บท 27
ประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เปาโลถูกจำคุกในกรุงโรมและประกาศต่อไป
จากกิจการ 28:11-31
1. เปาโลกับเพื่อน ๆ มั่นใจในเรื่องอะไร และเพราะอะไร?
เรือซึ่งมีรูป “ลูกแฝดของซุส” ที่หัวเรือ ซึ่งคงจะเป็นเรือบรรทุกข้าวขนาดใหญ่ เรือลำนี้แล่นจากเกาะมอลตาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังอิตาลี ตอนนั้นเป็นประมาณปี ค.ศ. 59 อัครสาวกเปาโลซึ่งเป็นนักโทษที่มีทหารยามคุ้มกัน และเพื่อนคริสเตียนคือลูกากับอาริสทาร์คัสอยู่บนเรือลำนั้น (กจ. 27:2) พวกเขาไม่เหมือนกับลูกเรือคนอื่น ๆ ผู้ประกาศข่าวดีเหล่านี้ไม่ได้แสวงหาการคุ้มครองจากแฝดสองพี่น้องชื่อแคสเตอร์กับพอลลักซ์ซึ่งเป็นลูกแฝดของซุสเทพเจ้ากรีก (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 28:11) เปาโลกับเพื่อน ๆ รับใช้พระยะโฮวา และพระองค์เป็นผู้บอกให้เปาโลรู้ว่าเขาจะประกาศความจริงในกรุงโรมและยืนต่อหน้าซีซาร์—กจ. 23:11; 27:24
2, 3. เรือของเปาโลแล่นไปในเส้นทางไหน และเขาได้รับการสนับสนุนยังไงตลอดการเดินทางครั้งนี้?
2 สามวันหลังจากมาเทียบท่าที่เมืองไซราคิวส์บนเกาะซิซิลี เมืองนี้เป็นเมืองที่สวยงามและสำคัญพอ ๆ กับกรุงเอเธนส์และกรุงโรม เรือแล่นต่อไปถึงเมืองเรยีอูมซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี ต่อจากนั้น ลมที่พัดมาจากทิศใต้ช่วยทำให้เรือเดินทาง 320 กิโลเมตรไปถึงเมืองโปทิโอลี เมืองท่าของอิตาลี (อยู่ใกล้เมืองเนเปิลส์ในปัจจุบัน) เรือมาถึงในวันถัดจากนั้นซึ่งนับว่าเร็วมาก—กจ. 28:12, 13
3 ตอนนี้เปาโลอยู่ในช่วงสุดท้ายของการเดินทางไปกรุงโรม ซึ่งเป็นที่ที่เขาจะไปอยู่ต่อหน้าจักรพรรดิเนโร ตลอดการเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบ “พระเจ้าที่คอยให้กำลังใจในทุกสถานการณ์” อยู่กับเปาโลเสมอ (2 คร. 1:3) ในบทนี้ เราจะได้เห็นว่าพระยะโฮวายังคงสนับสนุนเปาโล และตัวเปาโลเองก็ยังคงมีความกระตือรือร้นในการทำงานมิชชันนารีต่อ ๆ ไป
“เปาโล . . . ขอบคุณพระเจ้าและมีกำลังใจ” (กิจการ 28:14, 15)
4, 5. (ก) พี่น้องแสดงน้ำใจต้อนรับยังไงกับเปาโลและเพื่อนที่เมืองโปทิโอลี และทำไมเปาโลถึงมีอิสระมากขนาดนั้น? (ข) แม้แต่ตอนที่อยู่ในคุก คริสเตียนอาจได้รับประโยชน์ยังไงจากความประพฤติที่ดีของเขา?
