พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ครอบครองของเรา!
“พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:29, ล.ม.
1, 2. พยานพระยะโฮวาอยู่ในฐานะเช่นไรเยี่ยงพวกอัครสาวกเมื่อมนุษย์เรียกร้องให้เขาปฏิบัติขัดแย้งกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า?
พระเจ้ายะโฮวาทรงยอมให้ชาย 12 คนถูกพาไปต่อหน้าศาลสูง. ตอนนั้นตกในปีสากลศักราช 33 และศาลนั้นคือซันเฮดรินของชาวยิว. ผู้ที่ถูกดำเนินคดีได้แก่อัครสาวกของพระเยซูคริสต์. ฟังซิ! มหาปุโรหิตพูดขึ้นว่า ‘เราได้สั่งพวกเจ้าไม่ให้สอนออกชื่อนี้ แต่เจ้าก็ได้แพร่กระจายคำสอนนี้ทั่วกรุงยะรูซาเลม.’ ทันใดนั้นเอง เปโตรและอัครสาวกอื่น ๆ ก็แถลงว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” (กิจการ 5:27-29, ล.ม.) โดยแท้แล้ว พวกเขาบอกว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ครอบครองของเรา!”
2 ถูกแล้ว พระยะโฮวาเป็นผู้ครอบครองสำหรับสาวกแท้ของพระเยซู. ข้อนี้เห็นได้ชัดเจนในพระธรรมกิจการแห่งพวกอัครสาวก ซึ่งได้เขียนที่กรุงโรมประมาณปีสากลศักราช 61 โดย “ลูกาผู้เป็นแพทย์ที่รัก.” (โกโลซาย 4:14) เช่นเดียวกันกับพวกอัครสาวก ไพร่พลของพระยะโฮวาในปัจจุบันเชื่อฟังผู้ครอบครองของตนซึ่งสถิตในสวรรค์ เมื่อข้อเรียกร้องของมนุษย์ขัดกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. แต่เราสามารถเรียนอะไรได้อีกจากพระธรรมกิจการ? (เมื่อคุณทำการศึกษาเป็นส่วนตัว เราขอแนะให้คุณอ่านจากพระธรรมกิจการ ตามที่ระบุไว้เป็นตัวพิมพ์หนา.)
พระเยซูทรงมอบหมายงานแก่เหล่าสาวก
3. เมื่อสาวกของพระเยซู “ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” นั้น ความสนใจอันดับแรกของเขาได้แก่อะไร?
3 พวกอัครสาวกสามารถยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระเจ้าได้ เพราะพวกเขาได้รับการหนุนกำลังให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. พระคริสต์สิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน แต่เขารู้ว่าพระองค์ถูกปลุกขึ้นจากตายแล้ว. (1:1-5) พระเยซู “ให้เขาเห็นว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่” และทรงสอนสัจธรรมหลายประการเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรขณะที่ทรงปรากฏเรือนร่างให้ประจักษ์แก่พวกเขาตลอดสี่สิบวัน. นอกจากนั้น พระองค์ทรงกำชับสาวกของพระองค์ให้คอยอยู่ในกรุงยะรูซาเลมเพื่อจะรับบัพติสมา “ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” ตอนนั้นการประกาศเป็นงานหลักสำหรับเขา ดังเป็นงานหลักสำหรับพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้เช่นกัน.—ลูกา 24:27, 49; โยฮัน 20:19–21:24.
4. จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะมาสถิตกับสาวกของพระคริสต์?
4 ขณะที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกอัครสาวกคิดอย่างผิด ๆ ถึงการปกครองทางโลกนี้เพื่อจะยุติการถูกปกครองโดยจักรพรรดิโรมัน เมื่อเขาทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์จะทรงตั้งพลยิศราเอลให้เป็นเอกราชอีกครั้งนี้หรือ?” (1:6-8) ตามความเป็นจริงแล้ว พระเยซูทรงปฏิเสธ เพราะ ‘มิใช่ธุระของเขาจะรู้เวลาและกาลกำหนด.’ ‘เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะมาสถิตกับเขา’ เขาจะประกอบด้วยฤทธิ์เดชเพื่อจะกล่าวคำพยานเรื่องราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า ไม่ใช่อาณาจักรบนแผ่นดินโลก. พวกเขาจะได้ประกาศทั่วกรุงยะรูซาเลม ในมณฑลยูดายและซะมาเรีย จนถึง “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” ด้วยอาศัยการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พยานพระยะโฮวากำลังทำงานดังกล่าวอย่างกว้างขวางทั่วโลกในสมัยสุดท้ายนี้.
