“ข้อเตือนใจของพระองค์เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชอบ”
“สิ่งสารพัตรที่เขียนไว้แล้วคราวก่อนนั้นก็ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย.”—โรม 15:4.
1. พระยะโฮวาทรงให้ข้อเตือนใจแก่เราอย่างไร และเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องได้รับ?
พระยะโฮวาทรงจัดให้มีข้อเตือนใจสำหรับประชาชนของพระองค์เพื่อช่วยพวกเขารับมือกับความกดดันในสมัยที่ยุ่งยากลำบากนี้. ข้อเตือนใจบางอย่างปรากฏให้เห็นระหว่างที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว ส่วนข้อเตือนใจอื่น ๆ อาจปรากฏในรูปข้อมูลหรือความเห็นซึ่งกล่าวในที่ประชุมคริสเตียน. สิ่งที่เราอ่านหรือได้ยินในโอกาสต่าง ๆ ดังกล่าวส่วนมากไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา. เรามักจะเคยพิจารณาข้อมูลคล้าย ๆ กันนั้นมาก่อนแล้ว. แต่เนื่องจากเรามีแนวโน้มที่จะลืม เราจึงจำเป็นต้องฟื้นความจำอยู่เรื่อย ๆ เกี่ยวกับพระประสงค์, กฎหมาย, และคำชี้นำของพระยะโฮวา. เราควรหยั่งรู้ค่าข้อเตือนใจของพระเจ้า. ข้อเตือนใจเหล่านี้ฟื้นน้ำใจของเราขึ้นใหม่โดยช่วยเราให้จดจ่ออยู่กับเหตุผลที่กระตุ้นเราให้รับเอาแนวทางชีวิตที่สอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญขับร้องบทเพลงถึงพระยะโฮวาดังนี้: “ข้อเตือนใจของพระองค์เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชอบ.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:24, ล.ม.
2, 3. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงรักษาเรื่องราวชีวิตของบุคคลในคัมภีร์ไบเบิลไว้จนถึงสมัยของเรา? (ข) เรื่องไหนจากพระคัมภีร์ที่เราจะพิจารณากันในบทความนี้?
2 แม้ว่าเขียนมาแล้วหลายศตวรรษ พระคำของพระเจ้ามีพลัง. (เฮ็บราย 4:12) พระคำของพระเจ้าเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของบุคคลในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. แม้ว่าธรรมเนียมและมุมมองต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่สมัยคัมภีร์ไบเบิล แต่บ่อยครั้งปัญหาที่เราเผชิญก็คล้าย ๆ กับที่เคยมีในสมัยโน้น. เรื่องราวหลายเรื่องซึ่งเก็บรักษาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อประโยชน์ของเราให้ตัวอย่างที่จับใจของผู้คนที่รักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์แม้เผชิญสถานการณ์เลวร้าย. เรื่องอื่น ๆ ชี้ชวนให้สังเกตว่าการกระทำแบบไหนที่พระเจ้าทรงเกลียดชัง. พระยะโฮวาโปรดให้มีประวัติชีวิตของบุคคลเหล่านี้ ทั้งที่ดีและไม่ดี บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้เป็นข้อเตือนใจ. เป็นดังที่อัครสาวกเปาโลได้เขียนไว้ที่ว่า “สิ่งสารพัตรที่เขียนไว้แล้วคราวก่อนนั้นก็ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย เพื่อเราทั้งหลายจะได้มีความหวังโดยความเพียรและความชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น.”—โรม 15:4.
3 ให้เราเพ่งความสนใจไปที่สามเรื่องจากพระคัมภีร์: เรื่องการปฏิบัติของดาวิดต่อซาอูล, เรื่องของอะนาเนียกับสัปไฟเร, และเรื่องการปฏิบัติของโยเซฟต่อภรรยาโพติฟา. เรื่องเหล่านี้แต่ละเรื่องสอนบทเรียนที่มีคุณค่าแก่เรา.
