แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 5-11 พฤศจิกายน
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | ยอห์น 20-21
“คุณรักผมมากกว่าปลาพวกนี้ไหม?”
(ยอห์น 21:15-19) เมื่อพวกเขากินอาหารเช้าแล้ว พระเยซูถามซีโมนเปโตรว่า “ซีโมนลูกยอห์น คุณรักผมมากกว่าปลาพวกนี้ไหม?” เขาตอบว่า “ครับนาย ท่านก็รู้ว่าผมรักท่าน” พระเยซูสั่งเขาว่า “ให้คุณเลี้ยงลูกแกะของผม” 16 พระเยซูถามเปโตรครั้งที่สองว่า “ซีโมนลูกยอห์น คุณรักผมไหม?” เขาตอบว่า “ครับนาย ท่านก็รู้ว่าผมรักท่าน” พระเยซูสั่งเขาว่า “ให้คุณดูแลแกะตัวเล็ก ๆ ของผม” 17 พระเยซูถามเปโตรครั้งที่สามว่า “ซีโมนลูกยอห์น คุณรักผมไหม?” เปโตรรู้สึกทุกข์ใจเพราะพระเยซูถามเขาครั้งที่สามว่า “คุณรักผมไหม?” เขาจึงตอบว่า “นายครับ ท่านรู้ทุกอย่างอยู่แล้ว ท่านก็รู้ว่าผมรักท่าน” พระเยซูสั่งเขาว่า “ให้คุณเลี้ยงแกะตัวเล็ก ๆ ของผม 18 ผมจะบอกให้รู้ว่า ตอนที่ยังหนุ่ม คุณแต่งตัวและเดินไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ แต่ตอนที่คุณแก่ คุณจะยื่นมือออก แล้วคนอื่นจะแต่งตัวให้และพาคุณไปในที่ที่คุณไม่อยากไป” 19 พระเยซูพูดอย่างนี้เพื่อให้รู้ว่าเปโตรจะตายแบบไหนเพื่อพระเจ้าซึ่งจะทำให้พระองค์ได้รับการยกย่อง เมื่อพูดจบพระเยซูก็บอกเปโตรว่า “ให้คุณติดตามผมต่อ ๆ ไป”
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ยน 21:15, 17
พระเยซูถามซีโมนเปโตร การคุยกันระหว่างพระเยซูกับเปโตรครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เปโตรปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้ง พระเยซูถามคำถามที่ทำให้รู้ว่าเปโตรรู้สึกอย่างไร ท่านถามเขาถึง 3 ครั้งจนทำให้เขา “รู้สึกทุกข์ใจ” (ยน 21:17) บันทึกของยอห์นที่ ยน 21:15-17 ใช้คำกริยาภาษากรีกสองคำที่แตกต่างกันคือ a·ga·paʹo (อะกาปาโอ) และ phi·leʹo (ฟีเลโอ) ในภาษาไทยทั้งสองคำนี้แปลว่า รัก พระเยซูถามเปโตร 3 ครั้งว่า “คุณรักผมไหม?” และทุกครั้งเปโตรก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่าเขารักพระเยซู และแต่ละครั้งพระเยซูเน้นว่าความรักนั้นควรกระตุ้นเปโตรให้เลี้ยงและ “ดูแล” สาวกของท่านทางความเชื่อ ในที่นี้มีการเรียกพวกเขาว่า แกะของพระเยซู หรือ “แกะตัวเล็ก ๆ” (ยน 21:16, 17; 1ปต 5:1-3) พระเยซูให้โอกาสเปโตรยืนยันความรักที่มีต่อท่านถึง 3 ครั้ง และท่านก็มอบหมายให้เขาดูแลแกะหรือสาวกของท่าน การที่พระเยซูทำอย่างนี้ทำให้เห็นชัดว่าท่านให้อภัยเปโตรที่ปฏิเสธท่าน 3 ครั้ง
