บท 13
“จึงเกิดการโต้เถียงกันมาก”
มีการนำประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตมาให้คณะกรรมการปกครองตัดสิน
จากกิจการ 15:1-12
1-3. (ก) มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่อาจทำให้ประชาคมคริสเตียนที่ตั้งขึ้นไม่นานแตกแยกกัน? (ข) เราอาจได้ประโยชน์อะไรจากการทบทวนเรื่องนี้ในหนังสือกิจการ?
เปาโลกับบาร์นาบัสเพิ่งกลับมาถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียด้วยความยินดีหลังจากการเดินทางประกาศในต่างประเทศรอบแรก พวกเขาทั้งสองรู้สึกตื่นเต้นที่พระยะโฮวา “เปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาเชื่อ” (กจ. 14:26, 27) ยิ่งกว่านั้น มีการประกาศข่าวดีตลอดทั่วเมืองอันทิโอก และมีคนต่างชาติ “มากมาย” ได้เข้ามาสมทบกับประชาคมที่นั่น—กจ. 11:20-26
2 หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อคริสเตียนในยูเดียได้ยินว่ามีหลายคนรับบัพติศมา พวกเขาบางคนกลับรู้สึกไม่สบายใจ พวกเขาคิดว่าคริสเตียนทุกคนควรเข้าสุหนัต แต่บางคนกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น แล้วคริสเตียนชาวยิวควรมองคริสเตียนที่ไม่ใช่ชาวยิวยังไง? คริสเตียนที่ไม่ใช่ชาวยิวควรเชื่อฟังกฎหมายของโมเสสไหม? ประเด็นนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงจนอาจส่งผลให้ประชาคมคริสเตียนแตกแยกกัน เรื่องนี้จะได้รับการจัดการยังไง?
3 ตอนที่เราทบทวนเรื่องราวนี้ในหนังสือกิจการ เราจะได้เรียนบทเรียนที่มีค่าหลายอย่าง ซึ่งอาจช่วยเราให้รู้วิธีจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกกันในประชาคม
“ถ้าพวกคุณไม่เข้าสุหนัต” (กิจการ 15:1)
4. คริสเตียนบางคนมีความคิดผิด ๆ อะไร และนี่ทำให้เกิดคำถามอะไร?
4 ลูกาเขียนว่า “มีบางคนมาจากแคว้นยูเดียและสอนพี่น้องที่เมืองอันทิโอกว่า ‘ถ้าพวกคุณไม่เข้าสุหนัตตามธรรมเนียมของโมเสส พวกคุณจะไม่รอดนะ’” (กจ. 15:1) เราไม่รู้ว่า “บางคน . . . จากแคว้นยูเดีย” ที่พูดถึงในข้อนี้เคยเป็นพวกฟาริสีก่อนที่พวกเขาเข้ามาเป็นคริสเตียนหรือไม่ แต่อย่างน้อย ดูเหมือนว่าพวกเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของพวกฟาริสี เพราะคนพวกนี้เคร่งครัดในกฎข้อบังคับ นอกจากนั้น พวกเขาอาจอ้างว่าสิ่งที่พวกเขาสอนมาจากพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ. 15:23, 24) แต่ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าช่วยให้เปโตรเห็นชัดเจนมา 13 ปีแล้วว่า พระองค์ยอมรับคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตให้เข้ามาเป็นคริสเตียน แล้วทำไมชาวยิวที่เป็นคริสเตียนหลายคนยังคงอยากให้คริสเตียนทุกคนเข้าสุหนัต?a—กจ. 10:24-29, 44-48
5, 6. (ก) ทำไมคริสเตียนชาวยิวบางคนยังมองว่าคริสเตียนทุกคนต้องเข้าสุหนัต? (ข) สัญญาเรื่องการเข้าสุหนัตเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัมไหม? (ดูเชิงอรรถ)
