จงประพฤติด้วยใจยำเกรงพระยะโฮวา
“ขณะที่ [ประชาคม] ได้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระยะโฮวา และได้รับการหนุนใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงมีการเพิ่มทวีขึ้นต่อ ๆ ไป.”—กิจการ 9:31, ล.ม.
1, 2. (ก) เกิดอะไรขึ้นเมื่อประชาคมคริสเตียนย่างเข้าสู่ช่วงสงบระยะหนึ่ง? (ข) แม้นพระยะโฮวายอมให้มีการข่มเหง พระองค์ทรงกระทำอะไรอีก?
สาวกคนหนึ่งเผชิญการทดลองอย่างหนักที่สุด. เขาจะรักษาความจงรักภักดีต่อพระเจ้าไหม? แน่นอน! เขาได้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระเจ้า พร้อมกับความเกรงขามต่อผู้สร้างตัวเขา และจะยอมตายเยี่ยงพยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา.
2 ผู้รักษาความจงรักภักดีซึ่งยำเกรงพระเจ้าคนนี้คือ ซะเตฟาโน “ซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (กิจการ 6:5) การฆาตกรรมผู้นี้ก่อให้มีกระแสคลื่นแห่งการข่มเหงขึ้นมา แต่หลังจากนั้นประชาคมทั่วแคว้นยูดาย ฆาลิลาย และซะมาเรียก็มีช่วงแห่งความสงบและได้รับการก่อร่างสร้างขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ. ยิ่งกว่านั้น “ขณะที่ประชาคมได้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระยะโฮวา และได้รับการหนุนใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงมีการเพิ่มทวีขึ้นต่อ ๆ ไป.” (กิจการ 9:31, ล.ม.) ในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวาสมัยปัจจุบัน เราย่อมแน่ใจได้ว่า พระเจ้าจะทรงอวยพรพวกเราทั้งในยามสงบหรือเมื่อมีการข่มเหง ดังปรากฏในพระธรรมกิจการบท 6 จนถึงบท 12. ฉะนั้น จงให้เราประพฤติด้วยความเกรงกลัวอย่างสูงต่อพระเจ้าเมื่อถูกข่มเหง หรือใช้ช่วงที่ไม่มีการข่มเหงให้เป็นประโยชน์เพื่อการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณและการรับใช้พระองค์อย่างแข็งขันยิ่งขึ้น.—พระบัญญัติ 32:11, 12; 33:27.
สัตย์ซื่อตราบวันตาย
3. ปัญหาอะไรในกรุงยะรูซาเลมได้รับการแก้ไข และโดยวิธีใด?
3 แม้มีปัญหาหลายอย่างประดังเข้ามาในยามสงบ การจัดระเบียบที่ดีจะช่วยแก้ได้. (6:1-7) ชาวยิวที่พูดภาษากรีกในกรุงยะรูซาเลมโอดครวญว่า แม่ม่ายท่ามกลางพวกเขาไม่ได้รับบริจาคอาหารแต่ละวันเหมือนผู้เชื่อถือชาวยิวเหล่านั้นที่พูดภาษาฮีบรู. ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเมื่อพวกอัครสาวกได้ตั้งผู้ชายเจ็ดคน “ไว้ให้ดูแลการนี้.” คนหนึ่งในเจ็ดคนนั้นคือ ซะเตฟาโน.
4. ซะเตฟาโนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อข้อกล่าวหาเท็จ?
4 อย่างไรก็ดี จากนั้นไม่นานซะเตฟาโนผู้เกรงกลัวพระเจ้าก็เผชิญการทดลอง. (6:8-15) ผู้ชายกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นมาไล่เลียงซะเตฟาโน. บางคนมาจาก “ธรรมศาลาของพวกลิเบระติน” อาจเป็นคนยิวที่ถูกชาวโรมันจับเป็นเชลยและต่อมาถูกปล่อยเป็นอิสระ หรืออาจเป็นคนที่ได้เปลี่ยนมาเชื่อศาสนายิวซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นทาส. ครั้นฝ่ายปฏิปักษ์ไม่สามารถใช้คารมสู้ซะเตฟาโนผู้ซึ่งพูดอย่างมีปัญญาและประกอบด้วยพระวิญญาณ ปรปักษ์ได้จับซะเตฟาโนส่งศาลซันเฮดริน. ที่นั่นพยานเท็จพูดว่า ‘เราได้ยินชายผู้นี้กล่าวว่าพระเยซูจะทำลายพระวิหารและจะเปลี่ยนธรรมเนียมซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโมเซ.’ กระนั้น พวกที่กล่าวต่อต้านก็สามารถมองออกว่าซะเตฟาโนไม่ใช่ผู้ทำผิด แต่มีสีหน้าสงบเยือกเย็นอย่างทูตสวรรค์ ผู้สื่อข่าวของพระเจ้า มั่นใจในเรื่องการหนุนหลังจากพระองค์. ช่างแตกต่างกันอะไรเช่นนั้นจากใบหน้าของคนเหล่านั้นที่มีเจตนาร้าย เพราะเขายอมเป็นเครื่องมือให้ซาตานใช้!