คุณรักผมมากกว่าปลาพวกนี้ไหม? ตามหลักไวยากรณ์ วลีที่ว่า “มากกว่าปลาพวกนี้” สามารถเข้าใจได้หลายแบบ นักวิชาการบางคนชอบให้แปลประโยคนี้ว่า “คุณรักผมมากกว่าสาวกคนอื่นไหม?” หรือ “คุณรักผมมากกว่าสาวกคนอื่นรักผมไหม?” อย่างไรก็ตาม ความหมายที่น่าจะถูกต้องคือ “คุณรักผมมากกว่าสิ่งเหล่านี้ไหม?” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือปลาที่พวกเขาจับมาได้ หรือ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจับปลา ดังนั้น แนวคิดโดยรวมของข้อนี้น่าจะเป็น ‘คุณรักผมมากกว่าสมบัติวัตถุ หรือ ความต้องการของคุณเองไหม? ถ้าคุณรักผม ก็ให้เลี้ยงลูกแกะของผม’ คำถามนี้เหมาะมากถ้าคิดถึงอดีตของเปโตร แม้เขาจะเป็นหนึ่งในสาวกคนแรก ๆ ของพระเยซู (ยน 1:35-42) แต่เขาก็ไม่ได้ติดตามพระเยซูไปตลอดในทันที เพราะเขากลับไปจับปลา หลายเดือนต่อมา พระเยซูเรียกเปโตรให้ติดตามท่านและทิ้งธุรกิจที่มีความมั่นคง “ไปหาคนแทนที่จะหาปลา” (มธ 4:18-20; ลก 5:1-11) และอีกครั้งหลังจากที่พระเยซูเสียชีวิตได้ไม่นาน เปโตรก็บอกว่าเขาจะไปจับปลาแล้วอัครสาวกคนอื่น ๆ ก็ไปกับเขาด้วย (ยน 21:2, 3) ดังนั้น ดูเหมือนว่าพระเยซูกำลังเน้นกับเปโตรว่า จำเป็นที่เขาจะต้องตัดสินใจว่าจะให้อะไรสำคัญที่สุดในชีวิต อาชีพจับปลาและธุรกิจของเขาซึ่งเปรียบได้กับปลาพวกนี้ที่อยู่ตรงหน้า หรือจะทำงานเลี้ยงลูกแกะหรือสาวกของพระเยซูทางความเชื่อ—ยน 21:4-8
ครั้งที่สาม เปโตรปฏิเสธพระเยซูนายของเขา 3 ครั้ง แต่ท่านก็ให้โอกาสเปโตรยืนยันความรู้สึกของเขา 3 ครั้งเช่นกัน ตอนที่เปโตรพูดถึงความรู้สึกของเขา พระเยซูบอกเขาว่า ให้แสดงความรักออกมาโดยให้งานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต ดังนั้น เปโตรรวมทั้งพี่น้องชายที่ทำหน้าที่รับผิดชอบคนอื่น ๆ ได้เลี้ยง ให้กำลังใจ และดูแลฝูงแกะของพระคริสต์ซึ่งก็คือสาวกที่ซื่อสัตย์ แม้พวกเขาเป็นผู้ถูกเจิม แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูทางความเชื่อ—ลก 22:32
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
(ยอห์น 20:17) พระเยซูบอกมารีย์ว่า “อย่ารั้งผมไว้เลย ผมยังไม่ได้ขึ้นไปหาพ่อของผม ไปบอกพี่น้องของผมว่า ‘ผมกำลังจะขึ้นไปหาพ่อของผมซึ่งเป็นพ่อของพวกคุณ และไปหาพระเจ้าของผมซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ’”
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ยน 20:17
อย่ารั้งผมไว้เลย คำกริยาภาษากรีก haʹpto·ma (อัพโตเม) อาจแปลว่า “จับ” หรือ “รั้งหรือหน่วงเหนี่ยว” ก็ได้ พระคัมภีร์บางฉบับแปลคำพูดของพระเยซูว่า “อย่าจับผม” อย่างไรก็ตาม พระเยซูไม่ได้ต่อว่ามารีย์ มักดาลา ที่เพียงแค่จับหรือรั้งท่านไว้ เพราะท่านไม่ได้ต่อว่าผู้หญิงคนอื่นที่ “จับเท้าท่าน” ตอนที่พวกเธอเห็นท่านหลังจากถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย (มธ 28:9) ดูเหมือนว่ามารีย์ มักดาลา กลัวว่าพระเยซูจะกลับขึ้นไปสวรรค์ และเธออยากจะอยู่กับนายของเธอ จึงทำให้เธอรั้งพระเยซูไว้ไม่ให้ท่านไป พระเยซูทำให้เธอมั่นใจว่าท่านยังไม่ไปไหน โดยบอกเธอว่าอย่ารั้งท่านไว้เลย แต่ให้ไปหาสาวกคนอื่น ๆ และประกาศข่าวเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน
(ยอห์น 20:28) โธมัสอุทานว่า “นายของผมและพระเจ้าของผม!”
