จงเลียนแบบความเชื่อของเขา | ติโมเธียว
“ลูกที่รักของข้าพเจ้าซึ่งสัตย์ซื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า”
ติโมเธียวก้าวเท้าเดินไปเรื่อย ๆ ไกลจากบ้านออกไปทุกที แววตาของเขามุ่งมั่นพร้อมจะเจอกับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า เพื่อนร่วมทางของเขาเดินนำหน้าขณะข้ามท้องทุ่งที่ติโมเธียวคุ้นเคยดี แล้วภาพของเมืองลิสตราที่ตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ย ๆ ในหุบเขาที่อยู่ข้างหลังนั้นก็ค่อย ๆ ห่างออกไป ติโมเธียวเดินยิ้มเมื่อคิดถึงแม่กับยายที่ยิ้มอย่างปลื้มอกปลื้มใจ แต่ก็กลั้นน้ำตาไว้ขณะที่มองดูเขาเดินจากไป ติโมเธียวน่าจะหันไปโบกมือลาแม่กับยายเป็นครั้งสุดท้ายไหม?
อัครสาวกเปาโลหันมามองติโมเธียวเป็นครั้งคราว แล้วก็ยิ้มให้กำลังใจเขา เปาโลรู้ว่าติโมเธียวเป็นคนขี้อายและยังต้องฝึกตัวเองให้กล้าขึ้น แต่เปาโลก็ดีใจที่เห็นเด็กหนุ่มติโมเธียวมีความกระตือรือร้น ติโมเธียวอายุยังน้อย อาจจะแค่ 17-18 ปีหรือไม่ก็ 20 ต้น ๆ เขาเคารพรักเปาโลมาก ตอนนี้ติโมเธียวกำลังเดินทางไปกับชายที่ซื่อสัตย์และสู้งานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งกำลังจะพาเขาเดินทางไปไกลแสนไกลจากบ้าน ในการเดินทางครั้งนี้ พวกเขาต้องเดินเท้า ล่องเรือ และระหว่างทางก็ยังต้องเจอภัยอันตรายอีกหลายครั้งนับไม่ถ้วน ติโมเธียวไม่รู้ว่าตัวเองจะได้กลับมาบ้านอีกไหม
อะไรทำให้หนุ่มน้อยติโมเธียวเลือกใช้ชีวิตอย่างนั้น? รางวัลแบบไหนถึงจะถือว่าคุ้มค่าสำหรับการเสียสละแบบนี้? และความเชื่อของติโมเธียวจะมีผลต่อความเชื่อของเราอย่างไร?
“ตั้งแต่เป็นทารก”
ให้เราย้อนเวลากลับไปสัก 2-3 ปี และนึกภาพเมืองลิสตราที่อาจเป็นบ้านเกิดของติโมเธียว เมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ในชนบทที่ซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ในหุบเขาและมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ผู้คนที่นี่คงจะรู้ภาษากรีก แต่ก็ยังพูดภาษาลิคาโอเนียซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของพวกเขา แต่อยู่มาวันหนึ่ง เมืองที่เงียบสงบนี้ก็เกิดโกลาหลขึ้น