จงให้คำที่ว่าใช่หมายความว่าใช่
“ให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ หมายความว่าไม่.”—มัด. 5:37
1. พระเยซูตรัสเช่นไรเกี่ยวกับการสาบาน และเพราะเหตุใด?
โดยทั่วไปแล้ว คริสเตียนแท้ไม่จำเป็นต้องสาบาน. ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาเชื่อฟังคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่.” พระองค์หมายความว่าคนเราควรรักษาคำพูด. ก่อนที่จะสั่งเช่นนี้พระเยซูตรัสว่า “อย่าสาบานเลย.” พระองค์ตรัสอย่างนี้เพื่อตำหนิหลายคนที่มีนิสัยชอบสบถสาบานโดยไม่ตั้งใจจริง ๆ ที่จะทำตามที่พูด. การทำ “เกินจาก” การพูดง่าย ๆ ว่าใช่หรือไม่เพื่อเสริมน้ำหนักคำพูดของตนอาจเผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจและได้รับอิทธิพลจาก “ตัวชั่วร้าย.”—อ่านมัดธาย 5:33-37
2. จงอธิบายว่าทำไมไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไปที่จะสาบาน.
2 คำตรัสของพระเยซูหมายความว่าการสาบานทุกอย่างไม่ดีไหม? จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? ดังที่เราได้เรียนแล้วในบทความก่อน พระยะโฮวาพระเจ้าและอับราฮามผู้รับใช้ที่ชอบธรรมของพระองค์สาบานในบางโอกาสที่สำคัญ. นอกจากนั้น พระบัญญัติของพระเจ้าเรียกร้องให้สาบานเมื่อมีการตัดสินปัญหาบางอย่าง. (เอ็ก. 22:10, 11; อาฤ. 5:21, 22) ด้วยเหตุนั้น อาจจำเป็นที่คริสเตียนต้องสาบานว่าจะพูดความจริงเมื่อต้องให้การในศาล. หรืออาจมีสถานการณ์บางอย่างซึ่งนาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งที่ทำให้คริสเตียนคนหนึ่งเห็นว่าเขาจำเป็นต้องสาบานว่าเขาตั้งใจจะทำบางสิ่งจริง ๆ หรือสาบานว่าเขาพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบางอย่าง. ที่จริง เมื่อมหาปุโรหิตสั่งให้พระเยซูสาบาน พระองค์ไม่ได้คัดค้านแต่ทรงตอบตามจริงต่อศาลซันเฮดริน. (มัด. 26:63, 64) อย่างไรก็ตาม พระเยซูไม่จำเป็นต้องสาบานเพราะพระองค์พูดความจริงเสมอ. แม้กระนั้น พระองค์มักตรัสบ่อย ๆ ว่า “เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า” เพื่อให้คนอื่นมั่นใจว่าพวกเขาสามารถเชื่อสิ่งที่พระองค์ตรัสได้. (โย. 1:51; 13:16, 20, 21, 38) ขอให้เรามาดูว่าเราจะเรียนอะไรได้อีกจากตัวอย่างของพระเยซู เปาโล และคนอื่น ๆ ที่ให้คำว่าใช่ หมายความว่า ใช่.
พระเยซูตัวอย่างที่ดีที่สุด
3. พระเยซูทรงสัญญาอะไรกับพระเจ้าในคำอธิษฐาน และพระบิดาของพระองค์ตอบอย่างไร?
3 “ข้าพเจ้ามาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์.” (ฮีบรู 10:7) ด้วยคำตรัสที่เปี่ยมด้วยความหมายนี้ พระเยซูทรงเสนอพระองค์เองแด่พระเจ้าเพื่อทำตามทุกสิ่งที่มีบอกไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญา รวมทั้งการที่ซาตานจะทำให้ ‘ส้นเท้าของพระองค์ฟกช้ำ.’ (เย. 3:15) ไม่เคยมีมนุษย์คนใดที่อาสาจะรับเอาหน้าที่รับผิดชอบที่หนักขนาดนั้น. พระยะโฮวาตรัสจากสวรรค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงไว้วางใจพระบุตรอย่างเต็มที่ แม้ว่าพระองค์ไม่ได้เรียกร้องให้พระเยซูสาบานว่าจะทำตามคำสัญญา.—ลูกา 3:21, 22
4. พระเยซูทรงให้คำที่ว่า ใช่ หมายความว่า ใช่ ถึงขนาดไหน?