5 อาจมีเหตุผลหลายอย่าง อย่างแรก พระยะโฮวาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเข้าสุหนัต และการเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ที่พิเศษกับพระองค์ พระองค์สั่งให้อับราฮัมและผู้ชายทุกคนในครอบครัวของเขาเข้าสุหนัต แล้วหลังจากนั้นพระองค์ก็สั่งให้ชาวอิสราเอลทุกคนทำแบบเดียวกันb (ลนต. 12:2, 3) ภายใต้กฎหมายของโมเสส แม้แต่คนต่างชาติก็ต้องเข้าสุหนัตก่อนที่พวกเขาจะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง เช่น การกินอาหารปัสกา (อพย. 12:43, 44, 48, 49) ที่จริง ชาวยิวมองว่าผู้ชายที่ไม่ได้เข้าสุหนัตเป็นคนไม่สะอาดและน่ารังเกียจ—อสย. 52:1
6 ดังนั้น ชาวยิวที่เข้ามาเป็นคริสเตียนทุกคนต้องมีความเชื่อและความถ่อม เพื่อพวกเขาจะปรับเปลี่ยนความคิดให้ตรงกับพระยะโฮวา สัญญาใหม่ได้เข้ามาแทนที่สัญญาที่เกี่ยวกับกฎหมายของโมเสส ดังนั้น ผู้ที่เกิดเป็นคนยิวก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนของพระเจ้าโดยอัตโนมัติอีกต่อไป นอกจากนั้น ชาวยิวที่เข้ามาเป็นคริสเตียนหลายคนยังอาศัยอยู่ในชุมชนชาวยิว ดังนั้น พวกเขาต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู และนมัสการพระเจ้าด้วยกันกับคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต—ยรม. 31:31-33; ลก. 22:20
7. “บางคน . . . จากแคว้นยูเดีย” ไม่เข้าใจความจริงอะไร?
7 แน่นอน เรารู้ว่าพระเจ้าไม่เปลี่ยนแปลงมาตรฐานของพระองค์ เพราะหลักการพื้นฐานในกฎหมายของโมเสสก็รวมอยู่ในสัญญาใหม่ด้วย (มธ. 22:36-40) ตัวอย่างเช่น ต่อมาเปาโลได้เขียนเกี่ยวกับการเข้าสุหนัตว่า “คนยิวแท้เป็นคนยิวจากภายใน และการเข้าสุหนัตของเขาก็ทำที่หัวใจ ด้วยพลังของพระเจ้า ไม่ใช่แค่ทำตามตัวบทกฎหมาย” (รม. 2:29; ฉธบ. 10:16) “บางคน . . . จากแคว้นยูเดีย” ไม่เข้าใจความจริงนี้ แต่พวกเขากลับยืนกรานว่าพระเจ้าไม่เคยยกเลิกกฎหมายเรื่องการเข้าสุหนัต พวกเขาจะยอมฟังเหตุผลไหม?
“ไม่เห็นด้วย . . . จึงเกิดการโต้เถียงกัน” (กิจการ 15:2)
8. ทำไมจึงมีการนำประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตไปถามคณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเล็ม?
8 ลูกาเล่าต่อไปว่า “เปาโลและบาร์นาบัสไม่เห็นด้วยกับพวกเขา [บางคนจากแคว้นยูเดีย] จึงเกิดการโต้เถียงกันมาก แล้วเปาโล บาร์นาบัส กับพี่น้องบางคนก็ได้รับมอบหมายให้ไปถามพวกอัครสาวกและผู้ดูแลที่กรุงเยรูซาเล็มเกี่ยวกับเรื่องนี้”c (กจ. 15:2) คำว่า ‘ไม่เห็นด้วยและโต้เถียงกัน’ ทำให้เราเข้าใจว่าตอนนั้นพวกเขาเชื่อมั่นว่าความคิดของตัวเองเป็นฝ่ายถูก และมีความรู้สึกที่รุนแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประชาคมในอันทิโอกจัดการกับเรื่องนี้ไม่ได้ ดังนั้น เพื่อรักษาความสงบสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกัน ประชาคมได้ใช้วิธีที่ฉลาดสุขุมจัดการกับเรื่องนี้ พวกเขาเสนอว่าควรเอาเรื่องนี้ไปถาม “อัครสาวกและผู้ดูแลที่กรุงเยรูซาเล็ม” ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคณะกรรมการปกครองในสมัยนั้น เราได้เรียนอะไรจากพวกผู้ดูแลในเมืองอันทิโอก?