5. ซะเตฟาโนยกจุดอะไรขึ้นมากล่าวขณะให้คำพยาน?
5 เมื่อมหาปุโรหิตกายะฟาได้ซักถามท่าน ซะเตฟาโนได้ให้คำพยานอย่างปราศจากความกลัว. (7:1-53) การทบทวนประวัติชาติยิศราเอลโดยซะเตฟาโนแสดงว่า พระเจ้าทรงมุ่งหมายจะยกเลิกข้อกฎหมายและงานรับใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระวิหารเมื่อมาซีฮาเสด็จมา. ซะเตฟาโนให้ข้อสังเกตว่า โมเซผู้ได้ช่วยชาวยิศราเอลหลุดพ้นการข่มเหงซึ่งชาวยิวทุกคนอ้างว่านับถือท่าน กระนั้น ชาติยิศราเอลก็ยังได้ปฏิเสธท่าน เหมือนคนสมัยนั้นที่ไม่ได้ต้อนรับผู้ซึ่งนำความรอดใหญ่ยิ่งกว่าโมเซมาถึงเขา. โดยการพูดว่าพระเจ้ามิได้สถิตอยู่ในบ้านที่สร้างด้วยมือมนุษย์ ซะเตฟาโนชี้ให้เห็นว่าพระวิหารและระบบการนมัสการ ณ วิหารแห่งนี้จะถูกยกเลิกไป. แต่เนื่องจากพวกผู้พิพากษามิได้เกรงกลัวพระเจ้า และไม่ต้องการรู้จักพระทัยประสงค์ของพระองค์ ซะเตฟาโนได้พูดว่า “โอคนชาติหัวแข็งใจดื้อหูตึง ท่านทั้งหลายขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์เสมอ. มีใครบ้างในพวกศาสดาพยากรณ์ซึ่งบรรพบุรุษของท่านมิได้ข่มเหง? เขาได้ฆ่าบรรดาคนที่กล่าวถึงพระองค์ผู้ชอบธรรมซึ่งจะเสด็จมานั้น บัดนี้ท่านทั้งหลายได้คิดคดทรยศและฆ่าพระองค์นั้นเสียแล้ว.”
6. (ก) ก่อนเสียชีวิต ซะเตฟาโนมีประสบการณ์เช่นไรอันเป็นการเสริมความเชื่อให้มั่นคง? (ข) ทำไมซะเตฟาโนสามารถกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า “พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอโปรดรับจิตวิญญาณของข้าพเจ้า”?
6 การพูดอย่างไม่กลัวของซะเตฟาโนนำไปสู่การฆ่าท่าน. (7:54-60) พวกผู้พิพากษาต่างก็โกรธแค้นเพราะท่านได้แฉความผิดของเขาที่สังหารพระเยซู. แต่ความเชื่อของซะเตฟาโนได้รับการเสริมให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้นสักเท่าใดเมื่อท่าน ‘เขม้นดูสวรรค์เห็นรัศมีของพระเจ้าและพระเยซูทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า’! บัดนี้ซะเตฟาโนสามารถเผชิญหน้าคู่ปรปักษ์ด้วยความมั่นใจว่า ท่านได้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. แม้พยานพระยะโฮวาไม่เห็นนิมิต แต่เมื่อถูกข่มเหงเราก็อาจมีความสงบใจอย่างที่ได้รับมาจากพระเจ้าเช่นเดียวกัน. หลังจากพวกศัตรูลากซะเตฟาโนออกนอกกรุงยะรูซาเลมเขาเริ่มลงมือเอาหินขว้างท่าน และท่านได้อ้อนวอนว่า “โอ พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอโปรดรับจิตวิญญาณของข้าพเจ้า.” ทั้งนี้เหมาะสมแล้วเพราะพระเจ้าทรงมอบอำนาจให้พระเยซูปลุกคนอื่นขึ้นจากตายสู่ชีวิต. (โยฮัน 5:26; 6:40; 11:25, 26) แล้วซะเตฟาโนได้คุกเข่าร้องเสียงดังว่า “พระยะโฮวา โปรดอย่าลงโทษเขาเพราะบาปครั้งนี้.” ครั้นแล้วท่านก็ล่วงลับไปอย่างผู้พลีชีวิตเพื่อศาสนา เหมือนผู้ติดตามพระเยซูหลายคนได้สละชีวิตตั้งแต่ครั้งนั้นเรื่อยมากระทั่งถึงทุกวันนี้.