ภักดีต่อการจัดเตรียมของพระเจ้า
4, 5. (ก) สถานการณ์ที่เกี่ยวกับกษัตริย์ซาอูลและดาวิดเป็นเช่นไร? (ข) ดาวิดแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเป็นปฏิปักษ์ของซาอูล?
4 กษัตริย์ซาอูลแสดงตัวไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและไม่สมควรปกครองประชาชนของพระองค์อีกต่อไป. ดังนั้น พระเจ้าทรงปฏิเสธท่านและทรงบัญชาผู้พยากรณ์ซามูเอลให้เจิมดาวิดเป็นกษัตริย์ของชาติอิสราเอลในวันข้างหน้า. เมื่อดาวิดแสดงให้เห็นพรสวรรค์ในฐานะนักรบและได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากผู้คน ซาอูลเริ่มมองดาวิดเป็นคู่แข่ง. ซาอูลพยายามกำจัดดาวิดครั้งแล้วครั้งเล่า. ที่ดาวิดรอดชีวิตมาได้ในแต่ละครั้งนั้นเป็นเพราะพระยะโฮวาทรงอยู่กับท่าน.—1 ซามูเอล 18:6-12, 25; 19:10, 11.
5 ดาวิดถูกบีบให้ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยอยู่หลายปี. เมื่อมีโอกาสจะฆ่าซาอูล คนของดาวิดที่ไปด้วยกันกระตุ้นท่านให้ลงมือ โดยกล่าวว่าพระยะโฮวาได้มอบศัตรูของท่านไว้ในมือท่านแล้ว. ถึงกระนั้น ดาวิดก็ไม่ยอมทำ. ความภักดีของท่านต่อพระยะโฮวาและความนับถือต่อตำแหน่งของซาอูลผู้อยู่ในฐานะกษัตริย์แห่งประชาชนของพระเจ้าซึ่งได้รับการเจิมกระตุ้นท่านให้ทำแบบนี้. พระยะโฮวาเป็นผู้แต่งตั้งซาอูลให้เป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอลมิใช่หรือ? พระยะโฮวาเองจะถอดเขาออกจากตำแหน่งนั้นด้วยเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าสมควรทำอย่างนั้น. ดาวิดหาเหตุผลว่าท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปแทรกแซง. หลังจากที่ทำทุกสิ่งที่ทำได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อสลายความเป็นปฏิปักษ์ที่ซาอูลมีต่อท่าน ดาวิดกล่าวในท้ายที่สุดว่า “[พระยะโฮวา] จะทรงประหารท่านเองเป็นแน่ หรือมิฉะนั้น ท่านจะต้องตายสักวันหนึ่ง หรือไม่ก็ถูกฆ่าเมื่อออกรบ. จากทัศนะของพระยะโฮวา เป็นเรื่องเหลือคิดที่เราจะยื่นมือทำร้ายผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา!”—1 ซามูเอล 24:3-15; 26:7-20, ล.ม.
6. เหตุใดเรื่องราวเกี่ยวกับดาวิดและซาอูลนับว่าน่าสนใจสำหรับเรา?
6 เรื่องนี้มีบทเรียนที่สำคัญ. คุณเคยรำพึงกับตัวเองไหมว่าทำไมปัญหาบางอย่างจึงเกิดขึ้นในประชาคมคริสเตียน? อาจเป็นได้ว่ามีใครคนหนึ่งกำลังทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสม. การกระทำของเขาอาจไม่ถึงกับเป็นความผิดร้ายแรง แต่เรื่องนี้รบกวนใจคุณ. คุณควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? ด้วยความสนใจแบบที่คริสเตียนควรมีต่อกันและด้วยความภักดีต่อพระยะโฮวา คุณอาจตัดสินใจว่าจะพูดกับคนนั้นอย่างกรุณา โดยมีเป้าหมายจะโน้มน้าวเขาให้แก้ไข. แต่จะว่าอย่างไรถ้าปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม? หลังจากที่คุณได้ทำทุกสิ่งที่ทำได้ตามสมควรแล้ว คุณอาจทิ้งเรื่องนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา. นั่นแหละคือสิ่งที่ดาวิดได้ทำ.