9, 10. พวกพี่น้องในเมืองอันทิโอก และเปาโลกับบาร์นาบัสได้วางตัวอย่างที่ดีอะไรสำหรับพวกเราในทุกวันนี้?
9 บทเรียนที่มีค่าอย่างหนึ่งที่เราได้เรียนก็คือ เราต้องไว้วางใจองค์การของพระเจ้า ลองคิดดูสิว่า พวกพี่น้องในอันทิโอกเองก็รู้ดีว่าคณะกรรมการปกครองทุกคนเป็นคริสเตียนชาวยิว แต่พวกเขาก็ไว้วางใจว่าพี่น้องกลุ่มนี้จะตัดสินปัญหาเรื่องการเข้าสุหนัตตามหลักพระคัมภีร์ ทำไมพวกเขาถึงมั่นใจอย่างนั้น? พี่น้องในประชาคมมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะชี้นำเรื่องต่าง ๆ โดยทางพลังบริสุทธิ์ของพระองค์ และโดยทางพระเยซูคริสต์ ผู้นำของประชาคมคริสเตียน (มธ. 28:18, 20; อฟ. 1:22, 23) คล้ายกัน เมื่อเกิดประเด็นสำคัญขึ้นในทุกวันนี้ ขอให้เราเลียนแบบตัวอย่างที่ดีของพี่น้องในเมืองอันทิโอก เราต้องวางใจองค์การของพระเจ้า และวางใจคณะกรรมการปกครองที่ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม พวกเขาเป็นทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุมที่พระเยซูแต่งตั้ง
10 เรายังได้เรียนด้วยว่าความถ่อมตัวและความอดทนเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ เปาโลกับบาร์นาบัสได้รับการแต่งตั้งโดยพลังบริสุทธิ์เพื่อให้ไปหาคนต่างชาติโดยเฉพาะ แต่ตอนอยู่ที่อันทิโอก พวกเขาทั้งสองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะตัดสินเรื่องการเข้าสุหนัต (กจ. 13:2, 3) ยิ่งกว่านั้น เปาโลได้เขียนในภายหลังว่า “ผมไปที่นั่น [เยรูซาเล็ม] ตามที่ได้รับการเปิดเผยจากสวรรค์” นี่แสดงว่าเปาโลก็ได้รับการชี้นำจากพระเจ้าในเรื่องนั้น (กท. 2:2) เมื่อมีปัญหาที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกขึ้น ผู้ดูแลในทุกวันนี้ต้องพยายามเลียนแบบความถ่อมตัวและความอดทนอย่างเดียวกัน แทนที่จะโต้เถียงกัน พวกเขาพึ่งพระยะโฮวาโดยค้นดูคัมภีร์ไบเบิล และค้นคว้าคำแนะนำที่มาจากทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม—ฟป. 2:2, 3
11, 12. ทำไมสำคัญที่เราจะรอพระยะโฮวา?
