ปกป้องข่าวดีต่อหน้าเจ้าหน้าที่ระดับสูง
พระเยซูพูดถึงผู้ชายชาวยิวคนหนึ่งที่เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ว่า “ผู้ชายคนนี้เป็นเครื่องมือที่ผมเลือกไว้เพื่อประกาศชื่อของผมให้กับคนต่างชาติรวมทั้งกษัตริย์” (กจ. 9:15) และต่อมาเราก็รู้จักเขาในชื่อ อัครสาวกเปาโล
หนึ่งใน “กษัตริย์” ที่ข้อคัมภีร์นี้พูดถึงก็คือจักรพรรดิเนโร คิดดูสิ ถ้าเป็นคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องไปพูดปกป้องความเชื่อต่อหน้าผู้ปกครองที่มีอำนาจแบบนั้น? อย่างไรก็ตาม พวกเราทุกคนถูกกระตุ้นให้เลียนแบบเปาโล (1 คร. 11:1) วิธีหนึ่งที่เราจะทำอย่างนั้นได้ก็คือ เราต้องมาดูประสบการณ์ของเปาโลที่ถูกพิจารณาคดีตามกระบวนการทางกฎหมายในสมัยของเขา
กฎหมายของโมเสสเป็นกฎหมายในเขตแดนอิสราเอล และเป็นมาตรฐานศีลธรรมสำหรับคนยิวที่เลื่อมใสพระเจ้าไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน หลังจากวันเพนเทคอสต์ปี 33 ค.ศ. ผู้นมัสการแท้ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายของโมเสสอีกต่อไป (กจ. 15:28, 29; กท. 4:9-11) ถึงอย่างนั้น เปาโลและคริสเตียนคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้พูดดูถูกดูหมิ่นกฎหมายของโมเสส พวกเขาจึงประกาศกับชุมชนชาวยิวหลายแห่งได้โดยไม่มีปัญหาอะไร (1 คร. 9:20) ที่จริง มีหลายครั้งที่เปาโลไปที่ประชุมของชาวยิวเพื่อจะได้ประกาศกับคนที่รู้จักพระเจ้าของอับราฮัม เปาโลคุยกับพวกเขาโดยใช้เหตุผลจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—กจ. 9:19, 20; 13:5, 14-16; 14:1; 17:1, 2
ที่แรกที่พวกอัครสาวกเลือกให้เป็นศูนย์กลางเพื่อชี้นำการประกาศก็คือกรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น พวกเขาสอนในวิหารเป็นประจำ (กจ. 1:4; 2:46; 5:20) มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนที่เปาโลอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม เขาถูกจับกุม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายและในที่สุดก็ถูกส่งไปที่โรม
เปาโลใช้ประโยชน์จากกฎหมายของโรม
เจ้าหน้าที่ของโรมรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เปาโลประกาศ? ก่อนอื่น เราต้องรู้ก่อนว่าคนโรมันรู้สึกอย่างไรกับศาสนาโดยทั่ว ๆ ไป พวกเขาไม่ได้บังคับให้คนชาติอื่นที่อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมต้องเปลี่ยนศาสนา ยกเว้นถ้าศาสนานั้นอาจเป็นอันตรายต่อรัฐหรือต่อศีลธรรม
โรมให้ชาวยิวมีสิทธิค่อนข้างมากในจักรวรรดิของเขา หนังสือ ภูมิหลังของคริสเตียนในยุคแรก (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ศาสนายิวได้รับสิทธิต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรม . . . ชาวยิวมีอิสระที่จะนับถือศาสนาของตัวเองและได้รับการยกเว้นไม่ต้องนมัสการพระต่าง ๆ ของโรม พวกเขาได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตในชุมชนของพวกเขาตามกฎหมายของตัวเอง” ชาวยิวไม่ต้องเป็นทหารด้วยa ดังนั้น เปาโลจึงใช้ประโยชน์จากสิทธิต่าง ๆ ที่กฎหมายโรมให้กับชาวยิวเมื่อเขาพูดปกป้องความเชื่อของคริสเตียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของโรม
คนที่ต่อต้านเปาโลใช้หลายวิธีในการปลุกระดมประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ต่อต้านเปาโล (กจ. 13:50; 14:2, 19; 18:12, 13) มาดูตัวอย่างหนึ่งด้วยกัน พวกผู้ดูแลของประชาคมเยรูซาเล็มได้ยินข่าวลือที่ชาวยิวพูดกันว่าเปาโลบอก “ให้ทิ้งกฎหมายของโมเสส” พอได้ยินอย่างนี้ชาวยิวบางคนที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนก็อาจคิดว่าเปาโลไม่ให้ความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระเจ้า และเป็นไปได้ว่าศาลแซนเฮดรินอาจตัดสินพวกคริสเตียนว่าพวกเขาสอนให้ทิ้งความเชื่อของศาสนายิว ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวยิวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ก็จะถูกลงโทษ พวกเขาจะถูกสังคมรังเกียจและถูกห้ามไม่ให้ประกาศในวิหารหรือที่ประชุมของชาวยิว ดังนั้น พวกผู้ดูแลจึงแนะนำให้เปาโลพิสูจน์ให้ได้ว่าข่าวลือนั้นไม่เป็นความจริง พวกเขาบอกให้เปาโลเข้าไปที่วิหารและทำสิ่งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด—กจ. 21:18-27
เปาโลทำตามคำแนะนำของพวกผู้ดูแล และนั่นทำให้เขามีโอกาส ‘ปกป้องข่าวดีและพยายามทำให้การประกาศข่าวดีเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย’ (ฟป. 1:7) ที่วิหาร ชาวยิวประท้วงและอยากจะฆ่าเปาโล ผู้บังคับกองพันของโรมจับกุมเปาโล แต่ก่อนที่เปาโลจะถูกเฆี่ยน เปาโลบอกว่าตัวเขาเองเป็นพลเมืองโรมัน เขาจึงถูกจับไปเมืองซีซารียาซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารงานของโรมันในแคว้นยูเดีย ที่นั่น เปาโลมีโอกาสประกาศอย่างกล้าหาญต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นโอกาสที่หายากจริง ๆ และยังเป็นการบอกให้คนที่ไม่ค่อยรู้จักศาสนาคริสต์ได้รู้จักมากขึ้น
กิจการบท 24 อธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เปาโลถูกพิจารณาคดีต่อหน้าเฟลิกส์ผู้ว่าราชการโรมันของแคว้นยูเดีย เฟลิกส์เคยได้ยินเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียนอยู่บ้าง ชาวยิวกล่าวหาเปาโลว่าละเมิดกฎหมายของโรมอย่างน้อย 3 ข้อ พวกเขาบอกว่าเปาโลปลุกระดมชาวยิวทั่วจักรวรรดิให้ต่อต้านรัฐบาล บอกว่าเขาเป็นผู้นำนิกายอันตราย และบอกว่าเขาลบหลู่วิหารซึ่งในตอนนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของโรม (กจ. 24:5, 6) ข้อหาทั้งหมดนี้อาจทำให้เปาโลถูกตัดสินประหารชีวิตได้
คริสเตียนในทุกวันนี้ได้รับประโยชน์เมื่อพิจารณาวิธีที่เปาโลให้การในข้อหาต่าง ๆ เขามีสติและให้ความนับถือ เปาโลอ้างถึงกฎหมายของโมเสสและหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ และเรียกร้องสิทธิที่จะนมัสการ ‘พระเจ้าของบรรพบุรุษของเขา’ ซึ่งเป็นสิทธิที่ชาวยิวคนอื่น ๆ ก็ได้รับภายใต้กฎหมายของโรม (กจ. 24:14) ต่อมาไม่นาน เปาโลก็มีโอกาสประกาศและพูดปกป้องความเชื่อต่อหน้าผู้ปกครองอีกคนหนึ่งคือปอร์สิอัสเฟสทัส และต่อหน้ากษัตริย์เฮโรดอากริปปา
ในที่สุด เพื่อเปาโลจะได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรม เขาจึงพูดว่า “ผมขอร้องเรียนต่อซีซาร์” นั่นก็คือผู้ปกครองที่มีอำนาจมากที่สุดในสมัยนั้น—กจ. 25:11
