คริสเตียนยุคแรกกับพระบัญญัติของโมเซ
“พระบัญญัติจึงเป็นพี่เลี้ยงซึ่งนำไปถึงพระคริสต์.”—ฆะลาเตีย 3:24, ล.ม.
1, 2. ชาวอิสราเอลที่เชื่อฟังพระบัญญัติของโมเซอย่างถี่ถ้วนได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ในปี 1513 ก่อน ส.ศ. พระยะโฮวาทรงประทานประมวลกฎหมายแก่ชาวอิสราเอล. พระองค์บอกชนเหล่านั้นว่าถ้าพวกเขาเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ พระองค์จะประทานบำเหน็จ และพวกเขาจะมีชีวิตที่มีความสุขและอิ่มใจพอใจ.—เอ็กโซโด 19:5, 6.
2 ประมวลกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเรียกกันว่าพระบัญญัติของโมเซหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “พระบัญญัติ” นั้น “บริสุทธิ์ ยุติธรรม และดี.” (โรม 7:12) พระบัญญัติส่งเสริมคุณความดี อย่างเช่น ความกรุณา, ความซื่อสัตย์, ความมีศีลธรรม, และการมีไมตรีจิตต่อเพื่อนบ้าน. (เอ็กโซโด 23:4, 5; เลวีติโก 19:14; พระบัญญัติ 15:13-15; 22:10, 22) พระบัญญัติยังกระตุ้นให้ชาวยิวมีความรักต่อกันและกันด้วย. (เลวีติโก 19:18) ยิ่งกว่านั้น พวกเขาจะต้องไม่เข้าไปคบหาใกล้ชิดกับคนต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ภายใต้พระบัญญัติ หรือรับคนเหล่านั้นมาเป็นภรรยา. (พระบัญญัติ 7:3, 4) พระบัญญัติของโมเซเป็นเหมือน “กำแพง” ที่กั้นระหว่างชาวยิวกับคนต่างชาติ ป้องกันประชาชนของพระเจ้าไม่ให้แปดเปื้อนด้วยความคิดหรือกิจปฏิบัติของพวกนอกรีต.—เอเฟโซ 2:14, 15, ฉบับแปลใหม่; โยฮัน 18:28.
3. เนื่องจากไม่มีใครสามารถปฏิบัติตามพระบัญญัติได้อย่างครบถ้วน ถ้าอย่างนั้นจะมีพระบัญญัติไว้เพื่ออะไร?
3 อย่างไรก็ตาม แม้แต่ชาวยิวที่เชื่อฟังพระบัญญัติอย่างเคร่งครัดที่สุดก็ไม่อาจปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้าได้อย่างครบถ้วน. พระยะโฮวาคาดหมายจากพวกเขามากเกินไปไหม? ไม่เลย. เหตุผลประการหนึ่งที่มีการประทานพระบัญญัติแก่ชาติอิสราเอลคือ “เพื่อทำให้การล่วงละเมิดปรากฏชัด.” (ฆะลาเตีย 3:19, ล.ม.) พระบัญญัติทำให้ชาวยิวที่จริงใจสำนึกถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ช่วยให้รอด. ครั้นพระองค์มา ชาวยิวที่ซื่อสัตย์ก็ชื่นชมยินดี. การช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากผลกระทบอันเลวร้ายเนื่องจากบาปและความตายมาใกล้แล้ว!—โยฮัน 1:29.
4. ในความหมายใดที่ว่าพระบัญญัติเป็น “พี่เลี้ยงซึ่งนำไปถึงพระคริสต์”?
4 พระบัญญัติของโมเซมีจุดมุ่งหมายให้เป็นการจัดเตรียมชั่วคราว. ในจดหมายที่เขียนถึงเพื่อนคริสเตียน อัครสาวกเปาโลอธิบายว่าพระบัญญัติเป็น “พี่เลี้ยงซึ่งนำไปถึงพระคริสต์.” (ฆะลาเตีย 3:24, ล.ม.) ในสมัยโบราณ พี่เลี้ยงพาเด็ก ๆ ไปและกลับจากโรงเรียน. ตามปกติแล้ว เขาไม่ได้เป็นครู เขาเพียงแต่นำเด็ก ๆ ไปหาครู. ในทำนองเดียวกัน บัญญัติของโมเซมีไว้เพื่อนำชาวยิวผู้เกรงกลัวพระเจ้าไปหาพระคริสต์. พระเยซูทรงสัญญาว่าพระองค์จะอยู่กับสาวกของพระองค์ “เสมอจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.” (มัดธาย 28:20, ล.ม.) เพราะฉะนั้น เมื่อมีการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนแล้ว “พี่เลี้ยง” หรือพระบัญญัติ จึงไม่มีประโยชน์อีกต่อไป. (โรม 10:4; ฆะลาเตีย 3:25) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนชาวยิวบางคนไม่ได้เข้าใจความจริงอันสำคัญข้อนี้ในทันที. ผลคือ พวกเขายังคงปฏิบัติตามข้อเรียกร้องบางอย่างของพระบัญญัติอยู่ต่อไปแม้หลังจากพระเยซูคืนพระชนม์แล้ว. แต่คนอื่น ๆ ได้ปรับความคิดของตน. โดยการทำเช่นนั้น พวกเขาวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับพวกเราในปัจจุบัน. ให้เรามาดูกันว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร.
ความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้นในหลักคำสอนคริสเตียน
5. เปโตรได้รับคำสั่งอะไรในนิมิต และเพราะเหตุใดท่านจึงตกตะลึง?
5 ในปี ส.ศ. 36 คริสเตียนอัครสาวกเปโตรได้รับนิมิตอย่างหนึ่งที่น่าพิศวง. ในครั้งนั้น มีพระสุรเสียงจากสวรรค์สั่งให้ท่านฆ่าและกินนกและสัตว์ต่าง ๆ ที่ถือว่าไม่สะอาดภายใต้พระบัญญัติ. เปโตรตกตะลึง! ท่านไม่เคย ‘รับประทานสิ่งซึ่งเป็นของห้ามหรือของมลทินเลย.’ แต่พระสุรเสียงนั้นบอกท่านว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ทรงชำระแล้ว อย่าว่าเป็นของห้าม.” (กิจการ 10:9-15) แทนที่จะยึดมั่นอยู่กับพระบัญญัติอย่างเหนียวแน่น เปโตรปรับความคิดของท่าน. นี่นำท่านไปสู่การได้รับความเข้าใจที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า.
6, 7. อะไรทำให้เปโตรลงความเห็นได้ว่าบัดนี้ท่านสามารถประกาศกับคนต่างชาติ และดูเหมือนว่าท่านได้ข้อสรุปอะไรอีกด้วย?
6 นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. มีชายสามคนไปหาเปโตรที่บ้านซึ่งท่านพักอาศัย ขอท่านให้ไปกับพวกเขายังบ้านของคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตผู้เกรงกลัวพระเจ้าชื่อโกระเนเลียว. เปโตรเชิญคนทั้งสามเข้าไปในบ้านและให้การต้อนรับ. เนื่องจากเข้าใจความหมายของนิมิตนี้ เปโตรจึงไปกับพวกเขายังบ้านของโกระเนเลียวในวันรุ่งขึ้น. ที่นั่นเปโตรได้ให้คำพยานอย่างละเอียดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์. ในคราวนั้น เปโตรกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” ไม่เพียงแต่โกระเนเลียวเท่านั้น แต่ญาติ ๆ และเพื่อนสนิทของท่านด้วยที่แสดงความเชื่อในพระเยซู และ “พระวิญญาณบริสุทธิ์จึงเสด็จลงมาสถิตอยู่กับคนทั้งปวงที่ฟังนั้น.” โดยยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นมาจากพระยะโฮวา เปโตร “สั่งให้เขารับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูคริสต์.”—กิจการ 10:17-48.
7 อะไรทำให้เปโตรลงความเห็นได้ว่าบัดนี้คนต่างชาติที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซสามารถเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์? เป็นเพราะท่านมีความสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณ. เนื่องจากพระเจ้าได้แสดงให้เห็นว่าพระองค์รับรองคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตด้วยการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ลงบนพวกเขา เปโตรจึงได้สังเกตเข้าใจว่าคนเหล่านั้นสามารถรับบัพติสมาได้. ดูเหมือนว่าในโอกาสเดียวกันนี้ เปโตรเข้าใจด้วยว่าพระเจ้าไม่ได้คาดหมายให้คริสเตียนชาวต่างชาติถือรักษาพระบัญญัติของโมเซเพื่อจะมีคุณสมบัติสำหรับการรับบัพติสมา. ถ้าคุณมีชีวิตในเวลานั้น คุณจะเต็มใจปรับความคิดของคุณเหมือนอย่างเปโตรไหม?
บางคนยังติดตาม “พี่เลี้ยง”
8. คริสเตียนบางคนในกรุงเยรูซาเลมส่งเสริมความคิดเห็นอะไรในเรื่องการรับสุหนัตซึ่งต่างไปจากของเปโตร และเพราะเหตุใด?
8 หลังจากออกจากบ้านโกระเนเลียว เปโตรเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเลม. ข่าวที่ว่าคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต “ได้รับคำของพระเจ้า” ไปถึงประชาคมที่นั่นแล้ว และสาวกชาวยิวบางคนไม่พอใจในเรื่องนี้. (กิจการ 11:1-3) แม้จะยอมรับว่าคนต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูได้ แต่ “พวกที่ [“สนับสนุนการ,” ล.ม.] รับสุหนัต” ยืนกรานว่าคนเหล่านั้นที่ไม่ใช่ชาติยิวต้องถือรักษาพระบัญญัติเพื่อจะได้รับความรอด. ในอีกด้านหนึ่ง ในเขตของคนต่างชาติที่มีคริสเตียนชาวยิวอยู่เป็นจำนวนน้อย การรับสุหนัตอาจไม่เป็นประเด็นถกเถียงกัน. ความคิดเห็นสองอย่างนี้ดำเนินอยู่ต่อไปอีกราว 13 ปี. (1 โกรินโธ 1:10) คงต้องเป็นการทดสอบความภักดีอย่างแท้จริงสำหรับคริสเตียนยุคแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคริสเตียนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเขตของชาวยิว!
9. ทำไมจึงจำเป็นต้องจัดการประเด็นเรื่องการรับสุหนัตให้เรียบร้อย?
9 ในที่สุดประเด็นดังกล่าวก็มาถึงจุดสุดยอดในปี ส.ศ. 49 เมื่อคริสเตียนบางคนจากกรุงเยรูซาเลมไปยังเมืองอันทิโอกในซีเรีย ซึ่งเปาโลกำลังประกาศอยู่ที่นั่น. พวกเขาเริ่มสอนว่าคนต่างชาติที่เข้ามาเป็นคริสเตียนต้องรับสุหนัตตามพระบัญญัติ. จึงเกิดความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันและการโต้เถียงกันอย่างมากระหว่างพวกเขากับเปาโลและบาระนาบา! ถ้าประเด็นนี้ไม่ได้รับการจัดการให้เรียบร้อย คริสเตียนบางคน ไม่ว่าจะมีภูมิหลังเป็นชาวยิวหรือคนต่างชาติ จะสะดุดอย่างแน่นอน. ดังนั้น จึงมีการเตรียมการให้เปาโลพร้อมกับบางคนไปยังกรุงเยรูซาเลมและขอให้คณะกรรมการปกครองคริสเตียนหาข้อยุติในประเด็นดังกล่าว.—กิจการ 15:1, 2, 24.
มีความเห็นต่างกันด้วยความสุจริตใจ—แต่แล้วก็เห็นพ้องกัน!
10. คณะกรรมการปกครองได้พิจารณาข้อคิดเห็นอะไรบ้างก่อนจะตัดสินในประเด็นที่เกี่ยวกับสถานภาพของคนต่างชาติ?
10 ในการประชุมที่จัดขึ้น ดูเหมือนว่าบางคนยกเหตุผลสนับสนุนการรับสุหนัต ในขณะที่บางคนเสนอความเห็นในทางตรงกันข้าม. แต่การประชุมในวันนั้นไม่ได้ถูกครอบงำด้วยอารมณ์. หลังจากถกกันมากแล้ว อัครสาวกเปโตรและเปาโลอธิบายหมายสำคัญต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาได้กระทำท่ามกลางผู้ที่ไม่ได้รับสุหนัต. ท่านทั้งสองอธิบายว่าพระเจ้าได้เทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงบนคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต. ท่านทั้งสองถามคำถาม ซึ่งความหมายจริง ๆ ของคำถามนั้นก็คือ ‘เป็นการถูกต้องหรือที่ประชาคมคริสเตียนจะปฏิเสธคนเหล่านั้นที่พระเจ้าทรงรับไว้แล้ว?’ จากนั้น สาวกยาโกโบอ่านข้อความตอนหนึ่งจากพระคัมภีร์ที่ช่วยให้ที่ประชุมทั้งสิ้นสังเกตเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาในเรื่องนี้.—กิจการ 15:4-17.
11. ปัจจัยอะไรไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินเรื่องการรับสุหนัต และอะไรแสดงว่าการตัดสินครั้งนั้นได้รับพระพรจากพระยะโฮวา?
11 ตอนนี้ ทุกสายตาพุ่งเป้าไปที่คณะกรรมการปกครอง. ภูมิหลังของพวกเขาที่เป็นชาวยิวจะทำให้การตัดสินเอนเอียงเข้าข้างการรับสุหนัตไหม? ไม่เป็นอย่างนั้น. ชายผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ตั้งใจแน่วแน่ที่จะติดตามพระคัมภีร์และการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. หลังจากได้ฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการปกครองตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าไม่มีความจำเป็นที่คริสเตียนชาวต่างชาติจะต้องรับสุหนัตและถือพระบัญญัติของโมเซ. เมื่อคำตัดสินดังกล่าวไปถึงพี่น้องแล้ว พวกเขาชื่นชมยินดีและประชาคมทั้งหลายเริ่ม “ทวีขึ้นทุก ๆ วัน.” คริสเตียนเหล่านั้นที่ยอมรับการชี้นำที่ชัดเจนตามระบอบของพระเจ้าได้รับคำตอบที่มีน้ำหนักจากพระคัมภีร์. (กิจการ 15:19-23, 28, 29; 16:1-5) ถึงกระนั้น ยังมีคำถามสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องได้คำตอบ.
จะว่าอย่างไรสำหรับคริสเตียนชาวยิว?
12. คำถามอะไรที่ถูกละไว้โดยยังไม่ได้คำตอบ?
12 คณะกรรมการปกครองชี้แจงชัดเจนว่าคริสเตียนชาวต่างชาติไม่จำเป็นต้องรับสุหนัต. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับคริสเตียนชาวยิว? การตัดสินของคณะกรรมการปกครองในครั้งนั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงประเด็นนี้.
13. เหตุใดจึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะยืนยันว่าการถือรักษาพระบัญญัติของโมเซเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะได้รับความรอด?
13 คริสเตียนชาวยิวบางคนที่ “มีใจร้อนรนในการถือพระบัญญัติ” ยังคงให้ลูก ๆ ของตนรับสุหนัตและถือรักษาพระบัญญัติบางข้อ. (กิจการ 21:20) ส่วนคนอื่นทำมากกว่านั้น ถึงขนาดยืนกรานว่าคริสเตียนชาวยิวต้องถือรักษาพระบัญญัติเพื่อจะได้รับความรอด. ในเรื่องนี้พวกเขาเข้าใจผิดอย่างมาก. เพื่อเป็นตัวอย่าง คริสเตียนคนใด ๆ จะถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาเพื่อรับการอภัยบาปได้อย่างไรกัน? เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ทำให้การถวายเครื่องบูชาเช่นนั้นไม่มีผลอะไรแล้ว. แล้วจะว่าอย่างไรสำหรับข้อเรียกร้องในพระบัญญัติที่ให้ชาวยิวหลีกเลี่ยงการมีมิตรภาพใกล้ชิดกับคนต่างชาติ? คงเป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับคริสเตียนผู้เผยแพร่ที่มีใจแรงกล้าที่จะเชื่อฟังข้อห้ามดังกล่าวและยังคงปฏิบัติหน้าที่มอบหมายในการสอนคนต่างชาติถึงสิ่งสารพัตรที่พระเยซูสั่งสอนนั้นได้สำเร็จ. (มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:8; 10:28)a ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่ามีการทำให้เรื่องเหล่านี้กระจ่างชัดในการประชุมของคณะกรรมการปกครอง. แต่ประชาคมก็ไม่ได้ถูกปล่อยไว้โดยปราศจากความช่วยเหลือ.
14. จดหมายของเปาโลที่มีขึ้นโดยการดลใจให้คำชี้แนะอะไรเกี่ยวกับพระบัญญัติ?
14 คำชี้แนะมาถึงพวกเขา ไม่ใช่ในรูปของจดหมายจากคณะกรรมการปกครอง แต่ในรูปของจดหมายเพิ่มเติมจากพวกอัครสาวกซึ่งเขียนขึ้นโดยการดลใจ. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลส่งข่าวสารที่หนักแน่นไปยังชาวยิวและคนต่างชาติที่อาศัยในกรุงโรม. ในจดหมายที่เขียนถึงพวกเขา ท่านอธิบายว่ายิวแท้คือคนที่ “เป็นยิวภายใน และการรับสุหนัตของเขาคือการรับที่หัวใจโดยพระวิญญาณ.” (โรม 2:28, 29, ล.ม.) ในจดหมายฉบับเดียวกันนั้น เปาโลยกตัวอย่างประกอบเพื่อพิสูจน์ว่าคริสเตียนไม่ได้อยู่ภายใต้พระบัญญัติอีกต่อไป. ท่านชักเหตุผลว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นภรรยาของชายสองคนในเวลาเดียวกันไม่ได้. แต่ถ้าสามีของเธอตาย เธอมีอิสระจะสมรสใหม่. เปาโลใช้ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมจะอยู่ภายใต้บัญญัติของโมเซและเป็นของพระคริสต์ในเวลาเดียวกันไม่ได้. พวกเขาต้อง “ตายแก่พระบัญญัติ” เพื่อจะร่วมชีวิตกับพระคริสต์ได้.—โรม 7:1-5.
บางคนใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจ
15, 16. เหตุใดคริสเตียนชาวยิวบางคนจึงไม่เข้าใจว่าพวกเขาไม่ต้องถือรักษาพระบัญญัติ และเรื่องนี้แสดงอย่างไรถึงความจำเป็นที่จะต้องตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ?
15 การหาเหตุผลของเปาโลเกี่ยวกับพระบัญญัตินั้นไม่อาจโต้แย้งได้. ถ้าอย่างนั้น ทำไมคริสเตียนชาวยิวบางคนจึงยังไม่เข้าใจ? เหตุผลหนึ่งก็คือพวกเขาขาดความสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่ได้รับเอาอาหารแข็งฝ่ายวิญญาณ. (เฮ็บราย 5:11-14) นอกจากนั้น พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนอย่างสม่ำเสมอ. (เฮ็บราย 10:23-25) เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่บางคนไม่เข้าใจนั้นอาจเกี่ยวข้องกับลักษณะของพระบัญญัติเอง. พระบัญญัติรวมจุดอยู่ที่สิ่งต่าง ๆ ที่สามารถเห็น, รู้สึก, และสัมผัสได้ เช่น พระวิหารและคณะปุโรหิต. สำหรับคนที่ขาดความสนใจสิ่งฝ่ายวิญญาณ การรับเอาพระบัญญัตินั้นง่ายกว่าการรับเอาหลักการที่ลึกซึ้งกว่าของศาสนาคริสเตียน ซึ่งรวมจุดอยู่ที่สิ่งที่มีอยู่จริงซึ่งมองไม่เห็น.—2 โกรินโธ 4:18.
16 เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ว่าทำไมผู้ที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียนบางคนจึงอยากถือรักษาพระบัญญัตินั้นมีบอกไว้ในจดหมายของเปาโลถึงชาวกาลาเทีย. ท่านอธิบายว่าคนเหล่านี้อยากจะได้ความเคารพนับถือในฐานะสมาชิกของศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป. แทนที่จะยินดีแตกต่างออกไปในชุมชุน พวกเขากลับพร้อมที่จะอะลุ่มอล่วยแทบทุกเรื่องเพื่อจะกลมกลืนเข้ากับชุมชนนั้น. พวกเขาสนใจจะได้รับความนิยมชมชอบจากมนุษย์มากกว่าได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า.—ฆะลาเตีย 6:12.
17. เมื่อไรที่ความคิดเห็นอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการถือรักษาพระบัญญัติเป็นที่กระจ่างชัดอย่างเต็มที่?
17 คริสเตียนที่มีความสังเกตเข้าใจผู้ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนในข้อเขียนของเปาโลและคนอื่น ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าได้ข้อสรุปที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระบัญญัติ. อย่างไรก็ตาม ต้องรอจนกระทั่งปี ส.ศ. 70 กว่าที่ความคิดเห็นอย่างถูกต้องเกี่ยวกับบัญญัติของโมเซจะเป็นที่กระจ่างชัดอย่างไม่ทิ้งข้อสงสัยต่อคริสเตียนชาวยิวทุกคน. ความกระจ่างนั้นเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าทรงยอมให้กรุงเยรูซาเลม, พระวิหารของกรุงนั้น, และบันทึกเกี่ยวกับการสืบเชื้อสายปุโรหิตถูกทำลาย. นี่ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่ใคร ๆ จะถือรักษาพระบัญญัติได้ครบทุกแง่มุม.
บทเรียนสำหรับเราในปัจจุบัน
18, 19. (ก) เราต้องรับเอาทัศนะแบบใดและหลีกเลี่ยงทัศนะแบบไหนเพื่อจะรักษาสุขภาพที่ดีฝ่ายวิญญาณ? (ข) ตัวอย่างของเปาโลสอนอะไรเราเกี่ยวกับการทำตามคำแนะนำที่ได้รับจากพี่น้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบ? (ดูกรอบหน้า 24.)
18 หลังจากได้พิจารณาเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นในอดีต คุณอาจสงสัยว่า ‘ถ้าฉันมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น ฉันจะตอบรับอย่างไรขณะที่พระทัยประสงค์ของพระเจ้าได้รับการเปิดเผยเป็นขั้น ๆ? ฉันจะยึดมั่นอยู่กับทัศนะที่ยึดถือกันมานานไหม? หรือฉันจะอดทนคอยจนกว่าความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นที่กระจ่างชัดไหม? และเมื่อความเข้าใจเป็นที่กระจ่างชัดแล้ว ฉันจะสนับสนุนความเข้าใจนั้นอย่างสุดหัวใจไหม?’
19 แน่ละ เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าเราจะตอบรับอย่างไรถ้าหากมีชีวิตอยู่ในตอนนั้น. แต่เราอาจถามตัวเองดังนี้: ‘ฉันตอบรับอย่างไรเมื่อมีการอธิบายความเข้าใจในคัมภีร์ไบเบิลที่กระจ่างชัดขึ้นในปัจจุบัน? (มัดธาย 24:45) เมื่อได้รับคำชี้แนะตามหลักพระคัมภีร์ ฉันพยายามจะนำไปใช้ไหม โดยไม่เพียงแต่ทำตามคำชี้แนะตามตัวอักษรเท่านั้น แต่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของข้อเหล่านั้นด้วย? (1 โกรินโธ 14:20) ฉันคอยพระยะโฮวาอย่างอดทนไหมเมื่อคำถามบางอย่างดูเหมือนยังไม่ได้รับคำตอบ?’ นับว่าสำคัญที่เราจะใช้ประโยชน์จากอาหารฝ่ายวิญญาณที่มีอยู่ขณะนี้ เพื่อ “เราจะไม่ลอยห่างไป.” (เฮ็บราย 2:1, ล.ม.) เมื่อพระยะโฮวาให้คำชี้แนะโดยทางพระคำของพระองค์, พระวิญญาณของพระองค์, และองค์การทางแผ่นดินโลกของพระองค์ ขอให้เราใส่ใจฟัง. ถ้าเราทำอย่างนั้น พระยะโฮวาจะอวยพรให้เรามีชีวิตไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นชีวิตที่มีทั้งความสุขและอิ่มใจพอใจ.
