จงประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด
“ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.”—โรม 10:13, ล.ม.
1. ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านไป ได้มีการประกาศคำเตือนในเรื่องอะไร?
ประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึง “วันแห่งพระยะโฮวา” หลายวัน. น้ำท่วมใหญ่ในสมัยโนฮา, การทำลายล้างเมืองซะโดมและอะโมรา, และการทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช และอีกครั้งในปี ส.ศ. 70 ล้วนเป็นวันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา. วันเหล่านั้นประสาทความยุติธรรมแก่ผู้ที่กบฏต่อพระยะโฮวา. (มาลาคี 4:5; ลูกา 21:22) ในระหว่างวันเหล่านั้น มีคนเป็นอันมากล้มตายไปเพราะเหตุความชั่วของตน. แต่บางคนรอดชีวิต. พระยะโฮวาทรงโปรดให้มีการประกาศคำเตือน แจ้งแก่คนชั่วถึงความหายนะที่จะมีมา และให้โอกาสแก่คนที่มีหัวใจดีพบกับความรอด.
2, 3. (ก) คำเตือนเชิงพยากรณ์อะไรที่ได้มีการยกขึ้นมากล่าวในวันเพนเตคอสเต? (ข) ตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 มีข้อเรียกร้องให้ทำอะไรในการร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา?
2 การทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 70 เป็นตัวอย่างเด่นในเรื่องนี้. ในการบอกล่วงหน้าเกือบ 900 ปีถึงเหตุการณ์นั้น ผู้พยากรณ์โยเอลเขียนดังนี้: “เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในท้องฟ้าและบนพื้นโลก, คือเป็นเลือด, ไฟ, และควันพลุ่งขึ้นเป็นลำ. ดวงอาทิตย์จะกลับมืดไป, และดวงจันทร์ก็จะกลับเป็นเลือดก่อนที่วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวาจะมาถึง.” ใครล่ะที่สามารถรอดผ่านเวลาอันน่าหวาดหวั่นเช่นนี้ได้? โยเอลเขียนภายใต้การดลใจดังนี้: “จะเป็นเช่นนี้, คือทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด; เหตุว่าในภูเขาซีโอนและในกรุงยะรูซาเลมจะมีผู้หนีพ้นภัยได้. ตามที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้แล้ว, และในพวกคนที่เหลืออยู่นั้นก็จะมีผู้เหล่านั้นซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงเรียกไว้แล้ว.”—โยเอล 2:30-32.
3 ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 ที่กรุงยะรูซาเลม อัครสาวกเปโตรกล่าวต่อฝูงชนชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวและยกคำพยากรณ์ของโยเอลขึ้นมากล่าว ชี้ให้เห็นว่าผู้ฟังของท่านอาจคาดหมายความสำเร็จเป็นจริงในสมัยของพวกเขา โดยบอกว่า “เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในอากาศเบื้องบน, และนิมิตที่แผ่นดินเบื้องล่าง, เป็นเลือด, ไฟและไอควัน ดวงอาทิตย์จะกลายมืดไป, และดวงจันทร์จะกลับเป็นเลือด, ก่อนถึงวันใหญ่นั้น, คือวันใหญ่ยิ่งของพระเจ้า และจะเป็นเช่นนี้คือทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด.” (กิจการ 2:16-21) ฝูงชนที่ฟังเปโตรทั้งหมดอยู่ใต้พระบัญญัติของโมเซ และด้วยเหตุนั้น พวกเขารู้จักพระนามพระยะโฮวา. เปโตรอธิบายว่า นับแต่นั้นไป การร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรวมถึงอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้น. ที่เด่นชัดก็คือ การร้องเรียกพระนามหมายรวมถึงการรับบัพติสมาในพระนามพระเยซูผู้ถูกฆ่า แล้วหลังจากนั้นถูกปลุกให้คืนพระชนม์สู่อมตชีพในสวรรค์.—กิจการ 2:37, 38.
4. ข่าวสารอะไรที่คริสเตียนประกาศเผยแพร่?