5. พระเยซูจะเสด็จมาในลักษณะใดซึ่งเป็นแบบเดียวกับการจากไปของพระองค์?
5 พระเยซูเพิ่งได้มอบหมายการทำงานประกาศตลอดทั่วโลกเมื่อพระองค์เริ่มจะเสด็จสู่สวรรค์. การเสด็จขึ้นสวรรค์เริ่มขึ้นด้วยการเคลื่อนตัวลอยขึ้นไปจากพวกสาวก แล้วพระเยซูเข้าเฝ้าจำเพาะผู้ครอบครองของพระองค์ซึ่งสถิตในสวรรค์ และเข้าสู่กิจกรรมในแดนวิญญาณ. (1:9-11) หลังจากเมฆบังจนอัครสาวกเหล่านั้นไม่อาจมองเห็นพระเยซูได้แล้ว พระองค์ทรงถอดสภาพกายมนุษย์นั้นเสีย. ทูตสวรรค์สององค์ได้ปรากฏแก่พวกเขาและบอกว่าพระองค์ ‘จะมาอีกในลักษณะเดียวกัน.’ และก็เป็นอย่างนั้น. เฉพาะสาวกของพระเยซูเท่านั้นได้เห็นพระองค์จากไป เฉกเช่นพยานพระยะโฮวาพวกเดียวเท่านั้นที่สังเกตการเสด็จกลับของพระองค์อย่างไม่ประจักษ์แก่ตา.
พระยะโฮวาทรงทำการเลือก
6. การเลือกผู้ที่จะมาแทนยูดาอิศการิโอดได้ทำกันอย่างไร?
6 ไม่นานหลังจากนั้น พวกอัครสาวกได้กลับไปยะรูซาเลม. (1:12-26) ณ ห้องชั้นบน (อาจเป็นในบ้านของมาเรียมารดาของมาระโกก็ได้) อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ทั้ง 11 คนมั่นอธิษฐานไม่ละลดร่วมกับน้องชายต่างบิดาของพระเยซู สาวกคนอื่น ๆ และมาเรียมารดาของพระองค์. (มาระโก 6:3; ยาโกโบ 1:1) แต่ ‘ตำแหน่งการตรวจตรา’ ของยูดานั้นใครจะรับแทน? (บทเพลงสรรเสริญ 109:8) สาวกประมาณ 120 คนอยู่พร้อมหน้าเมื่อพระเจ้าทรงเลือกชายผู้หนึ่งมาแทนผู้ซึ่งทรยศต่อพระเยซูคือยูดา อิศการิโอด จึงทำให้จำนวนอัครสาวกครบ 12 คนดังเดิม. ผู้ที่จะถูกเลือกต้องเป็นคนที่ได้เป็นสาวกอยู่แล้วในช่วงที่พระเยซูประกาศสั่งสอนและเป็นผู้รู้เห็นว่าพระองค์ได้รับการปลุกขึ้นจากตาย. แน่นอน บุคคลผู้นั้นต้องรับเอาพระยะโฮวาฐานะเป็นผู้ครอบครองของตนด้วยเช่นกัน. ภายหลังการอธิษฐาน ได้มีการจับฉลากเลือกระหว่างมัดเธียกับโยเซฟ บาระซาบา. พระเจ้าทรงบันดาลให้ฉลากตกแก่มัดเธีย.—สุภาษิต 16:33.
7. (ก) เป็นไปอย่างไรที่ว่ายูดา “ได้เอาบำเหน็จแห่งการผิดของตนไปซื้อที่ดิน”? (ข) ยูดาตายอย่างไร?
