พระธรรมเล่มที่ 44—กิจการ
ผู้เขียน: ลูกา
สถานที่เขียน: โรม
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 61
ครอบคลุมระยะเวลา: ปี ส.ศ. 33–ประมาณ ปี ส.ศ. 61
1, 2. (ก) เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และกิจกรรมอะไรบ้างที่มีพรรณนาไว้ในพระธรรมกิจการ? (ข) พระธรรมนี้ครอบคลุมช่วงเวลาไหน?
ในพระธรรมเล่มที่ 42 ของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ ลูกาให้เรื่องราวซึ่งครอบคลุมถึงชีวิต, กิจกรรม, และงานเผยแพร่ของพระเยซูกับเหล่าสาวกของพระองค์ จนถึงเวลาที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์. บันทึกทางประวัติศาสตร์ของพระธรรมเล่มที่ 44 ของพระคัมภีร์ ซึ่งก็คือพระธรรมกิจการของอัครสาวก เล่าประวัติศาสนาคริสเตียนในสมัยเริ่มแรกต่อโดยพรรณนาถึงการก่อตั้งประชาคมซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์. นอกจากนั้น พระธรรมนี้ยังพรรณนาการแผ่ขยายของคำพยานด้วย ซึ่งทีแรกก็ท่ามกลางคนยิวแล้วจึงไปยังผู้คนจากทุกชาติ. เนื้อหาส่วนใหญ่ใน 12 บทแรกครอบคลุมการงานของเปโตร ส่วนที่เหลือ 16 บทนั้นเป็นการงานของเปาโล. ลูกาคบหาใกล้ชิดกับเปาโล โดยร่วมเดินทางไปกับท่านหลายครั้ง.
2 พระธรรมนี้เขียนถึงเธโอฟีลุส [เธโอฟีโล]. เนื่องจากมีการกล่าวถึงเขาว่า “ท่านเจ้าคุณ” จึงเป็นไปได้ว่าเขาดำรงตำแหน่งอะไรสักอย่างทางราชการ หรืออาจเป็นเพียงการแสดงความนับถืออย่างสูง. (ลูกา 1:3, ล.ม.) บันทึกนี้ให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับการจัดตั้งและความเจริญของประชาคมคริสเตียน. พระธรรมนี้เริ่มเรื่องด้วยการที่พระเยซูทรงปรากฏแก่เหล่าสาวกหลังจากพระองค์ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์ และจากนั้นจึงบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของระยะเวลาตั้งแต่ปี ส.ศ. 33 จนถึงประมาณปี ส.ศ. 61 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้นราว 28 ปี.
3. ใครเขียนพระธรรมกิจการ และเขียนเสร็จเมื่อไร?
3 เป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่า ผู้เขียนกิตติคุณของลูกาเป็นผู้เขียนพระธรรมกิจการด้วย. พระธรรมทั้งสองเล่มเขียนถึงเธโอฟีลุส. โดยการกล่าวซ้ำเหตุการณ์ตอนจบของกิตติคุณของท่านในข้อต้น ๆ ของพระธรรมกิจการ ลูกาเชื่อมโยงบันทึกทั้งสองเข้าเป็นผลงานของผู้ประพันธ์คนเดียวกัน. ดูเหมือนว่าลูกาเขียนพระธรรมกิจการเสร็จประมาณปี ส.ศ. 61 ซึ่งคงเป็นช่วงท้าย ๆ ของสองปีที่อยู่กับอัครสาวกเปาโลในกรุงโรม. เนื่องจากพระธรรมนี้บันทึกเหตุการณ์ไปจนถึงปีนั้น จึงเขียนเสร็จก่อนหน้านั้นไม่ได้ และการทิ้งเรื่องที่เปาโลอุทธรณ์ต่อกายะซาไว้โดยยังไม่ทราบผลก็บ่งชี้ว่าพระธรรมเล่มนี้เขียนเสร็จภายในปีนั้น.
4. อะไรพิสูจน์ว่าพระธรรมกิจการเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์และเชื่อถือได้?
4 พระธรรมกิจการเป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญทางคัมภีร์ไบเบิลมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่าเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์. มีการพบส่วนต่าง ๆ ของพระธรรมนี้อยู่กับสำเนาต้นฉบับพาไพรัสที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่บางฉบับของพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก โดยเฉพาะฉบับมิชิแกนหมายเลข 1571 (P38) ในศตวรรษที่สามหรือที่สี่สากลศักราช และฉบับเชสเตอร์ บีทตีหมายเลข 1 (P45) ของศตวรรษที่สาม. สำเนาต้นฉบับทั้งสองนี้บ่งชี้ว่าพระธรรมกิจการแพร่หลายอยู่พร้อมกับพระธรรมอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ และดังนั้นจึงเป็นส่วนของรายชื่อพระธรรมในสมัยแรกเริ่ม. เรื่องที่ลูกาเขียนในพระธรรมกิจการนั้นสะท้อนถึงความถูกต้องแม่นยำอย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกับที่เราสังเกตเห็นมาแล้วในกิตติคุณของท่าน. เซอร์วิลเลียม เอ็ม. แรมเซย์จัดอันดับให้ผู้เขียนพระธรรมกิจการ “อยู่ในบรรดานักประวัติศาสตร์ชั้นแนวหน้า” และเขาอธิบายว่าสิ่งนี้หมายถึงอะไรโดยกล่าวว่า “คุณลักษณะประการแรกและประการสำคัญยิ่งของนักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ก็คือความจริง. สิ่งที่เขากล่าวต้องเชื่อถือได้.”a
5. จงยกตัวอย่างการรายงานที่ถูกต้องแม่นยำของลูกา.
5 ในการอธิบายถึงการรายงานที่ถูกต้องแม่นยำซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานเขียนของลูกานั้น เรายกถ้อยคำของเอดวิน สมิท ผู้บัญชาการกองเรือรบแห่งกองทัพเรืออังกฤษในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มากล่าว ซึ่งเขียนในวารสารหางเสือ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับเดือนมีนาคม 1947 ที่ว่า “เรือสมัยโบราณไม่ได้คัดท้ายอย่างเรือสมัยใหม่ด้วยหางเสืออันเดียวซึ่งติดกับหลักท้ายเรือ แต่ด้วยพายขนาดใหญ่สองอันซึ่งอยู่ตรงท้ายเรือข้างละอัน; ดังนั้น นักบุญลูกาจึงกล่าวถึงพายเป็นรูปพหูพจน์. [กิจการ 27:40] . . . เมื่อได้ตรวจสอบดูเราจึงเห็นว่าคำบรรยายทุกคำเกี่ยวกับการแล่นของเรือลำนี้ นับจากเวลาที่เรือออกจากท่างามไปจนกระทั่งขึ้นหาดที่เกาะมอลตา (เมลีเต) ตามที่นักบุญลูกาอธิบายนั้นได้รับการยืนยันจากหลักฐานภายนอกซึ่งเที่ยงตรงและน่าพอใจที่สุด; และการบรรยายของท่านเกี่ยวกับเวลาที่เรือยังอยู่ในทะเลนั้นตรงกับระยะทางที่เดินทาง; และประการสุดท้าย คำพรรณนาของท่านในเรื่องสถานที่ที่ไปถึงนั้นสอดคล้องกับลักษณะที่เป็นอยู่ในเวลานี้ของสถานที่นั้น. ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าลูกาออกเดินทางจริงตามที่พรรณนาไว้ และยิ่งกว่านั้นยังแสดงให้เห็นว่าท่านเองเป็นผู้ที่มีการสังเกตและการบรรยายซึ่งถือได้ว่าวางใจได้และน่าเชื่อถือที่สุด.”b
6. ตัวอย่างอะไรบ้างแสดงวิธีที่การค้นพบทางโบราณคดียืนยันความถูกต้องแม่นยำของพระธรรมกิจการ?
