จงทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณโดยทำตามแบบอย่างของเปาโล
“ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งจนถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษา ความเชื่อไว้แล้ว.”—2 ติโม. 4:7.
1, 2. เซาโลซึ่งมาจากเมืองทาร์ซัสเปลี่ยนชีวิตตัวเองอย่างไร และเขารับเอางานสำคัญอะไร?
ชายผู้นี้มีปัญญาเฉียบแหลมและเป็นคนเฉียบขาด. แต่เขา “ประพฤติตามความปรารถนาทางกาย.” (เอเฟ. 2:3) ในเวลาต่อมา เขาพรรณนาตัวเขาเองว่า “เคยเป็นคนหมิ่นประมาทพระเจ้า เคยข่มเหงคนของพระองค์ และเคยเป็นคนโอหังบังอาจ.” (1 ติโม. 1:13) ชายผู้นี้คือเซาโลซึ่งมาจากเมืองทาร์ซัส.
2 ต่อมา เซาโลเปลี่ยนชีวิตตัวเองอย่างสิ้นเชิง. เขาทิ้งวิถีชีวิตอย่างเดิมแล้วพยายามอย่างหนักที่จะ “ไม่ได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ทำเพื่อประโยชน์ของคนมากมาย.” (1 โค. 10:33) เขากลายเป็นคนอ่อนสุภาพและแสดงความรักอันอ่อนละมุนต่อคนที่เคยตกเป็นเหยื่อความเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงของเขา. (อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 2:7, 8.) เขาเขียนอีกว่า “ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่เล็กน้อยกว่าผู้เล็กน้อยในเหล่าผู้บริสุทธิ์ได้รับพระกรุณาอันใหญ่หลวงโดยทรงโปรดให้ข้าพเจ้าประกาศให้ชนต่างชาติรู้ข่าวดีเรื่องความมั่งคั่งของพระคริสต์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้.”—เอเฟ. 3:7, 8.
3. การศึกษาจดหมายของเปาโลและบันทึกเกี่ยวกับงานรับใช้ของท่านอาจช่วยเราอย่างไร?
3 เซาโล ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าเปาโล ทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างโดดเด่น. (กิจ. 13:9) วิธีหนึ่งซึ่งช่วยให้เราก้าวหน้าด้านความจริงอย่างรวดเร็วได้แน่นอนก็คือการศึกษาจดหมายของเปาโลและบันทึกเกี่ยวกับงานรับใช้ของท่านแล้วก็เลียนแบบความเชื่อของท่าน. (อ่าน 1 โครินท์ 11:1; ฮีบรู 13:7.) ให้เรามาดูกันว่าการทำอย่างนั้นจะช่วยกระตุ้นเราอย่างไรให้สร้างกิจวัตรที่ดีในการศึกษาส่วนตัว, พัฒนาความรักแท้ต่อผู้คน, และมีทัศนะที่เหมาะสมต่อตัวเราเอง.
กิจวัตรของเปาโลในเรื่องการศึกษา
4, 5. เปาโลได้รับประโยชน์อย่างไรจากการศึกษาส่วนตัว?
4 เนื่องจากเปาโลเป็นฟาริซายที่ได้รับการสอน “โดยตรงจากท่านกามาลิเอล . . . ได้รับการสั่งสอนให้ปฏิบัติตามบัญญัติของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด” ท่านจึงมีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์อยู่แล้ว. (กิจ. 22:1-3; ฟิลิป. 3:4-6) ทันทีหลังจากรับบัพติสมา ท่าน “ไปยังคาบสมุทรอาหรับ”—อาจเป็นทะเลทรายซีเรียหรืออาจเป็นที่เงียบสงบแห่งใดแห่งหนึ่งในคาบสมุทรอาหรับซึ่งเป็นที่ที่เหมาะแก่การคิดใคร่ครวญ. (กลา. 1:17) ดูเหมือนว่าเปาโลต้องการใคร่ครวญข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่พิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา. นอกจากนั้น เปาโลต้องการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานที่รอท่านอยู่. (อ่านกิจการ 9:15, 16, 20, 22.) เปาโลใช้เวลาคิดใคร่ครวญเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวิญญาณ.