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ยน 20:28
นายของผมและพระเจ้าของผม! นักวิชาการบางคนมองว่าวลีนี้เป็นคำอุทานด้วยความตื่นเต้นดีใจที่ถึงแม้จะพูดกับพระเยซู แต่จริง ๆ แล้วเป็นการพูดกับพระเจ้าพ่อของท่าน ส่วนคนอื่นอ้างว่าวลีนี้ในภาษากรีกใช้พูดกับพระเยซู แม้จะเป็นอย่างนั้น เพื่อจะเข้าใจจุดมุ่งหมายของการใช้วลี “นายของผมและพระเจ้าของผม” เราน่าจะดูจากท้องเรื่องทั้งหมดของพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ เนื่องจากมีการบันทึกว่าก่อนหน้านี้พระเยซูส่งข่าวไปถึงสาวกของท่านว่า “ผมกำลังจะขึ้นไปหาพ่อของผมซึ่งเป็นพ่อของพวกคุณ และไปหาพระเจ้าของผมซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ” ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่า โธมัสคิดว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด นอกจากนั้น โธมัสเคยได้ยินพระเยซูอธิษฐานถึง “พ่อ” ของท่านโดยเรียกว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” (ยน 17:1-3) ดังนั้น ที่โธมัสเรียกพระเยซูว่า “พระเจ้าของผม” อาจเพราะเหตุผลต่อไปนี้ (1) เขามองว่าพระเยซูเป็น “พระเจ้าองค์หนึ่ง” แต่ไม่ใช่พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด (ข้อมูลสำหรับศึกษา ยน 1:1) หรือ (2) เขาอาจจะเรียกพระเยซูตามแบบที่ผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระเจ้าเรียกทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวของพระยะโฮวาตามบันทึกในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู โธมัสน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล ที่หลายคนรวมทั้งผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลพูดกับทูตสวรรค์ที่เป็นผู้ส่งข่าวของพระเจ้าเหมือนกับว่าพูดอยู่กับพระยะโฮวาพระเจ้า (เทียบกับ ปฐก 16:7-11, 13; 18:1-5, 22-33; 32:24-30; วนฉ 6:11-15; 13:20-22) ดังนั้น โธมัสอาจเรียกพระเยซูว่า “พระเจ้าของผม” ในแง่นี้ ซึ่งก็คือยอมรับว่าพระเยซูเป็นตัวแทนและเป็นโฆษกของพระเจ้าเที่ยงแท้
บางคนบอกว่า คำภาษากรีกที่นำหน้าคำว่า “นาย” และ “พระเจ้า” ชี้ถึงพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในท้องเรื่องนี้คำภาษากรีกที่ใช้นำหน้าอาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ ดังนั้น คำที่นำหน้าคำว่า “นาย” และ “พระเจ้า” ในข้อนี้อาจไม่ได้ช่วยให้รู้ชัดเจนว่าโทมัสคิดอย่างไรตอนที่พูดว่า “พระเจ้าของผม”
วันที่ 12-18 พฤศจิกายน
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | กิจการ 1-3
“พระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์กับประชาคมคริสเตียน”
(กิจการ 2:42-47) พวกเขาตั้งใจเรียนสิ่งที่พวกอัครสาวกสอน มารวมกลุ่มกัน กินอาหารด้วยกัน และอธิษฐานด้วยกันเสมอ 43 พวกอัครสาวกทำการอัศจรรย์และแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่าง ทุกคนที่เห็นก็เกรงกลัวพระเจ้า 44 คนที่เข้ามาเป็นสาวกมาอยู่ด้วยกันและเอาของที่เขามีมารวมกันเป็นกองกลาง 45 พวกเขาขายข้าวของและที่ดิน แล้วแบ่งให้ทุกคนตามความจำเป็น 46 พวกเขาไปประชุมกันที่วิหารทุก ๆ วัน กินอาหารด้วยกันที่บ้านของพี่น้อง และเต็มใจแบ่งอาหารกินกันอย่างมีความสุข 47 พวกเขายกย่องสรรเสริญพระเจ้าและเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป และพระยะโฮวาทำให้มีคนเข้ามาเชื่อและรับความรอดเพิ่มขึ้นทุกวัน
