“ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา!”
ฝูงชนที่วุ่นวายจับตัวชายคนหนึ่งซึ่งไม่มีทางป้องกันตัวไว้แล้วเริ่มทุบตีเขา. พวกเขาคิดว่าชายคนนี้สมควรจะตาย. ตอนที่ดูเหมือนว่าฝูงชนจะฆ่าเขาแน่ ๆ พอดีพวกทหารก็มาถึงแล้วแย่งชิงเอาตัวผู้ตกเป็นเหยื่อไปจากฝูงชนที่บ้าคลั่งนั้นด้วยความลำบากยากเย็น. ชายผู้นี้คืออัครสาวกเปาโล. ผู้จู่โจมท่านคือชาวยิวซึ่งคัดค้านงานประกาศเผยแพร่ของท่านอย่างรุนแรงและกล่าวหาท่านว่าทำให้พระวิหารเป็นมลทิน. ผู้ช่วยชีวิตท่านเป็นชาวโรมัน นำโดยเคลาดิอุส ลีเซียส์ (เกลาดิโอ ลุเซีย) ผู้บัญชาการของพวกเขา. ระหว่างความชุลมุนวุ่นวาย เปาโลถูกจับกุมฐานเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ร้าย.
เจ็ดบทสุดท้ายของพระธรรมกิจการกล่าวโดยสังเขปเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เริ่มต้นด้วยการจับกุมนี้. การเข้าใจภูมิหลังทางกฎหมายของเปาโล, ข้อกล่าวหาต่อท่าน, การแก้คดี, และอะไรบางอย่างเกี่ยวกับขั้นตอนการลงโทษของชาวโรมันทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้นในบทเหล่านี้.
อยู่ในการควบคุมของเคลาดิอุส ลีเซียส์
หน้าที่ของเคลาดิอุส ลีเซียส์รวมไปถึงการรักษาระเบียบในกรุงเยรูซาเลม. ผู้บังคับบัญชาของเขา ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการโรมันของแคว้นยูเดีย อยู่ในเมืองซีซาเรีย (กายซาไรอา). ปฏิบัติการของลีเซียส์ในกรณีของเปาโลอาจถือได้ว่าเป็นการปกป้องบุคคลผู้หนึ่งไว้จากความรุนแรงและเป็นการกักตัวผู้ก่อกวนความสงบสุข. การตอบโต้ของชาวยิวได้กระตุ้นลีเซียส์ให้พาผู้ถูกควบคุมตัวของเขาไปยังที่พักของทหารในหอคอยแอนโตเนีย.—กิจการ 21:27–22:24.
ลีเซียส์ต้องตรวจสอบดูว่าเปาโลได้ทำอะไร. ระหว่างความวุ่นวาย เขาไม่รู้เรื่องอะไร. ดังนั้น โดยไม่ชักช้าเขาสั่งให้ “ไต่สวนโดยการเฆี่ยน” เปาโล ‘เพื่อจะรู้ได้ว่าพวกเขาร้องปรักปรำเปาโลด้วยเหตุประการใด.’ (กิจการ 22:24, ฉบับแปลใหม่) นี่เป็นวิธีปกติในการคาดคั้นเอาหลักฐานจากอาชญากร, ทาส, และคนอื่นที่อยู่ในฐานะต่ำต้อย. อุปกรณ์ที่ใช้เฆี่ยน (ฟลากรุม) อาจใช้ได้ผล แต่เป็นเครื่องมือที่น่ากลัว. แส้เหล่านี้บางเส้นมีปุ่มโลหะที่ห้อยอยู่ตามโซ่. แส้อื่น ๆ มีสายหนังถักสอดด้วยกระดูกที่แหลมคมและชิ้นโลหะ. แส้เหล่านี้ทำให้เกิดแผลฉกรรจ์ ทำให้เนื้อฉีกเป็นริ้ว ๆ.