5 ความรู้และความเข้าใจลึกซึ้งในพระคัมภีร์ที่เปาโลได้จากการศึกษาส่วนตัวทำให้ท่านสามารถสอนความจริงอย่างมีประสิทธิภาพ. ตัวอย่างเช่น ณ ธรรมศาลาเมืองอันทิโอกในแคว้นปิซิเดีย เปาโลใช้ข้อความที่ยกโดยตรงจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างน้อยห้าข้อเพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา. เปาโลยังอ้างถึงหนังสือศักดิ์สิทธิ์หลายครั้ง. เปาโลชักเหตุผลสนับสนุนโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลอย่างน่าคล้อยตาม จน “ชาวยิวกับผู้ที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวหลายคนซึ่งนมัสการพระเจ้าก็ตามเปาโลกับบาร์นาบัสไป” เพื่อจะเรียนรู้มากขึ้น. (กิจ. 13:14-44) หลายปีต่อมาเมื่อชาวยิวกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในกรุงโรมมาหาท่านที่บ้านพักของท่าน เปาโลชี้แจงเรื่องราวให้พวกเขาฟัง “โดยอธิบายเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่พวกเขาอย่างถี่ถ้วน และโดยการพูดจูงใจพวกเขาด้วยเรื่องพระเยซูทั้งจากพระบัญญัติที่ทรงประทานผ่านทางโมเซและจากหนังสือของพวกผู้พยากรณ์.”—กิจ. 28:17, 22, 23.
6. อะไรช่วยเปาโลให้รักษาความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเมื่อถูกทดสอบความเชื่อ?
6 เมื่อถูกทดสอบความเชื่อ เปาโลตรวจสอบพระคัมภีร์ต่อไปและได้กำลังเข้มแข็งจากข่าวสารที่เขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. (ฮีบรู 4:12) ขณะถูกคุมขังในกรุงโรมก่อนถูกประหาร เปาโลขอติโมเธียวให้นำ “พวกม้วนหนังสือ” และ “ม้วนที่เป็นแผ่นหนัง” มาให้ท่าน. (2 ติโม. 4:13) เอกสารเหล่านั้นคงเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เปาโลใช้ในการศึกษาอย่างลึกซึ้ง. การได้รับความรู้ในพระคัมภีร์โดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำสำคัญมากสำหรับเปาโล ทำให้ท่านสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอยู่เสมอ.
7. คุณอาจได้ประโยชน์อะไรบ้างเมื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ?
7 การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำพร้อมกับการคิดรำพึงโดยมีเป้าหมายเฉพาะจะช่วยเราให้ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. (ฮีบรู 5:12-14) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงเกี่ยวกับคุณค่าของพระคำของพระเจ้าว่า “พระบัญญัติที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์นั้นดีประเสริฐสำหรับข้าพเจ้า ประเสริฐกว่าเงินทองหลายพันชั่ง. ข้อบัญญัติของพระองค์ทำให้ข้าพเจ้าฉลาดกว่าพวกศัตรู; ด้วยข้อเหล่านั้นอยู่กับข้าพเจ้าเสมอ. ข้าพเจ้าได้ยั้งเท้าของข้าพเจ้าให้เว้นเสียจากทางชั่วทุกทาง, เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประพฤติตามพระวจนะของพระองค์.” (เพลง. 119:72, 98, 101) คุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวเป็นประจำไหม? คุณกำลังเตรียมตัวไว้สำหรับการมอบหมายในงานรับใช้พระเจ้าที่อาจได้รับในวันข้างหน้าโดยอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันและคิดรำพึงสิ่งที่ได้อ่านไหม?
เซาโลเรียนรู้ที่จะรักผู้คน
8. เซาโลปฏิบัติอย่างไรต่อคนที่ไม่ได้ถือลัทธิยูดาย?