7 เป็นที่แน่นอนว่า ยูดา อิศการิโอดมิได้ยอมรับพระยะโฮวาเป็นผู้ครอบครองของตน. เขาได้ทรยศขายพระบุตรของพระเจ้าด้วยเงิน 30 แผ่น! ยูดาได้คืนเงินนั้นให้ปุโรหิตใหญ่ แต่เปโตรกล่าวว่าผู้ทรยศนี้ได้ “เอาบำเหน็จแห่งการผิดของตนไปซื้อที่ดิน.” อย่างไร? ก็ด้วยเงินที่เขารับมาแล้วก็นำไปซื้อ “นาเลือด” ตามที่เรียกกัน. ที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นที่ราบแปลงหนึ่งทางด้านใต้หุบเขาฮินนอม. เมื่อความสัมพันธ์ที่เขาเคยมีกับผู้ครอบครองทางภาคสวรรค์ก็ขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง ยูดา “ผูกคอตาย.” (มัดธาย 27:3-10) อาจเป็นได้ว่าเชือกขาดหรือกิ่งไม้หัก เขาจึง ‘ตกหัวทิ่มลงมาก่อน’ กระแทกเข้ากับเหลี่ยมแหลมของหิน จน ‘ท้องแตกไส้พุงทะลักออกมา.’ ขอพวกเราอย่าเป็นพี่น้องจอมปลอมเช่นนั้นเลย!
ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์!
8. สาวกของพระเยซูได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อไร มีผลอะไรตามมา?
8 แต่ว่าคำสัญญาเรื่องการรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ล่ะเป็นอย่างไร? เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในวันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 ภายหลังพระเยซูได้เสด็จขึ้นสวรรค์สิบวัน. (2:1-4) การให้บัพติสมาครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเพียงไร! วาดมโนภาพดูเถอะ. สาวกประมาณ 120 คนอยู่ที่ห้องชั้นบนเมื่อ ‘มีเสียงดังมาจากฟ้าเหมือนเสียงพายุสนั่นหวั่นไหวทั่วตึก.’ ไม่ใช่ลมพัดแต่เสียงเหมือนลมพัด. เปลวไฟ ‘เหมือนลิ้น’ ปรากฏอยู่บนศีรษะของสาวกและอัครสาวกทุกคน. “เขาเหล่านั้นประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงตั้งต้นพูดภาษาต่าง ๆ.” เมื่อมีการให้รับบัพติสมาแบบนั้น พวกเขาจึงได้กำเนิดโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้รับการเจิมและถูกประทับตราเป็นผู้หวังจะรับมรดกฝ่ายวิญญาณ.—โยฮัน 3:3, 5; 2 โกรินโธ 1:21, 22; 1 โยฮัน 2:20.
9. สาวกซึ่งประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้พูดถึงเรื่องอะไร?
9 เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ส่งผลกระทบชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมาเข้าศาสนายิวในกรุงยะรูซาเลมซึ่งมาจาก ‘ทุกประเทศทั่วใต้ฟ้า.’ (2:5-13) ด้วยความประหลาดใจพวกเขาได้ถามว่า ‘เหตุไฉนเราทุกคนได้ยินเขาพูดภาษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรา?’ อาจเป็นภาษาที่พูดกันในที่ต่าง ๆ เช่น มาดาย (ภาคตะวันออกของยูดาย) ฟรูเกีย (ในเอเชียไมเนอร์) และโรม (ในยุโรป). ขณะที่สาวกพูดภาษาต่าง ๆ กันหลายภาษา “กล่าวถึงการอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า” ผู้ฟังจำนวนมากรู้สึกอัศจรรย์ใจ แต่คนที่เยาะเย้ยกลับบอกว่าคนเหล่านั้นเมาเหล้า.
เปโตรให้คำพยานปลุกใจ
10. เหตุการณ์ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 สมจริงตามคำพยากรณ์ข้อใด และเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกันไหมในสมัยปัจจุบัน?
10 เปโตรตั้งต้นให้คำพยานโดยชี้ให้เห็นว่าเวลาเก้านาฬิกานั้นยังเช้าเกินไปสำหรับการเมาเหล้า. (2:14-21) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปตามคำสัญญาของพระเจ้าที่จะทรงเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงเหนือไพร่พลของพระองค์. พระเจ้าทรงดลใจเปโตรให้กล่าวถึงสมัยของเราโดยเพิ่มถ้อยคำว่า “ในเวลาที่สุด” และ “พวกเขาจะพยากรณ์.” (โยเอล 2:28-32) พระยะโฮวาจะทรงโปรดนิมิตปรากฏในท้องฟ้าและหมายสำคัญที่แผ่นดินโลกก่อนถึงวันสำคัญของพระองค์ และเฉพาะผู้ที่ร้องออกพระนามของพระองค์ด้วยความเชื่อจะได้รับการคุ้มครอง. การหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำนองเดียวกันแก่พวกผู้ถูกเจิมได้เสริมกำลังแก่เขาที่จะ “กล่าวพยากรณ์” ในสมัยนี้ด้วยความกระปรี้กระเปร่าและอย่างมีประสิทธิภาพ.
11. เกี่ยวกับพระเยซู พวกยิวได้ปฏิบัติกับพระองค์อย่างไร และพระเจ้าทรงปฏิบัติกับพระองค์อย่างไร?
11 ต่อจากนั้น เปโตรระบุตัวพระมาซีฮา. (2:22-28) พระเจ้าได้ทรงเป็นพยานสนับสนุนฐานะมาซีฮาของพระเยซู โดยโปรดให้พระองค์มีฤทธิ์อำนาจสำแดงอิทธิฤทธิ์การอัศจรรย์และหมายสำคัญต่าง ๆ. (เฮ็บราย 2:3, 4) แต่พวกยิวกลับใช้ “คนใจอำมหิต” คือชาวโรมันที่ไม่ยอมฟังกฎหมายของพระเจ้าตรึงพระองค์ติดกับหลัก. พระเยซู “ถูกมอบไว้ตามซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริแน่นอนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว” ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นไปตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี พระเจ้าได้ทรงปลุกพระเยซูขึ้นจากความตายและกำจัดร่างกายมนุษย์ของพระองค์ในวิธีที่จะไม่ถึงซึ่งความเน่าเปื่อย.—บทเพลงสรรเสริญ 16:8-11.
12. ดาวิดมองเห็นเหตุการณ์อะไรล่วงหน้า และความรอดขึ้นอยู่กับสิ่งใด?
12 คำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮานั้นได้รับการเน้นหนักมากขึ้นเมื่อเปโตรยังคงให้คำพยานต่อไป. (2:29-36) ท่านบอกว่า ดาวิดล่วงรู้ถึงการคืนพระชนม์ของบุตรองค์ยิ่งใหญ่ของท่านคือพระเยซูผู้เป็นมาซีฮา. จากสถานที่อันมีเกียรติ ณ เบื้องขวาพระหัตถ์พระเจ้าในสวรรค์นั้นเอง พระเยซูได้หลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งได้รับจากพระบิดาของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 110:1) คนทั้งหลายที่ฟังเปโตร ‘ได้ยินและได้เห็น’ การดำเนินงานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยการสังเกตเห็นเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้นอยู่เหนือศีรษะของเหล่าสาวก ทั้งได้ยินเขาพูดภาษาต่างประเทศได้. นอกจากนั้น ท่านชี้แจงว่าความรอดขึ้นอยู่กับการยอมรับพระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและมาซีฮา.—โรม 10:9; ฟิลิปปอย 2:9-11.
พระยะโฮวาโปรดให้มีการเพิ่มทวี
13. (ก) ที่จะรับบัพติสมาอย่างถูกต้อง ชาวยิวและพวกที่เปลี่ยนศาสนาจำต้องยอมรับอะไร? (ข) ผู้ที่ได้รับบัพติสมามีจำนวนเท่าไร และมีผลสืบเนื่องอย่างไรในกรุงยะรูซาเลม?
