ความรักต่อเพื่อนบ้านมีทางเป็นไปได้
อุทาหรณ์ของพระเยซูคริสต์เรื่องชาวซะมาเรียนั้นแสดงให้เห็นว่าความรักแท้ต่อเพื่อนบ้านนั้นหมายความอย่างไรจริง ๆ. (ลูกา 10:25-37) พระเยซูทรงสอนด้วยว่า “‘จงรักพระองค์ [พระยะโฮวา, ล.ม.] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า.’ นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อต้นข้อใหญ่. ข้อที่สองก็เหมือนกันคือ. ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.’”—มัดธาย 22:37-39.
เช่นเดียวกับหลายคน คุณรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากไหมที่จะรักเพื่อนบ้านที่ต่างชาติพันธุ์กับคุณ? บางทีเป็นเช่นนั้นเพราะคุณได้รับรู้มาหรือประสบด้วยตัวเองในเรื่องการเหยียดผิวและความอยุติธรรม. คุณหรือคนที่คุณรักอาจได้รับการปฏิบัติแบบเหี้ยมโหดและรุนแรงจากชนอีกกลุ่มหนึ่ง.
เนื่องจากพระเยซูทรงชี้แจงว่าพระบัญญัติข้อหนึ่งของพระเจ้าคือให้เรารักเพื่อนบ้านของเรา นั่นต้องมีทางเป็นไปได้ที่จะเอาชนะความรู้สึกรุนแรงดังกล่าว. เคล็ดลับในการทำเช่นนั้นคือการมองดูผู้คนเหมือนดังที่พระเจ้าและพระคริสต์ทรงมองดูเขา. ในเรื่องนี้ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างของพระเยซูและคริสเตียนรุ่นแรก.
ตัวอย่างที่ดีของพระเยซู
ชาวยิวในศตวรรษแรกมีความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรงต่อชาวซะมาเรีย ชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณระหว่างมณฑลยูดายกับฆาลิลาย. ในโอกาสหนึ่งชาวยิวผู้ต่อต้านได้ถามพระเยซูอย่างดูถูกว่า “ที่เราพูดว่าเจ้าเป็นชาวซะมาเรียและมีผีสิงนั้นถูกต้องแล้วมิใช่หรือ?” (โยฮัน 8:48, ล.ม.) ความรู้สึกต่อต้านชาวซะมาเรียรุนแรงถึงขนาดที่ชาวยิวบางคนแช่งด่าชาวซะมาเรียอย่างเปิดเผยในธรรมศาลาและอธิษฐานทุกวันเพื่อชาวซะมาเรียจะไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์ด้วยซ้ำ.
การที่ได้รู้ถึงความเกลียดชังที่ฝังลึกเช่นนี้ได้กระตุ้นพระเยซูอย่างไม่ต้องสงสัยให้เสนออุทาหรณ์เรื่องชาวซะมาเรียผู้ซึ่งพิสูจน์ตัวว่าเป็นเพื่อนบ้านแท้โดยการเอาใจใส่ดูแลชายชาวยิวที่ถูกพวกโจรทุบตี. พระเยซูอาจตอบอย่างไรเมื่อชายชาวยิวที่รอบรู้ในพระบัญญัติของโมเซได้ทูลถามว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” (ลูกา 10:29) พระเยซูอาจตอบตรง ๆ ก็ได้โดยตรัสว่า ‘เพื่อนบ้านของท่านหมายรวมถึงไม่เพียงแต่เพื่อนชาวยิวของท่าน แต่หมายถึงชนอื่น ๆ ด้วย แม้แต่ชาวซะมาเรียด้วยซ้ำ.’ แต่ทว่า ชาวยิวคงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับข้อนั้น. ดังนั้น พระองค์ทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องชาวยิวผู้ได้รับความเมตตาจากชาวซะมาเรีย. โดยวิธีนี้ พระเยซูทรงช่วยผู้ฟังชาวยิวให้ลงความเห็นว่าความรักแท้ต่อเพื่อนบ้านจะแผ่ไปถึงคนที่ไม่ใช่ชาวยิวด้วย.
พระเยซูไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านชาวซะมาเรีย. เมื่อเดินทางผ่านมณฑลซะมาเรียในโอกาสหนึ่ง พระองค์ทรงหยุดพักที่ริมบ่อน้ำขณะที่พวกสาวกไปยังเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อหาซื้ออาหาร. เมื่อหญิงชาวซะมาเรียมาตักน้ำ พระองค์ตรัสว่า “ขอน้ำให้เรากินบ้าง.” เนื่องจากชาวยิวไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกับชาวซะมาเรีย เธอจึงถามว่า “เป็นไฉนท่านผู้เป็นชาติยูดายจึงขอน้ำกินจากดิฉันผู้เป็นหญิงชาติซะมาเรีย?” ครั้นแล้วพระเยซูทรงให้คำพยานกับเธอ แถลงอย่างเปิดเผยด้วยซ้ำว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา. เธอตอบรับด้วยการเข้าไปในเมืองแล้วเรียกคนอื่น ๆ ให้มาฟังพระองค์. ผลล่ะ? “ในเมืองนั้นชาวซะมาเรียเป็นอันมากได้ศรัทธาในพระองค์.” ช่างเป็นผลลัพธ์ที่ดีอะไรเช่นนี้เนื่องด้วยพระเยซูมิได้ถูกผูกมัดด้วยเจตคติที่แพร่หลายของชาวยิวร่วมสมัยของพระองค์!—โยฮัน 4:4-42.
พระเจ้าไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้พระเยซูประกาศแก่ชาวยิว “แกะชาติยิศราเอลที่หายไป” เป็นส่วนสำคัญ. (มัดธาย 15:24) เนื่องจากเหตุนี้ สาวกรุ่นแรกของพระองค์จึงมีพื้นเพเป็นชาวยิว. แต่เพียงสามปีหลังจากการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ ณ เทศกาลเพ็นเตคอสเต พระยะโฮวาทรงทำให้ชัดแจ้งว่าพระองค์ประสงค์ให้ผู้มีความเชื่อชาวยิวแผ่ขยายงานทำให้คนเป็นสาวกไปยังชนจากนานาชาติ ถึงชนชาติที่ไม่ใช่ชาติยิว.
สำหรับความคิดแบบยิวนั้น การรักชาวซะมาเรียเหมือนรักตัวเองคงจะเป็นเรื่องยากทีเดียว. คงจะยากกว่านั้นอีกที่จะแสดงความรักฉันเพื่อนบ้านต่อคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต ชนที่มีอะไรเหมือนกันกับพวกยิวน้อยยิ่งกว่าชาวซะมาเรีย. ในการอธิบายเจตคติของชาวยิวต่อคนต่างชาตินั้น สารานุกรมบรรทัดฐานของคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ แถลงว่า “ในสมัยพระคริสต์ธรรมใหม่ เราพบความรังเกียจเดียดฉันท์, การดูถูกเหยียดหยามและความเกลียดชังอย่างรุนแรงสุดขีด. มีการถือว่าพวกเขา [คนต่างชาติ] เป็นคนไม่สะอาด เป็นการผิดกฎหมายที่จะมีการติดต่อเกี่ยวข้องฉันมิตรใด ๆ กับพวกเขา. พวกเขาเป็นศัตรูของพระเจ้าและไพร่พลของพระองค์ เป็นพวกที่ไม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับพระเจ้านอกเสียจากพวกเขาเปลี่ยนมาถือศาสนายิว และถึงอย่างนั้นก็ตาม เช่นเดียวกับในสมัยโบราณ จะยอมรับพวกเขาในมิตรภาพอย่างเต็มที่ไม่ได้. ชาวยิวถูกห้ามในการให้คำแนะนำพวกเขา และถ้าหากพวกเขาถามถึงเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า พวกเขาต้องถูกแช่งสาป.”
ขณะที่หลายคนมีทัศนะเช่นนี้ พระยะโฮวาทรงบันดาลให้อัครสาวกเปโตรได้รับนิมิตซึ่งแจ้งแก่ท่านว่า ‘ซึ่งพระเจ้าได้ทรงชำระแล้ว อย่าว่าเป็นของห้าม.’ ครั้นแล้วพระเจ้าทรงชี้นำท่านไปยังบ้านของโกระเนเลียวคนต่างชาติ. เปโตรได้ให้คำพยานเรื่องพระคริสต์แก่โกระเนเลียว, ครอบครัวของเขา, และชนต่างชาติคนอื่น ๆ. เปโตรได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” ขณะที่เปโตรยังประกาศอยู่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ลงมาเหนือผู้เชื่อถือใหม่ ๆ ผู้ซึ่งได้รับบัพติสมาในครั้งนั้นแล้วเข้ามาเป็นสาวกต่างชาติของพระคริสต์พวกแรก.—กิจการบท 10.
เหล่าสาวกชาวยิวได้ยอมรับพัฒนาการนี้ โดยสำนึกว่าพระบัญชาของพระเยซูที่ให้ “ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก” นั้นมิได้จำกัดอยู่แค่ชาวยิวในทุกดินแดน แต่รวมเอาชนต่างชาติด้วย. (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.; กิจการ 11:18) โดยการเอาชนะความรู้สึกต่อต้านคนต่างชาติอย่างใดอย่างหนึ่งที่พวกเขาอาจเคยมีนั้น ด้วยความกระตือรือร้นพวกเขาได้จัดระเบียบการรณรงค์ประกาศเพื่อทำให้คนท่ามกลางนานาชาติเป็นสาวก. ไม่ถึง 30 ปีต่อมา จึงสามารถกล่าวได้ว่าข่าวดีได้รับการประกาศ “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.”—โกโลซาย 1:23.
ผู้ที่นำหน้าในงานประกาศนี้คืออัครสาวกเปาโล ตัวท่านเองเป็นคริสเตียนที่มีพื้นเพเป็นชาวยิว. ก่อนเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ ท่านเคยเป็นสมาชิกที่กระตือรือร้นในนิกายทางศาสนาของพวกฟาริซาย. พวกเขาดูถูกไม่เฉพาะแต่คนต่างชาติเท่านั้น แต่สามัญชนในชาติของตนเองด้วยซ้ำ. (ลูกา 18:11, 12) แต่เปาโลไม่ยอมให้ทัศนะเหล่านั้นยับยั้งท่านไว้จากการแสดงความรักฉันเพื่อนบ้านต่อคนอื่น ๆ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านเป็น “อัครสาวกมายังพวกต่างประเทศ [คนต่างชาติ]” อุทิศชีวิตของท่านเพื่องานทำให้คนเป็นสาวกตลอดทั่วดินแดนต่าง ๆ แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน.—โรม 11:13.
ระหว่างการดำเนินงานรับใช้ของท่าน เปาโลถูกเอาหินขว้าง, ถูกเฆี่ยนตี, และถูกจำคุก. (กิจการ 14:19; 16:22, 23) ประสบการณ์ที่ทารุณดังกล่าวเป็นเหตุให้ท่านรู้สึกขมขื่นและลงความเห็นว่าท่านเสียเวลาไปเปล่า ๆ ท่ามกลางบางชนชาติและชนชาติพันธุ์บางกลุ่มไหม? เปล่าเลย. ท่านทราบว่ามีปัจเจกบุคคลที่มีหัวใจสุจริตกระจัดกระจายอยู่ตลอดทั่วชนชาติพันธุ์หลายกลุ่มในสมัยของท่าน.