ถึงตอนนั้นเปาโลได้เปิดเผยตัวว่าเป็นคนสัญชาติโรมัน. จะเอาตัวชาวโรมันที่ยังมิได้ถูกตัดสินลงโทษมาเฆี่ยนไม่ได้ ดังนั้น การที่เปาโลยืนยันสิทธิของท่านจึงมีผลทันที. การทารุณหรือการลงโทษพลเมืองโรมันอาจทำให้นายทหารโรมันเสียตำแหน่งได้. จึงไม่แปลกที่ตั้งแต่นั้นมา เปาโลได้รับการปฏิบัติฐานะผู้ถูกควบคุมพิเศษซึ่งให้ผู้มาเยี่ยมเข้าพบได้.—กิจการ 22:25-29; 23:16, 17.
เพราะไม่แน่ใจในข้อกล่าวหา ลีเซียส์จึงพาเปาโลมาต่อหน้าศาลซันเฮดรินเพื่อขอคำชี้แจงเหตุผลที่มีความเดือดดาลเช่นนั้น. แต่เปาโลได้ปลุกเร้าการโต้เถียงขึ้นเมื่อท่านพูดถึงการถูกตัดสินในประเด็นเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ข้อโต้แย้งนั้นรุนแรงถึงขนาดที่ลีเซียส์เกรงว่าเปาโลจะถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ และอีกครั้งหนึ่งลีเซียส์ต้องคว้าตัวท่านไปจากชาวยิวที่โกรธแค้น.—กิจการ 22:30–23:10.
ลีเซียส์ไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในการตายของพลเมืองโรมัน. เมื่อทราบเรื่องแผนสังหาร เขาจึงรีบส่งผู้ถูกควบคุมตัวของเขาไปเมืองซีซาเรีย. พิธีการทางกฎหมายกำหนดว่าเมื่อส่งจำเลยไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินคดีในระดับสูงกว่า ต้องส่งรายงานที่กล่าวย่อ ๆ เกี่ยวกับคดีนั้นไปพร้อมกับตัวเขา. รายงานเหล่านั้นจะรวมไปถึงข้อซักถามในตอนแรก, เหตุผลในการลงมือจัดการเช่นนั้น, และความเห็นของผู้สอบสวนคดีนั้น. ลีเซียส์ได้รายงานว่าเปาโล “ถูกฟ้องในเรื่องเถียงกันด้วยบัญญัติของชาติยูดาย. แต่ไม่มีเหตุพอที่เขาควรจะตายหรือควรจะต้องจำไว้” และเขาได้สั่งให้ผู้กล่าวหาเปาโลส่งคำฟ้องร้องของพวกเขาไปถึงเฟลิกซ์ ผู้ว่าราชการ.—กิจการ 23:29, 30.
ผู้ว่าราชการเฟลิกซ์ไม่ได้พิพากษา
อำนาจตัดสินคดีของผู้ว่าราชการอาศัยอำนาจและสิทธิของเฟลิกซ์. เขาอาจปฏิบัติตามธรรมเนียมท้องถิ่นหากเขาเลือกที่จะทำเช่นนั้น หรือไม่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติ—ที่นำมาใช้ได้กับสังคมชั้นสูงและข้าราชการ. กฎหมายนั้นเป็นที่รู้จักว่าโอร์โด หรือบัญชีรายชื่อ. เขาอาจนำอำนาจตัดสินคดีแบบเอกซทรา โอร์ดีเนม มาใช้ด้วย ซึ่งอาจใช้ได้เพื่อทำการตัดสินคดีอาชญากรรมใด ๆ. มีการคาดหมายให้ผู้ว่าราชการประจำมณฑล ‘คำนึงถึงไม่ใช่สิ่งที่ได้ทำกันที่โรม แต่สิ่งที่ควร ทำกันโดยทั่วไป.’ ด้วยเหตุนี้ คดีส่วนใหญ่ถูกปล่อยไว้ให้เขาตัดสิน.