13 คำกล่าวของเปโตรมีประสิทธิภาพเพียงไร! (2:37-42) ผู้คนที่ฟังท่านรู้สึกแปลบเข้าไปในหัวใจเพราะเขาเห็นชอบด้วยกับการประหารพระมาซีฮา. ฉะนั้น เปโตรจึงได้กระตุ้นเตือนดังนี้: “จงกลับใจเสียใหม่ และรับบัพติสมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์.” ชาวยิวและคนเหล่านั้นที่เปลี่ยนมาเข้าศาสนายิวต่างก็ได้ยอมรับพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าและสำนึกถึงความจำเป็นที่จะรับพระวิญญาณจากพระองค์. ตอนนี้เขาจำต้องกลับใจเสียใหม่และยอมรับพระเยซูฐานะเป็นมาซีฮา เพื่อจะได้รับบัพติสมาในนาม (คือยอมรับหน้าที่ตำแหน่ง) ของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์. (มัดธาย 28:19, 20) โดยการให้คำพยานแก่คนเหล่านั้นไม่ว่ายิวหรือคนเปลี่ยนศาสนา เปโตรได้ใช้ลูกกุญแจฝ่ายวิญญาณดอกแรกที่พระเยซูให้ไว้กับท่านเปิดประตูแห่งความรู้และโอกาสสำหรับชาวยิวจะเข้าในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (มัดธาย 16:19) ในวันนั้นวันเดียวมีสามพันคนรับบัพติสมา! นึกวาดภาพดูซิ พยานของพระยะโฮวาจำนวนมากถึงขนาดนั้นทำการประกาศสั่งสอนในเขตทำงานเล็ก ๆ อย่างกรุงยะรูซาเลม!
14. ผู้เชื่อถือทั้งหลาย ‘ได้เอาของมารวมเป็นของกลาง’ เช่นนั้นเพราะเหตุใด และโดยวิธีใด?
14 หลายคนจากที่ห่างไกลต้องการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อใหม่และต้องการประกาศให้คนอื่นฟัง แต่เขาขาดปัจจัยหลายอย่างสำหรับการค้างแรมที่เนิ่นนานออกไป. ฉะนั้น สาวกรุ่นแรก ๆ ของพระเยซูจึงได้ช่วยเหลือเจือจุนกันด้วยความรักใคร่ ดังที่พยานพระยะโฮวาสมัยนี้ก็ได้ทำอย่างเดียวกัน. (2:43-47) ผู้มีความเชื่อเหล่านั้นต่างก็ ‘ได้เอาทรัพย์สิ่งของมารวมเป็นของกลางอยู่’ ระยะหนึ่ง. บางคนได้ขายที่ดิน และนำทรัพย์มาแบ่งให้แก่ผู้ซึ่งขาดแคลน. ทั้งนี้ทำให้ประชาคมมีการเริ่มต้นอย่างดี ขณะที่ ‘พระยะโฮวาทรงโปรดให้ผู้ที่กำลังจะพ้นจากความผิดบาปของตนเข้ามาสมทบกันทุกวัน.’
การรักษาโรคและผลที่ตามมา
15. เกิดอะไรขึ้นเมื่อเปโตรกับโยฮันได้เข้าไปยังพระวิหาร และประชาชนมีปฏิกิริยาอย่างไร?
15 พระยะโฮวาทรงสนับสนุนสาวกของพระเยซูโดย “หมายสำคัญ.” (3:1-10) ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปโตรกับโยฮันได้เข้าไปวิหารเวลาบ่ายสามโมงอันเป็นเวลาอธิษฐาน และมีการถวายบูชาสำหรับตอนเย็นด้วย มีคนง่อยแต่กำเนิดอยู่ริมประตูงามนั้นขอรับ “ทาน.” เปโตรได้กล่าวว่า ‘เงินและทองเราไม่มี แต่ซึ่งเรามีอยู่จะให้ท่านคือ ในนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงลุกขึ้นเดินไปเถิด!’ ชายผู้นั้นเดินไปทันที! ขณะที่เขาเข้าไปยังวิหาร “เต้นโลดสรรเสริญพระเจ้า” ฝูงชน ‘ต่างก็ประหลาดอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง.’ บางคนอาจนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “คนง่อยจะเต้นได้ดุจอีเก้ง.”—ยะซายา 35:6.