การข่มเหงเป็นเหตุให้ข่าวดีแพร่กระจาย
7. การข่มเหงก่อผลเช่นไร?
7 การตายของซะเตฟาโนโดยแท้แล้วยังผลเป็นการแพร่กระจายข่าวดี. (8:1-4) การข่มเหงทำให้ศิษย์ทั้งหลายพลัดพรากกระจัดกระจายไปทั่วแคว้นยูดาและซะมาเรียยกเว้นพวกอัครสาวก. เซาโลซึ่งเห็นชอบกับการสังหารซะเตฟาโนก็ได้เข้าไปล้างผลาญประชาคมเยี่ยงสัตว์ร้าย บุกรุกถึงบ้านเรือนฉุดลากสาวกของพระเยซูไปจำไว้ในคุก. ขณะที่สาวกซึ่งกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ ประกาศต่อไป แผนงานของซาตานที่จะยับยั้งผู้ประกาศราชอาณาจักรซึ่งเกรงกลัวพระเจ้าโดยการใช้วิธีกดขี่ข่มเหงนั้นจึงไม่สำเร็จ. ทุกวันนี้ก็เช่นกัน บ่อยครั้งการข่มเหงเป็นเหตุให้ข่าวดีแพร่กระจาย หรือมิฉะนั้น ได้ทำให้ผู้คนหันมาเอาใจใส่งานประกาศสั่งสอนราชอาณาจักร.
8. (ก) เกิดอะไรขึ้นสืบเนื่องมาจากการประกาศในซะมาเรีย? (ข) เปโตรได้ใช้กุญแจดอกที่สองซึ่งพระเยซูทรงมอบไว้กับท่านนั้นโดยวิธีใด?
8 ฟิลิปผู้เผยแพร่ได้เดินทางไปซะมาเรียเพื่อ “ประกาศเรื่องพระคริสต์.” (8:5-25) ความชื่นชมยินดีเป็นอันมากได้บังเกิดขึ้นในเมืองนั้นขณะที่ได้มีการประกาศข่าวดี ได้มีการขับผีโสโครกที่เข้าสิงผู้คน และคนเจ็บป่วยได้รับการรักษาให้หาย. พวกอัครสาวกในกรุงยะรูซาเลมได้ส่งเปโตรกับโยฮันไปยังเมืองซะมาเรีย และเมื่อท่านทั้งสองได้อธิษฐานและวางมือบนคนเหล่านั้นที่รับบัพติสมา สาวกใหม่เหล่านั้นก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์. ซีโมนซึ่งเมื่อก่อนเป็นนักเล่นกลแต่พึ่งได้รับบัพติสมา ผู้นี้พยายามขอซื้ออำนาจรักษาโรค แต่เปโตรกล่าวว่า “ให้เงินของเจ้าฉิบหายไปด้วยกันกับเจ้าเถิด. ใจของเจ้าไม่สัตย์ซื่อเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า.” เมื่อได้รับคำเตือนให้กลับใจและทูลขอพระยะโฮวาโปรดอภัยความผิด เขาจึงขอร้องอัครสาวกอธิษฐานเผื่อเขา. ทั้งนี้จึงน่าจะกระตุ้นคนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระยะโฮวาในทุกวันนี้ให้อธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อคุ้มครองรักษาหัวใจ. (สุภาษิต 4:23) (จากเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงเกิดมีคำศัพท์ “ซีมอนี” หมายถึง “การซื้อหรือขายตำแหน่งในคริสต์จักร หรือฐานันดรทางศาสนา.”) เปโตรและโยฮันได้ประกาศข่าวดีในหลายหมู่บ้านในมณฑลซะมาเรีย. โดยวิธีนี้ เปโตรใช้กุญแจดอกที่สองซึ่งพระเยซูให้ไว้ เปิดประตูความรู้และโอกาสเพื่อจะเข้าสู่ราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์.—มัดธาย 16:19.
9. ชายชาวเอธิโอเปียซึ่งฟิลิปได้ให้คำพยานนั้นเป็นใคร และทำไมชายคนนี้มีคุณวุฒิจะรับบัพติสมาได้?
