้าไปช่วยพาเปาโลออกจากที่นั่น.
12. เปาโลรอดตายได้อย่างไรจากการวางอุบายหมายเอาชีวิตของท่านที่กรุงยะรูซาเลม?
12 ต่อมาเปาโลได้รอดพ้นแผนฆ่าท่าน (23:11-35) ชาวยิวสี่สิบคนต่างก็ได้สาบานตัวจะไม่กินหรือดื่มจนกว่าจะได้ฆ่าเปาโล. หลานชายของเปาโลได้นำเอาเรื่องนี้ไปบอกท่านและรายงานให้ลุเซียทราบ. โดยหน่วยคุ้มกันของทหาร อัครสาวกเปาโลจึงถูกส่งตัวไปหาอันโตนิอุส เฟลิกซ์ผู้ว่าราชการที่เมืองกายซาไรอาเมืองหลวงแห่งแคว้นยูดาย เป็นสำนักบริหารราชการของชาวโรมัน. หลังจากสัญญากับเปาโลจะให้ท่านแก้คดี เฟลิกซ์จึงสั่งให้คุมเปาโลไว้ที่วังของเฮโรดมหาราช อันเป็นทำเนียบผู้สำเร็จราชการ.
กล้าหาญต่อหน้าผู้ปกครองบ้านเมือง
13. เปาโลให้คำพยานแก่เฟลิกซ์ด้วยเรื่องอะไร และมีผลกระทบอย่างไร?
13 ไม่นานหลังจากนั้น อัครสาวกก็ได้กล่าวแก้ข้อหาอันเท็จ ทั้งได้ให้คำพยานอย่างกล้าหาญต่อเฟลิกซ์. (24:1-27) ต่อหน้าชาวยิวที่กล่าวหา ท่านได้ชี้แจงว่า ท่านเองไม่ได้ยุยงให้ตั้งกลุ่มคนขึ้นมาทำร้ายใคร ๆ. ท่านบอกว่าตัวท่านเองเชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เขียนไว้ในพระบัญญัติและเชื่อผู้พยากรณ์ ทั้งมีความหวังว่า “ทั้งคนชอบธรรมและคนอธรรมจะเป็นขึ้นจากตาย.” เปาโลได้ไปที่กรุงยะรูซาเลมพร้อมกับ “นำทานและเครื่องถวาย” (คงเป็นของบริจาคช่วยสาวกของพระเยซูซึ่งอัตคัตขัดสนเนื่องจากได้รับการข่มเหง) และได้ทำพิธีชำระตัวแล้ว. ถึงแม้นเฟลิกซ์เลื่อนการพิจารณาคดี แต่ทีหลังเปาโลได้ประกาศให้คำพยานแก่เฟลิกซ์และดรูซีลาภริยาของเขา (ธิดาของเฮโรดอะฆะริปาที่หนึ่ง) เรื่องพระคริสต์ เรื่องความชอบธรรม การรู้จักบังคับตน และการพิพากษาที่จะมีขึ้น. ด้วยความตระหนกเนื่องจากได้ฟังคำพูดเช่นนั้น เฟลิกซ์จึงยุติการสนทนากัน. แต่ในเวลาต่อมา เฟลิกซ์มักจะเรียกเปาโลมาพบบ่อย ๆ ด้วยความหวังว่าเปาโลจะให้สินบนแก่ตน. เฟลิกซ์ตระหนักดีว่าเปาโลไม่มีความผิดแต่ก็ยังคงกักขังท่านไว้เพื่อเอาใจพวกยิว. ครั้นสองปีล่วงไปแล้ว โประกิโอ เฟศโตได้มารับรายการแทนเฟลิกซ์.
14. เปาโลได้ใช้วิธีการอะไรซึ่งถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองเมื่อท่านปรากฏตัวต่อเฟลิกซ์ และคุณพบเห็นอะไรซึ่งคล้ายคลึงกัน?