8 ก่อนเข้ามาเป็นคริสเตียน เซาโลมีใจร้อนรนในการปฏิบัติศาสนาของเขา แต่เขามีความห่วงใยน้อยมากต่อคนที่ไม่ได้ถือลัทธิยูดา. (กิจ. 26:4, 5) เขามองดูพวกยิวเอาหินขว้างสเตฟาโนอย่างเห็นชอบด้วย. สิ่งที่เซาโลเห็นคงต้องทำให้เขาฮึกหาญ โดยอาจเห็นว่าสมควรแล้วที่สเตฟาโนจะถูกประหาร. (กิจ. 6:8-14; 7:54–8:1) บันทึกซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจบอกว่า “เซาโลก็ทำร้ายประชาคม โดยบุกเข้าไปตามบ้านแล้วฉุดลากคริสเตียนทั้งชายและหญิงไปจำคุกไว้.” (กิจ. 8:3) เขา “ทำถึงขนาดที่ไปข่มเหงพวกเขาตามเมืองต่าง ๆ.”—กิจ. 26:11.
9. เซาโลมีประสบการณ์อะไรที่ทำให้เขาทบทวนวิธีที่เขาปฏิบัติต่อผู้คนเสียใหม่?
9 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงปรากฏแก่เซาโล เขากำลังเดินทางไปเมืองดามัสกัสเพื่อจะข่มเหงเหล่าสาวกของพระคริสต์ที่นั่น. แสงเจิดจ้าอันเหนือธรรมชาติจากพระบุตรของพระเจ้าทำให้เซาโลตาบอดและต้องพึ่งคนอื่นให้พาเขาไป. เมื่อถึงตอนที่พระยะโฮวาทรงใช้อะนานีอัสให้ช่วยเซาโลกลับมามองเห็นเป็นปกติแล้ว เจตคติของเซาโลต่อผู้คนก็ได้เปลี่ยนไปอย่างถาวร. (กิจ. 9:1-30) หลังจากเป็นสาวกของพระคริสต์แล้ว เขาได้พยายามอย่างมากเพื่อจะปฏิบัติต่อทุกคนแบบเดียวกับที่พระเยซูทรงปฏิบัติ. นั่นหมายถึงว่าเขาต้องละเลิกความรุนแรงและ “อยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.”—อ่านโรม 12:17-21.
10, 11. เปาโลแสดงความรักแท้ต่อผู้คนอย่างไร?
10 เปาโลไม่พอใจเพียงแค่จะอยู่อย่างสันติกับผู้อื่น. ท่านต้องการแสดงความรักแท้ต่อผู้คน และงานรับใช้ของคริสเตียนทำให้ท่านมีโอกาสทำอย่างนั้น. ในการเดินทางรอบแรกฐานะมิชชันนารี ท่านประกาศข่าวดีในเอเชียน้อย. แม้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง เปาโลและเพื่อนร่วมงานจดจ่ออยู่กับการช่วยคนที่อ่อนน้อมให้เข้ามาเป็นคริสเตียน. พวกเขากลับมาเยี่ยมเมืองลิสตราและอิโกนิอันอีกครั้ง แม้ว่าพวกผู้ต่อต้านในสองเมืองนี้เคยพยายามฆ่าเปาโล.—กิจ. 13:1-3; 14:1-7, 19-23.
11 ต่อมา เปาโลและคณะก็ไปสืบค้นหาคนที่พร้อมจะตอบรับความจริงที่เมืองฟิลิปปอยในแคว้นมาซิโดเนีย. ผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวคนหนึ่งชื่อลิเดียรับฟังข่าวดีและเข้ามาเป็นคริสเตียน. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตีเปาโลและซีลัสด้วยไม้และจำคุกไว้. อย่างไรก็ตาม เปาโลประกาศกับผู้คุมคุก ซึ่งก็ทำให้ผู้คุมกับครอบครัวรับบัพติสมาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา.—กิจ. 16:11-34.
12. อะไรกระตุ้นเซาโลผู้โอหังบังอาจให้กลายเป็นอัครสาวกผู้เปี่ยมด้วยความรักของพระเยซูคริสต์?