11 บางครั้ง เราอาจต้องรอให้พระยะโฮวาเปิดเผยความเข้าใจบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น ขอจำไว้ว่าพวกพี่น้องในสมัยของเปาโลต้องรอจนถึงประมาณปี ค.ศ. 49 ตั้งแต่ตอนที่โคร์เนลิอัสถูกเจิมในปี ค.ศ. 36 ต้องใช้เวลาถึงประมาณ 13 ปีก่อนที่พระยะโฮวาจะช่วยทุกคนให้เข้าใจว่า คนที่ไม่ใช่ชาวยิวทุกคนไม่ต้องเข้าสุหนัตแล้ว ทำไมถึงต้องใช้เวลานานขนาดนั้น? เป็นไปได้ว่าพระยะโฮวาอยากให้คริสเตียนชาวยิวมีเวลามากพอที่พวกเขาจะเปลี่ยนความคิด ที่จริง สัญญาเรื่องการเข้าสุหนัตมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลา 1,900 ปีแล้ว และนี่เป็นสัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัมบรรพบุรุษที่พวกเขารักและเคารพด้วย นี่จึงเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่สำหรับพวกเขาจริง ๆ—ยน. 16:12
12 เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่พระยะโฮวาอดทนสอนเรา และช่วยเราด้วยความรักให้คิดเหมือนกับพระองค์ ถ้าเราเชื่อฟังพระเจ้า เราก็จะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน (อสย. 48:17, 18; 64:8) ดังนั้น ขอเราอย่าหยิ่งและยึดติดกับความคิดเห็นของตัวเอง หรือวิพากย์วิจารณ์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในองค์การ หรือเมื่อมีการปรับเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ (ปญจ. 7:8) ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเรามีแนวโน้มแบบนี้ เราควรคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้เรียนในหนังสือกิจการบท 15 และอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยเราให้เอาบทเรียนที่ได้ไปใช้d
13. เราจะเลียนแบบความอดทนของพระยะโฮวาในงานรับใช้ของเราได้ยังไง?
13 เราอาจต้องอดทนตอนที่นักศึกษารู้สึกว่ายากจะทิ้งความเชื่อผิด ๆ หรือเลิกทำตามธรรมเนียมที่พวกเขาทำมานานซึ่งขัดกับคัมภีร์ไบเบิล เมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราอาจต้องพยายามช่วยเขาอย่างอดทนต่อ ๆ ไป และดูว่าพวกเขาจะยอมให้พลังบริสุทธิ์ช่วยพวกเขาให้เปลี่ยนไหม (1 คร. 3:6, 7) นอกจากนั้น เราควรอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เพราะในที่สุดพระยะโฮวาจะช่วยเราให้เห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยเขาได้—1 ยน. 5:14
พวกเขาเล่าประสบการณ์ที่ให้กำลังใจ “อย่างละเอียด” (กิจการ 15:3-5)
14, 15. (ก) ประชาคมในเมืองอันทิโอกได้ให้เกียรติเปาโล บาร์นาบัส และเพื่อนร่วมเดินทางคนอื่น ๆ ยังไง? (ข) เปาโลกับเพื่อนร่วมเดินทางของเขาได้ให้กำลังใจคนอื่นยังไง?
14 ลูกาเล่าต่อไปว่า “หลังจากพี่น้องในประชาคมเดินทางไปส่งพวกเขาช่วงหนึ่งแล้ว พวกเขาก็เดินทางต่อไปผ่านฟีนิเซียกับแคว้นสะมาเรีย ระหว่างทางพวกเขาเล่าเรื่องที่คนต่างชาติเปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้าให้พี่น้องฟังอย่างละเอียด ทำให้ทุกคนดีใจมาก” (กจ. 15:3) การที่ประชาคมเดินทางไปส่งเปาโล บาร์นาบัส และเพื่อนร่วมเดินทางคนอื่น ๆ ช่วงหนึ่งนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า พี่น้องในประชาคมรัก และให้เกียรติพวกเขา นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงว่าพี่น้องอยากให้พระเจ้าอวยพรพวกเขาด้วย พวกพี่น้องในอันทิโอกได้วางตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเราจริง ๆ! คุณให้เกียรติพี่น้องชายหญิงคริสเตียน “โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานหนัก [ผู้ดูแล] ในการพูดและการสอน” ไหม?—1 ทธ. 5:17
15 ระหว่างเดินทาง เปาโลกับเพื่อนร่วมเดินทางของเขาได้ให้กำลังใจเพื่อนคริสเตียนในแคว้นฟีนิเซียกับแคว้นสะมาเรียโดยการเล่าประสบการณ์ให้พวกเขาฟัง “อย่างละเอียด” ว่าคนต่างชาติได้เข้ามาเป็นคริสเตียนยังไง พวกพี่น้องที่ได้ยินประสบการณ์เหล่านี้อาจเป็นคริสเตียนชาวยิวที่ได้หนีไปยังแคว้นเหล่านั้นหลังจากที่สเทเฟนตายเพราะความเชื่อ พวกเราในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราได้กำลังใจจริง ๆ เมื่อได้ยินว่าพระยะโฮวาอวยพรงานสอนที่พี่น้องของเราทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราต้องเจอกับความลำบาก คุณได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากประสบการณ์เหล่านั้น โดยเข้าร่วมการประชุมประชาคม ประชุมใหญ่ต่าง ๆ หรืออ่านประสบการณ์ และเรื่องราวชีวิตจริงในหนังสือของเราไหม? มีประสบการณ์ดี ๆ แบบนั้นทั้งในหนังสือของเราหรือในเว็บไซต์ jw.org
16. อะไรแสดงว่าปัญหาเรื่องการเข้าสุหนัตได้กลายเป็นประเด็นสำคัญ?