16. พวกอัครสาวกสามารถรักษาคนง่อยให้หายเป็นปกติโดยวิธีใด?
16 ฝูงชนซึ่งอัศจรรย์ใจต่างก็ไปชุมนุมกันอยู่ที่เฉลียงของซะโลโมอยู่ทางด้านตะวันออกของวิหาร. เปโตรให้คำพยานที่นั่น. (3:11-18) ท่านได้แถลงว่า พระเจ้าประทานฤทธิ์เดชแก่อัครสาวกผ่านทางพระเยซูผู้รับใช้ที่พระเจ้าโปรดให้มีเกียรติเพื่อจะรักษาชายง่อยคนนี้. (ยะซายา 52:13–53:12) ชาวยิวได้ฆ่า “พระองค์ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์และชอบธรรม” แต่กระนั้นพระยะโฮวาทรงโปรดให้พระองค์ฟื้นคืนชีพอีก. ถึงแม้นปรชาชนและผู้ครอบครองของเขาไม่รู้ว่าเขาได้ฆ่าพระมาซีฮา แต่พระเจ้าก็ได้ให้คำกล่าวเชิงพยากรณ์นั้นสำเร็จสมจริงที่ว่า “พระคริสต์ของพระองค์ต้องทนทุกข์ทรมาน.”—ดานิเอล 9:26.
17. (ก) ชาวยิวจำต้องลงมือทำอะไร? (ข) เกิดอะไรขึ้นตั้งแต่ ‘มีการส่งพระคริสต์’ ในสมัยของเรา?
17 เพราะการปฏิบัติของพวกเขาต่อพระมาซีฮา เปโตรจึงได้แนะนำชาวยิวว่าควรทำประการใด. (3:19-26) พวกเขาจะต้อง “กลับใจ” หรือรู้สึกเสียใจเนื่องด้วยการบาปของตน แล้ว “หันกลับ” หรือเปลี่ยนแนวทางใหม่ หันไปในทางตรงกันข้าม. ถ้าเขาสำแดงความเชื่อในพระเยซูฐานะเป็นมาซีฮา รับเอาค่าไถ่ เขาจะได้รับความสดชื่นจากพระยะโฮวาฐานะเป็นคนได้รับการอภัยโทษแล้ว. (โรม 5:6-11) พวกยิวได้รับการสะกิดให้สำนึกว่าเขาเป็นบุตรภายใต้คำสัญญาไมตรีซึ่งพระเจ้าทรงกระทำไว้กับบรรพบุรุษของเขา เมื่อตรัสแก่อับราฮามดังนี้: “ครอบครัวทั้งปวงทั่วแผ่นดินโลกจะได้ความสุขสำราญโดยเผ่าพันธุ์ของท่าน.” ดังนั้นก่อนอื่นพระเจ้าได้ส่งผู้รับใช้ซึ่งเป็นมาซีฮามาช่วยชาวยิวที่กลับใจ. น่าสนใจ ตั้งแต่ ‘มีการส่งพระคริสต์’ มาพร้อมด้วยราชอำนาจจากภาคสวรรค์ในปี 1914 จึงมีการบูรณะฟื้นฟูความจริงซึ่งยังความสดชื่นและจัดระบบองค์การตามแนวการปกครองของพระเจ้าขึ้นท่ามกลางพยานพระยะโฮวา.—เยเนซิศ 12:3; 18:18; 22:18.
เขาไม่เลิก!
18. “ศิลา” อะไรซึ่งชาวยิว “ผู้เป็นช่างก่อ” ได้ปฏิเสธ และใครแต่ผู้เดียวจะให้ความรอดได้?
