จงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อคนที่มีความจำเป็น
“จงประพฤติการประกอบด้วยคุณ [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] . . . ต่อกันแลกัน.”—ซะคาระยา 7:9.
1, 2. (ก) เหตุใดเราควรแสดงความกรุณารักใคร่? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
พระคำของพระยะโฮวาพระเจ้ากระตุ้นเตือนเราให้รัก “ความกรุณารักใคร่.” (มีคา 6:8, ล.ม., เชิงอรรถ) พระคัมภีร์ยังให้เหตุผลด้วยว่าทำไมเราควรทำอย่างนั้น. เหตุผลหนึ่งคือ “ชายที่มีความกรุณารักใคร่ปฏิบัติอย่างที่เป็นประโยชน์กับจิตวิญญาณของตนเอง.” (สุภาษิต 11:17, ล.ม.) ช่างเป็นความจริงเพียงไร! การแสดงความกรุณารักใคร่หรือความรักภักดีก่อให้เกิดความผูกพันที่อบอุ่นและถาวรกับคนอื่น. ผลคือ เราจะมีเพื่อนที่ภักดีซึ่งนับเป็นบำเหน็จอันล้ำค่าอย่างแท้จริง!—สุภาษิต 18:24.
2 นอกจากนั้น พระคัมภีร์ยังบอกเราว่า “คนที่ติดตามความชอบธรรมและความกรุณารักใคร่จะพบชีวิต.” (สุภาษิต 21:21, ล.ม.) ถูกแล้ว การพยายามแสดงความกรุณารักใคร่จะทำให้เราเป็นที่รักของพระเจ้าและจะทำให้เรามีโอกาสได้รับพระพรในอนาคต รวมทั้งชีวิตนิรันดร์ด้วย. แต่เราจะแสดงความกรุณารักใคร่ได้อย่างไร? เราควรแสดงความกรุณารักใคร่ต่อใคร? และความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ตามปกติธรรมดาหรือความกรุณาโดยทั่วไปไหม?
ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และความกรุณารักใคร่
3. ความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร?
3 ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ตามปกติธรรมดากับความกรุณารักใคร่แตกต่างกันในหลาย ๆ ทาง. ตัวอย่างเช่น คนที่แสดงความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์มักแสดงออกโดยไม่ได้มีความผูกพันเป็นส่วนตัวที่ลึกซึ้งกับคนที่เขาปฏิบัติด้วยอย่างกรุณา. แต่หากเราแสดงความกรุณารักใคร่ต่อบางคน เราเองมีความผูกพันใกล้ชิดด้วยความรักกับคนนั้น. ในคัมภีร์ไบเบิล การแสดงออกซึ่งความกรุณารักใคร่ระหว่างมนุษย์ด้วยกันอาจตั้งอยู่บนพื้นฐานของสายสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว. (เยเนซิศ 20:13; 2 ซามูเอล 3:8; 16:17) หรืออาจตั้งอยู่บนพื้นฐานของสายสัมพันธ์ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำที่แสดงความกรุณาก่อนหน้านั้น. (ยะโฮซูอะ 2:1, 12-14; 1 ซามูเอล 15:6; 2 ซามูเอล 10:1, 2) เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างดังกล่าว ให้เราเปรียบเทียบตัวอย่างสองเรื่องจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความกรุณาและอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความกรุณารักใคร่ที่มนุษย์แสดงต่อกัน.
4, 5. ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลสองเรื่องที่อ้างถึงในที่นี้แสดงความแตกต่างอย่างไรระหว่างความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์กับความกรุณารักใคร่?
4 ตัวอย่างหนึ่งของความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มหนึ่งที่ประสบเหตุการณ์เรืออับปาง ซึ่งมีอัครสาวกเปาโลอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย. พวกเขาถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งเกาะมอลตา (เมลีเต). (กิจการ 27:37–28:1) แม้ว่าชาวเกาะมอลตาไม่เคยมีความผูกพันแต่หนหลังกับนักเดินทางที่เรือเกยตื้นกลุ่มนี้ อีกทั้งความสัมพันธ์ในปัจจุบันก็ยังไม่มีต่อกัน แต่ชาวเกาะได้รับรองแขกแปลกหน้า ‘แสดงความกรุณาแก่พวกเขาเป็นอันมาก.’ (กิจการ 28:2, 7) การที่พวกเขาแสดงน้ำใจต้อนรับแขกเป็นความกรุณา แต่เป็นไปโดยไม่ได้ตั้งใจและแสดงต่อคนแปลกหน้า. ด้วยเหตุนั้น นี่เป็นความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์.