7. โดยเลียนแบบดาวิด เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรหากเราประสบกับความอยุติธรรมหรืออคติ?
7 หรือคุณอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคมหรืออคติทางศาสนา. อาจเป็นได้ว่าในเวลานี้คุณทำอะไรได้น้อยมากหรือทำอะไรไม่ได้เลย. สถานการณ์เช่นนั้นอาจทำให้เป็นเรื่องยากมากที่จะอดทน แต่ปฏิกิริยาของดาวิดต่อความอยุติธรรมสอนบทเรียนแก่เรา. เพลงสรรเสริญที่ดาวิดเขียนเป็นบันทึกที่จับใจไม่เพียงเพราะคำอธิษฐานแบบสุดหัวใจที่ท่านทูลขอพระเจ้าให้ช่วยท่านรอดพ้นจากการไล่ล่าของซาอูล แต่เพราะความภักดีของท่านต่อพระยะโฮวาและความห่วงใยในการถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระเจ้าด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 18:1-6, 25-27, 30-32, 48-50; 57:1-11) ดาวิดรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาแม้ว่าซาอูลยังคงปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อไปเป็นเวลาหลายปี. เราเองก็เช่นกันควรรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์แม้เผชิญกับความอยุติธรรมและไม่ว่าคนอื่นจะทำอะไรก็ตาม. เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงทราบดีเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เราเผชิญ.—บทเพลงสรรเสริญ 86:2.
8. พยานพระยะโฮวาในโมซัมบิกแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อถูกทดสอบความภักดีที่มีต่อพระยะโฮวา?
8 คริสเตียนในโมซัมบิกเป็นตัวอย่างในยุคปัจจุบันของผู้ที่ยึดมั่นอย่างภักดีต่อพระยะโฮวาในช่วงที่ถูกทดสอบ. ในปี 1984 หมู่บ้านของพวกเขาถูกโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่าโดยสมาชิกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งปล้น, เผาบ้าน, และฆ่าผู้คน. ดูเหมือนว่าคริสเตียนแท้เหล่านี้แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเพื่อป้องกันตัวเอง. มีการพยายามเกณฑ์พลเมืองในท้องถิ่นนั้นให้เข้าร่วมรบกับขบวนการหรือบังคับให้สนับสนุนในทางอื่น ๆ. พยานพระยะโฮวาถือว่าการทำอย่างนั้นขัดกับจุดยืนของคริสเตียนที่รักษาความเป็นกลาง. การปฏิเสธของพวกเขาทำให้กลุ่มขบวนการนี้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ. มีพยานฯ ถึง 30 คนถูกฆ่าในช่วงที่ปั่นป่วนวุ่นวายนั้น ทว่าแม้แต่คำขู่ฆ่าก็ไม่อาจทำลายความภักดีของประชาชนของพระเจ้า.a เช่นเดียวกับดาวิด พวกเขาอดทนต่อความอยุติธรรม แต่ในที่สุดก็ประสบชัยชนะ.
ข้อเตือนใจที่เป็นคำเตือน
9, 10. (ก) เราสามารถได้รับประโยชน์อย่างไรจากตัวอย่างบางเรื่องในพระคัมภีร์? (ข) มีอะไรผิดเกี่ยวกับการกระทำของอะนาเนียกับสัปไฟเร?
9 บางคนซึ่งมีกล่าวถึงในพระคัมภีร์ให้ข้อเตือนใจที่เป็นคำเตือนเกี่ยวกับการกระทำที่พึงหลีกเลี่ยง. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลมีเรื่องราวของผู้คนมากมายที่ทำผิดและต้องรับผลอันเลวร้าย แม้แต่ในหมู่ผู้รับใช้ของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 10:11) เรื่องหนึ่งที่เป็นแบบนี้ก็คือเรื่องของอะนาเนียกับสัปไฟเร คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นสมาชิกประชาคมคริสเตียนที่กรุงเยรูซาเลมในศตวรรษแรก.