อัครสาวกเปาโลกับเพื่อนที่ชื่อบาร์นาบัสเดินทางมาถึงที่นี่ ทั้งคู่เป็นมิชชันนารีคริสเตียนที่เดินทางมาจากเมืองอิโกนิอันที่ใหญ่กว่าซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ขณะที่พวกเขาประกาศอยู่ เปาโลเห็นชายพิการคนหนึ่งแสดงความเชื่อแท้ เปาโลจึงทำการอัศจรรย์และรักษาโรคให้ชายคนนั้น!—กิจการ 14:5-10
ชาวเมืองลิสตราหลายคนคงต้องเชื่อเรื่องที่เล่าขานกันในตำนานที่ว่า กาลครั้งหนึ่งเคยมีเทพเจ้าที่แปลงกายเป็นมนุษย์มาอยู่ที่นั่น ชาวเมืองนั้นจึงคิดกันไปเองว่าเปาโลเป็นเทพเจ้าเฮอร์เมส และบาร์นาบัสเป็นเทพเจ้าซูส! ผู้คนพากันเอาข้าวของมาสักการบูชาคริสเตียนที่ถ่อมตัวสองคนนี้จนพวกเขาแทบจะห้ามไว้ไม่อยู่!—กิจการ 14:11-18
แต่ก็มีบางคนในเมืองลิสตราที่มองว่าเปาโลกับบาร์นาบัสไม่ใช่เทพเจ้าในนิยายปรัมปรา แต่เป็นคนจริง ๆ ที่นำข่าวสารที่ยอดเยี่ยมมาให้พวกเขา ตัวอย่างเช่น ยูนิเกหญิงชาวยิวซึ่งแต่งงานกับชาวกรีกa ที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับเธอ และโลอิสแม่ของเธอ ตั้งใจฟังเปาโลกับบาร์นาบัสพูดด้วยความตื่นเต้นยินดี ในที่สุด ข่าวซึ่งชาวยิวที่ซื่อสัตย์ทุกคนอยากจะได้ยินก็มาถึง ซึ่งก็คือข่าวที่ว่าพระมาซีฮามาแล้ว และคำพยากรณ์หลายข้อที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์เกี่ยวกับท่านผู้นี้ก็เกิดขึ้นจริง ๆ!
ลองนึกดูสิว่าการมาเมืองลิสตราของเปาโลในครั้งนี้จะส่งผลต่อติโมเธียวสักแค่ไหน ติโมเธียวก็ได้รับการปลูกฝังมา “ตั้งแต่เป็นทารก” ให้รักหนังสือบริสุทธิ์ คือ พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (2 ติโมเธียว 3:15) เขาคงจะรู้สึกเหมือนแม่กับยายที่เห็นว่าเรื่องพระมาซีฮาที่เปาโลกับบาร์นาบัสพูดเป็นเรื่องจริง และลองคิดถึงชายพิการคนนั้นที่เปาโลรักษาให้หายสิ ตั้งแต่เป็นเด็ก ติโมเธียวคงเคยเห็นเขาที่ถนนในเมืองลิสตราอยู่บ่อย ๆ แต่ตอนนี้ ติโมเธียวเห็นชายคนนี้เดินได้เป็นครั้งแรก! ไม่แปลกใจเลยที่ยูนิเกกับโลอิสเข้ามาเป็นคริสเตียน และติโมเธียวก็ด้วย ทุกวันนี้ คนที่เป็นพ่อแม่และปู่ย่าตายายก็เรียนรู้ได้มากจากตัวอย่างของยูนิเกและโลอิส คุณจะสอนลูกหลานและปลูกฝังสิ่งดี ๆ ให้พวกเขาได้ไหม?