5 ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบกับน้ำใจต้อนรับแขกที่กษัตริย์ดาวิดแสดงต่อมะฟีโบเซ็ธ บุตรของโยนาธานสหายของท่าน. ดาวิดบอกมะฟีโบเซ็ธว่า “[เรา] จะเลี้ยงเจ้าไว้ที่โต๊ะของเราเสมอ.” ดาวิดอธิบายเหตุผลที่โปรดให้จัดอย่างนั้นแก่เขาว่า “เราจะแสดงความกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] แก่เจ้า, เพราะเห็นแก่โยนาธานบิดาของเจ้า.” (2 ซามูเอล 9:6, 7, 13) มีการกล่าวอย่างเหมาะสมถึงน้ำใจต้อนรับแขกที่ยั่งยืนนานของดาวิดว่าเป็นความกรุณารักใคร่ ไม่ใช่เพียงความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะท่านแสดงให้เห็นหลักฐานถึงความภักดีที่ท่านมีต่อสายสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว. (1 ซามูเอล 18:3; 20:15, 42) คล้ายคลึงกันในทุกวันนี้ ผู้รับใช้ของพระเจ้าแสดงความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป. ทว่า พวกเขาแสดงความกรุณารักใคร่หรือความรักภักดีอันยั่งยืนนานต่อคนที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างที่พระเจ้าทรงพอพระทัย.—มัดธาย 5:45; ฆะลาเตีย 6:10.
6. ลักษณะเฉพาะอะไรของความกรุณารักใคร่ที่มนุษย์แสดงต่อกันซึ่งปรากฏเด่นอยู่ในพระคำของพระเจ้า.
6 เพื่อจะระบุเพิ่มเติมในเรื่องลักษณะเฉพาะบางอย่างของความกรุณารักใคร่ เราจะพิจารณาสั้น ๆ เกี่ยวกับสามเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะนี้อย่างเด่นชัด. จากสามเรื่องนี้ เราจะสังเกตว่าความกรุณารักใคร่ที่มนุษย์แสดงต่อผู้อื่น (1) แสดงออกโดยการกระทำบางอย่าง (2) แสดงอย่างเต็มใจ และ (3) แสดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่มีความจำเป็น. นอกจากนั้น ทั้งสามเรื่องนี้แสดงให้เห็นวิธีที่เราอาจแสดงความกรุณารักใคร่ในทุกวันนี้.
บิดาผู้หนึ่งแสดงความกรุณารักใคร่
7. คนต้นเรือนของอับราฮามบอกบะธูเอลและลาบานอย่างไร และคนต้นเรือนยกประเด็นอะไรขึ้นมา?
7 เยเนซิศ 24:28-67 เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนต้นเรือนของอับราฮามในส่วนที่เหลือจากที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อน. หลังจากพบกับริบะคาแล้ว เขาได้รับเชิญให้ไปที่บ้านของบะธูเอล บิดาของเธอ. (ข้อ 28-32) ที่นั่น คนต้นเรือนได้เล่าอย่างละเอียดในเรื่องที่เขากำลังหาภรรยาให้บุตรชายอับราฮาม. (ข้อ 33-47) เขาเน้นว่าที่เขาประสบความสำเร็จจนถึงบัดนั้นนับเป็นหมายสำคัญจากพระยะโฮวา “ผู้ทรงนำข้าพเจ้ามาตามทางที่ถูกเพื่อหาบุตรหญิงของญาตินายให้บุตรชาย.” (ข้อ 48, ฉบับแปลใหม่) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนต้นเรือนหวังว่าคำบอกเล่าด้วยใจจริงของตนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงจะทำให้บะธูเอลและลาบานบุตรชายของเขาเชื่อว่าพระยะโฮวาทรงอยู่เบื้องหลังงานนี้ที่เขาได้รับมอบหมาย. ท้ายที่สุด คนต้นเรือนกล่าวว่า “แม้นท่านจะโปรดทำตามความเมตตากรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] และความสัตย์จริงต่อนายข้าพเจ้า, ขอบอกข้าพเจ้าเถิด: ถ้าหาไม่, ขอบอกด้วย; เพื่อข้าพเจ้าจะได้หันไปข้างขวาหรือข้างซ้ายมือ.”—ข้อ 49.