6 การค้นพบทางโบราณคดีก็ยืนยันความถูกต้องแม่นยำของบันทึกของลูกาด้วย. ตัวอย่างเช่น การขุดค้นที่เมืองเอเฟโซได้ขุดพบวิหารของพระอะระเตมีรวมทั้งโรงมหรสพโบราณที่ชาวเอเฟโซก่อความวุ่นวายเพื่อต่อต้านอัครสาวกเปาโล. (กิจ. 19:27-41) มีการค้นพบคำจารึกซึ่งยืนยันความถูกต้องของการที่ลูกาใช้คำระบุตำแหน่งว่า “เจ้าเมือง” กับเจ้าหน้าที่เมืองเธซะโลนิเก. (17:6, 8) คำจารึกสองอย่างที่เกาะมอลตาแสดงว่าลูกาเป็นฝ่ายถูกอีกเมื่อกล่าวถึงปปเลียวว่าเป็น “เจ้าแห่งเกาะ” มอลตา.—28:7.c
7. คำพูดต่าง ๆ ที่บันทึกไว้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าบันทึกในพระธรรมกิจการเป็นไปตามข้อเท็จจริง?
7 นอกจากนี้ ถ้อยคำของเปโตร, ซะเตฟาโน, โกระเนเลียว, เตอร์ตุโล, เปาโล, และคนอื่น ๆ ตามที่ลูกาบันทึกนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งในด้านลีลาการพูดและการเรียบเรียงคำ. แม้แต่ถ้อยคำที่เปาโลกล่าวต่อหน้าผู้ฟังที่แตกต่างกันก็มีการเปลี่ยนลีลาการพูดเพื่อให้เหมาะกับโอกาส. สิ่งนี้บ่งชี้ว่าลูกาบันทึกแต่สิ่งที่ท่านเองได้ยินหรือมีประจักษ์พยานคนอื่น ๆ แจ้งให้ท่านทราบ. ลูกาไม่ใช่ผู้คิดแต่งเรื่องขึ้นเอง.
8. พระคัมภีร์บอกอะไรเราเกี่ยวกับลูกาและการคบหาของท่านกับเปาโล?
8 เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของลูกา. ลูกาเองก็ไม่ใช่อัครสาวก แต่คบหากับผู้ที่เป็นอัครสาวก. (ลูกา 1:1-4) มีสามครั้งที่อัครสาวกเปาโลเอ่ยชื่อลูกา. (โกโล. 4:10, 14; 2 ติโม. 4:11; ฟิเล. 24) ท่านเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกับเปาโลตลอดหลายปี เปาโลเรียกท่านว่า “แพทย์ที่รัก.” ในบันทึกนี้มีการสับเปลี่ยนกันไปมาระหว่างคำ “ท่านเหล่านั้น” กับ “เรา” ซึ่งบ่งว่าลูกาอยู่กับเปาโลที่เมืองโตรอาระหว่างการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สองของเปาโล ท่านอาจคอยอยู่ที่ฟีลิปปอยจนกระทั่งเปาโลกลับมาหลังจากนั้นหลายปี แล้วจากนั้นท่านจึงสมทบกับเปาโลอีกและร่วมเดินทางกับเปาโลไปยังกรุงโรมเพื่อการพิจารณาคดี.—กิจ. 16:8, 10; 17:1; 20:4-6; 28:16.
เนื้อเรื่องในกิจการ
9. มีการแจ้งเรื่องอะไรบ้างแก่เหล่าสาวกตอนที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์?
9 เหตุการณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งก่อนวันเพนเตคอสเต (1:1-26). เมื่อลูกาเริ่มบันทึกช่วงที่สอง พระเยซูซึ่งคืนพระชนม์แล้วทรงบอกสาวกที่กระหายใคร่รู้ของพระองค์ว่า พวกเขาจะได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ราชอาณาจักรจะได้รับการฟื้นฟูในเวลานี้ไหม? ไม่. แต่พวกเขาจะได้รับฤทธิ์และจะเป็นพยาน “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” ในขณะที่พระเยซูถูกรับขึ้นไปจนลับสายตาพวกเขา ชายสองคนในชุดสีขาวบอกพวกเขาว่า “พระเยซูองค์นี้ซึ่งถูกรับขึ้นไปจากท่านเข้าสู่ท้องฟ้าจะเสด็จมาในลักษณะเดียวกันนั้นอย่างที่พวกท่านได้เห็นพระองค์เสด็จขึ้นสู่ท้องฟ้า.”—1:8, 11, ล.ม.
10. (ก) เกิดเรื่องที่น่าจดจำอะไรขึ้นในวันเพนเตคอสเต? (ข) เปโตรให้คำอธิบายอะไรและเกิดผลเช่นไร?
10 วันเพนเตคอสเตที่น่าจดจำ (2:1-42). สาวกทั้งสิ้นมาชุมนุมกันในกรุงยะรูซาเลม. ทันใดนั้น มีเสียงเหมือนลมกระโชกแรงดังไปทั่วบ้าน. มีเปลวไฟที่เสมือนลิ้นอยู่บนคนที่อยู่ที่นั่น. พวกเขาประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และเริ่มพูดเป็นภาษาต่าง ๆ เกี่ยวกับ “การอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า.” (2:11) ผู้ที่เฝ้าดูเหตุการณ์รู้สึกฉงนสนเท่ห์. แล้วเปโตรจึงยืนขึ้นพูด. ท่านอธิบายว่าการเทพระวิญญาณคราวนี้สำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของโยเอล (2:28-32) และพระเยซูคริสต์ซึ่งตอนนี้คืนพระชนม์แล้วและถูกยกขึ้นสู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้านั้น ‘ได้ทรงเทฤทธิ์เดชนี้ลงมาตามซึ่งเขาทั้งหลายได้ยินและได้เห็นแล้ว.’ ประมาณ 3,000 คนซึ่งรู้สึกแปลบปลาบใจจึงยอมรับคำนั้นและรับบัพติสมา.—2:33.
11. พระยะโฮวาทรงทำให้งานประกาศเจริญขึ้นอย่างไร?
11 การให้คำพยานแผ่ขยายออกไป (2:43–5:42). ในแต่ละวัน พระยะโฮวาทรงนำเหล่าคนที่ได้รับการช่วยให้รอดเข้ามาสมทบกับพวกสาวกอยู่เรื่อย ๆ. ที่นอกพระวิหาร เปโตรและโยฮันบังเอิญพบชายง่อยคนหนึ่งซึ่งไม่เคยเดินเลยในชีวิต. เปโตรสั่งว่า “ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงลุกขึ้นเดินไปเถิด.” ในทันทีนั้นเองชายคนนั้นก็เริ่ม “เดินเต้นโลดสรรเสริญพระเจ้าไป.” จากนั้น เปโตรชักชวนผู้คนให้กลับใจและหันกลับ “เพื่อเวลาชื่นใจยินดีจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า.” พวกผู้นำทางศาสนาจับเปโตรกับโยฮันเพราะไม่พอใจที่พวกท่านสอนเรื่องการคืนพระชนม์ของพระเยซู แต่จำนวนของผู้ที่เข้ามาเชื่อกลับเพิ่มขึ้นจนนับแต่ผู้ชายได้ประมาณ 5,000 คน.—3:6, 8, 19.