ห 86-E 12/1 น. 29 ว. 4-5, 7
การบริจาคที่ทำให้มีความสุข
วันแรกที่มีการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนในปี ค.ศ. 33 คนที่เพิ่งเข้ามาเป็นคริสเตียนโดยการรับบัพติศมา 3,000 คน ‘แบ่งปันสิ่งของให้กัน กินอาหารด้วยกัน และอธิษฐานด้วยกันเสมอ’ ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อช่วยให้ความเชื่อใหม่ของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น เพราะพวกเขาสามารถ “ตั้งใจเรียนสิ่งที่พวกอัครสาวกสอน”—กิจการ 2:41, 42
คนยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวมาที่กรุงเยรูซาเล็มโดยวางแผนว่าจะอยู่แค่ช่วงเทศกาลเพ็นเทคอสต์ แต่คนที่เข้ามาเป็นคริสเตียนอยากจะอยู่นานกว่านั้นเพื่อเรียนรู้และทำให้ความเชื่อใหม่ของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น นี่ทำให้มีปัญหาเรื่องอาหารและที่พัก บางคนมีเงินไม่พอแต่บางคนก็มีเงินเหลือ ดังนั้น จึงมีการเอาเงินมารวมกันเป็นกองกลางชั่วคราว และมีการบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยคนที่มีความจำเป็น—กิจการ 2:43-47
การขายที่ดินและการแบ่งปันสิ่งจำเป็นทั้งหมดมาจากความสมัครใจ ไม่มีใครถูกบังคับให้ขายหรือบริจาค และไม่ใช่การสนับสนุนให้ทุกคนกลายมาเป็นคนจน แนวคิดนี้ไม่ใช่เพื่อให้พี่น้องที่ร่ำรวยขายทุกสิ่งที่เขามีแล้วกลายมาเป็นคนจน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พี่น้องคริสเตียนทำด้วยความรักตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาขายที่ดินและบริจาคเงินที่ได้มาเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลของพระเจ้าก้าวหน้าต่อไป—เทียบกับ 2 โครินธ์ 8:12-15
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
(กิจการ 3:15) พวกคุณฆ่าผู้นำคนสำคัญที่ให้ชีวิต แต่พระเจ้าปลุกท่านให้ฟื้นขึ้นจากตาย เราเป็นพยานรู้เห็นเรื่องนี้
it-2-E น. 61 ว. 1
พระเยซูคริสต์
“ผู้นำคนสำคัญที่ให้ชีวิต” การที่พระเยซูสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์แบบเป็นเครื่องบูชา เป็นการแสดงถึงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้เป็นพ่อในสวรรค์ นี่ทำให้เป็นไปได้ที่สาวกบางคนของพระคริสต์จะร่วมปกครองกับท่านในสวรรค์ และทำให้เป็นไปได้ที่มนุษย์บนโลกจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลของพระคริสต์ (มธ 6:10; ยน 3:16; อฟ 1:7; ฮบ 2:5) ดังนั้น พระเยซูจึงกลายมาเป็น “ผู้นำคนสำคัญที่ให้ชีวิต” กับมนุษย์ทุกคน (กจ 3:15) คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้มีความหมายพื้นฐานว่า “ผู้นำคนหลัก” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กับโมเสสในฐานะ “ผู้นำ” ของชาติอิสราเอล และมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า “ผู้นำคนสำคัญ”
สิ่งที่คุณจะนำไปใช้ในงานประกาศ
บรรยาย
it-1-E น. 129 ว. 2-3