ไม่ใช่รายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับกฎหมายโรมันโบราณเป็นที่รู้จักกัน แต่กรณีของเปาโลถือว่าเป็น “เรื่องราวอันเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับขั้นตอนการลงโทษแบบเอกซทรา โอร์ดีเนม.” ผู้ว่าราชการซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากที่ปรึกษาจะฟังข้อกล่าวหาจากบุคคลต่าง ๆ เป็นส่วนตัว. จำเลยถูกเรียกให้มาอยู่ต่อหน้าผู้ที่กล่าวหาเขา และเขาจะแก้คดีด้วยตัวเองได้ แต่การพิสูจน์ข้อกล่าวหานั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์. ตุลาการส่วนท้องถิ่นกำหนดการลงโทษใด ๆ ที่เขาเห็นว่าเหมาะ. เขาอาจทำการตัดสินทันที หรือไม่ก็เลื่อนการตัดสินออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งในกรณีเช่นนั้นจำเลยจะถูกกักตัวไว้. ผู้คงแก่เรียนชื่อเฮนรี แคดเบรีกล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยว่า ด้วยอำนาจโดยพลการเช่นนั้น ผู้ว่าราชการอยู่ในตำแหน่งที่จะยอมจำนนต่อ ‘อิทธิพลอันมิควร’ และยอมรับสินบน—ถ้าไม่ยกฟ้อง, หรือตัดสินลงโทษ, ก็เลื่อนการตัดสินออกไป.”
มหาปุโรหิตอะนาเนีย, ผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวยิว, และเตอร์ตุโลได้กล่าวหาเปาโลอย่างเป็นทางการต่อหน้าเฟลิกซ์ว่าเป็น “คนพาล, กระทำให้พวกยูดายทั้งหลายเกิดการวุ่นวาย.” พวกเขาอ้างว่าท่านเป็น “หัวหน้าพวกชาวนาซาเร็ธ” และว่าท่านพยายามทำให้พระวิหารเป็นมลทิน.—กิจการ 24:1-6.
เหล่าผู้โจมตีเปาโลพวกแรกเข้าใจว่าท่านได้พาคนต่างชาติชื่อโตรฟีโมเข้าไปในลานพระวิหารที่สงวนไว้สำหรับชาวยิวเท่านั้น.a (กิจการ 21:28, 29) ว่ากันตามตรงแล้ว ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงล้ำคือโตรฟีโม. แต่ถ้าชาวยิวตีความการกระทำของเปาโลตามที่คิดเอาเองว่าเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนการล่วงล้ำนั้นแล้ว ก็อาจถือได้เช่นกันว่านั่นเป็นความผิดถึงขั้นประหาร. และโรมดูเหมือนจะยอมรับการตัดสินประหารชีวิตสำหรับความผิดเช่นนี้. ดังนั้น ถ้าให้ชาวยิวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของพระวิหารจับกุมตัวเปาโล แทนที่จะเป็นลีเซียส์ ศาลซันเฮดรินก็อาจพิจารณาคดีและพิพากษาตัดสินท่านได้โดยไม่มีปัญหา.
ชาวยิวอ้างเหตุผลว่าสิ่งที่เปาโลสอนไม่ใช่ศาสนายิว หรือศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย (เรลิกอิโอ ลิคิทา). แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ควรจะถือว่าศาสนานั้นผิดกฎหมาย ถึงกับบ่อนทำลายด้วยซ้ำ.
พวกเขายังอ้างด้วยว่าเปาโล “กระทำให้พวกยูดายทั้งหลายเกิดการวุ่นวายทั่วพิภพ.” (กิจการ 24:5) จักรพรรดิเคลาดิอุสเพิ่งได้กล่าวโทษชาวยิวในเมืองอะเล็กซานเดรียในการ “ปลุกระดมให้เกิดความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วตลอดทั้งโลก.” ความคล้ายคลึงกันปรากฏชัด. นักประวัติศาสตร์ เอ. เอ็น. เชอร์วินไวต์กล่าวว่า “ข้อกล่าวหานี้นี่เองเป็นข้อที่นำขึ้นมากล่าวหาชาวยิวคนหนึ่งระหว่างที่เคลาดิอุสมีอำนาจสูงสุดหรือไม่ก็ช่วงต้น ๆ ของเนโร. ชาวยิวพยายามจะโน้มน้าวผู้ว่าราชการให้ถือว่าการประกาศของเปาโลเท่ากับเป็นการก่อความวุ่นวายภายในตลอดทั่วพื้นที่ของจักรวรรดิที่พลเมืองยิวอาศัยอยู่. พวกเขาทราบว่าผู้ว่าราชการไม่เต็มใจจะตัดสินลงโทษโดยอาศัยข้อกล่าวหาทางศาสนาล้วน ๆ และดังนั้นจึงพยายามจะบิดเบือนข้อกล่าวหาทางศาสนาให้เป็นเรื่องการเมือง.”