12. (ก) พวกสาวกตอบอย่างไรเมื่อถูกสั่งให้เลิกประกาศ? (ข) อะนาเนียกับสัปไฟเรถูกลงโทษเนื่องด้วยอะไร?
12 ในวันถัดไป เปโตรกับโยฮันถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ปกครองชาวยิวเพื่อสอบปากคำ. เปโตรให้คำพยานอย่างตรงไปตรงมาว่าความรอดจะมาโดยทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น และเมื่อถูกสั่งให้หยุดทำงานประกาศ ทั้งเปโตรและโยฮันตอบว่า “จะเป็นการชอบธรรมจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าหรือไม่ ที่จะยอมฟังท่านยิ่งกว่าจะฟังพระเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงตัดสินเอาเองเถิด. แต่ฝ่ายพวกเรา เราจะหยุดพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้.” (4:19, 20, ล.ม.) ท่านทั้งสองถูกปล่อยตัว และสาวกทั้งปวงยังคงกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ. เนื่องจากสภาพการณ์ต่าง ๆ พวกเขาเอาทรัพย์สมบัติของตนมารวมกันและแจกจ่ายตามความจำเป็น. อย่างไรก็ตาม อะนาเนียและสัปไฟเรภรรยาของเขาขายที่ดินบางส่วนและแอบเก็บเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขณะที่ทำทีว่ามอบเงินค่าที่ดินให้ทั้งหมด. เปโตรเปิดโปงความจริงเกี่ยวกับเขาทั้งสอง และทั้งสองต่างล้มลงตายเพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและพระวิญญาณบริสุทธิ์.
13. พวกอัครสาวกถูกกล่าวหาเช่นไร พวกเขาตอบอย่างไร และพวกเขาทำอะไรต่อไป?
13 อีกครั้งหนึ่ง พวกหัวหน้าศาสนาที่โกรธแค้นจับพวกอัครสาวกเข้าคุก แต่คราวนี้ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาปล่อยพวกเขาออกไป. วันรุ่งขึ้น พวกเขาถูกนำตัวมาอยู่ต่อหน้าศาลซันเฮดรินอีกครั้งและถูกกล่าวหาว่า ‘ได้ทำให้กรุงยะรูซาเลมแพร่หลายไปด้วยคำสอนของพวกเขา.’ พวกเขาตอบว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” แม้ถูกโบยตีและข่มขู่ พวกเขายังคงไม่ยอมเลิก และ “เขาทั้งหลายจึงทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสต์เยซูในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันเรื่อยไปมิได้ขาด.”—5:28, 29, 42, ล.ม.
14. เป็นไปอย่างไรที่ซะเตฟาโนต้องพลีชีพเพื่อความเชื่อ?
14 ซะเตฟาโนพลีชีพเพื่อความเชื่อ (6:1–8:1ก). ซะเตฟาโนเป็นหนึ่งในเจ็ดคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อแจกจ่ายอาหาร. นอกจากนั้นท่านยังให้คำพยานถึงความจริงอย่างมีพลังอีกด้วย และท่านสนับสนุนความเชื่อด้วยใจแรงกล้าจนบรรดาศัตรูที่โกรธแค้นจับตัวท่านไปอยู่ต่อหน้าศาลซันเฮดรินด้วยข้อหาหมิ่นประมาท. ในการแก้ต่าง ซะเตฟาโนกล่าวถึงความอดกลั้นทนนานที่พระยะโฮวาทรงมีต่อพวกยิศราเอลก่อน. จากนั้น ด้วยสำนวนคมคายไม่หวั่นเกรง ท่านเข้าถึงจุดสำคัญที่ว่า ‘คนชาติหัวแข็ง ท่านทั้งหลายขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์เสมอ ท่านผู้ที่ได้รับพระบัญญัติจากเหล่าทูตสวรรค์ แต่หาได้ประพฤติตามพระบัญญัตินั้นไม่.’ (7:51-53) นั่นทำให้พวกเขาทนไม่ได้. พวกเขาผลักท่าน, เอาตัวท่านออกไปนอกเมือง, และเอาหินขว้างท่านถึงตาย. เซาโลมองดูอย่างเห็นดีเห็นชอบด้วย.
15. เกิดผลเช่นไรจากการกดขี่ข่มเหง และฟีลิปมีประสบการณ์อะไรบ้างในการประกาศ?
15 การกดขี่ข่มเหง, การเปลี่ยนศาสนาของเซาโล (8:1ข–9:30). การกดขี่ข่มเหงประชาคมในกรุงยะรูซาเลมซึ่งเริ่มขึ้นในเวลานั้นทำให้สาวกทั้งปวงยกเว้นพวกอัครสาวกต่างกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ. ฟีลิปไปซะมาเรีย ที่ซึ่งหลายคนยอมรับพระคำของพระเจ้า. เปโตรกับโยฮันถูกส่งจากกรุงยะรูซาเลมไปที่นั่นเพื่อว่าผู้ที่เข้ามาเชื่อถือเหล่านี้จะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ “ด้วยการวางมือของอัครสาวก.” (8:18) จากนั้นทูตสวรรค์องค์หนึ่งนำฟีลิปลงใต้ไปตามถนนจากกรุงยะรูซาเลมถึงเมืองกาซา (ฆาซา) ที่ซึ่งท่านพบขันทีคนหนึ่งจากราชสำนักเอธิโอเปียกำลังนั่งรถม้าและอ่านพระธรรมยะซายาอยู่. ฟีลิปให้ความกระจ่างแก่เขาเกี่ยวกับความหมายของคำพยากรณ์นั้น และให้เขารับบัพติสมา.
16. การเปลี่ยนศาสนาของเซาโลเกิดขึ้นอย่างไร?
16 ระหว่างนั้น เซาโลซึ่ง “ยังขู่คำรามกล่าวว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซูเสีย” ออกเดินทางเพื่อจับคนเหล่านั้นที่ “ถือทางนั้น” ในเมืองดามัสกัส (ดาเมเซ็ก). โดยกะทันหัน มีแสงจากฟ้าส่องล้อมรอบตัวท่าน และท่านล้มลงตาบอด. มีเสียงจากฟ้าบอกท่านว่า “เราคือเยซูซึ่งเจ้าข่มเหงนั้น.” หลังจากอยู่ในเมืองดามัสกัสสามวัน สาวกคนหนึ่งชื่ออะนาเนียมาช่วยท่าน. เซาโลมองเห็นได้อีก, รับบัพติสมา, และเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านจึงกลายเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่มีใจแรงกล้าและมีความสามารถ. (9:1, 2, 5) ในเหตุการณ์ที่พลิกผันอย่างประหลาดนี้ ผู้กดขี่ข่มเหงกลายเป็นผู้ถูกกดขี่ข่มเหงและต้องหนีเอาชีวิตรอด จากเมืองดามัสกัสก่อน แล้วก็จากกรุงยะรูซาเลม.