16 หลังจากเดินทางลงใต้ไปประมาณ 550 กิโลเมตร ตัวแทนของพี่น้องจากอันทิโอกก็มาถึงจุดหมายปลายทาง ลูกาบอกว่า “พอมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม ประชาคมที่นั่นและพวกอัครสาวกรวมทั้งผู้ดูแลก็ต้อนรับพวกเขาอย่างอบอุ่น แล้วเปาโลกับบาร์นาบัสก็เล่าเรื่องทั้งหมดที่พระเจ้าใช้ให้ทั้งสองคนทำ” (กจ. 15:4) อย่างไรก็ตาม “สาวกบางคนที่เคยนับถือนิกายฟาริสีมาก่อนได้ลุกขึ้นพูดว่า ‘ต้องให้คนต่างชาติพวกนั้นเข้าสุหนัต และสั่งให้ทำตามกฎหมายของโมเสสด้วย’” (กจ. 15:5) เห็นได้ชัด ปัญหาเรื่องการเข้าสุหนัตของคริสเตียนซึ่งไม่ใช่ชาวยิวได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย
“พวกอัครสาวกกับผู้ดูแลจึงประชุมกัน” (กิจการ 15:6-12)
17. มีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มคณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเล็ม และทำไมถึงมี “ผู้ดูแล” รวมอยู่ด้วย?
17 สุภาษิต 13:10 บอกว่า “คนที่เสาะหาคำแนะนำจะมีสติปัญญา” นี่คือสิ่งที่พวกอัครสาวกกับผู้ดูแลทำ พวกเขา “ประชุมกันเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ [ปัญหาเรื่องการเข้าสุหนัต]” (กจ. 15:6) เหมือนกับคณะกรรมการปกครองในทุกวันนี้ “พวกอัครสาวกกับผู้ดูแล” ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเพื่อตัดสินเรื่องต่าง ๆ ของประชาคมคริสเตียนทั้งหมด แต่ทำไม “ผู้ดูแล” จึงรับใช้ด้วยกันกับพวกอัครสาวก? เราจำได้ว่าอัครสาวกยากอบได้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว และอัครสาวกเปโตรได้ถูกจำคุกช่วงหนึ่ง และเป็นไปได้ว่าอัครสาวกคนอื่น ๆ อาจเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน ดังนั้น การมีพี่น้องชายผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมประชุมกันเพื่อพิจารณาเรื่องนี้จะช่วยให้พี่น้องในตอนนั้นมั่นใจว่า จะมีพี่น้องชายที่ถูกเจิมดูแลเรื่องนี้ต่อไปได้
18, 19. เปโตรพูดอย่างมีพลังยังไง และคนที่ฟังเขาน่าจะได้ข้อสรุปอะไร?