4 ตั้งแต่วันเพนเตคอสเตเป็นต้นมา คริสเตียนเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์. (1 โกรินโธ 1:23) พวกเขาป่าวประกาศว่า มนุษย์สามารถถูกรับเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาพระเจ้าและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ยิศราเอลของพระเจ้า” ชาติฝ่ายวิญญาณซึ่งจะ ‘ประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณของพระยะโฮวา.’ (ฆะลาเตีย 6:16; 1 เปโตร 2:9, ล.ม.) คนที่รักษาความซื่อสัตย์จนสิ้นชีวิตจะได้รับอมตชีพในสวรรค์โดยเป็นรัชทายาทร่วมกับพระเยซูในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. (มัดธาย 24:13; โรม 8:15, 16; 1 โกรินโธ 15:50-54) นอกจากนั้น คริสเตียนเหล่านี้ต้องประกาศถึงการมาของวันอันใหญ่ยิ่งและน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา. พวกเขาต้องเตือนโลกแห่งชาวยิวว่าจะประสบความทุกข์ลำบากที่ร้ายกาจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับยะรูซาเลมและประชาชนที่อ้างตัวเป็นไพร่พลของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม จะมีผู้รอดชีวิต. ใครล่ะ? คนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวานั่นเอง.
“ในสมัยสุดท้าย”
5. ความสำเร็จเป็นจริงอะไรบ้างตามคำพยากรณ์ที่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบัน?
5 สภาพการณ์ในสมัยนั้นเป็นภาพเล็งถึงเหตุการณ์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันในหลายทางด้วยกัน. นับตั้งแต่ปี 1914 มนุษยชาติมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาพิเศษซึ่งมีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็น “เวลาอวสาน,” “ช่วงอวสานของระบบ,” และ “สมัยสุดท้าย.” (ดานิเอล 12:1, 4, ล.ม.; มัดธาย 24:3-8, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1-5, 13, ล.ม.) ในศตวรรษที่เรามีชีวิตอยู่นี้ สงครามอันโหดร้าย, ความรุนแรงอย่างไม่มีการเหนี่ยวรั้ง, และการทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้คำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่ง. ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของหมายสำคัญที่พระเยซูทรงพยากรณ์ไว้ ซึ่งบ่งบอกว่ามนุษยชาติจวนจะพบกับวันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาที่เด็ดขาดและเป็นครั้งสุดท้าย. เหตุการณ์นี้จะถึงจุดสุดยอดในสงครามอาร์มาเก็ดดอน จุดสุดยอดแห่ง “ความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีโลกจนกระทั่งบัดนี้ ใช่ และจะไม่เกิดขึ้นอีก.”—มัดธาย 24:21, ล.ม.; วิวรณ์ 16:16.
6. (ก) พระยะโฮวาได้ทรงดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยคนอ่อนน้อมให้รอด? (ข) เราพบคำแนะนำของเปาโลที่ไหนในเรื่องวิธีรอดชีวิต?
6 ขณะที่วันแห่งการทำลายล้างนี้ใกล้เข้ามา พระยะโฮวากำลังดำเนินการเพื่อความรอดของผู้ที่อ่อนน้อม. ในช่วง “เวลาอวสาน” นี้ พระองค์ได้ทรงรวบรวมยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้ากลุ่มสุดท้าย และตั้งแต่ทศวรรษปี 1930 เป็นต้นมา ทรงทำให้ผู้รับใช้ของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกหันมาเอาใจใส่ เพื่อรวบรวม “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง.” ในฐานะเป็นกลุ่ม คนเหล่านี้จะมีชีวิตรอด “ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) ทว่า บุคคลแต่ละคนจะทำให้ความรอดของตนเป็นเรื่องแน่นอนได้อย่างไร? อัครสาวกเปาโลตอบคำถามนี้. ในพระธรรมโรมบท 10 ท่านให้คำแนะนำที่ดีเพื่อจะได้รับความรอด—คำแนะนำซึ่งใช้ได้ในสมัยของท่านและในสมัยของเราด้วยเช่นกัน.
