ทัศนะของคริสเตียนเกี่ยวด้วยอำนาจที่สูงกว่า
“จงให้ทุกคนยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า ด้วยว่าไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า อำนาจต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.”—โรม 13:1, ล.ม.
1, 2. (ก) เพราะเหตุใดเปาโลถูกคุมขังอยู่ในโรม? (ข) การที่เปาโลอุทธรณ์ถึงกายะซาเช่นนั้นจึงเกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
อัครสาวกเปาโลเขียนข้อความข้างต้นไปถึงคริสเตียนที่กรุงโรมประมาณปีสากลศักราช 56. สองสามปีหลังจากนั้น ท่านเองอยู่ที่โรมฐานะผู้ต้องหา. ทำไม? เพราะท่านถูกกลุ่มวายร้ายในกรุงยะรูซาเลมปองร้าย และทหารโรมันได้ช่วยชีวิตท่านไว้. เมื่อถูกพาตัวไปเมืองกายซาไรอา ท่านถูกตั้งข้อหาอันเป็นเท็จ แต่ท่านสามารถกล่าวแก้คดีได้ต่อหน้าเฟลิกซ์ผู้ว่าราชการชาวโรมัน. เฟลิกซ์หวังจะได้สินบนจึงให้เปาโลติดคุกนานถึงสองปี. ในที่สุด เปาโลร้องเรียนต่อเฟศโต ผู้ว่าราชการคนต่อมา ขอยื่นอุทธรณ์ถึงกายะซา.—กิจการ 21:27-32; 24:1–25:12.
2 ทั้งนี้ย่อมเป็นสิทธิของท่านฐานะที่เป็นสัญชาติโรมัน. แต่เป็นการคงเส้นคงวาไหมที่เปาโลจะอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจขั้นจักรพรรดิในเมื่อพระเยซูตรัสถึงซาตานว่าเป็น “ผู้ครองโลก” และเปาโลเองได้ให้ฉายาซาตานเป็น “พระเจ้าของระบบนี้?” (โยฮัน 14:30; 2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) หรือว่าผู้มีอำนาจชาวโรมันอยู่ใน “ตำแหน่งสูงต่ำ” บางอย่างซึ่งทำให้เหมาะสมที่เปาโลจะหมายพึ่งพาอำนาจนั้นเพื่อการปกป้องสิทธิของท่านไหม? อันที่จริง คำกล่าวตอนแรก ๆ ของพวกอัครสาวกที่ว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์” อนุญาตให้คริสเตียนเชื่อฟังผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ หากไม่เกี่ยวข้องกับการไม่เชื่อฟังพระเจ้า?—กิจการ 5:29.
3. เปาโลเผยให้เห็นทัศนะอะไรที่รอบคอบ และสติรู้สึกผิดชอบเกี่ยวข้องอย่างไร?
3 เปาโลช่วยเราตอบคำถามเหล่านี้ในจดหมายซึ่งท่านได้เขียนไปถึงชาวโรมัน ในจดหมายนั้นท่านเปิดเผยทัศนะที่รอบคอบในเรื่องการปกครองของมนุษย์. ที่โรม 13:1-7 เปาโลชี้แจงชัดเจนถึงบทบาทแห่งสติรู้สึกผิดชอบของคริสเตียนในการรักษาความสมดุลระหว่างการเชื่อฟังอย่างเต็มที่ต่อผู้มีอำนาจสูงสุดคือพระเจ้ายะโฮวา กับการเชื่อฟัง “ผู้มีอำนาจที่สูงกว่า” ในขอบเขตจำกัด.
การระบุตัวผู้มีอำนาจที่สูงกว่า
4. มีการปรับทัศนะอย่างไรในปี 1962 ซึ่งเกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
4 เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งถึงปี 1962 พยานพระยะโฮวาได้ถือว่า ผู้มีอำนาจสูงกว่าได้แก่พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์. อย่างไรก็ดี ตรงตามคำกล่าวในสุภาษิต 4:18 แสงสว่างแรงกล้าขึ้น และทัศนะอย่างนี้ก็ได้รับการปรับ ซึ่งก็อาจทำให้บางคนเกิดคำถามขึ้นในใจ. บัดนี้ เราเข้าใจถูกต้องไหมที่พูดว่า อำนาจเหล่านั้นหมายถึงกษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือน และบุคคลอื่นซึ่งใช้อำนาจ อำนาจทางการเมืองในโลกนี้ และเราจำต้องอยู่ใต้อำนาจเหล่านั้นในขอบเขตจำกัด?