17. ข่าวดีไปถึงชนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตอย่างไร?
17 ข่าวดีไปยังชนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต (9:31–12:25). ถึงตอนนี้ประชาคม “มีความสงบสุขและเจริญขึ้น, และได้ประพฤติด้วยใจยำเกรงพระเจ้า, และได้รับความหนุนใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์, คริสตสมาชิกก็ยิ่งทวีมากขึ้น.” (9:31) ที่เมืองยบเป เปโตรปลุกตะบีธา (โดระกา) ซึ่งเป็นที่รักของพี่น้องให้เป็นขึ้นจากตาย และจากที่นี่เองที่ท่านได้รับการทรงเรียกให้ไปยังเมืองซีซาเรีย (กายซาไรอา) ที่ซึ่งนายทหารชื่อโกระเนเลียวคอยท่านอยู่. ท่านประกาศแก่โกระเนเลียวและครัวเรือนของเขาและพวกเขาเชื่อถือ และมีการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงเหนือพวกเขา. เมื่อเข้าใจแล้วว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์” เปโตรจึงให้พวกเขารับบัพติสมา—ซึ่งเป็นชนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตพวกแรกที่เปลี่ยนศาสนา. ในเวลาต่อมา เปโตรอธิบายสิ่งใหม่นี้แก่พี่น้องในยะรูซาเลม พวกเขาจึงสรรเสริญพระเจ้า.—10:34, 35.
18. (ก) ต่อจากนั้นเกิดอะไรขึ้นในอันทิโอก? (ข) มีการกดขี่ข่มเหงเช่นไรเกิดขึ้น แต่การกดขี่ข่มเหงนั้นบรรลุจุดประสงค์ไหม?
18 ในขณะที่ข่าวดียังคงแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว บาระนาบาและเซาโลสอนคนฝูงใหญ่ทีเดียวในอันทิโอก (อันติโอเกีย) “และนับเป็นครั้งแรกในอันทิโอกที่โดยการทรงนำของพระเจ้าพวกสาวกถูกเรียกว่า คริสเตียน.” (11:26, ล.ม.) อีกครั้งหนึ่งที่เกิดการกดขี่ข่มเหง. เฮโรด อะฆะริปาที่ 1 ได้ให้คนฆ่ายาโกโบพี่ชายของโยฮันด้วยดาบ. เขายังจับเปโตรเข้าคุกอีกด้วย แต่อีกครั้งหนึ่งที่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาปล่อยเปโตรเป็นอิสระ. ช่างน่าเวทนาจริง ๆ สำหรับเฮโรดผู้ชั่วร้าย! เนื่องจากเขาไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า มีตัวหนอนกินเขาถึงแก่ความตาย. ในทางตรงข้าม “คำของพระยะโฮวาเจริญงอกงามและแพร่หลายต่อไป.”—12:24, ล.ม.
19. การเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศครั้งแรกของเปาโลนั้นกว้างไกลแค่ไหน และได้บรรลุผลสำเร็จเช่นไร?
19 การเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบแรกของเปาโล โดยไปกับบาระนาบา (13:1–14:28).d บาระนาบากับ “เซาโลผู้มีชื่ออีกว่าเปาโล” ได้รับการเลือกโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และถูกส่งไปจากอันทิโอก. (13:9) บนเกาะไซปรัส (กุบโร) หลายคนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ ซึ่งรวมทั้งเซระเฆียวเปาโลผู้เป็นเจ้าเมืองด้วย. บนแผ่นดินเอเชียไมเนอร์ ท่านทั้งสองเดินทางเผยแพร่รอบละหกเมืองหรือมากกว่านั้น และเป็นเหมือนกันทุกแห่งคือ มีการแบ่งแยกอย่างชัดแจ้งระหว่างคนที่ยอมรับข่าวดีด้วยใจยินดีกับปรปักษ์หัวแข็งซึ่งยุยงฝูงชนให้เอาหินขว้างผู้ส่งข่าวของพระยะโฮวา. หลังจากแต่งตั้งผู้เฒ่าผู้แก่ในประชาคมต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ เปาโลกับบาระนาบาจึงกลับไปยังเมืองอันทิโอกในซีเรีย.
20. ประเด็นการรับสุหนัตได้รับการจัดการเช่นไร?
20 การจัดการกับประเด็นการรับสุหนัต (15:1-35). เนื่องด้วยมีคนที่ไม่ใช่ชาวยิวหลั่งไหลเข้ามามากมาย จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าคนเหล่านี้ควรรับสุหนัตหรือไม่. เปาโลกับบาระนาบานำประเด็นนี้ไปเสนอต่อพวกอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงยะรูซาเลม ที่ซึ่งสาวกยาโกโบเป็นประธานและจัดแจงให้ส่งคำตัดสินที่เป็นเอกฉันท์ไปโดยทำเป็นจดหมายซึ่งมีความว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นชอบที่จะไม่เพิ่มภาระให้ท่านอีก นอกจากสิ่งจำเป็นเหล่านี้คือ ละเว้นเสมอจากสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพและจากเลือดและจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี.” (15:28, 29, ล.ม.) การชูใจจากจดหมายฉบับนี้ทำให้พี่น้องในเมืองอันทิโอกปีติยินดี.
21. (ก) ใครบ้างที่สมทบกับเปาโลในการเดินทางเผยแพร่ครั้งที่สอง? (ข) เกิดเหตุการณ์อะไรในคราวการเยี่ยมที่มาซิโดเนีย?
21 งานเผยแพร่ขยายออกไปด้วยการเดินทางรอบที่สองของเปาโล (15:36–18:22).e “ครั้นล่วงไปได้หลายวัน” บาระนาบากับมาระโกแล่นเรือไปเกาะไซปรัส ขณะที่เปาโลกับซีลาออกเดินทางผ่านซีเรียและเอเชียไมเนอร์. (15:36) หนุ่มติโมเธียวสมทบกับเปาโลที่เมืองลุศตรา แล้วพวกท่านก็เดินทางต่อไปที่เมืองโตรอาบนชายฝั่งทะเลอีเจียน. ที่นี่ เปาโลเห็นชายคนหนึ่งในนิมิตอ้อนวอนท่านว่า “ขอโปรดมาช่วยพวกข้าพเจ้าในเมืองมากะโดเนียเถิด.” (16:9) ลูกาสมทบกับเปาโล แล้วพวกท่านจึงลงเรือไปยังฟีลิปปอย เมืองเอกของมาซิโดเนีย (มากะโดเนีย) ที่ซึ่งเปาโลและซีลาถูกจำคุก. การนี้ยังผลให้ผู้คุมเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือและรับบัพติสมา. หลังจากถูกปล่อยตัว ท่านทั้งสองเดินทางต่อไปยังเธซะโลนิเก และที่นั่นพวกยิวที่อิจฉาได้ยุยงฝูงชนให้ต่อต้านพวกท่าน. ดังนั้นในตอนกลางคืน พวกพี่น้องจึงส่งเปาโลกับซีลาไปยังเมืองเบรอยะ. ที่นี่พวกยิวสำแดงจิตใจสูงโดยรับเอาพระคำ “ด้วยใจกระตือรือร้นอย่างยิ่ง และตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุก ๆ วัน” เพื่อค้นหาพยานหลักฐานยืนยันเรื่องที่ได้เรียนรู้มา. (17:11, ล.ม.) โดยละซีลาและติโมเธียวไว้ให้อยู่กับประชาคมใหม่นี้ เช่นเดียวกับที่ละลูกาไว้ในฟีลิปปอย เปาโลเดินทางต่อไปทางใต้มุ่งสู่เมืองเอเธนส์.