คำอธิษฐานเพื่อความรอด
7. (ก) โรม 10:1, 2 ระบุความหวังในเรื่องอะไร? (ข) เหตุใดเวลานี้พระยะโฮวาจึงทรงสามารถให้มีการประกาศ “ข่าวดี” อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น?
7 เมื่อเปาโลเขียนพระธรรมโรม พระยะโฮวาได้ทรงปฏิเสธยิศราเอลในฐานะเป็นชาติไปแล้ว. ถึงกระนั้น ท่านอัครสาวกยืนยันดังนี้: “ความปรารถนาในใจข้าพเจ้าและคำวิงวอนขอพระเจ้าเพื่อพลยิศราเอลนั้น, คือขอเพื่อหวังให้เขาทั้งหลายรอด.” ท่านหวังให้ชาวยิวเป็นรายบุคคลได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งจะนำพวกเขาไปสู่การช่วยให้รอด. (โรม 10:1, 2) นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้โลกแห่งมนุษยชาติทั้งสิ้นที่แสดงความเชื่อได้ความรอด ดังระบุไว้ที่โยฮัน 3:16 (ล.ม.) ซึ่งอ่านว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” ค่าไถ่ของพระเยซูเปิดทางไว้สำหรับความรอดอันยิ่งใหญ่. เช่นเดียวกับในสมัยของโนฮาและวันแห่งการพิพากษาอื่น ๆ หลังจากนั้น พระยะโฮวาได้ทรงจัดให้มีการประกาศ “ข่าวดี” ซึ่งชี้ทางสู่ความรอด.—มาระโก 13:10, 19, 20, ล.ม.
8. โดยเลียนแบบเปาโล คริสเตียนแท้แสดงความปรารถนาดีต่อใครในปัจจุบัน และโดยวิธีใด?
8 ด้วยความปรารถนาดีต่อทั้งคนยิวและชนต่างชาติ เปาโลประกาศในทุกโอกาส. ท่าน “โน้มน้าวใจชาวยิวและชาวกรีก.” ท่านบอกผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซดังนี้: “ข้าพเจ้ามิได้ยับยั้งการบอกสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั้งการสอนท่านทั้งหลายในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน. แต่ข้าพเจ้าให้คำพยานอย่างถี่ถ้วนแก่ทั้งชาวยิวและชาวกรีกเรื่องการกลับใจเฉพาะพระเจ้าและความเชื่อในพระเยซูเจ้าของเรา.” (กิจการ 18:4; 20:20, 21, ล.ม.) คล้ายคลึงกันนั้น พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ทุ่มเทให้กับการประกาศ ไม่เพียงแต่ต่อผู้คนที่อยู่ในคริสต์ศาสนจักร แต่ประกาศไปยังชนทุกประเทศ กระทั่งถึง “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”—กิจการ 1:8; 18:5.
การประกาศ “คำของความเชื่อ”
9. (ก) โรม 10:8, 9 สนับสนุนให้มีความเชื่อแบบใด? (ข) เราควรประกาศความเชื่อของเราเมื่อไรและโดยวิธีใด?
9 ความเชื่อที่ทนนานนั้นจำเป็นเพื่อความรอด. โดยยกข้อความจากพระบัญญัติ 30:14 เปาโลบอกดังนี้: “‘คำนั้นอยู่ใกล้ตัวท่านแล้ว, อยู่ในปากของท่านและในใจของท่าน,’ คือคำของความเชื่อที่เราทั้งหลายประกาศอยู่นั้น.” (โรม 10:8) ขณะที่เราประกาศ “คำของความเชื่อ” คำนั้นก็จะยิ่งฝังลึกในหัวใจเรา. เป็นเช่นนั้นกับเปาโลเอง และถ้อยคำต่อไปนี้ที่ท่านกล่าวเพิ่มเติมอีกอาจช่วยทำให้เราตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้นที่จะเป็นเหมือนท่านในการประกาศความเชื่อนั้นแก่ผู้อื่น: “ถ้าท่านประกาศอย่างเปิดเผย ‘คำนั้นในปากของท่านเอง’ ว่า พระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และสำแดงความเชื่อในหัวใจของท่านว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์แล้ว ท่านก็จะรอด.” (โรม 10:9, ล.ม.) การประกาศนี้ไม่เพียงแต่ทำเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่นตอนรับบัพติสมา แต่ต้องเป็นการประกาศอย่างต่อเนื่อง ให้พยานหลักฐานต่อสาธารณชนด้วยใจแรงกล้าเกี่ยวกับแง่มุมอันยอดเยี่ยมทั้งสิ้นของความจริง. ความจริงดังกล่าวรวมจุดอยู่ที่พระนามอันล้ำค่าของพระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร, กษัตริย์มาซีฮาและพระผู้ไถ่ พระเยซูคริสต์เจ้า, และคำสัญญาอันยอดเยี่ยมเรื่องราชอาณาจักร.
