วิธีแก้ปัญหาอย่างสันติ
ความรุนแรงของมนุษย์มีมานานแทบจะพอ ๆ กับมนุษยชาติ. คัมภีร์ไบเบิลสืบร่องรอยความรุนแรงย้อนไปถึงคายิน พี่ชายของเฮเบลและเป็นลูกชายคนโตสุดของมนุษย์คู่แรก. เมื่อพระเจ้าพอพระทัยเครื่องบูชาของเฮเบลมากกว่าของเขา คายิน “ก็โกรธแค้นนัก.” เขาจัดการอย่างไรกับสถานการณ์นั้น? “คายินก็ลุกขึ้นฆ่าเฮเบลน้องชายของตนเสีย.” หลังจากนั้น เขาพบว่าตัวเองมีปัญหายุ่งยากทีเดียวกับพระเจ้า. (เยเนซิศ 4:5, 8-12) ความรุนแรงมิได้แก้ปัญหาเรื่องการที่คายินมีฐานะไม่ดีเฉพาะพระพักตร์พระผู้สร้าง.
เราจะหลีกเลี่ยงแนวทางของคายินในการใช้กำลังกายเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างไร?
จากความรุนแรงไปสู่ความอดกลั้น
ขอพิจารณาชายคนหนึ่งซึ่งเฝ้าดูด้วยความเห็นชอบต่อการสังหารซะเตฟาโน คริสเตียนคนแรกผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ. (กิจการ 7:58; 8:1) ชายผู้นี้ คือเซาโลแห่งเมืองตาระโซ ไม่เห็นด้วยกับฐานะทางศาสนาของซะเตฟาโนและได้สนับสนุนการสังหารอย่างรุนแรงว่าเป็นวิธีอันชอบด้วยเหตุผลเพื่อหยุดยั้งกิจการงานของซะเตฟาโน. เป็นที่ยอมรับว่า เซาโลอาจไม่ใช่คนรุนแรงในทุกแง่ทุกมุมในชีวิตของเขา. กระนั้น เขาก็เต็มใจยอมรับว่าความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหา. ทันทีหลังจากความตายของซะเตฟาโน เซาโล “ประทุษร้ายคริสตจักร คือเข้าไปฉุดลากชายหญิงจากทุก ๆ เรือนไปจำไว้ในคุก.”—กิจการ 8:3.
ตามที่อัลเบิร์ต บาร์เนส ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้นั้น คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลในที่นี้ว่า “ประทุษร้าย” แสดงถึงการทำลายที่สัตว์ป่า เช่น สิงโตและสุนัขป่า อาจก่อขึ้นได้. บาร์เนสอธิบายว่า “เซาโลบันดาลโทสะต่อคริสตจักรเหมือนสัตว์ป่า—สำนวนที่รุนแรง ซึ่งแสดงถึงการที่เขาเข้าร่วมในการข่มเหงด้วยใจแรงกล้าและอย่างเดือดดาล.” เมื่อเซาโลมุ่งหน้าไปเมืองดาเมเซ็กเพื่อจับสาวกของพระคริสต์อีกหลายคน เขา “ยังขู่คำรามกล่าวว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซูเสีย.” ระหว่างทาง พระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์แล้วตรัสกับเขา และนี่ยังผลให้เซาโลเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสเตียน.—กิจการ 9:1-19.
หลังจากการเปลี่ยนศาสนาแล้ว วิธีปฏิบัติของเซาโลกับคนอื่นก็ได้เปลี่ยนไป. เหตุการณ์หนึ่งที่ได้เกิดขึ้นประมาณ 16 ปีหลังจากนั้นแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น. คนกลุ่มหนึ่งได้มาที่ประชาคมซึ่งเป็นฐานปฏิบัติงานของท่านในเมืองอันติโอเกีย แล้วเร่งเร้าคริสเตียนที่นั่นให้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซ. ผลก็คือ ‘มีการไล่เลียงเถียงกันมากมาย.’ เซาโลซึ่งถึงตอนนี้เป็นที่รู้จักดีกว่าว่าเปาโล ได้ยึดจุดยืนในการโต้เถียงนั้น. ดูเหมือนว่ามีการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด. แต่เปาโลมิได้ใช้ความรุนแรง. แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านเห็นชอบกับการตัดสินของประชาคมที่ให้เสนอเรื่องนั้นต่ออัครสาวกและผู้ปกครองของประชาคมยะรูซาเลม.—กิจการ 15:1, 2.
