คำอธิษฐานของผู้ใดได้รับคำตอบ?
คำอธิษฐานทำให้สิ่งต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จยิ่งกว่าโลกเพ้อฝัน.” อัลเฟรด เทนนีสัน กวีชาวอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 19 ได้กล่าวไว้เช่นนั้น. หลายคนได้อธิษฐานขอให้มีสุขภาพดี มีความสุข สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง แต่ไร้ผล. ที่จริง บางคนรู้สึกว่า พระเจ้ามิได้สดับคำอธิษฐานจริง ๆ. กระนั้น พระคัมภีร์เรียกพระองค์ว่า “ผู้สดับคำอธิษฐาน.”—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
ทั้งนี้อาจทำให้คุณถามว่า ‘“ผู้สดับฟังคำอธิษฐาน” นี้เป็นใคร? เราต้องบรรลุข้อเรียกร้องพิเศษอะไรไหมเพื่อคำอธิษฐานของเราจะเป็นที่สดับ? เราควรอธิษฐานอย่างไร? และคำอธิษฐานของใครได้รับคำตอบ?’
คำอธิษฐานของพวกเขาได้รับการสดับ
การอธิษฐานมีมานานพอ ๆ กับมนุษยชาติ. ขอพิจารณาดูเฮเบล บุตรของอาดามและฮาวาบิดามารดาคู่แรกของเรา. เมื่อเขาถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่ยอมรับแด่พระเจ้า ไม่ต้องสงสัยว่า เครื่องบูชาดังกล่าวควบคู่ไปกับคำวิงวอนและคำสรรเสริญ.—เยเนซิศ 4:1-5.
ในศตวรรษที่เก้าก่อนสากลศักราช โยนาผู้พยากรณ์ของพระเจ้า “ได้อธิษฐานต่อพระยะโฮวา พระเจ้าของท่านจากภายในท้องปลานั้น” ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้กลืนท่านเข้าไป. คำอธิษฐานนั้นได้ผลไหม? ถูกแล้ว เพราะ “แล้วพระยะโฮวาได้ตรัสสั่งปลานั้น มันก็สำรอกโยนาออกไว้บนดินแห้ง.” ต่อจากนั้น โยนาได้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่มอบหมายซึ่งพระเจ้ามอบให้ท่านไปยังเมืองนีนะเวนั้น.—โยนา 1:17; 2:1, 10; 3:1-5.
เมื่อดาวิดแห่งยิศราเอลโบราณถูกพวกศัตรูของท่านห้อมล้อม ท่านได้ร้องทูลว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอทรงสดับคำอธิษฐานของข้าพเจ้า และทรงเงี่ยพระกรรณฟังคำทูลวิงวอนของข้าพเจ้า ขอทรงตอบข้าพเจ้าตามความสัตย์ซื่อและตามความชอบธรรมของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 143:1) คำอธิษฐานของดาวิดเพื่อการรอดพ้นนั้นได้รับคำตอบ เพราะเหล่าศัตรูของท่านไม่เคยประสบผลสำเร็จในการกำจัดท่าน. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวได้ว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้คนทั้งปวงที่ทูลต่อพระองค์ คือคนที่ทูลพระองค์ด้วยใจสัตย์ซื่อ.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:18.
การบรรลุข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐาน
ดังนั้นแล้ว ปรากฏชัดว่า ผู้รับใช้ของพระเจ้าในโบราณกาลได้รับคำตอบสำหรับคำอธิษฐานของพวกเขา. แน่ละ พวกเขาใช่ว่าอธิษฐานเป็นเพียงพิธีรีตองต่อพระเจ้านิรนามไม่. พวกเขาอธิษฐานด้วยความเชื่อต่อพระยะโฮวา “พระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 83:18) ดังนั้นแล้ว เพื่อคำอธิษฐานของเราจะเกิดผล เราต้องบรรลุข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานอะไรบ้าง?
อธิษฐานถึงเฉพาะแต่พระยะโฮวาเท่านั้น. เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์—ที่จริงแล้ว ไม่ถูกหลักพระคัมภีร์—ที่จะอธิษฐานถึงพระเท็จ ซึ่งรูปปั้นที่ไร้ชีวิตของพระเหล่านั้นมีปากที่พูดไม่ออก มีหูที่หนวก มีมือที่จับคลำไม่ได้ มีเท้าแต่ไม่เคลื่อนไหว และลำคอที่ปราศจากเสียง. (บทเพลงสรรเสริญ 115:5-7; 1 โยฮัน 5:21) ต่างจากพระที่ไร้ค่าดังกล่าว พระยะโฮวาทรงลงมือปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของคนเหล่านั้นที่รักและรับใช้พระองค์. อาทิเช่น หลายศตวรรษมาแล้ว ผู้พยากรณ์ของบาละพระเท็จ ได้อ้อนวอนพระนั้นให้นำไฟลงมาจากสวรรค์. แม้พวกเขาอธิษฐานตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเย็น บาละก็ไม่สามารถตอบได้. ครั้นแล้วเอลียาได้อ้อนวอนพระยะโฮวา ผู้ทรงตอบโดยส่งไฟลงมาเผาผลาญเครื่องบูชาที่วางอยู่บนแท่นเสียสิ้น.—1 กษัตริย์บท 18.
เข้าเฝ้าพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงส่งพระเยซูคริสต์ พระบุตรที่ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ มายังแผ่นดินโลกเพื่อเป็นค่าไถ่เพื่อไถ่ถอนมนุษยชาติจากบาปและความตาย. (โยฮัน 3:16, 36; โรม 5:12; 6:23) เนื่องจากเหตุนี้ สำหรับคนเหล่านั้นที่เต็มใจรับประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้ พระเจ้าทรงเปิดวิถีทางใหม่ในการเข้าถึงพระองค์โดยคำอธิษฐาน. ผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยแรก ๆ ดังเช่นดาวิด ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญเคยอธิษฐานถึงพระยะโฮวาโดยตรง. (บทเพลงสรรเสริญ 4:1; 17:1; 55:1; 102:1) แต่วิถีทางใหม่ในการเข้าถึงนั้นคือผ่านทางพระเยซูผู้ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาเว้นไว้มาทางเรา. ถ้าท่านจะขอสิ่งใดในนามของเรา เราจะกระทำสิ่งนั้น.” (โยฮัน 14:6, 14) ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์แนะว่า คำอธิษฐานควรมุ่งไปยังพระเจ้าผ่านทางผู้อื่นใด.
ดังนั้นแล้ว เมื่อเราได้เรียนรู้ว่าเราควรอธิษฐานถึงพระเจ้าโดยนามของพระเยซู คำอธิษฐานของเราคงจะไม่ได้รับคำตอบเว้นแต่เราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาผ่านทางพระบุตรของพระองค์เท่านั้น. แต่ก็มีเหตุผลอื่น ๆ ด้วยที่พระยะโฮวาไม่ตอบคำอธิษฐานส่วนใหญ่.
เหตุผลที่พระเจ้ามิได้ตอบ
พระเจ้าจะไม่ตอบคำอธิษฐานของเราเพียงเพราะเราแสดงท่าทางพิเศษขณะที่อธิษฐานอยู่. พระคัมภีร์ไม่เรียกร้องให้เราอธิษฐานด้วยท่าทีทางกายแบบหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น. แน่ละ การคุกเข่าอาจแสดงถึงความถ่อมใจจำเพาะพระเจ้า. แต่การอธิษฐานขณะที่ยืนอยู่ นั่งที่โต๊ะ นอนพักอยู่บนเตียง หรือดำเนินกิจการงานประจำวัน ก็เป็นที่ยอมรับ. (ดานิเอล 6:10, 11; มาระโก 11:25) พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานที่ฟังไม่ได้ยินด้วยซ้ำ! ก่อนทูลกษัตริย์ของเปอร์เซียว่า ท่านปรารถนาจะสร้างกำแพงที่ถูกทำลายของกรุงยะรูซาเลมขึ้นใหม่นั้น นะเฮมยา “ได้อธิษฐานทูลขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์” อย่างเงียบ ๆ และพระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานนั้น. (นะเฮมยา 2:1-6) ดังนั้น ถ้าหากท่าทางไม่ใช่สิ่งสำคัญแล้ว ทำไมคำอธิษฐานมากมายจริง ๆ ไม่ได้รับคำตอบจากพระเจ้า?
พระยะโฮวาไม่พอพระทัยในคำอธิษฐานของคนชั่ว. ถูกแล้ว “คนใดที่บ่ายหูไม่ฟังพระบัญญัติ คำอธิษฐานของเขาก็เป็นที่น่าสะอิดสะเอียน.” (สุภาษิต 28:9) พระเจ้าแจ้งแก่พลไพร่ที่ดื้อรั้นของพระองค์ผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายชูมือกางขึ้น. เราจะเมินหน้าไปเสียจากพวกเจ้า. เออ เมื่อเจ้าอธิษฐานมากมายหลายหน เราจะไม่ฟัง ด้วยมือของพวกเจ้าเปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต.” (ยะซายา 1:15) ตามธรรมดาแล้ว คำอธิษฐานของคนชั่วไม่ได้รับคำตอบถึงแม้เขาทูลต่อพระเจ้าผ่านทางพระคริสต์.
พระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานแบบหน้าซื่อใจคด. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เมื่อท่านทั้งหลายจะอธิษฐาน อย่าเป็นเหมือนคนหน้าซื่อใจคด เพราะเขาชอบยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามถนน เพื่อจะให้คนทั้งปวงเห็น. เราบอกท่านตามจริงว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว.” พระเยซูตรัสเสริมอีกว่า “ฝ่ายท่าน เมื่ออธิษฐาน จงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานขอจากพระบิดาของท่านผู้อยู่ในที่ลับลี้ และพระบิดาของท่านผู้อยู่ในที่ลับลี้จะทรงโปรดประทานแก่ท่าน.” (มัดธาย 6:5, 6) โดยการตรัสเช่นนี้ พระเยซูใช่ว่าตัดสิทธิ์การอธิษฐานในที่สาธารณะทั้งหมดไม่ เพราะพระองค์เองทรงอธิษฐานแบบที่ได้ยินต่อหน้าคนอื่น ๆ. (มัดธาย 14:19) แต่พระคริสต์ทรงแสดงให้เห็นว่า เป็นการผิดที่จะอธิษฐานในที่สาธารณะเพียงแต่เพื่อให้คนอื่นเห็นและได้ยินเพื่อได้รับการยกย่องสรรเสริญจากเขา.
พระยะโฮวาไม่ตอบคำอธิษฐานแบบไม่จริงใจ ซ้ำซาก. พระเยซูตรัสว่า “แต่เมื่อท่านอธิษฐาน อย่ากล่าวคำซ้ำให้มากเหมือนคนต่างประเทศ เพราะเขาคิดว่าพูดมากหลายคำพระจึงจะโปรดฟัง. อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะสิ่งไรซึ่งท่านต้องการ พระบิดาของท่านทรงทราบก่อนเมื่อท่านยังไม่ได้ขอ.” (มัดธาย 6:7, 8) หลายคนในดินแดนตะวันออกคิดว่า แต่ละครั้งที่เขาหมุนวงล้อสวดมนต์ (วัตถุทรงกลมซึ่งมีคำอธิษฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรใส่ไว้ข้างใน) คำอ้อนวอนจะได้รับการกล่าวซ้ำ. คนอื่น ๆ หลายล้านคนใช้ลูกประคำหรือท่องคำสวดมนต์จากหนังสือบทสวด. แต่คนเหล่านั้นซึ่งปรารถนาจะให้พระเจ้าสดับนั้นจะหลีกเลี่ยงคำอธิษฐานแบบซ้ำซาก และจะเอาใจใส่ต่อคำแนะนำต่อไปของพระเยซู.
“จงอธิษฐานตามอย่างนี้”
ต่อจากนั้นพระเยซูทรงเสนอสิ่งที่หลายคนเรียกว่าคำอธิษฐานตัวอย่าง. (มัดธาย 6:9-13) พระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า ‘โอ พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.’” การพูดกับพระเจ้าฐานะเป็น “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย” บ่งชี้ว่า คนอื่น ๆ มีสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระองค์ด้วยในฐานะเป็นส่วนแห่งครอบครัวของพระองค์ที่ประกอบด้วยผู้นมัสการ. การทำให้พระนามของพระเจ้า พระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่พระองค์จะทำให้พระนามนั้นเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยวิธีใด? โดยการกำจัดคนชั่ว พระองค์จะขจัดปัดเป่าคำติเตียนทั้งมวลที่ทับถมอยู่เหนือพระนามนั้นให้หมดไป.—ยะเอศเคล 38:23.
พระเยซูตรัสเสริมอีกว่า “ขอให้แผ่นดิน [ราชอาณาจักร] ของพระองค์มา. พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.” การปกครองของพระเจ้าดังที่แสดงออกโดยราชอาณาจักรมาซีฮาทางภาคสวรรค์แห่งพระบุตรของพระองค์จะมาต่อสู้บรรดาปรปักษ์แห่งพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า ขจัดพวกเขาออกไปจากแผ่นดินโลก. (ดานิเอล 2:44) แต่เมื่อเราทูลขอให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จในสวรรค์นั้นหมายความว่ากระไร? นี้เป็นคำร้องขอเพื่อพระยะโฮวาดำเนินการให้พระประสงค์ของพระองค์ต่อแผ่นดินโลกนี้สำเร็จ รวมทั้งการกำจัดปรปักษ์ของพระองค์ด้วย.—วิวรณ์ 16:14-16; 19:11-21.
โดยจัดเอาพระเจ้า การทำให้พระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และพระประสงค์ของพระองค์เป็นอันดับแรกในคำอธิษฐานตัวอย่าง พระเยซูตรัสต่อไปว่า “ขอทรงโปรดประทานอาหารเลี้ยงข้าพเจ้าทั้งหลายในกาลวันนี้. การทูลขอพระยะโฮวาให้จัดเตรียมสิ่งจำเป็น “สำหรับกาลวันนี้” ส่งเสริมความเชื่อในพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่จะเอาพระทัยใส่ต่อความจำเป็นประจำวันแห่งผู้นมัสการพระองค์. นี้มิใช่คำร้องขอแบบเห็นแก่ตัวเพื่อจะมีอาหารอย่างเหลือเฟือ.
พระเยซูทรงเสริมว่า “และขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น.” (ลูกา 11:4 แสดงว่า “หนี้” เหล่านี้คือ “ความผิด [บาป].”) เราอาจได้รับการอภัยจากพระเจ้าเฉพาะแต่ถ้าเราได้อภัยคนเหล่านั้นที่ทำผิดต่อเรา. (มัดธาย 6:14, 15) ถ้าเช่นนั้น นับว่าเหมาะสมที่อัครสาวกเปาโลได้กล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้นด้วย.”—โกโลซาย 3:13, ล.ม.
ในการจบคำอธิษฐานตัวอย่าง พระเยซูตรัสว่า “ขออย่านำข้าพเจ้าเข้าไปในการทดลอง [ล่อล่วง, ล.ม.] แต่ขอให้พ้นจากซึ่ง [ตัว] ชั่วร้าย.” พระยะโฮวาไม่เคยล่อลวงคน “ด้วยสิ่งชั่ว.” (ยาโกโบ 1:13, ล.ม.) การล่อลวงมาจากซาตานพญามาร ตัวชั่วร้าย แต่บางครั้งพระคัมภีร์บอกว่า การที่พระเจ้าทรงยอมให้มีเหตุการณ์บางอย่างนั้น เท่ากับว่าพระองค์เป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านั้น. (ประวัตินางรูธ 1:20, 21; ท่านผู้ประกาศ 7:13) ในการตอบคำขอร้อง “อย่านำข้าพเจ้าเข้าไปในการทดลอง” นั้น พระยะโฮวามิได้ละทิ้งผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ ถึงแม้พระองค์ทรงยอมให้พวกเขาถูกทดลอง. ที่จริง “พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และพระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกล่อใจเกินที่ท่านจะทนได้ และเมื่อทรงยอมให้ท่านถูกล่อใจ พระองค์จะจัดทางออกด้วย เพื่อว่าท่านสามารถทนได้.”—1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.
เมื่อเราทูลขอการช่วยให้พ้นจากตัวชั่วร้าย เราขอเพื่อพญามารไม่ถูกปล่อยให้เอาชนะเราในฐานะผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. หากเราเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีของพระเจ้า เราก็มั่นใจได้ว่า พระองค์จะตอบคำอ้อนวอนดังกล่าว เนื่องจากอัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “พระยะโฮวาทรงทราบวิธีที่จะช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง.” (2 เปโตร 2:9, ล.ม.) และส่วนนี้แห่งคำอธิษฐานตัวอย่างนับว่าสำคัญสักเพียงไร เพราะซาตานพญามาร “ดุจสิงโตคำรามแผดเสียงร้องน่ากลัวก็เที่ยวไปเสาะแสวงหาคนที่มันจะกัดกินได้”!—1 เปโตร 5:8.