18 ลูกาเล่าต่อไปว่า “หลังจากที่คุยกันอย่างเคร่งเครียดแล้ว เปโตรจึงลุกขึ้นพูดกับพวกเขาว่า ‘พี่น้องครับ พวกคุณก็รู้ว่าในพวกเรา พระเจ้าเลือกผมเป็นคนแรกให้ประกาศข่าวดีกับคนต่างชาติและช่วยเขาให้เข้ามาเชื่อ และพระเจ้าซึ่งรู้จักหัวใจทุกคนได้ให้หลักฐานว่าพระองค์ยอมรับคนต่างชาติ โดยให้พลังบริสุทธิ์กับพวกเขาเหมือนที่ให้กับพวกเรา พระองค์ไม่ได้ถือว่าพวกเขาต่างจากพวกเราเลย พระองค์ได้ชำระล้างใจพวกเขาให้สะอาดเพราะพวกเขามีความเชื่อ’” (กจ. 15:7-9) หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “คุยกันอย่างเคร่งเครียด” ในข้อ 7 ยังหมายถึง “การแสวงหา การซักถาม” ถึงแม้พวกพี่น้องจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาก็เต็มใจพิจารณาเรื่องนั้นอย่างตรงไปตรงมา
19 คำพูดที่มีพลังของเปโตรเตือนให้ทุกคนรู้ว่า ตัวเขาก็อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่คนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตกลุ่มแรกได้รับการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ในปี ค.ศ. 36 คนต่างชาติกลุ่มนี้ก็คือโคร์เนลิอัสและครอบครัวของเขา ดังนั้น ถ้าพระยะโฮวาไม่ได้มองว่าชาวยิวกับคนที่ไม่ใช่ยิวแตกต่างกันอีกต่อไป แล้วมนุษย์มีสิทธิ์อะไรที่จะมองว่าพวกเขาแตกต่างกัน? ยิ่งกว่านั้น คำพูดของเปโตรยังแสดงให้เห็นว่า การที่คนเราจะสะอาดในสายตาของพระเจ้า ไม่ได้เป็นเพราะเขาทำตามกฎหมายของโมเสส แต่เป็นเพราะเขามีความเชื่อในพระคริสต์—กท. 2:16
20. พวกผู้ส่งเสริมการเข้าสุหนัตกำลัง “ลองดีพระเจ้า” ยังไง?
20 โดยอาศัยถ้อยคำของพระเจ้าและพลังบริสุทธิ์ เปโตรได้สรุปว่า “ถ้าอย่างนั้น ทำไมพวกคุณถึงลองดีพระเจ้าด้วยการวางภาระหนักให้พวกสาวก ซึ่งเป็นภาระที่พวกเราเองหรือบรรพบุรุษของพวกเราก็แบกไม่ไหว? แต่พวกเราเชื่อว่าเรารอดได้เพราะความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเยซูผู้เป็นนาย และพวกเขาก็เชื่ออย่างนี้เหมือนกัน” (กจ. 15:10, 11) ที่จริง พวกผู้ส่งเสริมการเข้าสุหนัตกำลัง “ลองดีพระเจ้า” หรือทดสอบความอดทนของพระองค์ พวกเขาพยายามกดดันให้คนต่างชาติทำตามกฎหมายของโมเสสทุกข้อ ทั้ง ๆ ที่ตัวพวกเขาเองที่เป็นชาวยิวก็ยังทำไม่ได้ นี่ทำให้พวกเขามีโทษถึงตาย (กท. 3:10) แทนที่จะส่งเสริมการเข้าสุหนัต ชาวยิวที่ฟังเปโตรน่าจะขอบคุณพระเจ้าสำหรับความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ที่พระองค์แสดงผ่านทางพระเยซู
21. บาร์นาบัสกับเปาโลพูดอะไรที่ช่วยให้พี่น้องตัดสินใจได้ดีขึ้น?