ในกรุงยะรูซาเลม เกิดการ “โต้แย้งกันมาก” อีกครั้งหนึ่ง ณ การประชุมของผู้ปกครอง. เปาโลคอยจนกระทั่ง “คนทั้งหลายก็นิ่ง” แล้วจึงรายงานถึงการดำเนินงานที่ล้ำเลิศแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าในท่ามกลางผู้มีความเชื่อที่ไม่ได้รับสุหนัต. หลังจากการอภิปรายตามหลักพระคัมภีร์ อัครสาวกและผู้ปกครองในกรุงยะรูซาเลม “พร้อมใจกัน” ไม่วางภาระโดยไม่จำเป็นแก่ผู้มีความเชื่อที่ไม่ได้รับสุหนัต แต่เตือนพวกเขาให้ “งดการรับประทานสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปพระเท็จ, และการรับประทานเลือด, และการรับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งถูกรัดคอตาย, และการล่วงประเวณี.” (กิจการ 15:3-29) จริงทีเดียว เปาโลได้เปลี่ยนแปลง. ท่านเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างปราศจากความรุนแรง.
การรับมือกับแนวโน้มที่รุนแรง
เปาโลได้ตักเตือนในภายหลังว่า “ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องต่อสู้ แต่จำเป็นต้องสุภาพต่อคนทั้งปวง มีคุณวุฒิที่จะสั่งสอน เหนี่ยวรั้งตัวไว้ภายใต้สภาพการณ์ที่ไม่ดี, สั่งสอนคนที่มีแนวโน้มไม่ยินดีรับนั้นด้วยใจอ่อนโยน.” (2 ติโมเธียว 2:24, 25, ล.ม.) เปาโลได้กระตุ้นติโมเธียว ผู้ดูแลที่อ่อนวัยกว่าให้จัดการกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากอย่างใจเย็น. เปาโลตระหนักถึงความเป็นจริง. ท่านทราบว่าอาจมีการยั่วยุอารมณ์ได้แม้แต่ในท่ามกลางคริสเตียนด้วยซ้ำ. (กิจการ 15:37-41) ด้วยเหตุผลที่ดี ท่านแนะนำว่า “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.” (เอเฟโซ 4:26) การควบคุมความโกรธโดยไม่ระเบิดความเดือดดาลแบบไม่มีการควบคุมออกมาเป็นวิธีเหมาะสมที่จะจัดการกับอารมณ์ดังกล่าว. แต่จะทำเช่นนี้ได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมความโกรธไว้. ดร. เดบรา พรอโทร-สทิธ ผู้ช่วยคณบดีคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด กล่าวว่า “การเป็นคนใจแคบเป็นที่นิยม. ที่จริง ทักษะในการเข้ากันได้—การเจรจากัน, การประนีประนอม, ความร่วมรู้สึก, การให้อภัย—ตามปกติมีการถือกันว่าคุณลักษณะเหล่านี้เป็นของคนอ่อนแอ.” กระนั้น ก็เป็นคุณลักษณะที่แสดงถึงความเข้มแข็ง และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการควบคุมแนวโน้มที่รุนแรงซึ่งอาจผุดขึ้นในตัวเรา.