22. การพูดด้วยความชำนิชำนาญของเปาโลบนภูเขาอารีโอพากุสเกิดผลเช่นไร?
22 ในเมืองแห่งรูปเคารพนี้ พวกนักปรัชญาเอพิคิวรุสและนักปรัชญาสโตอิกซึ่งถือตัวดูหมิ่นเปาโลว่าเป็น “คนปากมาก” และเป็น “ผู้ประกาศของพระต่างประเทศ” แล้วพวกเขาพาท่านขึ้นไปบนเขาอารีโอพากุสหรือภูเขามาร์ส. ด้วยการบรรยายอย่างชำนิชำนาญ เปาโลชักเหตุผลสนับสนุนให้แสวงหาพระเจ้าเที่ยงแท้ “พระผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” ผู้ทรงรับประกันเรื่องการพิพากษาด้วยความชอบธรรมโดยผู้ที่พระองค์ได้ทรงปลุกให้เป็นขึ้นจากบรรดาคนตาย. การกล่าวถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายทำให้ผู้ฟังแตกแยกกัน แต่บางคนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ.—17:18, 24, ล.ม.
23. มีการบรรลุผลสำเร็จเช่นไรในโกรินโธ?
23 ต่อจากนั้น เปาโลพักอยู่ในเมืองโกรินโธกับอะกุลากับปริศกิลา โดยร่วมกับเขาทั้งสองทำเต็นท์ขาย. การต่อต้านที่มีต่อการประกาศของท่านทำให้ท่านต้องออกจากธรรมศาลาและต้องจัดการประชุมต่าง ๆ ในบ้านของติติโอ ยุซะโตซึ่งอยู่ถัดไป. กริศโปนายธรรมศาลาได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. หลังจากอยู่ในโกรินโธ 18 เดือน เปาโลออกเดินทางกับอะกุลาและปริศกิลาไปยังเอเฟโซ ท่านละคนทั้งสองไว้ที่นั่น แล้วเดินทางต่อไปยังอันทิโอกในซีเรีย จึงเป็นอันเสร็จสิ้นการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สองของท่าน.
24, 25. (ก) ตอนที่เปาโลเริ่มออกเดินทางครั้งที่สาม เกิดอะไรขึ้นในเอเฟโซ? (ข) เกิดเหตุวุ่นวายอะไรขึ้นในตอนท้ายของสามปีที่เปาโลอยู่ที่นั่น?
24 เปาโลเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ อีก, การเดินทางรอบที่สาม (18:23–21:26).f ชาวยิวคนหนึ่งชื่ออะโปโลจากเมืองอะเล็กซานเดรียประเทศอียิปต์มายังเอเฟโซ เขาพูดเรื่องพระเยซูในธรรมศาลาด้วยใจกล้า แต่อะกุลาและปริศกิลาเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขคำสอนของเขาก่อนที่เขาจะไปยังโกรินโธต่อ. ตอนนั้นเปาโลกำลังเดินทางรอบที่สามและมาถึงเมืองเอเฟโซตามเวลากำหนด. เมื่อทราบว่าผู้ที่เข้ามาเชื่อถือที่นี่ได้รับบัพติสมาด้วยการบัพติสมาของโยฮัน เปาโลจึงอธิบายถึงการรับบัพติสมาในพระนามของพระเยซู. แล้วท่านให้บัพติสมาแก่ผู้ชายประมาณ 12 คน และเมื่อท่านวางมือลงบนพวกเขา พวกเขาจึงได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์.
25 ในช่วงสามปีที่เปาโลอยู่ในเอเฟโซ “พระคำของพระยะโฮวาจึงเจริญงอกงามและมีชัยเรื่อยไปอย่างทรงพลัง” และหลายคนได้เลิกนมัสการอะระเตมี เทพธิดาพิทักษ์เมือง. (19:20, ล.ม.) ช่างทำศาลเงินจำลองของพระอะระเตมีซึ่งโกรธแค้นด้วยคาดว่าจะสูญเสียธุรกิจจึงทำให้เมืองนั้นเกิดความวุ่นวายจนต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อทำให้ฝูงชนสลายตัวไป. ไม่นานหลังจากนั้นเปาโลออกเดินทางไปมาซิโดเนียและกรีซ โดยแวะเยี่ยมเยียนผู้เชื่อถือซึ่งอยู่ตามรายทาง.
26. (ก) เปาโลทำการอัศจรรย์อะไรที่โตรอา? (ข) ท่านให้คำแนะนำอะไรแก่พวกผู้ดูแลจากเอเฟโซ?
26 เปาโลพักอยู่ในกรีซสามเดือนก่อนเดินทางกลับมาทางมาซิโดเนีย ที่ที่ลูกาสมทบกับท่านอีก. ทั้งสองข้ามไปยังเมืองโตรอา และที่นี่เอง ขณะที่เปาโลกำลังบรรยายจนดึก ชายหนุ่มคนหนึ่งเคลิ้มหลับไปและพลัดตกจากหน้าต่างชั้นที่สาม. เมื่อยกเขาขึ้นมาเขาก็ตายแล้ว แต่เปาโลทำให้เขากลับมีชีวิตอีก. วันรุ่งขึ้น เปาโลกับคณะออกเดินทางไปเมืองมีเลโต ที่ซึ่งเปาโลแวะระหว่างทางไปกรุงยะรูซาเลม เพื่อพบกับพวกผู้เฒ่าผู้แก่จากเมืองเอเฟโซ. ท่านแจ้งว่าพวกเขาจะไม่ได้เห็นหน้าท่านอีก. ฉะนั้น จึงเป็นการรีบด่วนจริง ๆ ที่พวกเขาจะนำหน้าและบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า ‘ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แต่งตั้งพวกเขาไว้เป็นผู้ดูแล’! ท่านเตือนให้ระลึกถึงแบบอย่างที่ท่านได้วางไว้ท่ามกลางพวกเขา และเตือนพวกเขาให้ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่สงวนตัวในการให้เพื่อประโยชน์ของพี่น้อง. (20:28, ล.ม.) แม้ได้รับคำเตือนไม่ให้เข้าไปในยะรูซาเลม แต่เปาโลก็ไม่หันกลับ. เพื่อนร่วมทางของท่านก็ยอมตาม กล่าวว่า “ขอให้เป็นไปตามพระทัยพระยะโฮวาเถิด.” (21:14, ล.ม.) มีความปีติยินดียิ่งเมื่อเปาโลรายงานให้ยาโกโบและพวกผู้เฒ่าผู้แก่ทราบถึงพระพรของพระเจ้าที่มีเหนืองานเผยแพร่ของท่านท่ามกลางนานาชาติ.
27. เปาโลได้รับการต้อนรับอย่างไรที่พระวิหาร?
27 เปาโลถูกจับและถูกพิจารณาคดี (21:27–26:32). เมื่อเปาโลปรากฏตัวในพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม ท่านได้รับการต้อนรับอย่างไม่เป็นมิตร. พวกยิวจากเอเชียปลุกปั่นคนทั้งเมืองให้ต่อต้านท่าน และทหารโรมันช่วยท่านทันพอดี.