9 ในเวลาต่อมา ทูตของพระเจ้าได้กำหนดเขตทำงานใหม่แก่ฟิลิป. (กิจ. 8:26-40) บนเส้นทางจากยะรูซาเลมไปเมืองฆาซา มี “ขันที” ผู้หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลคลังทรัพย์ของพระนางกันดาเกราชินีแห่งเอธิโอเปีย ได้นั่งมาในรถ. เขาไม่ใช่ขันทีฝ่ายกาย ผู้ชายที่ถูกตอน หากเป็นเช่นนั้น เขาจะถูกกีดกันมิให้เข้าศาสนายิว แต่เขาได้ไปที่ยะรูซาเลมเพื่อนมัสการฐานะเป็นคนเปลี่ยนศาสนาและรับสุหนัตแล้ว. (พระบัญญัติ 23:1) ฟิลิปได้เห็นขันทีกำลังอ่านพระธรรมยะซายา. เมื่อรับเชิญเข้านั่งในรถแล้ว ฟิลิปได้พิจารณาคำพยากรณ์ของยะซายาและ ‘ประกาศข่าวดีแก่ท่านถึงเรื่องพระเยซู.’ (ยะซายา 53:7, 8) จากนั้นไม่นาน ชายเอธิโอเปียผู้นี้อุทานว่า “นี่แน่ะ มีน้ำ มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติสมา?” ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค เนื่องจากเขารู้จักพระเจ้าและบัดนี้เกิดความเชื่อในพระคริสต์. ดังนั้น ฟิลิปจึงให้บัพติสมาแก่ชายเอธิโอเปียผู้ซึ่งเดินทางต่อไปด้วยความยินดี. มีอะไรหรือที่เหนี่ยวรั้งคุณไม่ให้รับบัพติสมา?
ผู้ข่มเหงเปลี่ยนใจเข้ามาเชื่อ
10, 11. เซาโลแห่งเมืองตาระโซประสบเหตุการณ์อะไรบนเส้นทางไปเมืองดาเมเซ็ก และไม่นานหลังจากนั้น?
10 ระหว่างนั้น เซาโลหาโอกาสจะทำให้สาวกของพระเยซูสละความเชื่อด้วยการขู่เข็ญจะจำคุกหรือขู่จะฆ่า. (9:1-18 ก) ปุโรหิตใหญ่ (น่าจะเป็นกายะฟา) ได้มอบหนังสือให้เซาโลถือไปยังธรรมศาลาในเมืองดาเมเซ็ก มอบอำนาจให้ท่านจับมัดชายหรือหญิงที่พบว่าถือ “ทางนั้น” หรือวิถีชีวิตตามเยี่ยงอย่างของพระคริสต์ แล้วพามายังกรุงยะรูซาเลม. ประมาณเที่ยงวันใกล้เมืองดาเมเซ็ก มีแสงสว่างส่องมาจากฟ้าและมีเสียงถามว่า “เซาโลเอ๋ย เจ้าข่มเหงเราทำไม?” คนที่เดินทางไปด้วยก็ “ได้ยินพระสุรเสียงนั้น” แต่ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พูดนั้นหมายถึงอะไร. (เปรียบเทียบกิจการ 22:6, 9.) การเปิดเผยบางส่วนของพระเยซูผู้รับสง่าราศีในครั้งนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เซาโลตาบอด. พระเจ้าทรงใช้อะนาเนียซึ่งเป็นศิษย์ช่วยทำให้สายตาของท่านกลับดีดังเดิม.
11 ภายหลังได้รับบัพติสมาแล้ว ผู้นี้ซึ่งแต่ก่อนทำการข่มเหงคนอื่นกลับกลายมาเป็นเป้าของการข่มเหงเสียเอง. (9:18ข-25) ชาวยิวในเมืองดาเมเซ็กต้องการกำจัดเซาโล. แต่พอตกกลางคืนพวกศิษย์ทั้งหลายได้พาท่านหย่อนลงทางช่องกำแพงเมือง คงให้นั่งในตะกร้าสานด้วยเชือกหรือขัดด้วยแขนงไม้. (2 โกรินโธ 11:32, 33) ทางที่ผ่านออกไปได้อาจเป็นช่องหน้าต่างบ้านสาวกซึ่งสร้างติดกำแพงก็ได้. ที่จะใช้กลลวงศัตรูแล้วดำเนินงานเทศนาประกาศต่อ ๆ ไปนั้น ไม่ใช่การกระทำด้วยความขลาด.
12. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเซาโลในกรุงยะรูซาเลม? (ข) ความเป็นไปของประชาคมเป็นเช่นไร?