เมื่อเปาโลพบคนต่างชาติที่เต็มใจรับการสอนแนวทางของพระเจ้า ท่านรู้สึกรักพวกเขา. อาทิเช่น ท่านเขียนถึงชาวเธซะโลนิเกว่า “เราได้ปฏิบัติอย่างนิ่มนวลท่ามกลางท่านทั้งหลาย เหมือนแม่ลูกอ่อนที่กำลังให้ลูกกินนมทะนุถนอมลูกของตน. ดังนั้น เนื่องจากเรามีความรักชอบอันอ่อนละมุนต่อท่าน เราจึงยินดีจะให้ท่านทั้งหลายไม่เพียงแต่ข่าวดีของพระเจ้าเท่านั้น แต่ให้ทั้งจิตวิญญาณของเราแก่ท่านด้วย เพราะว่าท่านเป็นที่รักของเรา.” (1 เธซะโลนิเก 2:7, 8, ล.ม.) คำพูดด้วยน้ำใสใจจริงเช่นนี้แสดงว่าเปาโลรักชาวเธซะโลนิเกคนต่างชาตินั้นอย่างแท้จริง และไม่ยอมให้สิ่งใดทำลายความยินดีในสัมพันธภาพที่ดีกับพวกเขา.
ความรักต่อเพื่อนบ้านในภาคปฏิบัติ
เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก ทุกวันนี้คนเหล่านั้นที่เข้าร่วมกับประชาคมคริสเตียนปลูกฝังความรักฉันเพื่อนบ้านต่อผู้คนในทุกกลุ่มชาติพันธุ์. โดยการพัฒนาทัศนะแบบพระเจ้าต่อคนอื่น ๆ และโดยแบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรให้กับพวกเขา คริสเตียนแท้ทำให้ความเข้าใจของเขาต่อผู้คนนั้นกว้างขึ้นซึ่งเขาอาจไม่ทราบเลยหากไม่ได้มาคบหากับประชาคมคริสเตียน. พวกเขามีความรักฉันพี่น้องต่อคนเหล่านั้นด้วยซ้ำ. (โยฮัน 13:34, 35) คุณอาจมีประสบการณ์เช่นนี้ได้ด้วย.
ความรักดังกล่าวมีอยู่ในท่ามกลางพยานพระยะโฮวา แม้ว่าพวกเขาอยู่ใน 229 ดินแดนและเป็นตัวแทนจาก “บรรดาชาติและตระกูล และชนชาติและภาษาทั้งปวง.” (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ในฐานะเป็นภราดรภาพทั่วโลก พวกเขาพร้อมเพรียงกันในการนมัสการพระยะโฮวา ในการที่พวกเขาไม่ยอมมีส่วนในการต่อสู้และการแข่งขันชิงดีกันระหว่างชนชาติพันธุ์ และในการที่พวกเขาทิ้งอคติต่าง ๆ ซึ่งทำให้คนเราสูญเสียสัมพันธภาพอันอบอุ่นกับเพื่อนมนุษย์.
จงคบหากับพวกพยานฯและคุณจะสังเกตวิธีที่ผู้คนจากภูมิหลังทางชาติพันธุ์ทุกอย่างกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. คุณจะเห็นความรักต่อเพื่อนบ้านในภาคปฏิบัติขณะที่พวกเขาประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ถูกแล้ว และในประชาคมของพวกเขา คุณจะพบผู้คนที่กรุณา, จริงใจ ผู้ซึ่งแสดงให้เห็นโดยชีวิตของเขาว่าเขาได้เรียนรู้จริง ๆ ที่จะรักเพื่อนบ้านของตน.
[ที่มาของภาพหน้า 4]
ชายซะมาเรียผู้ใจดีมาถึงโรงแรม/The Doré Bible Illustrations/Dover Publications, Inc.
[รูปภาพหน้า 6]
ในประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาคุณจะพบชนผู้มีความสุขจากทุกเชื้อชาติ