10 หลังวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 มีความจำเป็นที่จะให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุแก่ผู้เชื่อถือใหม่ซึ่งอยู่ต่อในกรุงเยรูซาเลมเพื่อรับประโยชน์จากการคบหากับเหล่าอัครสาวก. สมาชิกบางคนของประชาคมขายทรัพย์สินเพื่อร่วมสมทบกองทุนในการช่วยเหลือไม่ให้ใครขัดสน. (กิจการ 2:41-45) อะนาเนียกับสัปไฟเรขายที่ดินแปลงหนึ่งและนำเพียงแต่ส่วนหนึ่งของเงินที่ขายได้มามอบให้อัครสาวก โดยอ้างว่าเขาบริจาคเงินทั้งหมดที่ได้จากการขายที่ดิน. ที่จริง ไม่มีข้อเรียกร้องว่าอะนาเนียและสัปไฟเรต้องให้เท่าไร แต่เขามีแรงกระตุ้นที่ไม่ดีในหัวใจและการกระทำของเขาไม่ซื่อสัตย์. ทั้งสองต้องการสร้างความประทับใจและทำให้ดูเหมือนว่าเขาบริจาคมาก มากกว่าที่เขาได้ทำจริง ๆ. ด้วยการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ อัครสาวกเปโตรเปิดโปงความไม่ซื่อสัตย์และความหน้าซื่อใจคดของเขา และพระยะโฮวาทรงลงโทษเขาทั้งสองถึงแก่ความตาย.—กิจการ 5:1-10.
11, 12. (ก) มีข้อเตือนใจอะไรบ้างเกี่ยวกับความซื่อสัตย์? (ข) มีผลประโยชน์อะไรบ้างที่เกิดจากการเป็นคนซื่อสัตย์?
11 หากวันใดเราถูกล่อใจให้บิดเบือนความจริงเพื่อให้เราดูดีในสายตาผู้อื่น เรื่องของอะนาเนียและสัปไฟเรอาจเป็นข้อเตือนใจที่ดี. เราอาจหลอกเพื่อนมนุษย์ได้ แต่เราไม่มีทางหลอกพระยะโฮวาได้. (เฮ็บราย 4:13) ครั้งแล้วครั้งเล่า พระคัมภีร์กระตุ้นเตือนเราให้ซื่อสัตย์ต่อกัน เพราะคนโกหกจะไม่ได้อยู่ในแผ่นดินโลกที่ได้รับการชำระให้ปราศจากความอธรรม. (สุภาษิต 14:2; วิวรณ์ 21:8; 22:15) เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นน่าจะเห็นได้ชัดอยู่แล้ว. ผู้ส่งเสริมความอสัตย์ทั้งสิ้นนั้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจากซาตานพญามาร.—โยฮัน 8:44.
12 การดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์นำผลประโยชน์มากมายมาให้เรา. ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งก็คือสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและความพึงพอใจที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น. ในหลาย ๆ กรณี เพราะความซื่อสัตย์ของเขาคริสเตียนจึงได้รับการว่าจ้างหรือไม่ตกงาน. แต่ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความซื่อสัตย์ทำให้เรามีมิตรภาพกับพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.—บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 2.
รักษาความบริสุทธิ์สะอาด
13. โยเซฟตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร และท่านแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
13 โยเซฟ บุตรชายของยาโคบปฐมบรรพบุรุษ ถูกขายเป็นทาสเมื่ออายุได้ 17 ปี. ในที่สุด ท่านได้มาอยู่ในบ้านของโพติฟา ข้าราชสำนักของอียิปต์ ซึ่งที่นี่เองโยเซฟกลายเป็นที่สนใจของภรรยาผู้เป็นนาย. เธอปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับโยเซฟซึ่งเป็นชายหนุ่มรูปงาม และวันแล้ววันเล่าเธอเฝ้าแต่รบเร้าว่า “จงมานอนกับเราเถิด.” โยเซฟอยู่ห่างไกลจากครอบครัวในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จักท่าน. อาจเป็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากที่ท่านจะมีความสัมพันธ์กับหญิงผู้นี้โดยที่คนอื่นไม่รู้. ถึงกระนั้น เมื่อในที่สุดภรรยาโพติฟาเหนี่ยวรั้งตัวท่านไว้ โยเซฟวิ่งหนี.—เยเนซิศ 37:2, 18-28; 39:1-12.