12 บาระนาบาได้ช่วยพวกศิษย์ในกรุงยะรูซาเลมให้ยอมรับเซาโลในฐานะเป็นสหายผู้มีความเชื่อ. (9:26-31) ที่นั่นเซาโลได้โต้ตอบอย่างไม่พรั่นพรึงกับชาวยิวที่พูดภาษากรีก ผู้ซึ่งพยายามขจัดท่านเช่นเดียวกัน. ครั้นสืบรู้อุบายเช่นนั้น พวกพี่น้องได้พาท่านไปยังเมืองกายซาไรอา แล้วให้ท่านเดินทางต่อไปถึงเมืองตาระโซ อันเป็นบ้านเกิดของท่านในซิลิเซีย (กิลิเกีย). ตอนนั้นประชาคมตลอดทั่วแคว้นยูดา ฆาลิลาย และซะมาเรีย “จึงมีความสงบสุขและเจริญขึ้น” ฝ่ายวิญญาณ. ขณะที่ได้ ‘ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระยะโฮวา และโดยการหนุนใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงได้เจริญเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ.’ ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีเพียงไรสำหรับบรรดาประชาคมต่าง ๆ เพื่อเขาจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวา!
คนต่างชาติได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ
13. พระเจ้าได้ทรงสนับสนุนเปโตรให้กระทำการอัศจรรย์อะไรที่เมืองลุดาและเมืองยบเป?
13 เปโตรก็เช่นกัน หมกมุ่นทำงาน. (9:32-43) ณ เมืองลุดา (ปัจจุบันเรียก ลอด) ตั้งอยู่ในที่ราบชารอน ท่านได้รักษาคนชื่ออายเนอา ซึ่งเป็นง่อย. การที่คนง่อยกลับหายเป็นปกติเช่นนั้นทำให้หลายคนหันเข้ามาเชื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า. ที่เมืองยบเป สาวกหญิงชื่อตะบีธา (โดระกา) นางเป็นที่รักได้ล้มป่วยเสียชีวิต. เมื่อเปโตรไปถึงที่นั่น พวกหญิงม่ายร้องไห้และได้ชี้ให้ท่านดูเสื้อผ้าที่นางโดระกาเย็บให้ คงเป็นเสื้อผ้าซึ่งเขาสวมใส่ในขณะนั้น. เปโตรได้ปลุกนางขึ้นมาจากตาย ครั้นข่าวนี้แพร่สะพัดไปหลายคนได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. ในเมืองยบเป เปโตรได้พักอยู่กับซีโมนช่างฟอกหนัง ซึ่งมีบ้านอยู่ริมทะเล. ช่างฟอกหนังจะแช่หนังสัตว์ในน้ำทะเล แล้วก็จะแช่ในน้ำปูนก่อนขูดขนให้หลุด. เขาทำหนังสัตว์เป็นหนังนุ่มโดยการฟอกด้วยน้ำยาซึ่งสกัดจากพืชบางชนิด.
14. (ก) โกระเนเลียวเป็นใคร? (ข) อะไรเป็นความจริงเกี่ยวด้วยคำอธิษฐานของโกระเนเลียว?
14 เวลานั้น (ปีสากลศักราช 36) เกิดเหตุการณ์สำคัญ ณ ที่อื่น. (10:1-8) ที่เมืองกายซาไรอามีนายร้อยโกระเนเลียว เป็นชาวโรมันที่เกรงกลัวพระเจ้า เป็นผู้บัญชาการ “กองทหารอิตาเลียน” ซึ่งดูเหมือนเป็นทหารเกณฑ์จากหมู่ราษฎรชาวโรมันและเสรีชนในอิตาลี. ถึงแม้นโกระเนเลียวเกรงกลัวพระเจ้า เขาก็หาใช่คนเปลี่ยนมานับถือศาสนายิวไม่. เขาได้เห็นนิมิต ในนิมิตนั้นปรากฏว่าทูตสวรรค์ได้แจ้งว่า คำอธิษฐานของเขาได้ “ขึ้นไปเป็นเหตุให้พระเจ้าระลึกถึงแล้ว.” แม้ขณะนั้นโกระเนเลียวยังไม่ได้อุทิศตนแด่พระยะโฮวา แต่พระเจ้าก็ได้ตอบคำอธิษฐานของเขา. แต่ดังที่ทูตสวรรค์ชี้นำ เขาได้ส่งคนไปเชิญเปโตรมาหา.
15. เกิดอะไรขึ้นขณะที่เปโตรอธิษฐานอยู่บนหลังคาบ้านซีโมน?