4 ที่เมืองโปทิโอลี เปาโลกับเพื่อน ‘พบพี่น้อง . . . และพวกเขาอ้อนวอนให้พักอยู่ด้วย 7 วัน’ (กจ. 28:14) พี่น้องเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการแสดงน้ำใจต้อนรับ ไม่ต้องสงสัยว่า พี่น้องเหล่านี้คงจะได้รับการตอบแทนหลายเท่า พวกเขาต้องได้รับกำลังใจจากเปาโลกับเพื่อนแน่ ๆ แต่ทำไมนักโทษที่ถูกคุมตัวอยู่ถึงมีอิสระขนาดนั้น? เป็นไปได้ว่าผู้คุมชาวโรมันไว้วางใจเปาโลเป็นอย่างมาก
5 ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ตอนที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอยู่ในคุกหรือค่ายกักกัน หลายครั้งพวกเขาได้รับเสรีภาพและสิทธิพิเศษบางอย่าง นี่เป็นเพราะพวกเขามีความประพฤติที่ดีแบบคริสเตียน ตัวอย่างเช่น ในประเทศโรมาเนีย ผู้ชายคนหนึ่งต้องโทษจำคุก 75 ปี ข้อหาปล้นทรัพย์ เขาได้เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และหลังจากนั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก ผลก็คือ เจ้าหน้าที่ในคุกได้มอบหมายให้เขาเข้าไปในเมืองเพื่อซื้อของสำหรับเรือนจำโดยไม่ต้องมีใครคุมตัว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความประพฤติที่ดีของเราทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ—1 ปต. 2:12
6, 7. พวกพี่น้องที่กรุงโรมแสดงยังไงว่าพวกเขารักเปาโลมาก?
6 เปาโลกับเพื่อนคงจะเดินประมาณ 50 กิโลเมตรจากเมืองโปทิโอลี ไปถึงเมืองคาปัวบนทางหลวงแอปเปียน ทางหลวงเส้นนี้จะพาพวกเขาไปถึงกรุงโรม ถนนนี้ส่วนใหญ่ปูด้วยหินภูเขาไฟก้อนใหญ่ ถ้ามองจากถนนที่มีชื่อเสียงสายนี้ก็จะเห็นทิวทัศน์ในแถบชนบทของอิตาลี นอกจากนั้น ในบางจุดของถนนสายนี้ก็ยังเห็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วย ถนนนี้ยังตัดผ่านที่ลุ่มชื้นแฉะที่เรียกว่าปอนตีเน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 60 กิโลเมตร และยังมีตลาดอัปปีอัสตั้งอยู่ที่นั่นด้วย ลูกาเขียนว่า เมื่อพวกพี่น้องในกรุงโรม “ได้ยินข่าว” บางคนเดินทางไกลมาถึงตลาด ส่วนคนอื่น ๆ คอยอยู่ที่บ้านสามโรงแรมซึ่งเป็นจุดแวะพักที่อยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 50 กิโลเมตร สิ่งที่พวกเขาทำแสดงให้เห็นว่าพวกเขารักเปาโลมากจริง ๆ—กจ. 28:15
7 ตลาดอัปปีอัสไม่ได้เป็นที่พักที่สะดวกสบายสำหรับนักเดินทางที่เหนื่อยล้า ฮอเรซกวีและนักเขียนชาวโรมันได้พูดถึงตลาดนี้ว่า “แออัดไปด้วยพวกลูกเรือและเจ้าของโรงแรมที่หยาบคาย” เขาเขียนว่า “น้ำที่นั่นแย่เอามาก ๆ” และเขาถึงกับไม่ยอมกินอาหารที่นั่นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องเจอกับความไม่สะดวกสบายแบบนี้ พวกพี่น้องจากกรุงโรมก็ยินดีไปคอยเปาโลกับเพื่อนที่นั่นเพื่อจะคุ้มกันพวกเขาในการเดินทางช่วงสุดท้าย
8. ทำไมเปาโลถึงขอบคุณพระเจ้าเมื่อ “เห็นพี่น้อง”?