14, 15. (ก) เพราะเหตุใดเรื่องของโยเซฟจึงน่าสนใจสำหรับเรา? (ข) เหตุใดสตรีคริสเตียนคนหนึ่งรู้สึกขอบคุณที่เธอเอาใจใส่คำเตือนของพระเจ้า?
14 โยเซฟได้รับการเลี้ยงดูเติบโตในครอบครัวที่เกรงกลัวพระเจ้า และท่านเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ไม่เป็นสามีภรรยากันเป็นเรื่องผิด. ท่านถามว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า?” สิ่งที่ช่วยชี้นำให้ท่านลงความเห็นอย่างนั้นคงจะได้แก่ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ ดังที่แสดงไว้ในสวนเอเดน ซึ่งกล่าวถึงการมีคู่สมรสคนเดียว. (เยเนซิศ 2:24) ประชาชนของพระเจ้าในปัจจุบันสามารถได้รับประโยชน์จากการคิดใคร่ครวญถึงวิธีที่โยเซฟแสดงปฏิกิริยาในสถานการณ์นั้น. ในบางแห่ง เจตคติในเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นแบบที่ปล่อยตามสบาย ทำให้คนหนุ่มสาวที่ไม่ยอมร่วมในการผิดศีลธรรมถูกเยาะเย้ยจากหนุ่มสาวคนอื่น ๆ. ความสัมพันธ์นอกสายสมรสในหมู่ผู้ใหญ่เป็นเรื่องธรรมดา. ดังนั้น เรื่องของโยเซฟเป็นข้อเตือนใจที่เหมาะกับเวลาสำหรับเรา. มาตรฐานของพระเจ้ายังคงเหมือนเดิมคือ การผิดประเวณีและการเล่นชู้เป็นบาป. (เฮ็บราย 13:4) หลายคนที่เคยพ่ายแพ้แก่ความกดดันแล้วมีเพศสัมพันธ์อย่างผิด ๆ เห็นพ้องกันว่ามีเหตุผลหนักแน่นที่ไม่ควรทำอย่างนั้น. ผลที่ไม่พึงปรารถนาอาจได้แก่ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า, สติรู้สึกผิดชอบที่รบกวน, ความหึงหวง, การตั้งครรภ์, และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. ดังที่พระคัมภีร์เตือนเรา คนที่ทำผิดประเวณี “ทำผิดต่อร่างกายของตนเอง.”—1 โกรินโธ 5:9-12; 6:18; สุภาษิต 6:23-29, 32.
15 เจนนีb พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งซึ่งเป็นโสด มีเหตุผลที่จะรู้สึกขอบคุณข้อเตือนใจของพระเจ้า. ในที่ทำงาน มีเพื่อนร่วมงานที่หน้าตาดีคนหนึ่งเข้ามาแทะโลมเธอ. เมื่อเจนนีไม่แสดงปฏิกิริยาตอบรับ เขาก็ยิ่งแสดงออกมากขึ้นว่าเขาสนใจในตัวเธอ. เธอยอมรับว่า “ดิฉันต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างหนักเพื่อรักษาความบริสุทธิ์สะอาด เพราะการที่มีเพศตรงกันข้ามมาแสดงความสนใจในตัวเรานั้นเป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจอยู่ไม่น้อย.” ถึงกระนั้น เธอตระหนักว่าชายคนนี้เพียงแต่พยายามจะได้ตัวเธอมาเพิ่มจำนวนของผู้หญิงที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วย. เมื่อเธอรู้สึกว่าความเด็ดเดี่ยวในการต้านทานของเธอกำลังอ่อนลง เธอทูลวิงวอนพระยะโฮวาขอให้ช่วยเธอรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์. เจนนีพบว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เธอได้เรียนรู้เมื่อค้นดูในคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือของคริสเตียนเป็นเหมือนกับข้อเตือนใจที่ช่วยเสริมกำลังแขนทั้งสองให้ยกขึ้นปัดป้อง. ข้อเตือนใจอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของโยเซฟและภรรยาโพติฟา. เธอกล่าวลงท้ายว่า “ตราบใดที่ดิฉันคอยเตือนใจตัวเองว่าดิฉันรักพระยะโฮวามากเพียงใด ดิฉันก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะทำเรื่องชั่วร้ายใหญ่หลวงนี้และทำบาปต่อพระองค์.”