15 ในเวลาเดียวกัน เปโตรได้รับนิมิตขณะอธิษฐานอยู่บนหลังคาตึกของซีโมน. (10:9-23) ระหว่างนั้นเปโตรได้เคลิ้มไป ท่านเห็นท้องฟ้าแหวกออก และมีภาชนะอันหนึ่ง เหมือนผ้าปูที่นอนผูกติดกันทั้งสี่มุมลอยลงมา และในสิ่งนั้นเต็มไปด้วยสัตว์สี่เท้าอันเป็นสัตว์ไม่สะอาด สัตว์เลื้อยคลานและนกต่าง ๆ. ได้มีคำสั่งให้ฆ่ากิน แต่เปโตรตอบว่าตนไม่เคยกินสิ่งอันเป็นมลทินเลย. สุรเสียงนั้นสั่งว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ทรงชำระแล้ว อย่าว่าเป็นของห้าม.” นิมิตนั้นทำให้เปโตรเป็นฉงนสนเท่ห์ใจ แต่ท่านทำตามการชี้นำของพระวิญญาณ. ดังนั้น เปโตรพร้อมกับพี่น้องคนยิวอีกหกคนจึงได้เดินทางไปกับผู้ส่งข่าวที่โกระเนเลียวได้ใช้มาหา.—กิจการ 11:12.
16, 17. (ก) เปโตรได้เล่าเรื่องอะไรแก่โกระเนเลียวและผู้คนที่ชุมนุมกันที่บ้านของเขา? (ข) เกิดอะไรขึ้นขณะเปโตรพูดอยู่?
16 บัดนี้ ชาวต่างชาติพวกแรกจวนจะได้ยินข่าวดี. (10:24-43) ครั้นเปโตรพร้อมกับเพื่อนสนิทของท่านได้มาถึงเมืองกายซาไรอาก็พบว่า โกระเนเลียวคอยอยู่พร้อมกับญาติและมิตรสหายของเขา. โกระเนเลียวได้หมอบลงที่เท้าของเปโตร แต่ด้วยใจถ่อม อัครสาวกได้ปฏิเสธการไหว้กราบแบบนั้น ท่านได้พูดถึงเรื่องที่พระยะโฮวาได้ทรงเจิมพระเยซูด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และฤทธิ์เดชฐานะที่ทรงเป็นมาซีฮา ทั้งได้ชี้แจงว่า ทุกคนที่สำแดงความเชื่อในท่านองค์นี้ก็ได้รับการอภัยพ้นจากบาป.
17 ถึงตอนนี้พระยะโฮวาทรงดำเนินงาน. (10:44-48) ขณะที่เปโตรยังพูดอยู่ พระเจ้าได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนต่างชาติเหล่านั้นที่มีความเชื่อ. คราวนั้นและที่นั่น พวกเขาได้รับการกำเนิดโดยพระวิญญาณของพระเจ้า และได้รับการดลใจให้พูดภาษาต่างประเทศกล่าวยกย่องสรรเสริญพระองค์. ด้วยเหตุนี้เขาได้รับบัพติสมาอย่างเหมาะสมทีเดียวในนามของพระเยซูคริสต์. ฉะนั้น จึงเป็นอันว่าเปโตรได้ใช้กุญแจดอกที่สามเปิดทางแก่ชาวต่างชาติที่เกรงกลัวพระเจ้าให้มีความรู้และโอกาสจะเข้าในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.—มัดธาย 16:19.
18. บรรดาพี่น้องชาวยิวแสดงท่าทีอย่างไรเมื่อเปโตรได้ชี้แจงว่าคนต่างชาติ “ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์”?
18 ต่อมาในยะรูซาเลม พวกสนับสนุนการทำสุหนัตได้โต้เถียงกับเปโตร. (11:1-18) เมื่อท่านได้ชี้แจงว่าคนต่างชาตินั้น “ได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” พวกพี่น้องชาวยิวของท่านจึงได้สงบปากคำและสรรเสริญพระเจ้า โดยกล่าวว่า “พระเจ้าได้ทรงโปรดแก่คนต่างชาติให้กลับใจเสียใหม่จนได้ชีวิตรอดด้วย.” พวกเราก็เช่นกัน ควรยอมฟังเมื่อมีการชี้แจงพระทัยประสงค์ของพระเจ้าแก่เรา.
การก่อตั้งประชาคมต่างชาติ
19. เป็นมาอย่างไรที่พวกสาวกได้รับการขนานนามว่าคริสเตียน?