เนื่องจากยูดาสอิสคาริโอททรยศและตายอย่างคนที่ไม่ซื่อสัตย์ จึงเหลืออัครสาวกเพียง 11 คน และในช่วง 40 วันนับจากตอนที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตายจนถึงตอนที่ท่านกลับไปสวรรค์ ท่านก็ไม่ได้แต่งตั้งใครมาแทนที่เขา แต่ช่วงใดช่วงหนึ่งใน 10 วันหลังจากที่พระเยซูกลับไปสวรรค์และก่อนวันเพ็นเทคอสต์มีการพิจารณาว่าจำเป็นต้องเลือก 1 คนมาแทนยูดาส ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะเขาตายแต่เพราะเขาทรยศอย่างชั่วช้า เหมือนกับที่เปโตรชี้ให้เห็นเรื่องนี้โดยอ้างถึงพระคัมภีร์ (กจ 1:15-22; สด 69:25; เทียบกับ วว 3:11) ดังนั้น ในทางกลับกัน ตอนที่ยากอบอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ถูกฆ่า ไม่มีบันทึกว่าจำเป็นต้องแต่งตั้งใครมาแทนตำแหน่งอัครสาวกของเขา—กจ 12:2
เห็นได้ชัดจากคำพูดของเปโตรว่าคนที่จะมาเป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้ เขาต้องเคยคุยกับพระเยซูเป็นส่วนตัว เคยเห็นงานรับใช้ การอัศจรรย์ และการฟื้นขึ้นจากตายของท่านกับตา เมื่อคิดถึงคุณสมบัติเหล่านี้ การแต่งตั้งอัครสาวกอาจเป็นไปไม่ได้เลยถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเกินไป นอกจากว่าพระเจ้าจะแทรกแซงเพื่อทำให้คนนั้นมีคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นก่อนวันเพ็นเทคอสต์ มีผู้ชายหลายคนที่มีคุณสมบัติแต่มี 2 คนที่ถูกเสนอชื่อว่าเหมาะสมที่จะมาแทนยูดาสคนทรยศ และเมื่อคิดถึงสุภาษิต 16:33 เราก็รู้ว่าต้องใช้วิธีจับฉลาก แล้วมัทธีอัสก็ถูกเลือก แล้วหลังจากนั้น “เขาจึงถูกนับเป็นอัครสาวกรวมเข้ากับอัครสาวกอีก 11 คน” (กจ 1:23-26) ดังนั้น เขาจึงเป็นหนึ่งใน “อัครสาวก 12 คน” ที่ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสาวกที่พูดภาษากรีก (กจ 6:1, 2) และเห็นได้ชัดว่า เปาโลรวมมัทธีอัสอยู่ในกลุ่ม “อัครสาวก 12 คน” ตอนที่เขาพูดถึงการปรากฏตัวของพระเยซูหลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตายใน 1 โครินธ์ 15:4-8 ดังนั้น เมื่อถึงวันเพ็นเทคอสต์จึงมีอัครสาวก 12 คนเป็นฐานรากในการก่อตั้งอิสราเอลของพระเจ้า
วันที่ 19-25 พฤศจิกายน
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | กิจการ 4-5
“พวกเขาประกาศคำสอนของพระองค์ต่อไปอย่างกล้าหาญ”
(กิจการ 4:23-31) เมื่อทั้งสองคนถูกปล่อยตัวแล้วก็ไปหาเพื่อนสาวก และเล่าว่าพวกปุโรหิตใหญ่กับพวกผู้นำชาวยิวพูดอะไรกับเขาบ้าง 24 พอได้ยินอย่างนั้น พวกเขาจึงพร้อมใจกันอธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด พระองค์เป็นผู้สร้างท้องฟ้า โลก ทะเล และทุกสิ่งในที่เหล่านั้น 25 พระองค์ใช้พลังบริสุทธิ์พูดผ่านทางดาวิดผู้รับใช้ของพระองค์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกเราว่า ‘ทำไมประเทศต่าง ๆ ถึงชุลมุนวุ่นวายกันนัก? ทำไมผู้คนจึงคิดวางแผนแต่เรื่องที่ไม่มีประโยชน์? 26 พวกกษัตริย์ในโลกตั้งตัวเป็นศัตรู และพวกผู้นำรวมหัวกันต่อต้านพระยะโฮวาและผู้ถูกเจิมของพระองค์’ 27 แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทั้งเฮโรดและปอนทิอัสปีลาต รวมทั้งคนต่างชาติและคนอิสราเอลได้รวมตัวกันในเมืองนี้ เพื่อต่อต้านผู้รับใช้ที่บริสุทธิ์ของพระองค์ คือพระเยซูผู้ที่พระองค์เจิมไว้ 28 พวกเขาทำอย่างที่พระองค์บอกล่วงหน้า สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะพระองค์มีอำนาจและเพราะพระองค์ประสงค์ 29 พระยะโฮวา ดูสิว่าพวกเขากำลังข่มขู่พวกเรา ขอช่วยพวกเราที่เป็นทาสของพระองค์ให้กล้าประกาศคำสอนของพระองค์ต่อไป 30 และขอพระองค์ยื่นมือออกรักษาโรคและให้มีการอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ต่อไปในนามของพระเยซูผู้รับใช้ที่บริสุทธิ์ของพระองค์” 31 เมื่อพวกเขาอธิษฐานอ้อนวอนเสร็จแล้ว ที่ที่พวกเขาประชุมกันก็สั่นสะเทือน พวกเขาทุกคนเต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าและประกาศคำสอนของพระองค์ต่อไปอย่างกล้าหาญ