“ผ่านความทุกข์ลำบากมากมาย”
คนที่เข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ในเมืองลิสตราคงต้องตื่นเต้นมากที่ได้รู้ว่าคนที่ติดตามพระคริสต์มีความหวังอะไรรออยู่ข้างหน้า และพวกเขาคงจะรู้ว่าการเป็นสาวกก็ต้องเสียสละอะไรบางอย่างด้วย ชาวยิวที่บ้าคลั่งและเป็นพวกหัวรุนแรงจากเมืองอิโกนิอันและอันทิโอกเข้ามาในเมืองลิสตรา แล้วยุยงคนที่หูเบาให้ต่อต้านเปาโลกับบาร์นาบัส ไม่นาน ฝูงชนที่บ้าคลั่งก็ออกตามล่าเปาโล เมื่อพบแล้วก็เอาหินขว้างใส่จนเปาโลล้มลงกับพื้นแล้วก็ลากออกไปนอกเมืองเพราะคิดว่าเปาโลตายแล้ว—กิจการ 14:19
แต่สาวกในเมืองลิสตราพากันตามหาเปาโล พวกเขามุงดูเปาโลแล้วก็คงจะรู้สึกโล่งอกที่เห็นเปาโลขยับตัว ลุกขึ้น แล้วก็กลับเข้าไปในเมืองลิสตราอย่างกล้าหาญอีกครั้ง! วันรุ่งขึ้น เปาโลกับบาร์นาบัสก็ออกเดินทางไปเมืองเดอร์เบเพื่อประกาศต่อ และหลังจากที่ได้ช่วยหลายคนที่นั่นให้มาเป็นสาวกแล้ว พวกเขาก็ย้อนกลับไปที่เมืองลิสตราอีกครั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องเสี่ยงชีวิต พวกเขากลับไปเพื่ออะไร? บันทึกในพระคัมภีร์บอกว่า เพื่อ “ช่วยให้พวกสาวกมีใจเข้มแข็งและชูใจพวกเขาให้มีความเชื่อที่มั่นคง” ลองนึกภาพหนุ่มน้อยติโมเธียวจ้องมองเปาโลกับบาร์นาบัสด้วยความตั้งอกตั้งใจ ขณะฟังพวกเขาสอนคริสเตียนเหล่านั้นว่า ความลำบากที่ต้องเจอในตอนนั้นคุ้มค่าขนาดไหน เมื่อคิดถึงความหวังยอดเยี่ยมที่พวกเขาจะได้รับในอนาคต เปาโลกับบาร์นาบัสบอกว่า “พวกเราต้องผ่านความทุกข์ลำบากมากมายก่อนจะเข้าราชอาณาจักรของพระเจ้า”—กิจการ 14:20-22
ติโมเธียวเห็นว่าเปาโลใช้ชีวิตอย่างที่พูดจริง ๆ เขาต่อสู้กับความยากลำบากอย่างกล้าหาญเพื่อบอกข่าวดีให้คนอื่นได้รู้ ติโมเธียวจึงรู้ว่า ถ้าเขาเดินตามรอยของเปาโล ชาวเมืองลิสตราก็จะต่อต้านเขา และพ่อของเขาก็อาจต่อต้านด้วย แต่ติโมเธียวจะไม่ยอมให้ความกดดันแบบนี้มีผลต่อการตัดสินใจของเขาในเรื่องการรับใช้พระเจ้า ทุกวันนี้ มีเด็กหนุ่มสาวมากมายที่เป็นเหมือนติโมเธียว พวกเขาเลือกคบเพื่อนที่มีความเชื่อเข้มแข็ง ซึ่งจะคอยให้กำลังใจและช่วยพวกเขาให้เข้มแข็งด้วย และพวกเขาก็จะไม่ยอมให้การต่อต้านใด ๆ มาขัดขวางหรือทำให้พวกเขาเลิกรับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้!
พี่น้อง “ต่างกล่าวถึงติโมเธียวในทางที่ดี”
อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้ เปาโลอาจกลับมาที่เมืองลิสตราอีกครั้งประมาณ 2-3 ปีต่อมา ลองนึกภาพว่า คนในครอบครัวของติโมเธียวจะดีใจขนาดไหนเมื่อเห็นว่าคราวนี้เปาโลมากับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ชื่อซีลัส และเปาโลเองก็คงมีความสุขมากด้วยที่ได้มาเห็นกับตาตัวเองว่า ความจริงเรื่องพระเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนเมล็ดที่เขาหว่านไว้ในลิสตราเจริญงอกงามแล้ว ตอนนี้โลอิสกับยูนิเกลูกสาวซึ่งเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ก็มีความเชื่อในพระเจ้าอย่าง “จริงใจ” และนี่ก็ทำให้เปาโลปลื้มใจมาก (2 ติโมเธียว 1:5, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) แล้วหนุ่มน้อยติโมเธียวล่ะ?