14 เปาโลได้กล่าวแก้คดีต่อเฟศโตด้วยความกล้าหาญ. (25:1-12) ถ้าอัครสาวกสมควรจะตาย ท่านจะไม่ขัดขืน แต่ไม่มีผู้ใดจะมอบท่านเพื่อหวังจะเอาใจพวกยิว. “ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา!” เปาโลใช้สิทธิแห่งราษฎรชาวโรมัน เพื่อสู้คดีที่โรม (ตอนนั้นต่อหน้าจักรพรรดิเนโร). เฟศโตอนุมัติให้อุทธรณ์ และเปาโลจะ “เป็นพยานในกรุงโรม” ดังบอกไว้ล่วงหน้า. (กิจการ 23:11) พยานพระยะโฮวาก็เช่นเดียวกันใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อ ‘กล่าวป้องกันและตั้งหลักฐานกิตติคุณถูกต้องตามกฎหมาย.’—ฟิลิปปอย 1:7.
15. (ก) คำพยากรณ์เรื่องใดได้มาสมจริงเมื่อเปาโลไปยืนต่อหน้ากษัตริย์อะฆะริปาและกายะซา? (ข) โดยวิธีใดเซาโลได้ “ถีบประตัก”?
15 กษัตริย์เฮโรด อะฆะริปาที่สองซึ่งปกครองแคว้นยูดายส่วนเหนือ พร้อมด้วยเบระนิเกพระขนิษฐา (ซึ่งเฮโรดได้ร่วมประเวณีฉันสามีภรรยา) ได้ฟังเปาโลให้คำพยานขณะเสด็จเยี่ยมเฟศโตที่เมืองกายซาไรอา. (25:13–26:23) โดยให้คำพยานต่ออะฆะริปาและกายะซา เปาโลทำให้เป็นจริงตามคำพยากรณ์ที่ว่า ท่านจะเป็นพยานจำเพาะกษัตริย์ถึงพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า. (กิจการ 9:15) เมื่อเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นบนเส้นทางไปยังเมืองดาเมเซ็กให้อะฆะริปาฟังนั้น เปาโลให้ข้อสังเกตที่พระเยซูได้ตรัสว่า “ซึ่งเจ้าจะถีบประตักก็ยากนัก.” วัวตัวผู้ที่ดื้อต้องเจ็บตัวเพราะถูกทิ่มด้วยปลายประตักฉันใด เซาโลนำตัวเองเข้าสู่ความลำบากโดยการต่อต้านสาวกของพระเยซูซึ่งได้รับการหนุนหลังจากพระเจ้าฉันนั้น.
16. เฟศโตและอะฆะริปาแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำพยานของเปาโล?
16 เฟศโตและอะฆะริปามีปฏิกิริยาอย่างไร? (26:24-32) เนื่องจากไม่สามารถเข้าใจเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย อีกทั้งรู้สึกประหลาดใจในความเชื่อมั่นของเปาโล เฟศโตกล่าวว่า “เจ้าเรียนรู้วิชามากจึงทำให้เจ้าคลั่งไป!” ในทำนองคล้ายกัน เวลานี้บางคนกล่าวหาพยานพระยะโฮวาว่าเป็นคนคลั่งศาสนา กระนั้น ตามจริงแล้วพวกเขาก็เป็นเหมือนเปาโลที่ได้ “พูดคำสัตย์จริง และคำที่ปกติชนจะพูด.” กษัตริย์อะฆะริปาตรัสแก่เปาโลว่า ‘อีกประเดี๋ยวเจ้าจะชวนเราให้เป็นคริสเตียน’ และเขาได้ยุติการสนทนาไว้แค่นั้น แต่ด้วยการรับรู้ว่าเปาโลอาจได้รับการปล่อยตัวก็ได้ ถ้าท่านมิได้อุทธรณ์ถึงกายะซา.
เผชิญภัยในทะเล
17. คุณจะพรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับการผจญภัยทางทะเลระหว่างการเดินทางของเปาโลไปโรม?