5. ท้องเรื่องของโรม 13:1 ช่วยเราในทางใดที่จะชี้ตัวอำนาจที่สูงกว่า และคัมภีร์ฉบับแปลต่าง ๆ สนับสนุนการชี้ตัวเช่นนี้อย่างไร?
5 อิเรแนอุส นักประพันธ์แห่งศตวรรษที่สองบอกว่า ดังที่ผู้คนบางคนสมัยนั้นว่า คำพูดของเปาโลที่พระธรรมโรม 13:1 “เป็นเรื่องอำนาจของเทวทูต [หรือ] ผู้มีอำนาจครอบครองอันไม่ประจักษ์แก่ตา.” อย่างไรก็ตาม อิเรแนอุสเองถือว่าอำนาจที่สูงกว่าเป็น “อำนาจของมนุษย์.” ท้องเรื่องแห่งคำกล่าวของเปาโลแสดงให้เห็นว่า อิเรแนอุสเข้าใจถูก. ในข้อท้าย ๆ ของพระธรรมโรมบท 12 เปาโลได้อธิบายวิธีที่คริสเตียนควรประพฤติต่อหน้า “คนทั้งปวง” แสดงความรักและการคำนึงถึงผู้อื่น แม้กระทั่งต่อ ‘ศัตรู’ ด้วยซ้ำ. (โรม 12:17-21) เห็นได้ชัดว่า คำ “คนทั้งปวง” บ่งความถึงคนทั้งหลายภายนอกประชาคมคริสเตียน. ดังนั้น “อำนาจที่สูงกว่า” ซึ่งเปาโลจะสาธยายขั้นต่อไปก็ต้องเป็นอำนาจภายนอกประชาคมคริสเตียนเช่นเดียวกัน. สอดคล้องกับเรื่องนี้ จงสังเกตฉบับแปลต่าง ๆ ที่ได้แปลส่วนแรกของพระธรรมโรม 13:1 ว่า “ทุกคนต้องเชื่อฟังอำนาจรัฐ” (ทู เดย์ อิงลิช เวอร์ชัน) “ทุกคนต้องยอมตัวต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง.” (นิว อินเตอร์แนชันนัล เวอร์ชัน) “ทุกคนควรเชื่อฟังผู้มีอำนาจฝ่ายพลเรือน.”—ฟิลลิปส์ นิว เทสทาเมนท์ อิน โมเดิร์น อิงลิช.
6. ถ้อยคำของเปาโลเกี่ยวกับการเสียภาษีและส่วยอากรแสดงให้เห็นอย่างไรว่าอำนาจที่สูงกว่านั้นต้องเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมือง?
6 เปาโลได้ดำเนินเรื่องต่อไปเพื่อจะบอกว่า บรรดาผู้มีอำนาจเหล่านี้เรียกเก็บภาษีและส่วยอากร. (โรม 13:6, 7) ประชาคมคริสเตียนไม่เรียกเก็บภาษีอากร พระยะโฮวาและพระเยซูหรือ “ผู้ครอบครองที่ไม่ประจักษ์แก่ตา” ก็ไม่เรียกเก็บเช่นกัน. (2 โกรินโธ 9:7) คนเราเสียภาษีให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเท่านั้น. ตรงกันกับข้อนี้ คำกรีกสำหรับ “ภาษี” และ “ส่วยอากร” ที่เปาโลได้ใช้ในโรม 13:7 พาดพิงถึงเงินที่เรียกเก็บส่งเป็นภาคหลวงโดยเฉพาะ.a
7, 8. (ก) ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ สอดคล้องอย่างไรกับความเข้าใจที่คริสเตียนควรยอมอยู่ใต้อำนาจเจ้าหน้าที่ทางการเมืองของโลกนี้? (ข) เฉพาะในกรณีไหนที่คริสเตียนจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ “ผู้มีอำนาจ”?