4 พระเยซูทรงให้คำว่า ใช่ หมายความว่า ใช่ เสมอ. พระองค์ไม่ปล่อยให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำให้พระองค์เขวจากงานมอบหมายที่พระองค์ได้รับจากพระบิดา. พระองค์ทรงประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอยู่เสมอและสอนทุกคนที่พระเจ้าทรงชักนำให้เป็นสาวก. (โย. 6:44) คัมภีร์ไบเบิลยืนยันว่าพระเยซูทรงรักษาคำสัญญาของพระองค์ที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยกล่าวว่า “ไม่ว่าคำสัญญาของพระเจ้าจะมีมากเพียงไร คำสัญญาเหล่านั้นก็เป็นจริงโดยพระองค์.” (2 โค. 1:20) ที่จริง พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้า. ลำดับถัดไป เราจะพิจารณาตัวอย่างของคนที่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อเลียนแบบพระเยซู.
เปาโลชายผู้รักษาคำพูด
5. อัครสาวกเปาโลวางตัวอย่างอะไรไว้ให้เรา?
5 “พระองค์เจ้าข้าข้าพเจ้าจะต้องทำอย่างไร?” (กิจ. 22:10) ด้วยคำพูดที่จริงใจนี้ เปาโลซึ่งในตอนนั้นมีชื่อว่าเซาโลตอบรับการชี้นำของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้มาปรากฏแก่ท่านในนิมิตเพื่อยับยั้งท่านไว้ไม่ให้ข่มเหงเหล่าสาวกของพระคริสต์. ผลที่เกิดจากการเผชิญหน้าครั้งนั้นก็คือ เซาโลกลับใจจากแนวทางประพฤติของเขาในอดีต รับบัพติสมา และตอบรับงานมอบหมายพิเศษที่ให้ท่านประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูแก่นานาชาติ. นับแต่นั้นเป็นต้นมา เปาโลยังคงเรียกพระเยซูว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” อยู่เสมอ และปฏิบัติสอดคล้องกับที่ท่านพูดจนกระทั่งสิ้นสุดชีวิตของท่านบนแผ่นดินโลก. (กิจ. 22:6-16; 2 โค. 4:5; 2 ติโม. 4:8) เปาโลไม่เหมือนคนอื่น ๆ ที่พระเยซูตรัสถึงพวกเขาว่า “พวกเจ้าเรียกเราว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า! องค์พระผู้เป็นเจ้า!’ ทำไม ถ้าไม่ทำตามที่เราบอก?” (ลูกา 6:46) ใช่แล้ว พระเยซูทรงคาดหมายว่าทุกคนที่ยอมรับพระองค์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาจะทำตามที่ตนเองพูดเช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล.
6, 7. (ก) เหตุใดเปาโลจึงเปลี่ยนแผนในการกลับมาเยี่ยมเมืองโครินท์ และเหตุใดคนที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านจึงไม่มีเหตุผลที่จะตั้งข้อสงสัยความน่าเชื่อถือของท่าน? (ข) เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้นำหน้าพวกเรา?