17 การเดินทางไปโรมทำให้เปาโลต้องประสบ “ภัยในทะเล.” (2 โกรินโธ 11:24-27) นายทหารชื่อยูเลียวทำหน้าที่คุมพวกนักโทษในเรือซึ่งจะแล่นจากกายซาไรอาไปยังโรม. (27:1-26) เมื่อเรือแล่นถึงฝั่งเมืองซีโดน เปาโลได้รับอนุญาตให้ขึ้นจากเรือไปเยี่ยมเพื่อนร่วมความเชื่อ ซึ่งคนเหล่านั้นก็ทำให้ท่านสดชื่นฝ่ายวิญญาณ. (เทียบกับ 3 โยฮัน 14.) เมื่อถึงเมืองมุราในเอเชียไมเนอร์ นายร้อยยูเลียวได้ย้ายนักโทษลงเรือบรรทุกข้าวที่จะไปอิตาลี. ทั้งที่แล่นทวนลมโดยความยากลำบาก แต่ก็ได้ไปถึงตำบลหนึ่งชื่อว่าท่างามใกล้เมืองลาเซียแห่งเกาะเกรเต. หลังจากเดินทางออกจากที่นั้นเพื่อไปเมืองฟอยนิเก เรือประสบพายุจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดกระหน่ำเรือกำปั่นจนต้านลมไม่ไหว. ด้วยเกรงว่าเรือจะเกยตื้นที่ซีรติส (ทรายดูด) ห่างออกไปทางแอฟริกาตอนเหนือ กะลาสีจึง “ลดใบลง.” เขาเอาเชือกผูกโอบรอบเรือกำปั่นไว้เพื่อแนวกระดานเรือไม่แยกออกจากกัน. วันรุ่งขึ้นเรือยังถูกพายุโยนโคลงโคลง เขาจึงโยนของที่บรรทุกมากับเรือลงทะเลเพื่อเรือจะเบาขึ้น. พอถึงวันที่สาม พวกเขาได้ทิ้งเครื่องที่ใช้ในเรือ (อาจเป็นใบเรือหรือชิ้นอะไหล่) ลงทะเล. ครั้นความหวังดูเลือนลาง ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้ปรากฏแก่เปาโลและแจ้งข่าวมิให้ท่านตระหนกตกใจ ด้วยว่าท่านจะต้องยืนอยู่ต่อหน้ากายะซา. ช่างเป็นการปลดเปลื้องเสียจริง ๆ เมื่ออัครสาวกบอกว่าทุกคนในเรือลำนั้นจะเกยฝั่งที่เกาะแห่งหนึ่ง!
18. ผลที่สุด เปาโลพร้อมด้วยเพื่อนเดินเหล่านั้นเป็นอย่างไร?
18 พวกที่เดินทางรอดตายจริง. (27:27-44) ตอนเที่ยงคืนวันที่สิบสี่ กะลาสีสำคัญว่าได้มาใกล้แผ่นดิน. การทิ้งดิ่งหยั่งความลึกแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้นจริงและเขาได้ทอดสมอเพื่อเรือจะไม่ชนหิน. เปาโลกล่าวเตือนทุกคนในเรือทั้งสิ้น 276 คนให้รับประทานอาหาร. แล้วเขาได้ขนข้าวสาลีในเรือทิ้งทะเลเพื่อกำปั่นจะเบาขึ้น. ครั้นสว่างแล้ว กะลาสีได้ตัดสายสมอทิ้งไป แล้วแก้เชือกมัดหางเสือ และชักใบหัวเรือให้กินลม. กำปั่นก็เกยตื้นและท้ายเรือเริ่มแตกเป็นเสี่ยง ๆ. อย่างไรก็ดี ทุกคนได้ไปถึงฝั่งอย่างปลอดภัย.
19. เกิดอะไรขึ้นกับเปาโลที่เกาะเมลีเต และที่นั่นท่านได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่น?
19 ด้วยสภาพที่เปียกโชกและอ่อนแรง คนเรือแตกเหล่านี้พบว่าพวกเขามาถึงเกาะชื่อเมลีเต ชาวเกาะนั้นได้แสดง “ความกรุณาเป็นอันมาก.” (28:1-16) แต่เมื่อเปาโลเก็บกิ่งไม้แห้งใส่ไฟ มีงูพิษตัวหนึ่งเมื่อถูกความร้อนก็ออกมากัดติดมือของเปาโลอยู่. (เดี๋ยวนี้บนเกาะมอลตา (เมลีเต) ไม่มีงูพิษ แต่ตัวที่กัดเปาโลเป็น “งูพิษ.”) ชาวเกาะมอลตาคิดว่าเปาโลเป็นผู้ฆ่าคนซึ่ง “พระผู้ทรงธรรม” จะไม่ยอมให้รอดตายไปได้ ครั้นเปาโลไม่ตายหรือบวมอักเสบ เขากลับถือว่าท่านเป็นพระ. ทีหลัง เปาโลได้รักษาคนเจ็บไข้หลายราย รวมทั้งบิดาของปบเลียวซึ่งเป็นเจ้าแห่งเกาะนั้น. ครั้นล่วงไปสามเดือน เปาโล ลูกาและอริสทาระชูสลงเรือกำปั่นมีเครื่องหมายรูป “ลูกแฝด” (ได้แก่คาสตอร์กับโพลลักซ์แฝดเทพเจ้าซึ่งสมมติกันปกป้องชาวทะเล). เมื่อขึ้นฝั่งที่เมืองโปติโอลอย นายร้อยยูเลียวก็คุมนักโทษเดินทางต่อไป. เปาโลกล่าวขอบคุณพระเจ้าและมีกำลังใจดีขึ้นเมื่อคริสเตียนจากกรุงโรมได้มาพบท่านที่ตลาดแห่งหนึ่งเรียกว่าบ้านอัปปีโอและไตรภัตตาคารตั้งอยู่บนถนนอัปปีโอ. ในที่สุดก็มาถึงโรมเปาโลได้รับอนุญาตให้อยู่ตามลำพัง แต่ก็อยู่ภายใต้การคุ้มกันของทหาร.
ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวาไม่หยุดหย่อน!
20. เปาโลทำกิจกรรมอะไรไม่หยุดหย่อน ณ บ้านพักของท่านที่โรม?
20 ขณะอยู่ ณ บ้านเช่าที่โรม เปาโลได้ประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ. (28:17-31) ท่านกล่าวแก่คนสำคัญของชาวยิวว่า “ที่ข้าพเจ้าถูกล่ามโซ่นี้ก็เนื่องด้วยความหวังของชาติยิศราเอล.” ความหวังนั้นหมายรวมถึงการรับรองมาซีฮา ซึ่งด้วยการเช่นนี้พวกเราต้องเต็มใจจะร่วมทุกข์ด้วย. (ฟิลิปปอย 1:29) ถึงแม้คนยิวเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่เชื่อ แต่มีชาวต่างชาติหลายคน และชาวยิวบางคนที่เหลืออยู่เป็นผู้ที่มีสภาพทางหัวใจที่ถูกต้อง. (ยะซายา 6:9, 10) เป็นเวลาถึงสองปี (ประมาณปีสากลศักราช 59-61) เปาโลได้ต้อนรับคนทั้งปวงที่มาหาท่าน “ได้ประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เขาและสั่งสอนเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับองค์พระเยซูคริสต์เจ้าอย่างเต็มปาก ปราศจากการขัดขวาง.”
21. จวบจนสิ้นชีวิตของท่านทางโลกนี้ เปาโลได้วางตัวอย่างอะไร?
21 ดูเหมือนว่าเนโรได้ประกาศตัดสินให้เปาโลพ้นผิดและท่านได้รับการปล่อยตัว. ครั้นแล้วอัครสาวกได้เริ่มงานอีกครั้งหนึ่งสมทบกับติโมเธียวและติโต. อย่างไรก็ดี ท่านถูกจำคุกอีกในโรม (ปีสากลศักราช 65) และคงจะถูกเนโรสั่งประหารเพราะความเชื่อ. (2 ติโมเธียว 4:6-8) ตราบจนวันตาย เปาโลได้วางตัวอย่างที่ดีในฐานะเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่กล้าหาญ. ด้วยน้ำใจอย่างเดียวกันในสมัยสุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนที่ได้อุทิศตนแด่พระเจ้าจงประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญ!
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เปาโลได้ให้การฝึกอบรมเช่นไรในด้านงานรับใช้พระเจ้าแก่พวกผู้ปกครองที่เอเฟโซ?
▫ โดยวิธีใดเปาโลได้วางตัวอย่างแสดงถึงการยินยอมต่อพระทัยประสงค์ของพระเจ้า?
▫ พูดถึงกลุ่มคนที่กระทำรุนแรง มีความคล้ายคลึงกันอย่างไรระหว่างประสบการณ์ของเปาโลกับของพยานพระยะโฮวาสมัยปัจจุบัน?
▫ เปาโลได้ใช้วิธีการอะไรอันชอบด้วยกฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองเมื่ออยู่ต่อหน้าเฟศโตผู้สำเร็จราชการ และเรื่องนี้นำมาเทียบได้กับสิ่งใดในทุกวันนี้?
▫ เปาโลหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมอะไร ณ บ้านพักของท่านที่โรม ถือว่าเป็นตัวอย่างในด้านใด?