7 ยิ่งกว่านั้น คำแนะนำตักเตือนของเปาโลที่ให้ยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า ก็ประสานกับคำสั่งของพระเยซูที่ว่า “ของกายะซาจงถวายแก่กายะซา” ซึ่งกายะซาหมายถึงอำนาจฝ่ายปกครองทางโลก. (มัดธาย 22:21) นอกจากนี้ คำแนะนำนี้ลงรอยกับสิ่งที่เปาโลกล่าวแก่ติโตในเวลาต่อมาว่า “จงเตือนเขาให้ได้สติ ให้มีใจน้อมฟังเจ้าบ้านผ่านเมืองและผู้มีอำนาจ จงให้มีใจพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (ติโต 3:1) ดังนั้น คราใดทางราชการมีคำสั่งให้คริสเตียนร่วมทำกิจกรรมของชุมชน ก็นับว่าสมควรที่คริสเตียนปฏิบัติตาม ตราบใดที่การงานเหล่านั้นไม่ได้ทำแทนกิจการอันไม่ถูกต้องตามหลักคัมภีร์ซึ่งจะเป็นการอะลุ้มอล่วยหรือเป็นการละเมิดหลักการของพระคัมภีร์ดังที่พบได้ที่ยะซายา 2:4.
8 อนึ่ง เปโตรรับรองว่า เราควรยอมอยู่ใต้อำนาจเจ้าหน้าที่ของโลกนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายจงยอมตัวอยู่ใต้สิ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นทุกอย่าง: ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสูงกว่า หรือจะเป็นผู้สำเร็จราชการในฐานะเป็นผู้ที่กษัตริย์ทรงส่งมาก็ดี เพื่อลงโทษผู้ที่กระทำชั่ว แต่ยกย่องผู้ที่กระทำดี.” (1 เปโตร 2:13, 14, ล.ม.) เพื่อลงรอยกับเรื่องนี้ คริสเตียนพึงเชื่อฟังคำตักเตือนของเปาโลแก่ติโมเธียวที่ว่า “เหตุฉะนั้น ก่อนอะไรหมด ข้าพเจ้าจึงเตือนสติท่านทั้งหลายให้วิงวอนอธิษฐานทูลขอและขอบพระคุณสำหรับคนทั้งปวง คือสำหรับกษัตริย์ทั้งหลายและคนทั้งปวงที่มีตำแหน่งสูงเพื่อเราจะประกอบชีวิตได้อย่างสงบสุขโดยทางธรรม.”b—1 ติโมเธียว 2:1, 2.
9. เหตุใดการพูดพาดพิงถึงอำนาจเจ้าหน้าที่เป็น “อำนาจที่สูงกว่า” ไม่ได้ทำให้สง่าราศีของพระยะโฮวาเสื่อมลง?
9 ในการเรียกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทางโลกว่าสูงกว่าเช่นนั้น เราลดการถวายเกียรติอันคู่ควรกับพระยะโฮวาไหม? เปล่าเลย เพราะพระยะโฮวาไม่เพียงแต่สูงกว่า. พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้สูงสุด” “องค์บรมมหิศร.” (บทเพลงสรรเสริญ 73:28; ดานิเอล 7:18, 22, 25, 27; วิวรณ์ 4:11; 6:10) ไม่มีทางทำได้เลยที่การยินยอมต่ออำนาจปกครองของมนุษย์จะทำให้การนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงอำนาจสูงสุดองค์บรมมหิศรเสื่อมเสีย. เช่นนั้นแล้ว อำนาจปกครองเหล่านี้สูงกว่าถึงขีดไหน? ก็เพียงแต่เมื่อคำนึงถึงมนุษย์ผู้อื่นและในขอบเขตแห่งการงานของเขาเอง. ผู้มีอำนาจดังกล่าวรับผิดชอบที่จะปกครองและคุ้มครองชุมชนต่าง ๆ ของมนุษย์ และเพราะเหตุนี้ เขาจึงตั้งกฎข้อบังคับเพื่อดำเนินการบริหารบ้านเมือง.
“ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า”
10. (ก) คำพูดของเปาโลเกี่ยวกับ ‘การตั้ง’ อำนาจที่สูงกว่า พิสูจน์อะไรเกี่ยวกับอำนาจของพระยะโฮวา? (ข) พระยะโฮวาทรงยินยอมอะไรเกี่ยวกับการตั้งผู้ปกครองบางคนอยู่ในตำแหน่ง และผู้รับใช้ของพระองค์จึงได้รับการทดลองอย่างไร?
10 พระบรมเดชานุภาพของพระเจ้ายะโฮวาเหนืออำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทางโลกนั้น จะเห็นได้ในประการที่เจ้าหน้าที่ปกครองเหล่านั้น “ตั้งอยู่ในอำนาจสูงต่ำโดยพระเจ้า.” อย่างไรก็ดี คำพูดเช่นนี้ก่อคำถามขึ้นมา. หลังจากเปาโลได้เขียนถ้อยคำเหล่านี้นานหลายปี เนโรจักรพรรดิโรมันได้ยอมให้มีการข่มเหงอย่างร้ายกาจแก่พวกคริสเตียน. พระเจ้าเองได้ทรงตั้งเนโรไว้ในตำแหน่งนี้หรือ? ไม่ใช่เช่นนั้น! ไม่ใช่ว่าพระเจ้าได้ทรงเลือกแต่ละผู้ปกครองและทรงตั้งให้อยู่ในตำแหน่ง ‘โดยพระคุณของพระองค์.’ แต่ซาตานต่างหาก บางครั้งใช้กลยุทธ์จัดตั้งคนใจอำมหิตอยู่ในตำแหน่งผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน และพระยะโฮวาทรงปล่อยให้เป็นไป พร้อมกันกับการทดลองซึ่งพวกที่มีอำนาจเหล่านั้นนำมาสู่ผู้รับใช้ของพระองค์ที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง.—เทียบกับโยบ 2:2-10.
11, 12. ในกรณีใดที่มีในบทบันทึกซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงจัดผู้มีอำนาจฝ่ายโลกให้อยู่ในตำแหน่งหรือได้ถอดจากตำแหน่ง?
11 อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาก็ได้แทรกแซงโดยตรงในกรณีของผู้ครอบครองบางราย หรือรัฐบาลบางประเทศเพื่อว่าจะได้ส่งเสริมจุดมุ่งหมายอันสูงส่งของพระองค์. ยกตัวอย่าง ในสมัยอับราฮาม พระเจ้าทรงยินยอมให้ชาวคะนาอันอยู่อาศัยในแผ่นดินคะนาอัน. แต่ในเวลาต่อมาพระยะโฮวาทรงขับไล่เขาจากแผ่นดินนั้น แล้วยกแผ่นดินให้แก่ลูกหลานของอับราฮาม. ระหว่างที่ชาติยิศราเอลเดินทางในป่ากันดาร พระยะโฮวาไม่ได้ปล่อยให้เขาปราบชาติอะโดม โมอาบและชาวภูเขาเซอีร. แต่พระองค์ทรงบัญชาให้เขาทำลายแผ่นดินของกษัตริย์ซีโฮนและโอฆ.—เยเนซิศ 15:18-21; 24:37; เอ็กโซโด 34:11; พระบัญญัติ 2:4, 5, 9, 19, 24; 3:1, 2.
12 ภายหลังชาติยิศราเอลได้ตั้งรกรากในคะนาอันแล้ว พระยะโฮวาก็ยังคงสนพระทัยโดยตรงตลอดมาในพวกที่มีอำนาจปกครองซึ่งกระทบกระเทือนไพร่พลของพระองค์. บางครั้ง เมื่อพวกยิศราเอลทำบาป พระยะโฮวาได้ทรงปล่อยเขาตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของชาตินอกรีต. เมื่อชาติยิศราเอลสำนึกผิดกลับใจ พระองค์ก็ทรงกำจัดผู้มีอำนาจชาวนอกรีบออกไปพ้นแผ่นดิน. (ผู้วินิจฉัย 2:11-23) ในที่สุด พระองค์ทรงยอมให้แผ่นดินยูดาพร้อมด้วยคนชาติอื่นหลายชาติตกอยู่ใต้อำนาจของบาบูโลน. (ยะซายา 14:28–19:17; 23:1-12; 39:5-7) ครั้นชาติยิศราเอลตกเป็นเชลยไปอยู่ในบาบูโลนแล้ว พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าถึงความรุ่งเรืองและความล่มจมของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบไพร่พลของพระองค์ตั้งแต่สมัยบาบูโลนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน.—ดานิเอลบท 2, 7, 8, และบท 11.