10. สอดคล้องกับโรม 10:10, 11 เราต้องใช้ “คำของความเชื่อ” นี้อย่างไร?
10 ไม่มีความรอดสำหรับใครก็ตามที่ไม่ยอมรับและใช้ “คำของความเชื่อ” นี้ ดังที่ท่านอัครสาวกกล่าวต่อไปว่า “ด้วยหัวใจคนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม แต่ด้วยปากคนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด. เพราะพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า ‘ผู้หนึ่งผู้ใดที่เชื่อในพระองค์จะไม่ผิดหวังเลย.’” (โรม 10:10, 11, ล.ม.) เราต้องรับเอาความรู้ถ่องแท้เกี่ยวด้วย “คำของความเชื่อ” นี้ และปลูกฝังคำนี้ในหัวใจเราเพื่อจะได้กระตุ้นเราให้บอกคำนี้แก่ผู้อื่น. พระเยซูเองทรงเตือนใจเราดังนี้: “ถ้าผู้ใดมีความอายเพราะเราและถ้อยคำของเราในชั่วอายุนี้ซึ่งประกอบด้วยการชั่วคิดคดทรยศ, บุตรมนุษย์ก็จะมีความอายเพราะผู้นั้น, ในเวลาเมื่อพระองค์จะเสด็จมาด้วยสง่าราศีแห่งพระบิดาและด้วยเหล่าทูตสวรรค์ผู้บริสุทธิ์.”—มาระโก 8:38.
11. ข่าวดีต้องได้รับการประกาศอย่างกว้างขวางถึงขนาดไหน และทำไม?
11 ดังที่ผู้พยากรณ์ดานิเอลบอกล่วงหน้าเอาไว้ ในเวลาอวสานนี้จะเห็น “คนมีสติสัมปชัญญะ [“ความหยั่งเห็นเข้าใจ,” ล.ม.]” ส่องสว่าง “ดังดารา” ขณะที่คำพยานเกี่ยวกับราชอาณาจักรแผ่ขยายไปจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก. พวกเขากำลัง “ชักนำคนมากหลายให้กลับมาถึงความชอบธรรม” และความรู้แท้จะมีอย่างอุดมบริบูรณ์ เพราะพระยะโฮวากำลังฉายความสว่างให้เข้าใจคำพยากรณ์เกี่ยวกับเวลาอวสานนี้ได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ. (ดานิเอล 12:3, 4) นี่เป็นข่าวความรอดที่สำคัญยิ่งต่อการรอดชีวิตของทุกคนที่รักความจริงและความชอบธรรม.
12. โรม 10:12 คล้องจองอย่างไรกับงานมอบหมายของทูตสวรรค์ซึ่งพรรณนาไว้ที่วิวรณ์ 14:6?
12 อัครสาวกเปาโลกล่าวต่อไปว่า “พวกยูดายและพวกเฮเลน [กรีก] หาได้ทรงถือว่าต่างกันไม่, ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของคนทั้งปวง, และทรงโปรดอย่างบริบูรณ์แก่คนทั้งปวงที่ทูลขอพระองค์.” (โรม 10:12) ปัจจุบัน “ข่าวดี” ต้องได้รับการประกาศอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นไปทั่วลูกโลก—ถึงทุกชนชาติ, จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกทีเดียว. ทูตสวรรค์ที่วิวรณ์ 14:6 (ล.ม.) กล่าวถึงยังคงบินอยู่กลางฟ้าสวรรค์ มอบ “ข่าวดีนิรันดร์จะประกาศเป็นข่าวน่ายินดีแก่คนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก และแก่ทุกชาติและทุกตระกูล และทุกภาษาและทุกชนชาติ” ให้ไว้กับเรา. การประกาศนี้จะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อคนที่ตอบรับ?