12 เหตุใดเซาโลซึ่งเคยเป็นผู้ข่มเหงจึงยอมรับเอาความเชื่อของคนที่เขาเคยข่มเหง? อะไรกระตุ้นชายผู้โอหังบังอาจให้กลายเป็นอัครสาวกผู้กรุณาและเปี่ยมด้วยความรัก ซึ่งเต็มใจเสี่ยงชีวิตเพื่อผู้อื่นจะเรียนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์ได้? เปาโลเองอธิบายว่า “พระเจ้าผู้ . . . ทรงเรียกข้าพเจ้าด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระองค์ทรงเห็นชอบให้มีการเปิดเผยเรื่องพระบุตรของพระองค์โดยทางข้าพเจ้า.” (กลา. 1:15, 16) เปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า “ข้าพเจ้าได้รับพระเมตตานั้นก็เพื่อพระคริสต์เยซูจะทรงใช้ข้าพเจ้าเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นเพื่อแสดงให้คนที่จะเชื่อและวางใจพระองค์โดยหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์นั้นได้เห็นเป็นตัวอย่างว่าพระองค์ทรงอดกลั้นไว้นานเพียงไร.” (1 ติโม. 1:16) พระยะโฮวาทรงให้อภัยเปาโล และการที่ท่านได้รับพระเมตตากรุณาอย่างใหญ่หลวงกระตุ้นท่านให้แสดงความรักต่อผู้อื่นโดยประกาศข่าวดีให้พวกเขาฟัง.
13. อะไรน่าจะกระตุ้นเราให้แสดงความรักต่อผู้อื่น และเราอาจทำอย่างนั้นโดยวิธีใด?
13 พระยะโฮวาทรงให้อภัยบาปและข้อผิดพลาดของเราคล้าย ๆ กันนั้น. (เพลง. 103:8-14) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญถามว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ถ้าหากพระองค์จะทรงจดจำการอสัตย์อธรรมทั้งหมดไว้, ใครจะทนไหว?” (เพลง. 130:3) ถ้าพระเจ้าไม่ทรงเมตตา ไม่มีใครในพวกเราจะได้รับความยินดีจากการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ และเราก็จะไม่สามารถคาดหวังว่าจะได้รับชีวิตนิรันดร์. พระกรุณาอันใหญ่หลวงที่พระเจ้าทรงสำแดงต่อเราทุกคนนั้นยิ่งใหญ่จริง ๆ. ด้วยเหตุนั้น เราควรปรารถนาเช่นเดียวกับเปาโลที่จะแสดงความรักต่อคนอื่น ๆ โดยประกาศและสอนความจริงแก่พวกเขาและโดยช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อให้เข้มแข็ง.—อ่านกิจการ 14:21-23.
14. เราอาจสามารถขยายงานรับใช้ของเราอย่างไร?
14 เปาโลต้องการก้าวหน้าในฐานะเป็นผู้ประกาศข่าวดี และตัวอย่างของพระเยซูทำให้ท่านประทับใจมาก. วิธีหนึ่งที่พระบุตรของพระเจ้าทรงแสดงความรักต่อผู้คนอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ก็คือโดยทางงานประกาศ. พระเยซูตรัสว่า “การเกี่ยวเป็นงานใหญ่ แต่คนงานมีน้อย. ฉะนั้น จงขอเจ้าของงานเกี่ยวให้ส่งคนงานออกไปในงานเกี่ยวของพระองค์.” (มัด. 9:35-38) เปาโลลงมือทำสอดคล้องกับคำขอที่ท่านอาจได้ขอเพื่อจะมีคนงานมากขึ้นด้วยการทำงานอย่างขันแข็ง. คุณล่ะเป็นอย่างไร? คุณจะปรับปรุงคุณภาพงานรับใช้ของคุณได้ไหม? หรือคุณจะเพิ่มเวลาที่คุณใช้ในการประกาศราชอาณาจักร หรือแม้แต่อาจจัดชีวิตเสียใหม่เพื่อเป็นไพโอเนียร์ได้ไหม? ให้เราแสดงความรักแท้ต่อคนอื่น ๆ โดยช่วยพวกเขาให้ “ยึดมั่นกับพระคำที่ให้ชีวิต.”—ฟิลิป. 2:16.
