เซาโลพบเพื่อนเก่าและอดีตศัตรู
เซาโลซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักกันว่าอัครสาวกเปาโลคงต้องรู้สึกหวั่นกลัวอยู่บ้างเมื่อกลับไปกรุงเยรูซาเลมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนมาถือศาสนาคริสเตียน.a สามปีก่อนหน้านั้น ท่านออกจากกรุงไป โดยขู่คำรามว่าจะฆ่าเหล่าสาวกของพระเยซู. ท่านได้รับอำนาจให้จับกุมคริสเตียนไม่ว่าคนใด ๆ ที่อาจพบในเมืองดามัสกัส (ดาเมเซ็ก).—กิจการ 9:1, 2; ฆะลาเตีย 1:18.
เมื่อเซาโลเองเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว ท่านได้ประกาศอย่างกล้าหาญถึงความเชื่อของตนในพระมาซีฮาผู้คืนพระชนม์. ผลก็คือ ชาวยิวในเมืองดามัสกัสต้องการฆ่าท่าน. (กิจการ 9:19-25) ท่านจะคาดหมายได้จริง ๆ ไหมว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเพื่อนเก่าชาวยิวที่อยู่ในกรุงเยรูซาเลม? อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญสำหรับเซาโลมากกว่าคือ การติดต่อกับเหล่าสาวกของพระคริสต์ในกรุงเยรูซาเลม. นั่นคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย.
“เมื่อเซาโลไปถึงกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ท่านพยายามจะเข้าร่วมกับพวกสาวก แต่เขาทั้งหลายกลัว เพราะไม่เชื่อว่าเซาโลเป็นสาวก.” (กิจการ 9:26, ฉบับแปล 2002) นี่เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้. จากเหตุการณ์ครั้งหลังสุดที่พวกเขารู้จักเซาโลนั้น ท่านเป็นคนที่ข่มเหงคริสเตียนอย่างไม่ละลด. การที่ท่านอ้างว่าเป็นคริสเตียนอาจดูเหมือนเป็นเล่ห์เหลี่ยมเพื่อจะแทรกซึมเข้ามาในประชาคม. ดังนั้น คริสเตียนในกรุงเยรูซาเลมจึงต้องการหลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับท่าน.
อย่างไรก็ดี มีคนหนึ่งในพวกเขาได้มาช่วยเซาโล. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าบาระนาบาได้พาอดีตผู้ข่มเหงคนนี้ “ไปหาอัครสาวก” ดูเหมือนพาดพิงถึงเปโตร (เกฟา) และยาโกโบ น้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วแจ้งให้คนทั้งสองทราบถึงการที่เซาโลเปลี่ยนความเชื่อและได้ประกาศในเมืองดามัสกัส. (กิจการ 9:27; ฆะลาเตีย 1:18, 19) ไม่มีการอธิบายว่าเหตุใดบาระนาบาจึงได้ไว้ใจเซาโล. ท่านทั้งสองรู้จักกันมาก่อนไหม ซึ่งกระตุ้นบาระนาบาให้ตรวจสอบเซาโลอย่างถี่ถ้วน และต่อจากนั้นก็รับรองความจริงใจของท่าน? บาระนาบาได้รู้จักคริสเตียนบางคนในดามัสกัสไหมและจึงทราบเรื่องที่เซาโลเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่? ไม่ว่าเป็นกรณีใดก็ตาม บาระนาบาได้ขจัดข้อสงสัยในตัวเซาโล. ฉะนั้น เซาโลจึงพักอยู่กับอัครสาวกเปโตร 15 วัน.