8 บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พอเปาโลเห็นพี่น้องก็ขอบคุณพระเจ้าและมีกำลังใจ” (กจ. 28:15) แค่ได้เห็นหน้าพี่น้องที่รักก็ทำให้เขามีกำลังมากขึ้นและได้รับกำลังใจ บางคนอาจเป็นพี่น้องที่เปาโลรู้จักเป็นส่วนตัว แต่ทำไมเปาโลถึงขอบคุณพระเจ้า? เปาโลรู้ดีว่าความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวแบบนี้เป็นผลที่เกิดจากพลังของพระองค์ (กท. 5:22) ในทุกวันนี้ พลังบริสุทธิ์ก็กระตุ้นคริสเตียนให้เสียสละเพื่อกันและกัน และคอยให้กำลังใจคนที่ต้องการความช่วยเหลือ—1 ธส. 5:11, 14
9. เราจะแสดงน้ำใจแบบเดียวกับพี่น้องที่ไปรอพบเปาโลได้ยังไง?
9 ตัวอย่างเช่น พลังบริสุทธิ์กระตุ้นพี่น้องชายหญิงที่มีน้ำใจต้อนรับให้คอยดูแลผู้ดูแลหมวดและมิชชันนารีตอนที่พวกเขามาเยี่ยม หรือดูแลผู้รับใช้เต็มเวลาคนอื่น ๆ พี่น้องเหล่านี้ได้เสียสละอย่างมากเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวามากขึ้น เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันจะสนับสนุนการเยี่ยมของผู้ดูแลหมวดมากขึ้นได้ไหม ซึ่งอาจเป็นการแสดงน้ำใจต้อนรับเขากับภรรยา? ฉันจะวางแผนล่วงหน้าเพื่อจะทำงานรับใช้กับพวกเขาได้ไหม?’ คุณอาจได้รับพรอย่างมากเมื่อทำแบบนี้ ลองคิดดูสิว่าพี่น้องในกรุงโรมจะมีความสุขขนาดไหนตอนที่ฟังเปาโลกับเพื่อนเล่าประสบการณ์บางอย่างที่ช่วยพวกเขาให้มีความเชื่อมากขึ้น—กจ. 15:3, 4
“มีคนพูดต่อต้านนิกายนี้ทั่วไปหมด” (กิจการ 28:16-22)
10. สภาพการณ์ของเปาโลในกรุงโรมเป็นยังไง และเขาทำอะไรหลังจากไปถึงได้ไม่นาน?
10 พอเปาโลกับคนที่เดินทางกับเขามาถึงกรุงโรม “เปาโลได้รับอนุญาตให้พักอยู่ในบ้านส่วนตัวโดยมีทหารคนหนึ่งคอยเฝ้าไว้” (กจ. 28:16) เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ถูกคุมขังอยู่ในบ้านหนีไป เปาโลถูกล่ามโซ่ติดกับผู้คุม แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น เปาโลก็ยังประกาศต่อไป การถูกล่ามโซ่ไม่สามารถหยุดเขาจากการประกาศได้ ดังนั้น หลังจากพัก 3 วันเพื่อให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง เปาโลก็ได้เชิญพวกผู้นำของชาวยิวที่อยู่ในกรุงโรมมาประชุมกันเพื่อจะแนะนำตัวและประกาศกับพวกเขา
11, 12. เมื่อพูดกับชาวยิวที่กรุงโรม เปาโลพยายามทำอะไรเพื่อจะเอาชนะอคติที่พวกเขาอาจมี?