13. (ก) ตามบทเพลงของโมเซ เหตุใดพระยะโฮวาทรงกำหนดพรมแดนของผู้คน? (ข) ทำไมต่อมาพระเจ้าทรงนำชนยิศราเอลกลับมายังแผ่นดินของเขา?
13 โมเซได้ร้องเพลงสดุดีพระยะโฮวาดังนี้: “เมื่อผู้สูงสุดได้ทรงจัดชนชาวประเทศทั้งปวงให้มีที่อยู่เป็นส่วนแบ่ง เมื่อพระองค์ทรงแยกบุตรทั้งปวงของมนุษย์ [อาดาม, ล.ม.] ออกจากกัน พระองค์ได้ทรงตั้งเขตแดนไว้สำหรับคนทั้งปวงตามจำนวนพวกยิศราเอลนั้น. เพราะสมบัติพัสดุของพระยะโฮวาคือไพร่พลของพระองค์ ยาโคบก็เป็นส่วนกรรมสิทธิ์ของพระองค์เอง.” (พระบัญญัติ 32:8, 9; เทียบกับกิจการ 17:26.) ถูกแล้ว การที่จะให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายของพระองค์ พระเจ้าจึงทรงกำหนดว่า อำนาจปกครองของผู้ใดจะยั่งยืน และอำนาจไหนจะถูกทำลาย. โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงจัดสรรแบ่งแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานของอับราฮามได้เข้าไปอยู่ และภายหลังทรงกู้ชนชาตินี้กลับไปอยู่ที่นั่น เพื่อว่าในที่สุด พงศ์พันธุ์ตามคำสัญญาจะได้ปรากฏตัวในแผ่นดินนั้นตรงกับที่พยากรณ์ไว้.—ดานิเอล 9:25, 26; มีคา 5:2.
14. ส่วนใหญ่แล้วพระยะโฮวาทรงตั้งมนุษย์ในตำแหน่งสูงต่ำของเขาในแง่ใด?
14 แต่ส่วนใหญ่แล้ว พระยะโฮวาทรงตั้งผู้ปกครองเหล่านั้นให้อยู่ในตำแหน่งสูงต่ำ ในความหมายที่ว่า พระองค์ทรงยอมให้มนุษย์มีอำนาจเหนือผู้อื่น แต่ด้อยกว่าพระองค์เสมอ. ดังนั้น ในคราวที่พระเยซูทรงยืนอยู่ต่อหน้าปนเตียวปีลาต พระองค์ตรัสแก่ผู้ปกครองคนนั้นว่า “ท่านจะมีอำนาจเหนือเราก็หามิได้ เว้นแต่ทรงประทานจากเบื้องบนให้แก่ท่าน.” (โยฮัน 19:11) ทั้งนี้ หาใช่ว่าพระเจ้าได้ทรงตั้งปีลาตไว้ในตำแหน่งโดยเฉพาะไม่ แต่หมายความว่าอำนาจที่ปีลาตจะสั่งให้ไว้ชีวิต หรือให้ประหารพระเยซูนั้น เป็นเพราะพระเจ้าทรงยอมให้เป็นไปเท่านั้น.
“พระเจ้าของระบบนี้”
15. ซาตานใช้อำนาจในโลกนี้ในทางใด?