8. ปฏิกิริยาของบะธูเอลต่อเรื่องที่เกี่ยวกับริบะคาเป็นเช่นไร?
8 พระยะโฮวาได้ทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่ออับราฮามแล้ว. (เยเนซิศ 24:12, 14, 27) บะธูเอลจะเต็มใจทำอย่างเดียวกันโดยยอมให้ริบะคาไปกับคนต้นเรือนของอับราฮามไหม? ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าจะได้รับการเสริมโดยความกรุณารักใคร่ของมนุษย์ไหม? หรือว่าคนต้นเรือนจะเดินทางไกลมาเสียแรงเปล่า? คงต้องเป็นเรื่องที่ทำให้คนต้นเรือนของอับราฮามชื่นใจอย่างยิ่งเมื่อได้ยินลาบานกับบะธูเอลกล่าวว่า “เหตุการณ์นี้เป็นมาแต่พระยะโฮวา.” (ข้อ 50) เขาทั้งสองตระหนักว่าพระยะโฮวาได้ทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาดูแลเรื่องนี้และยอมรับการตัดสินพระทัยของพระองค์อย่างไม่ลังเล. ต่อมา บะธูเอลแสดงความกรุณารักใคร่โดยกล่าวต่อไปว่า “ท่านเห็นริบะคาอยู่ต่อหน้าท่าน; เชิญพาไปให้เป็นภรรยาบุตรชายนายของท่าน, ตามพระดำรัสแห่งพระยะโฮวาที่ตรัสไว้แล้ว.” (ข้อ 51) ริบะคาไปกับคนต้นเรือนของอับราฮามอย่างเต็มใจ และไม่นานนักเธอก็ได้เป็นภรรยาที่ยิศฮาครักมาก.—ข้อ 49, 52-58, 67.
ความกรุณารักใคร่ที่บุตรคนหนึ่งแสดง
9, 10. (ก) ยาโคบขอโยเซฟบุตรชายให้ทำอะไรเพื่อท่าน? (ข) โยเซฟแสดงความกรุณารักใคร่ต่อบิดาของท่านอย่างไร?
9 ยาโคบ หลานของอับราฮาม ก็ได้รับความกรุณารักใคร่ด้วย. ดังบอกไว้ในเยเนซิศบท 47 ตอนนั้นยาโคบอยู่ที่อียิปต์ และ “ใกล้จะสิ้นชีพ.” (ข้อ 27-29) ท่านรู้สึกกังวลเนื่องจากท่านกำลังจะตายนอกแผ่นดินที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้กับอับราฮาม. (เยเนซิศ 15:18; 35:10, 12; 49:29-32) แต่ยาโคบไม่ต้องการถูกฝังในอียิปต์ ดังนั้นท่านได้เตรียมการไว้เพื่อศพของท่านจะถูกนำกลับไปยังแผ่นดินคะนาอัน. ใครล่ะจะอยู่ในฐานะที่ดีไปกว่าโยเซฟ บุตรผู้ทรงอิทธิพล ในการดูแลให้สำเร็จตามความประสงค์ของยาโคบ?
10 บันทึกบอกดังนี้: “[ยาโคบ] . . . จึงเรียกโยเซฟบุตรมาสั่งว่า, ‘ถ้าเราได้รับความเมตตาต่อหน้าเจ้า . . . จงปฏิญาณโดยความกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] และความสัตย์ซื่อ: คืออย่าฝังศพของเราไว้ในประเทศอายฆุบโตเลย; แต่เมื่อเราจะล่วงลับไปอยู่กับบรรพบุรุษ, จงนำศพเราออกจากประเทศอายฆุบโตไปฝังไว้ที่ฝังศพบิดาเราเถิด.” (เยเนซิศ 47:29) โยเซฟสัญญาว่าจะทำตามคำฝากฝังนี้ และหลังจากนั้นไม่นานยาโคบก็สิ้นชีวิต. โยเซฟและบุตรคนอื่น ๆ ของยาโคบได้นำศพของท่านกลับไป “ยังแผ่นดินคะนาอัน, แล้วได้ฝังไว้ในถ้ำที่อยู่ในนาชื่อมัคเพลา, คือนาป่าช้าซึ่งอับราฮามได้ซื้อไว้.” (เยเนซิศ 50:5-8, 12-14) โดยทำอย่างนั้น โยเซฟแสดงความกรุณารักใคร่ต่อบิดา.