28. (ก) เปาโลตั้งคำถามอะไรเมื่ออยู่ต่อหน้าศาลซันเฮดริน และก่อผลเช่นไร? (ข) จากนั้นท่านถูกส่งตัวไปไหน?
28 เหตุวุ่นวายนั้นเป็นเรื่องอะไร? เปาโลผู้นี้คือใคร? เขามีความผิดอะไร? นายทหารที่ฉงนสนเท่ห์ต้องการทราบคำตอบ. เนื่องจากเป็นราษฎรโรมัน เปาโลจึงพ้นจากการถูกโบยตี และถูกนำตัวไปต่อหน้าศาลซันเฮดริน. ศาลที่ประกอบด้วยพวกฟาริซายและซาดูกายซึ่งแตกแยกกัน! ดังนั้น เปาโลจึงยกประเด็นเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายขึ้นมาพูด ทำให้พวกเขาขัดแย้งกันเอง. เมื่อการขัดแย้งรุนแรงขึ้น ทหารโรมันจำต้องพาเปาโลหนีจากกลางศาลซันเฮดรินก่อนท่านจะถูกทึ้งเป็นชิ้น ๆ. ตอนกลางคืนท่านถูกลอบส่งตัวไปยังผู้ว่าราชการเฟลิกซ์ในซีซาเรียโดยมีทหารคุ้มกันหนาแน่น.
29. เมื่อถูกกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้ต่อต้านอำนาจ เปาโลถูกพิจารณาคดีหลายครั้งหลายคราวอย่างไร และท่านอุทธรณ์เช่นไร?
29 เมื่อถูกกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้ต่อต้านอำนาจ เปาโลสามารถแก้ต่างให้ตัวเองต่อหน้าเฟลิกซ์. แต่เฟลิกซ์ถ่วงเรื่องไว้ด้วยหวังจะได้สินบนสำหรับการปล่อยตัวเปาโล. สองปีผ่านไป. โประกิโอ เฟศโต (พอร์คีอุส เฟสตุส) เป็นผู้ว่าราชการต่อจากเฟลิกซ์และสั่งให้พิจารณาคดีใหม่. อีกครั้งหนึ่งที่มีการฟ้องร้องด้วยข้อหาร้ายแรง และอีกครั้งหนึ่งเช่นกันที่เปาโลแถลงว่าตนไม่มีความผิด. แต่เฟสตุส เพื่อให้พวกยิวนิยมชมชอบจึงเสนอแนะให้มีการพิจารณาคดีต่อหน้าเขาในยะรูซาเลม. เปาโลจึงแถลงว่า “ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา.” (25:11) เวลาผ่านไปอีก. ในที่สุด กษัตริย์เฮโรด อะฆะริปาที่ 2 ไปเยี่ยมคารวะเฟสตุส และเปาโลถูกนำตัวเข้าไปในห้องพิจารณาคดีอีกครั้ง. คำให้การของท่านมีพลังและน่าเชื่อถือถึงขนาดที่อะฆะริปาถูกกระตุ้นให้กล่าวแก่ท่านว่า “ไม่ช้าเจ้าจะโน้มน้าวใจเราให้เป็นคริสเตียน.” (26:28, ล.ม.) อะฆะริปาก็ยอมรับว่าเปาโลไม่มีความผิดเช่นกัน และเห็นว่าเปาโลอาจได้รับการปล่อยตัวถ้าท่านไม่ได้อุทธรณ์ถึงกายะซา.
30. ในการเดินทางของเปาโลไปจนถึงมอลตานั้นมีประสบการณ์อะไรบ้าง?
30 เปาโลไปกรุงโรม (27:1–28:31).g นักโทษเปาโลกับนักโทษคนอื่น ๆ ถูกนำตัวลงเรือเพื่อเดินทางช่วงแรกไปยังกรุงโรม. เรือแล่นทวนลมจึงไปได้ช้า. พวกเขาเปลี่ยนเรือที่ท่าเมืองมุรา. เมื่อไปถึงท่างามในเกาะครีต (เกรเต) เปาโลเสนอแนะให้พักที่นั่นในช่วงฤดูหนาว แต่คนส่วนใหญ่แนะให้ออกเรือ. พวกเขายังไม่ทันออกสู่ทะเลดี ลมพายุกล้าก็พัดพาพวกเขาไปอย่างไร้ความปรานี. ในที่สุด สองสัปดาห์หลังจากนั้นเรือของพวกเขาก็แตกเป็นชิ้น ๆ เมื่อเกยตื้นนอกชายฝั่งของเกาะมอลตา. เป็นจริงดังคำยืนยันของเปาโลก่อนหน้านั้น ไม่มีใครใน 276 คนบนเรือเสียชีวิตสักคน! ชาวเกาะมอลตาแสดงความกรุณาเป็นพิเศษ และระหว่างฤดูหนาวนั้น เปาโลรักษาชาวเกาะหลายคนด้วยอำนาจอัศจรรย์แห่งพระวิญญาณของพระเจ้า.
31. เปาโลได้รับการต้อนรับอย่างไรเมื่อถึงกรุงโรม และท่านหมกมุ่นทำงานอะไรที่นั่น?
31 เปาโลถึงกรุงโรมในฤดูใบไม้ผลิถัดมา และพี่น้องออกมาที่ถนนเพื่อพบท่าน. การได้เห็นพวกเขาทำให้เปาโล “ขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าและมีกำลังใจดีขึ้น.” แม้ว่ายังเป็นผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ แต่เปาโลได้รับอนุญาตให้อยู่ในบ้านเช่าของตนเองโดยมีทหารคนหนึ่งคุม. ลูกาจบบันทึกของท่านโดยพรรณนาว่าเปาโลต้อนรับคนทั้งปวงที่มาหาท่านด้วยความกรุณาและ “ประกาศแผ่นดินของพระเจ้า และสั่งสอนความจริงเรื่องพระเยซูคริสต์เจ้าโดยเปิดเผย ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดขัดขวาง.”—28:15, 31, ฉบับแปลใหม่.
เหตุที่เป็นประโยชน์
32. ก่อนและในวันเพนเตคอสเต เปโตรยืนยันความเชื่อถือได้ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างไร?
32 พระธรรมกิจการเพิ่มพยานหลักฐานแก่บันทึกกิตติคุณเพื่อยืนยันความเชื่อถือได้และการมีขึ้นโดยการดลใจของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ขณะที่วันเพนเตคอสเตใกล้เข้ามา เปโตรอ้างถึงความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์สองข้อที่ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสไว้โดยปากของกษัตริย์ดาวิดว่าด้วยยูดา.” (กิจ. 1:16, 20; เพลง. 69:25; 109:8) เปโตรยังบอกแก่ฝูงชนที่ประหลาดใจด้วยว่า ที่จริงแล้วพวกเขากำลังเป็นพยานรู้เห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ โดยกล่าวว่า “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตามคำซึ่งโยเอลศาสดาพยากรณ์ได้กล่าวไว้.”—กิจ. 2:16-21; โยเอล 2:28-32; เทียบกิจการ 2:25-28, 34, 35 กับบทเพลงสรรเสริญ 16:8-11 และ 110:1 ด้วย.