เปาโลมองตัวเองอย่างไร?
15. เปาโลมองตัวเองอย่างไรในแง่ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนคริสเตียน?
15 ในฐานะคริสเตียนที่เป็นผู้รับใช้พระเจ้า เปาโลวางตัวอย่างที่โดดเด่นไว้สำหรับเราในอีกทางหนึ่ง. แม้ท่านได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่างในประชาคมคริสเตียน แต่เปาโลตระหนักดีว่าที่ท่านได้รับพระพรเหล่านั้นไม่ใช่เพราะความสามารถของท่าน. ท่านตระหนักว่าพระพรที่ท่านได้รับนั้นแสดงให้เห็นถึงพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า. เปาโลตระหนักว่าคริสเตียนคนอื่น ๆ ก็เป็นผู้ประกาศข่าวดีที่มีประสิทธิภาพด้วย. แม้ว่ามีตำแหน่งอันมีเกียรติในหมู่ประชาชนของพระเจ้า แต่ท่านก็ยังคงถ่อมใจ.—อ่าน 1 โครินท์ 15:9-11.
16. เปาโลแสดงความถ่อมใจและเจียมตัวอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการรับสุหนัต?
16 ขอให้พิจารณาวิธีที่เปาโลจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองอันทิโอก แคว้นซีเรีย. ประชาคมคริสเตียนที่นั่นเกิดการแตกแยกกันด้วยเรื่องการรับสุหนัต. (กิจ. 14:26–15:2) เนื่องจากเปาโลได้รับแต่งตั้งให้นำหน้าในการประกาศแก่คนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต ท่านอาจคิดว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการติดต่อเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิวและด้วยเหตุนั้นจึงมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะแก้ปัญหานี้. (อ่านกาลาเทีย 2:8, 9.) อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านพยายามแก้ไขเรื่องนั้นแต่ไม่สำเร็จ ท่านก็ดำเนินการต่อไปด้วยความถ่อมใจและเจียมตัวโดยเข้าหาคณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเลมให้ช่วยพิจารณาเรื่องนั้น. ท่านให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ขณะสมาชิกคณะกรรมการปกครองรับฟังเรื่องราว, ตัดสิน, และมอบหมายท่านให้เป็นผู้ส่งข่าวร่วมกับคนอื่น ๆ. (กิจ. 15:22-31) ดังนั้น เปาโล “นำหน้าในการให้เกียรติ” เพื่อนผู้รับใช้.—โรม 12:10ข.
17, 18. (ก) เปาโลมีความรู้สึกอย่างไรต่อคนอื่น ๆ ในประชาคม? (ข) ปฏิกิริยาของผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์เมื่อเปาโลจากไปบอกอะไรเราเกี่ยวกับท่าน?
17 เปาโลผู้มีใจถ่อมไม่ได้ทำตัวห่างเหินพี่น้องในประชาคม. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านคลุกคลีใกล้ชิดกับพี่น้อง. เมื่อถึงตอนท้ายจดหมายที่ท่านเขียนถึงพี่น้องในกรุงโรม ท่านฝากคำทักทายพี่น้องมากกว่า 20 คนโดยออกชื่อพี่น้องเหล่านั้น. พี่น้องเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงในที่อื่นของพระคัมภีร์ และมีไม่กี่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิเศษ. แต่พวกเขาเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวา และเปาโลรักพวกเขาอย่างยิ่ง.—โรม 16:1-16.
18 กิริยาท่าทีที่เป็นมิตรและถ่อมใจของเปาโลช่วยเสริมประชาคมให้เข้มแข็ง. หลังจากท่านพบกับผู้ปกครองจากเมืองเอเฟโซส์ครั้งสุดท้าย พวกเขา “กอดเปาโลและจูบเขา เพราะพวกเขาเป็นทุกข์มากเนื่องจากเปาโลบอกว่าพวกเขาจะไม่เห็นหน้าเปาโลอีก.” การจากไปของคนที่เย่อหยิ่งและทำตัวห่างเหินคนอื่นคงไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างนี้.—กิจ. 20:37, 38.