ความกรุณารักใคร่จากลูกสะใภ้
11, 12. (ก) รูธแสดงความกรุณารักใคร่ต่อนาอะมีอย่างไร? (ข) ความกรุณารักใคร่ของรูธใน “ครั้งหลัง” ดีกว่าใน “ครั้งก่อน” อย่างไร?
11 พระธรรมประวัตินางรูธเล่าเรื่องของแม่ม่ายนาอะมีว่าได้รับความกรุณารักใคร่อย่างไรจากรูธ ลูกสะใภ้ชาวโมอาบซึ่งเป็นแม่ม่ายเช่นกัน. เมื่อนาอะมีตัดสินใจกลับมาที่เมืองเบทเลเฮมในแผ่นดินยูดาห์ รูธแสดงความกรุณารักใคร่และความตั้งใจแน่วแน่โดยกล่าวว่า “แม่จะไปไหน, ฉันจะไปด้วย; แม่จะอาศัยอยู่ที่ไหน, ฉันจะอาศัยอยู่ที่นั้นด้วย: ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย.” (ประวัตินางรูธ 1:16) ในภายหลัง รูธแสดงความกรุณารักใคร่เมื่อเธอแสดงให้เห็นว่าเต็มใจจะแต่งงานกับโบอัศ ญาติซึ่งอายุมากแล้วของนาอะมี.a (พระบัญญัติ 25:5, 6; ประวัตินางรูธ 3:6-9) โบอัศกล่าวแก่รูธว่า “คุณ [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของเจ้าครั้งหลังนี้ยิ่งกว่าครั้งก่อน, ด้วยเจ้ามิได้ไปหาคนหนุ่มที่ยากจน, หรือคนมั่งมี.”—ประวัตินางรูธ 3:10.
12 ความกรุณารักใคร่ของรูธใน “ครั้งก่อน” หมายถึงตอนที่เธอละจากเพื่อนพ้องชาติเดียวกันแล้วมาอยู่อย่างใกล้ชิดกับนาอะมี. (ประวัตินางรูธ 1:14; 2:11) แต่การกระทำดังกล่าวก็ยังไม่เทียบเท่ากับความกรุณารักใคร่ใน “ครั้งหลัง” คือการที่รูธเต็มใจแต่งงานกับโบอัศ. ถึงตอนนี้ รูธก็จะสามารถให้กำเนิดทายาทแก่นาอะมีซึ่งชราเกินจะมีบุตรเองได้. มีการสมรสเกิดขึ้น และต่อมาเมื่อรูธคลอดบุตร พวกผู้หญิงในเมืองเบทเลเฮมก็พากันร้องว่า “มีบุตรบังเกิดแก่นางนาอะมี.” (ประวัตินางรูธ 4:14, 17) รูธเป็น “หญิงชื่อเสียงดี” อย่างแท้จริง เธอจึงได้รับบำเหน็จจากพระยะโฮวาด้วยการได้รับสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นบรรพสตรีของพระเยซูคริสต์.—ประวัตินางรูธ 2:12; 3:11; 4:18-22; มัดธาย 1:1, 5, 6.
แสดงออกโดยการกระทำ
13. บะธูเอล, โยเซฟ, และรูธแสดงความกรุณารักใคร่อย่างไร?