6 เปาโลประกาศอย่างกระตือรือร้นและทำให้ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรแพร่ไปทั่วเอเชียไมเนอร์และเข้าไปในยุโรป. ท่านก่อตั้งหลายประชาคมและกลับเยี่ยมประชาคมเหล่านั้น. ในบางโอกาส ท่านเห็นว่าจำเป็นจะต้องสาบานว่าสิ่งที่ท่านเขียนนั้นเป็นความจริง. (กลา. 1:20) เมื่อบางคนในเมืองโครินท์กล่าวหาเปาโลว่าไว้ใจไม่ได้ ท่านเขียนปกป้องตัวเองว่า “พวกท่านไว้วางใจพระเจ้าได้ว่าเราจะไม่บอกพวกท่านว่าใช่ แล้วจู่ ๆ ก็บอกว่าไม่.” (2 โค. 1:18) ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายนั้น ท่านออกจากเอเฟโซส์แล้วและกำลังเดินทางผ่านมาซิโดเนียมุ่งหน้าไปยังเมืองโครินท์. ทีแรกท่านวางแผนไว้ว่าจะกลับมาเยี่ยมเมืองโครินท์ก่อนจะไปที่มาซิโดเนีย. (2 โค. 1:15, 16) แต่เช่นเดียวกับผู้ดูแลเดินทางในทุกวันนี้ บางครั้งแผนการเดินทางอาจเปลี่ยนแปลง. การเปลี่ยนเช่นนั้นไม่ได้มาจากเหตุผลที่เห็นแก่ตัวและไม่สำคัญ แต่เพราะมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน. ในกรณีของเปาโล เหตุผลที่ท่านเลื่อนการเยี่ยมประชาคมโครินท์ออกไปก็เพื่อประโยชน์ของประชาคมนี้เอง. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
7 ตอนที่เปาโลอยู่ในเมืองเอเฟโซส์ ท่านได้ยินข่าวว่าประชาคมโครินท์มีปัญหาบางอย่างซึ่งทำให้ท่านไม่สบายใจ. พี่น้องที่นั่นแตกแยกกัน และพวกเขาปล่อยให้บางคนดำเนินชีวิตอย่างผิดศีลธรรม. (1 โค. 1:11; 5:1) เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ท่านได้ให้คำแนะนำอย่างหนักแน่นในจดหมายฉบับแรกที่เขียนถึงประชาคมโครินท์. หลังจากนั้น แทนที่จะแล่นเรือจากเอเฟโซส์ตรงไปยังโครินท์ เปาโลตัดสินใจให้พี่น้องมีเวลาพอที่จะทำตามคำแนะนำของท่าน เพื่อว่าเมื่อท่านไปถึงที่นั่นในที่สุด การเยี่ยมของท่านจะให้กำลังใจแก่พวกเขาได้มากกว่า. ในจดหมายฉบับที่สอง เปาโลเขียนว่านั่นคือเหตุผลที่แท้จริงที่ท่านเปลี่ยนแผนการเยี่ยมของท่าน. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าสาบานต่อพระเจ้าว่าที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้มายังเมืองโครินท์นั้นก็เพราะข้าพเจ้าไม่อยากให้พวกท่านเสียใจมากกว่านี้.” (2 โค. 1:23) ขอเราอย่าเป็นเหมือนคนที่วิพากษ์วิจารณ์เปาโล แต่ขอให้เราแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้นำหน้าพวกเรา. เราควรเลียนแบบเปาโล เช่นเดียวกับที่ท่านเลียนแบบพระคริสต์.—1 โค. 11:1; ฮีบรู 13:7
ตัวอย่างที่ดีอื่น ๆ
8. ริบะคาห์วางตัวอย่างที่ดีอะไรไว้ให้เรา?
8 “ฉันจะไป.” (เย. 24:59) ริบะคาห์ตอบง่าย ๆ อย่างนี้เมื่อแม่และพี่ชายถามว่านางเต็มใจจะไปเป็นภรรยาของยิศฮาคบุตรชายของอับราฮามไหม. นางจะต้องจากบ้านไปในวันนั้นเลยและเดินทางไปกับคนแปลกหน้าเป็นระยะทางไกลถึง 800 กิโลเมตร. (เย. 24:50-58) ริบะคาห์ได้ให้คำพูดของนางที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่. นางได้มาเป็นภรรยาที่ดีของยิศฮาคและได้รับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. ชั่วชีวิตที่เหลืออยู่ นางพักอาศัยในเต็นท์ในฐานะคนต่างด้าวในแผ่นดินที่ทรงสัญญา. นางได้รับบำเหน็จสำหรับความซื่อสัตย์ของนาง และได้เป็นบรรพสตรีคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์ ผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญา.—ฮีบรู 11:9, 13
9. รูททำตามคำพูดของนางอย่างไร?