19. เราจะแสดง ‘ความถ่อมใจ’ ได้อย่างไรในการปฏิบัติต่อเพื่อนคริสเตียน?
19 ทุกคนที่ปรารถนาจะก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต้องแสดงน้ำใจถ่อมแบบเดียวกับเปาโล. ท่านกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนว่าอย่า “ทำอะไรด้วยน้ำใจชิงดีชิงเด่นหรือด้วยความถือดี แต่ให้ถ่อมใจถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.” (ฟิลิป. 2:3) เราจะทำตามคำแนะนำนั้นได้อย่างไร? วิธีหนึ่งก็คือโดยร่วมมือกับผู้ปกครองในประชาคม ทำตามคำแนะนำและยอมรับการตัดสินของพวกเขา. (อ่านฮีบรู 13:17.) อีกวิธีหนึ่งก็คือโดยให้ความนับถืออย่างสูงต่อพี่น้องทุกคนในประชาคม. ประชาคมแห่งประชาชนของพระยะโฮวามักประกอบด้วยผู้คนที่มีภูมิหลังจากชาติ, วัฒนธรรม, เชื้อชาติ, และชาติพันธุ์หลากหลาย. แม้กระนั้น เราน่าจะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างไม่มีอคติและด้วยความรักเช่นเดียวกับเปาโลมิใช่หรือ? (กิจ. 17:26; โรม 12:10ก) เราได้รับการสนับสนุนให้ “ต้อนรับกันอย่างที่พระคริสต์ทรงต้อนรับเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะได้รับพระเกียรติ.”—โรม 15:7.
“วิ่งด้วยความเพียรอดทน” ในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต
20, 21. อะไรจะช่วยเราให้วิ่งแข่งเพื่อชีวิตได้สำเร็จ?
20 ชีวิตของคริสเตียนอาจเปรียบได้กับการวิ่งแข่งระยะไกล. เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งจนถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว. ตั้งแต่นี้ไป มีมงกุฎแห่งความชอบธรรมไว้สำหรับข้าพเจ้า ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิพากษาองค์ชอบธรรมจะทรงประทานแก่ข้าพเจ้าเป็นรางวัลในวันนั้น และไม่เพียงข้าพเจ้าเท่านั้น แต่จะทรงประทานแก่ทุกคนที่ปรารถนาจะเห็นการปรากฏของพระองค์.”—2 ติโม. 4:7, 8.
21 การทำตามแบบอย่างของเปาโลจะช่วยเราวิ่งแข่งเพื่อชีวิตนิรันดร์ได้สำเร็จ. (ฮีบรู 12:1) ดังนั้น ขอให้เราทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไปอย่างเต็มที่โดยพัฒนานิสัยที่ดีในการศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ, พัฒนาความรักอย่างแท้จริงต่อผู้คน, และรักษาความถ่อมใจไว้เสมอ.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เปาโลได้รับประโยชน์อย่างไรจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวเป็นประจำ?
• เหตุใดการมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อผู้คนจึงสำคัญสำหรับคริสเตียนแท้?
• การมีคุณลักษณะอะไรบ้างจะช่วยคุณให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่มีอคติ?
• ตัวอย่างของเปาโลอาจช่วยคุณได้อย่างไรให้ร่วมมือกับผู้ปกครองในประชาคม?
[ภาพหน้า 23]
จงเสริมความเข้มแข็งด้วยการศึกษาพระคัมภีร์เหมือนที่เปาโลทำ
[ภาพหน้า 24]
จงแสดงความรักโดยบอกข่าวดีแก่คนอื่น ๆ
[ภาพหน้า 25]
คุณรู้ไหมว่าทำไมพี่น้องจึงรักเปาโลอย่างยิ่ง?