21 ดูเหมือนว่า สิ่งที่เปโตรพูดช่วยให้คนที่ฟังเขาคิด เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ทุกคนก็เงียบ และตั้งใจฟัง” ต่อจากนั้น บาร์นาบัสกับเปาโลได้เล่า “เรื่องที่พระเจ้าใช้เขาสองคนให้ทำการอัศจรรย์และแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่างในหมู่คนต่างชาติ” (กจ. 15:12) ในที่สุด ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกอัครสาวกกับผู้ดูแลจะประเมินดูหลักฐานทั้งหมด และตัดสินเรื่องการเข้าสุหนัตในแบบที่พระเจ้าพอใจ
22-24. (ก) คณะกรรมการปกครองในทุกวันนี้ติดตามแบบอย่างของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกยังไง? (ข) ผู้ดูแลทุกคนจะแสดงยังไงว่าพวกเขาอยากจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในแบบที่ทำให้พระยะโฮวาพอใจ?
22 ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ตอนที่สมาชิกของคณะกรรมการปกครองประชุมกัน พวกเขาจะพึ่งการชี้นำจากถ้อยคำของพระเจ้า และอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์อย่างจริงจัง (สด. 119:105; มธ. 7:7-11) เพื่อจะทำอย่างนั้นได้ สมาชิกแต่ละคนของคณะกรรมการปกครองจะได้รับหัวข้อการประชุมล่วงหน้า เพื่อเขาจะคิดใคร่ครวญและอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาจะพิจารณากัน (สภษ. 15:28) ตอนที่ประชุม พี่น้องชายที่ถูกเจิมเหล่านี้ออกความเห็นอย่างอิสระด้วยความนับถือ และระหว่างที่พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ พวกเขาก็จะใช้คัมภีร์ไบเบิลเสมอ
23 ผู้ดูแลในประชาคมก็ควรเลียนแบบตัวอย่างนี้ด้วย และหลังจากการประชุมของพวกผู้ดูแล ถ้ายังมีเรื่องสำคัญบางเรื่องที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คณะผู้ดูแลอาจปรึกษาสำนักงานสาขา หรือปรึกษาตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสาขา เช่น ผู้ดูแลหมวด หลังจากนั้น ถ้าจำเป็น สำนักงานสาขาก็อาจเขียนถึงคณะกรรมการปกครอง
24 เห็นได้ชัดเลยว่า พระยะโฮวาอวยพรคนเหล่านั้นที่ทำตามการชี้นำที่มาทางองค์การของพระองค์และทางประชาคม และพระองค์อวยพรคนที่ถ่อมตัว ภักดี และอดทน ในบทถัดไป เราจะดูด้วยกันว่า ถ้าเราทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา พระองค์จะช่วยให้เรามีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนั้น พระองค์ยังช่วยให้ประชาคมก้าวหน้ามากขึ้นด้วย
a ดูกรอบ “คำสอนของพวกส่งเสริมลัทธิยูดา”
b สัญญาเรื่องการเข้าสุหนัตไม่ได้เป็นส่วนของสัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัม ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงทุกวันนี้ สัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัมเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 1943 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นตอนที่อับราฮัม (ตอนนั้นชื่ออับราม) ได้ข้ามแม่น้ำยูเฟรติสไปยังคานาอัน ตอนนั้นเขาอายุ 75 ปี ต่อมาได้มีการทำสัญญาเรื่องการเข้าสุหนัต ในปี 1919 ก่อน ค.ศ. ตอนนั้นอับราฮัมอายุ 99 ปี—ปฐก. 12:1-8; 17:1, 9-14; กท. 3:17
c ดูเหมือนว่าทิตัส คริสเตียนชาวกรีกเป็นพี่น้องคนหนึ่งที่ถูกส่งไปด้วย ภายหลังทิตัสเป็นเพื่อนและตัวแทนที่ไว้ใจได้ของเปาโล (กท. 2:1; ทต. 1:4) ผู้ชายคนนี้ไม่ได้เข้าสุหนัต แต่เขาก็ถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ ทิตัสเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพี่น้องคนอื่น ๆ—กท. 2:3