15 แต่จะว่าอย่างไรกับคำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า ซาตานเป็นพระเจ้าหรือผู้ครองโลกนี้? (โยฮัน 12:31; 2 โกรินโธ 4:4) แท้จริง สิ่งที่ซาตานอวดอ้างกับพระเยซูเมื่อมันได้ชี้ให้พระเยซูเห็นอาณาจักรทั้งสิ้นของโลกนี้และทูลพระองค์ว่า “อำนาจและสง่าราศีทั้งหมดนั้น . . . มอบเป็นสิทธิ์ไว้แก่เราแล้ว และเราปรารถนาจะให้แก่ผู้ใดก็จะให้แก่ผู้นั้น.” (ลูกา 4:6) พระเยซูไม่ได้ทรงคัดค้านการอวดอ้างของซาตาน. และถ้อยคำของซาตานสอดคล้องกับสิ่งที่เปาโลเขียนต่อมาถึงชาวเอเฟโซว่า “เพราะเรามีการปล้ำสู้ ไม่ใช่กับเลือดและเนื้อ แต่ต่อสู้กับผู้ครอบครองโลกแห่งความมืดนี้ ต่อสู้กับอำนาจวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟโซ 6:12, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น พระธรรมวิวรณ์แสดงภาพซาตานเป็นเหมือนพญานาคใหญ่ซึ่งให้ “ฤทธิ์และบัลลังก์ของตน . . . และให้มีอำนาจมาก” แก่สัตว์ร้ายอันเป็นสัญลักษณ์แห่งระบบการเมืองของโลกนี้.”—วิวรณ์ 13:2.
16. (ก) อาจเห็นได้โดยวิธีใดว่า ซาตานมีอำนาจจำกัด? (ข) ทำไมพระยะโฮวายอมให้ซาตานมีอำนาจในท่ามกลางมนุษยชาติ?
16 แต่โปรดสังเกตว่า คำพูดของซาตานต่อพระเยซูที่ว่า “อำนาจทั้งหมดนี้ . . . มอบไว้เป็นสิทธิ์แก่เราแล้ว” แสดงว่าซาตานเองใช้อำนาจโดยการยินยอมเท่านั้น. ทำไมพระเจ้าทรงยินยอมอย่างนี้? ซาตานเริ่มเป็นผู้ครองโลกตั้งแต่ในสวนเอเดนเมื่อมันกล่าวหาพระเจ้าอย่างเปิดเผยว่าพระองค์โกหก และทรงใช้อำนาจการปกครองอย่างไม่ยุติธรรม. (เยเนซิศ 3:1-6) อาดามกับฮาวาเชื่อตามซาตานและไม่เชื่อฟังพระเจ้ายะโฮวา. ถึงขั้นนี้แล้ว ด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรม พระเจ้าจะสำเร็จโทษซาตานและชายหญิงสองคนที่เป็นพรรคพวกนั้นก็ย่อมได้. (เยเนซิศ 2:16, 17) แต่คำพูดของซาตานเป็นการท้าทายพระยะโฮวาโดยตรง. ดังนั้น พระเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณจึงปล่อยซาตานให้มีชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง และอาดามกับฮาวาจะได้ให้กำเนิดลูกหลานเสียก่อนที่เขาจะล่วงลับไป. โดยวิธีนี้พระองค์ให้เวลาและโอกาสเพื่อแสดงให้เห็นว่า การอวดอ้างของซาตานนั้นเป็นการเท็จ.—เยเนซิศ 3:15-19.
17, 18. (ก) ทำไมเราอาจกล่าวได้ว่า ซาตานเป็นพระเจ้าของโลกนี้? (ข) ที่ว่า “ไม่มีอำนาจใด ๆ” ในโลกนี้ “เว้นไว้โดยพระเจ้า” นั้นหมายความอย่างไร?
17 เหตุการณ์ตั้งแต่สวนเอเดนแสดงให้เห็นว่า คำกล่าวหาของซาตานเป็นการโกหกอย่างชัดแจ้ง. บุตรหลานของอาดามไม่ประสบความสุขเลยไม่ว่าภายใต้การปกครองของซาตานหรือของมนุษย์. (ท่านผู้ประกาศ 8:9) อีกด้านหนึ่งการดำเนินงานของพระเจ้ากับไพร่พลของพระองค์แสดงความดีเลิศแห่งการปกครองจากเบื้องบน. (ยะซายา 33:22; ข้อ 23 ในฉบับแปลเก่า) แต่เนื่องจากบุตรหลานส่วนใหญ่ของอาดามไม่ยอมรับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา โดยที่เขารู้หรือไม่รู้ก็ตามเขาปฏิบัติซาตานประหนึ่งเป็นพระเจ้าของตน.—บทเพลงสรรเสริญ 14:1; 1 โยฮัน 5:19.