11 เปาโลบอกว่า “พี่น้องครับ ผมถูกจับในกรุงเยรูซาเล็มและถูกส่งตัวไปให้พวกโรมันเหมือนกับนักโทษ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้ทำอะไรผิดต่อคนร่วมชาติหรือต่อธรรมเนียมของบรรพบุรุษของพวกเราเลย เมื่อพวกโรมันสอบสวนผมแล้วก็จะปล่อยตัวผม เพราะไม่เห็นว่าผมมีความผิดที่สมควรตาย แต่พวกยิวไม่ยอม ผมจึงต้องร้องเรียนต่อซีซาร์ แต่ผมไม่ได้จะฟ้องคนร่วมชาติของผม”—กจ. 28:17-19
12 โดยเรียกผู้ฟังที่เป็นชาวยิวว่า “พี่น้องครับ” เปาโลพยายามหาจุดที่เห็นพ้องกันกับชาวยิว เพื่อจะเอาชนะอคติที่พวกเขาอาจมี (1 คร. 9:20) นอกจากนั้น เปาโลได้บอกว่าเขาไม่ได้มาที่กรุงโรมเพื่อจะฟ้องชาวยิวที่เป็นคนร่วมชาติของเขา แต่มาเพื่อร้องเรียนต่อซีซาร์ อย่างไรก็ตาม ชุมชนชาวยิวในโรมไม่ได้รู้เรื่องการร้องเรียนของเปาโลมาก่อน (กจ. 28:21) ทำไมดูเหมือนว่าชาวยิวในแคว้นยูเดียยังไม่ได้ส่งข่าวเรื่องนี้ถึงชาวยิวในกรุงโรม? หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “เรือที่เปาโลโดยสารมาคงต้องเป็นเรือลำแรก ๆ ที่มาถึงอิตาลีหลังฤดูหนาว และตัวแทนของพวกผู้นำชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มคงยังมาไม่ถึง รวมทั้งจดหมายเกี่ยวกับคดีนั้นด้วย”
13, 14. เปาโลเริ่มพูดถึงข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้ายังไง และเราจะเลียนแบบเขาได้ยังไง?
13 ตอนนี้เปาโลพูดถึงข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าโดยใช้คำพูดที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของชาวยิวที่มาหาเขา เปาโลบอกว่า “เพราะอย่างนี้แหละผมถึงขอพบและคุยกับพวกคุณ ที่ผมถูกล่ามโซ่อยู่นี้ก็เพราะความหวังของชาวอิสราเอล” (กจ. 28:20) ความหวังที่ประชาคมคริสเตียนประกาศคือความหวังเรื่องเมสสิยาห์และรัฐบาลของท่าน พวกผู้นำชาวยิวได้ตอบว่า “พวกเราอยากจะฟังจากปากคุณ เพราะเรารู้ว่ามีคนพูดต่อต้านนิกายนี้ทั่วไปหมด”—กจ. 28:22
14 เมื่อมีโอกาสที่จะประกาศข่าวดี เราสามารถเลียนแบบเปาโลได้โดยใช้คำพูดหรือคำถามที่กระตุ้นให้ผู้ฟังสนใจ เราสามารถพบข้อเสนอแนะที่ดีเยี่ยมได้ในหนังสือต่าง ๆ เช่น ชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม หนังสือการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า และหนังสือใส่ใจการอ่านและการสอนของคุณ คุณจะเป็นผู้สอนที่ดีขึ้นได้ถ้าคุณทำตามคำแนะนำจากหนังสือเหล่านี้
ประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วน—แบบอย่างสำหรับพวกเรา (กิจการ 28:23-29)
15. เปาโลใช้ 4 วิธีที่สำคัญอะไรบ้างในการประกาศ?
15 เปาโลเรียกชาวยิวให้มาหาเขาในอีกวันหนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มีคนมาหาเปาโลที่บ้านพักมากกว่าเดิม” เปาโลได้อธิบายพระคัมภีร์ให้พวกเขาฟัง “ตั้งแต่เช้าถึงเย็น และพูดโน้มน้าวให้พวกเขาเชื่อเรื่องพระเยซูโดยอ้างจากกฎหมายของโมเสสและจากหนังสือของพวกผู้พยากรณ์” (กจ. 28:23) เปาโลใช้ 4 วิธีสำคัญในการประกาศ วิธีแรก เขาให้ความสนใจกับเรื่องรัฐบาลพระเจ้า วิธีที่สอง เปาโลพยายามทำให้ผู้ฟังสนใจโดย “พูดโน้มน้าว” วิธีที่สาม เปาโลหาเหตุผลเรื่องในพระคัมภีร์กับพวกเขา วิธีที่สี่ เปาโลมีน้ำใจเสียสละ เขาประกาศ “ตั้งแต่เช้าถึงเย็น” นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเราจริง ๆ ผลเป็นยังไง? “บางคนเชื่อ” แต่ก็มีบางคนที่ไม่เชื่อ ลูกาบอกว่า เมื่อเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกัน พวกเขาก็ “เริ่มเดินออกไป”—กจ. 28:24, 25ก
16-18. ทำไมเปาโลถึงไม่แปลกใจเมื่อชาวยิวที่กรุงโรมไม่ยอมรับข่าวดี และเราควรรู้สึกยังไงเมื่อมีคนไม่ตอบรับข่าวดีที่เราประกาศ?