เปาโลได้แก้คดีด้วยตัวเองเป็นข้อ ๆ ไป. ‘ข้าพเจ้ามิได้ก่อความวุ่นวาย. จริงอยู่ ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกของศาสนาที่พวกเขาเรียกว่า “นิกาย” แต่นี่แสดงนัยถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของชาวยิว. พวกยิวจากมณฑลอาเซียบางคนได้ยั่วยุให้เกิดความวุ่นวาย. หากพวกเขามีมูลเหตุอะไรจะฟ้องข้าพเจ้า ก็น่าจะมาฟ้องร้องที่นี่.’ โดยแท้แล้วเปาโลรวมข้อกล่าวหาเข้าด้วยกันเป็นข้อโต้แย้งทางศาสนาท่ามกลางพวกยิว ซึ่งเป็นประเด็นที่โรมแทบจะไม่มีความสามารถเข้าใจเสียเลย. โดยระวังที่จะไม่ทำให้ชาวยิวที่หัวดื้ออยู่แล้วนั้นโกรธเคือง เฟลิกซ์ได้เลิกการพิจารณาคดี โดยแท้แล้วบีบบังคับไม่ให้มีการคืบหน้าในการพิจารณาตัดสิน. ไม่ได้มีการส่งตัวเปาโลให้ชาวยิว ผู้ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถเข้าใจ หรือใช้กฎหมายโรมันตัดสินท่าน, หรือปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ. จะบังคับเฟลิกซ์ให้พิพากษาก็ไม่ได้ และนอกจากต้องการเอาใจพวกยิวแล้ว เขายังมีแรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งในการเลื่อนการตัดสินออกไป—เขาหวังว่าเปาโลจะให้สินบนเขา.—กิจการ 24:10-19, 26.b
จุดหัวเลี้ยวหัวต่อภายใต้พอร์ซิอุส เฟสตุส
ในกรุงเยรูซาเลมสองปีต่อมา พวกยิวได้รื้อฟื้นข้อกล่าวหาของพวกเขาขึ้นมาอีกเมื่อพอร์ซิอุส เฟสตุส (โประกิโอ เฟศโต) ผู้ว่าราชการคนใหม่มาถึง โดยขอส่งตัวเปาโลให้มาอยู่ในอำนาจตัดสินของพวกเขา. แต่เฟสตุสตอบอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ไม่ใช่ธรรมเนียมของชาติโรมันที่จะพิพากษาลงโทษคนหนึ่งคนใดถึงตาย ก่อนที่โจทก์กับจำเลยมาพร้อมหน้ากันและให้จำเลยมีโอกาสแก้คดีในข้อหานั้น.” นักประวัติศาสตร์แฮร์รี ดับเบิลยู. ทาชราอรรถาธิบายไว้ว่า “เฟสตุสวินิจฉัยออกอยู่แล้วว่า มีการวางแผนใช้อำนาจศาลเตี้ยในการตัดสินพลเมืองชาติโรมัน.” ดังนั้น จึงมีการแจ้งให้พวกยิวดำเนินคดีของพวกเขาในเมืองซีซาเรีย.—กิจการ 25:1-6, 16.
ที่นั่นพวกยิวได้ยืนยันว่าเปาโล “ไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป” กระนั้นพวกเขาก็ไม่มีหลักฐานมาเสนอ และเฟสตุสเข้าใจว่าเปาโลไม่ได้ทำอะไรที่สมควรจะตาย. เฟสตุสได้ชี้แจงแก่เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งว่า “เป็นแต่เพียงปัญหาเถียงกันด้วยเรื่องลัทธิศาสนาของเขาเอง, และด้วยเรื่องคนหนึ่งที่ชื่อเยซูซึ่งตายแล้วแต่เปาโลยืนยันว่ายังเป็นอยู่.”—กิจการ 25:7, 18, 19, 24, 25.