18 ในไม่ช้า ประเด็นต่าง ๆ ที่ซาตานตั้งขึ้นในสวนเอเดนจะลงเอยกันเสียที. ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะดำเนินการบริหารกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์โดยเต็มที่ และซาตานจะถูกกักในเหวลึก. (ยะซายา 11:1-5; วิวรณ์ 20:1-6) อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ การจัดเตรียม หรือโครงสร้างบางอย่างยังคงเป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางมวลมนุษย์เพื่อชีวิตความเป็นอยู่อันเป็นระเบียบจะเป็นไปได้. พระยะโฮวา “มิใช่พระเจ้าแห่งความยุ่งเหยิง แต่เป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข.” (1 โกรินโธ 14:33) ดังนั้น พระองค์ทรงยอมให้โครงสร้างของอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางกลุ่มชนในสังคมที่เติบโตขยายตัวภายนอกสวนเอเดน และพระองค์ทรงยอมให้มนุษย์ใช้อำนาจในวิธีการจัดเตรียมอย่างนี้. โดยวิธีนี้ “จึงไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า.”
ผู้มีอำนาจที่มีคุณธรรมประจำใจ
19. ผู้ปกครองทุกคนอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของซาตานโดยตรงไหม?
19 ตั้งแต่สวนเอเดนแล้วซาตานมีอิสระอย่างกว้างขวางท่ามกลางมนุษยชาติ และมันใช้อิสรภาพนี้เพื่อพลิกแพลงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก ตรงตามที่มันโอ้อวดกับพระเยซู. (โยบ 1:7; มัดธาย 4:1-10) อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ไม่หมายความว่า ผู้มีอำนาจปกครองทุกคนในโลกนี้ยอมให้ซาตานควบคุมโดยตรง. บางคน—เช่น เนโร จักรพรรดิสมัยศตวรรษที่หนึ่ง และอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในยุคของเรา—ได้แสดงน้ำใจเยี่ยงซาตานให้ปรากฏอย่างโจ่งแจ้ง. แต่คนอื่นไม่ได้เป็นอย่างนั้น. เซระเฆียว เปาโล ผู้ว่าราชการแห่งเกาะไซปรัส เป็น “คนมีความรู้” ซึ่ง “ปรารถนาจะฟังพระคำของพระเจ้า.” (กิจการ 13:7) ฆาลิโอน ผู้สำเร็จราชการมณฑลอะคายะไม่ยอมให้พวกที่กล่าวหาเปาโลบีบบังคับท่าน. (กิจการ 18:12-17) ผู้ปกครองบ้านเมืองอีกหลายคนใช้อำนาจของตนอย่างน่านับถือ.—เทียบกับโรม 2:15.
20, 21. เหตุการณ์อะไรในศตวรรษที่ 20 นี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ปกครองแผ่นดินไม่ได้ทำตามใจของซาตานเสมอไป?
20 พระธรรมวิวรณ์แจ้งล่วงหน้าว่า ใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเริ่มต้นปี 1914 พระยะโฮวาจะทรงควบคุมอำนาจปกครองของมนุษย์เพื่อขัดขวางจุดมุ่งหมายของซาตาน. พระธรรมวิวรณ์พรรณนากระแสการข่มเหงโดยซาตานซึ่งไหลบ่าท่วมคริสเตียนผู้ถูกเจิมแล้ว “แผ่นดิน” ได้สูบน้ำนั้นลงไป. (วิวรณ์ 1:10; 12:16) ส่วนประกอบต่าง ๆ แห่ง “แผ่นดิน” อันได้แก่สังคมมนุษย์ที่มีอยู่ในโลกเวลานี้จะปกป้องไพร่พลของพระยะโฮวาให้พ้นจากการกดขี่ข่มเหงของซาตาน.
