บท 8
ประชาคม “มีช่วงเวลาที่สงบสุขช่วงหนึ่ง”
เซาโลผู้ข่มเหงที่โหดร้ายเข้ามาเป็นผู้ประกาศที่กระตือรือร้น
จากกิจการ 9:1-43
1, 2. เซาโลตั้งใจจะทำอะไรในเมืองดามัสกัส?
พวกนักเดินทางที่หน้าตาโหดร้ายใกล้จะถึงเมืองดามัสกัส พวกเขาตั้งใจจะทำสิ่งชั่วร้ายที่เมืองนั้น พวกเขาจะลากตัวเหล่าสาวกที่พวกเขาเกลียดชังออกจากบ้าน จับมัด ทำให้อับอาย แล้วก็ลากตัวไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการลงโทษจากสภาแซนเฮดริน
2 ผู้นำคนกลุ่มนี้คือเซาโล เซาโลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าคนอยู่แล้วa ไม่นานมานี้ ตอนที่ชาวยิวที่บ้าคลั่งเอาหินขว้างสเทเฟนสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูจนตาย เซาโลก็ยืนมองพวกเขาอยู่และเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำ (กจ. 7:57–8:1) หลังจากนั้น เซาโลก็เริ่มข่มเหงสาวกของพระเยซูที่อยู่ในเยรูซาเล็ม และเขาก็ยังนำหน้าในการข่มเหงสาวกของพระเยซูในเมืองอื่น ๆ ด้วย เขาต้องการจะกำจัดนิกายซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “ทางนั้น” ซึ่งกำลังแพร่ไปเหมือนโรคระบาด—กจ. 9:1, 2; ดูกรอบ “อำนาจที่เซาโลมีเพื่อจัดการคริสเตียนในเมืองดามัสกัส”
3, 4. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเซาโล? (ข) เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไรบ้าง?
3 แต่จู่ ๆ ก็มีแสงสว่างจ้าส่องรอบตัวเซาโล เพื่อนร่วมเดินทางเห็นแสงสว่างและตกตะลึงจนพูดไม่ออก เซาโลตาบอดแล้วล้มลงกับพื้น แม้จะมองไม่เห็น เซาโลก็ได้ยินเสียงจากท้องฟ้าว่า “เซาโล เซาโล คุณข่มเหงผมทำไม?” เซาโลตกใจมากจนถามออกไปว่า “นายท่าน ท่านเป็นใคร?” คำตอบที่ได้รับคงต้องทำให้เซาโลตกใจมากขึ้นไปอีก เสียงนั้นตอบกลับมาว่า “ผมคือเยซูผู้ที่คุณข่มเหง”—กจ. 9:3-5; 22:9
4 เราเรียนอะไรได้จากคำพูดประโยคแรกที่พระเยซูพูดกับเซาโล? เราได้รับประโยชน์อะไรเมื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนที่เซาโลเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู? และเราได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากวิธีที่ประชาคมใช้ช่วงเวลาที่สงบสุขหลังจากการเปลี่ยนศาสนาของเซาโล?
“คุณข่มเหงผมทำไม?” (กิจการ 9:1-5)
5, 6. เราเรียนอะไรได้จากคำพูดประโยคแรกที่พระเยซูพูดกับเซาโล?