เปาโลเห็นว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นผู้ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับตอนที่เจอคราวก่อน และพี่น้อง “ต่างกล่าวถึงติโมเธียวในทางที่ดี” ไม่ใช่แค่ที่ลิสตราเท่านั้น แต่พี่น้องที่อยู่ในอิโกนิอันซึ่งไกลขึ้นไปทางเหนือราว ๆ 32 กิโลเมตรก็ยังพูดถึงเขาด้วยความชื่นชม (กิจการ 16:2) แล้วเขาสร้างชื่อเสียงที่ดีแบบนี้ได้อย่างไร?
“หนังสือบริสุทธิ์” ที่แม่กับยายใช้สอนติโมเธียว “ตั้งแต่เป็นทารก” นั้นมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับคนหนุ่มสาวด้วย (2 ติโมเธียว 3:15) ตัวอย่างเช่น ข้อที่ว่า “จงระลึกถึงพระผู้สร้างของเจ้าตลอดวันเวลาที่เจ้ายังเยาว์วัย” (ท่านผู้ประกาศ 12:1, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ติโมเธียวคงจะรู้ความหมายของข้อคัมภีร์นี้ลึกซึ้งขึ้นหลังจากที่เขาเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว เขาเข้าใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการระลึกถึงพระเจ้าผู้สร้างตัวเขาก็คือ การบอกข่าวดีเรื่องพระคริสต์ลูกของพระเจ้าให้คนอื่น ๆ ได้รู้ ติโมเธียวคงจะค่อย ๆ ฝึกตัวเองจนเอาชนะนิสัยขี้อายได้และกล้าบอกข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์กับคนอื่น ๆ
ผู้ชายที่ทำหน้าที่ดูแลในประชาคมคริสเตียนต่างก็มองเห็นพัฒนาการที่ดีของติโมเธียว ไม่แปลกที่พวกเขาประทับใจเมื่อเห็นว่าเด็กหนุ่มคนนี้ช่วยทำให้คนรอบข้างมีกำลังใจและเข้มแข็ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ พระยะโฮวาก็มองเห็นความก้าวหน้าของติโมเธียวด้วย พระองค์ดลใจให้มีการเขียนคำพยากรณ์บางอย่างที่พูดถึงเขา ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับงานรับใช้ที่เขาจะทำในวันข้างหน้าเพื่อประชาคมต่าง ๆ เมื่อเปาโลมาที่ลิสตรา เขาเห็นว่าติโมเธียวน่าจะเป็นเพื่อนที่สามารถช่วยงานมิชชันนารีได้ดีทีเดียว และพี่น้องที่ลิสตราก็เห็นด้วย พวกเขาวางมือบนเด็กหนุ่มคนนี้ เพื่อแสดงว่าเด็กหนุ่มคนนี้ได้รับมอบหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งในการรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้า—1 ติโมเธียว 1:18; 4:14
เราคงพอจะนึกภาพออกว่า ติโมเธียวเองก็รู้สึกเป็นเกียรติมากแต่ก็เจียมตัวด้วยที่ได้ทำงานที่มีความรับผิดชอบมากขนาดนี้ เขาพร้อมแล้วที่จะไปb แต่พ่อของติโมเธียวที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนมีท่าทีอย่างไร เมื่อรู้ว่าลูกของเขาถูกเรียกให้ไปทำงานเผยแผ่ศาสนาของคริสเตียน? เขาอาจวางแผนอนาคตให้ลูกชายไว้แล้วในใจที่ไม่ใช่งานแบบนี้ แล้วแม่กับยายของติโมเธียวล่ะ? พวกเธอรู้สึกภาคภูมิใจแต่ก็พยายามข่มห้ามความรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็กหนุ่มคนนี้ไหม? ไม่แปลกถ้าพวกเธอจะรู้สึกอย่างนั้น