33. เปโตร, ฟีลิป, ยาโกโบ และเปาโลล้วนแต่แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีขึ้นโดยการดลใจ?
33 เพื่อทำให้ฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกพระวิหารมั่นใจ เปโตรจึงยกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวอีกครั้ง ทีแรกท่านยกคำพูดของโมเซมาแล้วจึงกล่าวว่า “บรรดาศาสดาพยากรณ์ผู้ที่ได้กล่าวแล้วตั้งแต่ซะมูเอลเป็นลำดับมาก็กล่าวถึงกาลครั้งนี้.” ต่อมา เปโตรยกเพลงสรรเสริญ 118:22 มากล่าวต่อหน้าศาลซันเฮดรินเพื่อแสดงว่า พระคริสต์ซึ่งเป็นศิลาที่พวกเขาปฏิเสธนั้นได้กลายเป็น “หัวมุม.” (กิจ. 3:22-24; 4:11) ฟีลิปได้อธิบายให้ขันทีชาวเอธิโอเปียเข้าใจว่ายะซายา 53:7, 8 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร และเมื่อได้ความกระจ่างแล้วขันทีผู้นี้จึงขอรับบัพติสมาด้วยความถ่อมใจ. (กิจ. 8:28-35) เช่นเดียวกัน เมื่อพูดกับโกระเนเลียวถึงเรื่องพระเยซู เปโตรยืนยันว่า “ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลายย่อมเป็นพยานถึงพระองค์.” (10:43) เมื่อถกกันเรื่องสุหนัต ยาโกโบสนับสนุนคำตัดสินของท่านโดยกล่าวว่า “ถ้อยคำของผู้พยากรณ์ก็สอดคล้องกับเรื่องนี้ ตามที่เขียนไว้.” (15:15-18, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลก็ใช้ข้ออ้างอิงแหล่งเดียวกัน. (26:22; 28:23, 25-27) การที่เห็นได้ชัดว่าเหล่าสาวกและผู้ที่ฟังพวกเขาเต็มใจยอมรับในเรื่องที่พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นส่วนแห่งพระคำของพระเจ้าย่อมยืนยันว่าเห็นชอบกับการที่พระธรรมเหล่านั้นมีขึ้นโดยการดลใจ.
34. พระธรรมกิจการเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับประชาคมคริสเตียน และเรื่องนี้มีความแตกต่างอะไรไหมในสมัยนี้?
34 พระธรรมกิจการเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นวิธีที่ประชาคมคริสเตียนถูกตั้งขึ้นและวิธีที่ประชาคมเจริญขึ้นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์. ตลอดบันทึกที่เร้าใจนี้ เราสังเกตเห็นพระพรของพระเจ้าในการแผ่ขยาย, ความกล้าหาญและความชื่นชมยินดีของคริสเตียนรุ่นแรก, การยืนหยัดอย่างไม่อะลุ่มอล่วยเมื่อเผชิญการกดขี่ข่มเหง, และความเต็มใจรับใช้ ดังที่เปาโลวางตัวอย่างไว้เมื่อตอบรับคำขอให้ไปรับใช้ในต่างประเทศและให้ไปยังมาซิโดเนีย. (4:13, 31; 15:3; 5:28, 29; 8:4; 13:2-4; 16:9, 10) ประชาคมคริสเตียนสมัยนี้ก็ไม่ต่างกัน เพราะความผูกพันกันด้วยความรัก, ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน, และความสนใจร่วมกันเมื่อพูดถึง “การอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า” ภายใต้การชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์.—2:11, 17, 45; 4:34, 35; 11:27-30; 12:25.
35. พระธรรมกิจการแสดงให้เห็นอย่างไรถึงวิธีให้คำพยาน และมีการเน้นคุณสมบัติอะไรในงานรับใช้?
35 พระธรรมกิจการแสดงให้เห็นว่างานประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าควรดำเนินการอย่างไร. เปาโลเองเป็นตัวอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามิได้ยับยั้งการบอกสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั้งการสอนท่านทั้งหลายในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน.” แล้วท่านบอกต่อไปว่า “ข้าพเจ้าให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน.” อรรถบท ‘การให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน’ จับความสนใจเราตลอดพระธรรมนี้ และอรรถบทนี้โดดเด่นน่าประทับใจในวรรคท้าย ๆ ซึ่งการที่เปาโลอุทิศตัวอย่างสุดหัวใจแก่การประกาศและการสอนแม้ว่าติดคุกอยู่นั้นมีการยืนยันไว้ด้วยถ้อยคำว่า “และท่านได้อธิบายเรื่องราวแก่พวกเขาโดยให้คำพยานอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและโดยใช้การโน้มน้าวใจพวกเขาด้วยเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูทั้งจากพระบัญญัติของโมเซและจากพวกผู้พยากรณ์ ตั้งแต่เช้าจนเย็น.” ขอให้เรามีใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่อย่างเดียวกันนั้นในงานราชอาณาจักร!—20:20, 21, ล.ม.; 28:23, ล.ม.; 2:40; 5:42; 26:22.
36. คำแนะนำที่ใช้ได้ผลจริงอะไรของเปาโลที่ใช้กับพวกผู้ดูแลสมัยนี้อย่างมีน้ำหนัก?
36 เรื่องที่เปาโลบรรยายแก่พวกผู้ดูแลจากเอเฟโซมีคำแนะนำที่ใช้ได้จริงอยู่มากมายสำหรับพวกผู้ดูแลสมัยนี้. เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงสำคัญยิ่งที่พวกเขาจะ ‘เอาใจใส่ตัวเองและฝูงแกะทั้งปวง’ บำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วยความอ่อนโยนและปกป้องฝูงแกะไว้จากพวกหมาป่าตัวร้ายที่หาทางทำลาย. นี่ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบเล็กน้อยเลย! พวกผู้ดูแลจำเป็นต้องตื่นตัวอยู่เสมอและเสริมสร้างตนเองด้วยพระคำแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. ขณะที่พวกเขาทำงานหนักเพื่อช่วยผู้ที่อ่อนแอ พวกเขา “จำต้องระลึกถึงคำตรัสของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์เองตรัสว่า ‘การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.’”—20:17-35, ล.ม.
37. โดยการหาเหตุผลอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวเช่นไรที่เปาโลอธิบายประเด็นของท่านอย่างชัดเจนบนภูเขาอารีโอพากุส?
37 คำบรรยายอื่น ๆ ของเปาโลก็เต็มไปด้วยการอธิบายหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจนเช่นกัน. ตัวอย่างเช่น การชักเหตุผลอันยอดเยี่ยมในคำบรรยายของท่านแก่พวกสโตอิกกับพวกเอพิคิวรุสบนภูเขาอารีโอพากุส. ในตอนแรก ท่านยกคำจารึกที่แท่นบูชามากล่าวที่ว่า “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก” และใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลสำหรับการอธิบายว่า พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว พระผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ผู้ทรงสร้างมนุษย์ทุกชาติจากชายคนเดียว “มิทรงอยู่ห่างไกลจากเราทุกคนเลย.” แล้วท่านยกถ้อยคำจากบทกวีของพวกเขาที่ว่า “เราทั้งหลายเป็นเชื้อสายของพระองค์” เพื่อแสดงว่าเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะเพียงไรถ้าคิดเอาเองว่า พวกเขาเกิดจากรูปเคารพไร้ชีวิตที่ทำด้วยทองคำ, เงิน, หรือหิน. ด้วยวิธีนั้น เปาโลพิสูจน์อย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวในเรื่องพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่. เฉพาะในคำลงท้ายเท่านั้นที่ท่านยกประเด็นการกลับเป็นขึ้นจากตายขึ้นมา และแม้กระนั้น ท่านก็ไม่ได้เอ่ยถึงพระนามของพระคริสต์. ท่านอธิบายจุดสำคัญเรื่องพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าเที่ยงแท้อย่างชัดเจน และบางคนได้มาเป็นผู้เชื่อถือเนื่องด้วยเหตุนั้น.—17:22-34.