5 ตอนที่พระเยซูหยุดเซาโลตอนที่เขากำลังเดินทางไปเมืองดามัสกัส พระเยซูไม่ได้ถามเซาโลว่า “คุณข่มเหงเหล่าสาวกของผมทำไม?” แต่ท่านถามว่า “คุณข่มเหงผมทำไม?” (กจ. 9:4) ใช่แล้ว ตอนที่สาวกของพระเยซูเจอความลำบาก ท่านรู้สึกเหมือนกับว่าตัวท่านเองกำลังเจอความลำบากนั้นอยู่—มธ. 25:34-40, 45
6 ถ้าคุณถูกข่มเหงเพราะมีความเชื่อในพระคริสต์ ก็ขอให้มั่นใจว่าทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูรู้ดีว่าคุณต้องเจอกับอะไรบ้าง (มธ. 10:22, 28-31) ถึงแม้ตอนนี้พระยะโฮวาอาจไม่ได้ทำให้ความลำบากทุกอย่างที่คุณเจอหมดไป แต่ขออย่าลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับคริสเตียนในอดีต พระเยซูเห็นตอนที่เซาโลมีส่วนในการตายของสเทเฟน ท่านเห็นเซาโลฉุดลากพวกสาวกที่ซื่อสัตย์ไปจากบ้านของเขาในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ. 8:3) แต่ถึงอย่างนั้น พระเยซูก็ไม่ได้ทำให้การข่มเหงในตอนนั้นยุติลง แต่สิ่งที่พระยะโฮวาทำในตอนนั้นก็คือ โดยทางพระเยซู พระยะโฮวาให้กำลังที่จำเป็นกับสเทเฟนและสาวกคนอื่น ๆ เพื่อพวกเขาจะรักษาความซื่อสัตย์ได้
7. คุณต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะอดทนการข่มเหง?
7 คุณก็สามารถอดทนกับการข่มเหงได้เหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องทำ (1) ตั้งใจรักษาความภักดีไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (2) อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา (ฟป. 4:6, 7) (3) มองว่าการแก้แค้นเป็นหน้าที่ของพระยะโฮวา (รม. 12:17-21) (4) วางใจว่าพระยะโฮวาจะให้กำลังเพื่อคุณจะอดทนได้ และเมื่อพระองค์เห็นว่าเหมาะ พระองค์ก็จะกำจัดความลำบากที่คุณเจอให้หมดไป—ฟป. 4:12, 13
“พี่น้องเซาโล . . . ผู้เป็นนาย . . . ได้ใช้ผมมา” (กิจการ 9:6-17)
8, 9. อานาเนียอาจรู้สึกยังไงเกี่ยวกับงานมอบหมายที่เขาได้รับ?
8 หลังจากตอบคำถามของเซาโลที่บอกว่า “นายท่าน ท่านเป็นใคร?” พระเยซูก็พูดกับเขาว่า “ลุกขึ้น แล้วเข้าไปในเมือง จะมีคนบอกคุณว่าจะต้องทำอะไรต่อไป” (กจ. 9:6) เซาโลที่ตอนนั้นตาบอดอยู่ได้ถูกจูงไปถึงบ้านพักของเขาในเมืองดามัสกัส เขาอดอาหารและอธิษฐานอยู่ที่นั่น 3 วัน ระหว่างนั้น พระเยซูได้พูดเรื่องเซาโลกับสาวกคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองนั้น สาวกคนนี้ชื่ออานาเนีย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ชาวยิวทุกคนที่นั่น [ดามัสกัส] พูดถึงเขาในแง่ดี”—กจ. 22:12
9 ลองคิดดูสิว่าอานาเนียคงต้องรู้สึกสับสนมากขนาดไหน! พระเยซูที่ฟื้นขึ้นจากตายซึ่งเป็นผู้นำของประชาคมได้พูดกับเขาเป็นส่วนตัว พระเยซูมอบหมายงานให้เขาทำเป็นพิเศษ อานาเนียคงรู้สึกว่าตัวเองได้รับเกียรติจริง ๆ ที่พระเยซูมามอบหมายงานให้กับเขา แต่งานที่เขาได้รับก็ไม่ง่ายเลย พอรู้ว่าต้องไปพูดกับเซาโล อานาเนียบอกพระเยซูว่า “นายท่าน ผมได้ยินหลายคนพูดถึงผู้ชายคนนี้ว่าเขาได้ทำร้ายพวกสาวกของท่านในกรุงเยรูซาเล็ม และตอนนี้เขาได้รับอำนาจจากพวกปุโรหิตใหญ่ให้มาจับตัวทุกคนที่พูดถึงชื่อของท่าน”—กจ. 9:13, 14
10. เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระเยซูพูดกับอานาเนีย?
10 พระเยซูไม่ได้ตำหนิอานาเนียที่รู้สึกกังวลแบบนั้น แต่ท่านก็ให้คำแนะนำที่ชัดเจนกับเขา และท่านก็คำนึงถึงความรู้สึกของเขาโดยบอกให้รู้เหตุผลว่าทำไมท่านถึงมอบหมายงานนี้ให้ พระเยซูพูดเกี่ยวกับเซาโลว่า “ผู้ชายคนนี้เป็นเครื่องมือที่ผมเลือกไว้เพื่อประกาศชื่อของผมให้กับคนต่างชาติรวมทั้งกษัตริย์และคนอิสราเอล ผมจะทำให้เขารู้ว่าเขาจะต้องทนทุกข์เพื่อชื่อของผมมากขนาดไหน” (กจ. 9:15, 16) อานาเนียเชื่อฟังพระเยซูทันที เขาไปหาเซาโลผู้ข่มเหงแล้วพูดว่า “พี่น้องเซาโล พระเยซูผู้เป็นนายซึ่งปรากฏกับคุณตอนที่เดินทางมาได้ใช้ผมมาช่วยคุณให้มองเห็นอีก และช่วยให้คุณเต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์”—กจ. 9:17
11, 12. เราเรียนอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระเยซู อานาเนีย และเซาโล?
11 เราเรียนได้หลายอย่างจากเหตุการณ์นี้ที่เกี่ยวกับพระเยซู อานาเนีย และเซาโล ตัวอย่างเช่น พระเยซูมีบทบาทอย่างมากในการชี้นำงานประกาศ เหมือนที่ท่านได้สัญญาไว้ว่าจะทำอย่างนั้น (มธ. 28:20) ถึงแม้ในทุกวันนี้พระเยซูไม่ได้พูดกับใครโดยตรง แต่ท่านก็ชี้นำงานประกาศโดยทางทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุมซึ่งท่านได้แต่งตั้งไว้ให้ดูแลพวกคนรับใช้ในตอนนี้ (มธ. 24:45-47) โดยได้รับการชี้นำจากคณะกรรมการปกครอง ผู้ประกาศ และไพโอเนียร์ ถูกส่งออกไปหาผู้คนที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซู เหมือนที่เราได้คุยกันแล้วในบทก่อน หลายคนได้อธิษฐานขอการชี้นำจากพระเจ้า แล้วหลังจากนั้นก็มีพยานพระยะโฮวาติดต่อพวกเขา—กจ. 9:11
12 เราได้เรียนเกี่ยวกับอานาเนียด้วย เขาเชื่อฟัง ยอมรับงานมอบหมาย และได้รับพร คุณเชื่อฟังคำสั่งที่ให้ประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วนไหม แม้ว่างานมอบหมายนี้อาจทำให้คุณรู้สึกกลัวอยู่บ้าง? สำหรับบางคน การไปตามบ้านและพบคนแปลกหน้าอาจทำให้กังวล ส่วนบางคนก็รู้สึกว่ายากที่จะประกาศกับผู้คนในเขตธุรกิจ ตามถนน ประกาศโดยเขียนจดหมาย หรือทางโทรศัพท์ แต่อานาเนียเอาชนะความกลัวและได้รับสิทธิพิเศษในการช่วยเซาโลให้ได้รับพลังบริสุทธิ์b อานาเนียประสบความสำเร็จเพราะเขาวางใจพระเยซู และมองว่าเซาโลอาจเข้ามาเป็นพี่น้องของเขาจริง ๆ เหมือนกับอานาเนีย เราก็สามารถเอาชนะความกลัวได้ถ้าเราวางใจว่าพระเยซูกำลังชี้นำงานประกาศ และถ้าเรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมองว่าแม้แต่คนที่เคยข่มเหงก็อาจเข้ามาเป็นพี่น้องของเราด้วย—มธ. 9:36
เขา ‘เริ่มประกาศเรื่องพระเยซู’ (กิจการ 9:18-30)
13, 14. ถ้าคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอยู่ แต่ยังไม่ได้รับบัพติศมา คุณจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเซาโล?
13 เซาโลทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ทันที หลังจากได้รับการรักษาแล้ว เขารับบัพติศมาและเริ่มคบหาใกล้ชิดกับเหล่าสาวกในเมืองดามัสกัส แต่เขาทำยิ่งกว่านั้นอีก เขา “เริ่มไปประกาศตามที่ประชุมของชาวยิวทันทีว่าพระเยซูเป็นลูกของพระเจ้า”—กจ. 9:20
14 ถ้าคุณกำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่ยังไม่ได้รับบัพติศมา คุณจะทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ทันทีเหมือนเซาโลไหม? จริงอยู่ เซาโลได้เห็นการอัศจรรย์ที่พระเยซูทำโดยตรง และไม่ต้องสงสัยว่านี่คงกระตุ้นเขาให้รับบัพติศมา คนอื่นก็ได้เห็นการอัศจรรย์ที่พระเยซูทำด้วย แต่พวกเขาไม่ได้ลงมือทำอะไร ตัวอย่างเช่น ฟาริสีกลุ่มหนึ่งได้เห็นตอนที่พระเยซูรักษาผู้ชายมือลีบ และชาวยิวจำนวนมากก็รู้กันทั่วว่าพระเยซูได้ปลุกลาซารัสให้ฟื้นขึ้นจากตาย แต่พวกเขาหลายคนก็ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ติดตามพระเยซู บางคนถึงกับต่อต้านท่านด้วยซ้ำ (มก. 3:1-6; ยน. 12:9, 10) ในทางตรงกันข้าม เซาโลได้เปลี่ยนความคิด ทำไมเซาโลถึงตอบรับทั้ง ๆ ที่คนอื่นปฏิเสธพระเยซู? ที่เป็นอย่างนี้เพราะเซาโลเกรงกลัวพระเจ้ามากกว่ามนุษย์ และเขารู้สึกขอบคุณอย่างมากที่พระเยซูเมตตาเขา (ฟป. 3:8) ถ้าคุณตอบรับอย่างเดียวกัน คุณก็จะไม่ยอมให้อะไรมายับยั้งคุณไว้ไม่ให้ประกาศ หรือยับยั้งคุณไม่ให้รับบัพติศมา
15, 16. เซาโลได้ทำอะไรในที่ประชุม และชาวยิวในดามัสกัสรู้สึกยังไงกับสิ่งที่เขาทำ?
15 ลองคิดดูสิว่าฝูงชนจะประหลาดใจ ตกใจ และโกรธแค้นขนาดไหนเมื่อได้เห็นเซาโลประกาศในที่ประชุม? พวกเขาถามว่า “คนนี้ไม่ใช่หรือที่ทำร้ายคนในกรุงเยรูซาเล็มที่เชื่อในชื่อของคนนั้น?” (กจ. 9:21) ตอนอธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนมาเชื่อพระเยซู เซาโล “ให้ข้อพิสูจน์อย่างสมเหตุสมผลว่าพระเยซูคือพระคริสต์” (กจ. 9:22) แต่การพิสูจน์อย่างสมเหตุสมผลอย่างนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เหตุผลเหล่านั้นไม่อาจเปลี่ยนความคิดของคนที่ยืนกรานว่าต้องใช้ชีวิตตามประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา และไม่อาจเปลี่ยนความคิดของคนหยิ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง เซาโลก็ไม่เลิกประกาศ
16 สามปีต่อมา ชาวยิวในเมืองดามัสกัสยังคงต่อต้านเซาโล ในที่สุด พวกเขาก็หาทางจะฆ่าเซาโล (กจ. 9:23; 2 คร. 11:32, 33; กท. 1:13-18) เมื่อรู้แผนร้ายนั้น เซาโลเลือกตัดสินใจอย่างฉลาด เขาแอบหนีออกจากเมือง โดยนั่งอยู่ในตะกร้าหวายและให้คนอื่นหย่อนลงมาทางช่องหน้าต่างบนกำแพงเมือง ลูกาบอกว่าคนที่ได้ช่วยเซาโลให้หนีไปในคืนนั้นเป็น “ศิษย์ของเซาโล” (กจ. 9:25) จากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยก็มีบางคนฟังสิ่งที่เซาโลพูดในดามัสกัส คนเหล่านี้ยอมรับสิ่งที่เซาโลประกาศและเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู
17. (ก) ผู้คนอาจรู้สึกยังไงต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิล? (ข) เราควรพยายามทำอะไรต่อ ๆ ไป และเพราะอะไร?
17 เมื่อคุณเริ่มบอกข่าวดีที่ได้เรียนกับครอบครัว เพื่อน ๆ และคนอื่นเป็นครั้งแรก คุณอาจคาดหมายว่าทุกคนจะยอมรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเพราะมันเป็นเรื่องที่มีเหตุผล บางคนอาจยอมรับ แต่ก็มีหลายคนปฏิเสธ ที่จริง สมาชิกในครอบครัวของคุณอาจทำเหมือนกับว่าคุณเป็นศัตรู (มธ. 10:32-38) แต่ถ้าคุณพยายามพัฒนาความสามารถที่จะหาเหตุผลจากคัมภีร์ไบเบิลต่อ ๆ ไป และถ้าคุณพยายามรักษาความประพฤติที่ดีแบบคริสเตียน ในที่สุด คนที่ต่อต้านก็อาจเปลี่ยนความคิดได้—กจ. 17:2; 1 ปต. 2:12; 3:1, 2, 7
18, 19. (ก) เกิดอะไรขึ้นเมื่อบาร์นาบัสยืนยันว่าเซาโลเข้ามาเป็นสาวกจริง ๆ? (ข) เราจะเลียนแบบบาร์นาบัสและเซาโลได้ยังไง?
18 ตอนที่เซาโลเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็ม เราคงนึกภาพออกว่าสาวกบางคนอาจไม่แน่ใจเมื่อได้รู้ว่าตอนนี้เซาโลเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น หลังจากที่บาร์นาบัสยืนยันว่าเซาโลได้เข้ามาเป็นสาวกจริง ๆ อัครสาวกก็ยอมรับเซาโล และเซาโลก็ได้อยู่กับพวกเขาช่วงหนึ่ง (กจ. 9:26-28) เซาโลเป็นคนสุขุม แต่เขาก็ไม่อายที่จะประกาศข่าวดี (รม. 1:16) เซาโลประกาศอย่างกล้าหาญในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นที่แรกที่เขาเริ่มข่มเหงเหล่าสาวกของพระเยซูอย่างโหดร้าย ชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มโกรธที่ได้รู้ว่าคนที่เคยนำหน้าในการกำจัดพวกคริสเตียน กลับเข้ามาเป็นคริสเตียนซะเอง ตอนนี้พวกเขาหาทางฆ่าเซาโล คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อพวกพี่น้องรู้เรื่องนี้ก็พาเซาโลไปที่เมืองซีซารียาแล้วส่งต่อไปที่เมืองทาร์ซัส” (กจ. 9:30) เซาโลยอมทำตามการชี้นำของพระเยซูที่ผ่านมาทางประชาคม ทั้งเซาโลและประชาคมได้รับประโยชน์จากการทำอย่างนั้น
19 บาร์นาบัสได้พยายามช่วยเหลือเซาโล เรามั่นใจว่าสิ่งที่บาร์นาบัสทำจะช่วยให้ผู้รับใช้ที่มีความกระตือรือร้น 2 คนนี้สนิทและรักกันมากขึ้น เหมือนกับบาร์นาบัส คุณเต็มใจช่วยเหลือคนใหม่ ๆ ในประชาคมโดยทำงานรับใช้ร่วมกับเขาไหม? และคุณพยายามช่วยเขาให้ก้าวหน้ามากขึ้นไหม? ถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณก็จะได้รับพรอย่างแน่นอน นอกจากนั้น ถ้าคุณเพิ่งเป็นผู้ประกาศเหมือนกับเซาโล คุณจะยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ไหม? คุณอาจทำงานด้วยกันกับผู้ประกาศที่มีประสบการณ์มากกว่า การทำอย่างนั้นจะช่วยคุณให้พัฒนาทักษะในการประกาศ และคุณก็จะมีความสุขมากขึ้น และจะมีเพื่อนที่รักและสนิทกันตลอดไป
“มีหลายคนเข้ามาเป็นสาวก” (กิจการ 9:31-43)
20, 21. ผู้รับใช้ของพระเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้พยายามใช้ ‘ช่วงเวลาที่สงบสุข’ อย่างเต็มที่ยังไง?
20 หลังจากที่เซาโลเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน และหนีออกจากเยรูซาเล็มอย่างปลอดภัยแล้ว “ประชาคมทั่วแคว้นยูเดีย กาลิลี และสะมาเรียจึงมีช่วงเวลาที่สงบสุขช่วงหนึ่ง” (กจ. 9:31) พวกสาวกใช้ “ตอนที่สะดวก” นี้ยังไง? (2 ทธ. 4:2) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ประชาคมก็เข้มแข็งขึ้น” พวกอัครสาวกและพี่น้องชายคนอื่น ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ช่วยให้เหล่าสาวกมีความเชื่อเข้มแข็ง พวกเขานำหน้าอย่างดีจนทำให้พี่น้องในประชาคม “ใช้ชีวิตตามแนวทางของพระยะโฮวา และได้รับกำลังใจจากพลังบริสุทธิ์” ตัวอย่างเช่น เปโตรใช้เวลาช่วยพวกสาวกในเมืองลิดดาและในที่ราบชาโรนให้เข้มแข็ง การทำอย่างนั้นได้ทำให้หลายคนซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น “เข้ามาเป็นสาวกของผู้เป็นนาย” (กจ. 9:32-35) เหล่าสาวกไม่ได้ถูกชักนำให้เขวไปติดตามเป้าหมายอื่น ๆ แต่ได้ทุ่มเทตัวเอาใจใส่ดูแลกัน และประกาศข่าวดี ผลก็คือประชาคม “มีคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
21 ตอนใกล้จะจบศตวรรษที่ 20 พยานพระยะโฮวาในหลายประเทศก็มี ‘ช่วงเวลาที่สงบสุข’ จู่ ๆ ระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชนของพระเจ้ามานานหลายสิบปีได้มาถึงจุดจบ และในบางประเทศการประกาศก็ง่ายขึ้น หรือถึงขั้นยกเลิกการสั่งห้ามงานประกาศเลยด้วยซ้ำ พยานพระยะโฮวาหลายหมื่นคนได้ใช้โอกาสนี้เพื่อประกาศ และนี่ส่งผลดีที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ
22. คุณจะใช้เสรีภาพที่คุณมีในการประกาศอย่างเต็มที่ได้ยังไง?
22 คุณกำลังใช้เสรีภาพที่คุณมีในการประกาศอย่างเต็มที่ไหม? ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพทางศาสนา ซาตานก็คงอยากจะล่อใจคุณให้ติดตามเป้าหมายที่จะมีเงินมาก ๆ แทนที่จะรับใช้พระยะโฮวา (มธ. 13:22) อย่าถูกชักนำให้เขว ขอให้คุณใช้ช่วงเวลาที่สงบในตอนนี้อย่างดีที่สุด ให้มองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่จะประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วน และช่วยให้ประชาคมเข้มแข็งขึ้น ขอจำไว้ว่า สภาพการณ์ของคุณอาจเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
23, 24. (ก) เราได้บทเรียนสำคัญอะไรบ้างจากเรื่องราวของทาบิธา? (ข) เราควรตั้งใจจะทำอะไร?
23 ลองคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสาวกคนหนึ่งที่ชื่อทาบิธา หรือโดร์คัส เธออยู่ในเมืองยัฟฟาไม่ไกลจากเมืองลิดดา พี่น้องหญิงผู้ซื่อสัตย์คนนี้ได้ใช้เวลาและทรัพย์สินที่เธอมีอย่างฉลาดสุขุม เธอ “ทำสิ่งดี ๆ มากมายและช่วยเหลือคนยากคนจน” แต่จู่ ๆ เธอก็ป่วยและตายc พอเธอตาย เหล่าสาวกในเมืองยัฟฟาก็โศกเศร้าเสียใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแม่ม่ายที่รู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของเธอ เมื่อเปโตรมาถึงบ้านที่กำลังเตรียมเอาศพเธอไปฝัง เปโตรได้ทำการอัศจรรย์แบบที่อัครสาวกของพระเยซูไม่เคยทำมาก่อน เปโตรอธิษฐานและเขาก็ปลุกทาบิธาให้ฟื้นขึ้นจากตาย! ลองคิดดูสิว่าพวกแม่ม่ายและสาวกคนอื่น ๆ จะรู้สึกยังไงตอนที่เปโตรเรียกพวกเขากลับเข้ามาในห้อง และพวกเขาก็เห็นว่าทาบิธาฟื้นขึ้นมาแล้ว เหตุการณ์นี้คงต้องเสริมความเชื่อพวกเขาแน่ ๆ และช่วยพวกเขาให้รับมือกับการทดสอบที่มีอยู่ข้างหน้า! แน่นอน “เรื่อง [การอัศจรรย์] นี้ก็รู้กันไปทั่วเมืองยัฟฟา และมีหลายคนเข้ามาเป็นสาวกของผู้เป็นนาย”—กจ. 9:36-42
24 เราได้บทเรียนสำคัญ 2 อย่างจากเรื่องราวที่น่าประทับใจนี้ (1) ชีวิตเราอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เราอาจเสียชีวิตเมื่อไรก็ได้ ดังนั้น สำคัญที่เราจะสร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระเจ้าตั้งแต่ตอนนี้ที่เราสามารถทำได้ (ปญจ. 7:1) (2) ความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายจะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน พระยะโฮวาสังเกตเห็นสิ่งดีที่ทาบิธาทำด้วยความรัก และพระองค์ให้รางวัลกับเธอ คล้ายกัน พระองค์จะคิดถึงงานหนักที่เราทำ และถ้าเราต้องตายก่อนอาร์มาเกดโดน เราก็มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะปลุกเราให้ฟื้นขึ้นจากตาย (ฮบ. 6:10) ดังนั้น ไม่ว่าตอนนี้เรากำลังอดทนอยู่ใน “ตอนที่ลำบาก” หรือว่าอยู่ใน ‘ช่วงเวลาที่สงบสุข’ ก็ขอให้เราอดทนต่อ ๆ ไปและพยายามประกาศเรื่องพระเยซูอย่างละเอียดถี่ถ้วน—2 ทธ. 4:2
a ดูกรอบ “เซาโลชาวฟาริสี”
b ตามปกติ มีการให้พลังบริสุทธิ์ผ่านทางพวกอัครสาวก แต่ในสภาพการณ์ที่ไม่ธรรมดานี้ ดูเหมือนว่าพระเยซูได้ให้อำนาจกับอานาเนียเพื่อเขาจะให้พลังบริสุทธิ์กับเซาโล หลังจากที่เซาโลเข้ามาเป็นคริสเตียน เขาแยกตัวและไม่ได้ติดต่อกับอัครสาวก 12 คนเป็นเวลานานพอสมควร แต่ในช่วงเวลานั้น เขาก็ยังคงทำงานอย่างขยันขันแข็ง ดังนั้น ดูเหมือนว่าพระเยซูทำให้มั่นใจว่าเซาโลได้รับพลังที่จำเป็นเพื่อจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
c ดูกรอบ “ทาบิธา—‘เธอทำสิ่งดี ๆ มากมาย’”