it-1-E น. 128 ว. 3
อัครสาวก
กิจกรรมของประชาคมคริสเตียน การที่พระเจ้าเทพลังบริสุทธิ์ลงเหนือพวกเขาในวันเพ็นเทคอสต์ทำให้พวกอัครสาวกมีกำลังใจและเข้มแข็งขึ้นมาก เราเห็นได้ชัดจากห้าบทแรกของหนังสือกิจการของอัครสาวกว่าพวกเขาไม่กลัว แต่มีความกล้าหาญในการประกาศข่าวดี และประกาศเรื่องที่พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นจากตายแม้จะถูกขังคุก ถูกเฆี่ยนตี และถูกขู่ฆ่าจากพวกหัวหน้าประชาชน ในช่วงแรก ๆ หลังวันเพ็นเทคอสต์ ภายใต้การชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ พวกอัครสาวกนำหน้าอย่างกระตือรือร้นและกล้าหาญ นี่ทำให้ประชาคมคริสเตียนแผ่ขยายไปอย่างมาก (กจ 2:41; 4:4) ในช่วงแรก งานรับใช้ของพวกเขาอยู่แค่ในกรุงเยรูซาเล็ม แต่หลังจากนั้นก็ขยายไปที่สะมาเรีย และไม่นานก็ไปทั่วทุกที่ที่ผู้คนรู้จักกันในสมัยนั้น—กจ 5:42; 6:7; 8:5-17, 25; 1:8
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
(กิจการ 4:11) พระเยซูผู้นี้เป็น ‘หินที่พวกคุณซึ่งเป็นช่างก่อสร้างถือว่าไม่มีค่า หินก้อนนี้กลายมาเป็นหินหัวมุมหลัก’
it-1-E น. 514 ว. 4
หินหัวมุม
สดุดี 118:22 บอกให้รู้ว่า หินที่ช่างก่อสร้างทิ้งไปแล้วกลายมาเป็นหิน “หัวมุม” (ภาษาฮีบรูคือ roʼsh pin·nahʹ รอชพินนาห์) พระเยซูอ้างถึงข้อนี้และบอกว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงตัวท่านเองที่เป็น “หินหัวมุมหลัก” (ภาษากรีกคือ ke·pha·leʹ go·niʹas แกฟาเลโกนีอัส, หินหัวมุม) (มธ 21:42; มก 12:10, 11; ลก 20:17) เหมือนกับหินก้อนบนสุดของอาคารที่เห็นได้ชัดเจน พระเยซูคริสต์ก็เป็นหินที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ของประชาคมคริสเตียนแห่งผู้ถูกเจิม ซึ่งเปรียบเหมือนวิหารโดยนัย เปโตรพูดถึงสดุดี 118:22 ว่าหมายถึงพระคริสต์เช่นกัน เขาบอกว่า ท่านเป็น “หิน” ที่ผู้คนปฏิเสธ แต่พระเจ้าเลือกท่านให้เป็น “หินหัวมุมหลัก”—กจ 4:8-12; ดู 1ปต 2:4-7 ด้วย
พก 7/12-E น. 5
ช่วยเหลือกัน
ถ้ามีประชาคมหรือกลุ่มภาษาไหนต้องการความช่วยเหลือเพื่อจะหาคนที่พูดภาษาของพวกเขา ผู้ดูแลการรับใช้สามารถติดต่อประชาคมภาษาอื่นที่อยู่ใกล้ๆ ดีที่สุดที่จะติดต่อประชาคมที่ไม่ไกลเกินไป หรือประชาคมที่ในเขตมีคนพูดภาษาของเขาค่อนข้างมาก ประชาคมที่ถูกขอให้ช่วยก็สามารถบอกผู้ประกาศว่า ถ้าเจอคนที่พูดภาษานั้นให้เขียนที่อยู่และส่งให้ผู้ดูแลการรับใช้ เพื่อจะเอาไปให้ประชาคมหรือกลุ่มภาษาที่ขอความช่วยเหลือ ผู้ดูแลการรับใช้ของประชาคมที่เกี่ยวข้องควรตกลงกันอย่างเป็นระบบว่า จะทำงานในเขตที่มีหลายภาษาและช่วยผู้สนใจให้ไปที่ประชาคมหรือกลุ่มภาษาที่เหมาะสมอย่างไร
ถ้าผู้ประกาศเจอคนที่พูดภาษานั้น และเขาแสดงความสนใจจริงๆ (หรือคนหูหนวก) พวกเขาควรกรอกใบโปรดติดตาม (S-43) ทันที และส่งให้เลขาธิการของประชาคม นี่จะช่วยให้คนนั้นได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว