บท 2
“พวกคุณจะเป็นพยานของผม”
วิธีที่พระเยซูเตรียมพวกอัครสาวกให้นำหน้าในงานประกาศ
จากกิจการ 1:1-26
1-3. เกิดอะไรขึ้นบ้างตอนที่พระเยซูจากพวกอัครสาวกไป และทำให้เกิดคำถามอะไร?
พวกเขาไม่อยากให้มันจบลงเลย หลายสัปดาห์ที่ผ่านไปเป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ สำหรับพวกอัครสาวก! การฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูทำให้พวกเขาเปลี่ยนจากความสิ้นหวังมาเป็นความสุขความยินดีอย่างมาก พระเยซูปรากฏตัวให้พวกสาวกเห็นหลายครั้งตลอดช่วง 40 วันที่ผ่านมา ท่านสอนและให้กำลังใจพวกเขา แต่วันนี้ท่านจะมาหาพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย
2 ตอนยืนอยู่ด้วยกันบนภูเขามะกอก พวกอัครสาวกตั้งใจฟังทุกคำที่พระเยซูพูด พอท่านพูดจบซึ่งสาวกคงรู้สึกว่าอยากฟังท่านอีก ท่านยกมือขึ้นอวยพรพวกเขา แล้วท่านก็ถูกรับขึ้นไปบนท้องฟ้าขณะที่พวกสาวกจ้องมองท่าน เมฆบังท่านจนพวกเขามองไม่เห็น ตอนนี้ท่านไม่อยู่กับพวกเขาแล้ว แต่พวกเขายังจ้องมองท้องฟ้าต่อไป—ลก. 24:50; กจ. 1:9, 10
3 เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของพวกอัครสาวก ตอนนี้พวกเขาจะทำอะไรเมื่อพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายไปสวรรค์แล้ว? เรามั่นใจว่าพระเยซูได้เตรียมพวกเขาให้ทำงานที่ท่านได้เริ่มไว้ แต่ท่านเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับงานมอบหมายที่สำคัญนี้ยังไง และพวกเขาตอบรับยังไง? และมีผลยังไงกับคริสเตียนในทุกวันนี้? บทแรกของหนังสือกิจการมีคำตอบที่ให้กำลังใจ
“หลักฐานที่ชัดเจนหลายอย่าง” (กิจการ 1:1-5)
4. ลูกาเริ่มต้นเรื่องราวในหนังสือกิจการยังไง?
4 ลูกาเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้โดยพูดกับเธโอฟีลัส ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่ลูกาได้เขียนถึงเขาในหนังสือข่าวดีก่อนหน้านี้a ทำให้เห็นว่าบันทึกนี้ต่อเนื่องจากบันทึกแรก ลูกาเริ่มต้นโดยการสรุปเหตุการณ์ที่เขียนไว้ในตอนจบของหนังสือข่าวดี เขาใช้คำที่ต่างกันและให้รายละเอียดบางอย่างมากขึ้นด้วย
5, 6. (ก) อะไรจะช่วยพวกสาวกของพระเยซูให้มีความเชื่อเข้มแข็ง? (ข) ความเชื่อของคริสเตียนในทุกวันนี้มี “หลักฐานที่ชัดเจนหลายอย่าง” ยังไง?
5 อะไรจะช่วยสาวกของพระเยซูให้มีความเชื่อเข้มแข็งได้ต่อไป? เราอ่านที่กิจการ 1:3 ว่า “ท่าน [พระเยซู] ให้หลักฐานที่ชัดเจนหลายอย่างเพื่อแสดงว่าท่านฟื้นขึ้นจากตายแล้ว” ในคัมภีร์ไบเบิล มีแต่ลูกา “ซึ่งเป็นหมอที่พี่น้องรัก” เท่านั้นที่ใช้คำว่า “หลักฐานที่ชัดเจน” (คส. 4:14) นี่เป็นคำที่หมอใช้กันเพื่อแสดงว่ามีหลักฐานชัดเจน แน่นอน เชื่อถือได้ พระเยซูก็ให้มีหลักฐานแบบนั้นโดยปรากฏตัวกับพวกสาวกหลายครั้ง บางครั้งก็แค่หนึ่งหรือสองคน บางครั้งกับอัครสาวกทั้งหมด และมีครั้งหนึ่งที่ท่านปรากฏตัวกับคริสเตียนมากกว่า 500 คน (1 คร. 15:3-6) นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนจริง ๆ
6 คริสเตียนที่แท้จริงในทุกวันนี้มีความเชื่อเพราะมี “หลักฐานที่ชัดเจนหลายอย่าง” ด้วยเหมือนกัน แต่มีหลักฐานไหมว่าพระเยซูเคยมีชีวิตอยู่บนโลก ตายเพื่อเรา และได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย? มีหลักฐานแน่นอน คัมภีร์ไบเบิลมีบันทึกที่เชื่อถือได้ว่ามีหลายคนที่ได้เห็นเรื่องนี้ ถ้าเราอ่านเรื่องเหล่านี้พร้อมด้วยการอธิษฐานก็จะทำให้ความเชื่อของเราเข้มแข็งมากขึ้น จำไว้ว่าความเชื่อแท้ต่างจากความงมงาย เพราะความเชื่อแท้มีหลักฐานชัดเจนหลายอย่าง ความเชื่อแท้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตตลอดไป—ยน. 3:16
7. พระเยซูเป็นตัวอย่างให้สาวกยังไงเรื่องการสอนและการประกาศ?
7 พระเยซู “พูดกับพวกเขาเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” ด้วย เช่น ท่านอธิบายคำพยากรณ์ต่าง ๆ ที่บอกว่าเมสสิยาห์จะต้องทนทุกข์และเสียชีวิต (ลก. 24:13-32, 46, 47) เมื่อพระเยซูอธิบายบทบาทของท่านที่เป็นเมสสิยาห์ ท่านเน้นเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าที่ท่านถูกแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ ท่านประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเสมอ และสาวกของท่านในทุกวันนี้ก็ประกาศเรื่องเดียวกัน—มธ. 24:14; ลก. 4:43
“จนถึงสุดขอบโลก” (กิจการ 1:6-12)
8, 9. (ก) พวกอัครสาวกของพระเยซูมีความเข้าใจผิดสองอย่างอะไร? (ข) พระเยซูแก้ไขความเข้าใจผิดของอัครสาวกยังไง และเรื่องนี้สอนอะไรเราในทุกวันนี้?
8 เมื่อพวกอัครสาวกมาอยู่รวมกันบนภูเขามะกอก พวกเขาประชุมกันเป็นครั้งสุดท้ายกับพระเยซูบนโลก พวกเขาถามด้วยความกระตือรือร้นว่า “นายครับ ท่านจะกู้เอกราชให้อาณาจักรอิสราเอลตอนนี้เลยไหม?” (กจ. 1:6) คำถามข้อนี้ทำให้รู้ว่าอัครสาวกมีความคิดที่ไม่ถูกสองอย่าง อย่างแรก พวกเขาคิดเอาเองว่าจะมีการกู้เอกราชให้ชาติอิสราเอลจริง ๆ อย่างที่สอง พวกเขาคาดหมายว่ารัฐบาลที่พระเจ้าสัญญาไว้จะปกครองทันทีใน “ตอนนี้” แล้วพระเยซูช่วยพวกเขายังไงให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง?
9 พระเยซูรู้ว่าอีกไม่นานสาวกจะได้คำตอบที่ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดอย่างแรก ที่จริง แค่ 10 วันหลังจากนั้นสาวกของท่านจะได้เป็นพยานรู้เห็นการเริ่มต้นของชาติใหม่คืออิสราเอลของพระเจ้า พระเจ้ากำลังจะเลิกติดต่อเกี่ยวข้องกับชาติอิสราเอลโดยกำเนิดแล้ว สำหรับความเข้าใจผิดอย่างที่สอง พระเยซูเตือนสาวกด้วยความกรุณาว่า “พระเจ้าผู้เป็นพ่อเป็นผู้กำหนดวันเวลา พวกคุณไม่จำเป็นต้องรู้หรอก” (กจ. 1:7) พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ตรงต่อเวลาเสมอ ก่อนพระเยซูเสียชีวิตท่านบอกว่าแม้แต่ตัวท่านในตอนนั้นก็ไม่รู้ “วันเวลา” ที่จุดจบจะมาถึง แต่ “พระเจ้าผู้เป็นพ่อ” เท่านั้นที่รู้ (มธ. 24:36) ในทุกวันนี้ ถ้าคริสเตียนกังวลมากเกินไปว่าเมื่อไรจุดจบจะมาถึง จริง ๆ แล้วเขากำลังกังวลเรื่องที่เขาไม่จำเป็นต้องรู้
10. ความคิดแบบไหนของพวกอัครสาวกที่เราควรมีด้วย และทำไมเราต้องมีความคิดแบบนั้น?
10 เราควรระวังที่จะไม่ดูถูกพวกอัครสาวกของพระเยซู พวกเขามีความเชื่อที่เข้มแข็ง พวกเขาเป็นคนถ่อมยอมรับการแก้ไขความเข้าใจที่ผิด และถึงแม้เรื่องที่ถามทำให้รู้ว่าพวกเขาเข้าใจผิด แต่ก็ทำให้รู้ด้วยว่าพวกเขามีความคิดที่ดี เพราะพระเยซูเคยเตือนสาวกหลายครั้งว่า “ให้เฝ้าระวังอยู่เสมอ” (มธ. 24:42; 25:13; 26:41) และพวกเขาก็ตื่นตัวเฝ้าระวังด้วยใจจดจ่อคอยมองหาหลักฐานที่แสดงว่าพระยะโฮวากำลังจะลงมือจัดการ นี่เป็นความคิดที่ดีที่เราในทุกวันนี้ต้องมี ที่จริง ตอนนี้เป็น “สมัยสุดท้าย” ที่เราต้องตื่นตัวมากกว่าสมัยของพวกอัครสาวกด้วยซ้ำ—2 ทธ. 3:1-5
11, 12. (ก) พระเยซูมอบหมายงานอะไรให้สาวก? (ข) ทำไมถึงเหมาะที่พระเยซูพูดถึงพลังบริสุทธิ์เมื่อมอบหมายให้สาวกทำงานประกาศ?
11 พระเยซูเตือนพวกอัครสาวกว่าพวกเขาควรสนใจเรื่องอะไร ท่านบอกว่า “พวกคุณจะได้รับพลังจากพระเจ้า พลังบริสุทธิ์นั้นจะอยู่กับพวกคุณ และพวกคุณจะเป็นพยานของผมในกรุงเยรูซาเล็ม และทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นสะมาเรีย และจนถึงสุดขอบโลก” (กจ. 1:8) ตอนแรกจะมีการประกาศข่าวเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นที่ที่พระเยซูถูกประหาร จากนั้นก็จะมีการประกาศเรื่องนี้ไปทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และไปไกลทั่วโลก
12 นับว่าเหมาะที่พระเยซูยืนยันว่าท่านจะส่งพลังบริสุทธิ์มาช่วยพวกเขาก่อน แล้วท่านถึงมอบหมายพวกเขาให้ทำงานประกาศ นี่เป็นหนึ่งใน 40 กว่าครั้งที่พูดถึง “พลังบริสุทธิ์” ในหนังสือกิจการ หนังสือเล่มนี้เน้นหลายครั้งว่าเราไม่สามารถทำให้ความประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า ดังนั้น สำคัญมากที่เราจะอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์เป็นประจำ (ลก. 11:13) ตอนนี้เราจำเป็นต้องได้รับพลังบริสุทธิ์มากกว่าเมื่อก่อน
13. งานประกาศที่คนของพระเจ้าทำในทุกวันนี้กว้างไกลขนาดไหน และทำไมเราควรทำงานนี้อย่างกระตือรือร้น?
13 คำว่า “จนถึงสุดขอบโลก” ในตอนนี้มีขอบเขตกว้างกว่าสมัยนั้นมาก แต่อย่างที่บอกในบทก่อน พยานพระยะโฮวาเต็มใจตอบรับงานมอบหมายที่ให้ประกาศนี้อย่างกระตือรือร้น เพราะรู้ว่าพระเจ้าต้องการให้คนทุกชนิดได้ยินข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระองค์ (1 ทธ. 2:3, 4) คุณกำลังมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานช่วยชีวิตนี้ไหม? ไม่มีงานไหนที่ทำให้มีความสุขมากไปกว่างานนี้แล้ว พระยะโฮวาจะให้กำลังที่จำเป็นกับคุณเพื่อจะทำงานนี้ หนังสือกิจการจะบอกให้รู้วิธีประกาศอย่างถูกต้องและมีมุมมองที่ถูกต้องเพื่อจะทำงานนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
14, 15. (ก) ทูตสวรรค์บอกอะไรเกี่ยวกับการกลับมาของพระเยซู และพวกเขาหมายความว่ายังไง? (ดูเชิงอรรถด้วย) (ข) การกลับมาของพระเยซูเป็น “ในลักษณะเดียวกับ” ที่พระองค์จากไปยังไง?
14 อย่างที่บอกในตอนต้นของบทนี้ พระเยซูถูกรับขึ้นไปบนท้องฟ้าจนลับสายตาไป แต่อัครสาวก 11 คนก็ยังยืนมองท้องฟ้าอยู่จนทูตสวรรค์สององค์มาพูดกับพวกเขาว่า “ชาวกาลิลี พวกคุณยืนมองท้องฟ้าอยู่ทำไม? พระเยซูซึ่งถูกรับขึ้นไปในท้องฟ้าจะกลับมาในลักษณะเดียวกับที่พวกคุณเห็นท่านขึ้นไปนี้แหละ” (กจ. 1:11) ทูตสวรรค์หมายความว่าพระเยซูจะกลับมาในร่างกายมนุษย์ไหมอย่างที่นักศาสนาบางคนสอน? ไม่ ทูตสวรรค์ไม่ได้หมายความอย่างนั้น เรารู้ได้ยังไง?
15 ทูตสวรรค์บอกว่าพระเยซูจะกลับมาไม่ใช่ด้วยร่างกายเดียวกัน แต่ ‘ในลักษณะเดียวกัน’b ท่านจากไปในลักษณะไหน? ตอนที่ทูตสวรรค์พูดไม่มีใครเห็นท่านแล้ว นอกจากพวกอัครสาวกไม่กี่คนที่ได้เห็นตอนที่พระเยซูถูกรับขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อไปหาพ่อของท่าน ตอนที่ท่านกลับมาก็จะเป็นอย่างนั้นด้วย ในทุกวันนี้มีแค่คนที่เข้าใจพระคัมภีร์อย่างดีเท่านั้นที่รู้ว่าพระเยซูกำลังปกครองเป็นกษัตริย์อยู่ (ลก. 17:20) เราต้องเข้าใจสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าท่านเป็นกษัตริย์แล้ว และบอกเรื่องนี้กับคนอื่นเพื่อช่วยพวกเขาให้เห็นถึงความเร่งด่วนในสมัยของเราด้วยเหมือนกัน
“ขอช่วยพวกเราให้รู้ว่า . . . คนไหนที่พระองค์เลือก” (กิจการ 1:13-26)
16-18. (ก) จากกิจการ 1:13, 14 เราเรียนอะไรได้จากการประชุมเพื่อการนมัสการของคริสเตียน? (ข) เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของมารีย์แม่ของพระเยซู? (ค) ทำไมการประชุมของคริสเตียนถึงสำคัญมากในทุกวันนี้?
16 พวกอัครสาวก “กลับไปกรุงเยรูซาเล็มอย่างมีความสุข” (ลก. 24:52) แต่พวกเขาจะตอบรับการชี้นำและคำสั่งของพระเยซูยังไง? ในข้อ 13 และ 14 ของกิจการบท 1 เราเห็นว่าพวกเขามาประชุมกันใน “ห้องชั้นบน” และเราได้รู้รายละเอียดที่น่าสนใจบางอย่างเกี่ยวกับการประชุมครั้งนั้น ในปาเลสไตน์บ้านสมัยนั้นมักจะมีห้องชั้นบนที่ขึ้นไปโดยใช้บันไดที่อยู่นอกบ้าน “ห้องชั้นบน” ของบ้านที่พูดถึงในกิจการ 12:12 อาจเป็นบ้านของแม่มาระโกไหม? ไม่ว่าจะยังไง บ้านนั้นคงเป็นสถานที่ที่ไม่หรูหราแต่ก็ใช้ประโยชน์ได้ดีเพื่อใช้เป็นที่ประชุมของพวกสาวก แต่ใครบ้างที่มาประชุมกัน และพวกเขาทำอะไร?
17 ในการประชุมนี้ไม่ได้มีแค่พวกอัครสาวกหรือผู้ชายเท่านั้น แต่มี “ผู้หญิงบางคน” รวมทั้งมารีย์แม่ของพระเยซูอยู่ที่นั่นด้วย นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการพูดถึงมารีย์โดยตรงในคัมภีร์ไบเบิล นี่เป็นภาพที่น่าประทับใจ เธอมาร่วมประชุมไม่ใช่เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ แต่มาเพื่อนมัสการร่วมกับพี่น้องชายหญิงคริสเตียนด้วยความถ่อม เธอคงได้กำลังใจที่ลูกชายอีกสี่คนที่เมื่อก่อนตอนที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ไม่ได้มีความเชื่อ แต่ตอนนี้อยู่กับเธอด้วย (มธ. 13:55; ยน. 7:5) พวกเขาได้เปลี่ยนความคิดตั้งแต่พี่ชายแม่เดียวกันของเขาตายและฟื้นขึ้นจากตายแล้ว—1 คร. 15:7
18 เหตุผลที่พวกสาวกมาประชุมกันก็เพื่อ “อธิษฐานร่วมกันอยู่เสมอ” (กจ. 1:14) การประชุมกันเป็นส่วนสำคัญของการนมัสการของคริสเตียน เรามาประชุมเพื่อให้กำลังใจกัน เพื่อรับการสอนและคำแนะนำ และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อนมัสการพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเรา คำอธิษฐานและการร้องเพลงสรรเสริญในการประชุมทำให้พระองค์พอใจมากและพวกเราก็ได้รับประโยชน์ด้วย ขอเราอย่าขาดการประชุมที่เสริมความเชื่อแบบนี้—ฮบ. 10:24, 25
19-21. (ก) เราเรียนอะไรได้จากบทบาทของเปโตรในประชาคม? (ข) ทำไมควรมีคนมาทำหน้าที่แทนยูดาส และเราจะเรียนอะไรได้จากวิธีที่มีการจัดการเรื่องนี้?
19 ตอนนี้พวกสาวกของพระเยซูมีเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ และอัครสาวกเปโตรก็นำหน้าในการหาวิธีแก้ปัญหานั้น (ข้อ 15-26) เราได้กำลังใจมากที่เห็นว่าเปโตรได้เปลี่ยนไปมากขนาดไหนในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ได้ปฏิเสธผู้เป็นนายถึงสามครั้ง? (มก. 14:72) เราทุกคนมีแนวโน้มที่จะทำบาป เราเลยต้องไม่ลืมว่าพระยะโฮวา “ดีจริง ๆ และพร้อมจะให้อภัย” คนที่กลับใจจริง ๆ—สด. 86:5
20 เปโตรเข้าใจว่าควรมีคนมาทำหน้าที่แทนยูดาสที่ได้ทรยศพระเยซู แต่ใครควรมาทำหน้าที่นั้น? อัครสาวกใหม่ควรเป็นคนที่ได้ติดตามพระเยซูตลอดช่วงงานรับใช้ของท่านและได้เห็นการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน (กจ. 1:21, 22) เรื่องนี้สอดคล้องกับคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “พวกคุณที่ติดตามผมจะได้นั่งบนบัลลังก์ 12 บัลลังก์ และพิพากษาอิสราเอล 12 ตระกูล” (มธ. 19:28) ดูเหมือนว่าพระยะโฮวาอยากให้อัครสาวก 12 คนที่ติดตามพระเยซูระหว่างงานรับใช้ของท่านบนโลกประกอบกันเป็น “หินฐานราก 12 ก้อน” ของเยรูซาเล็มใหม่ในอนาคต (วว. 21:2, 14) ดังนั้น พระเจ้าให้เปโตรเข้าใจว่าคำพยากรณ์ที่บอกว่า “ให้คนอื่นรับหน้าที่ผู้ดูแลแทนเขา” นั้นได้เกิดขึ้นจริงกับยูดาส—สด. 109:8
21 มีการเลือกอัครสาวกใหม่ยังไง? โดยการจับฉลากซึ่งเป็นวิธีปกติที่ใช้กันในสมัยคัมภีร์ไบเบิล (สภษ. 16:33) แต่นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการใช้วิธีจับฉลาก ดูเหมือนว่าหลังจากมีการเจิมพวกสาวกด้วยพลังบริสุทธิ์ก็ไม่มีการใช้วิธีนี้อีก แต่ขอสังเกตว่าทำไมถึงมีการใช้ฉลาก พวกอัครสาวกได้อธิษฐานว่า “พระยะโฮวา พระองค์รู้จักหัวใจของทุกคน ขอช่วยพวกเราให้รู้ว่าในสองคนนี้ คนไหนที่พระองค์เลือก” (กจ. 1:23, 24) พวกเขาอยากให้พระยะโฮวาเป็นคนเลือก มีการเลือกมัทธีอัสที่ดูเหมือนเป็นสาวกคนหนึ่งใน 70 คนที่พระเยซูส่งออกไปประกาศ ดังนั้น มัทธีอัสจึงเข้ามาเป็นคนหนึ่งใน “อัครสาวก 12 คน”c—กจ. 6:2
22, 23. ทำไมเราควรยอมรับอำนาจและเชื่อฟังคนที่นำหน้าในประชาคม?
22 เหตุการณ์นี้เตือนเราให้นึกถึงความสำคัญที่คนของพระเจ้าจะต้องได้รับการจัดระเบียบ จนถึงทุกวันนี้ มีการเลือกผู้ชายที่มีความรับผิดชอบให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในประชาคม จะมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดูแลตามหลักพระคัมภีร์ที่มีบอกไว้อย่างละเอียด และมีการอธิษฐานขอการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า ดังนั้น ประชาคมควรมองว่าพี่น้องชายคนนั้นได้รับการแต่งตั้งจากพลังบริสุทธิ์ เราต้องยอมรับอำนาจและเชื่อฟังคนที่นำหน้า เพื่อส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันในประชาคม—ฮบ. 13:17
23 การที่พวกสาวกได้เห็นพระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย และได้เห็นการปรับเปลี่ยนขององค์การก็ทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นและได้รับกำลังใจ ตอนนี้พวกเขาถูกเตรียมไว้พร้อมแล้วสำหรับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า บทถัดไปจะพูดถึงเหตุการณ์สำคัญนั้น
a ในหนังสือข่าวดีที่ลูกาเขียน เขาเรียกผู้ชายคนนี้ว่า “ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพอย่างสูง” ทำให้บางคนคิดว่า เธโอฟีลัสอาจเป็นคนมีชื่อเสียงที่ยังไม่ได้มาเป็นคริสเตียน (กจ. 1:1-5) แต่ในหนังสือกิจการ ลูกาเรียกเขาว่า “เธโอฟีลัส” นักวิชาการบางคนบอกว่าเธโอฟีลัสอาจเข้ามาเป็นคริสเตียนหลังจากได้อ่านหนังสือข่าวดีที่ลูกาเขียน เพราะลูกาไม่ได้ใช้คำที่แสดงการยกย่องแล้ว และเขาเขียนถึงผู้ชายคนนี้เหมือนเขียนถึงพี่น้องคริสเตียน
b ในที่นี้คัมภีร์ไบเบิลใช้คำภาษากรีกตรอพ็อส ซึ่งหมายถึง “ลักษณะ” ไม่ใช่คำมอร์ฟี ที่หมายถึง “ร่างกาย”
c ต่อมาเปาโลได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “อัครสาวกที่ถูกส่งไปหาคนต่างชาติ” แต่เขาไม่เคยถูกนับว่าเป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คน (รม. 11:13; 1 คร. 15:4-8) เปาโลไม่มีคุณสมบัติที่จะได้สิทธิพิเศษนี้เพราะเขาไม่ได้ติดตามพระเยซูระหว่างช่วงงานรับใช้ของท่านบนโลก