จงเอาใจใส่ข้อเตือนใจของพระเจ้า!
16. โดยวิธีใดเราจะได้รับประโยชน์จากการทบทวนและคิดรำพึงเรื่องราวชีวิตของบางคนที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล?
16 เราทุกคนสามารถเพิ่มความหยั่งรู้ค่าต่อมาตรฐานของพระยะโฮวาได้โดยการพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดพระองค์จึงโปรดให้เก็บรักษาบางเรื่องไว้ในพระคัมภีร์เพื่อเรา. เรื่องเหล่านั้นสอนอะไรแก่เรา? คุณลักษณะหรือนิสัยเช่นไรซึ่งบุคคลในคัมภีร์ไบเบิลเป็นตัวอย่างที่เราควรเลียนแบบหรือหลีกเลี่ยง? มีหลายร้อยคนเลยทีเดียวที่เรื่องราวของพวกเขาปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือแห่งพระคำของพระเจ้า. ทุกคนที่รักคำชี้แนะของพระเจ้าควรปลูกฝังความปรารถนาที่จะได้สติปัญญาที่ให้ชีวิต รวมถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่เราเรียนได้จากตัวอย่างที่พระยะโฮวาได้ทรงเก็บรักษาไว้อย่างดี. วารสารนี้มักมีบทความเกี่ยวกับบางคนที่รักข้อเตือนใจของพระเจ้าซึ่งเรื่องราวชีวิตของเขามีบางสิ่งบางอย่างที่สอนเรา. ถ้าจะใช้เวลาทบทวนเรื่องเหล่านี้ก็คงจะดีมิใช่หรือ?
17. คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับข้อเตือนใจของพระยะโฮวา และเพราะเหตุใด?
17 เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรสำหรับความห่วงใยด้วยความรักที่พระยะโฮวาทรงสำแดงต่อผู้ที่พยายามทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์! แน่นอน เราไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับที่คนเหล่านั้นที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลไม่สมบูรณ์. อย่างไรก็ดี บันทึกในรูปข้อเขียนเกี่ยวกับการกระทำของพวกเขามีค่าอย่างยิ่งสำหรับเรา. โดยเอาใจใส่ข้อเตือนใจของพระยะโฮวา เราสามารถหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดที่ก่อความเสียหายร้ายแรง และเราสามารถเลียนแบบตัวอย่างที่ดีของคนที่ดำเนินในทางแห่งความชอบธรรม. หากเราทำอย่างนั้น เราจะสามารถร่วมร้องเพลงด้วยกันกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งร้องว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามข้อเตือนใจของพระองค์; พวกเขาแสวงหาพระองค์เสมอด้วยสุดหัวใจ. จิตวิญญาณของข้าพเจ้าถือรักษาข้อเตือนใจของพระองค์ และข้าพเจ้ารักข้อเตือนใจเหล่านั้นอย่างยิ่ง.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:2, 167, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ดูหนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 1996 หน้า 160-162.
b ชื่อสมมุติ.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราเรียนอะไรได้จากเจตคติของดาวิดที่มีต่อซาอูล?
• เรื่องราวของอะนาเนียกับสัปไฟเรสอนเราในเรื่องใด?
• เหตุใดเรื่องราวชีวิตของโยเซฟจึงน่าสนใจเป็นพิเศษในทุกวันนี้?
[ภาพหน้า 26]
เหตุใดดาวิดจึงไม่ยอมให้ฆ่าซาอูล?
[ภาพหน้า 27]
เราเรียนอะไรจากเรื่องราวของอะนาเนียกับสัปไฟเร?
[ภาพหน้า 28]
อะไรทำให้โยเซฟบอกปัดการเชื้อเชิญที่ผิดศีลธรรม?