9 “อย่าเลย, เราทั้งสองจะกลับไปด้วยจนถึงบ้านเมืองของแม่.” (รูธ. 1:10) รูทและอะระฟาแม่ม่ายชาวโมอาบพูดเช่นนี้หลายครั้งกับนาอะมีแม่ผัว ซึ่งกำลังเดินทางกลับจากโมอาบไปที่เมืองเบทเลเฮม. ในที่สุด เมื่อนาอะมีขอร้องลูกสะใภ้ทั้งสองหลายครั้งให้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน อะระฟาก็กลับไป. แต่รูทได้ให้คำว่าไม่ หมายความว่าไม่. (อ่านประวัตินางรูธ 1:16, 17) นางติดตามนาอะมีไปอย่างภักดี และละทิ้งครอบครัวและศาสนาเท็จของประเทศโมอาบตลอดไป. นางนมัสการพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์และได้รับบำเหน็จ และเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในจำนวนเพียงแค่ห้าคนที่อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลของพระคริสต์ที่มัดธายบันทึกไว้.—มัด. 1:1, 3, 5, 6, 16
10. เหตุใดยะซายาห์จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรา?
10 “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” (ยซา. 6:8) ก่อนที่จะพูดอย่างนี้ ยะซายาห์เห็นนิมิตอันรุ่งโรจน์ว่าพระยะโฮวาประทับบนบัลลังก์. ขณะที่จ้องมองภาพอันรุ่งโรจน์นี้ ยะซายาห์ได้ยินพระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะใช้ผู้ใดไป, และผู้ใดจะไปแทนเรา”? นี่เป็นคำเชิญให้มาเป็นโฆษกของพระยะโฮวาเพื่อส่งข่าวสารของพระเจ้าให้แก่ประชาชนของพระองค์ที่ไม่เชื่อฟัง. ยะซายาห์ได้ให้คำว่าใช่ หมายความว่าใช่ โดยทำตามที่ท่านพูด. ท่านรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในฐานะผู้พยากรณ์เป็นเวลามากกว่า 46 ปี ประกาศข่าวสารการพิพากษาลงโทษของพระเจ้ารวมทั้งคำสัญญาอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการฟื้นฟูการนมัสการแท้.
11. (ก) เหตุใดการรักษาคำพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก? (ข) มีตัวอย่างเตือนใจอะไรบ้างเกี่ยวกับคนที่ไม่ได้รักษาคำพูด?
11 เหตุใดพระยะโฮวาทรงให้มีการบันทึกตัวอย่างอันยอดเยี่ยมดังที่ได้กล่าวไปแล้วไว้ในพระคำของพระองค์? และการให้คำพูดของเราที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ เป็นเรื่องสำคัญขนาดไหน? คัมภีร์ไบเบิลเตือนอย่างชัดเจนว่าคนที่จงใจ “ไม่รักษาสัญญา” และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ในกลุ่มคนที่ “สมควรตาย.” (โรม 1:31, 32) ฟาโรห์แห่งอียิปต์ ซิดคียากษัตริย์ยูดาห์ และอะนานีอัสกับสัปฟีเรเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีที่มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาไม่ได้ให้คำว่าใช่ หมายความว่าใช่. พวกเขาทั้งหมดได้รับผลเสียหายจากการกระทำของตัวเองและเป็นตัวอย่างเตือนใจสำหรับเรา.—เอ็ก. 9:27, 28, 34, 35; ยเอศ. 17:13-15, 19, 20; กิจ. 5:1-10
12. อะไรจะช่วยเราให้เป็นคนรักษาคำพูด?