สิบห้าวันที่อยู่กับเปโตร
เซาโลได้รับหน้าที่มอบหมายโดยตรงจากพระเยซูโดยไม่จำเป็นต้องมีการอนุญาตใด ๆ จากมนุษย์ ดังที่ท่านได้เน้นเรื่องนี้กับชาวกาลาเทีย. (ฆะลาเตีย 1:11, 12) แต่เซาโลคงจะยอมรับความสำคัญของการเป็นคนรอบรู้ในเรื่องงานรับใช้ของพระเยซูอย่างแน่นอน. การพักอยู่กับเปโตร คงจะทำให้เซาโลมีโอกาสมากพอที่จะเรียนรู้เรื่องดังกล่าว. (ลูกา 24:12; 1 โกรินโธ 15:3-8) เซาโลคงจะมีหลายเรื่องที่จะถามเปโตรและยาโกโบ และคนทั้งสองก็คงจะมีคำถามต่าง ๆ ที่จะถามเซาโลเกี่ยวกับนิมิตและงานมอบหมายของท่านด้วยเหมือนกัน.
ได้รับการช่วยให้พ้นจากเพื่อนเก่าโดยวิธีใด?
ซะเตฟาโนถูกเรียกว่าคริสเตียนคนแรกซึ่งพลีชีพเพื่อความเชื่อ. คนเหล่านั้นที่ซะเตฟาโนเคยโต้แย้งด้วยในตอนก่อนคือคนจาก “ธรรมศาลาที่เรียกว่าธรรมศาลาของทาสอิสระ ชาวไซรีน ชาวอเล็กซานเดรียและบางคนจากซิลีเซียและเอเชีย.” ตอนนี้ เซาโล “โต้แย้งกับพวกยิวที่พูดกรีก” ให้คำพยานอย่างกล้าหาญแก่พวกเขา. ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร? พวกเขาต้องการฆ่าเซาโล.—กิจการ 6:9; 9:28, 29, ฉบับแปล 2002.
คงเป็นเรื่องธรรมดาที่เซาโลต้องการจะอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในชีวิตของท่านและพยายามจะสั่งสอนพวกเพื่อนเก่าในเรื่องพระมาซีฮา. อย่างไรก็ดี ชาวยิวที่พูดภาษากรีกเหล่านี้แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อเซาโลซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นคนทรยศ.
เซาโลตระหนักไหมว่าตัวเองอยู่ในอันตรายขนาดไหน? เราอ่านว่าขณะที่ท่านกำลังอธิษฐานอยู่ในพระวิหาร ท่านตกอยู่ในภวังค์และมองเห็นพระเยซูผู้ตรัสแก่ท่านว่า “จงรีบออกไปจากกรุงยะรูซาเลม, ด้วยว่าเขาจะไม่รับคำของเจ้าซึ่งอ้างพยานถึงเรา.” เซาโลทูลตอบว่า “พระองค์เจ้าข้า, คนเหล่านั้นทราบอยู่ว่าข้าพเจ้าได้จับคนทั้งหลายที่เชื่อถือพระองค์ไปใส่คุกและเฆี่ยนตีในธรรมศาลาทุกแห่ง และเมื่อเขาทำให้โลหิตของซะเตฟาโนผู้เป็นพยานฝ่ายพระองค์ตกนั้น, ข้าพเจ้าได้ยืนอยู่ใกล้และเห็นชอบในการนั้นด้วย.”—กิจการ 22:17-20.
บางคนเข้าใจว่าคำตอบของเซาโลหมายความว่าท่านยอมรับความเสี่ยงนั้น. คนอื่นคิดว่าท่านกำลังบอกว่า ‘ข้าพเจ้าเคยเป็นคนข่มเหงเหมือนพวกเขา และพวกเขาก็รู้เรื่องนี้. พวกเขาน่าจะมองว่าการเปลี่ยนความเชื่อของข้าฯ เป็นเรื่องสำคัญแน่ ๆ. บางทีข้าฯ อาจช่วยพวกเขาให้เข้าใจความจริงก็ได้.’ ถึงกระนั้น พระเยซูทรงทราบว่าชาวยิวเหล่านั้นจะไม่เอาใจใส่ฟังพยานหลักฐานของ “คนออกหาก.” พระองค์ตรัสแก่เซาโลว่า “จงไปเถิด, เราจะใช้ให้เจ้าไปไกล ไปหาคนต่างชาติ.”—กิจการ 22:21, 22.