[เชิงอรรถ]
a เมื่อเปโตรไปเยือนเมืองอันทิโอกในซีเรีย ท่านชื่นชมที่ได้คบหาอย่างใกล้ชิดกับผู้เชื่อถือชาวต่างชาติ. อย่างไรก็ตาม เมื่อคริสเตียนชาวยิวจากกรุงเยรูซาเลมมาถึง เปโตร “ปลีกตัวออกไปอยู่เสียต่างหาก, เพราะเกรงใจพวกที่ถือพิธีสุหนัต.” เรานึกภาพได้ว่าคริสเตียนชาวต่างชาติที่เข้ามาเชื่อถือคงต้องเสียใจสักเพียงไรที่อัครสาวกผู้ได้รับความนับถือปฏิเสธที่จะกินอาหารกับพวกเขา.—ฆะลาเตีย 2:11-13.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ในความหมายใดที่ว่าพระบัญญัติของโมเซเป็นเหมือน “พี่เลี้ยงซึ่งนำไปถึงพระคริสต์”?
• คุณจะอธิบายอย่างไรถึงความแตกต่างระหว่างวิธีที่เปโตรกับ “พวกที่สนับสนุนการรับสุหนัต” ตอบรับต่อการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับความจริง?
• คุณได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงเปิดเผยความจริงในทุกวันนี้?
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
เปาโลถ่อมใจตอบรับการทดสอบ
หลังจากการเดินทางเผยแพร่ในต่างแดนของเปาโลสำเร็จลุล่วง ท่านก็มาถึงกรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 56. ที่นั่น มีการทดสอบอย่างหนึ่งรอท่านอยู่. ข่าวที่ว่าท่านได้สอนว่าพระบัญญัติได้ถูกยกเลิกมาถึงประชาคมนั้นแล้ว. พวกผู้เฒ่าผู้แก่เกรงว่าชาวยิวที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนจะสะดุดคำพูดที่ตรงไปตรงมาของเปาโลในเรื่องพระบัญญัติและอาจลงความเห็นว่าคริสเตียนขาดความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวา. ในประชาคมนั้น มีคริสเตียนชาวยิวสี่คนที่ได้ปฏิญาณตัวไว้ อาจเป็นการปฏิญาณเป็นนาษารีษ. ทั้งสี่คนต้องไปที่พระวิหารเพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของการปฏิญาณตัวครบถ้วน.
พวกผู้เฒ่าผู้แก่ขอให้เปาโลไปยังพระวิหารกับสี่คนนั้นและดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของพวกเขา. เปาโลเคยเขียนจดหมายโดยการดลใจไปแล้วอย่างน้อยสองฉบับซึ่งให้เหตุผลว่าการถือรักษาพระบัญญัติไม่ใช่ข้อเรียกร้องเพื่อจะได้รับความรอด. อย่างไรก็ตาม ท่านคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบของคนอื่น. ก่อนหน้านี้ ท่านได้เขียนว่า “กับพวกที่อยู่ใต้บัญญัติข้าพเจ้าทำตัวเหมือนอยู่ใต้บัญญัติ . . . เพื่อข้าพเจ้าจะได้คนที่อยู่ใต้บัญญัติ.” (1 โกรินโธ 9:20-23, ล.ม.) ขณะที่ไม่อะลุ่มอล่วยเมื่อหลักการสำคัญในพระคัมภีร์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เปาโลก็รู้สึกว่าท่านสามารถทำตามคำแนะนำของพวกผู้ปกครองเหล่านั้นได้. (กิจการ 21:15-26) ไม่ผิดที่ท่านจะทำอย่างนั้น. ไม่มีอะไรที่ผิดหลักพระคัมภีร์ในเรื่องการปฏิญาณ และพระวิหารก็ถูกใช้สำหรับการนมัสการแท้ ไม่ใช่สำหรับการบูชารูปเคารพ. เพื่อจะไม่เป็นเหตุให้ใครสะดุด เปาโลจึงทำตามที่ขอ. (1 โกรินโธ 8:13) เพื่อจะทำเช่นนั้น เปาโลคงต้องถ่อมใจมิใช่น้อย และข้อเท็จจริงนี้ทำให้เรามีความนับถือท่านมากยิ่งขึ้น.
[ภาพหน้า 22, 23]
ความคิดเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซยังคงมีอยู่ท่ามกลางคริสเตียนเป็นเวลาหลายปี