การร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา
13. (ก) ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 1998 ของเราคืออะไร? (ข) เหตุใดข้อพระคัมภีร์ประจำปีดังกล่าวนี้เหมาะกับเวลานี้อย่างยิ่ง?
13 โดยยกข้อความจากโยเอล 2:32 เปาโลประกาศว่า “ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.” (โรม 10:13, ล.ม.) ช่างเหมาะเพียงไรที่คำพูดนี้อยู่ในข้อพระคัมภีร์ประจำปีของพยานพระยะโฮวาสำหรับปี 1998! ไม่เคยมีความสำคัญมากขนาดนี้มาก่อนที่จะรุดหน้าไปด้วยความไว้วางใจในพระยะโฮวา ป่าวประกาศพระนามและพระประสงค์อันยอดเยี่ยมที่พระนามนี้หมายถึง! เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก ในสมัยสุดท้ายแห่งระบบปัจจุบันอันเสื่อมทรามนี้ มีเสียงก้องร้องออกมาว่า “จงเอาตัวรอดจากคนชาติทุจจริตนี้เถิด.” (กิจการ 2:40) นี่นับเป็นคำเชิญที่ดังราวกับเสียงแตรซึ่งมีไปถึงผู้คนทั่วโลกที่เกรงกลัวพระเจ้าให้ร้องเรียกพระยะโฮวา ขอพระองค์ทรงประทานความรอดแก่พวกเขาและแก่คนที่ฟังการประกาศข่าวดีอย่างเปิดเผยด้วย.—1 ติโมเธียว 4:16.
14. เราต้องร้องขอความรอดจากศิลาใด?
14 จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาระเบิดขึ้นบนแผ่นดินโลกนี้? คนส่วนใหญ่จะไม่หมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อความรอด. มนุษยชาติทั่วไปจะ “บอกกับภูเขาและกับหินผาโดยไม่หยุดว่า ‘จงหล่นลงมาบนเราเถิดและบังซ่อนเราไว้จากพระพักตร์พระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์และจากพระพิโรธของพระเมษโปดกนั้น.’” (วิวรณ์ 6:15, 16, ล.ม.) พวกเขาจะฝากความหวังไว้กับองค์การและสถาบันต่าง ๆ ของระบบนี้ซึ่งเป็นเช่นภูเขา. อย่างไรก็ตาม จะดีกว่านั้นสักเพียงไรถ้าพวกเขาวางใจในพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นศิลาที่ยิ่งใหญ่เหนือศิลาทั้งมวล! (พระบัญญัติ 32:3, 4) กษัตริย์ดาวิดกล่าวถึงพระองค์ดังนี้: “พระยะโฮวาเป็นศิลา, เป็นป้อม, และผู้ช่วยข้าพเจ้าให้รอด.” พระยะโฮวาทรงเป็น “ศิลาแห่งความรอดของพวกเรา.” (บทเพลงสรรเสริญ 18:2; 95:1) พระนามของพระองค์เป็น “ป้อมเข้มแข็ง” เพียง “ป้อม” เดียวเท่านั้นที่แข็งแรงพอจะปกป้องเราไว้ในช่วงวิกฤติที่กำลังจะมาถึง. (สุภาษิต 18:10) ฉะนั้น สำคัญที่คนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้จากเกือบหกพันล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ต้องได้รับการสอนให้ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์และด้วยน้ำใสใจจริง.
15. โรม 10:14 ระบุอะไรในเรื่องความเชื่อ?
15 อัครสาวกเปาโลถามต่อไปอีกอย่างเหมาะทีเดียวว่า “แต่เขาจะร้องเรียกพระองค์ผู้ที่เขายังไม่เชื่ออย่างไรกัน?” (โรม 10:14, ล.ม.) มีคนเป็นอันมากที่ยังจะต้องได้รับการช่วยทำให้ “คำของความเชื่อ” เป็นของเขาเอง เพื่อร้องขอพระยะโฮวาทรงประทานความรอด. ความเชื่อสำคัญยิ่ง. เปาโลกล่าวในจดหมายอีกฉบับหนึ่งดังนี้: “ถ้าไม่มีความเชื่อ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นที่ชอบพระทัย [พระเจ้า] เพราะผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์มาเป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) แต่คนอีกหลายล้านจะเข้ามามีความเชื่อในพระเจ้าได้อย่างไร? ในจดหมายถึงพี่น้องในกรุงโรม เปาโลถามอย่างนี้: “แล้วเขาจะเชื่อในพระองค์ผู้ที่เขาไม่เคยได้ยินถึงพระองค์อย่างไร?” (โรม 10:14, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมวิถีทางไว้ไหมเพื่อให้พวกเขาได้ยิน? พระองค์ทรงจัดให้อย่างแน่นอน! ขอให้ฟังเปาโลกล่าวต่อจากนั้น: “แล้วเขาจะได้ยินอย่างไรเมื่อไม่มีใครประกาศ?”
16. เหตุใดผู้ประกาศจึงมีความสำคัญในการจัดเตรียมของพระเจ้า?
16 จากการหาเหตุผลของเปาโลเห็นได้แจ่มชัดเลยว่าจำเป็นต้องมีผู้ประกาศ. พระเยซูทรงชี้ว่าจะต้องมีคนที่ประกาศเรื่อยไป “จนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.” (มัดธาย 24:14; 28:18-20, ล.ม.) นี่เป็นส่วนสำคัญของการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อช่วยประชาชนให้ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาเพื่อความรอด. แม้แต่ในคริสต์ศาสนจักร คนส่วนใหญ่ล้วนไม่ได้ทำสิ่งใดที่ถวายพระเกียรติแด่พระนามอันล้ำเลิศของพระเจ้า. มีคนเป็นอันมากเชื่อในพระยะโฮวาอย่างสับสนปนเปกับอีกสององค์ในหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพที่ไม่อาจอธิบายได้. นอกจากนี้ หลายคนกลายเป็นคนประเภทที่กล่าวถึงในบทเพลงสรรเสริญ 14:1 และ 53:1 ที่บอกว่า “คนโฉดเขลากล่าวในใจของตนแล้วว่า, พระเจ้าไม่มี.” พวกเขาจำเป็นต้องทราบว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ และเขาต้องเข้าใจในทุกประการที่พระนามของพระองค์หมายถึง หากเขาต้องการจะรอดในคราวความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงนี้.
‘เท้าอันงดงาม’ ของผู้ประกาศ
17. (ก) เหตุใดจึงเหมาะที่เปาโลยกเอาคำพยากรณ์เกี่ยวกับการบูรณะขึ้นมากล่าว? (ข) การมี ‘เท้าอันงดงาม’ หมายรวมถึงอะไร?
17 อัครสาวกเปาโลมีคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่ง: “แล้วเขาจะประกาศอย่างไรเว้นแต่เขาถูกส่งไป? ดังที่มีคำเขียนไว้ว่า ‘เท้าของคนเหล่านั้นที่ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ นั้นก็งามสักเพียงใด!’” (โรม 10:15, ล.ม.) ในข้อนี้เปาโลยกข้อความมาจากยะซายา 52:7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพยากรณ์เกี่ยวกับการบูรณะที่เกี่ยวข้องกับสมัยของเรานับตั้งแต่ปี 1919. ทุกวันนี้ พระยะโฮวาทรงส่ง “ผู้นำข่าวดี . . . ผู้ซึ่งประกาศสันติสุข ผู้ซึ่งนำข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า ผู้ซึ่งประกาศเรื่องความรอด” ออกไปอีกครั้งหนึ่ง. ด้วยการเชื่อฟัง “คนยาม” ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้และเพื่อน ๆ ของเขาป่าวร้องอย่างชื่นชมยินดีต่อไป. (ยะซายา 52:7, 8, ล.ม.) เท้าของคนที่ประกาศความรอดในทุกวันนี้อาจเมื่อยล้า และเปื้อนฝุ่นเสียด้วยซ้ำ ขณะที่เขาเดินจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง แต่ใบหน้าของเขาช่างเปล่งปลั่งด้วยความยินดีเสียนี่กระไร! พวกเขาทราบว่าตนได้รับมอบหมายจากพระยะโฮวาให้ประกาศข่าวดีแห่งสันติสุขและปลอบโยนคนโศกเศร้า ช่วยคนเหล่านี้ให้ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาโดยมีความหวังที่จะได้รับความรอด.