18 ด้วยความโกรธแค้นที่เปโตรกับโยฮันแถลงเรื่องการคืนพระชนม์ของพระเยซู พวกปุโรหิต นายทหารรักษาโบสถ์และพวกซาดูกายจึงจับท่านทั้งสองจำไว้ในคุก. (4:1-12) พวกซาดูกายไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย แต่คนอื่น ๆ มากมายได้เข้ามาเชื่อถือ เฉพาะผู้ชายนับได้ประมาณ 5,000 คน. เมื่อถูกนำตัวมาให้การที่ศาลสูง ณ กรุงยะรูซาเลมเปโตรได้บอกว่าชายง่อยคนนั้นหายเป็นปกติ “โดยพระนามของพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ” ซึ่งพวกเขาได้ตรึงเสียแล้ว แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้คืนพระชนม์. “ศิลา” ซึ่งชาวยิว “ผู้เป็นช่างก่อ” ได้ปฏิเสธ “ได้ถูกตั้งเป็นหัวมุม.” (บทเพลงสรรเสริญ 118:22) เปโตรพูดว่า “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย.”
19. เมื่อถูกสั่งห้ามการประกาศ พวกอัครสาวกได้ตอบอย่างไร?
19 พวกเขาพยายามจะระงับการพูดแบบนี้. (4:13-22) เนื่องจากชายที่หายเป็นปกติยืนอยู่ที่นั่นด้วย เขาจึงไม่อาจปฏิเสธ “นิมิตอันประหลาด” กระนั้น เปโตรกับโยฮันกลับถูก “ห้ามปรามเด็ดขาดมิให้พูดหรือสอนในพระนามของพระเยซูอีกเลย.” ท่านทั้งสองตอบอย่างไร? “ข้าพเจ้าจะไม่พูดตามที่เห็นและได้ยินนั้นก็ไม่ได้.” เขาเชื่อฟังพระยะโฮวาฐานะเป็นผู้ครอบครองของเขา!
พระเจ้าสดับคำทูลอธิษฐาน!
20. พวกสาวกอธิษฐานทูลขอเพื่อสิ่งใด และมีผลอะไรตามมา?
20 พยานพระยะโฮวาอธิษฐาน ณ การประชุมต่าง ๆ ฉันใด บรรดาสาวกได้อธิษฐานเมื่อพวกอัครสาวกซึ่งถูกปล่อยจากที่คุมขังได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉันนั้น. (4:23-31) เขาได้สังเกตว่าบรรดาผู้มีอำนาจปกครองสมัยนั้นซึ่งได้แก่ เฮโรดอันติปา ปอนเตียวปีลาต และชาวโรมันคนต่างประเทศพร้อมด้วยชาวยิศราเอลได้ร่วมหัวกันต่อต้านพระมาซีฮา. (บทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2; ลูกา 23:1-12) เพื่อเป็นการตอบคำอธิษฐาน พระยะโฮวาทรงโปรดให้สาวกเหล่านั้นประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้วเขาจึงได้กล่าวคำของพระเจ้าด้วยความกล้า. เขามิได้ขอผู้ครอบครองของเขาระงับการข่มเหง แต่เขาขอพระองค์สนับสนุนเขาให้ทำการประกาศด้วยใจกล้า แม้นว่าถูกข่มเหงก็ตาม.
21. บาระนาบาคือใคร และผู้นี้มีคุณสมบัติอะไรบ้าง?
21 พวกผู้เชื่อถือทั้งหลายยังคงนำเอาสิ่งของมารวมกันเป็นของกลางอยู่ต่อไป และไม่มีผู้ใดขัดสน. (4:32-37) ผู้บริจาคคนหนึ่งได้แก่โยเซฟจากไซปรัสเป็นคนตระกูลเลวี. พวกอัครสาวกได้ตั้งฉายานามว่าบาระนาบา หมายความว่า “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ” คงเป็นเพราะเข้ามีน้ำใจชอบช่วยเหลือและเอื้ออารี. แน่นอน พวกเราทุกคนต้องการเป็นคนชนิดนั้น.—กิจการ 11:22-24.
คนโกหกถูกเปิดโปง
22, 23. อะนาเนียและสัปไฟเรได้ทำอะไรอันเป็นบาป และเราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากประสบการณ์ของเขา?