การพิจารณาคดีของเปาโลต่อหน้าศาลของซีซาร์
ทูตสวรรค์มาบอกเปาโลว่า “คุณจะต้องไปยืนต่อหน้าซีซาร์” (กจ. 27:24) ซีซาร์หรือจักรพรรดิเนโรได้บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นของการขึ้นครองราชย์ว่าเขาจะไม่ตัดสินสำหรับทุกคดี ในช่วง 8 ปีแรกที่เนโรปกครอง ส่วนใหญ่แล้วเขาจะให้คนอื่นตัดสินแทน หนังสือชีวิตและจดหมายของนักบุญเปาโล (ภาษาอังกฤษ) เขียนไว้ว่า เมื่อจักรพรรดิเนโรตัดสินคดี เขาจะฟังความที่วังของเขาเอง และมีที่ปรึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์และมีอิทธิพลคอยช่วย
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าจักรพรรดิเนโรตัดสินคดีของเปาโลเองหรือไม่ หรือเขามอบหมายให้ใครตัดสินคดีนี้แล้วรายงานต่อจักรพรรดิ ไม่ว่าจะอย่างไร เปาโลก็คงได้อธิบายว่าเขานมัสการพระเจ้าของชาวยิวและสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือกับทางรัฐตามที่สมควร (รม. 13:1-7; ทต. 3:1, 2) เปาโลประสบผลสำเร็จในการปกป้องข่าวดี เพราะศาลของซีซาร์ปล่อยตัวเขา—ฟป. 2:24; ฟม. 22
หน้าที่ของพวกเราในการปกป้องข่าวดี
พระเยซูบอกสาวกของท่านว่า “คุณจะถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าผู้ว่าราชการและกษัตริย์เพราะคุณเป็นสาวกของผม แล้วคุณจะได้บอกพวกเขาและคนต่างชาติให้รู้ความจริง” (มธ. 10:18) เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้เป็นตัวแทนของพระเยซูในเรื่องนี้ พวกเราอาจได้รับชัยชนะทางกฎหมายจากการพยายามปกป้องข่าวดี แต่ไม่ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์จะตัดสินอย่างไร เราก็มีสิทธิที่จะประกาศข่าวดี เพราะพระยะโฮวาให้สิทธินั้นกับเรา รัฐบาลของพระเจ้าเท่านั้นที่จะกำจัดความไม่ยุติธรรมและการกดขี่ข่มเหงทั้งหมดได้—ปญจ. 8:9; ยรม. 10:23
คริสเตียนในทุกวันนี้ก็ทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญเมื่อพวกเขาพูดปกป้องความเชื่อ เหมือนกับที่เปาโลทำเราควรพยายามมีสติ จริงใจ และพูดอย่างน่าเชื่อถือ พระเยซูบอกสาวกว่าพวกเขาไม่จำเป็น ‘ต้องซ้อมไว้ก่อนว่าจะพูดอะไร เพราะท่านจะให้พวกเขามีสติปัญญาและรู้ว่าจะพูดอะไรจนพวกที่รวมหัวกันต่อต้านพวกเขาจะคัดค้านหรือโต้แย้งไม่ได้’—ลก. 21:14, 15; 2 ทธ. 3:12; 1 ปต. 3:15
เมื่อคริสเตียนได้พูดปกป้องความเชื่อต่อหน้ากษัตริย์ ผู้ปกครองบ้านเมือง หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูง พวกเขาก็มีโอกาสได้ประกาศกับคนที่ในความเป็นจริงแล้วยากมากที่จะได้เจอ นอกจากนั้น การตัดสินความของศาลในบางครั้งก็เกิดผลดี และทำให้มีการปรับประมวลกฎหมายบางอย่างเพื่อปกป้องเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ไม่ว่าผลตัดสินจะเป็นอย่างไรในแต่ละคดี พระเจ้าก็มีความสุขที่ได้เห็นความกล้าหาญของผู้รับใช้ของพระองค์
a นักเขียนชื่อ เจมส์ พาร์ค บอกว่า “ชาวยิว . . . ได้รับสิทธิที่จะทำตามพิธีทางศาสนาต่าง ๆ ของตัวเอง ที่จริง นี่ไม่ใช่สิทธิพิเศษอะไร เพราะมันเป็นธรรมเนียมที่รัฐโรมทำเป็นปกติอยู่แล้ว พวกเขาให้สิทธิกับผู้คนในเขตการปกครองตนเองในจักรวรรดิอย่างเต็มที่”