21 เหตุการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นจริง ๆ หรือ? ใช่แล้ว. อาทิในช่วงทศวรรษปี 1930 กับปี 1940 พยานพระยะโฮวาในประเทศสหรัฐเผชิญภาวะกดดันอย่างหนัก ถูกกลุ่มอันธพาลจู่โจมทำร้าย และมักจะถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมอยู่เนือง ๆ. พวกพยานฯได้รับการบรรเทาทุกข์เมื่อศาลสูงแห่งสหรัฐประกาศคำตัดสินหลายคดีอันเป็นการยอมรับว่า การงานของพยานฯถูกต้องตามกฎหมาย. ในที่อื่น ๆ ก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือไพร่พลของพระเจ้า. เมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้วในไอร์แลนด์ กลุ่มคนร้ายที่นับถือลัทธิโรมันคาทอลิกได้ทำร้ายพยานฯสองคนในเมืองคอร์ก. ตำรวจท้องที่ได้เข้าไปช่วยพยานฯและศาลยุติธรรมได้ลงโทษผู้ประทุษร้ายเหล่านั้น. ปีกลายนี้เองในฟิจิ สภาที่ประชุมเจ้าหน้าที่ชั้นสูงได้ข่าวว่า มีแผนจะประกาศห้ามกิจกรรมของพยานพระยะโฮวา. เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งพูดสนับสนุนพยานฯอย่างกล้าหาญ และแผนการที่คิดไว้ก็ล้มเลิกไปอย่างง่ายดาย.
22. ต่อจากนี้จะพิจารณาคำถามอะไร?
22 มิใช่ว่าผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในราชการจะทำประโยชน์ส่งเสริมฝ่ายของซาตานเสมอไป. คริสเตียนจะยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่าโดยมิต้องยอมอยู่ใต้ซาตาน. ที่จริง คริสเตียนจะอยู่ใต้อำนาจเหล่านี้นานตราบเท่าที่พระเจ้าทรงยินยอมให้อำนาจนั้นดำรงอยู่. แต่การอยู่ใต้อำนาจดังกล่าวหมายถึงอะไร? และคริสเตียนอาจจะหวังอะไรจากผู้มีอำนาจที่สูงกว่า? คำถามเหล่านี้จะได้นำมาพิจารณากันในบทความที่เริ่มหน้า 18 และ 23 ในวารสารนี้.
[เชิงอรรถ]
a ดูตัวอย่างการใช้คำ “ส่วย” (โฟʹโรส์) ที่ลูกา 20:22. นอกจากนั้น สังเกตดูคำกรีกเธʹโลส์ ซึ่งเขาแปลที่นี่ “ส่วยอากร” ที่มัดธาย 17:25 ซึ่งมีการแปลคำนั้นว่า “ส่วยและภาษี.”
b คำนามในภาษากรีกไฮเพโรเคʹ ซึ่งได้รับการแปล “ตำแหน่งสูง” เกี่ยวข้องกับคำกริยาไฮเพเรʹโค. คำ “อำนาจที่สูงกว่า” ก็ได้มาจากคำกริยากรีกคำเดียวกัน ซึ่งเพิ่มหลักฐานให้หนักแน่นขึ้นที่ว่า อำนาจที่สูงกว่านั้นคืออำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทางโลก. การแปลพระธรรมโรม 13:1 ในคัมภีร์ฉบับแปลเดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล ดังนี้: “ทุกคนต้องยินยอมอยู่ใต้อำนาจสูงสุด” เช่นนี้ไม่ถูก. มนุษย์ที่มี “ตำแหน่งสูง” หาสูงสุดในอำนาจไม่ ถึงแม้นเขาจะมีอำนาจสูงกว่ามนุษย์โดยทั่วไปก็ตาม.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ใครคือผู้มีอำนาจที่สูงกว่า?
▫ เรากล่าวได้อย่างไรว่า “ไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า”?
▫ เหตุใดพระยะโฮวาทรงยอมให้โลกนี้อยู่ในอำนาจของซาตาน?
▫ พระเจ้าทรงตั้งมนุษย์ “อยู่ในตำแหน่งสูงต่ำ” ในแง่ใด?
[รูปภาพหน้า 13]
หลังจากการเผากรุงโรม เนโรแสดงน้ำใจเยี่ยงซาตาน