ปรากฏชัดว่าเปาโลไม่มีความผิดในข้อกล่าวหาใด ๆ ทางการเมือง แต่ในข้อโต้แย้งทางด้านศาสนา ชาวยิวดูเหมือนจะอ้างเหตุผลว่าศาลของพวกเขาเป็นศาลเดียวเท่านั้นที่สามารถจัดการเรื่องนี้. เปาโลจะไปกรุงเยรูซาเลมเพื่อการพิพากษาตัดสินเรื่องเหล่านี้ไหม? เฟสตุสถามเปาโลว่าท่านจะไปหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้วนั่นเป็นข้อเสนอที่ไม่เหมาะสม. การส่งตัวกลับไปกรุงเยรูซาเลมที่พวกผู้กล่าวหาจะมาเป็นผู้พิพากษาหมายความว่าจะมีการมอบตัวเปาโลให้พวกยิว. เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าก็กำลังยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์ของกายะซาอยู่แล้ว, ก็สมควรจะพิพากษาข้าพเจ้าเสียที่นี่ . . . ข้าพเจ้าไม่ได้กระทำผิดต่อพวกยูดาย . . . ไม่มีผู้ใดมีอำนาจจะมอบข้าพเจ้าให้เขาได้. ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา.”—กิจการ 25:10, 11, 20.
การกล่าวถ้อยคำเหล่านี้โดยชาวโรมันทำให้อำนาจตัดสินของผู้ว่าราชการยุติลง. สิทธิของท่านในการอุทธรณ์ (โพรวอคาทโย ) นั้น “เชื่อถือได้, ครอบคลุมทุกด้านและเกิดผล.” ดังนั้น หลังจากหารือกับเหล่าที่ปรึกษาของเขาในรายละเอียดตามหลักการแล้ว เฟสตุสจึงแถลงว่า “เมื่อเจ้าได้อุทธรณ์ถึงกายะซาดังนี้แล้ว, เจ้าจะต้องไปเฝ้ากายะซา.”—กิจการ 25:12.
เฟสตุสยินดีที่ได้หลุดพ้นจากเปาโล. ดังที่เขาได้ยอมรับกับเฮโรดอะฆะริปาที่ 2 ต่อมา คดีนี้ทำให้เขางุนงง. ครั้นแล้วเฟสตุสต้องเรียบเรียงคำแถลงเกี่ยวกับคดีนี้สำหรับจักรพรรดิ แต่สำหรับเฟสตุสแล้ว ข้อกล่าวหาต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับความซับซ้อนเข้าใจยากในกฎหมายของพวกยิว. อย่างไรก็ดี อะฆะริปาเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเขาแสดงความสนใจ จึงมีการขอร้องเขาทันทีให้ช่วยร่างจดหมาย. เนื่องจากไม่สามารถเข้าใจคำชี้แจงในภายหลังของเปาโลต่อหน้าอะฆะริปา เฟสตุสจึงร้องขึ้นมาว่า “เปาโลเอ๋ย, เจ้าคลั่งไปเสียแล้ว เจ้าเรียนรู้วิชามากจึงทำให้เจ้าคลั่งไป.” แต่อะฆะริปาเข้าใจอย่างดีทีเดียว. เขากล่าวว่า “เจ้าใคร่จะชวนเราให้เป็นคริสเตียนด้วยคำชักชวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น [“ไม่ช้าเจ้าจะโน้มน้าวใจเราให้เป็นคริสเตียน,” ล.ม.].” ไม่ว่าเขาทั้งสองจะรู้สึกอย่างไรกับการอ้างเหตุผลของเปาโลก็ตาม ทั้งเฟสตุสและอะฆะริปาต่างก็เห็นพ้องกันว่าเปาโลไม่มีความผิดและจะปล่อยตัวไปได้หากท่านไม่ได้อุทธรณ์ถึงซีซาร์ (กายะซา).—กิจการ 25:13-27; 26:24-32.