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือติโมเธียวตกลงใจไป อย่างที่ในตอนต้นเรื่องบอกไว้ เขาออกเดินทางตอนเช้าไปกับอัครสาวกเปาโล เมื่อออกจากลิสตราแล้ว ทุกย่างก้าวที่เขาเหยียบไปบนกรวดหินดินทรายและหญ้า ย่อมหมายความว่าเขาก้าวเข้าไปใกล้ที่ที่เขาไม่รู้จักและไกลออกไปจากบ้านของตัวเองเรื่อย ๆ หลังจากที่เดินมาทั้งวัน ทั้งสามคนก็มาถึงเมืองอิโกนิอัน ติโมเธียวเริ่มเห็นวิธีที่เปาโลกับซีลัสทำงาน พวกเขาถ่ายทอดคำแนะนำล่าสุดจากคณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเลมให้พี่น้องที่นั่น และเห็นวิธีที่เปาโลกับซีลัสเสริมความเชื่อของพี่น้องในเมืองอิโกนิอันให้เข้มแข็งขึ้นด้วย (กิจการ 16:4, 5) แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น
หลังจากที่มิชชันนารี 3 คนนี้ไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ในแคว้นกาลาเทียแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้ใช้ถนนใหญ่ที่ปูด้วยหินของโรมอีก พวกเขาเดินข้ามที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ในแคว้นฟรีเกียเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือแล้วก็ไปทางตะวันตก พวกเขาทำตามการชี้นำของพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้า โดยมุ่งหน้าไปเมืองโตรอัส แล้วก็ลงเรือไปที่แคว้นมาซิโดเนีย (กิจการ 16:6-12) เมื่อถึงตอนนั้น เปาโลก็เห็นแล้วว่าติโมเธียวช่วยได้มากขนาดไหน เขาจึงปล่อยให้ติโมเธียวอยู่ในเมืองเบโรยากับซีลัส (กิจการ 17:14) เปาโลถึงกับให้ติโมเธียวไปเมืองเทสซาโลนิเกคนเดียว เมื่อไปถึงที่นั่น ติโมเธียวก็ทำแบบเดียวกับที่เปาโลทำ คือหนุนใจพี่น้องคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ให้มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้น—1 เทสซาโลนิเก 3:1-3
ต่อมา เปาโลเขียนเกี่ยวกับติโมเธียวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีใครที่มีน้ำใจเหมือนเขาซึ่งจะเอาใจใส่เรื่องของพวกท่านอย่างแท้จริง” (ฟิลิปปอย 2:20) ชื่อเสียงที่ดีของติโมเธียวไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เพราะเขาทำงานอย่างขยันขันแข็ง รับใช้ด้วยความถ่อมตน และอดทนไม่ย่อท้อเมื่อเจอกับปัญหา ติโมเธียวเป็นแบบอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับหนุ่มสาวในทุกวันนี้! อย่าลืมว่า คุณจะมีชื่อเสียงว่าเป็นคนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณเป็นคนหนุ่มสาว คุณมีโอกาสดีมาก ๆ ที่จะสร้างชื่อเสียงที่ดีแบบนี้ให้ตัวเอง โดยให้พระยะโฮวาพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต แสดงความกรุณาและรู้จักเคารพนับถือคนอื่น
“พยายามมาหาข้าพเจ้าโดยเร็วที่สุด”
ตลอดช่วงเวลาประมาณ 14 ปีที่ติโมเธียวทำงานเป็นเพื่อนกับอัครสาวกเปาโล มีหลายครั้งที่เขาต้องเสี่ยงภัยจนแทบเอาชีวิตไม่รอดเหมือนกับเปาโล แต่ทั้งคู่ก็มีความสุข (2 โครินท์ 11:24-27) ติโมเธียวถึงกับเคยติดคุกเพราะความเชื่อ (ฮีบรู 13:23) เขายังห่วงใยและรักพี่น้องคริสเตียนชายหญิงอย่างหมดหัวใจเหมือนเปาโลด้วย เพราะอย่างนี้เปาโลจึงเขียนถึงเขาว่า “ข้าพเจ้าคิดถึงน้ำตาของท่าน” (2 ติโมเธียว 1:4) และติโมเธียวก็เหมือนกับเปาโลที่พยายามเข้าถึงความรู้สึกของพี่น้องและ “ร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” เพื่อจะให้กำลังใจและปลอบโยนพี่น้องได้ดีขึ้น (โรม 12:15) ขอให้เราทุกคนทำอย่างนี้ด้วย!