เมื่อเพื่อนคริสเตียนทราบถึงอันตรายดังกล่าว พวกเขารีบพาเซาโลไปที่เมืองท่าซีซาเรีย (กายซาไรอา) แล้วส่งท่านให้เดินทางเป็นระยะทาง 500 กิโลเมตรไปเมืองทาร์ซัส (ตาระโซ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน. (กิจการ 9:30) นั่นเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เซาโลกลับไปกรุงเยรูซาเลม.
การรีบออกไปเช่นนั้นอาจเป็นการปกป้องสำหรับประชาคมคริสเตียน. การปรากฏตัวของอดีตผู้ข่มเหงอาจเป็นชนวนให้เกิดการต่อต้าน. ภายหลังที่เซาโลจากไปแล้ว “คริสตจักรตลอดทั่วมณฑลยูดาย, ฆาลิลาย และซะมาเรียจึงมีความสงบสุขและเจริญขึ้น, และได้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] และได้รับความหนุนใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์, คริสตสมาชิกก็ยิ่งทวีมากขึ้น.”—กิจการ 9:31.
บทเรียนในเรื่องความระมัดระวัง
เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก ทุกวันนี้อาจเกิดสถานการณ์ที่สมควรระมัดระวัง. เราไม่มีเหตุที่จะระแวงคนแปลกหน้าอย่างไม่สมควร. อย่างไรก็ดี บางครั้งบุคคลไร้ศีลธรรมได้พยายามแสวงประโยชน์จากประชาชนของพระยะโฮวา ทั้งเพื่อจะได้ผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ก็ด้วยเจตนาที่จะก่อความเสียหายแก่ประชาคม. ด้วยเหตุนี้ เราจึงใช้ความสังเกตเข้าใจเพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงของคนเจ้าเล่ห์.—สุภาษิต 3:27; 2 ติโมเธียว 3:13.
ปฏิกิริยาของเซาโลที่มีต่อการประกาศในกรุงเยรูซาเลมแสดงให้เห็นอีกวิธีหนึ่งที่คริสเตียนสามารถแสดงความระมัดระวัง. การให้คำพยานในละแวกบ้านบางแห่งหรือให้คำพยานแก่บางคน รวมทั้งเพื่อนเก่าอาจเป็นอันตราย—ทางด้านร่างกาย, ทางฝ่ายวิญญาณ, หรือแม้แต่ทางด้านศีลธรรมด้วยซ้ำ. การระมัดระวังไว้ก่อนอย่างเหมาะสมนับว่าสมควร เช่น ในเรื่องการเลือกเวลาและสถานที่.—สุภาษิต 22:3; มัดธาย 10:16.
เรามั่นใจได้ว่าจะมีการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อนอวสานของระบบชั่วนี้มาถึง. เซาโลได้วางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจริง ๆ ในเรื่องนี้ โดย “ประกาศออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยใจกล้าหาญ” แก่เพื่อนเก่าและแม้แต่อดีตศัตรูด้วยซ้ำ!—กิจการ 9:29, ฉบับแปล 2002.
[เชิงอรรถ]
a ทุกวันนี้เซาโลเป็นที่รู้จักกันดีด้วยชื่ออัครสาวกเปาโล. อย่างไรก็ดี ในข้อคัมภีร์ส่วนใหญ่ซึ่งมีการอ้างอิงถึงในบทความนี้ มีการกล่าวถึงท่านด้วยชื่อยิว คือเซาโล.—กิจการ 13:9.
[ภาพหน้า 16]
เมื่อมาถึงกรุงเยรูซาเลม เซาโลได้ให้คำพยานอย่างกล้าหาญแก่ชาวยิวที่พูดภาษากรีก