13 คุณสังเกตไหมว่าบะธูเอล, โยเซฟ, และรูธแสดงความกรุณารักใคร่อย่างไร? พวกเขาแสดงความกรุณารักใคร่ไม่เพียงแต่ด้วยคำพูดที่กรุณา แต่ด้วยการกระทำบางอย่าง. บะธูเอลไม่เพียงแต่พูดว่า “ดูเถิด เรเบคาห์ก็อยู่ต่อหน้าท่าน” แต่ได้ “ส่งเรเบคาห์” ไปจริง ๆ. (เยเนซิศ 24:51, 59, ฉบับแปลใหม่) โยเซฟไม่เพียงแต่พูดว่า “ข้าพเจ้าจะกระทำตามคำสั่งของท่านนั้น” แต่ท่านกับพี่น้อง “ได้ทำศพนั้นตามคำบิดาสั่งไว้” ทุกประการ. (เยเนซิศ 47:30; 50:12, 13) รูธไม่เพียงแต่พูดว่า “แม่จะไปไหน, ฉันจะไปด้วย” แต่เธอได้ละจากเพื่อนพ้องชาติเดียวกันแล้วมาด้วยกันกับนาอะมี จึงมีบันทึกไว้ว่า “นางนาอะมีกับรูธก็ได้พากันไปจนบรรลุถึงเมืองเบธเลเฮ็ม.” (ประวัตินางรูธ 1:16, 19) ในแผ่นดินยูดาห์ รูธได้กระทำ “ตามแม่ผัวสั่งทุกประการ” อีกครั้งหนึ่ง. (ประวัตินางรูธ 3:6) ถูกแล้ว เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ความกรุณารักใคร่ของรูธแสดงออกมาให้เห็นโดยการกระทำ.
14. (ก) ผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยปัจจุบันแสดงความกรุณารักใคร่ด้วยการกระทำอย่างไร? (ข) คุณเห็นว่ามีการกระทำด้วยความกรุณารักใคร่เช่นไรท่ามกลางคริสเตียนในละแวกที่คุณอยู่?
14 เป็นเรื่องที่ทำให้อบอุ่นใจเมื่อเห็นวิธีที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าในปัจจุบันแสดงความกรุณารักใคร่ด้วยการกระทำ. ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกถึงคนที่ให้การเกื้อหนุนด้านอารมณ์เป็นเวลานานแก่เพื่อนร่วมความเชื่อที่สุขภาพไม่ดี, ซึมเศร้า, หรือเป็นทุกข์หนักใจ. (สุภาษิต 12:25) หรือขอให้พิจารณาการที่พยานพระยะโฮวาหลายคนขับรถรับส่งผู้สูงอายุไปที่หอประชุมเพื่อร่วมการประชุมประจำประชาคมทุกสัปดาห์ไม่ได้ขาด. แอนนา ซึ่งอายุ 82 ปีแล้วและเป็นโรคข้ออักเสบ เผยความรู้สึกแบบเดียวกับคนอื่นอีกหลาย ๆ คน โดยกล่าวว่า “การมีพี่น้องช่วยขับรถรับส่งเพื่อจะเข้าร่วมการประชุมได้ทุกรายการนับเป็นพระพรอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวา. ดิฉันรู้สึกขอบคุณพระองค์อย่างสุดซึ้งที่พระองค์โปรดประทานพี่น้องชายหญิงที่เปี่ยมด้วยความรักอย่างนี้.” คุณมีส่วนร่วมในการทำอย่างนี้ไหมที่ประชาคมของคุณ? (1 โยฮัน 3:17, 18) หากคุณทำอย่างนั้น ขอให้แน่ใจได้เลยว่าความกรุณารักใคร่ของคุณเป็นที่หยั่งรู้ค่าอย่างยิ่ง.
ทำอย่างเต็มใจ
15. มีการเน้นให้เห็นลักษณะเฉพาะอะไรอีกของความกรุณารักใคร่โดยเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลทั้งสามเรื่องที่เราได้พิจารณา?
15 เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่เราได้พิจารณากันไปยังแสดงด้วยว่ามีการแสดงความกรุณารักใคร่อย่างเต็มที่และอย่างเต็มใจ ไม่ใช่โดยถูกบังคับฝืนใจ. บะธูเอลเต็มใจให้ความร่วมมือกับคนต้นเรือนของอับราฮาม และริบะคาก็เช่นเดียวกัน. (เยเนซิศ 24:51, 58) โยเซฟแสดงความกรุณารักใคร่โดยไม่ต้องมีใครมากระตุ้น. (เยเนซิศ 50:4, 5) รูธ “ตั้งใจจะไปด้วยจริง ๆ” กับนาอะมี. (ประวัตินางรูธ 1:18) เมื่อนาอะมีเสนอแนะให้รูธไปหาโบอัศ ความกรุณารักใคร่กระตุ้นให้หญิงชาวโมอาบผู้นี้ตอบอย่างหนักแน่นว่า “สิ่งสารพัตรที่แม่บอกฉัน ๆ จะกระทำทั้งสิ้น.”—ประวัตินางรูธ 3:1-5.