ตอนจบของการเดินทางไปพิจารณาคดี
เมื่อมาถึงกรุงโรม เปาโลได้เรียกพวกผู้ใหญ่ของชาวยิวมาประชุมไม่เพียงเพื่อประกาศให้พวกเขาฟังเท่านั้น แต่เพื่อสอบถามดูว่าพวกเขาทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับตัวท่าน. นั่นอาจเผยให้เห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความมุ่งหมายของโจทก์ผู้ฟ้องร้อง. ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่พวกผู้มีอำนาจในกรุงเยรูซาเลมจะแสวงหาความช่วยเหลือจากพวกยิวที่อยู่กรุงโรมในการดำเนินคดี แต่เปาโลได้ยินว่าพวกเขาไม่มีคำชี้แจงอะไรเกี่ยวกับตัวท่าน. ระหว่างรอการพิจารณาคดีอยู่ เปาโลได้รับอนุญาตให้เช่าบ้านหลังหนึ่งและให้ประกาศได้อย่างเสรี. การผ่อนปรนเช่นนั้นอาจหมายความว่าในสายตาของชาวโรมันแล้ว เปาโลเป็นคนที่ไม่มีความผิด.—กิจการ 28:17-31.
เปาโลถูกควบคุมตัวอยู่ต่อไปอีกสองปี. เพราะเหตุใด? คัมภีร์ไบเบิลมิได้ให้รายละเอียด. ตามปกติ ผู้ยื่นอุทธรณ์จะถูกควบคุมตัวอยู่จนกระทั่งผู้ฟ้องร้องปรากฏตัวเพื่อดำเนินการฟ้องร้อง แต่บางทีพวกยิวในกรุงเยรูซาเลมซึ่งยอมรับว่าคดีความของพวกเขาไม่มีน้ำหนัก จึงไม่ได้มาเลย. บางทีวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการทำให้เปาโลเงียบเสียงต่อไปนานเท่าที่เป็นไปได้คือ การที่พวกเขาไม่มาปรากฏตัว. ไม่ว่าเป็นกรณีใดก็ตาม ดูเหมือนว่าเปาโลได้ยืนต่อหน้าเนโร ได้รับการประกาศว่าพ้นผิด และในที่สุดเป็นอิสระที่จะดำเนินกิจการงานมิชชันนารีของท่านต่อไป—ประมาณห้าปี หลังจากท่านถูกจับกุม.—กิจการ 27:24.
เหล่าปรปักษ์ของความจริงได้ “ออกกฎหมายประกอบการชั่วร้าย” เพื่อขัดขวางงานประกาศของคริสเตียน. เรื่องนี้ไม่น่าจะทำให้เราประหลาดใจ. พระเยซูได้ตรัสว่า “ถ้าเขาข่มเหงเราแล้ว, เขาคงจะข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย.” (บทเพลงสรรเสริญ 94:20; โยฮัน 15:20) ถึงกระนั้น พระเยซูทรงรับรองกับเราด้วยในเรื่องเสรีภาพที่จะบอกข่าวดีไปทั่วทั้งโลก. (มัดธาย 24:14) ดังนั้น เช่นเดียวกับที่อัครสาวกเปาโลได้ต้านทานการข่มเหงและการต่อต้าน พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ “ปกป้องและทำให้ข่าวดีได้รับการรับรองตามกฎหมาย.”—ฟิลิปปอย 1:7, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ราวระเบียงหินที่ประณีตซึ่งสูงสามศอก แยกลานของคนต่างชาติจากลานชั้นใน. ตรงกำแพงนี้มีการติดตั้งคำเตือนไว้เป็นระยะ ๆ บ้างก็เป็นภาษากรีก และบ้างก็เป็นภาษาลาตินว่า “อย่าให้คนต่างชาติเข้ามาด้านในของราวกั้นและรั้วที่อยู่รอบสถานศักดิ์สิทธิ์. คนหนึ่งคนใดที่ถูกจับจะต้องรับผิดชอบต่อความตายของเขาซึ่งจะติดตามมานั้น.”
b แน่นอน การทำเช่นนี้ผิดกฎหมาย. แหล่งข้อมูลหนึ่งกล่าวว่า “ภายใต้การจัดเตรียมเกี่ยวกับกฎหมายในเรื่องการกรรโชก คือเลกซ์ เรเพทุนดารุม ผู้ใดซึ่งครองตำแหน่งที่มีอำนาจหรือในการบริหารถูกห้ามมิให้วิ่งเต้นหาเงินหรือรับสินบนไม่ว่าเพื่อผูกมัดหรือปล่อยตัวคน เพื่อพิพากษาตัดสินหรือไม่ หรือเพื่อปล่อยตัวจำเลย.”