16 การที่ชาวยิวมีท่าทีที่ต่างออกไปไม่ได้ทำให้เปาโลแปลกใจ เขาเคยเห็นท่าทีแบบนี้มาก่อน และเรื่องนี้ก็มีการบอกล่วงหน้าในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล (กจ. 13:42-47; 18:5, 6; 19:8, 9) ดังนั้น เปาโลพูดกับคนที่ไม่ตอบรับซึ่งกำลังเดินออกไปว่า “พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าพูดไว้ถูกต้องเลยตอนที่ดลใจผู้พยากรณ์อิสยาห์ให้บอกกับบรรพบุรุษของพวกคุณว่า ‘ไปบอกชนชาตินี้ว่า “พวกคุณจะได้ยินแต่ไม่เข้าใจเลย และพวกคุณจะมองแต่ไม่เห็นอะไรเลย เพราะใจของชนชาตินี้ด้านชาไปแล้ว”’” (กจ. 28:25ข-27) คำภาษาเดิมที่ได้รับการแปลว่า “ด้านชาไปแล้ว” หมายถึงหัวใจที่ “หนาขึ้น” หรือ “อ้วนขึ้น” จนทำให้ข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไม่สามารถเข้าไปได้ (กจ. 28:27) น่าเศร้าจริง ๆ ที่ผู้คนมีท่าทีแบบนี้
17 ตอนท้าย เปาโลพูดกับชาวยิวที่ไม่มีความเชื่อเหล่านี้ว่า “คนต่างชาติ . . . จะรับฟังแน่ ๆ” พวกเขาจะไม่เหมือนผู้ฟังที่เป็นชาวยิว (กจ. 28:28; สด. 67:2; อสย. 11:10) ที่จริง เปาโลพูดแบบนี้ด้วยความมั่นใจ เพราะเขาเองก็ได้เห็นคนต่างชาติหลายคนตอบรับข่าวเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าแล้ว—กจ. 13:48; 14:27
18 เหมือนกับเปาโล เราไม่ต้องเสียใจเมื่อมีคนไม่ตอบรับข่าวดีที่เราประกาศ เพราะเรารู้ว่ามีไม่กี่คนที่จะเดินอยู่บนทางที่นำไปถึงชีวิต (มธ. 7:13, 14) แต่ถ้ามีคนเต็มใจตอบรับความจริงและเข้ามานมัสการพระยะโฮวาด้วยกันกับเรา เราก็มีความสุขและต้อนรับพวกเขาอย่างจริงใจ—ลก. 15:7
“ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” (กิจการ 28:30, 31)
19. เปาโลทำอะไรบ้างในช่วงที่เขาถูกกักขังอยู่ในบ้าน?