12 เนื่องจากเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” ผู้คนที่อยู่รอบตัวเราเป็นคน “ไม่ภักดี . . . เลื่อมใสพระเจ้าแต่เปลือกนอกแต่ไม่ดำเนินชีวิตอย่างคนที่ถูกกระตุ้นจากพลังของความเลื่อมใสพระเจ้า.” (2 ติโม. 3:1-5) เราต้องหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดีเช่นนั้นเท่าที่เราจะทำได้. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราควรคบหาเป็นประจำกับคนที่พยายามอยู่เสมอที่จะให้คำพูดของตนที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่.—ฮีบรู 10:24, 25
คำว่าใช่ที่สำคัญที่สุด
13. สาวกของพระเยซูคริสต์กล่าวคำว่าใช่ ที่สำคัญที่สุดอะไร?
13 คำสัญญาที่สำคัญที่สุดที่คนเราสามารถจะทำได้ก็คือการอุทิศตัวแด่พระเจ้า. สำหรับคนที่ต้องการเป็นสาวกของพระเยซู มีสามโอกาสที่จะพูดคำว่าใช่ เมื่อถูกถามในเรื่องความตั้งใจของพวกเขา. (มัด. 16:24) เมื่อผู้ปกครองสองคนพิจารณากับคนที่ต้องการจะเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา ผู้ปกครองจะถามเขาว่า “คุณต้องการเป็นพยานพระยะโฮวาจริง ๆ ไหม?” ต่อมา เมื่อผู้ประกาศคนนั้นก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณมากขึ้นและต้องการจะรับบัพติสมา ผู้ปกครองก็จะพบกับเขาและถามเขาว่า “คุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยการอธิษฐานแล้วไหม?” ในที่สุด เมื่อถึงวันรับบัพติสมา แต่ละคนจะตอบคำถามที่ว่า “โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ คุณได้กลับใจจากบาปของคุณ และได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์แล้วไหม?” โดยทำอย่างนั้น คนใหม่เหล่านี้กล่าวคำว่าใช่ ต่อหน้าพยาน ซึ่งเป็นการสัญญาว่าพวกเขาจะรับใช้พระเจ้าตลอดไป.
14. เราควรตรวจสอบตัวเองเป็นระยะ ๆ เช่นไร?
14 ไม่ว่าคุณเพิ่งรับบัพติสมาหรือรับใช้พระเจ้ามาหลายสิบปีแล้ว คุณจำเป็นต้องตรวจสอบตัวเองเป็นระยะ ๆ และถามตัวเองด้วยคำถามคล้าย ๆ กันนี้ ที่ว่า ‘ฉันกำลังเลียนแบบพระเยซูคริสต์ด้วยการทำตามคำว่าใช่ ที่สำคัญที่สุดของฉันไหม? ฉันเชื่อฟังพระเยซูโดยให้งานประกาศและสอนคนให้เป็นสาวกเป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตของฉันอยู่เสมอไหม?’—อ่าน 2 โครินท์ 13:5
15. ในโอกาสใดบ้างที่เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้คำว่าใช่ หมายความว่าใช่?
15 การทำตามคำปฏิญาณการอุทิศตัวของเราหมายถึงการที่เราต้องซื่อสัตย์ในเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญด้วย. ตัวอย่างเช่น คุณแต่งงานแล้วไหม? ถ้าอย่างนั้น จงทำตามคำปฏิญาณของคุณที่ว่าจะรักและทะนุถนอมคู่สมรสของคุณ. คุณได้เซ็นสัญญาธุรกิจหรือกรอกใบสมัครสำหรับสิทธิพิเศษบางอย่างตามระบอบของพระเจ้าไหม? ถ้าอย่างนั้น จงทำตามที่คุณได้สัญญาไว้. คุณได้ตอบรับคำเชิญไปรับประทานอาหารกับพี่น้องบางคนที่ฐานะไม่ค่อยดีไหม? ถ้าอย่างนั้นก็อย่ายกเลิกการนัดหมายนั้นหากคุณได้รับคำเชิญที่ดูเหมือนว่าดีกว่า. หรือคุณสัญญากับบางคนในการประกาศตามบ้านว่าคุณจะกลับไปเยี่ยมเขาอีกไหม? ถ้าเช่นนั้น จงให้คำพูดของคุณที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ แล้วพระยะโฮวาจะทรงอวยพรงานรับใช้ของคุณ.—อ่านลูกา 16:10
รับประโยชน์จากมหาปุโรหิตและกษัตริย์ของเรา
16. ถ้าเราไม่ได้รักษาคำพูด เราควรทำอะไร?