22 แต่อะนาเนียกับภรรยาชื่อสัปไฟเรหาได้ยอมรับเอาพระยะโฮวาเป็นผู้ครอบครองของเขาไม่. (5:1-11) เขาได้ขายที่นาและเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ขณะที่แสร้งว่าจะมอบเงินทั้งหมดแก่พวกอัครสาวก. เนื่องจากท่านได้รับความรู้โดยพระวิญญาณของพระเจ้า เปโตรสามารถจะหยั่งเห็นถึงความหน้าซื่อใจคดของเขา ซึ่งเป็นเหตุที่เขาล้มลงตาย. นับว่าเป็นข้อเตือนสติที่เหมาะจริง ๆ แก่ผู้ที่ซาตานล่อใจให้ใช้เล่ห์เหลี่ยม!—สุภาษิต 3:32; 6:16-19.
23 ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น คนที่มีเจตนาชั่วไม่กล้าจะร่วมสมทบกับพวกสาวก. มีคนอื่นที่เข้ามาเชื่อถือ. (5:12-16) ยิ่งกว่านั้น เมื่อคนป่วยและคนที่ถูกวิญญาณชั่วเบียดเบียนได้แสดงความเชื่อในฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ‘เขาก็หายกันทุกคน.’
เชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่ามนุษย์
24, 25. ทำไมผู้นำที่เป็นคนยิวจึงข่มเหงพวกอัครสาวก. แต่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้วางมาตรฐานอะไรไว้สำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทุกคน?
24 มาบัดนี้มหาปุโรหิตและพวกซาดูกายพยายามจะขัดขวางความเจริญอย่างน่าประหลาดเช่นนั้นโดยจำคุกอัครสาวกหมดทุกคน. (5:17-25) แต่ในคืนนั้นทีเดียว ทูตของพระเจ้าได้เปิดประตูคุกปล่อยเขาออกมา. พอรุ่งเช้าพวกเขาทำการสั่งสอนอยู่ในพระวิหาร! การกดขี่ข่มเหงไม่สามารถจะยับยั้งผู้รับใช้ของพระเจ้าไว้ได้.
25 กระนั้น มีการกดดันพวกอัครสาวกอีกเมื่อเขาถูกนำตัวไปปรากฏต่อหน้าที่ประชุมปรึกษา. (5:26-42) เมื่อมีคำสั่งห้ามเขามิให้สั่งสอน พวกอัครสาวกกล่าวว่า “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” คำพูดนี้ถือเป็นมาตรฐานะสำหรับสาวกของพระเยซู เป็นหลักการที่พยานพระยะโฮวายึดปฏิบัติในทุกวันนี้. หลังจากฆามาลิเอลครูสอนกฎหมายได้ตักเตือนแล้ว ผู้นำเหล่านั้นได้เฆี่ยนอัครสาวก กำชับไม่ให้ประกาศสั่งสอน แล้วจึงปล่อยพวกเขาไป.
26. งานประกาศสั่งสอนของพวกอัครสาวกเปรียบเทียบได้อย่างไรกับงานของพยานพระยะโฮวาสมัยนี้?
26 พวกอัครสาวกมีความชื่นชมยินดี เพราะตนสมควรได้รับการหลู่เกียรติเนื่องด้วยนามของพระเยซู. “และเขาทั้งหลายจึงทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์ในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันมิได้ขาด.” ใช่แล้ว พวกเขาเป็นผู้ประกาศตามบ้านเรือน. พยานของพระเจ้าสมัยปัจจุบัน ซึ่งได้รับพระวิญญาณของพระองค์ก็ทำอย่างนั้นด้วย เพราะเขาเชื่อฟังพระองค์และพูดว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ครอบครองของเรา!”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ งานมอบหมายอะไรซึ่งต้องทำให้สำเร็จโดยสาวกของพระเยซูทั้งในอดีตและปัจจุบัน?
▫ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33?
▫ เมื่อไรที่เปโตรได้ใช้กุญแจฝ่ายวิญญาณอันแรกซึ่งพระเยซูมอบไว้แก่ท่าน และใช้อย่างไร?
▫ เราสามารถเรียนอะไรจากประสบการณ์ของอะนาเนียกับสัปไฟเร?
▫ เมื่อถูกสั่งห้ามการประกาศ พวกอัครสาวกได้วางมาตรฐานอะไรไว้สำหรับบรรดาพยานของพระยะโฮวา?