19 ตอนท้ายของบันทึกที่ลูกาเขียนในหนังสือกิจการเป็นข้อความที่ให้กำลังใจจริง ๆ เขาบอกว่า “เปาโลจึงอยู่ในบ้านเช่าของเขาตลอด 2 ปี และยินดีต้อนรับทุกคนที่มาหา เปาโลประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าให้พวกเขาฟังและสอนเรื่องพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายอย่างกล้าหาญและมั่นใจโดยไม่มีใครขัดขวาง” (กจ. 28:30, 31) เปาโลวางตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ในเรื่องน้ำใจต้อนรับ ความเชื่อ และความกระตือรือร้น
20, 21. ขอยกตัวอย่างบางคนที่ได้รับประโยชน์จากงานประกาศของเปาโลในกรุงโรม
20 โอเนสิมัสเป็นคนหนึ่งที่เปาโลต้อนรับ เขาเป็นทาสที่หลบหนีมาจากเมืองโคโลสี เปาโลได้ช่วยโอเนสิมัสให้เข้ามาเป็นคริสเตียน โอเนสิมัสได้มาเป็น “พี่น้องที่รักและซื่อสัตย์” ของเปาโล ที่จริง เปาโลได้พูดถึงโอเนสิมัสว่าเป็น “ลูกของผม ผมมาเป็นเหมือนพ่อของเขา” (คส. 4:9; ฟม. 10-12) โอเนสิมัสคงต้องทำให้เปาโลมีกำลังใจมากจริง ๆ a
21 คนอื่น ๆ ได้รับประโยชน์จากตัวอย่างที่ดีของเปาโลด้วยเหมือนกัน เขาเขียนถึงชาวฟีลิปปีว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นกับผมนั้นกลับทำให้ข่าวดียิ่งแพร่ออกไป ตอนนี้ เรื่องที่ผมถูกกักขังเพราะความเชื่อในพระคริสต์เป็นที่รู้กันทั่วในหมู่องครักษ์ของจักรพรรดิและคนอื่น ๆ ด้วย และพี่น้องส่วนใหญ่ที่รับใช้ผู้เป็นนายก็เข้มแข็งขึ้นเมื่อได้ข่าวเรื่องที่ผมถูกกักขัง พวกเขามีใจกล้ามากขึ้นและไม่กลัวที่จะประกาศคำสอนของพระเจ้า”—ฟป. 1:12-14
22. เปาโลใช้โอกาสในช่วงที่เขาถูกกักขังในกรุงโรมยังไง?
22 ถึงแม้เปาโลจะถูกกักขังในบ้านตอนที่เขาอยู่ในกรุงโรม แต่เปาโลก็ใช้โอกาสในช่วงนั้นเขียนจดหมายที่สำคัญหลายฉบับ ซึ่งต่อมาจดหมายเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกb จดหมายเหล่านั้นเป็นประโยชน์กับคริสเตียนในศตวรรษแรกที่เปาโลเขียนถึง เราในทุกวันนี้ก็ได้ประโยชน์จากจดหมายของเปาโล เพราะคำแนะนำที่ได้รับการดลใจนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนเหมือนกับในสมัยก่อน—2 ทธ. 3:16, 17
23, 24. เหมือนกับตัวอย่างของเปาโล คริสเตียนในทุกวันนี้ยังคงมีความสุขและประกาศต่อไปได้ยังไงทั้ง ๆ ที่ถูกจำคุกอย่างไม่ยุติธรรม?