16 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง” โดยเฉพาะทางวาจา. (ยโก. 3:2) เราควรทำเช่นไรเมื่อรู้ตัวว่าเราไม่ได้รักษาคำพูด? ในพระบัญญัติของพระเจ้าที่ประทานแก่ชาติอิสราเอล พระองค์ทรงจัดให้มีวิธีช่วยคนที่มีความผิดเพราะ “เผลอด้วยริมฝีปาก” ให้ได้รับความเมตตา. (เลวี. 5:4-7, 11) พระองค์ทรงจัดให้มีวิธีช่วยคริสเตียนที่ทำผิดเช่นนั้นด้วย. ถ้าเราสารภาพบาปต่อพระยะโฮวา พระองค์จะทรงให้อภัยเราด้วยความเมตตาโดยทางพระเยซูคริสต์มหาปุโรหิต. (1 โย. 2:1, 2) อย่างไรก็ตาม เพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าต่อ ๆ ไป เราต้องแสดงผลที่สมกับการกลับใจโดยไม่ทำบาปอีกต่อไปและพยายามอย่างดีที่สุดที่จะชดเชยผลเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากการพูดโดยไม่คิดของเรา. (สุภา. 6:2, 3) แน่นอน นับว่าดีกว่ามากที่จะคิดให้รอบคอบก่อนที่จะสัญญาสิ่งที่เราไม่สามารถทำให้สำเร็จได้.—อ่านท่านผู้ประกาศ 5:2
17, 18. มีอนาคตอันรุ่งโรจน์อะไรรออยู่สำหรับทุกคนที่พยายามให้คำว่าใช่ หมายความว่าใช่?
17 มีอนาคตยอดเยี่ยมรออยู่สำหรับผู้นมัสการพระยะโฮวาทุกคนที่พยายามอย่างหนักที่จะให้คำว่าใช่ หมายความว่าใช่! สำหรับชนผู้ถูกเจิม 144,000 คน นั่นจะหมายถึงชีวิตอมตะในสวรรค์ซึ่งพวกเขาจะมีส่วนร่วมกับพระเยซูในราชอาณาจักร “และจะปกครองเป็นกษัตริย์กับพระคริสต์เป็นเวลาหนึ่งพันปี.” (วิ. 20:6) สำหรับอีกหลายล้านคน นั่นจะหมายถึงการได้รับประโยชน์จากการปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระคริสต์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. ที่นั่น พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือให้บรรลุความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ.—วิ. 21:3-5
18 ในตอนสิ้นสุดรัชสมัยพันปีของพระเยซูจะมีการทดสอบขั้นสุดท้าย. เฉพาะคนที่ซื่อสัตย์ในช่วงที่มีการทดสอบนั้นจะได้อยู่ต่อไปในอุทยาน. ถึงตอนนั้น ไม่มีเหตุผลที่เราจะสงสัยคำพูดของใคร ๆ อีกต่อไป. (วิ. 20:7-10) คำว่าใช่ทุกคำจะหมายความว่าใช่ และคำว่าไม่ทุกคำจะหมายความว่าไม่. เพราะทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในตอนนั้นจะเป็นผู้เลียนแบบพระยะโฮวาพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง” ได้อย่างสมบูรณ์.—เพลง. 31:5