19 มาบัดนี้ ประชาคมคนต่างชาติแห่งแรกถูกตั้งขึ้น. (11:19-26) ในคราวที่พวกสาวกได้กระจัดกระจายเนื่องด้วยการเคี่ยวเข็ญอันเกิดขึ้นกับซะเตฟาโน บางคนได้ไปถึงอันติโอเกีย ซีเรีย ซึ่งมีชื่อเรื่องการนมัสการที่ไม่สะอาดและการเสื่อมถอยทางศีลธรรม. ขณะเขาประกาศข่าวดีแก่ผู้คนที่พูดภาษากรีกในเมืองนั้น “พระหัตถ์ของพระเจ้าได้อยู่กับเขา” และคนเป็นอันมากได้เชื่อถือ. บาระนาบากับเซาโลได้สั่งสอนอยู่ที่นั่นตลอดปีหนึ่ง และ “ในเมืองอันติโอเกียนั่นเอง โดยการจัดเตรียมของพระเจ้า พวกสาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก.” ไม่ต้องสงสัยพระยะโฮวาทรงดำเนินการให้เขามีชื่อเรียกขานเช่นนั้น เนื่องจากคำภาษากรีก เคร-เมทิʹ-โซ หมายความว่า “ถูกเรียกโดยการจัดเตรียมของพระเจ้า” และถูกนำมาใช้เสมอในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวด้วยสิ่งที่มาจากพระเจ้า.
20. อะฆะโบบอกล่วงหน้าถึงสิ่งใด และประชาคมอันติโอเกียมีปฏิกิริยาอย่างไร?
20 นอกจากนี้ ผู้พยากรณ์ที่เกรงกลัวพระเจ้าจากกรุงยะรูซาเลมได้มาที่เมืองอันติโอเกีย. (11:27-30) ผู้หนึ่งได้แก่อะฆะโบ ซึ่งได้พยากรณ์ “โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าจะบังเกิดการกันดารอาหารมากยิ่งทั่วแผ่นดินโลก.” คำพยากรณ์นี้ได้สำเร็จระหว่างรัชกาลของเกลาดิโอ จักรพรรดิแห่งโรมัน (ปีสากลศักราช 41-54) และโยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ก็กล่าวถึง “การกันดารอาหารครั้งใหญ่นี้.” (จากหนังสือจูวิช แอนทิควิทีส์ เล่มยี่สิบ, หน้า 51 [บท 2, วรรค 5]; เล่มยี่สิบ, หน้า 101; [บท 5, วรรค 2]) ด้วยความรักจากใจจริง ประชาคมอันติโอเกียจึงจัดส่งของบริจาคไปให้พี่น้องที่อัตคัตขัดสนในแคว้นยูดาย.—โยฮัน 13:35.
การข่มเหงไม่มีผล
21. เฮโรดอะฆะริปาที่หนึ่งได้กระทำอะไรกับเปโตร? แต่มีผลอย่างไร?
21 ช่วงเวลาสงบได้จบสิ้นลงเมื่อเฮโรดอะฆะริปาที่หนึ่งเริ่มกดขี่ข่มเหงผู้เกรงกลัวพระยะโฮวาที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลม. (12:1-11) เฮโรดได้สั่งประหารยาโกโบด้วยดาบ อาจตัดหัวเขา เป็นอัครสาวกคนแรกที่สละชีวิตเป็นพลีกรรม. เมื่อเห็นว่าการทำแบบนี้ถูกใจชาวยิว เฮโรดได้จับเปโตรขังคุก. ดูเหมือนว่าอัครสาวกถูกล่ามโซ่ขนาบด้วยทหารข้างละคน และทหารอีกสองคนเฝ้ายามหน้าห้องขัง. เฮโรดวางแผนจะสังหารเปโตรหลังวันเทศกาลปัศคาและการรับประทานขนมปังไม่มีเชื้อ (วันที่ 14-21 เดือนไนซาน) แต่คำทูลอธิษฐานของประชาคมเผื่อท่านได้รับคำตอบทันเวลา ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของเราบ่อย ๆ. เหตุการณ์ครั้งนั้นอุบัติขึ้นเมื่อทูตสวรรค์ได้นำอัครสาวกออกไปพ้นบริเวณคุกอย่างน่าอัศจรรย์.
22. เหตุการณ์เป็นเช่นไรเมื่อเปโตรได้ไปที่บ้านของมาเรีย มารดาของมาระโก?