18. โรม 10:16-18 กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับผลขั้นสุดท้ายของการประกาศข่าวดี?
18 ไม่ว่าผู้คนจะ “เชื่อฟังคำสอนของเรา” หรือพวกเขาเลือกจะไม่ฟัง ถ้อยคำของเปาโลเป็นจริงที่ว่า “‘เขาทั้งหลายไม่ได้ยินหรือ’ เออจริง เสียงของเขาได้ลั่นออกไปทั่วตลอดแผ่นดินโลก, และคำของเขาได้บันลือไปถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (โรม 10:16-18) เช่นเดียวกับที่ “ฟ้าสวรรค์ประกาศพระรัศมีของพระเจ้า” ดังแสดงให้เห็นในผลงานสร้างสรรค์ของพระองค์ พยานของพระองค์บนแผ่นดินโลกต้องประกาศ “ปีแห่งความโปรดปรานของพระยะโฮวา และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา; ให้เล้าโลมบรรดาผู้เศร้าโศก.”—บทเพลงสรรเสริญ 19:1-4, ล.ม.; ยะซายา 61:2, ล.ม.
19. จะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ “ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา” ในทุกวันนี้?
19 วันใหญ่ยิ่งและน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาคืบใกล้เข้ามาทุกขณะ. “น่าสังเวชเมื่อคิดถึงวันนั้น! เพราะว่าวันของพระยะโฮวานั้นจวนจะถึงอยู่แล้ว, และจะมาเหมือนอย่างความพินาศอันมาจากพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์.” (โยเอล 1:15; 2:31) เราอธิษฐานขอให้มีคนอีกมากมายตอบรับอย่างเร่งด่วนต่อข่าวดี และพากันเข้ามาสู่องค์การของพระยะโฮวา. (ยะซายา 60:8; ฮะบาฆูค 2:3) ขอให้ระลึกถึงวันเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงนำความพินาศสู่คนชั่ว—ในสมัยโนฮา, สมัยโลต, และในสมัยยิศราเอลและยูดาที่ออกหาก. บัดนี้ เราอยู่ ณ จุดที่ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมากำลังจะเริ่มต้น เมื่อพายุจากพระยะโฮวาจะกวาดล้างความชั่วออกไปจากพื้นพิภพ แผ้วทางไว้สำหรับอุทยานที่เปี่ยมด้วยสันติสุขชั่วนิรันดร์. คุณจะเป็นคนหนึ่งที่ “ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา” อย่างซื่อสัตย์ไหม? ถ้าคุณทำอย่างนั้น ก็จงยินดีเถิด! คุณมีคำสัญญาที่มาจากพระเจ้าเองรับรองว่า คุณจะได้รับการช่วยให้รอด.—โรม 10:13.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ มีการประกาศสิ่งใหม่อะไรภายหลังวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33?
▫ คริสเตียนควรเอาใจใส่ต่อ “คำของความเชื่อ” อย่างไร?
▫ การ “ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา” หมายถึงอะไร?
▫ ผู้ส่งข่าวราชอาณาจักรมี ‘เท้าอันงดงาม’ ในความหมายใด?
[รูปภาพหน้า 18]
ไพร่พลของพระเจ้ากำลังประกาศพระบารมีคุณของพระองค์ใน เปอร์โตริโก, เซเนกัล, กานา, เปรู, ปาปัวนิวกินี—ใช่แล้ว ตลอดทั่วลูกโลก