ไม่แปลกเลยที่ต่อมาติโมเธียวได้เป็นผู้ดูแลที่โดดเด่นคนหนึ่ง เปาโลไว้วางใจเขาให้ไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ เพื่อให้กำลังใจและเสริมสร้างประชาคมให้เข้มแข็ง และยังให้ติโมเธียวแต่งตั้งผู้ชายที่มีคุณสมบัติตามหลักพระคัมภีร์เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประชาคมและผู้ช่วยงานรับใช้ด้วย—1 ติโมเธียว 5:22
เปาโลรักติโมเธียวมาก เขาให้คำแนะนำที่มีประโยชน์กับติโมเธียวเหมือนพ่อให้คำแนะนำลูก เขากระตุ้นติโมเธียวให้เอาใจใส่และพัฒนาความสามารถต่าง ๆ ที่เขาได้รับจากพระเจ้าให้ดีขึ้น (1 ติโมเธียว 4:15, 16) เปาโลเตือนติโมเธียวว่าอย่าให้ความที่ยังเป็นหนุ่มและนิสัยบางอย่างทำให้เขาไม่กล้าทำสิ่งที่ควรทำ โดยเฉพาะเมื่อถึงตอนที่ต้องยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง (1 ติโมเธียว 1:3; 4:6, 7, 11, 12) เปาโลยังแนะนำติโมเธียวด้วยว่าจะดูแลสุขภาพตัวเองอย่างไร เพราะดูเหมือนติโมเธียวมีปัญหาเรื่องโรคกระเพาะอยู่บ่อย ๆ —1 ติโมเธียว 5:23
ต่อมา เมื่อเปาโลรู้ตัวว่าเวลาของเขาเหลือน้อยลงแล้ว เพราะกำลังจะถูกประหารชีวิต เขาส่งจดหมายฉบับสุดท้ายที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าไปถึงติโมเธียว ซึ่งมีข้อความที่สะท้อนถึงความรู้สึกของเปาโลที่ว่า “พยายามมาหาข้าพเจ้าโดยเร็วที่สุด” (2 ติโมเธียว 4:9, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เปาโลรักติโมเธียวถึงขนาดที่เรียกเขาว่า “ลูกที่รักของข้าพเจ้าซึ่งสัตย์ซื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 โครินท์ 4:17, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ไม่แปลกที่เขาอยากให้เพื่อนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาอยู่เคียงข้างในช่วงสุดท้ายของชีวิต! เราแต่ละคนอาจจะถามตัวเองว่า ‘เวลาที่ใคร ๆ มีความทุกข์เดือดร้อน เขามองว่าฉันเป็นคนที่ให้กำลังใจพวกเขาได้ไหม?’
แล้วติโมเธียวไปทันได้ดูใจเปาโลไหม? เราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเขาพยายามสุดความสามารถเสมอที่จะให้กำลังใจและปลอบโยนเปาโลรวมทั้งอีกหลาย ๆ คนด้วย เขาใช้ชีวิตคุ้มค่าสมกับชื่อติโมเธียว ซึ่งแปลว่า “คนที่ทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติ” เขายังเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในเรื่องความเชื่อ ซึ่งพวกเราทุกคนไม่ว่าหนุ่มสาวหรือคนสูงอายุก็เลียนแบบได้
a ดู “คุณรู้ไหม?” ในฉบับนี้
b ติโมเธียวยังเต็มใจรับสุหนัตตามที่เปาโลขอด้วย ถึงแม้ไม่ใช่เป็นข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน แต่เพราะเปาโลกำลังจะไปประกาศกับชาวยิว เขาจึงไม่อยากให้คนเหล่านั้นคัดค้านที่พาติโมเธียวซึ่งเป็นลูกของคนต่างชาติมาด้วย—กิจการ 16:3