22 ในไม่ช้าเปโตรก็มาถึงบ้านของมาเรีย (มารดาของโยฮันมาระโก) ปรากฏว่าเป็นที่ประชุมพบปะของคริสเตียน. (12:12-19) ในยามค่ำคืนอย่างนั้น สาวใช้คนหนึ่งชื่อโรเดจำเสียงเปโตรได้ แต่ไม่เปิดประตูรับท่าน. ทีแรกพวกสาวกอาจนึกว่าพระเจ้าได้ส่งทูตสวรรค์จำแลงร่างเหมือนเปโตรและเลียนเสียงพูดของท่าน. แต่เมื่อเขาเปิดประตูรับเปโตรเข้ามาแล้ว ท่านบอกสาวกเหล่านั้นรายงานให้ยาโกโบและพวกพี่น้องทราบ (คงหมายถึงพวกผู้ปกครอง) ถึงเรื่องที่ท่านรับการช่วยออกมาจากคุก. ครั้นแล้วท่านได้จากเขาไปใต้ดินโดยไม่ได้บอกจุดหมายปลายทาง ทั้งนี้เพื่อป้องกันพวกเขาและตัวท่านเองด้วยมิให้เป็นอันตรายหากเกิดมีการสืบสวนเรื่องราว. การที่เฮโรดสั่งให้สืบหาตัวเปโตรจึงไร้ผล ทหารยามถูกลงโทษ อาจถูกประหารเสียด้วยซ้ำ.
23. รัชกาลของเฮโรดอะฆะริปาที่หนึ่งได้สิ้นสุดลงอย่างไร และเราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
23 ปีสากลศักราช 44 รัชกาลของเฮโรดอะฆะริปาที่หนึ่งสิ้นสุดลงอย่างฉับพลันในกายซาไรอา เมื่อมีพระชนม์พรรษา 54 ปี. (12:20-25) ขณะนั้นเฮโรดเป็นอริกับชาวเมืองตุโรและเมืองซีโดน ซึ่งติดสินบนบะลัศโตกรมวังของกษัตริย์เพื่อขอจัดการเจรจาทำสัญญาเป็นไมตรีกันอีก. ครั้นถึง “วันนัด” (พอดีเป็นเทศกาลถวายเกียรติแก่ซีซาร์คลอดิอุส) เฮโรดได้ทรงเครื่องกษัตริย์ ประทับบังลังก์พิพากษา และเริ่มมีพระดำรัสแก่ฝูงชน. ฝูงชนตะโกนตอบรับว่า “เป็นสุรเสียงของพระ มิใช่เสียงมนุษย์!” ทันใดนั้นเอง ทูตของพระเจ้าบันดาลให้โรคร้ายเกิดแก่เฮโรด “เพราะท่านมิได้ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.” แล้วมี “ตัวหนอนกินร่างกายของท่านจนถึงแก่พิราลัย.” ขอให้ตัวอย่างอันเป็นการเตือนสติเช่นนี้กระตุ้นพวกเราให้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระยะโฮวาอยู่เรื่อย ๆ ไป หลีกเลี่ยงการถือดีและถวายเกียรติแด่พระเจ้าสำหรับสิ่งที่เราทำฐานะเป็นพลไพร่ของพระองค์.
24. บทความในฉบับหน้าจะชี้ถึงเรื่องอะไรเกี่ยวข้องกับการแผ่ขยาย?
24 ถึงแม้การข่มเหงเกิดขึ้นโดยน้ำมือของเฮโรด กระนั้น “พระวจนะของพระยะโฮวาแผ่ขยายสืบไป.” ที่จริง ดังที่บทความในฉบับหน้าจะแสดงให้เห็น พวกสาวกคาดหมายการแผ่ขยายมากขึ้นได้. เพราะเหตุใด? เพราะเขา “ได้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระยะโฮวา.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ซะเตฟาโนแสดงอย่างไรว่าตนยำเกรงพระยะโฮวา ดังที่ผู้รับใช้จำนวนมากมายของพระเจ้าได้แสดงให้เห็นนับตั้งแต่นั้นมา?
▫ การตายของซะเตฟาโนมีผลกระทบเช่นไรต่องานประกาศข่าวราชอาณาจักร และเรื่องนี้มีสิ่งเปรียบเทียบกับสมัยนี้ไหม?
▫ โดยวิธีใดเซาโลแห่งเมืองตาระโซซึ่งเป็นผู้ข่มเหงประทุษร้ายได้เปลี่ยนเป็นคนยำเกรงพระยะโฮวา?
▫ ผู้เชื่อถือซึ่งเป็นคนต่างชาติคนแรกได้แก่ใคร?
▫ พระธรรมกิจการบท 12 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าการข่มเหงไม่ได้ยับยั้งผู้ยำเกรงพระยะโฮวา?
[รูปภาพหน้า 18, 19]
แสงสว่างส่องมาจากฟ้าและมีเสียงถามว่า “เซาโลเอ๋ยเจ้าข่มเหงเราทำไม?”