เมื่อเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว เปาโลได้เรียนรู้วิธีที่ดีกว่าในการจัดการกับความขัดแย้งด้านความคิดเห็น. วิธีนั้นอาศัยคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล. ในฐานะผู้คงแก่เรียนที่รอบรู้ในศาสนายิว เปาโลคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ท่านคงรู้ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น “อย่าอิจฉาคนห้าว [“รุนแรง,” ล.ม.], และอย่าเลือกทางประพฤติของเขาไว้.” “คนที่อดโทโสได้ก็ดีกว่าคนที่มีกำลังแข็งแรง; คนที่ชนะใจของตนก็ดีกว่าคนที่ชนะตีเมืองได้.” “คนที่ไม่มีอำนาจบังคับระงับใจของตนเองก็เป็นเหมือนเมืองที่หักพังและไม่มีกำแพงเมือง.” (สุภาษิต 3:31; 16:32; 25:28) กระนั้น ความรู้เช่นนั้นไม่ได้สกัดกั้นเปาโลไว้มิให้ใช้ความรุนแรงกับพวกคริสเตียนก่อนท่านเปลี่ยนศาสนา. (ฆะลาเตีย 1:13, 14) แต่อะไรได้ช่วยเปาโล ฐานะเป็นคริสเตียน ให้ยุติประเด็นที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งโดยใช้เหตุผลและการโน้มน้าวใจแทนความรุนแรง?
เปาโลให้เบาะแสแก่เราเมื่อกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงประพฤติตามอย่างข้าพเจ้า, เหมือนข้าพเจ้าประพฤติตามอย่างพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:1) ท่านหยั่งรู้ค่าอย่างมากมายในสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำเพื่อท่าน. (1 ติโมเธียว 1:13, 14) พระคริสต์เป็นแบบอย่างให้ท่านเจริญรอยตาม. ท่านทราบว่าพระเยซูทรงทนทุกข์อย่างไรเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติที่ผิดบาป. (เฮ็บราย 2:18; 5:8-10) เปาโลสามารถยืนยันว่าคำพยากรณ์ของยะซายาเกี่ยวกับพระมาซีฮาได้สำเร็จในตัวพระเยซูที่ว่า “เขาถูกข่มขี่, แต่ขณะเมื่อกำลังถูกทรมานเขาก็หาได้ปริปากไม่; เหมือนดังแกะที่ถูกนำไปฆ่า, เหมือนอย่างแกะตัวเมียไม่อ้าปากร้องต่อหน้าคนตัดขนฉันใด, เขาผู้นั้นก็ไม่ปริปากฉันนั้น.” (ยะซายา 53:7) อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “ครั้นเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์ [พระเยซู], พระองค์ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายตอบแทนเลย เมื่อพระองค์ได้ทรงทนเอาการร้ายเช่นนั้น, พระองค์ไม่ได้ขู่ตวาด แต่ทรงฝากความของพระองค์ไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาโดยชอบธรรม.”—1 เปโตร 2:23, 24.
ความหยั่งรู้ค่าของเปาโลต่อวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดนั้นกระตุ้นท่านให้เปลี่ยนแปลง. ท่านสามารถตักเตือนเพื่อนผู้มีความเชื่อว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น.” (โกโลซาย 3:13, ล.ม.) การยอมรับความจำเป็นที่ต้องไม่เป็นคนรุนแรงนั้นยังไม่พอ. ความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทรงกระทำเพื่อเราช่วยให้มีแรงจูงใจที่จำเป็นเพื่อจะเอาชนะแนวโน้มที่รุนแรง.
เป็นไปได้หรือ?
ชายคนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีแรงจูงใจที่เข้มแข็งดังกล่าว. บิดาของเขาเป็นทหารที่มีอารมณ์ร้อนและปกครองครอบครัวด้วยความรุนแรง. เนื่องจากตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและเห็นมารดาของเขาทนทุกข์คล้ายกัน ชายคนนี้จึงกลายเป็นคนนิสัยรุนแรง. เขามีดาบซามูไรสองเล่มที่ยาวต่างกันซึ่งใช้เพื่อแก้ปัญหาอีกทั้งใช้ขู่ผู้คน.