38. การศึกษาแบบที่มีการสนับสนุนในพระธรรมกิจการจะยังผลเป็นพระพรอะไรบ้าง?
38 พระธรรมกิจการสนับสนุนการศึกษา “พระคัมภีร์ทุกตอน” อย่างขยันขันแข็งและต่อเนื่อง. เมื่อเปาโลประกาศในเมืองเบรอยะครั้งแรก พวกยิวที่นั่นได้รับคำชมว่า “มีจิตใจสูง” เพราะพวกเขา “ได้รับรองเอาถ้อยคำนั้นด้วยใจกระตือรือร้นอย่างยิ่ง และตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุก ๆ วัน เพื่อดูว่าข้อความนั้นจะจริงดังกล่าวหรือไม่.” (17:11, ล.ม.) สมัยนี้ก็เช่นกัน การค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างกระตือรือร้นพร้อมกับประชาคมที่เปี่ยมด้วยพระวิญญาณของพระยะโฮวาจะก่อผลดีเป็นความเชื่อมั่นและความเชื่อที่เข้มแข็ง. ด้วยการศึกษาอย่างนี้แหละที่เราจะมีความเข้าใจชัดเจนในหลักการต่าง ๆ ของพระเจ้า. คำกล่าวที่ดีมากตอนหนึ่งในหลักการบางอย่างเหล่านั้นมีบันทึกที่กิจการ 15:29. ในข้อนี้คณะกรรมการปกครองที่ประกอบด้วยเหล่าอัครสาวกและพี่น้องผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงยะรูซาเลมได้แจ้งว่า แม้การรับสุหนัตไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ แต่ก็มีข้อห้ามที่แน่ชัดในเรื่องการไหว้รูปเคารพ, เลือด, และการผิดประเวณี.
39. (ก) เหล่าสาวกได้รับการเสริมกำลังอย่างไรเพื่อรับมือกับการกดขี่ข่มเหง? (ข) พวกเขาได้ให้คำพยานอย่างกล้าหาญเช่นไร? การทำเช่นนั้นได้ผลไหม?
39 พวกสาวกรุ่นแรกเหล่านั้นได้ศึกษาจริง ๆ ในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ และสามารถยกข้อความมากล่าวและใช้ตามที่จำเป็น. พวกเขาได้รับการเสริมกำลังโดยความรู้ถ่องแท้และจากพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อรับมือกับการกดขี่ข่มเหงที่ร้ายกาจ. เปโตรและโยฮันวางแบบอย่างไว้สำหรับคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ทุกคนเมื่อท่านทั้งสองบอกอย่างกล้าหาญต่อพวกผู้ปกครองที่ต่อต้านว่า “จะเป็นการชอบธรรมจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าหรือไม่ ที่จะยอมฟังท่านยิ่งกว่าจะฟังพระเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงตัดสินเอาเองเถิด. แต่ฝ่ายพวกเรา เราจะหยุดพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้.” และเมื่อถูกนำตัวมาอยู่ต่อหน้าศาลซันเฮดรินอีกครั้งซึ่งได้ “กำชับ” ไม่ให้พวกเขาสั่งสอนโดยอาศัยพระนามพระเยซู พวกท่านบอกอย่างชัดเจนว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” คำให้การอย่างไม่ขลาดกลัวนี้ยังผลเป็นการให้คำพยานที่ดีแก่พวกผู้ปกครอง และการนี้ทำให้ฆามาลิเอลอาจารย์กฎหมายผู้มีชื่อเสียงกล่าวถ้อยคำสนับสนุนเสรีภาพในการนมัสการอันเป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งทำให้มีการปล่อยตัวพวกอัครสาวก.—4:19, 20, ล.ม.; 5:28, 29 (ล.ม.), 34, 35, 38, 39.
40. พระธรรมกิจการให้แรงกระตุ้นอะไรแก่เราเพื่อให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรอย่างถี่ถ้วน?
40 พระประสงค์อันรุ่งโรจน์ของพระยะโฮวาในเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งเป็นสาระสำคัญตลอดคัมภีร์ไบเบิลนั้นปรากฏชัดเจนโดดเด่นมากในพระธรรมกิจการ. ในตอนเริ่มต้น มีการเผยให้เห็นพระเยซูในช่วง 40 วันก่อนเสด็จสู่สวรรค์ว่า “ทรงบอกเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” ในคำตอบสำหรับคำถามของพวกสาวกเกี่ยวกับการฟื้นฟูราชอาณาจักรนั่นเองที่พระเยซูทรงแจ้งให้พวกเขาทราบว่า พวกเขาต้องเป็นพยานของพระองค์จนถึงสุดปลายแผ่นดินโลกเสียก่อน. (1:3, 6, 8, ล.ม.) เริ่มต้นในยะรูซาเลม พวกสาวกประกาศเรื่องราชอาณาจักรด้วยความกล้าหาญไม่หวั่นไหว. การกดขี่ข่มเหงทำให้มีการเอาหินขว้างซะเตฟาโนและทำให้สาวกมากมายกระจัดกระจายไปสู่เขตใหม่ ๆ. (7:59, 60) มีการบันทึกว่าฟีลิปได้ประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า” อย่างประสบผลสำเร็จมากในซะมาเรียและเปาโลกับเพื่อนร่วมงานได้ประกาศ “ราชอาณาจักร” ในเอเชีย, โกรินโธ, เอเฟโซ, และโรม. คริสเตียนรุ่นแรกทั้งหมดนี้วางแบบอย่างอันดีเยี่ยมของการไว้วางใจอย่างไม่หวั่นไหวในพระยะโฮวาและพระวิญญาณของพระองค์ซึ่งให้การค้ำชู. (8:5, 12, ล.ม.; 14:5-7, 21, 22; 18:1, 4; 19:1, 8; 20:25; 28:30, 31) เมื่อเห็นความมีใจแรงกล้าและความกล้าหาญที่ไม่อาจทำให้ยอมจำนนของพวกเขาและสังเกตเห็นว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของพวกเขาอย่างอุดมเพียงใดแล้ว เราจึงได้รับแรงกระตุ้นอันยอดเยี่ยมเช่นกันให้ซื่อสัตย์ใน ‘การให้คำพยานอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.’—28:23, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a นักบุญเปาโลนักเดินทาง (ภาษาอังกฤษ) 1895 หน้า 4.
b ยกมาลงไว้ในวารสารตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 กรกฎาคม 1947 หน้า 22-23; ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 เมษายน 1971 หน้า 27-28 ด้วย.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 153-154, 734-735; เล่ม 2 หน้า 748.
d การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 747.
e การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 747.
f การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 747.
g การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 750.