16, 17. สิ่งที่ทำให้ความกรุณารักใคร่ที่บะธูเอล, โยเซฟ, และรูธแสดงออกมีความหมายเป็นพิเศษคืออะไร และอะไรกระตุ้นพวกเขาให้แสดงคุณลักษณะนี้?
16 ความกรุณารักใคร่ที่บะธูเอล, โยเซฟ, และรูธแสดงให้เห็นมีความหมายเป็นพิเศษ เพราะอับราฮาม, ยาโคบ, และนาอะมีไม่อยู่ในฐานะที่จะกดดันพวกเขา. ที่จริง บะธูเอลไม่มีพันธะตามกฎหมายต้องแยกจากกับบุตรสาว. เขาสามารถบอกคนต้นเรือนของอับราฮามได้เลยว่า ‘ข้าพเจ้าไม่อยากให้ลูกสาวที่ขยันขันแข็งคนนี้ไปที่ไหนไกล ๆ บ้าน.’ (เยเนซิศ 24:18-20) ในทำนองเดียวกัน โยเซฟมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะทำตามคำขอของบิดาหรือไม่ เพราะเมื่อยาโคบเสียชีวิตแล้วก็ไม่อาจบังคับให้ท่านรักษาสัญญาได้. นาอะมีเองชี้ว่ารูธมีอิสระที่จะอยู่ต่อไปที่โมอาบ. (ประวัตินางรูธ 1:8) นอกจากนั้น รูธมีอิสระที่จะแต่งงานกับ “คนหนุ่ม” แทนที่จะเลือกโบอัศซึ่งอายุมากแล้ว.
17 บะธูเอล, โยเซฟ, และรูธแสดงความกรุณารักใคร่อย่างเต็มใจ; พวกเขาถูกกระตุ้นให้ทำอย่างนั้นจากหัวใจ. พวกเขารู้สึกว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบทางศีลธรรมที่จะแสดงคุณลักษณะนี้ต่อคนที่ตนมีความสัมพันธ์ด้วย แม้แต่กษัตริย์ดาวิดก็รู้สึกในภายหลังว่าตนมีพันธะที่จะแสดงความกรุณารักใคร่ต่อมะฟีโบเซ็ธ.
18. (ก) คริสเตียนผู้ปกครอง “บำรุงเลี้ยงฝูงแกะ” ด้วยเจตคติเช่นไร? (ข) ผู้ปกครองคนหนึ่งได้เผยความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อ?
18 ความกรุณารักใคร่ยังคงเป็นเครื่องหมายชี้ตัวไพร่พลของพระเจ้า รวมไปถึงผู้ชายที่บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 110:3; 1 เธซะโลนิเก 5:12) ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีความกรุณารักใคร่เช่นนั้นถือว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่จะดำเนินชีวิตให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจด้วยการแต่งตั้งให้พวกเขาทำหน้าที่. (กิจการ 20:28) แม้กระนั้น งานบำรุงเลี้ยงและการกระทำอื่น ๆ ที่แสดงถึงความกรุณารักใคร่เพื่อประโยชน์ของประชาคมนั้นพวกเขาทำ “มิใช่เพราะถูกบังคับ แต่ด้วยความเต็มใจ” (1 เปโตร 5:2, ล.ม.) ผู้ปกครองบำรุงเลี้ยงฝูงแกะเพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบ อีกทั้งมีความปรารถนาที่จะทำอย่างนั้นด้วย. พวกเขาแสดงความกรุณารักใคร่ต่อแกะของพระคริสต์เนื่องจากพวกเขาควรทำและต้องการจะทำ. (โยฮัน 21:15-17) คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมชอบไปเยี่ยมพี่น้องที่บ้านมาก หรือไม่ก็โทรศัพท์ไปทักทายเพียงเพื่อให้พวกเขารู้ว่าผมคิดถึงพวกเขา. การช่วยเหลือพี่น้องเป็นสิ่งที่ทำให้ผมยินดีและอิ่มใจอย่างยิ่ง!” ผู้ปกครองที่เอื้ออาทรในทุกประชาคมเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้อย่างเต็มที่.