เมื่อภรรยาของเขาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เขานั่งร่วมด้วยในการศึกษาโดยไม่ได้ถือเป็นเรื่องจริงจัง. แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มเล็กที่มีชื่อว่าข่าวประเสริฐเรื่องราชอาณาจักรนี้ a เขาได้เปลี่ยนแปลง. เพราะเหตุใด? เขาอธิบายว่า “เมื่อผมอ่านเรื่องภายใต้หัวข้อ ‘พระเยซูคริสต์’ และ ‘ค่าไถ่’ ผมรู้สึกละอายใจ. แม้ผมเคยเป็นคนดื้อรั้น ผมยังคงชอบที่จะเป็นคนกรุณาต่อคนเหล่านั้นที่มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับผม. ผมมีความพอใจที่ทำให้พรรคพวกสบายใจ แต่ก็เฉพาะเท่าที่การทำเช่นนั้นจะไม่กระทบกระเทือนชีวิตของผมเอง. ส่วนพระเยซู พระบุตรของพระเจ้า เต็มพระทัยสละชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ รวมทั้งคนอย่างผมด้วย. ผมตะลึงงัน ประหนึ่งถูกตีด้วยค้อน.”
เขาเลิกการคบหากับพรรคพวกแต่ก่อนและไม่ช้าก็สมัครเข้าในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าในประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวา. โรงเรียนนี้ช่วยผู้สมัครให้ได้มาซึ่งศิลปะในการสั่งสอนคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่น. หลักสูตรนั้นนำผลประโยชน์พิเศษมาให้ชายผู้นี้. เขาพูดถึงอดีตว่า “ตอนเป็นเด็ก ผมใช้การข่มขู่และความรุนแรงเพราะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกแก่คนอื่นได้. ขณะที่ผมเรียนรู้การถ่ายทอดความคิดให้คนอื่นแล้ว ผมเริ่มหาเหตุผลกับพวกเขาแทนที่จะใช้ความรุนแรง.”
เช่นเดียวกับเปาโล เขาได้ทำให้วิถีชีวิตของพระคริสต์เป็นแนวทางของตนไหม? ความเชื่อของเขาถูกทดสอบเมื่ออดีตเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเขามีความผูกพันด้วยเนื่องจากคำสาบานเป็นพี่น้องกันนั้นพยายามยับยั้งเขามิให้เข้ามาเป็นคริสเตียน. “เพื่อน” คนนี้ตีเขาและหมิ่นประมาทพระยะโฮวา พระเจ้าของเขา. ชายที่แต่ก่อนเป็นคนรุนแรงผู้นี้บังคับตัวเองแล้วขอโทษที่ไม่สามารถรักษาคำสาบานนั้นได้. ด้วยความผิดหวัง “พี่น้อง” คนนี้เลิกยุ่งกับเขา.
โดยเอาชนะแนวโน้มที่รุนแรงของตน ชายที่แต่ก่อนเป็นคนโกรธง่ายผู้นี้มีพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณมากมาย ซึ่งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน. (โกโลซาย 3:14) ที่จริง มากกว่า 20 ปีหลังจากเข้ามาเป็นคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้ว ปัจจุบันเขารับใช้ฐานะผู้ดูแลเดินทางของพยานพระยะโฮวา. ช่างเป็นความยินดีเสียจริง ๆ สำหรับเขาที่สามารถแสดงให้เห็นจากคัมภีร์ไบเบิลว่า คนที่มีน้ำใจเยี่ยงสัตว์ป่าสามารถเรียนแก้ความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้เช่นเดียวกับที่เขาได้เรียนนั้น! และนับว่าเป็นสิทธิพิเศษสักเพียงไรสำหรับเขาที่สามารถชี้ถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของคำพยากรณ์ที่ว่า “[เขา] เหล่านั้นจะไม่ทำอันตราย, หรือทำความพินาศทั่วไปบนภูเขาอันบริสุทธิ์ของเรา; เพราะแผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.”—ยะซายา 11:9.
เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโลและชายที่แต่ก่อนเป็นคนรุนแรงผู้นี้ คุณสามารถเรียนรู้ได้เช่นกันที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ยั่วยุ แก้ปัญหาอย่างสันติ. พยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นจะยินดีช่วยคุณ.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
[จุดเด่นหน้า 5]
เปาโลตระหนักถึงความเป็นจริง. ท่านทราบว่าอาจเกิดอารมณ์โมโหขึ้นได้แม้แต่ในท่ามกลางคริสเตียน
[รูปภาพหน้า 7]
การหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อเรานำไปสู่สัมพันธภาพที่สงบสุข