23 ถึงแม้ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ในหนังสือกิจการ แต่สุดท้ายเปาโลก็ถูกปล่อยตัวหลังจากที่เขาถูกกักขังประมาณ 4 ปี เขาถูกกักขังประมาณ 2 ปีในเมืองซีซารียา และอีก 2 ปีในกรุงโรมc (กจ. 23:35; 24:27) แต่ถึงอย่างนั้น เปาโลก็ยังมีความสุขและประกาศต่อไป เขาทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรับใช้พระเจ้า ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน แม้พวกเขาจะถูกจำคุกอย่างไม่ยุติธรรมเนื่องจากความเชื่อของพวกเขา แต่พวกเขาก็ยังมีความสุขและประกาศต่อไป ให้เรามาดูตัวอย่างของอะดอลโฟด้วยกัน พี่น้องคนนี้ถูกจำคุกในสเปนเนื่องจากความเป็นกลางแบบคริสเตียน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่า “คุณทำให้พวกเราแปลกใจ เราได้ทำให้ชีวิตคุณยากลำบากตอนที่อยู่ในคุก แต่ยิ่งเราทำให้คุณลำบากมากเท่าไหร่ คุณก็ยังยิ้มและพูดดี ๆ กับเรามากเท่านั้น”
24 ต่อมา อะดอลโฟได้รับความไว้วางใจถึงขั้นที่ประตูห้องขังของเขาถูกเปิดทิ้งไว้ พวกทหารจะแวะมาเยี่ยมเพื่อถามเรื่องคัมภีร์ไบเบิล ทหารคนหนึ่งถึงกับเข้าไปในห้องขังของอะดอลโฟเพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิล และให้อะดอลโฟคอยเฝ้าดูว่าพวกผู้คุมไม่เห็นเขา การทำแบบนี้เป็นเหมือนให้นักโทษมาเป็น “ผู้คุม” ทหารซะเอง ขอให้ตัวอย่างที่ดีของพยานฯที่ซื่อสัตย์เหล่านี้กระตุ้นเราให้ “มีใจกล้ามากขึ้นและไม่กลัวที่จะประกาศคำสอนของพระเจ้า” ไม่ว่าเราจะอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบากแค่ไหน
25, 26. ภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี เปาโลได้เห็นคำพยากรณ์ที่น่าทึ่งอะไรเกิดขึ้นจริง และเราได้เห็นว่าคำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นจริงยังไงในทุกวันนี้?
25 หนังสือกิจการช่วยเราให้เห็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับคริสเตียนที่ทำทุกอย่างที่เขาทำได้เพื่อประกาศข่าวดี และหนังสือนี้ยังลงท้ายด้วยตัวอย่างที่ดีของเปาโลผู้ซึ่ง “ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” กับทุกคนที่มาหาเขาตอนที่ถูกกักขัง ในบทแรกของหนังสือกิจการ เราได้อ่านเกี่ยวกับงานมอบหมายที่พระเยซูให้สาวกทุกคน ที่นั่นบอกว่า “พวกคุณจะได้รับพลังจากพระเจ้า พลังบริสุทธิ์นั้นจะอยู่กับพวกคุณ และพวกคุณจะเป็นพยานของผมในกรุงเยรูซาเล็ม และทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นสะมาเรีย และจนถึงสุดขอบโลก” (กจ. 1:8) ภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี ข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าก็ “มีการประกาศไปทุกแห่งทั่วใต้ฟ้า”d (คส. 1:23) นี่เป็นหลักฐานที่ช่วยให้เราเห็นชัดเจนถึงสิ่งที่พลังของพระเจ้าสามารถทำได้—ศคย. 4:6
26 ในทุกวันนี้ พลังบริสุทธิ์เดียวกันนี้ก็ให้กำลังกับพี่น้องผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่ และยังให้กำลังกับ “แกะอื่น” ด้วย เพื่อพวกเขาจะประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อ ๆ ไปในมากกว่า 240 ดินแดน (ยน. 10:16; กจ. 28:23) คุณกำลังทำงานนี้อย่างเต็มที่ไหม?
a เปาโลอยากให้โอเนสิมัสอยู่กับเขาต่อไป แต่นี่คงจะฝ่าฝืนกฎหมายโรมัน และเป็นการละเมิดสิทธิของฟีเลโมนที่เป็นนายของโอเนสิมัสซึ่งเป็นคริสเตียน ดังนั้น โอเนสิมัสจึงกลับไปหาฟีเลโมน เขาเอาจดหมายจากเปาโลไปด้วย ในจดหมายฉบับนั้น เปาโลสนับสนุนให้ฟีเลโมนยินดีต้อนรับทาสของเขา เพราะตอนนี้โอเนสิมัสได้มารับใช้พระยะโฮวาและเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว—ฟม. 13-19
c ดูกรอบ “ชีวิตของเปาโลหลังจากปี ค.ศ. 61”