เหตุผลที่คำอธิษฐานของเขาได้รับคำตอบ
พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. ทำไม? ส่วนหนึ่ง พระยะโฮวาทรงกระทำเช่นนั้นเพราะเขาอธิษฐานถึงพระองค์ผู้เดียว เข้าถึงพระองค์โดยผ่านทางพระเยซูคริสต์. เขาหลบหลีกความชั่ว และเลี่ยงคำอธิษฐานแบบหน้าซื่อใจคด และแบบซ้ำซาก. แทนที่จะกล่าวคำอธิษฐานตัวอย่างโดยการท่องขึ้นใจ พยานพระยะโฮวาใช้แนวแนะอันยอดเยี่ยมของคำอธิษฐานนั้นในการแสดงความรู้สึกแบบน้ำใสใจจริงของเขาเองต่อพระเจ้า. แต่ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่คำอธิษฐานของเขาได้รับคำตอบ.
คนเหล่านั้นซึ่งคำอธิษฐานของเขาได้รับคำตอบได้บรรลุข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐาน. ในการอ้างอิงถึงข้อเรียกร้องเหล่านี้ เปาโลเขียนว่า “ผู้ที่มาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และต้องเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) จงสังเกตจุดสำคัญขั้นพื้นฐานสองประการนี้คือ พระยะโฮวาสดับคำอธิษฐานของ (1) คนเหล่านั้นที่เชื่อว่าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ หรือดำรงอยู่ และ (2) คนเหล่านั้นที่ “ปลงใจแสวงหาพระองค์.”
ปัจเจกบุคคลดังกล่าวคนหนึ่งในศตวรรษแรกคือโกระเนเลียว คนต่างชาติผู้มีศรัทธา. เขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ และเขาแสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง. โกระเนเลียวได้ทำประการใดเมื่อได้รับความรู้ถ่องแท้แล้ว? เขาได้อุทิศตัวอย่างสุดหัวใจต่อพระยะโฮวาพระเจ้า และได้รับบัพติสมาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการอุทิศตัวนั้น. หลังจากนั้น โกระเนเลียวดูเหมือนว่ามีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับพระเจ้า และนี้คงจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อคำอธิษฐานของเขา.—กิจการ 10:1-44.
ก่อนโกระเนเลียวได้รับบัพติสมา คำอธิษฐานของเขาเพียงแต่ “ได้ขึ้นไปเป็นเหตุให้พระเจ้าระลึกถึงแล้ว.” (กิจการ 10:4) อย่างไรก็ดี โดยทำการอุทิศตัวต่อพระเจ้าโดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู และการรับบัพติสมา โกระเนเลียวได้ถวายตัวแด่พระยะโฮวาโดยไม่มีเงื่อนไข. นั่นแหละสร้างความใกล้ชิดอันน่าพิศวงขึ้นระหว่างพระเจ้ากับบุรุษผู้มีศรัทธาคนนี้—สัมพันธภาพที่ทำให้โกระเนเลียวมีสิทธิพิเศษในการอธิษฐานโดยไม่มีขีดจำกัด. (ยาโกโบ 4:8) เขาสามารถเข้าเฝ้าพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเขาโดยผ่านทางพระเยซูคริสต์พร้อมด้วยความคาดหมายว่าได้รับการสดับฟัง. นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าผ่านทางพระคริสต์ และรับบัพติสมา. พวกเขามีสิทธิพิเศษในการอธิษฐานโดยไม่มีขีดจำกัดด้วยเช่นกัน.
แน่นอน คุณปรารถนาจะให้คำอธิษฐานของคุณได้รับคำตอบ. เพราะฉะนั้น หากคุณยังไม่รับใช้พระยะโฮวาขณะนี้ในฐานะผู้นมัสการที่อุทิศตัวแล้วคนหนึ่งของพระองค์ เป็นการฉลาดสุขุมสักเพียงไรที่จะแสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง! จงติดตามแนวทางอย่างเดียวกับโกระเนเลียว แล้วพระเจ้าจะตอบคำอธิษฐานของคุณ.
[รูปภาพหน้า 6]
การที่โกระเนเลียวอุทิศตัวแด่พระเจ้าและรับบัพติสมามีผลกระทบอย่างไรต่อคำอธิษฐานของเขา?