แสดงความกรุณารักใคร่ต่อคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ
19. ข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับความกรุณารักใคร่ที่มีการเน้นในเรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้พิจารณาในบทความนี้?
19 เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่เราได้พิจารณายังเน้นด้วยถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความกรุณารักใคร่ต้องแสดงต่อคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือซึ่งพวกเขาไม่สามารถสนองความจำเป็นของตนเองได้. เพื่อจะรักษาเชื้อวงศ์ อับราฮามจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบะธูเอล. เพื่อที่ศพของท่านจะถูกนำไปที่แผ่นดินคะนาอันได้ ยาโคบจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากโยเซฟ. และเพื่อจะได้ทายาท นาอะมีจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรูธ. ไม่ว่าจะอับราฮาม, ยาโคบ, หรือนาอะมี ต่างก็ไม่อาจสนองความจำเป็นดังกล่าวหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ. คล้ายกันในทุกวันนี้ ควรแสดงความกรุณารักใคร่โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ. (สุภาษิต 19:17) เราควรเลียนแบบอย่างของโยบปฐมบรรพบุรุษ ซึ่งได้เอาใจใส่ “คนยากจน [“คนลำบากเดือดร้อน,” ล.ม.] ที่ร้องให้ช่วย และเด็กกำพร้าที่ไม่มีใครอุปถัมภ์เขา” รวมทั้ง “คนที่จวนพินาศ.” นอกจากนั้น โยบยัง “เป็นเหตุให้จิตใจของหญิงม่ายร้องเพลงด้วยความชื่นบาน” และ “เป็นนัยน์ตาให้คนตาบอด และเป็นเท้าให้คนง่อย.”—โยบ 29:12-15, ฉบับแปลใหม่.
20, 21. ใครมีความจำเป็นต้องได้รับความกรุณารักใคร่จากเรา และเราแต่ละคนควรตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร?
20 ที่จริง มี ‘คนลำบากเดือดร้อนที่ร้องให้ช่วย’ ในประชาคมคริสเตียนทุกแห่ง. ที่เป็นอย่างนี้อาจเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น ความเหงา, ความท้อแท้, ความรู้สึกไร้ค่า, ความผิดหวังในผู้อื่น, ความเจ็บป่วยร้ายแรง, หรือความตายของผู้เป็นที่รัก. ไม่ว่าอะไรเป็นสาเหตุก็ตาม ผู้เป็นที่รักเหล่านี้มีความจำเป็นซึ่งเราสามารถให้ความช่วยเหลือโดยการแสดงความกรุณารักใคร่อย่างเต็มใจและเสมอไป และเราควรทำอย่างนั้น.—1 เธซะโลนิเก 5:14.
21 ดังนั้น ให้เราเลียนแบบอย่างของพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรง “บริบูรณ์ด้วยความกรุณารักใคร่” ต่อ ๆ ไป. (เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.; เอเฟโซ 5:1) เราสามารถทำอย่างนั้นโดยเต็มใจลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ของคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ. และแน่นอน เราจะถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาและประสบความยินดีอย่างยิ่งขณะที่เรา ‘ประพฤติการประกอบด้วยคุณ [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ต่อกัน.’—ซะคาระยา 7:9.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับรายละเอียดในเรื่องการแต่งงานแบบที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 370 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร?
• บะธูเอล, โยเซฟ, และรูธแสดงความกรุณารักใคร่อย่างไร?
• เราควรแสดงความกรุณารักใคร่ด้วยเจตคติเช่นไร?
• ใครจำเป็นต้องได้รับความกรุณารักใคร่จากเรา?
[ภาพหน้า 18]
บะธูเอลแสดงความกรุณารักใคร่อย่างไร?
[ภาพหน้า 21]
ความรักภักดีของรูธเป็นพระพรสำหรับนาอะมี
[ภาพหน้า 23]
ความกรุณารักใคร่ของมนุษย์นั้นแสดงออกอย่างเต็มใจ, แสดงให้เห็นโดยการกระทำบางอย่าง, และแสดงต่อคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